ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พระบรมราโชวาทในรัชกาลที่ 7

   

    พระบรมราโชวาทซึ่งพระราชทานในวันงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๕ ทรงอธิบาย วิธีการอบรมบ่มนิสัยของโรงเรียนเอกชนชั้นดีของประเทศอังกฤษหรือที่เรียกว่า “ปัปลิกสกูล” (public school) ซึ่งเป็นแม่แบบของวชิราวุธวิทยาลัยนั้นเป็นผลดีแก่การปกครองแบบประชาธิปไตย


ดังข้อความในพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า

       “...หลักที่สาม ที่ปัปลิกสกูลเขาใช้ก็คือ เขาฝึกให้นักเรียนมีน้ำใจเป็นนักกีฬาแท้คือ ที่เรียกว่าสปอร์ตสแมน การฝึกน้ำใจนั้นเป็นของสำคัญมาก ยิ่งเราจะปกครองแบบเดโมคราซียิ่งสำคัญขึ้นอีก ในที่นี้จะขอหยิบยกหลัก ๒ -๓ อย่างที่ว่าน้ำใจเป็นนักกีฬานั้นคืออะไร ประการที่หนึ่ง นักกีฬาจะเล่นเกมอะไรก็ตามต้องเล่นให้ถูกต้องตามกฎข้อบังคับของเกมนั้น ไม่ใช้วิธีโกงเล็กโกงน้อยอย่างใดเลย จึงจะสนุกจึงจะเป็นประโยชน์ ประการที่สอง ถ้าเกมที่เล่นนั้นเล่นหลายคนต้องเล่นเพื่อความชะนะของฝ่ายตน ไม่ใช่เล่นเพื่อตัวคนเดียว ไม่ใช่เพื่อแสดงความเก่งของตัวคนเดียว ประการที่สาม นักกีฬาแท้นั้นต้องรู้จักชะนะและรู้จักแพ้ ถ้าชะนะก็ต้องไม่อวดทำภูมิ ถ้าแพ้ก็ต้องไม่พยาบาทผู้ชะนะ เป็นต้น หลักสามอย่างนี้สำคัญมาก ย่อมใช้เป็นประโยชน์ได้ในการเมืองด้วย เมื่อเราจะปกครองแบบรัฐสภาแล้ว ก็ต้องมีคณะการเมืองเป็นธรรมดา เกมการเมืองก็ย่อมต้องมีกฎของเกมเหมือนกัน ถ้าเราเล่นผิดกฎการเมืองก็ย่อมมีผลเสียหายได้มากทีเดียว เพราะการปกครองแบบเดโมคราซีย่อมต้องมีการแพ้และชะนะ ซึ่งถือเอาตามเสียงของหมู่มากกว่าฝ่ายใดแพ้และชะนะ เพราะคณะการเมืองย่อมมีความเห็นต่างๆ กันเป็นธรรมดา ต่างฝ่ายก็ต้องมุ่งที่จะให้หมู่มากเห็นด้วยกับตน และเลือกตนเข้าเป็นรัฐบาล ฝ่ายไหนประชาชนส่วนมากเห็นด้วยฝ่ายนั้นก็เป็นผู้ชนะ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เมื่อเวลาจะพูดชักชวนประชาชนลงความเห็นด้วยกับตนนั้น ถ้าเราใช้วิธีโกงต่างๆ เช่น ติดสินบนหรือข่มขืนน้ำใจก็ต้องเรียกว่าเล่นผิดเกมการเมืองโดยแท้ ต้องพูดให้คนอื่นเห็นตามโดยโวหารและโดยชอบธรรมจึงจะถูกกฎของเกม การปกครองแบบเดโมคราซีนั้นผู้ที่ชะนะแล้วได้เข้ามาปกครองบ้านเมืองก็ควรต้องนึกถึงน้าใจของฝ่ายน้อยที่แพ้เหมือนกัน ไม่ใช่เราชนะแล้วก็จะหาวิธีกดขี่ข่มเหงผู้ที่เป็นฝ่ายแพ้ต่างๆ นานาหาได้ไม่ ย่อมต้องมุ่งปกครองเพื่อประโยชน์ของคณะต่างๆ ทั้งหมด ส่วนผู้ที่แพ้ก็เหมือนกัน เมื่อแพ้แล้วก็ต้องยอมรับว่าตนแพ้ในความคิดในโวหาร แพ้เพราะประชาชนส่วนมากไม่เห็นด้วย เมื่อแพ้แล้วก็ตั้งกองวิวาทเรื่อยบอกว่า ถึงแม้คะแนนโหวตแพ้กำหมัดยังไม่แพ้ เช่นนั้นแล้วความเรียบร้อยจะมีไม่ได้ คงได้เกิดตีกันหัวแตกเต็มไป ฝ่ายผู้แพ้ควรต้องนึกว่า คราวนี้เราแพ้แล้วต้องไม่ขัดขวางหรือขัดคอพวกที่ชะนะอย่างใดเลย ต้องปล่อยให้เขาดำเนินการตามความเห็นชอบของเขา ต่อไปภายหน้าเราอาจเป็นฝ่ายที่ชะนะได้เหมือนกัน น้ำใจที่เป็นนักกีฬาที่เป็นของสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่าเราต้องเล่นสำหรับคณะเป็นส่วนรวม แม้ในโรงเรียนนี้เราแบ่งออกเป็นคณะต่างๆ เมื่อเล่นแข่งขันในระหว่างคณะ เราก็เล่นสำหรับคณะของเราเพื่อให้คณะของเราชะนะ แต่เมื่อโรงเรียนทั้งโรงเรียนไปเล่นเกมกับโรงเรียนอื่น ไม่ว่าคณะใดก็ตามต้องร่วมใจกันเล่นเพื่อโรงเรียนอย่างเดียวเท่านั้น เวลานั้นต้องลืมว่าเราเคยแบ่งเป็นคณะ เคยแข่งขันกันมาในระหว่างคณะอย่างไรต้องลืมหมด ต้องมุ่งเล่นเพื่อโรงเรียนอย่างเดียวเท่านั้น สำหรับประเทศชาติความข้อนี้เป็นของสำคัญอย่างยิ่งเหมือนกัน เพราะตามธรรมดาย่อมต้องมีคณะการเมืองคณะต่างๆ ซึ่งมีความเห็นต่างๆกัน แต่เมื่อถึงคราวที่จะต้องนึกถึงประเทศแล้วต่างคณะต้องต่างร่วมใจกันนึกถึงประโยชน์ของประเทศอย่างเดียวเป็นใหญ่ ต้องลืมความเห็นที่แตกต่างกันนั้นหมด ถึงจะเคยน้อยอกน้อยใจกันมาอย่างไร ต้องลืมหมด ต้องฝังเสียหมด ต้องนึกถึงประโยชน์ของประเทศตนเท่านั้น จะนึกเห็นแก่ตัวไม่ได้ อย่างนี้จึงจะเรียกว่ามีใจเป็นนักกีฬาแท้ เป็นของจำเป็นที่จะต้องปลูกให้คนมีน้ำใจอย่างนั้น จึงจะปกครองอย่างแบบเดโมคราซีได้ดี...

        ...การปกครองแบบเดโมคราซี ถ้าราษฎรมีน้ำใจดีอย่างที่ว่ามาแล้ว ก็จะเป็นผลดีแก่ประเทศเป็นอย่างยิ่ง แต่ถึงแม้วิธีนี้เป็นวิธีดีอย่างที่สุดก็ตาม ถ้าเราไม่รู้จักวิธีใช้อาจเป็นผลร้ายก็ได้เพราะฉะนั้นในเวลานี้เราจะต้องพยายามโดยเคร่งครัดที่จะฝึกฝนพลเมืองของเราให้มีน้ำใจอยู่ในหลักต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้...”

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั