โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงจำลอง บริเวณชั้น 2ของพิพิธภัณฑ์
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ถนนหลานหลวง เชิงสะพานผ่านฟ้าภาพยนตร์ส่วนพระองค์รัชกาลที่ 7
เรียบเรียงโดย ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร
ภาพยนตร์ข่าวและภาพยนตร์สารคดีในระยะแรกจำนวนหนึ่งเป็นภาพยนตร์ส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่โปรดภาพยนตร์อย่างมาก เพราะทรงเป็นทั้งนักชมภาพยนตร์และนักถ่ายทำภาพยนตร์สมัครเล่นมาตั้งแต่ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ยังทรงโปรดภาพยนตร์เป็นพิเศษ เมื่อพระองค์เสด็จฯไปที่แห่งใดทั้งในและนอกพระราชอาณาจักร มักจะทรงถือกล้องถ่ายภาพยนตร์ขนาดเล้ก 16 มิลลิเมตรติดพระหัตถ์ไปด้วยเสมอ เพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยพระองค์เอง นอกเหนือไปจากที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ในปีพ.ศ. 2473 มีสำนักงานตั้งอยู่ในพระราชวังสวนจิตรลดา เพื่อส่งเสริมและเป็นศูนย์รวมของนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นในสยาม มีสมาชิกประกอบด้วยเจ้านายในพระราชวงศ์ขุนนางและนักธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศ กิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของสมาคมคือจัดประชุมฉายหนังแลกเปลี่ยนกันดูในหมู่สมาชิกและแขกของสมาคมเดือนละครั้ง รัชกาลที่ 7 โปรดฯพระราชทานภาพยนตร์ฝีพระหัตถ์ซึ่งเรียกว่า "ภาพยนตร์ทรงถ่าย" และภาพยนตร์เผยแพร่ในส่วนพระองค์ซึ่งเรียกว่า "ภาพยนตร์อัมพร" มาฉายให้สมาชิกชมอยู่เสมอ รวมทั้งยังเสด็จฯมาทอดพระเนตรภาพยนตร์เป็นประจำอีกด้วย
สำหรับนักถ่ายภาพยนตร์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทองจัดทำแหนบหรือเข็มเครื่องหมายเป็นแบบตราอาร์ม มีอักษรลงยาอยู่ในวงตราอาร์มว่า ส.ภ.ส ซึ่งย่อมาจากคำว่า "สมาคมถ่ายภาพยนตร์สวนจิตรลดา" พระราชทานแก่บรรดานักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นด้วย
สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยามและกิจกรรมภาพยนตร์ในส่วนพระองค์ได้ซบเซาและหยุดชะงักไปหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ. 2475 ฟิล์มภาพยนตร์ถูกทอดทิ้งและเก็บรักษาอย่างไม่ถูกหลักวิชาการ จนส่วนหนึ่งชำรุดไปมาก กระทั่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 พระราชทานให้แก่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์เพื่อรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติ และปัจจุบันอยู่ในการดำเนินการโครงการอนุรักษ์ฟิล์มภาพยนตร์ส่วนพระองค์
ภาพยนตร์ส่วนพระองค์ทั้งหมดแบ่งได้ 3 ประเภท คือ
1. ภาพยนตร์ทรงถ่าย คือ ภาพยนตร์ที่เป็นผลงานฝีพระหัตถ์ มีทั้งที่บันทึกเป็นเหตุการณ์เบ็ดเตล็ด เรียกเป็นสามัญได้ว่า ภาพยนตร์ในครอบครัว บางเรื่องเป็นบันทึกเหตุการณ์ในส่วนพระองค์จริงๆ มีตัวอักษรขึ้นหัวฟิล์มว่า ห้ามฉายเผยแพร่สู่สาธารณชน นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์เรื่องแสดงในชุดที่ทรงเรียกว่า "นิทานของลุง" เช่น เรื่อง"แหวนวิเศษ" อยู่อีกด้วย
2. ภาพยนตร์อัมพร คือ ภาพยนตร์บันทึกพระราชกรณียกิจสำหรับเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ถ่ายทำระหว่างปีพ.ศ. 2469-2474 เช่นการเสด็จฯเลียบมณฑลต่างๆหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์ การเสด็จฯเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการทั้งในเอเชีย ยุโรปและสหรัฐอเมริกา พระราชกรณียกิจในพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีโล้ชิงช้า พระราชพิธีฉลองพระนคร 150 ปี พระราชพิธีทางศาสนาและการตรวจพลสวนสนามและการซ้อมรบของกองทัพ
3.ภาพยนตร์หายากร่วมรัชสมัย คือภาพยนตร์ที่มีผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายและที่ทรงซื้อมาในจำนวนนี้เป็นฟิล์มภาพยนตร์ชนิด 9.5 มิลลิเมตร เป็นภาพยนตร์ยุคหนังเงียบของฮอลีวู้ดมากกว่า 10 เรื่อง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น