ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

จากพิพิธภัณฑ์ฯ ถึงแม่พระธรณีบีบมวยผมซึ่งงามที่สุดในประเทศไทย















โดย ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร
เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553พนักงานพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับมอบหมายจากผู้อำนวยการฯ ให้ไป “เยี่ยมชุมชนยลพิพิธภัณฑ์” ณ ศาลากลางเก่า ริมท่าน้ำนนทบุรี อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเพิ่งเปิดให้เข้าสาธารณชนเข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552อาคารพิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรีสร้างเมื่อปี พ.ศ.2454 เดิมเคยเป็นโรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งมีลักษณะเป็นโรงเรียนประจำตามแบบอย่างของ “Public school” ในประเทศอังกฤษ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อพ.ศ.2459 แต่เมื่อพระองค์สวรรคตในพ.ศ. 2468 เกิดปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7ทรงยุบโรงเรียนราชวิทยาลัยไปรวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่กรุงเทพฯ โดยได้พระราชทานนามใหม่ว่า “วชิราวุธวิทยาลัย” จากนั้นจึงได้พระราชทานอาคารเรียนเดิมของโรงเรียนราชวิทยาลัยที่จังหวัดนนทบุรีให้เป็นที่ทำการศาลากลางจังหวัดนนทบุรีเมื่อ พ.ศ.2471ศาลากลางแห่งนี้ถูกใช้งานมานานร่วม 100 ปี ทำให้มีสภาพทรุดโทรมและคับแคบไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ทางการจึงสร้างศาลากลางหลังใหม่ขึ้นที่ถนนรัตนาธิเบศร์ และย้ายส่วนราชการต่างๆออกไปด้วย อาคารนี้จึงถูกดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรีอยู่ภายใต้การดำเนินงานของเทศบาลเมืองนนทบุรี
อาคารแห่งนี้มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่ประยุกต์ให้เข้ากับภูมิอากาศเขตร้อน สร้างจากไม้สักสูง 2ชั้น ฝาทาสีไข่ไก่ ประตูหน้าต่างทาสีเขียวใบไม้ หลังคามุงด้วยกระเบื้องลูกฟูกประดับด้วยงานไม้ลวดลายวิจิตร ตั้งหันหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งเคยเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารแห่งนี้เป็นโบราณสถาน เมื่อพ.ศ.2524ด้วยความเก่าแก่และสวยงามด้วยงานไม้ที่ประณีตทรงคุณค่า และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ในปีพ.ศ.2543
พิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรีเป็นโครงการนำร่องที่ใช้อาคารไม้สักด้านหน้าเพียงหลังเดียวจากอาคารไม้สัก 7 หลังเป็นส่วนจัดแสดงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และวัตถุพิพิธภัณฑ์ โดยเทศบาลเมืองนนทบุรีมีโครงการปรับปรุงอาคารเพื่อจัดแสดงนิทรรศการในระยะต่อไปอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีเนื้อหาประกอบด้วยการเล่าเรื่อง "ภาพอดีตนนทบุรี เมืองสวนผลไม้แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา" ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากจัดแสดงแบบจำลองโรงเผาเครื่องปั้นดินเผาในอดีตของเกาะเกร็ดอันมีชื่อเสียงแล้ว ยังมีส่วนจัดแสดงหม้อน้ำลายวิจิตรและเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเรียกขานแบบต่างๆในชีวิตประจำวันของชาวเมืองนนท์จำนวนมากด้วย
ส่วนจัดแสดงที่ผู้เขียนสนใจเป็นพิเศษ คือ “วิจิตรศิลป์ถิ่นนนท์” ซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งจัดแสดงภาพถ่ายจิตรกรรมฝาผนังรูปแม่พระธรณีบีบมวยผมของวัดชมภูเวก ซึ่งมีชื่อเสียงเลื่องลือว่าเป็นภาพแม่พระธรณีบีบมวยผมอันงดงามที่สุดในประเทศไทย
ในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้เดินทางไปเยี่ยมชมวัดชมภูเวก ย่านสนามบินน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี และขออนุญาตเข้าชมภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมภายในพระอุโบสถหลังเก่า ซึ่งกรมศิลปากรได้เข้ามาดำเนินการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และปรากฏร่องรอยการขุดแต่งและบูรณะพื้นที่โดยรอบทั้งภายในและภายนอกอาคารไปแล้วเมื่อเร็วๆนี้

จิตรกรรมภาพแม่พระธรณีบีบมวยผม วัดชมภูเวก (Mother Earth Squeezing her Untied Topknot : Mural painting at Wat Chomphuwek) เป็นส่วนหนึ่งของภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนมารผจญ แสดงเรื่องราวขณะที่พญาวัสวดีมารยกไพร่พลมาขัดขวางการตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงเชิญแม่พระธรณีมาเป็นพยานในการบำเพ็ญบุญกุศล นางจึงปรากฏกายบีบมวยผมทำให้เกิดเป็นน้ำไหลหลากออกมาท่วมกองทัพไพร่พลของพญามารแตกพ่ายไป ภาพดังกล่าวถูกเขียนไว้บนผนังด้านหน้าพระประธานภายในพระอุโบสถวัดชมภูเวก สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือช่างชาวมอญ เขียนขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย สกุลช่างนนทบุรี ลักษณะโดดเด่นทางศิลปะ คือ เส้นโค้งที่อ่อนช้อยสอดรับกันอย่างได้จังหวะทำให้ภาพนี้มีความงามอย่างสมบูรณ์แบบ
รูปแม่พระธรณีบีบมวยผมปรากฏอยู่ในงานจิตรกรรมทางพุทธศาสนาหลายแห่ง นอกจากนี้ยังถูกสร้างเป็นงานประติมากรรมปูนปั้นที่หัวมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของท้องสนามหลวงใกล้โรงแรมรัตนโกสินทร์และสะพานผ่านพิภพลีลา ประติมากรรมดังกล่าวเดิมเรียกกันว่า “อุทกทาน” หมายถึง การให้ทานด้วยน้ำสร้างจากพระราชดำริและพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชมารดาในรัชกาลที่ 6และรัชกาลที่ 7โดยทรงมีพระราชประสงค์เพื่อแจกจ่ายน้ำสะอาดให้ประชาชนทั่วไป เปิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2460 อันเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์
ในทางพระพุทธศาสนาถือว่า แม่พระธรณีบีบมวยผมเป็นพยานแห่งการสร้างสมบารมีทุกชาติภพของพระพุทธองค์ ซึ่งแม่พระธรณีในที่นี้ก็หมายถึง “แผ่นดิน” นั่นเอง ดังนั้นก่อนถูกประหาร“ศรีปราชญ์”กวีเอกฝีปากกล้าสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจึงอ้าง“แม่พระธรณี” เป็นพยานความบริสุทธิ์ของตน
แม่พระธรณีจึงเป็นสัญลักษณ์ของความจริง ความซื่อสัตย์และการมีสัจวาจา รูปแม่พระธรณีถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของการประปานครหลวงอันน่าจะหมายถึงความหลากล้นบริบูรณ์และความบริสุทธิ์ของระบบการผลิตและการจ่ายน้ำ
การก่อตั้งของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489 มีรูปแม่พระธรณีบีบมวยผมเป็นสัญลักษณ์ของพรรค และตั้งรูปแม่พระธรณีบีบมวยผมเป็นที่สักการะ ณ ที่ทำการพรรคบนถนนเศรษฐศิริ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ
ที่มาของสัญลักษณ์แม่พระธรณีบีบมวยผม มาจากการที่พรรคประชาธิปัตย์ได้จัดปราศรัยที่สนามหลวงแล้วฝนเกิดตกลงมา แต่ผู้ที่มาฟังไม่มีใครวิ่งหลบเลย ยังคงนั่งฟังกันต่อ จึงมีผู้ปรารภขึ้นมาว่า น่าจะใช้สัญลักษณ์เกี่ยวกับน้ำ ต่อมานายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคคนแรกที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดรถช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมที่ภาคเหนือ ที่ข้างรถตู้คันหนึ่งมีสัญลักษณ์รูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมติดอยู่ จึงนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์พรรค ซึ่งหมายถึง การเอาชนะมารหรือความชั่วร้ายต่าง ๆ
พรรคประชาธิปัตย์ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอย่างผาดโผนมายาวนานถึง 64 ปี และถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ลงมติยุบพรรคเมื่อวันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ.2553 ด้วยข้อกล่าวหาคดีเงินบริจาคพรรคประชาธิปัตย์258 ล้านบาทและคดีเงินกองทุน 29 ล้านบาทที่พรรคนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการต่อสู้กันทางกฎหมาย โดยกกต.จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด พิจารณาว่าจะส่งฟ้องหรือไม่ ก่อนจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค ทั้งนี้การพิจารณาของกกต.เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะมีการพิจารณาในวันที่ 20เมษายนนี้
แม่พระธรณีทรงเป็นประจักษ์พยานของบารมีและความดีงามเสมอมา

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...