ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสยามหนึ่งเดียว


รัชกาลที่ 7 คราวเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หยุดขบวนรถไฟพระที่นั่งระหว่างทางก่อนถึงนครลำปาง เพื่อทรงถ่ายภาพยนตร์ภาพลำธาร น้ำตก และ ช้างกำลังลากซุง

โดย ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร
    นิทรรศการนี้มุ่งหวังให้ผู้คนในปัจจุบันได้คิดคำนึงว่า เราอยู่ร่วมกันมาได้อย่างไรในสังคมนี้ ทั้งๆ ที่เรามีวัฒนธรรมที่ต่างกันไม่น้อย ไม่ว่าในเชิงความเชื่อ ขนบประเพณี และวิถีชีวิต
      การย้อนกลับไปพินิจสยามประเทศสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ เมื่อพ.ศ. 2469 เป็นหนทางหนึ่งที่เราจะได้ร่วมกันเสาะแสวงหาคำตอบจากอดีตต่อคำถามดังกล่าว เพื่อประโยชน์ในปัจจุบัน
     นิทรรศการมีเนื้อหาเกี่ยวกับการที่ทรงสืบสานราชประเพณี อุตสาหะเสด็จฯ ไปไกลเพื่อทรงเยี่ยมราษฎรถืงถิ่นฐานและราษฎรเหล่านั้นได้จัดการรับเสด็จฯ ตามประเพณีของแต่ละท้องถิ่น แต่ละหมู่เหล่า ทั้งเจ้านายฝ่ายเหนือ ชนเผ่าต่างๆตลอดจนพ่อค้าจีนและฝรั่ง โดยใช้ข้อมูลจากเอกสาร ภาพนิ่ง และภาพยนตร์ที่ทรงถ่าย แสดงให้เห็นประจักษ์ถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งในรูปแบบของสถาปัตยกรรม การแต่งกาย พิธีกรรม ศิลปะการแสดง และการปฏิสัมพันธ์ทาง
วัฒนธรรม ซึ่งมีส่วนอำนวยให้สยามคงเป็นหนึ่งเดียวมาได้ถึงปัจจุบัน
การนำภาพถ่ายปัจจุบันมาเปรียบเทียบไว้ในนิทรรศการอีกทั้งกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมย้อนยุค และพิพิธพาทีแลกเปลี่ยนทัศนะความรู้ เอื้อต่อการเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับสังคมในอดีตอย่างมีอานิสงส์ต่อปัจจุบัน

ประเพณีการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร
     ประเพณีนี้แสดงให้เห็นถึงการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรด้วยทรงห่วงใยในความเป็นอยู่ของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน จึงเป็นพระราชกรณียกิจที่สร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ทุกคนภายใต้พระบรมโพธิสมภารที่อำนวยให้ทรงทราบถึงความเป็นอยู่และทุกข์สุขของราษฎร ตลอดจนสภาพที่แท้จริงของบ้านเมืองเพื่อจะได้เป็นส่วนหนึ่งของพระบรมราโชบายในการแก้ไขปรับปรุงการปกครองบ้านเมือง
     อนึ่ง การเสด็จฯ เลียบมณฑลแตกต่างไปจากการเสด็จฯ ประพาสเพราะเป็นการเสด็จฯ ไปประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญอย่างเป็นทางการ ทั้งทางด้านการเมืองการปกครอง รวมทั้งการทำนุบำรุงศาสนาและศิลปวัฒนธรรม
มณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ     
     มณฑลฝ่ายเหนือเป็นดินแดนที่เคยเป็นแคว้นสุโขทัยมาก่อนนับตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์ขึ้นไปจนถึงเมืองศรีสัชนาลัย ด้วยที่ตั้งของแคว้นอยู่ตอนเหนือของ กรุงศรีอยุธยา จึงเรียกกันว่า “เมืองเหนือ” ส่วนมณฑลพายัพเคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา นับตั้งแต่จังหวัดแพร่ขึ้นไปจรดเขตพม่า การคมนาคมทางน้ำสามารถขึ้นไปถึงมณฑลฝ่ายเหนือเท่านั้น ส่วนการเดินทางไปมณฑลพายัพต้องใช้การคมนาคมทางบก ก่อนรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่มีพระเจ้าแผ่นดินจากกรุงเทพฯเคยเสด็จฯไปถึงมณฑลพายัพ แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเคยเสด็จฯขึ้นไปถึงเชียงใหม่ในพ.ศ.2448    แต่ขณะนั้นยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร
     มณฑลฝ่ายเหนือเป็นแหล่งผลิตข้าวขนาดใหญ่ของประเทศ ส่วนมณฑลพายัพยังมีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ อันนำมาซึ่งรายได้ที่สำคัญ ของประเทศ แต่ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดภาวะน้ำท่วมทำให้นาข้าวเสียหาย และในปีต่อมาเกิดภาวะฝนแล้ง ทำให้ชาวนาเป็นหนี้มากขึ้น โรงสีข้าวต้องเลิกกิจการ รัฐบาลจึงขยายโครงการชลประทาน ริเริ่มโครงการสหกรณ์ และตั้งกระทรวงพาณิชย์เพื่อส่งเสริมการค้าในสมัยนั้น
เมืองเชียงใหม่ เป็นเมืองเอกของมณฑลพายัพ มีการค้าขายเชื่อมโยงกันด้วยกองเกวียน กองคาราวาน ม้าต่าง ลาต่าง กับดินแดนจีนตอนใต้ พม่า ลาว และมณฑลฝ่ายเหนือมาแต่โบราณ ทั้งยังอุดมสมบูรณ์ด้วยป่าไม้สัก เป็นที่มาของรายได้สำคัญ จึงมีคหบดี พ่อค้า ชาวอังกฤษ ชาวฝรั่งเศส ชาวจีน ชาวพม่าประกอบธุรกิจใหญ่โตเป็นจำนวนมาก จึงมีปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม ประเพณี และศิลปกรรมตามมาปรากฏเป็นโบราณสถาน วัด พระธาตุสำคัญ รูปแบบศิลปสถาปัตยกรรมที่มีความหลากหลายงดงาม

พระราชดำริในการเสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ
     พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะดำเนินพระราชกรณียกิจตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมอัยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมชนกนาถ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมเชษฐาธิราช เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร และเสริมสร้างความก้าวหน้าแก่ประเทศชาติ ดังพระราชดำริ ความว่า
     “... หัวเมืองมณฑลฝ่ายเหนือเป็นเมืองที่ตั้งมาแต่โบราณกาล บางเมืองเคยเป็นราชธานีในสยามประเทศ ทั้งหัวเมืองมณฑลพายัพนับว่ายังไม่เคยมีพระเจ้าแผ่นดินในกรุงรัตนโกสินทร์เสด็จฯ มาก่อน หากพระองค์เสด็จฯ ขึ้นไปมณฑลพายัพ ก็ต้องนับว่าพระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่เสด็จฯ ไปถึงเป็นพระองค์แรก...”
     “...การเสด็จพระราชดำเนินเลียบหัวเมืองมณฑลน้อยใหญ่ ยังเป็นโอกาสให้ได้ทอดพระเนตรภูมิประเทศถิ่นฐานบ้านเมือง ทรงทราบความเป็นไปอันเนื่องด้วยสุขด้วยทุกข์ตลอดถึงการทำมาหาเลี้ยงชีพของข้าขอบขัณฑสีมาอาณาจักรทั่วไป...สำหรับจะได้นำมาเป็นเครื่องทรงพระราชดำริดัดแปลงแก้ไขสิ่งที่พ้นสมัยผดุงสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้คงดีตลอดไป และพยายามให้ดียิ่งๆ ขึ้นสมกับที่ทรงดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของชาติ...”
     ดังนั้นเมื่อทางรถไฟสร้างขึ้นเพื่อเชื่อมโยงหัวเมืองทางเหนือสุดของประเทศเข้ากับส่วนกลางเสร็จสมบูรณ์ในพ.ศ. 2464 ทำให้อีกประมาณ 5 ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชดำริที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปหลังจากครองราชย์ได้เพียงปีเศษ เพื่อเป็นการดำเนินรัฐประศาสโนบายตามรอยพระบรมชนกนาถในการประสานประโยชน์ของบ้านเมือง และการยอมรับในความแตกต่างทางวัฒนธรรมทั้งเรื่องเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี การบำเพ็ญพระราชกรณียกิจสำคัญต่างๆ เพื่อความมั่นคงกลมเกลียวและเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติบ้านเมือง เช่น การพระราชทานพระแสงราชศัสตรา การสมโภชพระธาตุเจดีย์สำคัญประจำเมือง และการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ นับเป็นครั้งแรกของพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินีในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์



การเตรียมการเสด็จฯ อย่างสมพระเกียรติแต่ประหยัด
      การร่วมกันเตรียมการรับเสด็จฯ ระหว่างเจ้านายพระราชวงศ์จักรีกับเจ้านายมณฑลพายัพ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพนั้น ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขา วันที่ 24พฤษภาคม พ.ศ.2469 พระราชทานพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ (พระยศในขณะนั้น) ความว่า
     “หม่อมฉันขอมอบถวายให้ท่านทรงดำริห์กะวันและเวลาประทับกับอำนวยการจนตลอด...”
เนื่องจากยังไม่เคยมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงราชย์อยู่เคยเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพก่อน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพจึงได้ทรงมีลายพระหัตถ์ทูลปรึกษาไปยังพระราชชายา เจ้าดารารัศมี พระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระธิดาของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 กับพระแม่เจ้าเทพไกรสร ความตอนหนึ่งว่า
     “หม่อมฉันใคร่จะปรึกษาผู้ซึ่งชำนาญการพิธีอย่างเก่าของเมืองเชียงใหม่
ก็ไม่เห็นมีใครนอกจากพระโอษฐ์ของเจ้าป้า จึงคิดว่าจะขึ้นไปเชียงใหม่
ไปทูลหารือเรื่องนี้...”
     ต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์นั้น จึงได้เสด็จขึ้นไปยังเชียงใหม่ ทรงได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากพระราชชายาฯ และเจ้านายมณฑลพายัพ เมื่อเสด็จกลับมายังพระนครได้ทรงจัดประชุมขึ้นหลายครั้ง มีสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาบดีกระทรวงกลาโหม สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (พระยศในขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศุภโยคเกษม เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และพระยาวรพงษ์พิพัฒน์ ผู้รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวัง เข้าร่วมประชุมกัน ณ วังวรดิศ

การประหยัด
     ในภาวะที่เศรษฐกิจฝืดเคือง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้ใช้จ่ายในการเสด็จฯ เลียบมณฑลไม่เกินหนึ่งแสนบาท ที่ประชุมจึงลดจำนวนวันเสด็จฯ ลงจากเดิม 40 วัน เหลือเพียง 32 วัน โดยตัดเมืองสวรรคโลกและเมืองสุโขทัย ราชธานีเก่าของมณฑลฝ่ายเหนือ ซึ่งมีนามพ้องกับพระราชอิสริยยศแต่ครั้งยังทรงกรมเป็นกรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาฯ ออกจากระยะทางที่กำหนดไว้เดิม ลดจำนวนผู้คนตามเสด็จฯ ลดงบประมาณการสร้างพลับพลาที่ประทับ ลดค่าใช้จ่ายด้านพิธีกรรม ค่าจัดเลี้ยงบนรถไฟ และเบี้ยเลี้ยงของข้าราชการที่ตามเสด็จฯ รวมทั้งให้จัดน้ำฝนต้มถวายตั้งเครื่อง ไม่ต้องถวายน้ำจากเมืองเพชรบุรีให้สิ้นเปลือง
แม้ที่ประชุมจะได้ใช้ความพยายามอย่างมากเพียงใด ก็ได้ข้อยุติว่าจะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวน 164,063 บาท สูงกว่าพระราชประสงค์อยู่ 64,063 บาท แต่ไม่เห็นทางที่พึงจะลดลงได้อีก อภิรัฐมนตรีจึงเห็นพร้อมกันว่า เงินที่ขาดนั้นให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจ่ายทดรองให้ก่อน แล้วจึงหักจากเงินงบประมาณการเสด็จประพาสในปีถัดไป
     ต่อมาได้มีการตรวจสอบรายละเอียด พบว่ามีค่าพระกระยาหารและค่าอาหารเลี้ยงราชบริพารอยู่ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย เป็นเงิน 25,120 บาท จึงให้ตัดไปเบิกกรมพระคลังข้างที่ (ซึ่งเป็นกองทุนส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์) คงเหลือยอดเงินที่ต้องเบิกจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (งบประมาณแผ่นดิน) เป็นเงิน 138,943 บาท เกินกว่าพระราชประสงค์อยู่เป็นเงิน 38,943 บาท แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการเตรียมการอย่างสมพระเกียรติแต่ประหยัด



เส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน
     พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในรัชกาล ระหว่างวันที่ 5มกราคม ถึงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2469 เป็นเวลา 32 วัน

ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพิธีการรับเสด็จฯ
     การเสด็จฯ เลียบมณฑลคราวนี้มีนัย ในพิธีการรับเสด็จฯ ต่างกันสองส่วน คือ ส่วนแรก มณฑลฝ่ายเหนือ ได้แก่ มณฑลพิษณุโลกนั้นนับเป็นมณฑลชั้นใน การจัดการรับเสด็จฯ จัดตามระเบียบและประเพณีอย่างมณฑลชั้นใน ส่วนมณฑลพายัพเคยเป็นเมืองประเทศราชมาก่อน การรับเสด็จเจ้านาย เวลาเสด็จฯ ขึ้นไปใกล้จะถึงเมืองจะมีพิธีแห่เข้าเมือง และเมื่อเสด็จฯ ถึงเมืองแล้วจะมีพิธีทูลพระขวัญ แต่เนื่องจากการเสด็จฯ มณฑลพายัพครั้งนี้ พิธีทั้งสองเป็นพิธีการใหญ่ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ไปจัดรวมที่เชียงใหม่เพียงแห่งเดียว ส่วนการรับเสด็จฯ ของจังหวัดอื่นในมณฑลพายัพคงให้จัดอย่างมณฑลชั้นใน
     ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ปรากฏในพิธีรับเสด็จฯ ซึ่งมีทั้งขบวนแห่เสด็จฯ เข้าเมืองด้วยช้าง และขบวนแห่ทูลพระขวัญ ในรูปแบบของเครื่องแต่งกาย พิธีกรรมอันเนื่องมาจากความเชื่อ กิจกรรมการเสด็จ และสำนวนภาษา สะท้อนถึงการที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายทั้งชาวล้านนา ชาวเขาเผ่าต่างๆ ตลอดจนชาวลาว เขมร มอญ อิสลาม จีน และชาวต่างประเทศที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ หลายกลุ่มสืบมาตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ดังจะเห็นได้ว่า
     “...เจ้าผู้ครองนครน่านท้าวความถึงการที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลก ทรงพยายามรบปราบต่อสู้หมู่ปัจจามิตรอริราชไพรินทจนได้แผ่นดินล้านนาคืนมาเป็นสิทธิขาดอยู่ในอำนาจของไทย บ้านเมืองไกลไทยเหนือเจือลงมาถึงฝ่ายใต้ จึงได้รวมกันมั่นคงยืนยงอยู่ในพระราชอาณาเขตสยามประเทศสืบสายมา ถ้านับเวลากาลสมัย ก็เกือบได้ร้อยห้าสิบปีปลาย มิได้มีศัตรูหมู่ร้ายสามารถเข้ามากระทำย่ำยี ก็เพราะได้พึ่งพระบารมีโพธิสมภารอยู่เกล้าฯ...”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีราชดำรัสตอบอย่างสอดรับ ว่า
     “ยกย่องผู้ที่เป็นหัวหน้าของชาวมณฑลพายัพในสมัยนั้นด้วย คือ เจ้าเจ็ดตนอันเป็นต้นตระกูลวงศ์ของเจ้านายเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง และเมืองลำพูนกับทั้งเจ้าเมืองน่าน...ที่ได้สามิภักดิ์แล้วช่วยรบพุ่งข้าศึกเป็นกำลังอย่างสำคัญ...เมื่อมาถึงชั้นบุตรหลานก็มีความซื่อตรงจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมราชวงศ์ทุกรัชกาลสืบมา จึงทรงพระกรุณาโปรดยกย่องวงศ์สกุลเจ้าเจ็ดตนและสกุลเจ้าเมืองน่านให้มียศเป็นเจ้าสืบกันมา ด้วยเป็นสกุลคู่พระบารมีพระบรมราชจักรีวงศ์มาแต่ปฐมรัชกาล อันเป็นการสมควรยิ่งนัก...”
ที่เมืองนครลำปาง เมื่อมีคำถวายชัยมงคลตอนหนึ่งว่า
     “ได้ทรงจัดระเบียบรัฐาภิบาลให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินได้รับความยุติธรรมเจริญโภคสมบัติและเสรีภาพ ทั้งทรงทำนุบำรุงชาวต่างประเทศที่มาพึ่งพระบรมราชสมภารประกอบอาชีพในเมืองบี้ให้ได้รับประโยชน์และความสุขเสมอหน้ากัน....” ก็ได้มีพระราชดำรัสสนองตอบแสดงพระราชปณิธานพร้อมๆไปกับทรงขอความร่วมมือจากชาวเมืองทุกชั้นทุกชาติภาษาว่า
     “...เรามุ่งหมายจะบำรุงรักษาประโยชน์และความสุขของประชาชนในประเทศสยามให้ได้รับความยุติธรรม และได้รับความปกครองทำนุบำรุงตามสมควรแก่ปัจจุบันสมัย ให้เสมอหน้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วทั้งพระราชอาณาเขต ขอให้ท่านทั้งหลายจงช่วยเป็นอุปการะแก่ความมุ่งหมายของเราโดยประพฤติตามหน้าที่แห่งตนๆ ถือเอาประโยชน์และความสุขของบ้านเมืองและมหาชนเป็นสำคัญ จงอุปการะกันและกัน แม้ถึงต่างชาติหรือศาสนาก็ไม่ควรให้ขาดไมตรีจิต ส่วนบุคคลที่เป็นชาวต่างประเทศมาอยู่ในเมืองนี้ก็จงวางใจในไมตรีจิตของเรา ช่วยกันประกอบการให้เมืองนครลำปางเจริญสุขสมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป...”
พระแสงราชศัสตรา และช้างพลายสำคัญ : สัญลักษณ์แห่งพระบุญญาบารมีและความจงรักภักดี
     พระแสงราชศัสตราเป็นสัญลักษณ์แทนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เมื่อใดก็ตามที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่ผู้ใดย่อมหมายความว่าผู้นั้นมีอำนาจราชสิทธิ์เด็ดขาดในพื้นที่มณฑลนั้น
     ครั้นปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมือง และพระแสงราชศัสตราประจำมณฑลที่เสด็จฯ ไปถึงเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ และสำหรับแทงน้ำในการพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเพื่อแสดงความจงรักภักดี พระแสงราชศัสตราประจำมณฑลเป็นพระแสงด้ามทองลงยาราชาวดี พระแสงราชศัสตราประจำจังหวัดเป็นพระแสงด้ามทองฝักทอง นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังพระราชทานหลักเกณฑ์ไว้ว่า เมื่อใดที่พระองค์เสด็จฯ เยี่ยมและประทับแรม ณ เมืองนั้นอีก ให้ผู้ว่าราชการเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายพระแสงราชศัสตราประจำเมืองคืนไว้ประจำพระองค์ ตราบจนเมื่อใดจะเสด็จฯ กลับ จึงพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมืองคืนไว้แก่จังหวัดนั้นๆ ดังเดิม
     พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยึดถือประเพณีสืบมาเมื่อเสด็จ พระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ พระองค์ได้พระราชทาน พระแสงราชศัสตราแก่บรรดาจังหวัดต่างๆ เสด็จฯ เยือนโดยกระทรวงวังทำหน้าที่ประสานงานกับจังหวัดเพื่อตระเตรียมซักซ้อมพิธีการรับพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมือง เว้นแต่เมืองพิษณุโลก ซึ่งได้รับพระราชทานแล้วตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงจัดพิธีถวายคืน
     ก่อนที่จะเสด็จ ฯเยือนมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพ ปรากฏว่ามีลูกช้างเผือกเกิดแต่ช้างงานของบริษัทบอนียวซึ่งทำสัมปทานป่าไม้อยู่ที่เชียงใหม่ โดยที่ช้างเผือกถือเป็นสัญลักษณ์แห่งพระบารมีของพระมหากษัตริย์จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการน้อมเกล้าฯ ถวายช้างและงานสมโภชขึ้นที่เชียงใหม่ มีกระบวนแห่นำช้างพลายสำคัญนั้นและลิงเผือกซึ่งนักโทษให้นำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายก่อนแล้วเมื่อเสด็จฯ พิษณุโลกเข้าสู่โรงสมโภช พระสงฆ์สวดมนตร์ทรงหลั่งน้ำพระพุทธมนตร์และทรงสวมพวงมาลัย พระราชทานช้าง พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภช เสร็จแล้วตอนค่ำมีระบำซอของพระราชชายาฯ ฟ้อนเทียน ฟ้อนโปรยข้าวตอกและร้องถวายชัยมงคล รำฝรั่งฟ้อนซอเพลงรอบช้าง และรำโคม
คำร้องระบำซอ ซึ่งพระราชชายาฯ ทรงแต่งความตอนหนึ่งว่า
     “พระปรมินทร์ประชาธิปกโลกนาถ
      ปิยมหาราชหน่อพุทธังกูร
      กันบ่ใจเจื้อ เจ้าต๋นทรงบุญ
      ฉัททันต์ตระกูลไป่ห่อนมาเกิด”
     ในปีถัดมา ได้โปรดเกล้าฯ ให้ชะลอช้างมาที่กรุงเทพฯ และจัดพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางตามพระราชประเพณี พระราชทานนามว่า พระเศวตคชเดชน์ดิลกฯ เป็นช้างเผือกเชือกเดียวในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
องค์อัครศาสนูปถัมภก ณ ศาสนสถานสำคัญ
     พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สนพระราชหฤทัยในการศาสนาเป็นอย่างยิ่ง และทรงปฏิบัติพระราชภารกิจขององค์อัครศาสนูปถัมภกอย่างเคร่งครัด เช่น ทรงถวายเครื่องราชอิสิริยาภรณ์ ผ้าทรงสะพักครุยทอง และแท่นเชิงหินรองแจกันทรงยุโรป สลักด้วยหินอ่อน 1 คู่ เป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก และสมโภชพระธาตุประจำเมืองสำคัญในมณฑลพายัพ เช่น พระธาตุหริภุญไชย จังหวัดลำพูน พระธาตุดอยสุเทพ พระเจดีย์เจ็ดยอด จังหวัดเชียงใหม่ พระธาตุจอมกิตติ จังหวัดเชียงราย เป็นต้น
พระราชจรรยาอาทรราษฎร์
     พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชจรรยาและพระราชอัธยาศัยงดงาม ผู้ที่ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเกิดความจงรักภักดีอย่างแท้จริง ไม่ทรงถือพระองค์ไม่ว่ากับชนชาติใด ระดับใด เห็นได้จาก พระราชดำรัสตอบชาวละวะ ที่พร้อมใจกันจัดหาดอกเอื้องแซะและของต่างๆตามประเพณีมาถวาย
     “...เราขึ้นมามณฑลพายัพในครั้งนี้มีความมุ่งหมายสำคัญอย่างหนึ่ง คือต้องการจะได้พบเห็นความเป็นไปของสูเจ้าทั้งหลายผู้เป็นชาวมณฑลพายัพ อันเนื่องด้วยการอาชีพสุขทุกข์และอื่นๆให้ประจักษ์ด้วยตาเราเอง ทั้งนี้ก็เพื่อจะหาทางทำนุบำรุงสูเจ้าทั้งหลายให้ประสพสุขสมบูรณ์...”
ทั้งยังมีพระราชดำรัสตอบคณะสมาคมพ่อค้าจีนเมืองเชียงใหม่ ดังนี้
     “... คนจีนที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย แม้จะแตกต่างกับคนไทยก็แต่เพียงชาติกำเนิดเท่านั้น แต่ในส่วนสิทธิอำนาจอันชอบธรรม ซึ่งคนจีนควรจะพึงมีพึงได้แล้ว คนจีนจะไม่แตกต่างกับคนไทยเลย ตัวเราพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของเราได้พยายามอยู่แล้วอย่างเต็มที่ ที่จะให้คนจีนได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ความยุติธรรม ความพิทักษ์รักษา และความเสมอภาค ฯลฯ เท่าเทียมกับคนไทยผู้เป็นเจ้าของถิ่นฐานบ้านเมืองเหมือนกัน...”
ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสยามหนึ่งเดียว
     พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือและมณฑลพายัพเป็นแห่งแรกในรัชกาลอย่างประหยัดในสภาพที่เศรษฐกิจฝืดเคือง ด้วยทรงมีพระราชประสงค์จำนงหมายที่จะทรงทำหน้าที่สืบสานราชประเพณี ทรงทำความรู้จักคุ้นเคยกับชนทุกหมู่เหล่าที่พึ่งพระบรมโพธิสมภารแห่งองค์พระมหากษัตริย์สยามและทราบถึงวิถีชีวิตและธรรมเนียมประเพณีที่หลากหลาย ทั้งหมดเพื่อประกอบการทรงวางรัฐประศาสโนบายและพร้อมกันนั้นทรงแสวงหาความร่วมมือร่วมใจในอันที่จะทำนุบำรุงบ้านเมืองให้มี ความมั่นคง สันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองตามสมควรแก่การดำเนินของโลกวิสัย ทรงประสบผลสำเร็จตามพระราชหฤทัยหมายเพียงใด เป็นสิ่งที่เราคนรุ่นหลังควรจะได้ศึกษาอย่างมีใจเป็นธรรม น้อมนำสิ่งอันเป็นประโยชน์มาปรับใช้ในปัจจุบัน

ความคิดเห็น

  1. ภาพยนตร์เสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือมีประกาศลงหนังสือพิมพ์ในนสพ.ข่าวภาพยนตร์ประจำวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2470ในหน้า 9 ดังนี้ การเสด็จเลียบเมืองเหนือภาค 3 มี 3 ม้วน ภาพยนตร์ของกรมรถไฟหลวงมี 3 ภาคๆละ 3 ม้วน รวม 9 ม้วน เริ่มฉายที่พัฒนากร ฮ่องกง คืนวันเสาร์ที่ 23 ถึงวันอังคารที่ 26 เดือนนี้ ภาพที่ท่านจะได้ชมเช่น ม้วนที่ 1 ฉายภาพของบ่ายวันที่ 25 ม.ค. 2469 โปรดฯให้พวกละว้าเเข้เฝ้าถวายเอื้องแซะ ผ้าทอที่ทำเองและยาสูบ และเสด็จประพาสเมืองลำพูน วันที่ 26 ม.ค.2469 ตอนเช้าสรงนำพระบรมธาตุ บ่ายเสด็จพระราชดำเนินไปยังพิพิธภัณฑ์ทอดพระเนตรฆ้องไชย แลพระเจดีย์ร้างวัดกู่กุด วันที่ 28 ม.ค. 2469 แห่ช้างเผือกจากเชิงดอยสุเทพสู่โรงพิธี มิสเตอร์ดี. เอฟ แมคฟีกับภรรยาทูลเกล้าถวายช้างเผือกพลายสำคัญแทนบริษัทบอเนียว มีการฟ้อนของพระราชชายาถวายในพิธีฉลองช้างเผือก เป็นต้น

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั