หัวหินและวังไกลกังวลสมัยรัชกาลที่ 7
โดย ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล
"วันนี้เวลา... พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลง ณ พระตำหนักเปี่ยมสุขวังไกลกังวล หัวหิน พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้...เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท..."
ข่าวในพระราชสำนักทำนองนี้คงเป็นที่คุ้นหูคุ้นตากันมาในช่วงปีกว่าๆที่ผ่านมา ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแปรพระราชฐานไปประทับที่วังไกลกังวล เพื่อทรงฟื้นฟูพระพลานมัยอยู่เป็นระยะๆ ผู้ชมและผู้ฟังบางท่าน โดยเฉพาะยิ่งรุ่นหลังๆคงอยากจะทราบถึงความเป็นมาของพระราชนิเวศน์แห่งนี้ ท่านที่มีความรู้เรื่องการเมืองการปกครองไทยคงพอทราบอยู่ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ประทับแปรพระราชฐานอยู่ที่วังแห่งนี้ เมื่อคณะราษฎรก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า "กบฎบวรเดช" ขึ้นในเดือนตุลาคมในปีถัดมา ทั้งสองพระองค์ก็ประทับอยู่ที่นั่น และได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือเร็วขนาดเล็กฝ่าคลื่นลมแห่งอ่าวไทยไปทางใต้ และประทับที่จังหวัดสงขลาเพื่อให้ไกลจากจากคู่ต่อสู้ทั้งสองฝ่าย และไม่เสี่ยงต่อการที่พระมหากษัตริย์จะทรงตกเป้น "องค์ประกัน" หลายท่านคงทราบอยู่แล้วว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างวังนี้ขึ้น แต่อาจไม่ทราบถึงประวัติความเป็นมา และรูปลักษณะของวังไกลกังวล ตลอดจนพระราชกรณียกิจที่หัวหิน ซึ่งไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งสอง จึงขอปะติดปะต่อจากเอกสารและคำบอกเล่ามานำเสนอไว้ให้ผู้สนใจได้ทราบ
แปรสถาน หวังชื่นชื้น ฟื้นชีพฟูสมอง
การไปพักผ่อนตากอากาศรับโอโซน (ozone)ชายทะเล เริ่มขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดบริเวณอ่างศิลา จังหวัดชลบุรีเป็นสถานที่ตากอากาศสำหรับชาวต่างประเทศที่พำนักอยู่ในราชอาณาจักร ด้วยเหตุที่ว่าวงการแพทย์ในประเทศตะวันตกเริ่มเชื่อกันอย่างแพร่หลายว่า การได้รับอากาศบริสุทธิ์ที่ชายทะเล รวมทั้งได้อาบนำ้ทะเลเป็นผลดีต่อการรักษาโรคและบำรุงสุขภาพ แต่องค์สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเอง มิได้ทรงมีพระราชนิเวศน์ริมทะเล หากทรงสร้างพระนครคีรี หรือเขาวัง จ.เพชรบุรี ไว้เป็นที่ประทับตากอากาศและทรงปฏิบัติธรรมตามที่เป็นพระราชกิจนิสัยแต่ครั้งทรงผนวชเป้นพระภิกษุอยู่นานก่อนขึ้นเสวยราชย์ ต่อมาสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าให้สร้างพระราชวังบ้านปืน หรือพระรามราชนิเวศน์ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำในเขตตัวเมืองเพชรบุรี เพื่อทรงฟื้นฟูพระพลานามัย แต่ไม่ทันได้ทรงใช้และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวันริมทะเลหาดชะอำ เพื่อทรงพระสำราญและทรงพระอักษร (ประวัติของพระราชนิเวศน์ทั้งสามดูที่ บัณฑิต จุลาสัย, โฮเตลหัวหินแห่งสยามประเทศ, หมึกจีน,2530 :85-102)
การพัฒนาหัวหินเป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 นี้เมื่อทางรถไฟสายใต้สร้างเสร็จถึงหัวหินประมาณ พ.ศ. 2454 โดยพระเจ้าบรมวศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (ต้นราชสกุลฉัตรไชย) ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงได้ทรงชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ พ่อค้า คหบดีให้สนใจชายทะเลหัวหิน ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า บ้านสมอเรียง หรือ บ้านแหลมหิน มีสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ เป็นต้น ที่ทรงปลูกพระตำหนัก ส่วนเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรฯ นั้นไม่ได้ทรงมีพระตำหนักส่วนพระองค์ แต่ได้ทรงขยายงานการรถไฟหลวงโดยสร้างบังกะโลไว้ให้ผู้โดยสารรถไฟได้พัก ถนนจากสถานีรถไฟถึงชายทะเล และต่อมาสร้างโรงแรมรถไฟหัวหิน (โรงแรมโซฟิเทล เซ็นทรัลหัวหิน ในปัจจุบัน) และสนามกอล์ฟหลวงซึ่งต่างเปิดใช้งานเมื่อ พ.ศ. 2465 มีผู้ไปใช้บริการทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ คือปีนังและสิงคโปร์ (ดูที่บัณฑิต จุลาสัย 33-52 และ สรศัลย์ แพ่งสภา,ราตรีประดับดาวที่หัวหิน,สารคดี,2539: 35-41)
พระปกเกล้าฯกับการพัฒนาหัวหิน
แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ จะเคยโดยเสด็จสมเด็จฯ พระพันปีหลวงไปประทับที่พระตำหนักสุขเวศน์ของเสด็จในกรมพระนเรศวร์ฯ อยู่บ้างตั้งแต่ยังไม่ได้ทรงอภิเษกสมรสก็ตาม แต่ก็มิได้ทรงมีพระตำหนักส่วนพระองค์ อีกทั้งในช่วงที่หัวหินได้เริ่มพัฒนาขึ้นนั้น พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปรักษาพระโรค และทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารชั้นสูงของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯได้โดยเสด็๗ด้วยตั้งแต่พ.ศ. 2463 ถึง พ.ศ.2467
หลังจากที่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ในปีถัดมา ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่ตำหนักสุขเวศน์ 2 ครั้ง ซึ่งคงจะทรงประสบด้วยพระองค์เองว่า เมื่อมีผู้ไปพักผ่อนมาก ก็ได้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำจืด จึงได้ทรงปรึกษากับเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรฯ ยังผลให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการจัดสภาบำรุง
สถานที่ชายทะเลทิศตะวันตก พุทธศักราช 2469 ขึ้น มีขอบเขตรับผิดชอบตั้งแต่หัวหินถึงชะอำ ในการจัดให้มีและแก้ไขบำรุงการคมนาคม ประปา ไฟฟ้า ออกแบบโครงการ ผังสำหรับเมือง งานปลูกสร้างและงานโยธาต่างๆ โดยเป็นนิติบุคคล มีอำนาจถือกรรมสิทธิเช่าถือ และจำหน่ายโอนทรัพย์สินต่างๆได้ ในเบื้องแรกนี้สภาประกอบด้วย ข้าราชการประจำที่ทรงแต่งตั้งมีเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรฯ เป็นประธานรายได้มาจากผู้มาพักผ่อนตากอากาศโดยเก็บเป็นค่าธรรมเนียมพิเศษควบไปกับค่าโดยสารรถไฟ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นการเก็บภาษีจากราษฎรในท้องถิ่น โดยคิดอัตราจากประเภทที่ดินเป็นเกณฑ์เพื่อเร่งเร้าในพัฒนาที่ดินของตนเอง งานที่สภาฯดำเนินการไปช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 คือ การสร้างถนนจากชะอำถึงหนองแก การสร้างตลาดฉัตรไชย การจัดตั้งสถานพยาบาลและการสาธารณสุข อีกทั้งได้ทำการสำรวจเพื่อพัฒนาการชลประทาน การจัดทำน้ำประปา และการจ่ายกระแสไฟฟ้า โดยมีการศึกษาความเป็นไปได้ของการกลั่นน้ำจืดจากน้ำทะเลด้วย นอกจากนั้นยังจัดการวางผังให้มีทางสาธารณะลงไปที่ชายหาดเป็นระยะๆดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบันด้วย อนึ่งการตั้งสภาฯ ขึ้นไม่ได้เพื่อพัฒนาหัวหินเท่านั้น หากแต่เป็นการทดลองรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบ municipality ซึ่งเดิมเรียกว่า "ประชาภิบาล" แต่ภายหลังเรียกว่า "เทศบาล" อันเป็นส่วนของแนวพระราชดำริที่ว่า ในอันที่จะส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยฝังรากนั้น ราษฎรจะต้องได้รู้จักเข้าควบคุมกิจการท้ิองถิ่นด้วยตัวเองก่อนที่เขาจะพยายามควบคุมราชการแผ่นดินโดยผ่านทางรัฐบาล ดังจะเห็นได้จากที่ทรงเห็นพ้องกับ Sir Edward Cook ที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และที่ปรึกษาสภาฯ หัวหินนี้ว่าต้องให้หน่วยการปกครองท้องถิ่นต่างๆเป็นเครื่องมือในการให้ผู้พำนักอาศัย ณ ที่นั้นได้เรียนรู้ทั้งแนวคิดและคตินิสัยของ 'การปกครองตนเองในระดับท้องถิ่น' ต่อจากนั้นได้มีการศึกษาเพิ่มเติมและยกร่างพระราชบัญญัติเทศบาลขึ้น โดยทรงติดตามและเร่งรัดด้วยความสนพระราชหฤทัยโดยตลอดแต่ได้เกิดความล่าช้าด้วยเหตุต่างๆ รวมทั้งค้างอยู่ที่กรมร่างกฎหมายถึงสองปีครึ่ง ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ขึ้นเสียก่อน (บัณฑิต จุลาสัย,55-56 ;กรมศิลปากร,พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก,2524:134-141และสนธิ เตชานันท์,แผนพัฒนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว,2531:5-7)
กล่าวเฉพาะตลาดฉัตรไชย ซึ่งรูปลักษณ์ยังพอมีให้เห็น สังเกตได้ว่าเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก มีหลังคาครึ่งวงกลมเป็น 7 โค้งติดต่อกันเป็นสัญญลักษณ์แสดงว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7
ผู้รู้เล่าว่าราชสกุลฉัตรไชยสร้างถวายเป็นการเทิดพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงสร้างวังที่หัวหิน
เหตุใด ไกลกังวล
ภายในเวลาหนึ่งปีนับแต่วันครองราชย์ คือในเดือนตุลาคม 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดการสร้างวังที่หัวหิน (สรศัลย์ แพ่งสภา: 86) ทั้งนี้คงเป็นเพราะต้องพระราชประสงค์จะทรงพักผ่อนในเวลาที่ทรงพอว่างจากพระราชภารกิจอันหนักหน่วงของพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิ ซึ่งต้องทรงรับโดยที่มิได้ทรงคาดการณ์ไว้ และทรงฟื้นฟูพระวรกายซึ่งทราบกันดีว่าไม่ค่อยจะแข็งแรงอยู่แล้ว อีกทั้งเมื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์แล้วต้องมีข้าราชบริพารมากย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะเสด็จไปอาศัยประทับที่วังของเจ้านาย หัวหินมีความเหมาะสมหลายประการ คือ มีระยะห่างจากพระนครพอควร เดินทางไปมาได้สะดวกทั้งทางเรือ และทางรถไฟ มีอากาศดีและมีสนามกอล์ฟ ซึ่งเป็นกีฬาที่สองพระองค์ทรงโปรดการคาดเดาเช่นนี้คงไม่ผิดนักเพราะได้พระราชทานชื่อวังแห่งนี้ว่า "ไกลกังวล"
การจัดหาสถานที่เพื่อสร้างวังยากง่ายเพียงใดไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด แต่พออนุมานได้ว่า ไม่ง่าย เพราะชายหาดที่ตั้งของวังไกลกังวลนั้น หากได้กว้างหรือมีทรายละเอียดที่สุดในหัวหินไม่ กลับมีโขดหินปะปนอยู่ไม่น้อย เมื่อเริ่มสร้างมีเนื้อที่เพียง 37 ไร่ 67 ตารางวา ในภายหลัง พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์ พลโทหม่อมเจ้าอมรทัต กฤดากร และราษฎรชาวหัวหิน มีนายบัว ดาบไว เป็นหัวหน้าได้น้อมเกล้าฯถวายที่ดินรวม 300 ไร่ เพื่อขยายเขตพระราชฐานออกไป ซึ่งก็ได้พระราชทานเงินตอบแทนแก่บุคคลเหล่านั้นโดยถ้วนทั่ว (อ้างสรศัลย์ แพ่งสภา : 85-86) ในการนี้และในการก่อสร้าง โปรดเกล้าฯให้ใช้เงินพระคลังข้างที่ (แน่งน้อย ศักดิ์ศรี ,ม.ร.ว.,สถาปัตยกรรมในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว,2542: 26 ) ซึ่งขณะนั้นถือว่าเป็นเงินใช้สอยส่วนพระองค์ของผู้ที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ และเป็นต่างหากไปจากเงินของแผ่นดิน (นายหนหวย (นามแฝง)เจ้าฟ้่าประชาธิปกราชันผู้นิราศ,2530: 607)
ไกลกังวลริมฝั่งคลื่น
วังไกลกังวลตั้งอยู่ทางทิศเหนือของโรงแรมรถไฟ และตลาดหัวหินบริเวณด้านหนึ่งติดถนน อีกด้านหนึ่งลึกเข้าไปมาก ติดทะเลเป็นหน้ากว้าง ผู้คนที่เดินทางไปตากอากาศที่หัวหินโดยทางรถยนต์ในปัจจุบัน อาจผ่านวังไกลกังวลไปโดยไม่ทราบด้วยซ้ำ เพราะจะมีเพียงรั้วลวดหนามและไม้พุ่มริมรั้วเสียเกือบตลอดแนวเขต จะสังเกตได้บ้างก็เห็นจะเป็นพื้นนำ้กว้างมีแมกไม้ล้อมรอบ คล้ายสวนสาธารณะเรียกว่า "ทะเลน้อย" ซึ่งเป็นสระน้ำสำหรับกักน้ำไว้ใช้ทำน้ำประปาซึ่งทรงแจกจ่ายให้ราษฎรด้วย มีประตูน้ำปิดเปิดด้านทะเล น้ำจึงค่อนข้างกร่อยอยู่บ้าง อีกอย่างหนึ่งซึ่งสังเกตได้จากถนนก็คืออาคารสองชั้นที่ทำการกองทหารรักษาพระองค์กับซุ้มประตูทรงโค้ง ส่วนอาคารภายในแทบจะมองไม่เห็นจากถนน เว้นหอน้ำประปาสูงก่ออิฐฉาบปูนผิวขุรขระซึ่งก่อสร้างอย่างดี แต่หากมองจากทะเลจะได้ทัศนภาพรวมของวัง เขื่อนหินยาวทอดตลอดแนว ที่ปลายเขตมีศาลาหลังคาลาดเอียงชายงอนเล็กน้อย ช่องเปิดทรงโค้งสำหรับทหารยืนยาม แต่เมื่อไม่มีทหารยืนให้อารมณ์ค่อนข้างโรแมนติค ที่แถบตรงกลางของเขื่อนมีบันโค้งสำหรับขึ้นลงชายหาด (บางท่านว่าใช้เป็นเสาธง) แบ่งเป็นสองข้าง แต่ละข้างขนาบด้วยพุ่มข้าวบิณฑ์ ยอดแหลมสูงซึ่งเป็นสัญญลักษณ์แทน "สุโขทัยธรรมราชา" พระนามทรงกรมและตะเกียงทรงคางหมูซึ่งในวันที่แสงเอื้ออำนวยจะสังเกตเห็นว่ามีพระปรมาภิไธย "ปปร." หรือ "ปรมินทรมหาประชาธิปก" สลักอยู่ที่กระจก
ถัดเข้าไปผ่านทิวสนซึ่งปลูกขนานชายฝั่ง และแนวสวนแบบตะวันตกลวดลายเรขาคณิตแบบฝรั่ง มีพุ่มนานาชนิดตัดเป็นรูปทรงประดับ พระตำหนักเปี่ยมสุขที่ประทับตั้งสงบ เหนือแพรแกลใต้จั่วหลังคามีปูนปั้นลายพระราชลัญจกรประจำพระองค์ ประกอบด้วยศร 3 เล่ม บนราวมีตรามหาจักรีและพระมหาพิชัยมงกุฎประดิษฐานอยู่เบื้องบน (ดูภาพด้านบนสุด) "สามศร" นั้นเป็นเครื่องหมายประจำพระองค์มาตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ แปลว่า ศร ศักดิเดชน์ คือ ผู้ทรงอำนาจด้วยศร ทั้งหมดเป็นเครื่องแสดงว่า วังนี้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์ผู้ทรงราชย์ ส่วนตราที่ประดับอยู่ ณ ที่อื่นๆในวังนี้ เช่นลายปูนปั้นที่ใต้จั่งหลังคาเหนือช่วงโค้งสู่ห้องเครื่องสำหรับเตรียมพระกระยาหาร ซึ่งอยู่อีกด้านหนึ่งของลานหลังพระตำหนัก หรือที่หอน้ำประปา และลายเหล็กหล่อพระทวาร (ประตู) ขึ้นพระตำหนักนั้น เมื่อสมัยรัชกาลที่ 7 เป็นตราลำแสงอาทิตย์ส่องผ่านกลีบเมฆ ทั้งหมดออกแบบให้มีความหมายแทนพระนามสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้วังแห่งนี้เป็นวังส่วนพระองค์ ซึ่งสร้างพระราชทานพระมเหสีพระองค์เดียวของพระองค์ (ราชเลขาธิการ,สำนัก,ประมวลพระฉายาลักษณ์และภาพพระกรณียกิจสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, 2528 :89 ; ปรีดา วัชรางกูร,พระปกเกล้ากับระบอบประชาธิปไตย,2520:109) นอกจากสัญญลักษณ์แทนพระนามแล้ว ยังน่าสังเกตด้วยว่า ศาลพระภูมิซึ่งสร้างด้วยหินไว้ที่ริมเขื่อนพ้นเขตพระราชฐานชั้นในออกไปทางทิศเหนือเล็กน้อย แทนที่จะมีรูปเทพบุรุษเช่นศาลพระภูมิทั่วไปกลับเป็นลายปูนปั้นเทพธิดา ซึ่งกล่าวกันว่า คือ พระสุรัสวดี เทพเจ้าแห่งทะเล (จากคำบรรยายของม.ร.ว.แน่งน้อย ศักดิ์ศรี)
ท่านผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นสถาปนิกออกแบบและผู้อำนวยการสร้างวังไกลกังวล คือ หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร ผู้อำนวยการศิลปากรสถานในขณะนั้น ทรงเรียกท่านชายองค์นี้ว่า "ตาโป๊ะ" ท่านโป๊ะทรงสำเร็จการศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์จาก เลโค นาซิอองนาลเดส์ โบซารต์ ประเทศฝรั่งเศส หรือที่เรียกสั้นๆว่า "โบซาร์ต"ซึ่งเป็นสถาบันศิลปชั้นสูงที่ขึ้นชื่อลือนามไปทั่วโลก จึงเป็นที่คาดกันว่าท่านโป๊ะจะออกแบบวังที่หรูหราโอ่อ่าถวาย ดังมีพระราชกระแสรับสั่งอย่างมีพระอารมณ์ขันว่า "ตาโป๊ะจะสร้างปราสาทฝรั่งให้ฉันอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้พวกโปซาร์ตนี่จุกจิกถามมากไม่ได้เสียด้วย" (สรศัลย์ แพ่งสภา: 115 (ม.จ.สุรีประภา ชายา ม.จ.อิทธิเทพสรรเป็นผู้เล่าประทานมารดาของสรศัลย์ ;สรศัลย์ เสนอข้อมูลด้วยว่า นายเอ็ม.กังเลตตี เป็นวิศวกรที่ปรึกษา และผู้ควบคุมการก่อสร้าง บริษัทฐาปนกิตย์โกศลเป็นผู้รับจ้างและจัดส่งวัสดุก่อสร้าง โดยหินก้อนใหญ่มาจากบ่อย่อยหินของกรมรถไฟหลวงที่สถานีปากเพรียว และสถานีช่องแค จ.สระบุรี : 87) เท่ากับทรง "ดักคอ"โดยทางอ้อม จึงปรากฎว่ารูปแบบสถาปัตยกรรมที่หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร ทรงออกแบบนั้น แม้ว่าจะมีอิทธิพลของตะวันตก คือเป็นแบบสเปน แต่ก็ดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นของไทย และมีขนาดไม่ใหญ่โตนักและเหมาะสมกับการเป็นที่ประทับตากอากาศรูปแบบคล้ายไปทาง "บ้าน" ขนาดใหญ่มากกว่าพระราชวังที่ต้องการความมีระเบียบและระบบที่ขึงขัง ไม่มีการแยกเป็นฝ่ายหน้า ฝ่ายใน ตามแบบแผนของพระราชวังที่เคยมีมาในโบราณราชประเพณีอีกต่อไป (แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,ม.ร.ว.:27) อันที่จริงอาคารต่างๆให้ความรู้สึกว่าเตี้ยด้วยซ้ำ เพราะใช้ซุ้มประตูและชายหลังคาทรงโค้งอยู่หลายแห่ง ตามแบบสมัยนิยมในฝรั่งเศส ขณะนั้นซึ่งถือคติ จิ๋วแต่แจ๋ว- small is Beautiful (จากคำบรรยายของ ม.ร.ว.แน่งน้อย ศักดิ์ศรี) กลับมามองจากทะเลด้านซ้ายของพระตำหนักเปี่ยมสุขแต่ห่งออกไปผ่านสวนสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นพระตำหนักน้อย ส่วนทางด้านขวาเป็นศาลาเอนกประสงค์ พระราชทานนามว่า ศาลาเริง ถัดเข้าไปเล้กน้อยทางด้านขวาเช่นกัน คือพระตำหนักปลุกเกษมและเรือนเอิบเปรมและเรือนเอมปรีดิ์ ชื่อคล้องจองกัน หากเดินไปทางขวาหรือทิศเหนืออีกเล้กน้อยจะเห็นทะเลน้อยมีทิวเขาอยู่เบื้องหลังและศาลพระสุรัสวดีริมเขื่อนถัดเข้าไปจากทะเลเป็นอาคาร 2 ชั้น เรียกว่าเรือน 25 ซึ่งมีลักษณะสถาปัตยกรรมที่คล้ายคลึงกับพระตำหนักแต่ลดความวิจิตรบรรจงลงมามาก ส่วนด้านหลังพระตำหนักเปี่ยมสุขเป็นช่องโค้งสู่ห้องเครื่องดังกล่าวแล้ว อีกด้านเป็นสนามที่มีแมกไม้ประดับตัดด้วยถนนคดเคี้ยวไปสุ่ประตูกำแพงเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งมีอาคารทรงกลมยอดแหลมแบบปราสาทฝรั่งขนาดเล็กอยุ่ข้างๆ พระตำหนักและอาคารเหล่านี้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2469 และสร้างไปเรื่อยๆทีละเล็กทีละน้อย จนแม้หลังจากที่เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรักษาพระเนตรที่ประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ.2476 และไม่ได้เสด็จกลับมาประเทศไทยอีกเลย ก็ยังมีการก่อสร้างอีกบางส่วน ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ จึงมิได้ทราบหรือมีโอกาสได้ทอดพระเนตรวังส่วนพระองค์แห่งนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์เลย
ศาสตราจารย์ม.ร.ว.แน่งน้อย ศักดิ์ศรี อดีตอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็นทางวิชาการไว้ว่า "พระตำหนักต่างๆเหล่านี้ เป็นพระตำหนักที่แสดงให้เห็นถึงความละเอียดละออของสถาปนิก ที่จะเลือกใช้วัสดุก่อสร้างให้เหมาะสมกับท้องถิ่น เช่นการประดับด้วยหินก้อนใหญ่ที่ฐาน เพื่อแสดงความหนักแน่นของอาคารแล้วค่อยกลายเป็นผิวฉาบปูนปาดเกรียงรูปโค้ง มีการใช้โค้งประกอบทั้งส่วนของช่องเปิดตามที่ต่างๆ ตอบรับกับรูปโค้งของหลังคาบางส่วน นอกจากนั้นยังมีรายละเอียดที่น่าสนใจในองค์ประกอบสถาปัตยกรรมตามที่ต่างๆ เช่น จันทัน ฝ้า เพดาน ทับหลัง บัวน้ำตก ฯลฯ อีกเป็นจำนวนมาก ที่เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับงานสถาปัตยกรรมในรัชกาลนี้ ในด้านภูมิสถาปัตย์ ริมทางเดินเชื่อมระหว่างพระตำหนักเปี่ยมสุขกับพระตำหนักน้อยมีศาลาที่นั่งเป็นหินพร้อมซุ้มหลังคาไม้เลื้อย ซึ่งให้บรรยากาศเป็นธรรมชาติ นอกจากนั้น "มีส่วนประดับภูมิทัศน์ได้แก่รูปงาน ประติมากรรมต่างๆ...รูปแกะสลักของบาหลี (จากหิน ซึ่งคงทรงนำกลับมาเมื่อครั้งเสด็จประพาสเมื่อพ.ศ. 2472 พฤทธิสาณ-ผู้เขียน) อุปกรณ์เดินเรือ และนาฬิกาแดด เป็นต้น นอกนั้นมีโคมไฟ และหินก้อนใหญ่รูปทรงงดงามประดับ..." (แน่งน้อย ศักดิ์ศรี,ม.ร.ว. :27)
พระตำหนักเปี่ยมสุข
พระตำหนักเปี่ยมสุขซึ่งทรงประกอบพิธีก่อฐานรากเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2470 นั้น (สรศัลย์ แพ่งสภา :88)เป็นอาคารคอนกรีตสูงสองชั้นบนฐานสูง ทำให้ดูเป็นสามชั้นในบางด้าน... มีหลังคามุมชันมุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบสีนำ้ตาลเข้ม ส่วนฐานผนังทั่วไปประดับด้วยหินก้อนใหญ่สีนำ้ตาล...ส่วนอื่นของอาคารเป็นผนังฉาบปูนเรียบ มีลวดลายเล็กน้อยตามช่องหน้าต่างและประตู (บัณฑิต จุลาสัย: 106 ) พระทวารเข้าออกพระตำหนักอยู่ทางด้านตรงข้ามกับทะเล มีประติมากรรมรูปนกยูงประดับที่หัวเสาแท่นทางขึ้นสู่พระทวาร ทางด้านข้างพระตำหนักมีพระทวารสู่ศาลาเริงด้วย องค์พระตำหนักด้านเดียวกันนี้มีหอคอยทรงสี่เหลี่ยมเหนือแนวหลังคาขึ้นไปเล็กน้อย ซึ่งสามารถขึ้นไปชมวิวได้ด้วย มีเถาวัลย์เลื้อยปกคลุมช่วยลดความกระด้างลง และทำให้ดูเก่าแก่ มีบันไดหินจากนอกอาคารลงจากชั้นสองทางด้านี้ด้วยส่วนทางด้านทะเลมีระเบียงใต้ชายคาที่ชั้นหนึ่งซึ่งยกสูงและมีบันไดหินลงมาสองด้าน ในแง่นี้ลักษณะพระตำหนักจึงคล้ายกับบ้านชายทะเลหัวหินสมัยนั้น ส่วนทางด้านตรงข้ามทำนอกชานกว้างแต่มีความเป็นส่วนพระองค์พอสมควร เพราะอยู่สูงมองเข้าไปจากพื้นดินไม่เห็น กลางนอกชานมีอ่างนำ้พุทรงกลมเล็กๆ ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยม ประดับด้วยกระเบื้องโมเสคเป็นดาวแปดแฉกน่าเอ็นดู ริมนอกชานก่อเป็นที่นั่งยาวประดับด้วยกระเบื้องโมเสคเช่นเดียวกัน มีซุ้มโค้งปกคลุมด้วยสร้อยอินทนิลดอกสีม่วงย้อยลงมา ทำให้ดูเป็นธรรมชาติแบบบ้านฝรั่งในชนบท ส่วนภายในพระตำหนักให้ความรู้สึกว่ามีขนาดย่อมกว่าที่มองจากภายนอก เท่าที่ทราบชั้นล่างมีเพียงสามห้อง คือ ห้องทรงพระสำราญตามแนวยาวของพระตำหนักเปิดออกสู่ระเบียงหน้าและระเบียงหลังได้ ปัจจุบันประดิษฐานพระบรมรูปของล้นเกล้าทั้งสองพระองค์เจ้าของเดิม และเป็นห้องที่ผู้ชมโทรทัศน์ได้เห็นบ้างในข่าวพระราชสำนัก ห้องเสวยมีพระแกลเปิดไปทางชายหาด และห้องพักพระกระยาหาร หรือ pantry เท่านั้น พระแกลที่อัฒจันทร์(บันได) ขึ้นชั้นสองมีกระจกสีแบบฝรั่ง(stained glass ) ประดับด้วยภาพปลาว่ายเวียนอยู่ในน้ำ ตรงกลางมีตราเดี่ยวแสดงสัญญลักษณ์พระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ซ้อนทับกัน คือ สัญญลักษณ์สามศร จากสร้อย ศักดิเดชน์ ในพระนามสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ และสัญญลักษณ์ ลำแสงอาทิตย์ส่องผ่านกลีบเมฆ ซึ่งหมายถึงพระนาม รำไพพรรณี ลักษณะศิลปะแบบ นวศิลป์ หรือ Art Nouveau (ตามความเข้าใจของผู้เขียนซึ่งไม่ใช่ผู้ชำนาญ) สีสดงดงามตรึงใจไม่ทราบว่าผู้ใดออกแบบ แต่คงจะเป็นหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร มีข้าราชบริพารเก่าแก่ ผู้อยู่วังไกลกังวลมาตั้งแต่ 2475 เล่าให้ผู้เขียนฟังเมื่อหลายปีมาแล้วว่า หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงสละราชย์แล้ว มีการเอายางมะตอยมาปิดทับตรานี้ แต่ปัจจุบันได้แกะออกแล้ว ความสวยงามปรากฎดังเดิม ชั้นสองของพระตำหนักเข้าใจว่ามีห้องพระบรรทมสองห้อง และห้องสรงเพียงเท่านั้น และมีห้องเล็กๆบนหอคอยด้วย ซึ่งข้าราชบริพารเก่าแก่เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงใช้ทรงพระอักษร การวางตำแหน่งห้องต่างๆเหล่านี้ตามแนวพระตำหนักทำให้ทุกห้องรับลมทะเล
ศาลาเริง
จากพระตำหนักไปทางทิศเหนือ มีทางเดินโล่งมีหลังคาคลุมสู่ศาลาเริงซึ่งมีขนาดย่อยส่วนหนึ่งเป็นคอร์ทกีฬาสควอซ (squash court) เพดานสูงขนาด 2 ชั้น หลังคาทรงจั่วลาดลงสองข้าง แต่หน้าบันเป็นทรงโค้งตีตารางติดกระจกคล้ายๆกับที่สถานีรถไฟหัวลำดพงด้านช่องทางเข้าเป็นมุขซึ่งมีลักษณะคล้ายป้อมป้อมหนึ่งโล่งอีกป้อมหนึ่งเป็นห้องน้ำ ที่ปลายสุดด้านทะเล ยกพื้นเล็กน้อยเป็นเวทีสำหรับการแสดง ส่วนด้านคอร์ทสควอชมีบันไดขึ้นไปบนเฉลียงสำหรับดูการเล่นสควอช ลูกกรงบันไดเป็นไม้กลึงทรงกลมบ้างทรงกระบอกบ้าง หลากสีสวยงามตัดกับความเรียบง่ายของส่วนอื่นๆของศาลา กีฬาสควอชนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเป็นประจำควบคู่กับเทนนิสทั้งที่วังไกลกังวลและวังศุโขทัย ซึ่งมีคอร์ทสควอชเช่นกัน เป็นอาคารต่างหาก ศาลาเริงนี้เป็นศาลาเอนกประสงค์สำหรับเลี้ยงพระ พระราชทานเลี้ยง ทรงกีฬา ทรงดนตรีทั้งไทยเดิมและเทศ จัดฉายภาพยนตร์ทั้งที่ทรงถ่ายและภาพยนตร์ของต่างประเทศ รวมทั้งการ์ตูนสำหรับเด็กๆในพระราชอุปการะ จัดงานรื่นเริงและการแสดงต่างๆ นับว่า ศาลาเริงแห่งนี้ดุริยางศิลป์ นาฏยศิลป์ และสถาปัตยกรรมได้รับการส่งเสริมอย่างครบถ้วน (ข้อสังเกตของรศ.ดร.สุรพล วิรุฬรักษ์ ในการสัมมนาที่มสธ,2542) ศาลาเริงยังใช้เป็นท้องพระโรงได้ด้วยเมื่อจำเป็น
พระตำหนักน้อย
พระตำหนักน้อยอยู่ห่างจากพระตำหนักเปี่ยมสุขไปทางทิศใต้เป็นอาคาร 2 ชั้น ขนาดย่อมไม่ยกสูง ผังเป้นรูปตัวแอล มีรั้วอิฐเตี้ยๆล้อมรอบก่ออิฐฉาบปูน มีซุ้มประตูทางเข้าด้านทะเลเป็นรูกุญแจ หรือเกือกม้ากลายๆ ด้านในเป็นสวนสี่เหลี่ยมขนาดย่อมที่ฝรั่งเรียกว่า court yard พอที่จะนั่งพักผ่อนเป็นส่วนตัวได้ หลังคาด้านที่หันสู่พระตำหนักเปี่ยมสุขลาดลงยาวจากชั้นสองทำให้ดูเหมือนว่าเป็นอาคารชั้นเดียว ด้านหลังมีกำแพงและซุ้มประตูทรงโค้ง ตำหนักนี้จัดเป็นที่ประทับของเจ้านายชั้นบรมวงศ์ และในรัชกาลปัจจุบันเคยจัดเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงเชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯไปประทับเช่นกัน
พระตำหนักปลุกเกษม
ทางทิศเหนือของพระตำหนักเปี่ยมสุขเป็นพระตำหนักปลุกเกษม อาคาร 2 ชั้น ไม่ยกสูงหันหน้ารับลมทะเล มีช่องทางเข้าสี่เหลี่ยม ชั้นบนเป็นระเบียงโล่งใต้หลังคา ช่องเปิดทรงโค้งมีผ้าใบทรงโค้งบังแดด ราวระเบียงเป็นลายรังผึ้งแปลกตา ในรัชกาลปัจจุบันโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯขึ้นข้างๆ เรือนเอิบเปรมกับเรือนเอมปรีดิ์
ถัดไปนั้นเป็นบังกะโลชั้นเดียวลักษณะคล้ายๆกัน มีชื่อเป็นปูนปั้นสลักอยู่ที่ใต้หน้าต่างช่องหนึ่ง พระตำหนักปลุกเกษม และเรือนทั้งสองนี้ในสมัยรัชกาลที่7 จัดเป็นที่ประทับของเจ้านายชั้นพระบรมวงศ์ และชั้นอนุวงศ์ผู้ตามเสด็จแปรพระราชฐานส่วนอาคารหลังอื่นที่พำนักข้าราชบริพารและที่ทำการต่างๆมีทั้งที่เป็น 2 ชั้น และแบบบังกะโล บางหลัง เช่น เลขที่ 8 และเลขที่ 15 สร้างเหมือนกัน
พระราชพิธีคฤหมงคล
เมื่อพระตำหนักเปี่ยมสุข และศาลาเริงสร้างเสร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเมื่อวันที่ 10-12 เมษายน 2472 เกี่ยวกับงานนี้ หม่อมเจ้าหญิงสีดา ดำรวง ชุมพล ข้าราชบริพารผู้ร่วมแสดงในงานทรงบันทึกไว้ว่ามีงานรื่นเริงด้วย จัดขึ้นที่ศาลาเริงโดยมีการแสดงรีวิวหลายฉาก จุดมุ่งเป็นการล้อและเตือนสติข้าราชการ เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย ตำรวจ ทหารเรือ หมอฟัน รวมทั้งผู้พิพากษาและทนายความ และมีการแสดงสวยงามคั่นอยู่หลายฉาก แต่ละฉากสวยสดงดงามโดยมีการซ้อมกันอยู่ 3 เดือน ที่พระที่นั่งอัมพรสถานที่ประทับที่กรุงเทพฯ ฉากแรกเป็นเพลงมอญดูดาว "ชายนุ่งผ้าม่วงสีนำเงิน ใส่เสื้อราชปะแตนกระดุม 5 เม็ด หญิงแต่งธรรมดาสีเขียวและชมพูสลับกัน สมัยนั้นผู้หญิงนุ่งกระโปรงสั้นและใส่เสื้อยาวคลุมสะโพก ซึ่งเข้ากันดีกับลีลาการเต้นแบบฝรั่ง แต่คราวนี้ใช้เพลงไทย มอญดูดาว ผู้แสดงร้องเอง คำร้องเท่าที่จำได้เริ่ม ดังนี้
"พวกเราเหล่าเย็นแมน แสนเฮฮา
อิ่มอุรา เห็นหรู จะฟู้ใหญ่
เพื่อให้ท่าน ที่รับเชิญ เจริญใจ
ในวันขึ้น ตำหนักใหม่ ไกลกังวล..."
"เย็นแมน" คือ ชื่อเรียกข้าราชบริพารในพระองค์ฯ ซึ่งแปลงมาจากคำว่า gentleman ต่อมาคำ "เย็นแมน" กลับแปลเป็นทำตัวไม่ดี ใครทำตัวเหลวไหลอย่างไร ก็ดูว่าเย็นแมนมากๆ...(สีดาดำรวง ชุมพล ในที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง ชุมพล,2533: 51)
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น