ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ธันวาคม 2475 : พระราชอำนาจ ศาสนาและรัฐธรรมนูญ






                                                          
โดย ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร

        ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายนพ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชหฤทัยจะพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่พสกนิกรสยามดังปรากฏหลักฐานร่างรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 (Outline of Preliminary Draft)ของพระยากัลยาณไมตรี(Dr.Francis B. Sayre) กับร่างเค้าโครงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองฉบับวันที่ 8มีนาคมพ.ศ.2474 (An outline of Changes in the form of Government) ของนายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B. Steven)และพระยาศรีวิสารวาจา(นายเทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) ทำให้มีข่าวลือแพร่ออกไปว่า ในวันที่ 6 เมษายน
 พ.ศ.2475 อันเป็นวันคล้ายวันสถาปนาพระนครครบ 150 ปีจะมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนชาวสยาม แต่ในวันนั้นก็มิได้มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เนื่องจากมีหลักฐานระบุว่าที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภาไม่เห็นด้วยกับการพระราชทานรัฐธรรมนูญ และประเทศสยามก็กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเช่นเดียวกับทั่วโลก
     จนกระทั่งวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 คณะราษฎรได้แสดงความปรารถนาอันแรงกล้าเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากพระมหากษัตริย์ โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงถือพระราชทิฐิมานะใช้กำลังทหารตอบโต้การปฏิวัติ เนื่องจากทรงมีพระราชประสงค์ที่จะไม่ให้เกิดความขัดแย้งถึงขั้นมีการประหัตประหารระหว่างคนไทยด้วยกัน จึงทรงสละพระราชอำนาจ ดังหลักฐานพระราชหัตถเลขาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ความว่า
“...ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อกับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อได้ว่าจลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง และความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงตามทำนองนี้ คือ มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิดเพื่อคุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปตามวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก เพราะว่าถ้าข้าพเจ้าจะไม่ยอมรับเป็นตัวเชิด นานาประเทศคงจะไม่ยอมรับรัฐบาลใหม่นี้ ซึ่งจะเป็นความลำบากยิ่งขึ้นหลายประการ ความจริงตัวข้าพเจ้าเองเวลานี้ก็ทราบกันอยู่แล้วว่า มีอาการทุพพลภาพและไม่มีลูกสืบวงศ์สกุล และจะไม่ทนงานไปนานเท่าใดนักทั้งไม่มีความปรารถนามักใหญ่ใฝ่สูงให้เกินศักดิ์และความสามารถที่จะช่วยพยุงชาติของเราให้เจริญเทียมหน้าเขาบ้างพูดมานี้เป็นความจริงใจเสมอ...”
จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองพระราชอาณาจักรสยาม(ฉบับชั่วคราว) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2475 และพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรสยาม(ฉบับถาวร)ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ตามลำดับ
ก่อนจะมีการพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรสยาม(ฉบับถาวร)นั้น ปรากฏหลักฐานภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมทรงถวายภัตตาหารเพลแก่คณะสงฆ์ในวันที่
9 ธันวาคม พ.ศ.2475 ซึ่งผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า
   การประกอบพระราชพิธีทางพระพุทธศาสนาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นแนวคิดทางการเมืองในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ซึ่งเมื่อเสด็จฯเถลิงถวัลย์ราชสมบัติก็ได้ทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอันศักดิ์สิทธิ์ตามโบราณราชประเพณีเมื่อวันที่ 25กุมภาพันธ์ พ.ศ.2468 ครั้นจะต้องพระราชทานรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายแห่งการปกครองสูงสุดของประเทศแก่คณะราษฎร ก็ต้องมีการประกอบพระราชพิธีเตรียมการถ่ายโอนพระราชอำนาจ “พระราชอำนาจ” นั้นไปบังคับใช้ให้เกิดประโยชน์สุขสถาพรแก่ชาวสยามทั้งมวล และเพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลอย่างแท้จริงนั้น นอกจากจะมีการนิมนต์พระราชาคณะจากวัดสำคัญมาเจริญพระพุทธชัยมงคลคาถาแล้ว ยังอาจมีการสวดรัตนัตตยัปปภาวาภิยาจนคาถา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อสรรเสริญและอาราธนาพระรัตนตรัยให้ปัดเป่าภยันตรายใดๆมิให้พ้องพานประเทศสยาม รวมถึงพระคาถาสุขาภิยาจนคาถาของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิน) วัดโมลีโลก เพื่ออาราธนาพระปริตรให้เกิดสวัสดิมงคลแก่เทพยดาและมวลมนุษย์ รวมถึงสมาชิกในราชสกุลและพระราชาทั้งหลายที่รักษาประชาราษฎร์โดยชอบ และเป็นการสวดอโหสิกรรมแก่สัตว์ผู้ยากทั้งหลายด้วย
ในการพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฉลองพระองค์ด้วยพระบรมราชภูษิตาภรณ์ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เต็มพระยศ อันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าการพระราชทานพระราชอำนาจที่ทรงได้รับเมื่อวันเสด็จฯขึ้นครองราชย์สมบัติแก่ปวงชนชาวไทยนั้นทรงกระทำด้วยเต็มพระราชหฤทัย และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีต่อเนื่องกัน ได้แก่ พระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พระราชพิธีเปิดสภาผู้แทนราษฎรและพระราชพิธีเปิดสมัยประชุมสามัญสภาผู้แทนราษฎร
           รัฐธรรมนูญเป็นของใหม่ ประชาชนบางส่วนจึงเข้าใจกันไปต่างๆนาๆ บ้างก็ว่ารัฐธรรมนูญเป็นชื่อลูกของพระยาพหลฯ บ้างก็ว่ารัฐธรรมนูญมีลักษณะรูปกลมๆนูนๆ เรียกว่า ลูกมะนูน แม้แต่คนในเมืองเชียงใหม่ยังร่ำลือว่า รัฐธรรมนูญเป็นบุคคลรูปร่างอ้วนๆ(คือ หลวงศรีประกาศสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของชาวเชียงใหม่)นั่งบนหลังช้างกางจ้อง(ร่ม)ถือพานมาในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ทำให้ทางราชการต้องจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและเผยแพร่ความรู้เรื่องรัฐธรรมนูญแก่ประชาชนอย่างสืบเนื่องและเป็นวันหยุดราชการมาถึงปัจจุบัน
           พระบรมฉายาลักษณ์การพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ยังได้รับพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญเป็นแบบเพื่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ประดิษฐานหน้าอาคารรัฐสภาเป็นพระบรมราชานุสรณ์แห่งพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานรัฐธรรมนูญ
ต่อมาแบบอย่างการพระราชพิธีข้างต้นยังถูกกำหนดเป็นรัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญและรัฐพิธีเปิดประชุมสภา เช่น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) เสด็จฯนิวัตประเทศก็ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบรัฐพิธีฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ต่อมาในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชพิธีลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2489 อีกวาระหนึ่ง
นับแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา พระองค์ได้เสด็จฯในรัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม และทรงวางพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวหน้าอาคารรัฐสภาและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทุกปี ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารเสด็จฯแทนพระองค์
            พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดแสดงนิทรรศการถาวรหัวข้อ การพระราชทานรัฐธรรมนูญ ที่ชั้น 3 อาคารอนุรักษ์เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ประกอบไปด้วยภาพพระบรมฉายาลักษณ์พระราชทานรัฐธรรมนูญ และวัตถุพิพิธภัณฑ์ชิ้นสำคัญ อาทิ เหรียญรูปหยดน้ำด้านหน้าเป็นพระบรมรูปรัชกาลที่ 7 พระราชทานรัฐธรรมนูญ มีข้อความว่า “เหรียญที่ระลึกราษฎรได้รับพระราชทานรัฐธรรมนูญ 27.3.75” หมายถึง รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว วันที่ 27มิถุนายน 2475 (ขณะนั้นยังนับเดือนเมษายนเป็นวันปีใหม่) ด้านหลังเป็นรูปสมอเรือล้อมด้วยรวงข้าว นอกจากนี้ยังมีการทำเครื่องถ้วยจานรูปแบบต่างๆมีรูปพานรัฐธรรมนูญเป็นสัญลักษณ์ มีอักษรระบุว่า “เป็นที่ระลึกจากบริษัทนมตราแหม่มทูนหัว สินค้าเนสท์เล่” วัตถุพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวได้รับบริจาคจากนายวีระยุทธ แพรสีเขียว
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการโดยไม่เสียค่าบัตรผ่านประตู และขอข้อมูลได้ที่พิพิธภัณฑ์ฯ ตั้งแต่เวลา09.00-16.00นาฬิกา ยกเว้นวันจันทร์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...