ใต้ฟ้าประชาธิปก : พระบรมฉายาลักษณ์ทรงฉายที่ชวา
รศ.ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล
ผู้ที่เคยพยายามเสาะหาพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉายคู่กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีคงรู้ดีถึงความยากลำบากไม่น้อย
ข้อความต่อไปนี้จากพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงนครสรรค์วรพินิตเมื่อเสด็จประพาสเกาะชวา
(ส่วนหนึ่งของประเทศอินโดนีเซียในปัจจุบัน)
จึงพอเป็นคำอธิบาย ทรงไว้เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจเมื่อบ่ายวันที่
๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ว่า
“...ว่างไม่มีอะไรทำ เลยไปถ่ายรูป
ถ่ายรูปหมู่ด้วย
ฉันกับหญิงไม่เคยถ่ายด้วยกันมานานแล้ว
จึงตกลงถ่ายวันนี้
เขาจัดให้ยืนกระแซะกันอย่างกับคู่ฮันนี่มูน รู้สึกเรี่ยและเปิ่นจะตายทั้งสองคน แต่รูปออกจะดี...”
ร้านสตูดิโอที่เสด็จฯไปทรงฉายนั้นชื่อว่า
ฮ.โบดอม (H.Bodom) เมืองบันดุง (Bandung) เมืองซึ่งบังเอิญสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงนครสรรค์ฯเสด็จไปประทับหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.
๒๔๗๕ และสิ้นพระชนม์ที่นั่น
พระรูปคู่อีกองค์หนึ่งทรงฉายที่เกาะชวาเช่นกัน
เป็นพระรูปที่แปลกอยู่ตรงที่ทรงฉลองพระองค์ผ้าบาติก (Batik) แบบพื้นเมืองชวาทั้งสองพระองค์
จดหมายเหตุเสด็จประพาสชวาฯ ซึ่งหม่อมเจ้าดำรัสดำรง เทวกุล
ราชเลขาธิการทรงไว้มีข้อความให้พอเป็นเบาะแสว่าที่เมืองโซโล (Solo) หรือสุรการ์ตา (Surakarta) วันหนึ่งมีคนนำของมาขาย ณ ที่ประทับแรม ได้ทรงซื้อผ้าบาติก โสร่ง ผ้าห่ม
ผ้าปูโต๊ะต่างๆ ซึ่งเป็นฝีมือในวังของสุสุฮูนัน(Susuhunan)
เจ้าผู้ครองนครชาวพื้นเมืองเดิมจึงน่าจะได้ทรงฉายพระรูปคู่ดังกล่าวในโอกาสนั้น
คงจะพอเป็นข้อมูลเล็กๆน้อยๆช่วยพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในการ
“อ่านภาพ” ที่มีอยู่มากหลายได้บ้าง
โดยไม่ต้อง “ทำวิจัย” อะไรมากมาย เพียงแต่ต้องใส่ใจ แต่ทำให้คิดต่อไปได้ว่า ในระหว่างการเสด็จประพาสนั้น ได้ทรงดำเนินการทาง “การทูตสาธารณะ” (Public
diplomacy) ไปด้วย
ผู้สนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทรงประกอบการทูตประเภทนี้ในหลายๆประเทศที่เสด็จประพาสได้ในหนังสือ “ตัวตนใหม่ของสยามในโลกา : การต่างประเทศในสมัยรัชกาลที่
๗ ของผ.ศ.ดร.ธีระ นุชเปี่ยม ซึ่งเพิ่งวางตลาด
ที่เมืองโซโลนี้ สุสุฮูนัน ถวายเครื่องดนตรีกามาลัน
(gamelan) ของโบราณชุดหนึ่ง
และเมื่อเสด็จไปทอดพระเนตรสุสานฝังศพปฐมวงศ์ของสุสุฮูนันบนยอดเขา ทรงพบว่ามีตุ่มสุโขทัย ๔ ใบ ซึ่งสุลต่านอากุง (Sulatan
Agung, ค.ส. 1613-1645) ได้ไปจากกรุงสยามเมื่อ ๓๐๐
กว่าปีมาแล้ว ใช้ใส่น้ำมนต์
น่าเสียดายที่ไม่ปรากฏพระรูปทรงฉายกับตุ่มเหล่านั้น
วันที่
๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ที่เมืองเดนปาสาร์ (Denpasar) เกาะบาหลี ตอนค่ำมีการแสดงโดยชายสองคนผลัดกันเต้นตามจังหวะดนตรีกามาลัน
“โดยไม่ได้ยืนเลย นั่งไขว้ขา เมื่อจะเคลื่อนตัวก็กระโดดไปทั้งนั่งฉะนั้น วิธีรำนั้นมีโยกศีรษะและกาย เล่นตา
ยิ้มและทำหน้าบึ้ง สุดแท้แต่จังหวะของดนตรีจะทำไป” ชะรอยจะเป็น “ลิเกฮูลู”
แบบพิสดาร
ทั้งหมดแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับอินโดนีเซียว่ามีมาเนิ่นนานก่อนที่จะมี
“ประชาคมอาเซียน” ในปัจจุบัน
และว่าได้ทรงสืบสานระหว่างการเสด็จประพาส
<<พช/พระรูปคู่/ ส.ค. 2559>>