ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ





ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์
ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง
 ราชบัณฑิตยสถาน
       พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี
 พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคับไทยให้จำยอมสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง  จ่ายค่าปฏิกรรมสงครามเป็นเงิน 3 ล้านแฟรงค์ หรือ 1,605,235 บาท 2 อัฐ  พร้อมกับลงโทษขุนนางไทย  คือ พระยอดเมืองขวาง (ขำ ยอดเพชร) ที่ต่อสู้และทำให้ทหารฝรั่งเศสถึงแก่ชีวิต  ทั้งนี้ตามหนังสือระหว่างกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ลงวันที่ 3 ตุลาคม ร.ศ. 112
   หนังสือสัญญาดังกล่าวทำให้ไทยผ่านวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงมาได้เปลาะหนึ่ง  เพราะแม้ฝรั่งเศสจะถอนกำลังและเลิกปิดปากอ่าวไทย  แต่ไม่ได้ถอนกำลังไปอย่างแท้จริง  หากไปยึดจันทบุรีต่อ  แม้ว่าไทยจะปฎิบัติตามหนังสือสัญญาได้ครบถ้วนแล้วก็ตาม

ภาพล้อวิกฤตการณ์ รศ. 112  (หมาป่าฝรั่งเศสกับแกะน้อยสยาม)
ภาพนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Punch ของอังกฤษ ในปีค.ศ. 1893 ...




ขอบคุณ ที่มา : enamtan.exteen.com


        หนังสือสัญญาดังกล่าวทำให้ไทยผ่านวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงมาได้เปลาะหนึ่ง  เพราะแม้ฝรั่งเศสจะถอนกำลังและเลิกปิดปากอ่าวไทย  แต่ไม่ได้ถอนกำลังไปอย่างแท้จริง  หากไปยึดจันทบุรีต่อ  แม้ว่าไทยจะปฏิบัติตามหนังสือสัญญาได้ครบถ้วนแล้วก็ตาม   ระหว่างที่เกิดวิฤตการณ์นี้  เฉพาะหลังการตีฝ่าปากน้ำ  จนถึงการลงนามในหนังสือสัญญาพระบาทสมเด็จพรจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระประชวรและทรงคาดว่าอาจจะสวรรคต  ดังนั้นการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพ  น่าจะทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปิติโสมนัส  และมีพระราชหฤทัยกล้าแข็งมุ่งมั่นต่อการรักษาเอกราชของชาติต่อไป
        เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นว่า  วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ร้ายแรงเพียงใด  ขอเล่าเรื่องนี้พอเป็นสังเขป
        การคุกคามของจักรวรรดินิยมต่อไทยรุนแรงมากตั้งแต่  รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
(พ.ศ.2394-2411)  ซึ่งทำให้ไทยเสียเขมรส่วนนอกหรือด้านตะวันออกแก่ฝรั่งเศส  จากนั้นฝรั่งเศสยังคงคุกคามไทยต่อมา  โดยอยากได้เขมรส่วนใน  และลาว ซึ่งมีแม่น้ำโขงไหลผ่าน เพื่อใช้เป็นเส้นทางไปสู่ด้านในของจีนทางจีนใต้เป็นการเปิดการค้ากับจีนอีกด้านหนึ่ง  การคุกคามของจักรวรรดินิยมต่อไทย  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงตระหนักดีจึงทรงสร้างแนวป้องกันทางทะเล  โดยเฉพาะที่ปากน้ำให้ดียิ่งขึ้น  ในการนี้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์หนึ่งหมื่นชั่ง (800,000 บาท) เพื่อให้เร่งรัดการสร้างป้อมที่ตำบลแหลมฟ้าผ่า (คือ ป้อมพระจุลจอมเกล้า) ให้เสร็จโดยเร็วพร้อมกับซื้ออาวุธเพิ่มเติมเพื่อรักษาเอกราชของชาติไว้ให้ได้  เพราะเอกราชมีความสำคัญต่อชีวิตของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง  ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงเสนาบดีสภา  เมื่อวันที่ 10 เมษายน ร.ศ.112  ตอนหนึ่งว่า  "ถ้าความเป็นเอกราชของกรุงสยามได้สิ้นสุดไปเมื่อใด  ชีวิตฉันก็คงจะสุดสิ้นไปเมื่อนั้น"
    และถ้าเงินหนึ่งหมื่นชั่งไม่พอ  พระองค์ก็ทรงยินดีจะบริจาคให้เพิ่มเติม  ยิ่งไปกว่านั้นระหว่างการติดตั้งปืนใหญ่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า  ซึ่งไทยสั่งซื้อจากอังกฤษ (ปืนใหญ่นี้ไทยเรียกว่า ปืนเสือหมอบ)  พระองค์เสด็จไปทดลองยิงด้วยพระองค์เองหลายครั้ง  เพื่อให้ใช้ปืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ในพระราชหัตถเลขาฉบับหนึ่งทรงกล่าวถึงการทดสอบปืนว่า  เป็นความจำเป็น  แม้จะทรงทราบว่า  กระสุนปืนใหญ่แพง ราคานัดละ 60 บาท  การเตรียมป้องกันพระนคร  ไม่ได้มีเฉพาะที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า  แต่รวมถึงป้อมอื่นๆด้วย  โดยเฉพาะที่ป้อมผีเสื้อสุมทร  ซึ่งมีการติดตั้งปืนใหญ่แบบเดียวกับปืนใหญ่ที่ป้อใพระจุลจอมเกล้า  และมีการส่งทหารมาประจำที่ป้อมเพิ่มเติม  แต่เมื่อฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าปากน้ำในวันที่ 13 กรกฎาคม ร.ศ. 112  (ก่อนหน้าวันชาติฝรั่งเศสหนึ่งวัน)  การป้องกันตัวของไทยทั้งที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ป้อมผีเสื้อสุมทร และกำลังเรือรบ  เรือยิงทุ่นระเบิด  ทำได้ไม่ดี  อย่างที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงคาดหวัง  และทุ่มเทพระพละกำลัง  เรือรบฝรั่งเศสจึงตีฝ่าเข้ามาจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสได้    หลังจากเวลาค่ำของวันที่ 13  กรกฎาคม  สถานการณ์ดูจะรุนแรงขึ้น  ฝรั่งเศสยื่นคำขาดต่อไทย  ประกาศปิดปากอ่าว  เมื่อไทยต่อรอง  ฝรั่งเศสก็เรียกร้องมากขึ้น  ยื่นคำขาดซ้อนคำขาด  พูดได้ว่าไทยจะเจรจาต่อรองไม่ได้เลย  ต้องยอมรับคำขาดอย่างเดียว  แม้ไทยจะแจ้งต่อรัฐบาลฝรั่งเศสในการยอมรับและปฏิบัติตามคำขาด  ฝรั่งเศสยังไม่พอใจ  ได้แจ้งต่อไทยว่าจะยึดเมืองจันทบุรีไว้จนกว่าไทยจะปฏิบัติตามคำขาดครบทุกประการ (แต่ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีจนถึง พ.ศ. 2447  แล้วไปยึดเมืองตราดต่อ จนถึงปลาย พ.ศ. 2449)  การเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศสได้เริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคมครั้งหนึ่ง   และต่อมาในปลายเดือนกันยายน ในวันที่  2 ตุลาคม ร.ศ. 112   พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงษวโรปการ (ต่อมาคือ สมเด็จฯกรมพระยาเทวะวงษวโรปการ)  ได้ถวายรายงานผลการเจรจาต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัว  ทรงเห็นว่าไม่มีทางหลีกเลี่ยงใดๆ ได้  การลงนามในหนังสือสัญญาจึงมีขึ้นในวันที่ 3 ตุลาคม ที่ตึกราชวัลลภในพระบรมมหาราชวัง  ดังสาระดังนี้    ข้อ 1 คอเวอนแมนต์สยามยอมสละเสียซึ่งข้ออ้างที่ว่ามีกรรมสิทธิ์ทั้งสิ้นทั่วไปในดินแดน ณ ฝั่งซ้ายฟากตะวันออกแม่น้ำโขงแลในบรรดาเกาะทั้งหลายฝั่งแม่น้ำนั้นด้วย
      ข้อ 2   คอเวอนแมนต์สยามจะไม่มีเรือรบใหญ่น้อยไปไว้ ฤาใช้เดินในทะเลสาบก็ดีในแม่น้ำโขงก็ดี แลในลำน้ำแยกจากแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ภายในที่อันได้มีกำหนดในข้อต่อไปนี้
      ข้อ 3    คอเวอนแมนต์สยามจะไม่ก่อสร้าง ด่าน ค่าย คู ฤาที่อยู่ของพลทหารในแขวงเมืองพระตะบอง  แลเมืองนครเสียมราฐ แลในจังหวัด 25 กิโลเมตร (625 เส้น) บนฝั่งขวาฟากตะวันตกแม่น้ำโขง
      ข้อ 4  ในจังหวัดซึ่งได้กล่าวไว้ในข้อ 3 นั้น บรรดาการตระเวนรักษาจะมีแต่กองตระเวนเจ้าพนักงานเมืองนั้นๆ  กับคนใช้เป็นกำลังแต่เพียงที่จำเป็นแท้ แลทำการตามอย่างเช่นเคยรักษาเปนธรรมเนียมในที่นั้น  จะไม่มีพลประจำพลเกณฑ์สรรพด้วยอาวุธเปนทหารอย่างใดอย่างหนึ่งตั้งอยู่ในที่นั้นด้วย
       ข้อ 5  คอเวอนแมนต์สยามจะรับปฤกษากับคอเวอนแมนต์ฝรั่งเศส ภายในกำหนดหกเดือน แต่ปีนี้ไปในการที่จะจัดการเป็นวิธีการค้าขาย  แลวิธีตั้งด่านโรงภาษีในที่ตำบลซึ่งได้กล่าวไว้ในข้อ 3 นั้น แลในการที่จะแก้ไขข้อความสัญญาปีมะโรงอัฐศก จุลศักราช 1218 คริสต์ศักราช 1856  นั้นด้วย  คอเวอนแมนต์สยามจะไม่เก็บภาษีสินค้าเข้าออกในจังหวัดที่ได้กล่าวไว้ในข้อ 3 แล้วนั้น จนกว่าจะได้ตกลงกัน คอเวอนแมนต์ฝรั่งเศสจะได้ทำตอบแทนให้เหมือนกันในสิ่งของที่เกิดจากจังหวัดที่กล่าวนี้สืบไป
      ข้อ 6 การซึ่งจะอุดหนุนการเดินเรือในแม่น้ำโขงนั้น  จะมีการจำเป็นที่จะทำได้ในฝั่งขวาฟากตะวันตกแม่น้ำโขง  โดยการก่อสร้างก็ดี  ฤาตั้งท่าเรือจอดก็ดี  ทำที่ไว้ฟืนแลถ่านก็ดี คอเวอนแมนต์สยามยอมรับว่า เมื่อคอเวอนแมนต์ฝรั่งเศสขอแล้วจะช่วยตามการจำเปนที่จะทำให้สะดวกทุกอย่างเพื่อประโยชน์นั้น
       ข้อ 7 คนชาวเมืองฝรั่งเศสก็ดี  คนในบังคับฤาคนอยู่ในปกครองฝรั่งเศสก็ดีไปมาค้าขายได้โดยสะดวกในตำบลนั้น  ฝ่ายราษฎรในจังหวัดอันได้กล่าวนี้จะได้รับผลเป็นการตอบแทนอย่างเดียวกันด้วยเหมือนกัน
        ข้อ 8 คอเวอนแมนต์ฝรั่งเศสจะตั้งกงศุลได้ในที่ใดๆ ซึ่งจะคิดเห็นว่าเปนการสมควรแก่ประโยชน์ของคนผู้อยู่ในความป้องกันของฝรั่งเศส  แลมีที่เมืองนครราชสีมาแลเมืองน่าน เปนต้น
        ข้อ 9ถ้ามีความขัดข้องไม่เห็นต้องกันในความหมายของหนังสือสัญญานี้แล้ว ภาษาฝรั่งเศสเท่านั้นจะเปนหลัก
        ข้อ 10  สัญญานี้จะได้ตรวจแก้เปนใช้ได้ภายในเวลาสี่เดือนตั้งแต่วันลงชื่อกันนี้
        นอกจากนี้ยังมีสัญญาน้อย  และบันทึกวาจาต่อท้ายซึ่งเป็นรายละเอียดในการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาระหว่างการเจรจาก่อนจะถึงการลงนามในหนังสือสัญญา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร และทรงคิดว่าอาจสวรรคต  ถึงกับมีพระราชปรารภเกี่ยวกับพระบรมศพ  อนาคตของพระราชโอรสแลพระราชธิดา และทรงทอดอาลัยในชีวิต ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์โคลง ฉันท์ พระราชทานพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ (ต่อมาคือ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ) ตอนหนึ่งว่า
           " เจ็บนานหนักอกผู้        บริรักษ์ ปวงเฮย
          คิดใคร่ลาลาญหัก          ปลดเปลื้อง
          ความเหนื่อยแห่งสูจัก     พลันสร่าง
         กูจักสูภพเบื้อง               หน้านั้นพลันเขษม"
และ
       " กลัวเป็นทวิราช         บตริป้องอยุธยา
         เสียเมืองจึงนินทา      บละเว้น ฤ ว่างวาย
       คิดใดจะเกี่ยวแก้         ก็บพบซึ่งเงื่อนสาย
       สบหน้ามนุษย์อาย      จึงจะอุดแลเลยสูญ"

         พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ  มีพระนิพนธ์ตอบเพื่อให้ทรงมีมานะที่จะเผชิญวิฤตการณ์ที่ทรงเปรียบเหมือนพายุร้าย  และทรงเปรียบพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าเหมือนกับกัปตันเรือที่กำลังเผชิญพายุร้าย  เรือย่อมขาดกัปตันไม่ได้  แต่ถ้ากัปตันสามารถนำเรือ
       "แก้รอดตลอดฝั่ง  จะรอดทั้งจะชื่นชม
          เหลือแก้ก็จำจม   ให้ปรากฏว่าถึงกรรม"
             นั่นคือ  ถ้ากัปตันสามารถนำเรือเข้าสู่ฝั่งได้ก็จะเป็นที่ชื่นชมยินดีโดยทั่วไป  แต่ถ้าใช้ความพยายามเต็มที่แล้ว  เรือยังจม  และถ้าเป็นเช่นนี้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ  ก็มีพระนิพนธ์ต่อไปว่า
           "เสียทีก็มีชื่อ     ได้เลื่องลือสรรเสริญ
            สงสารว่ากรรมเกิน   กำลังดอกจึงจมสูญ"
             จึงเห็นได้ว่า  ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม หรือก่อนหน้า  ถึงต้นเดือนตุลาคม  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า
เจ้าอยู่หัวทรงเผชิญวิฤตการที่ร้ายแรง  รุนแรงเป็นที่สุด  ทรงหาวิธีการหลายประการที่จะรักษาเอกราชของชาติไว้ให้ได้  ทางหนึ่งทรงเห็นว่ามีความสำคัญและน่าจะเป็นผลดี  คือการเสด็จประพาสยุโรป  เพื่อหาพันธมิตร  และเจรจากับประเทศที่ปองร้ายไทย  ส่วนหนังสือสัญญาที่ลงนามเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม  ร.ศ. 112 แม้จะมีความสำคัญต่อการคุกคามที่ลดลงไป  แต่ก็ยังไม่หมดสิ้น  เพราะฝรั่งเศสยังคงยึดจันทบุรี  เมื่อถอนกำลังจากจันทบุรี  ก็ยังไปยึดตราดต่อไป  จนถึงพ.ศ. 2449  หรืออีก 13  ปีต่อมา  ดังนั้น  การที่สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี  มีพระประสูติกาลพระราชโอรส  คือ  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  น่าจะทำให้ทรงคลายความตรอมตรมพระราชหฤทัยลงได้บ้าง  และทำให้ทรงมีความมุ่งมั่นต่อการรักษาเอกราชของชาติต่อไป  ซึ่งก็ทรงทำได้สำเร็จ  และเป็นเพียงไม่กี่ชาติในทวีปเอเชียที่ทำได้เช่นพระองค์   สำหรับรัชกาลที่ 7เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ในพ.ศ. 2468   แล้วได้ทรงพระราชนิพนธ์รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน "การเปลี่ยนแปลงแก้ไขการปกครองแผ่นดิน" ไว้  ความตอนหนึ่งว่า
          "พวกเราผู้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท  ผู้มีความจงรักภักดีและรู้สึกในพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระพุทธเจ้าหลวงอยู่ทุกขณะจิตต  ควรตั้งใจดำเนินตามรอยพระยุคลบาทตามแต่จะทำได้  ควรพยายามแลดูการล่วงหน้า  แต่ก็ควรเหลียวหลังดูประเพณีและหลักการที่ล่วงไปแล้วด้วยเหมือนกัน  ใน 2 อย่างนี้ก็พอจะทำได้  มียากอยู่เพียงจะเลือกเวลาให้เหมาะอย่าให้ช้าเกินไป อย่าให้เร็วเกินไป  ข้อนี้แหละยากยิ่งนัก  นอกจากมีสติปัญญาแล้วยังต้องมีโชคดีประกอบด้วย  แต่ถ้าเราทำการใดๆ ไปโดยมีความสุจริตในใจและโดยเต็มความสามารถแล้วก็ต้องนับว่าได้พยายามทำการงานตามหน้าที่จนสุดกำลังแล้ว"
           พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักแต่แรกเริ่มรัชกาลของพระองค์แล้วว่า  พระราชภารกิจที่จะต้องทรงสานต่อการเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองในสยามนั้น  จะยากยิ่งที่จะหาจังหวะเวลาที่เหมาะสม  แต่ก็ได้ทรงตั้งพระราชหฤทัยมั่นที่จะทรงประกอบพระราชภารกิจนั้นโดยซื่อตรงสุจริตพระทัย  สุดพระกำลังความสามารถ  แม้ว่าอาจไม่บังเกิดผลดังที่ทรงคาดหวัง  นับว่าเป็นพระราชอุปนิสัยที่ทรงคุณค่ายิ่ง  ควรแก่การจารึกไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ดำรงตนตามรอยเบื้องพระยุคลบาท

             



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา