กฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ.2473 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 7 :จุดเริ่มต้นของสถานะภรรยาสมัยปัจจุบัน
<
ภาพเขียนจากหนังสือพิมพ์ภาษาอิตาเลียน
พระบรมสาทิศลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง
สถาปนาพระบรมราชินี
สถาปนาพระบรมราชินี
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ
เมื่อวันที่ 25กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468
สบช่องปลายเดือนกันยายนนี้มีสาระน่าสนใจเกี่ยวกับกฎหมายลักษณะผัวเมีย และความรู้เกี่ยวกับสถานภาพของ 'เมีย' สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จนคลี่คลายสู่ปัจจุบัน พีพิมพ์ในนสพ.กรุงเทพธุรกิจเมื่อ 27 กันยายน พ.ศ. 2550กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : จากนักวิชาการประจำพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว นาม ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร จากบทความชื่อเต็ม 'กฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ.2473 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ 7 : จุดเริ่มต้นของสถานะภรรยาสมัยปัจจุบัน'
สตรีมีฐานะเป็นภรรยาภายหลังจากการแต่งงานแล้ว การมีคู่ครองหรือมีสามีน่าจะมีความหมายและความสำคัญอย่างมากต่อชีวิตของสตรีสมัยต้นรัตนโกสินทร์
แม้ว่าชายหนุ่มและหญิงสาวจะผูกสมัครรักใคร่กันเอง แล้วแอบหนีไปอยู่กินกันฉันสามีภรรยา แต่สังคมสมัยก่อนยังคงไม่ยอมรับ เมื่อถูกจับได้ก็ต้องโทษตาม 'พระไอยการลักษณะผัวเมีย' เพราะสมัยก่อนพ่อแม่มีอิทธิพลหรือมีบทบาทสำคัญในการเลือกคู่ครองให้กับบุตรชายหญิง
สถานภาพของภรรยาสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
'เมียกลางเมือง' หมายถึง ภรรยาที่พ่อแม่จัดการให้แต่งงานกับลูกชายของตน มีการสู่ขอ เรียกสินสอดและขันหมากตามประเพณี ถือว่าเป็นภรรยาหลวง เมียกลางเมืองจะถือศักดินาครึ่งหนึ่งของสามี
'ภรรยาพระราชทาน' หมายถึง ภรรยาที่พระมหากษัตริย์พระราชทานมาเพื่อตอบแทนความดีความชอบ ภรรยาพระราชทานจะถือศักดินาเท่ากับเมียกลางเมือง
'เมียกลางนอก' หมายถึง อนุภรรยาที่ชายขอมาเลี้ยง จะถือศักดินาครึ่งหนึ่งของเมียกลางเมือง
'เมียกลางทาสี' หมายถึง ทาสที่ผู้ชายไถ่ตัวมาเป็นภรรยา หากมีลูกด้วยกัน ศักดินาจะเท่ากับเมียกลางนอก
ภรรยาทั้งสี่ประเภทมีสถานภาพเสมือนทรัพย์สินของสามี สามีมีสิทธิยกภรรยาให้ใครก็ได้ และยังมีสิทธิจะขายภรรยาของตนโดยไม่จำเป็นต้องบอกให้เจ้าตัวรับรู้หรือยินยอมก็ได้
สาเหตุที่กฎหมายให้สิทธิสามีเหนือภรรยาเช่นนี้ ทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชปรารภว่า เมืองไทยในสมัยของพระองค์นั้น "ภรรยาเป็นดังสัตว์เดรัจฉาน” หรือเห็นว่า “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน” จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เจ้าจอมและพนักงานฝ่ายในกราบถวายบังคมลาออกจากราชการกลับมาอยู่บ้านหรือมีสามีใหม่ได้ นอกจากเจ้าจอมมารดาเท่านั้นที่มิได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต เพราะได้มีพระโอรสหรือพระธิดากับพระองค์แล้ว
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเป็นแบบอย่างของการมีพระมเหสีเพียงพระองค์เดียว ไม่ทรงมีพระสนมหรือเจ้าจอมเลย นอกจากนี้ในรัชสมัยของพระองค์ยังมีการตรากฎหมายสำคัญฉบับหนึ่งเรียกว่า 'พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะผัวเมีย พ.ศ.2473'
พระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นจุดพลิกผันโครงสร้างของครอบครัวไทยสมัยโบราณที่ผู้ชายนิยมมีภรรยาหลายคน อันเป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกมานาน การจะเปลี่ยนค่านิยมในสังคมแบบดั้งเดิมมาเป็นสังคมผัวเดียวเมียเดียวจึงมิใช่เรื่องง่าย พระองค์ทรงใช้วิธีการละมุนละม่อม ด้วยการตราพระราชบัญญัติในปี พ.ศ.2473 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2475
พระราชบัญญัติฉบับนี้ระบุให้มีการจดทะเบียนสมรส จดทะเบียนหย่า และจดทะเบียนรับรองบุตร เพื่อทดแทนธรรมเนียมดั้งเดิมเป็นครั้งแรกในสังคมไทย
ต่อมามีการนำเอาสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ มารวมไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพที่ 5 ว่าด้วยเรื่องครอบครัว ประกาศเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2478 ยังผลให้มีการยอมรับหลักการมีภรรยาชอบด้วยกฎหมายเพียงคนเดียวในปัจจุบัน
เก้าทศวรรษแห่งการจดทะเบียนแต่งงานระยะแรกในสยาม พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงใคร่ขอเชิญชวนท่านผู้อ่านมาเยี่ยมชมนิทรรศการถาวรชั้นที่ 2 จัดแสดงเกี่ยวกับเหตุการณ์วันอภิเษกสมรสระหว่างพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ (ต่อมาคือรัชกาลที่ 7) กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ (ต่อมาคือสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ) เมื่อวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พุทธศักราช 2461
เป็นการอภิเษกสมรสตามกฎมนเทียรบาลคู่แรก เนื่องด้วยมีการกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตทำการสมรสจากรัชกาลที่ 6 อีกทั้งยังมีการจดทะเบียนแต่งงาน และมีการตั้งกระทู้ถามตอบระหว่างคู่สมรสตามแบบตะวันตก
แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะผ่านมากว่า 90 ปีแล้วก็ตาม แต่ยังเป็นตัวอย่างสอนใจที่คู่สามีภรรยาสมัยปัจจุบันพึงเรียนรู้
ขอบคุณคุณยุวดี (มณีกุล) วัชรางกูร ที่กรุณาตีพิมพ์เผยแพร่ค่ะ
ตอบลบ