ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7


                                                                                                                                  ฉัตรบงกช  ศรีวัฒนสาร[1]

                องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล (Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ  ระบุว่า  ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี  การแสดง  หรือ ทัศนศิลป์  ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้  นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า  ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้    การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]

                ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,  ฝีมือทางการช่าง,  การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3]ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย  ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาจากแรงบันดาลใจภายในอย่างวิจิตรงดงามนั่นเอง

                ปัจจุบัน คำว่า “ศิลปะ”  สามารถแปลความหมายได้หลากหลายตามวิวัฒนาการของรูปแบบและลัทธิทางศิลปะซึ่งเกิดขึ้นมาตามความนิยมของแต่ละยุคสมัย ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” จึงมิได้หมายถึงฝีมือทางการช่างที่งดงามแต่เพียงอย่างเดียว  การสร้างสรรค์ผลงานที่มีจุดมุ่งหมายบ่งบอกถึงความอัปลักษณ์ในสังคม เสียดสีวิพากษ์วิจารณ์และสะท้อนความเป็นไปของสังคมในศิลปะลัทธิดาดา (Dadaism) เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่20(ปลายพุทธศตวรรษที่25)  ก็ถือรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของงานสร้างสรรค์ทางศิลปะด้วย เช่นกัน

                สังคมไทยเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมซึ่งมีการสืบทอดและเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องยาวนานนับร้อยนับพันปี ตามแบบอย่างอารยประเทศ พระราชบัญญัติวัฒนธรรมพุทธศักราช 2485  อธิบายไว้ว่า วัฒนธรรม คือ  สิ่งที่ทำให้เกิดความเจริญงอกงามแก่หมู่คณะ  หมายถึง  ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม  ความเป็นระเบียบเรียบร้อย  ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีของประชาชน  ในความหมายทางวิชาการ วัฒนธรรม หมายถึง “พฤติกรรมและสิ่งที่คนในหมู่ผลิตสร้างขึ้นด้วยการเรียนรู้จากกันและกัน และร่วมใช้อยู่ในหมู่พวกของตน” [4]

                พระยาอนุมานราชธน หรือ  เสฐียรโกเศศ นักปราชญ์ผู้มีความรอบรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอย่างลึกซึ้ง กล่าวว่า  “วัฒนธรรมที่ปั้นให้ปรากฏเด่นว่าเป็นไทยโดยสมบูรณ์  และทำให้เห็นว่าแตกต่างไปจากชนชาวอื่นอย่างไร  เราก็อาจตอบได้ในข้อนี้ว่า  วัฒนธรรมไทย  เกิดจากขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบๆต่อกันมาเป็นปรัมปรา  อย่างที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Tradition หรือ ประเพณีปรัมปรา  ซึ่งมีมาหลายกระแสหลายทาง  ที่เข้ามาผสมปนปรุงกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว  เกิดเป็นวิถีชีวิตแห่งความเป็นอยู่ของชนชาวไทยให้เห็นเด่นโดยเฉพาะ”  [5]

                เมื่อนำคำว่าศิลปะ  กับ วัฒนธรรม สมาสกันเป็นคำว่า “ศิลปวัฒนธรรม”  ( Art and Culture ) ซึ่งนิยมใช้กันมากในปัจจุบัน ก็หมายถึง  วิถีการดำเนินชีวิตที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการละเล่น  การแสดง  การร้องเพลง  รวมถึงบรรดาผลงานทั้งมวลของมนุษย์ที่สร้างสรรค์ขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นงานด้านจิตรกรรม  ประติมากรรม สถาปัตยกรรม  ตลอดจนความเชื่อ  ความรู้  ลักษณะที่แสดงถึงความเจริญทางภูมิปัญญา ระเบียบ แบบแผน กฎหมาย  ภาษาพูดและภาษาเขียน  เป็นต้น ศิลปวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งที่ต้องมีระเบียบแบบแผนและมีความสำคัญเชื่อมโยงสิ่งต่างๆในสังคมให้ รวมอยู่ด้วยกันตลอดเวลาเพื่อที่จะให้เกิดเป็นคุณงามความดี 

                พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่ทรงเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมในฐานะหลักแห่งความเจริญของชาติไทยที่มีมาอย่างยาวนาน พระองค์ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่คณะนาฏศิลป์ไทยที่เดินทางไปเผยแพร่ในต่างประเทศ  อันกอปรด้วยสาระที่เปี่ยมด้วยความหมายแก่สังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง ดังนี้

“...คำว่า วัฒนธรรม นี่จะแปลว่าอะไรก็แล้วแต่จะตีความ  ความจริง แปลว่า  ความเจริญความก้าวหน้า  แต่วัฒนธรรมในที่นี้ก็คงจะบ่งถึงว่า  มีความเจริญมาช้านาน  ไม่ใช่ว่ามีความเจริญก้าวหน้า  แต่มีความเจริญมาเป็นเวลาช้านาน  ต่อเนื่องมาและจนกระทั่งฝังอยู่ในสายเลือด  แต่ถ้าเราไปแสดงตนว่ามีวัฒนธรรม  ว่ามีฝีมือเท่านั้นเองก็ไม่พอ  ต้องแสดงว่าวัฒนธรรมของเราอยู่ใน    เลือดวัฒนธรรม...” [6]

ความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมในสมัยรัชกาลที่ 7   

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 7 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงครองราชย์สมบัติระหว่างพ.ศ. 2468-2477  สืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระเชษฐาร่วมพระบรมราชชนกชนนี  ช่วงเวลา 9 ปีแห่งรัชสมัยของพระองค์ท่านถือเป็นระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญอย่างหลากหลายทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและเทคโนโลยี  ดังนั้น เมื่อจะพรรณนาถึงเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมในสมัยนี้ จึงจำเป็นต้องกล่าวถึงบริบทความสืบเนื่องและเปลี่ยนแปลงทั้งในช่วงก่อนและหลังรัชสมัยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงประสพปัญหาที่สำคัญที่สุด คือ ปัญหาการขาดแคลนทางเศรษฐกิจซึ่งทำให้ต้องตัดทอนรายจ่ายลงอย่างมาก  แต่พระองค์ยังทรงเป็นห่วงพระราชกรณียกิจด้านการรักษาวัฒนธรรมและประเพณีของชาติ  ฉะนั้นพระองค์ทรงใฝ่พระราชหฤทัยในด้านศิลปวัฒนธรรม

                การสืบสานและวางรากฐานทางศิลปวัฒนธรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏอย่างชัดเจนโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งราชบัณฑิตยสภาขึ้นในปี พ.ศ. 2469  เพื่อส่งเสริมการศึกษาด้านวิจิตรศิลป์  วรรณคดี และโบราณคดี  และโปรดเกล้าฯให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงดำรงตำแหน่งนายกสภาเป็นพระองค์แรก  และให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ทรงดำรงตำแหน่งอุปนายกราชบัณฑิตยสภา เพื่อจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนคร  และตรวจสอบพิจารณาวิชาอักษรศาสตร์เพื่อจัดการพิพิธภัณฑสถาน  สงวนรักษาโบราณวัตถุสถาน  และเพื่อจัดการบำรุงรักษาวิชาช่าง         ผลงานของราชบัณฑิตยสภาเป็นผลดีต่อการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างมาก  เช่น  ดำเนินการค้นคว้า สำรวจ ขุดค้น บูรณะและขึ้นทะเบียนโบราณสถาน อันเป็นบทบาทเริ่มแรกที่พัฒนาขึ้นมาเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมศิลปากรในปัจจุบัน  การสอบค้นเอกสารโบราณ การตีพิมพ์เผยแพร่  รวมทั้งริเริ่มส่งเสริมให้มีการประกวดเรียบเรียงบทประพันธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง  อาทิ การประกวดเรียงความหนังสือสอนพุทธศาสนาสำหรับเด็กเพื่อแจกในวันวิสาขบูชา เป็นต้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จฯเปิดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร และเปิดหอพระสมุดวชิรญาณ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 สะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักต่อความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมของชาติไทยในขณะนั้นว่า

             “ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาเปิดพิพิธภัณฑสถานแลหอพระสมุดวชิรญาณที่ได้จัดขึ้นใหม่ใน     วันนี้  เพราะเป็นอันว่าได้เห็นกิจการส่วนหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าได้มอบให้ราชบัณฑิตยสภาจัดการนั้น  สำเร็จผลสมความประสงค์...  พิพิธภัณฑ์นี้เป็นของที่มีค่าควรดูควรชม...เป็นทางบำรุงปัญญา  ความรู้ของมหาชน และจะได้เป็นสง่าแก่พระนครและเป็นสาธารณประโยชน์ ตลอดจนชนต่างชาติก็จะได้ชมศิลปวัตถุของชาติไทยเป็นหนทางประกาศเกียรติยศแลอารยธรรมของประเทศสยาม...”[7]

                ความเคลื่อนไหวที่สำคัญทางด้านศิลปวัฒนธรรมในสมัยรัชกาลที่ 7  คือ การตรา “พระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พุทธศักราช 2474   อันเป็นกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในวรรณกรรมและศิลปกรรมฉบับแรกที่มีขอบเขตกว้างขวางและสมบูรณ์   การที่รัฐบาลในสมัยนั้นพิจารณาสมัครเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมระหว่างประเทศ  คือ อนุสัญญากรุงเบอร์นในอีก 1  เดือนต่อมานั้น  นอกจากเพื่อให้คนไทยได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ผลงานด้านวรรณกรรมและศิลปกรรมจากประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ  ดังกล่าวด้วยกันแล้วยังน่าจะเป็นการแสดงให้เห็นว่า  ประเทศไทยมีวัฒนธรรมทางจิตใจสูง และมีความเจริญก้าวหน้าสมสมัย เช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ

                ศิลปวัฒนธรรมมีความหมายประสานสอดคล้องกับคำว่าขนบธรรมเนียมประเพณีซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการร้อยรัดความหลากหลายทางสังคมให้มีความเป็นเอกภาพ (unity)   พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงปัจจัยดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง  ดังนั้น  หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองประมาณ 4 เดือนเศษ     พระองค์จึงทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทในงานประจำปีของโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย  เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475  มีใจความตอนหนึ่งที่สะท้อนความสำคัญของความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆในสังคมไทยจากการเปรียบเทียบกับปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศอังกฤษดังนี้

                “การที่อังกฤษรักขนบธรรมเนียมหรือ Tradition  ไม่ได้ทำให้ประเทศอังกฤษล้าหลังประเทศอื่นในความเจริญเลย  สิ่งใดที่ควรเปลี่ยนแปลงก็เปลี่ยนแปลงไป  แต่สิ่งใดที่ยังดีอยู่ไม่เสียหาย  เขาก็คงรักษาไว้  เพื่อนึกถึงความเจริญของประเทศที่มีมาแล้วในปางก่อน  ถึงแม้ว่าเขาจะคิดทำงานใดๆ  เพื่อมุ่งหาความเจริญในอนาคตก็จริง  แต่เขาก็ไม่ยอมหันหลังให้อดีตเสียเลย  ข้อนี้เองทำให้อังกฤษเปลี่ยนแปลงแบบแผนการปกครองได้อย่างเรียบร้อยราบคาบไม่ต้องมีการจลาจลมากมายนัก  นั่นเป็นผลของการรักษาขนบธรรมเนียมอย่างหนึ่ง...[8]

                หลักฐานในพระราชนิพนธ์คำนำหนังสือเรื่องการเปลี่ยนแปลงแก้ไขการปกครองแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งรัชกาลที่ 7 โปรดให้พิมพ์ขึ้นเมื่อได้เสวยราชสมบัติแล้ว เมื่อพ.ศ. 2470  ได้เตือนให้ชาวไทยตระหนักว่า สิ่งต่างๆที่จะเกิดขึ้นควรมีการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสร้างสรรค์เพื่อมิให้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมือง  ดังนี้

 “...ควรพยายามแลดูการล่วงหน้า  แต่ก็ควรเหลียวหลังดูประเพณี  และหลักการที่ล่วงไปแล้วด้วยเหมือนกัน ใน 2 อย่างนี้ก็พอจะทำได้  มียากอยู่เพียงจะเลือกเวลาให้เหมาะ อย่าให้ช้าเกินไป  อย่าให้เร็วเกินไป  ข้อนี้แหละยากยิ่งนัก  นอกจากมีสติปัญญาแล้วยังต้องมีโชคดีประกอบด้วย  แต่ถ้าเราทำการใดๆไปโดยมีความสุจริตในใจและโดยเต็มความสามารถแล้ว  ก็ต้องนับว่าได้พยายามทำการงานตามหน้าที่จนสุดกำลังแล้ว...” [9] 

                อย่างไรก็ดี  ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมามีการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมในสมัยรัชกาลที่ 7  โดยสังเขป  ดังนี้

                เอกสารประกอบการประชุมทางวิชาการ  เนื่องในวโรกาส 100 ปี พระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  เรื่อง “สังคมไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  จัดโดยสถาบันไทยศึกษา และฝ่ายวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่  7-9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   มีบทความวิชาการเรื่องสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย รองศาสตราจารย์แน่งน้อย  ศักดิ์ศรี   กล่าวถึง  สิ่งที่แสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรมประจำชาติในแต่ละยุคแต่ละสมัย  อาจจะแสดงออกได้ในรูปของจิตรกรรม  ประติมากรรม สถาปัตยกรรม  นาฏยกรรม  และวรรณคดี  เป็นต้น  แต่กระบวนการผลิตงานศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้  สถาปัตยกรรมดูจะเป็นงานที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด  เพราะมีลักษณะที่คงทนถาวร  มีประโยชน์ใช้สอย จับต้องได้  สัมผัสด้วยตาและด้วยใจ[10]

คำบรรยาย เรื่อง ลักษณะสถาปัตยกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ในเอกสารการสอนชุดวิชาไทยศึกษา สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช หน่วยที่10  กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า จิตรกรผู้เขียนภาพภาพพระราชกรณียกิจสมเด็จพระนเรศวรที่วัดสุรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ พระยาอนุศาสตร์จิตรกร        ( จันทร์ จิตรกร)[11] และบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการกำหนดเรื่องราวในภาพจิตรกรรมข้างต้น คือ สมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ผู้ทรงเป็นนายกสภาแห่งราชบัณฑิตยสภา[12]

ผลงานวิจัยระดับดีมากของ ชาตรี ประกิตนนทการ ชื่อ “การเมืองและสังคมในศิลปะสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม” ตีพิมพ์ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ (2547) ได้นำเสนอความหมายของสถาปัตยกรรมในแง่ที่เป็นสัญลักษณ์ทางสังคมและการเมืองที่สัมพันธ์กับความคิดของผู้คนและสังคมที่เปลี่ยนไปในแต่ละสมัย นอกเหนือจากประโยชน์การใช้สอยในด้านการกิน การอยู่ การนอน และการทำงานแล้ว ยังสะท้อนเรื่องราว ความคิด ความเชื่อตลอดจนอุดมคติของผู้คนและสังคมทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจด้วย งานวิจัยนี้เป็นความพยายามที่จะอธิบายเหตุผลที่มาของการสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมโดยอาศัยกรอบความคิดและทฤษฎีทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมร่วมกับศาสตร์ในสาขาวิชาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่มในการศึกษาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมโดยอาศัยเครื่องมือทางวิชาการหลายๆ อย่างมาร่วมกันในการวิเคราะห์งานสถาปัตยกรรม

ผลที่เกิดขึ้นจึงทำให้ได้มาซึ่งคำอธิบายทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมที่กว้างขวางและลึกซึ้งมากขึ้น มองเห็นปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและการเมืองในช่วงเวลาต่างๆ กับตัวงานสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงยุคสมัย เป็นการศึกษาที่พยายามจะวิเคราะห์งานสถาปัตยกรรมโดยผ่านหลักฐานและเอกสารประเภทอื่นนอกเหนือไปจากหลักฐานที่มาจากตัวงานสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญที่สุดคืองานวิจัยชิ้นนี้ได้แสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่า ตัวงานสถาปัตยกรรมสามารถที่จะใช้เป็นเครื่องมือทางประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งในการย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์สังคมหรือประวัติศาสตร์ด้านอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งที่ผ่านมางานสถาปัตยกรรมยังมิได้ถูกนำไปใช้ ในกระบวนการศึกษาดังกล่าวมากเท่าที่ควร[13]

โดยเฉพาะในบทที่3ว่าด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมเมื่อยามสนธยาของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์(พ.ศ.2453-2475) หัวข้อย่อยที่ 3.3  กล่าวถึงสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 7  ในฐานะที่เป็นฉากสุดท้ายของสถาปัตยกรรมในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ระยะหลังๆ  ชาตรี ประกิตนนทการ  เสนอความเห็นเชิงอัตวิสัยบนพื้นฐานของทฤษฎีความขัดแย้ง โดยวิจารณ์ว่า ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งใหม่  มุ่งนำเสนอเน้นให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์ของอาคาร  โดยไม่มีสิ่งใดที่แสดงให้เห็นถึงพลังของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย  ความเห็นดังกล่าวมองข้ามโจทย์ที่คณะกรรมการจัดประกวดการออกแบบอาคารตั้งไว้รวมถึงการชาตรีมองข้ามความจริงลึกเร้นที่ว่า แท้จริงแล้วกลไกที่ผลักดันพลังการเคลื่อนไหวของมวลชนแทบทุกกลุ่ม ล้วนมาจากการประจุพลังอย่างลับๆของกลุ่มทุนทางเศรษฐกิจและกลุ่มทุนทางการเมืองค่ายต่างๆ  ตามจังหวะการกระตุ้นของผลประโยชน์ทางการเมือง ขณะที่พลังมวลชนบริสุทธิ์ที่แสดงออกให้เห็นอย่างยิ่งใหญ่ เป็นพลังศรัทธาต่อความเสียสละของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีความสืบเนื่องในฐานะศูนย์รวมจิตใจของประชาชน  เหตุนี้ สัญลักษณ์ที่แสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์ สุข สงบ ร่มเย็นและสันติจึงถูกเลือกสรรให้สื่อความหมายอยู่ในสถาปัตยกรรมดังกล่าวอย่างเหมาะสม ส่วนการสื่อความหมายที่แสดงออกถึงความยิ่งใหญ่ เร่าร้อน เปี่ยมล้นด้วยพลังของมวลชนต่างก็มีพื้นที่ของอนุสาวรีย์สาธารณะหรืออนุสาวรีย์วีรชน อยู่ในที่อันสมควรอยู่แล้ว  เช่น อนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจัน     อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย     อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  อนุสาวรีย์วีรชน14ตุลา 2516 ฯลฯ รวมทั้งยังอาจมีการสร้างอนุสาวรีย์ของมวลชนอีกมากมายต่อไปในอนาคตตามความเหมาะสมด้วยเช่นกัน

ฉัตรบงกช  ศรีวัฒนสาร ในงานวิจัย เรื่อง ภาพล้อและการ์ตูนการเมืองในสังคมไทย พ.ศ. 2465-2475 เสนอสถาบันพระปกเกล้า ปีงบประมาณ 2555  [14]  ชี้ว่าในช่วง 10 ปีก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  ภาพล้อและการ์ตูนการเมืองถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อย่างหลากหลายและต่อเนื่อง  ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์แทนการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของสื่อมวลชน แบบยกประเด็นและจุดประกายการถกเถียงทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมผ่านภาพลายเส้นการ์ตูน เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ผู้บริหารประเทศ  รวมถึงเปิดโปงการทุจริตของขุนนาง ข้าราชการ และเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างชัดเจน  จนเป็นที่มาของการตราพระราชบัญญัติควบคุมหนังสือพิมพ์พ.ศ. 2465   และการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยสมุด เอกสารและหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2470   เพื่อกำหนดคุณสมบัติของผู้เป็นบรรณาธิการให้มีความรับผิดชอบต่อการนำเสนอให้มากขึ้น   แสดงถึงความอดกลั้นที่มีต่อการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมืองของผู้นำประเทศ  และสะท้อนบรรยากาศที่เกื้อหนุนต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม พ.ศ. 2475  เป็นต้น  ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า

การบูรณะปฏิสังขรณ์พระอาราม : การอนุรักษ์และสืบทอดศิลปวัฒนธรรม  

                ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่  ไม่มีการสร้างพระอารามหลวงขึ้นมาใหม่ เนื่องจากทรงมีพระราชดำริว่าในรัชกาลก่อนหน้านั้นได้สร้างวัดวาอารามไว้แล้วจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ในการเตรียมงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 150 ปี ก่อนพ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้มีการทำนุบำรุงและสืบทอดศิลปวัฒนธรรมของชาติด้วยการบูรณปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ อาทิ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยรัฐบาลได้ใช้งบประมาณ จำนวน 600,000 บาท ในการดำเนินการ   แบ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ทรงอุทิศจำนวน 200,000 บาท เงินงบประมาณแผ่นดิน 200,000 บาท  ส่วนที่ยังขาดนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีคณะกรรมการดำเนินการเรี่ยไรจากพระบรมวงศานุวงศ์  ข้าราชบริพาร และประชาชนเพื่อให้มีโอกาสบำเพ็ญกุศลร่วมกัน [15] 

ในรัชสมัยของพระองค์  แม้ว่าจะมิได้ทรงสร้างวัดประจำรัชกาล    แต่ก็ถือว่า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามก็มีฐานะเปรียบเสมือนวัดประจำรัชกาล เนื่องจากทรงรับพระราชภาระปฏิสังขรณ์วัดนี้มาเกือบโดยตลอด   ในรัชกาลที่ 7 มีหลักฐานปรากฏว่าพระอุโบสถบนลานพระปฐมเจดีย์ชำรุดทรุดโทรมมากยากที่จะบูรณะปฏิสังขรณ์ได้  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นใหม่                นอกจากนี้ยังทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ปฏิสังขรณ์วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาซึ่งสร้างมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา  โดยพระยาวรวงศาธิราช (คุณทอง) พระอัยกาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  พระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีทรงถือว่าวัดสุวรรณดารารามเสมือนวัดของพระบรมจักรีวงศ์   ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯให้พระยาอนุศาสน์ จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง พงศาวดารสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้ที่พระวิหารหลวง[16]  นับเป็นภาพเล่าเรื่องที่มีคุณค่าปรากฏมาจนทุกวันนี้


วิหารหลวงวัดสุวรรณดารารามภายในมีจิตรกรรมฝาผนังพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดารารามมีลักษณะเป็นภาพเขียนเรื่องราวพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรตั้งแต่พระเยาว์จนสวรรคต โดยมีภาพยุทธหัตถีที่เป็นภาพเด่นอยู่เหนือประตูด้านหน้า ใช้เทคนิคการวาดแบบตะวันตกมาประยุกต์ใช้กับจิตรกรรมฝาผนัง เป็นภาพสีน้ำมันเสมือนจริงทั้งหน้าตา ร่างกาย กล้ามเนื้อ สัดส่วน และเครื่องแต่งกาย นับเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่งดงามและแปลกใหม่สำหรับยุคนั้น

แม้ว่าเนื้อหากล่าวถึงพระราชกรณียกิจในสงครามเป็นหลัก  แต่วิธีการเล่าเรื่องน่าสนใจยิ่งเพราะเป็นการเลียนแบบการจัดวางภาพจากเรื่องพุทธประวัติ เริ่มจากการอัญเชิญพระองค์จุติลงมาอุบัติบนโลกมนุษย์[17]


จิตรกรรมภาพพระสยามเทวาธิราชทูลเชิญพระอิศวรให้แบ่งภาคลงมาอุบัติบนโลกมนุษย์

เป็นสมเด็จพระนเรศวรเป็นตอนแรกของภาพเล่าเรื่อง


ภาพสมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาผนังด้านตะวันออก

ในพระวิหารหลวงวัดสุวรรณดาราราม



จิตรกรรมขบวนอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอยู่ในห้องภาพสุดท้าย

ในพระวิหารหลวงวัดสุวรรณดาราราม







พระปฐมบรมราชานุสรณ์:สถาปัตยกรรมและประติมากรรมประเภทอนุสาวรีย์สาธารณะ

(Public Monument) แห่งแรกของสยาม


พระปฐมบรมราชานุสรณ์และสะพานพระพุทธยอดฟ้า

                เอกสารประกาศสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า  จากหนังสือประชุมกฎหมายประจำศก  รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชปรารภว่า  “... เมื่อถึงพุทธศักราช 2475  อายุของพระนครจะครบ 150 ปี  เป็นอภิลักขิตมงคลสมควรจะมีการสมโภชพระนคร  และสร้างสิ่งที่เป็นถาวรวัตถุเพื่อเตือนใจชาวสยามในภายหน้า  จึงทรงปรึกษาแก่อภิรัฐมนตรีและเสนาบดีทั้งปวง ก็เห็นชอบในการสร้าง 2 สิ่ง ประกอบกัน คือ  การสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก   องค์ปฐมบรมกษัตริย์แห่งพระราชจักรีวงศ์ และการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำทำทางถนนเชื่อมฝั่งพระนครให้ติดต่อกับทางฝั่งธนบุรี  เพื่อให้เป็นสาธารณประโยชน์  ในการสร้างครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ   ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  อุปนายกราชบัณฑิตยสภา ผู้ทรงอำนวยการออกแบบทั้งพระบรมรูป และสะพาน  พระราชทานพระนามว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า  จำนวนเงินในการก่อสร้าง 4 ล้านบาทซึ่งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงบริจาคจำนวนประมาณ 2 ล้านบาท  รัฐบาลจ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือทรงพระราชดำริให้บอกบุญเรี่ยไรจากชาวสยามทุกชาติทุกชั้นทุกบรรดาศักดิ์ตามกำลัง.... ” [18]

                ดังนั้นในปีพ.ศ. 2475  ก่อนเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองไม่กี่เดือน  รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  จึงได้จัดการเฉลิมฉลองวาระสำคัญของประเทศ  ประกอบไปด้วย  งานฉลองพระนคร  งานเฉลิมสิริราชสมบัติและงานพระราชกุศลทักษิณานุประทาน  อีกทั้งจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  และสร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์เชื่อมฝั่งพระนครและธนบุรีเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร

                ลักษณะโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของสะพานเป็นสะพานเหล็กกล้า  มีผังเป็นรูปลูกศร  ซึ่งเป็นพระราชลัญจกรของรัชกาลที่ 7 ตัวสะพานเป็นก้านธนูพาดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาในแนวเหนือใต้  จากฝั่งพระนครสู่ฝั่งธนบุรี  รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ต่อมาคือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ทรงเป็นผู้อำนวยการสร้าง  โดยมีบริษัทดอร์แมนลอง ประเทศอังกฤษ ออกแบบและก่อสร้าง



พระบรมราชานุสาวรีย์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

                ลักษณะของพระบรมราชานุสาวรีย์  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก  ปั้นโดยประติมากร ชาวอิตาเลียน นายคอร์ราโด เฟโรจี ต่อมาคือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี  ผู้ก่อกำเนิดมหาวิทยาลัยศิลปากร  ส่วนสถาปนิกผู้ออกแบบแท่นฐานและฉากหลังของอนุสาวรีย์ คือ  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระองค์ทรงอำนวยการแผนกศิลปกรรมคิดแบบอย่างเป็นพระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์เสด็จประทับเหนือพระราชบัลลังก์และหล่อด้วยทองสำริด



ไกลกังวล : วังแห่งเดียวที่ถูกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 7

                จากหลักฐานพบว่าตลอดรัชสมัย มีการก่อสร้างวังเพียงแห่งเดียว คือ วังไกลกังวลที่ หัวหิน ผู้ออกแบบคือ  ม.จ. อิทธิเทพสรรค์  กฤดากร  สถาปนิกรุ่นแรกที่ไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส วังไกลกังวลเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2469 และมีการขึ้นตำหนักเปี่ยมสุขเมื่อพ.ศ. 2472  รูปแบบงานสถาปัตยกรรมมีลักษณะเรียบง่าย แผนผังไม่ซับซ้อน มีลักษณะคล้ายบ้านพักตากอากาศหลังใหญ่เท่านั้น[19]  ซึ่งแตกต่างจากสมัยรัชกาลก่อน  แสดงออกให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในสมัยรัชกาลที่ 7 ที่มีลักษณะเรียบง่ายที่สุดเพราะตระหนักถึงสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ


พระตำหนักเปี่ยมสุข  วังไกลกังวล

                หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย  ศักดิ์ศรี  กล่าวถึงวังไกลกังวลไว้ว่า  ลักษณะทั่วไปทางสถาปัตยกรรมพระราชนิเวศน์แห่งนี้  “คล้ายไปทางสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสตอนใต้”  เช่นมีการใช้หลังคารูปโค้ง  การทำลานโล่ง (Court yard) ด้านหลังของพระตำหนักเปี่ยมสุขและด้านทิศเหนือของพระตำหนักน้อย  การทำนอกชานกว้างและมีซุ้มต้นไม้ (Pergola)  ที่พระตำหนักเปี่ยมสุข  การทำพระทวารและพระบัญชรเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมตามพระตำหนักต่างๆ เป็นต้น  [20]

                บัณฑิต จุลาสัย  กล่าวถึงวังไกลกังวลว่า  รูปแบบอาคารเป็นแบบบ้านพักอาศัยแบบฝรั่งตามยุคสมัย  มีหลังคามุมชัน มุมด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบสีน้ำตาลเข้ม  ส่วนฐานผนังทั่วไปประดับด้วยหินก้อนใหญ่สีน้ำตาลคล้ายแบบบ้านพักตากอากาศในยุโรปครั้งนั้น  หรือที่เรียกว่า “Picturesque”  เป็นรูปแบบที่เห็นธรรมชาติเลียนแบบปราสาทหรือบ้านในชนบทของฝรั่ง[21]

พระราชนิยมด้านศิลปะการถ่ายภาพนิ่งและการถ่ายทำภาพยนตร์

                การถ่ายภาพนิ่งเป็นเทคโนโลยีทันสมัยที่เกิดขึ้นหลังจากการริเริ่มประดิษฐ์กล้องถ่ายภาพของดาแกร์(Louis Jacques Mandé Daguerre, 1789-1851) ซึ่งเรียกว่า “Daguerreotype”[22]  ส่งผลให้ศิลปะการถ่ายภาพนิ่งถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก ในประเทศสยามศิลปะการถ่ายภาพนิ่งเฟื่องฟูมากในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  การถ่ายภาพนิ่งเป็.นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ผลงานทางด้านศิลปะ เนื่องจากศิลปินต้องเรียนรู้ทั้งในเรื่องของส่วนผสมทางเคมีในการล้างอัดขยายภาพ และการจัดองค์ประกอบทางศิลปะ ได้แก่ แสง เงา พื้นผิว และท่าทางของเจ้าของภาพ ทิวทัศน์  สถานที่ เช่นเดียวกับการสร้างสรรค์งานจิตรกรรม

                เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ พระชนมายุได้  12 พรรษา พระองค์ได้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในการถ่ายภาพ   จากการที่ทรงได้รับพระราชทานรางวัลเหรียญทองแดง จากการทรงส่งภาพถ่าย  ชื่อ ภาพ “ ตื่น”  เข้าร่วมงานประกวดภาพถ่ายในงานประจำปีวัดเบญจมบพิตรเมื่อปี พ.ศ. 2448[23] และเมื่อเป็นพระมหากษัตริย์แล้วก็ยังโปรดการถ่ายภาพและภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง  ถือเป็น “งาน” ของเชื้อพระวงศ์และชนชั้นสูงที่มีการศึกษาของคนในสมัยนั้น

                ในด้านการถ่ายภาพยนตร์นั้น นับแต่นายเฮนรี่ อเล็กซานเดอร์ แม็กเรย์  แห่งฮอลลีวู้ด ได้เข้ามาทำภาพยนตร์เรื่อง  นางสาวสุวรรณ เมื่อปี พ.ศ. 2466 และนำออกฉายในสยามเรื่องแรก  ก็มีเสียงเรียกร้องจากผู้ชมภาพยนตร์ จนกระทั่งในปีพ.ศ. 2470  คณะศรีกรุงเป็นบริษัทภาพยนตร์ผู้สร้าง “ โชคสองชั้น” ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่สร้างโดยคนไทย[24]

                ระหว่างปีพ.ศ. 2469-2470 อันเป็นช่วงแรกของการครองราชย์ในรัชกาลที่7 ทรงแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำตามวิธีการของ เซอร์เอ็ดวาร์ด คุก ที่ปรึกษากระทรวงพระคลัง  คือการตัดทอนรายจ่ายของแผ่นดิน บรรดาข้าราชการที่ถูกดุลจำนวนนับพัน  ส่วนหนึ่งก็จำต้องยอมรับชะตากรรมด้วยการดิ้นรนหางานอาชีพอย่างใหม่ทำกัน  เช่นเป็นลูกจ้างตามห้างร้านเอกชน  ประกอบธุรกิจค้าขาย  หรือหาอาชีพใหม่ๆ  บริษัทสร้างภาพยนตร์ไทยรายแรกที่เกิดขึ้น ก็เกิดจากปัจจัยแวดล้อมและกระแสผลักดันในการดิ้นรนแสวงหาการทำมาหากินของข้าราชการหรือขุนนางที่ถูกนโนยาบายดุลยภาพในคราวนั้นเอง เช่น ต้นปี พ.ศ. 2469      หลวงสุนทรอัศวราช (อดีตข้าราชการกรมอัศวราช)  ในฐานะผู้จัดการบริษัท ได้ทำหนังสือส่งรายนาม  8 ท่านรวมทั้งท่านเอง ได้แก่ พันโทหลวงสารานุประพันธ์ (ขาว ปาจิณพยัคฆ์) อดีตบรรณาธิการวารสาร เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์(อดีต ข้าราชการกระทรวงกลาโหม )  พระยาบำรุงราชบริพาร  พระอมรฤดี  พระอภิรักษ์ราชฤทธิ์ พระดรุณรักษา และหมื่นบันเทิงชวนหัว (5 รายนี้เป็นอดีตข้าราชการกรมมหาดเล็ก)   ขุนพิเศษวรวุฒิ (อดีตข้าราชการกระทรวงธรรมการ)  ขออนุญาตเป็นผู้แสดงให้กับบริษัทถ่ายภาพยนตร์ไทย   และตามพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระราชทานลงมาว่า  “หากข้าราชการใช้นามแฝงในการแสดงภาพยนตร์ ก็อาจได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต[25]

                ในระยะแรก ภาพยนตร์มีฐานะเป็นเทคโนโลยีบันทึกภาพเคลื่อนไหวพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  อย่างไรก็ดี เมื่อทรงว่างจากพระราชกิจ  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดปรานทั้งการถ่ายภาพนิ่งและการถ่ายทำภาพยนตร์ด้วยฝีพระหัตถ์พระองค์เอง นอกจากนี้ยังทรงสนับสนุนกิจการภาพยนตร์ด้วยความสนพระราชหฤทัย  โดยจัดตั้ง “สมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งประเทศสยาม” ในพระบรมราชูปถัมภ์ พ.ศ. 2473  เพื่อส่งเสริมกิจการภาพยนตร์สมัครเล่นให้ก้าวหน้า  แลกเปลี่ยนความรู้และประสานสามัคคีในกลุ่มผู้สนใจภาพยนตร์สมัครเล่น  สำนักงานตั้งอยู่ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  ทั้งรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์  กิจกรรมสำคัญของสมาคม  ได้แก่  การจัดฉายภาพยนตร์ให้แก่สมาชิกชมทุกเดือน รวมถึงการจัดบริการต่างๆ  ได้แก่  การรับล้างฟิล์ม การพิมพ์สำเนาฟิล์ม  การเผยแพร่ข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับภาพยนตร์สมัครเล่นผ่านทาง “วารสารข่าว สภส.”  เป็นต้น

                ภาพยนตร์ที่ทรงถ่ายมีทั้งเนื้อหาที่เป็นสารคดี อาทิ ภาพยนตร์เกี่ยวกับการเสด็จฯ ประพาสโบราณสถานในมณฑลพายัพของสยาม  อินโดจีนฝรั่งเศสและเกาะชวา  ปัจจุบันภาพยนตร์ดังกล่าวกลายเป็นมรดกความทรงจำอันล้ำค่าของอาเซียน  เพราะได้บันทึกวัฒนธรรมประเพณี และสถานที่ท่องเที่ยว จำนวนมากของประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เอาไว้อย่างละเอียด  แม้แต่เจ้าของประเทศ อาทิ เวียดนามยังไม่เคยเห็นภาพยนตร์ดังกล่าว ส่วนภาพยนตร์ที่ให้ความบันเทิงหนึ่งในจำนวนนั้น คือ ภาพยนตร์เรื่อง “แหวนวิเศษ” ซึ่งได้ทรงเป็นองค์ผู้อำนวยการสร้างและกำกับการแสดงด้วยพระองค์เองจากการพระราชนิพนธ์บทภาพยนตร์ขึ้นในเรือพระที่นั่งจักรี  ระหว่างเสด็จประพาสทางทะเล และโปรดเกล้าฯให้ถ่ายทำขึ้นที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เป็นภาพยนตร์เงียบ เวลาฉายทั้งเรื่องประมาณ 40 นาที นับเป็นพระมหากษัตริย์นักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่นผู้บุกเบิกวงการภาพยนตร์ไทย [26]

                พระราชนิยมในการภาพยนตร์ดังกล่าวมีผลต่อนโยบายของรัฐในการสนับสนุนส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ไทย คือ มีการตราพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. 2473  ควบคุมการสร้างและการฉายภาพยนตร์ในราชอาณาจักร  โดยเน้นนโยบายให้เป็นประโยชน์เพื่อการค้าโดยคนไทย  โปรดฯให้สร้างโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ที่เป็นสถาปัตยกรรมทันสมัยที่สุดแห่งแรกของประเทศ  เพื่อเป็นอนุสรณ์ในวโรกาสฉลองพระนคร 150 ปีด้วยอีกชิ้นหนึ่งนอกจากพระปฐมบรมราชานุสรณ์และสะพานพุทธยอดฟ้า   โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง  เริ่มสร้างเมื่อ  1 กรกฎาคม  พ.ศ. 2473  ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2476  ออกแบบโดย  ม.จ.สมัยเฉลิม  กฤดากร  [27] นับเป็นเวลา 80 ปีมาแล้ว ศาลาเฉลิมกรุงยังทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญทางวัฒนธรรมต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เช่น มีการแสดงนาฏกรรมโขน เป็นต้น

การ์ตูนล้อเลียน(Caricature) : ศิลปะสะท้อนความคิดและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสมัยรัชกาลที่ 7  

การเขียนภาพล้อและการ์ตูนการเมืองเป็นศิลปะที่เกิดขึ้นครั้งแรกในยุโรปตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่15 (พุทธศตวรรษที่20) จากนั้นก็ได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก ภาพเขียนล้อเลียนและการ์ตูนการเมืองเข้ามาในไทยครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โดยปรากฏในหนังสือดุสิตสมิต  ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่ไม่เพียงจะตีพิมพ์ศิลปะการ์ตูนผลงานของพระองค์  แต่ยังได้ใช้ภาพพิมพ์หินเพื่อสนับสนุนผลงานอันหลากหลายของราชสำนักด้วย  อย่างไรก็ดี การตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ของดุสิตธานีแพร่หลายอยู่ในกลุ่มคนใกล้ชิดกับรัชกาลที่ 6 เท่านั้น


ภาพล้อหน้าปกของหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต

                ท่ามกลางจารีตสังคมศักดินา หนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่งได้ใช้ภาพการ์ตูนเป็นเครื่องมือวิจารณ์สังคม อาทิ นายหอม นิลรัตน์บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยหนุ่ม มีนายเปล่ง ไตรปิ่น (ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต)ในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นผู้วาดการ์ตูนล้อการเมือง และ นายเสม สุมานนท์ (แก่นเพ็ชร) แห่งหนังสือพิมพ์บางกอกการเมืองและหนังสือพิมพ์สยามรีวิว[28] 

                       ตัวอย่างภาพจากหนังสือพิมพ์ไทยหนุ่ม ตีพิมพ์ในนสพ.สยามรีวิว ปีที่ 1 ฉบับที่ 38ประจำวันอาทิตย์ที่ 27  มีนาคม พ.ศ. 2469 หน้า 697 จำนวน2 ภาพ เป็นฝีมือของ นายเปล่ง  ไตรปิ่น ภาพแรก เป็นภาพล้อสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ      กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในเครื่องแบบฉลองพระองค์ “มากยศ” ในฐานะเสนาบดีทหารบกและทหารเรือ  พระหัตถ์ขวาทรงตรา คชสีห์ หมายถึง กระทรวงกลาโหม  และพระหัตถ์ซ้ายทรงตรา มัตสยาวตาร หมายถึง กระทรวงทหารเรือ แต่ดูเหมือนจะจงใจเขียนภาพต้นพระสนับเพลาให้ลีบรัดพระองค์แทนที่จะพองตามปกติจนดูเหมือนแทบจะไม่ได้ทรง  ส่วนพระพักตร์ก็แสดงพระอารมณ์ภายในออกมาดูเคร่งขรึมเอาจริงเอาจังมากจนพระโอษฐ์และพระมัสสุบิดเอียง มีอักษรบรรยายด้านข้างว่า “อยู่ในลักษณะเชื่อแน่ของประชาชนส่วนมาก ”



                       อีกภาพเป็นภาพล้อ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน  เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม  กำลังทรงทอดอารมณ์สูบไปป์ บนเรือพระที่นั่งแจวพระองค์เดียว 3 ลำ มีในพระอริยาบถสำราญพระหฤทัยแบบทองไม่รู้ร้อน  และมีข้อความเหน็บแนมใต้ภาพว่า “อย่าว่าแต่เท่านี้ ถึงอิกลำสองลำก็พอกะเดกไปได้  หร็อกน่า !   

                       แม้เปล่ง ไตรปิ่นจะล้อเลียนเจ้านายทั้งสองพระองค์ผู้ทรงเป็นพระเชษฐาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและยังทรงดำรงตำแหน่งเป็นอภิรัฐมนตรีในขณะที่ประเทศไทยยังมีสถานะเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแต่ศิลปินก็ไม่ได้ถูกดำเนินคดี




การอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมทางด้านนาฏศิลป์และการดนตรี

                ความเชื่อ ประเพณี ค่านิยม ภาษา   แม้แต่ดนตรีเองก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม[29] บทละคร เรื่อง   เวนิสวานิช พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงนิยามถึงคุณค่าของศิลปะการดนตรีไว้ตอนหนึ่ง  ดังนี้

                “ชนใดไม่มีดนตรีการ  ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก  อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ  เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์  หรืออุบายมุ่งร้ายฉมังนัก  มโนหนักมืดมัวเหมือนราตรี  และดวงใจย่อมดำ            สกปรก  ราวนรกชนเช่นกล่าวมานี่  ไม่ควรใครไว้ใจในโลกนี้  เจ้าจงฟังดนตรีเถิดชื่นใจ[30]

                อย่างไรก็ดี ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นที่ทราบกันดีว่า  ประเทศไทยกำลังประสบภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ  อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน  ปัจจัยภายนอก คือผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ.2457- 2461 )  ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ส่งผลให้รัฐบาลไทยต้องดำเนินการทั้งลดทอนและยุบรวมหน่วยงานราชการที่ไม่จำเป็นลง  และให้ข้าราชการบางส่วนออกจากราชการ เรียกว่า  การ “ดุลยภาพ”  ส่วนปัจจัยภายในที่ทำให้ฐานะการคลังของไทยอยู่ในสภาพอ่อนแอสืบเนื่องมาถึงสมัยรัชกาลที่7  คือ ตอนปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัฐบาลไทยตกอยู่ในสภาวะ “เงินขาด” ตลอดมา  เพราะเงินคงคลังซึ่งเป็นทุนที่รัฐบาลสะสมไว้ลดน้อยลง  รัฐบาลจึงหาทางออกโดยการกู้เงินจากต่างประเทศ เมื่อพ.ศ. 2464 [31]

                ดังนั้น การที่กรมมหรสพหลวงมีข้าราชการหลายร้อยคน ได้แก่ นาฏศิลปินและนักดนตรี ส่งผลให้มีรายจ่ายเกินกำลังของพระคลังข้างที่ อีกทั้งบ้านเมืองในขณะนั้นกำลังอยู่ในภาวะขาดแคลน หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวกับศิลปะการแสดง อาทิ  กรมโขนหลวง กรมพิณพาทย์หลวงและกรมเครื่องสายฝรั่งหลวงในสังกัดกรมมหาดเล็ก  กระทรวงวังก็ได้รับผลกระทบโดยตรงเช่นกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าจำเป็นต้องยุบรวมกรมมหรสพหลวง เข้าเป็นหน่วยงานหนึ่งในกระทรวงวังมีเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนา) เป็นเสนาบดี  [32]

                พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงทอดทิ้งข้าราชการกรมมหรสพหลวงแต่อย่างใด  ในการประชุมเสนาบดี พระองค์ทรงขอความเห็นว่า  หากเป็นการสมควรที่จะรักษาศิลปะชั้นสูงของชาติไว้  ก็เต็มพระราชหฤทัยที่จะทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์  และปรากฏว่าในเวลาต่อมา  เมื่อพระองค์ทรงมีพระราชกิจที่จำเป็นต้องใช้สอยคนเก่าแก่  ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เรียกข้าราชการที่ถูกดุลยภาพ ให้กลับเข้ามารับราชการต่อ  รวมทั้งยังโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งวงมโหรีหลวงขึ้น  รวมทั้งรื้อฟื้นและทำนุบำรุงศิลปะการแสดงละคร นาฏศิลป์และ ดนตรีของชาติให้ดำรงอยู่ต่อมา  มูลเหตุที่ทำให้พระองค์ทรงเริ่มสนใจดนตรีไทยเนื่องจากในพระราชพิธีสมโภชพระคชาธารเผือก  มีวงขับไม้บรรเลงขับกล่อมหลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น  ดูรยะชีวิน) ทำหน้าที่สีซอสามสาย  พระองค์ทรงสดับเสียงซอสามสายแล้วทรงโปรด  ถึงกับมีพระราชกระแสรับสั่งกับพระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก)  ว่า  “เครื่องดนตรีไทยนี่ก็แปลก  มีแค่สามสาย แต่ทำได้ทุกเสียง  แล้วก็ชัดดีด้วย”  จากนั้นทรงมีพระราชปรารภให้จัดหาครูดนตรีไทยมาถวายการสอน  ในที่สุด สมเด็จฯ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์  กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช  ทรงส่งหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ไปถวายการสอนแด่พระองค์และสมเด็จพระบรมราชินี  รวมทั้งหลวงไพเราะเสียงซอก็มีโอกาสได้ถวายการสอนซอโดยตรง รัชกาลที่ 7 โปรดการทรงดนตรี โดยเฉพาะดนตรีไทย  ทรงตั้งวงดนตรีไทยส่วนพระองค์ขึ้น ในปีพ.ศ. 2470  ประกอบด้วยเจ้านายและข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดพระยุคลบาททั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน  และยังทรงมีพระปรีชาสามารถทั้งการทรงดนตรีและการพระราชนิพนธ์เพลงไทยเดิม ทั้ง 3  เพลง ได้แก่  เพลงราตรีประดับดาว เถา (พ.ศ. 2472)  เพลงเขมรลออองค์เถา (พ.ศ. 2473) และเพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง (พ.ศ. 2474)  ถือได้ว่ารัชกาลที่ 7 ทรงอนุรักษ์ดนตรีไทยไว้ด้วยพระองค์เอง

บทสรุป

                ในช่วงระยะเวลา 9 ปีแห่งการครองราชย์สมบัติมีหลักฐานพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวบ่งชี้ให้เห็นความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมในรัชสมัยอย่างชัดเจน การสืบทอดฝีมือช่างทางด้านสถาปัตยกรรมแบบไทยประเพณี  ปรากฏให้เห็นหลักฐานจากการบูรณะและปฏิสังขรณ์พระอารามสำคัญ ได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดารามและวัดสุวรรณดาราราม เป็นต้น การสืบทอดรับช่วงพระราชนิยมของรัชกาลที่6 ด้านการเปิดรับรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกเข้ามามีพื้นที่เป็น “ของใหม่” ในบริบทของสังคมไทย  เห็นได้จากการสร้างวังไกลกังวลให้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสตอนใต้ที่เรียบง่าย  เป็นต้น

                ในรัชสมัยนี้ เริ่มแลเห็นพัฒนาการทางด้านเทคนิคจิตรกรรมที่สำคัญ คือ การมีการนำสีน้ำมันมาเขียนภาพจิตรกรรมพระราชพงศาวดารฝาผนังที่วัดสุวรรณดารารามแทนจิตรกรรมสีฝุ่นที่ใช้มาแต่โบราณ นอกจากนี้ การเข้ารับราชการของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี  ศิลปิน ชาวอิตาเลียน ยังทำให้เกิดแบบแผนในการสร้างสรรค์ประติมากรรมที่คำนึงถึงหลักกายวิภาคศาสตร์(Anatomy) ในการสร้างพระปฐมบรมราชานุสรณ์ 

                การถ่ายภาพนิ่งเคยเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ความรู้ความชำนาญทางด้านเทคโนโลยี ของคนชั้นสูง กลับกลายเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน  ขณะที่พระปรีชาสามารถทางด้านการริเริ่มถ่ายทำภาพยนตร์ก็พัฒนามาเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่เกี่ยวข้องกับศิลปะการแสดงที่สร้างผลประโยชน์มหาศาลแก่ผู้เกี่ยวข้อง 

                ภาพยนตร์บันทึกพระราชกรณียกิจเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่มณฑลปัตตานี การสักการะศาสนสถานและสถานที่สำคัญ ทั้งในมณฑลพายัพ มณฑลภูเก็ต เกาะพะงัน ถ้ำพระยานครและโบราณสถานหลายแห่งในอินโดจีน(เวียดนาม และกัมพูชา) และภูมิภาคในกลุ่มประเทศอาเซียนบางประเทศ(อินโดนีเซีย) เป็นมรดกความทรงจำทางด้านประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์สังคม และวัฒนธรรมในอดีตอันทรงคุณค่าซึ่งเจ้าของพื้นที่เองบางประเทศก็อยากได้เพราะไม่มีเก็บรักษาไว้ (อาทิ เวียดนาม)  ปรากฏการณ์ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงทางด้านศิลปวัฒนธรรมในรัชสมัยสั้นๆ ของพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นแบบอย่างของความเสียสละทางการเมืองและผู้ทรงปราศจากรอยด่างพร้อยในพระราชจริยาวัตรส่วนพระองค์ เป็นพัฒนาการที่ส่งผลกระทบยาวนานมาถึงปัจจุบัน 

                แม้เวลาจะผ่านไปนานแล้วเกือบ 80 ปี นับตั้งแต่ที่ทรงได้พระราชนิพนธ์เพลงราตรีประดับดาวขึ้นในปีพ.ศ.2472  แต่เนื้อเพลงดังกล่าวยังคงได้รับการฟื้นฟูและสืบทอดระหว่างการนำชมห้องพระราชจริยาวัตรภายในพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ถนนหลานหลวงอย่างน่าชื่นชมยินดี      


บรรณานุกรม

กรรณิการ์  ตันประเสริฐ,  จดหมายเหตุวังไกลกังวลสมัยรัชกาลที่ 7 . กรุงเทพฯ : มติชน , 2546.

คณะกรรมการจัดพิมพ์หนังสือสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า,  พระมหาธีรราชเจ้า. กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์เม็ดทราย,2529.

คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย .ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา

                               ประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยุ่หัว. กรุงเทพ :  2536 .

ฉัตรบงกช  ศรีวัฒนสาร, ภาพล้อและการ์ตูนการเมืองในสังคมไทย พ.ศ. 2465-2475, เสนอสถาบันพระปกเกล้า, 2555.

ชาตรี ประกิตนนทการ, การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม, ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ,กรุงเทพฯ :มติชน, 2547 .

โดม  สุขวงศ์,  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับภาพยนตร์. กรุงเทพฯ: ต้นอ้อ แกรมมี่,2539.

....................,  กำเนิดหนังไทย . กรุงเทพฯ :มติชน , 2539 .

...................., “มรดกภาพยนตร์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ”  วารสารไทย  ปีที่13 ฉบับที่ 49 , 2536.

แน่งน้อย  ศักดิ์ศรี, รองศาสตราจารย์.   สถาปัตยกรรมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เอกสาร       ประกอบการประชุมทางวิชาการ เนื่องในวาระครบ 100 ปี  พระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ,         เรื่องสังคมไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ,2537 .  

พรทิพย์   ดีสมโชค,  แนวความคิดและวิธีการสื่อสารการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างพ.ศ.      2468- พ.ศ. 2477, ผลงานวิจัยดี ประจำปี 2553 จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2533.

พระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช, พระบาทสมเด็จ, ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

                รัชกาลปัจจุบัน ,2513.

พูนพิศมัย  ดิศกุล, ม.จ. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น : ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 . กรุงเทพฯ :มติชน,2546.

                 ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525.              

มยุรี  นกยูงทอง.  “ปัญหาเศรษฐกิจของไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยุ่หัว”  วิทยานิพนธ์ปริญญา               มหาบัณฑิตภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520 .    

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช . เอกสารการสอนชุดวิชา ไทยศึกษา สาขาวิชาศิลปศาสตร์ หน่วยที่10  เรื่อง ลักษณะ             สถาปัตยกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ .

วรุณ  ตั้งเจริญ, สุนทรียศาสตร์เพื่อชีวิต.  ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ,กรุงเทพฯ :   2552.

วิไลรัตน์ ยังรอด, “จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดาราม: พงศาวดารบนโครงภาพพุทธประวัติ”  วารสารเมืองโบราณ ปีที่29       ฉบับที่ 4  ตุลาคม-ธันวาคม  2546.

ศักดา  ศิริพันธุ์, กษัตริย์ &กล้อง : วิวัฒนาการการถ่ายภาพในประเทศไทย พ.ศ. 2388 -2535 . กรุงเทพฯ :ด่านสุทธา

                การพิมพ์, 2535.

ศิลปากร,กรม. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระบาทสมเด็จ            พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว,   จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทานใน        อภิลักขิตสมัยคล้ายวันพระบรมราชสมภพครบ 100 ปี  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  วันที่ 8 พฤศจิกายน              พุทธศักราช 2536 .

เสถียรโกเศศ. นามแฝง, พระยาอนุมานราชธน. ชีวิตชาวไทยสมัยก่อน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน , 2531.

สถาบันพระปกเกล้า,  สมุดภาพรัชกาลที่ 7 .   พิมพ์เป็นที่ระลึกในนิทรรศการอวดภาพและของหายากยุครัชกาลที่ 7, 2544.

The Columbia Encyclopedia, Daguerre: 1957.


------------------------------------------------------------------------------------------------------




[1] นักวิชาการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
[2] วรุณ  ตั้งเจริญ, สุนทรียศาสตร์เพื่อชีวิต.  ศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (พิมพ์ครั้งที่ 3) กรุงเทพฯ : 2552.
[3] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน,  พ.ศ. 2525 : 783.
[4] เรื่องเดียวกัน. เล่มเดียวกัน, พ.ศ. 2525 : 757.
[5] เสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน). ชีวิตชาวไทยสมัยก่อน.(พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน , 2531.
[6] พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แก่คณะนาฏศิลป์จากกรมศิลปากรซึ่งเดินทางไปเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรมไทย ณ ประเทศออสเตรเลีย 27 ก.พ. 2513. ในประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทฯ 2513 :127.
[7] ประมวลพระราชบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง “พระราชดำรัสในการเสด็จฯเปิดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร และเปิดหอพระสมุดวชิรญาณ” ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469. หน้า 43.
[8] ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยุ่หัวคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทยและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ,  2536 : 258.
[9] เรื่องเดิม , อ้างมาจากพระนิพนธ์ในพระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร  : 5.
[10]  แน่งน้อย  ศักดิ์ศรี, รองศาสตราจารย์.   “สถาปัตยกรรมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” 2537 : 1.
[11]  มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช . เอกสารการสอนชุดวิชา ไทยศึกษา สาขาวิชาศิลปศาสตร์ หน่วยที่10  เรื่อง ลักษณะสถาปัตยกรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์
[12] พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ที่ระลึกในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทานในอภิลักขิตสมัยคล้ายวันพระบรมราชสมภพครบ 100 ปี  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  วันที่ 8 พฤศจิกายน  พุทธศักราช 2536 : 453.
[13] ชาตรี ประกิตนนทการ, การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม, ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2547 .
[14] ฉัตรบงกช  ศรีวัฒนสาร, ภาพล้อและการ์ตูนการเมืองในสังคมไทย พ.ศ. 2465-2475 เสนอสถาบันพระปกเกล้า, 2555.
[15] สมุดภาพรัชกาลที่ 7 .   สถาบันพระปกเกล้า พิมพ์เป็นที่ระลึกในนิทรรศการอวดภาพและของหายากยุครัชกาลที่ 7, 2544.
[16] วิไลรัตน์ ยังรอด, “จิตรกรรมฝาผนังวัดสุวรรณดาราม: พงศาวดารบนโครงภาพพุทธประวัติ”  วารสารเมืองโบราณปีที่29 ฉบับที่ 4  ตุลาคม-ธันวาคม  2546,   หน้า 56-65.  พรรณนาถึงแรงบันดาลใจในการบูรณะและสืบทอดจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่วิหารหลวง วัดสุวรรณดาราราม ภาพจิตรกรรมดังกล่าวริเริ่มเขียนขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 7 จึงมีการบูรณะจิตรกรรมดังกล่าวเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพระนครครบ 150 ปี (พ.ศ.2475) จิตรกรผู้เขียนภาพ คือ พระยาอนุศาสตร์จิตรกร( จันทร์ จิตรกร)  ส่วนบุคคลสำคัญที่มีบทบาทในการกำหนดเรื่องราวในภาพจิตกรรมข้างต้น คือ สมเด็จ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ   นายกราชบัณฑิตยสภาพระองค์แรก
[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 63.
[18] ประกาศสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า จาก ประชุมกฎหมายประจำศกเล่มที่ 42  พ.ศ. 2472 , 220-224.
[19] ชาตรี ประกิตนนทการ, การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม.อ้างแล้ว , 250.
[20] อ้างมาจาก กรรณิการ์  ตันประเสริฐ, จดหมายเหตุวังไกลกังวลสมัยรัชกาลที่ 7 พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ : มติชน  , 94
[21] ชาตรี ประกิตนนทการ , เรื่องเดิม : 252.
[22] The Columbia Encyclopedia, Daguerre, p.531
[23] ศักดา  ศิริพันธุ์, กษัตริย์ &กล้อง : วิวัฒนาการการถ่ายภาพในประเทศไทย พ.ศ. 2388 -2535 . กรุงเทพฯ :ด่านสุทธา
การพิมพ์,2535 : 1-6.
[24] โดม  สุขวงศ์. กำเนิดหนังไทย . กรุงเทพฯ :มติชน , 2539 : 2-3.
[25] โดม สุขวงศ์, เรื่องเดิม, 14-15.
[26]  โดม  สุขวงศ์. “มรดกภาพยนตร์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ” วารสารไทย  ปีที่13 ฉบับที่ 49 ,พ.ศ. 2536.
[27]  ชาตรี ประกิตนนทการ , เรื่องเดิม : 263.
[28] หนังสือพิมพ์เปลี่ยนแปลงนิยม  ประกอบด้วย  หนังสือพิมพ์ สยามรีวิว  ปากกาไทย  บางกอกการเมือง ไทยหนุ่ม เกราะเหล็ก  กัมมันโต และศรีกรุง  มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างโดดเด่นในแนวต่อต้านรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างเปิดเผย  และต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง.
[29] ความหลากหลายของ ศิลปวัฒนธรรมในบทความนี้ ผู้เขียนหมายรวมถึงทั้งทัศนศิลป์ ดนตรี  ศิลปะการแสดง ภาพยนตร์และวรรณกรรม  โดยมิใช่มองเพียงแยกส่วนเพียงด้านใดด้านหนึ่ง 
[30] คณะกรรมการจัดพิมพ์หนังสือสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า. พระมหาธีรราชเจ้า. กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์เม็ดทราย.2529 :173.
[31] มยุรี  นกยูงทอง.  “ปัญหาเศรษฐกิจของไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยุ่หัว”  วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตภาควิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520 : 51-52.
[32] คำบรรยายของศาสตราจารย์นายแพทย์พูนพิศ  อมาตยกุล  ในงาน ดนตรี-นาฏศิลป์แผ่นดินพระปกเกล้า  เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสครบ 119 ปี แห่งวันพระบรมราชสมภพ และครบรอบ 34 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555  ณ ห้องพระปกเกล้า มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั