ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

เสรีภาพของนักหนังสือพิมพ์ไทยในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดยรองศาสตราจารย์ ดร.พรทิพย์ ดีสมโชค




ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นในองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระเมตตาต่ออาณาประชาราษฎร์แห่งแผ่นดินของพระองค์จนสามารถฟันฝ่าและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขไมตรีสืบต่อมา ทั้งๆ ที่เกิดความขัดแย้งทางความคิดระบอบการปกครอง ดังสะท้อนได้จากข้อค้นพบในอีกมิติหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระคุณแห่งธรรมราชา “พ่อคุ้มครองลูก” เพื่อเปิดโอกาสเสรีภาพให้ประชาชนได้ปกครองตนเอง โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ได้เป็นตัวแทนแห่งพลังขับเคลื่อนความคิดเห็นของสามัญชนเกี่ยวกับการวิจัยเรื่อง “แนวความคิดและวิธีการสื่อสารการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ. 2468 ถึง พ.ศ. 2477” (พรทิพย์ ดีสมโชค, 2553) ดังอรรถาธิบายดังต่อไปนี้



“ธรรมราชา” ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับ “เสรีภาพของประชาชนฐานรากของหนังสือพิมพ์และภาพยนตร์”



พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงพระองค์เป็น “ธรรมราชา” นับเป็นรากแก้วของแนวพระราชทัศนะ” เสรีภาพของประชาชนฐานรากของหนังสือพิมพ์และภาพยนตร์” มีข้ออภิปราย 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) ธรรมราชา “พ่อคุ้มครองลูก” และ (2) การใช้พระคุณของ “ธรรมราชา” เพื่อสร้าง “เสรีภาพของประชาชน ฐานรากของหนังสือพิมพ์และภาพยนตร์” ดังนี้

ธรรมราชา “พ่อคุ้มครองลูก”พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ใน 2 ระบอบการปกครอง กล่าวคือ ในระหว่าง พ.ศ.2468 ถึง พ.ศ.2475 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์กับในระหว่าง พ.ศ.2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ถึง พ.ศ.2477 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ว่าพระองค์จะทรงอยู่ในระบอบการปกครองใด ทรงมีพระราชทัศนะและถือหลัก “ธรรมราชา” เสมอมา สะท้อนจากพระราชหัตถเลขาช่วยจำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง Problems of Siam พระราชทานพระยากัลยาณไมตรี ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2469 และการสัมภาษณ์ พฤทธิสาณ ชุมพล (2552) มีความสอดคล้องเชิงความคิดว่า “...แนวพระราชทัศนะหลักของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวคือ “ธรรมราชา” กษัตริย์ที่ปกป้องคุ้มครองประชาชนเฉกเช่นพ่อคุ้มครองลูก และใช้ธรรมในการปกครองโดยแนะนำให้ประชาชนประพฤติอยู่ในธรรมและจึงมีความสุขจากการนั้น...” แต่ในห้วงเวลาดังกล่าว ปัญหาที่พระองค์ทรงเผชิญคือ การคงไว้ซึ่ง (สถาบัน) ธรรมราชาในกระแส (โลก) ที่เร่งการเคลื่อนสู่ประชาธิปไตย

“การปกครองตนเองของประชาชน” เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมี พระราชทัศนะหลักคือ “ธรรมราชา” และทรงเล็งเห็นปัญหาที่ทรงเผชิญอยู่ดังกล่าวข้างต้น ทรงกำหนดเป็นยุทธศาสตร์สำคัญไว้ว่า ในฐานะ “พ่อ” จึงทรงเห็นว่าต้องแนะนำ (advise) ลูกให้รู้จักวิธีปกครองตนเอง ประชาชนจึงเป็น “กลุ่มเป้าหมาย” (target group) ของพระราชกุศโลบาย ทั้งนี้โดยให้ประชาชนเป็น “ฐานราก หรือรากแก้ว” (foundation) ของประชาธิปไตยในอนาคต แต่ก็ทรงตระหนักว่า มนุษย์นั้นไม่บริสุทธิ์ผุดผ่อง (perfection) ดังนั้น ทั้งสมบูรณาญาสิทธิราชย์และประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนฐานความเป็นมนุษย์จึงอยู่ในฐานะที่อ่อนแอไม่แน่นอน (frail) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งคู่

“ทรงรู้ซึ้งในหลัก ‘อนิจจัง’ แห่งชีวิตของมนุษย์” เมื่อพิจารณาพระราชทัศนะหลักคือ “ธรรมราชา” และการกำหนดพระราชกุศโลบาย “พ่อคุ้มครองลูก” ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ทรงมีความเข้าใจถึงหลักปรัชญาความเปลี่ยนแปลงแห่งชีวิตของมนุษย์อย่างลึกซึ้งในพระพุทธศาสนาด้วยทรงเป็น “ธรรมราชา” และทรงสามารถวิเคราะห์ได้อย่างกระจ่างชัดได้ว่ามนุษย์นั้นไม่บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่สมบูรณ์อย่างที่เชื่อกัน ดังนั้น ทั้งสมบูรณาญาสิทธิราชย์และประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนฐานความเป็นมนุษย์จึงอยู่ในฐานะที่อ่อนแอ ไม่แน่นอนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งคู่ แต่มนุษย์จึงจำต้องมีการรวมกลุ่มเพื่อสร้าง เพื่อทำ มนุษย์ต้องมีความรู้และข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องครบถ้วนจึงจะสามารถให้เหตุผลได้อย่างถูกต้อง

“ทรงทำแต่สิ่งที่ดีเท่าที่จะกระทำได้” ถึงแม้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องเผชิญอยู่ในภาวะลำบาก “...การกำเนิดขึ้นของหนังสือพิมพ์ Free Press ทำให้สถานการณ์ในขณะนั้นขยายตัวเลวร้ายมากขึ้น ฐานะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นสิ่งหนึ่งที่ตกอยู่ในสภาวะลำบาก การเคลื่อนไหวทางความคิดในประเทศแสดงให้เห็นถึงสัญญาณอย่างชัดเจนว่า เวลาของระบอบราชาธิปไตยเหลือน้อยลงเต็มที่...พระเจ้าแผ่นดินควรยินยอมที่จะทำแต่สิ่งที่ดีเท่าที่จะกระทำได้...” ทรงอรรถาธิบายไว้ในพระราชหัตถเลขาเรื่อง Problems of Siam ได้บ่งชี้พระราชทัศนะของพระองค์ได้ว่า สิ่งที่จะช่วยให้กิจการหนังสือพิมพ์เป็นสมบัติอันมีค่าของประชาชนเพื่อประชาชนได้นั้น ก็คือ อุดมคติอันสูงส่ง ความห่วงใยอย่างจริงใจในอันที่จะปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง การมีความรอบรู้อย่างกระจ่างชัดในปัญหาต่างๆ ที่ต้องเผชิญ และความรู้สึกอย่างจริงใจในความรับผิดชอบทางธรรมจรรยาด้วยหลักการปกครองธรรมราชา “พ่อคุ้มครองลูก” ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยึดถือและใช้ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ นี่เป็นหลักคิดสำคัญยิ่ง สอดรับกับนักคิดนักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่ในต่างวัฒนธรรมต่างระบอบการปกครอง คือ โจเซฟ พูลิตเซอร์ (Joseph Pulitzer) แต่ล้วนมีฐานความคิดจากแหล่งเดียวกัน คือ อิสรภาพของมนุษยภาพแห่งความเป็นมนุษย์ที่พึงต้องมีความรับผิดชอบทางสังคมด้วยธรรมจรรยาเป็นต้นรากแก้วของหนังสือพิมพ์ในสังคมประชาธิปไตย

การศึกษา ณ วิทยาลัยอีตัน กับ “ทรงทำแต่สิ่งที่ดีเท่าที่จะกระทำได้” จากผลการสัมภาษณ์ของพฤทธิสาณ ชุมพล (2552) ได้อ้างอิงบทความชื่อ “A Thai Prince at Eton” เขียนโดย Dr. Andrew Gailley ผู้เป็น Vice-Provost (รองอาจารย์ใหญ่) ตีพิมพ์ในหนังสือชื่อว่า The King and His Garden ซึ่งวิทยาลัยอีตัน เป็นผู้จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสที่ได้รับปรับโฉม “สวนของพระมหากษัตริย์สยาม (The King of Siam’s Garden)” ของโรงเรียน และทำพิธีเปิดใหม่เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 เดิมเมื่อปี พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 2,000 ปอนด์ เพื่อจัดสวนนี้ขึ้น และต่อมาในปี พ.ศ.2477 ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตร จากบทความที่เกลี่ (Gailley, 2009 อ้างถึงใน พฤทธิสาณ ชุมพล, 2552) เขียน ได้ “อ่านพระอุปนิสัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ว่า พระองค์ทรงมีพระอุปนิสัย “การดำรงพระองค์อยู่ในทำนองคลองธรรม และพยายามทำแต่สิ่งที่ดีเท่าที่จะกระทำได้สุดความสามารถเสมอ” เมื่อทรงเป็นนักเรียนอายุ 14-16 ปีอยู่ที่อีตัน และวิเคราะห์เชิงจินตนาการต่อไปว่า โรงเรียนนั้นมีส่วนอย่างไรในการบ่มเพาะพระอุปนิสัยนั้นให้เจริญงอกงาม จึงปรากฏเป็นพระวิสัยทัศน์เมื่อในภายหลัง ต้องทรงมีพระราชภารกิจโน้มนำสังคมและประเทศสยามท่ามกลางขวากหนามจากทั้งภายนอกและภายในประเทศอย่างไร

เกลี่ เกริ่นนำว่า เขาคิดว่า สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกฯ พระชนม์เพียง 14 พรรษา ผู้มาจากสยามอันไกลโพ้นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง น่าจะรู้สึกว่าอีตันและอังกฤษเป็นโลกที่แปลกประหลาดไม่น้อยทีเดียว ไม่ใช่เพียงเพราะสถาปัตยกรรมของหอประชุมหลังใหญ่ของโรงเรียนซึ่งออกจะมีลักษณะสามานย์ สำแดงอำนาจจักรวรรดินิยมของอังกฤษ แต่เพราะในปีถัดมา อังกฤษได้ยึดรัฐบาลมลายู 3 รัฐ ไปจากการปกครองของสยาม

ในฐานะของนักเรียนสมัยนั้น เจ้าชายพระวรกายย่อมต้องการกีฬาชื่อว่า Field Game ของอีตันโดยเฉพาะ ซึ่งท้าทายความมีใจสู้และความอดทนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังต้องทรงวางพระองค์ให้เป็นที่ยอมรับของผู้คน ในสภาพซึ่งเรียกร้องความจงรักภักดีต่อ “บ้าน” (house) หรือคณะที่นักเรียนสังกัดอย่างจริงจังบิดพลิ้วมิได้อีกด้วย เหล่านี้ย่อมเป็นการเตรียมพระองค์สู่การที่จะต้องทรงเป็นทหารหาญที่มีวินัยในภายหน้า แต่เกลี่รู้สึกว่า “ทรงชนะศึกอุปสรรคต่างๆ ได้ก็โดยการชนะใจคนด้วยพระเสน่ห์ และการดำรงพระองค์อยู่ในทำนองคลองธรรมโดยแท้ (charm and sheer decency) มากกว่าอย่างอื่น” ในด้านการเรียนนั้น ปรากฏว่าไม่นานครูได้บันทึกไว้ว่า ทรง “ผลิตผลงานได้ดีเยี่ยม” ซึ่งเกลี่ เห็นว่า เป็นคำชมที่สูงส่งทีเดียว เพราะในสมัยนั้นครูมักจะมีท่าทีตำหนิเป็นพื้น แต่ในกรณีของพระองค์กลับชมด้วยว่าทรงเป็น “ผู้ที่ฉลาดที่สุดในกลุ่ม” และ “ขยันยิ่ง มีระบบระเบียบ ตรงต่อเวลา ละเอียดถี่ถ้วน และพยายามทำแต่สิ่งที่ดีเท่าที่จะกระทำได้สุดความสามารถเสมอ” พระอุปนิสัยเหล่านี้ เกลี่ เห็นว่าไม่ได้เลือนหายไปเลยในภายหลัง

แม้รายงานของครูจะบอกว่าทรงปรับพระองค์ได้ดี แต่เกลี่ เชื่อว่า น่าจะทรงรู้สึกว้าเหว่ในช่วงแรก และจินตนาการว่าที่ทรงพระเกษมสำราญได้เร็ว ก็เพราะที่อีตันทรงปลอดจากการมีคนติดตามดูแลทุกฝีก้าวเช่นที่ในวังในสยามประเทศ จึงทรงมีเสรีภาพพอควรที่จะทรงแสวงหาความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่พระองค์สนพระทัยเป็นการส่วนพระองค์ ทั้งนี้เพราะ แม้อีตันจะเข้มงวดในวินัย แต่ก็เปิดช่องให้เด็กได้พัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง ในกรณีของพระองค์ ครูที่ปรึกษาหนุ่มน่าจะมีบทบาทสำคัญในการหนุนเนื่องจากความสนพระทัยในศิลปะ และความเห็นแก่เพื่อนมนุษย์ให้งอกงามในพระองค์ จนเป็น พระจริยวัตรสืบมา

ในขณะเดียวกันการที่ได้ประทับในอังกฤษเอื้อให้พระองค์ได้ทรงตระหนักถึงข้อดีและข้อเสียของสังคมอุตสาหกรรม จึงปรากฏเป็นพระราชทัศนะเชิงวิสัยทัศน์ที่ว่า การเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่แม้จะจำเป็น แต่หากรวดเร็วเกินไปจะเสี่ยงต่อการทำลายเยื้อใยที่ถักทอสังคมไว้ จนอาจนำไปสู่การปฏิวัติประชานิยม (populist revolution) หลังจากนั้นไม่กี่ปี กระแสดังกล่าวได้ท้าทายระบอบอัตตาธิปไตย (autocracies) ในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัสเซีย เมื่อ ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) จะมีก็แต่อังกฤษเพียงประเทศเดียวที่รอดพ้นมาได้ ซึ่งก็ด้วยเสถียรภาพอันเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ของวิวัฒนาการยาวนาน สู่ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและการปกครองแบบมีตัวแทนในรัฐสภา เป็นคำตอบที่ครูที่อีตันในสมัยของพระองค์พร่ำสอนนักเรียนอยู่ทุกเมื่อ

ประชาธิปกเยาวราชกุมาร จะทรงเข้าพระทัยในบทเรียนดังกล่าวเพียงใด เกลี่ ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ต้องคาดเดากันไป แต่เขามั่นใจว่า ย่อมจะทรงชื่นชมความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในอังกฤษ และแล้วเมื่อต้องทรงครองราชย์สมบัติ ก็ได้ทรงพยายามใช้แนวทางแบบค่อยเป็นค่อยไปของอังกฤษนั้น เพื่อเปลี่ยนแปลงสยามสู่ประชาธิปไตย หากแต่ว่า หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมีวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำระดับโลกโถมเข้าซ้ำเติมในช่วงคริสต์ศตวรรษ 1930 ดังนั้น การที่สยามได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งรีบเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อ พ.ศ.2475 จึงไม่เอื้อต่อความมีเสถียรภาพของระบอบนั้นเท่ากับในหลายสิบปีให้หลังคือ ในช่วงท้ายๆ ของศตวรรษที่ 20 ด้วยเหตุนี้

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความเข้าใจในหลักปรัชญาอย่างกว้างขวางและลุ่มลึกได้เช่นนี้ นอกจากการศึกษาที่วิทยาลัยอีตันดังกล่าวข้างต้นแล้ว อีกส่วนหนึ่งมาจากพระอุปนิสัยส่วนพระองค์ที่ทรงโปรดการอ่านหนังสือและความเป็นนักอ่านของพระองค์ ดังสะท้อนได้จากทรงมีหนังสือส่วนพระองค์อยู่หลายร้อยเล่มหลายประเภทหลายภาษา ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “ตู้ทองแห่งทรงศึกษาตลอดพระชนม์ชีพ” ของพระองค์ ดังความตอนหนึ่งที่ พฤทธิสาณ ชุมพล (2552) เล่าให้ฟังว่า



...ย้อนคิดคำนึงถึงหนังสือส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จ

พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวหลายร้อยเล่ม...

เชื่อว่ามีหนังสือเก่าและหนังสือหายากที่น่าสนหลาย

ประเภท หลายภาษาซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “ตู้ทองแห่ง

การศึกษาตลอดพระชนม์ชีพ” ของพระองค์ ดังนั้นจะมี

หนทางใดหนอที่ผู้เกี่ยวข้องจะได้ร่วมมือกันจัดทำฐาน

ข้อมูลเบื้องต้นว่ามีอะไรบ้างก็จะช่วยให้เห็นภาพว่า

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทรง หรืออย่างน้อย

เคยทรงมีหนังสือประเภทต่างๆ หลากหลายเพียงใด จะช่วย

ให้ผู้สนใจ “พระปกเกล้าศึกษา” ได้ภาพเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับ

ความเป็นนักอ่านของพระองค์...



(การสัมภาษณ์ ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล วันที่ 7 มิถุนายน 2552)



“ปลูกฝังรากแก้วให้ประชาชนปกครองตนเองได้” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกำหนดยุทธวิธีโดยทรงวางแนวทางเคลื่อนจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และทรงหาทางทำให้มั่นใจได้ว่าประชาธิปไตยในอนาคตจะมั่นคงตามควร โดยการปลูกฝัง ‘รากแก้ว’ ให้ปกครองตนเองได้ แต่ขณะ เดียวกันก็ทรงเห็นคุณค่า (value) ของธรรมราชาที่ควรคงมีอยู่ในสยามประเทศ ทรงหาทางออกโดยการนำแนวความคิดเรื่อง Constitutional monarchy มาปรับใช้ (adapt) ทรงหวังว่าอาจจะทำให้เกิดความลงตัวได้

การใช้พระคุณแห่ง “ธรรมราชา” เพื่อสร้าง “เสรีภาพของประชาชน ฐานรากของหนังสือพิมพ์และภาพยนตร์” ด้วยความเป็น “ธรรมราชา” ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์ที่ปกป้องคุ้มครองประชาชนเฉกเช่นพ่อคุ้มครองลูก และใช้ธรรมในการปกครองโดยแนะนำให้ประชาชนประพฤติอยู่ในธรรมและจึงมีความสุขจากการนั้น การที่ประชาชน คือ ลูกของพระองค์จะสามารถปกครองตนเองได้ ประชาชนจึงจำเป็นต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทั้งในด้านการพูด การเขียน การพิมพ์ และการโฆษณาเป็นองค์ประกอบสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามแนวความคิดเรื่อง Constitutional monarchy ที่พระองค์ทรงนำมาปรับใช้ ทรงเล็งเห็นว่า ทั้งหนังสือพิมพ์และภาพยนตร์จัดเป็นสื่อสารมวลชนที่สามารถมาช่วยทำหน้าที่สนองการรับรู้ (right to know) ของประชาชน เพื่อรายงานข่าวให้ประชาชนได้รู้ เป็นการให้การศึกษาแก่ประชาชนในเบื้องต้น และทำหน้าที่เป็นตลาดเสรีแห่งความคิดเห็น (free market place of all views) ให้แก่ประชาชน เป็นการเสนอความคิดเห็นของผู้ผลิตสื่อ และเสนอความคิดเห็นของผู้รับสาร เป็นเวทีสาธารณะที่สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกันและกันได้ เพื่อประกอบการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ อันเกี่ยวกับกิจการบ้านเมือง ขณะเดียวกันก็นำข่าวสารข้อมูลและความคิดเห็นจากประชาชนไปเสนอแก่รัฐบาล เพื่อจะได้นำไปใช้ประกอบการพิจารณาบริหารงานให้ตรงกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด

พระคุณแห่ง “ธรรมราชา” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเลือกใช้พระคุณแห่ง “ธรรมราชา” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสิทธิเสรีภาพให้แก่ประชาชนในการได้รับข่าวสารข้อมูลและการแสดงความคิดเห็น ส่งผลให้สื่อหนังสือพิมพ์และภาพยนตร์มีเสรีภาพตามไปด้วย ทรงให้โอกาสสื่อหนังสือพิมพ์และภาพยนตร์ได้แสดงบทบาทและหน้าที่ของสื่อมวลชนอย่างเต็มที่ รัฐไม่มีระบบผูกขาดสื่อ ไม่มีระบบผูกขาดความคิด รัฐบาลจะไม่เข้าไปตรวจข่าว หรือเซนเซอร์ข่าวก่อนตีพิมพ์ หรือไม่แทรกแซงสื่อเป็นอันขาดในรัชสมัยของพระองค์ ทั้งๆ ที่พระองค์ทรงมีพระเดชอยู่ใน พระหัตถ์ระหว่าง พ.ศ.2468 ถึง พ.ศ.2475 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทรงมีพระราชอำนาจปกครองแผ่นดินอย่างเด็ดขาดในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ตาม แต่ทรงใช้ให้เป็นพระคุณแทนดังกล่าวข้างต้น ช่วยให้หนังสือพิมพ์และภาพยนตร์ได้เป็นสื่อเสรีของประชาชนอย่างแท้จริง

การเปิดตลาดเสรีทางความคิดให้แก่สื่อหนังสือพิมพ์และภาพยนตร์ นับเป็นตัวบ่งชี้สำคัญของการมีเสรีภาพของประชาชนอย่างแท้จริงเชิงประจักษ์ในสมัยต้นแห่งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวระหว่าง พ.ศ.2468 ถึง พ.ศ.2475 ก่อนการก่อการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 พระองค์ทรงเลือกใช้พระราชอำนาจให้เป็นพระคุณต่ออาณาประชาราษฎร์ของพระองค์ โดยทรงเปิดตลาดเสรีทางความคิดให้แก่สื่อหนังสือพิมพ์และภาพยนตร์ ดังมีการให้สามัญชนเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์และภาพยนตร์ได้อย่างเสรี และให้หนังสือพิมพ์มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการแสดงความคิดเห็นเป็นดัชนีบ่งชี้ คือ สามัญชนมีเสรีภาพในการเป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์รายใหม่ประเภทรายวันเพิ่มขึ้นจำนวน 56 ชื่อฉบับ เท่ากับเป็นการเปิดช่องทางการสื่อสารในการแสดงความคิดเห็นผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ ทำให้เกิดกระแสการไหลเวียนการสื่อสารการเมืองอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งทรงเปิดโอกาสและสนับสนุนให้ชาวสยามให้เป็นเจ้าของกิจการโรงภาพยนตร์และนำเข้าภาพยนตร์ ถือเป็นยุคทองของภาพยนตร์ อีกดัชนีบ่งชี้สำคัญหนึ่งคือ หนังสือพิมพ์มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการแสดงความคิดเห็นภายใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แห่งแผ่นดินของพระองค์ คือ มีเนื้อหาอิสรเสรีใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นหลักแรก คือ การชี้ภาวะวิกฤตของบ้านเมืองด้านการดุลยภาพข้าราชการ ความเสียเปรียบของประชาชนเรื่องเงินรัชชูปการ เตือนสติและให้ข้อคิด ส่วนประเด็นที่สองคือการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองด้านการเผยแพร่ลัทธิบอลเชวิค การเรียกร้องให้ตั้ง สภาราษฎร์หรือ สภาราษฎร การใช้ความรุนแรงในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ด้วยวิธีการสื่อสารเหตุการณ์และความคิดความเห็นดังกล่าวผ่านการรายงานข่าวและบทความเป็นร้อยแก้ว และนิยมเขียนเป็นกลอนลำตัดการเมืองเสียดสีขุนนางเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่อย่างดุเดือดเผ็ดร้อนในช่วงต่อระหว่างสมัยรัชกาลที่ 6 กับสมัยต้นรัชกาลที่ 7

จากสภาพของการเปิดตลาดเสรีทางความคิดให้แก่หนังสือพิมพ์และภาพยนตร์ดังกล่าวข้างต้น ช่วยสะท้อนได้ว่า สยามประเทศในสมัยต้นรัชกาลที่ 7 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ในขณะนั้นอยู่ระหว่างการเจริญเติบโตของกระบวนการสังคมเปิดในลักษณะที่ผู้วิจัยเรียกว่า “สังคมประชาธิปไตยในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลการสัมภาษณ์วิษณุ เครืองาม ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา ธงทอง จันทรางศุ และธเนศ อาภรณ์สุวรรณ (2552) เกี่ยวกับ อำนาจของพระมหากษัตริย์ แม้จะมีรูปแบบเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ในการปฏิบัติกลับมีความเป็นประชาธิปไตย ด้วยมีความห่วงใยในทุกข์สุขของประชาชน ไม่เลือกชนชั้น ชาติและศาสนา ประกอบกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวิเคราะห์สภาพบ้านเมืองไว้ว่า “...อนึ่ง พระราชดำริเห็นว่า ใช้วิธีการปกครองแบบ dictatorship แต่ไม่ใช่วิธีการอย่างอื่นๆ ของ dictatorship กลับใช้ลักษณะของ democracy หลายอย่าง...” (เอกสาร ร.7 บ. 3 7/70 พระราชนิยมเรื่องคิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เจ้าพระยามหิธรรับพระบรมราชโองการไปยังอภิรัฐมนตรี 1 มิถุนายน 2475) ช่วยยืนยันถึงหลักการสำคัญของสังคมประชาธิปไตยที่ว่า หนังสือพิมพ์ของสยามประเทศขณะนั้นได้รับโอกาสในการเปิดประเด็นอภิปรายถกเถียงอย่างเสรี ให้ข่าวสารแก่ประชาชน และข่าวสารนั้น ได้กลายมาเป็นความรู้ และมีการตามล่าหาความจริง เรื่องมนุษยภาพ และการสร้างจิตสำนึกการเมืองของคณะสุภาพบุรุษโดยการนำของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ จนกลายมาเป็นสัจจะ ความจริง หรืออุดมการณ์ในช่วงเวลานั้น สอดรับกับการอธิบายของสุกัญญา สุดบรรทัด (2544) ในประเด็นที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างข่าวสาร (information) ความรู้ (knowledge) สัจจะ ความจริง หรืออุดมการณ์ (truth) กับบทบาทของหนังสือพิมพ์ในสังคมไทย ซึ่งพัฒนาไปสู่ความเป็นสังคมเปิดและประชาธิปไตยอย่างเป็นขั้นตอนได้

ด้วยข้ออุเทศดังกล่าวข้างต้น ช่วยตอกย้ำการปฏิบัติการของสื่อหนังสือพิมพ์และภาพยนตร์ได้ใช้สิทธิของสื่อมวลชนในการแสวงหาข่าวสาร เพื่อนำความรู้ ความจริง “มนุษยภาพ และการสร้างจิตสำนึกทางการเมือง” ไปประกอบการวินิจฉัยตัดสินตามทำนองคลองธรรมของระบอบประชาธิปไตยต่อไป ได้ใช้สิทธิในการพิมพ์โดยไม่ต้องมีการเซนเซอร์จากรัฐบาล ได้ใช้สิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ หนังสือพิมพ์ในสมัยต้นรัชกาลที่ 7 ได้ทำหน้าที่ “ผู้เฝ้าดู และตรวจสอบรัฐบาล” ซึ่งหนังสือพิมพ์และภาพยนตร์มีสิทธิในการรายงานข่าวภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย เพราะทุกคนในสังคมต้องอยู่ภายใต้กฎหมายด้วยกันทุกคน เรียกว่า อยู่ในขอบเขตแห่งสัญญาประชาคมเดียวกัน สัญญาประชาคมนี้ รุสโซกล่าวว่า เป็นข้อตกลงร่วมกันของทุกคนในสังคม เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่บุคคลทุกผู้ทุกนาม

แม้เมื่อหนังสือพิมพ์ใช้เสรีภาพที่ได้รับอย่างขาดความรับผิดชอบของความเป็นสื่อมวลชนที่ดีก็ตาม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงเลือกใช้พระเดชที่อยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ให้เป็นพระคุณแทน ดังแบตสัน (Batson 1984) และสุกัญญา สุดบรรทัด (2543) และการสัมภาษณ์ วิษณุ เครืองาม สนธิ เตชานันท์ และธงทอง จันทรางศุ (2552) ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ช่วงเวลาก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หนังสือพิมพ์กลับมีเสรีภาพมากกว่าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 โดยคณะราษฎรเสียอีก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติต่อหนังสือพิมพ์ค่อนข้างยืดหยุ่น ส่วนมากแล้ว มักจะเป็นการตักเตือนมากกว่าจะสั่งปิด ถ้าสั่งปิดก็มักจะเป็นการชั่วคราว ยกเว้นแต่ในกรณีที่เห็นว่าทำผิดร้ายแรงทางการเมืองมากๆ ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างรุนแรง ดังเช่นหนังสือพิมพ์ สยามรีวิว และหนังสือพิมพ์ ราษฎร ถูกสั่งปิดถาวร นี่คือความเป็นจริงเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อทรงมีอำนาจ การปกครองอยู่ในพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยึดหลักในหลักการเสรีภาพของหนังสือพิมพ์จริงตามที่ทรงระบุไว้ในลายพระราชหัตถเลขา ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ความว่า “...เมื่อครั้งก่อนมีรัฐธรรมนูญหนังสือพิมพ์ มีเสรีภาพกว่าเดี๋ยวนี้เป็นอันมาก...” มิใช่เพียงเป็นการ “ตีฝีปาก” ของผู้ที่หลุดจากอำนาจแม้แต่น้อยเลย หรือมิได้พูดเกินความเป็นจริง

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ในรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา มีการใช้ระบบตรวจสอบข่าว หรือเซนเซอร์ข่าวก่อนตีพิมพ์เผยแพร่ซึ่งในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชอำนาจอยู่ในพระหัตถ์ มิเคยทรงใช้ และยิ่งในสมัยรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนามีการสั่งปิดหนังสือพิมพ์ที่พูดอะไรไม่เป็นที่พอใจ และคัดค้านนโยบายของรัฐบาลอย่างรุนแรง เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของหนังสือพิมพ์และเลือกปฏิบัติ สร้างความไม่เป็นธรรมในหมู่หนังสือพิมพ์ ด้วยความเป็นธรรมราชาของพระองค์เฉกเช่น “พ่อคุ้มครองลูก” แม้พระองค์ไม่ทรงมีพระเดชอยู่ในพระหัตถ์แล้ว เนื่องด้วยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็ได้ทรงใช้พระคุณร้องขอและขอร้อง ทรงใช้คำว่า “ขออนุญาต” ให้หนังสือพิมพ์มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้จริงๆและให้ติชมนโยบายของรัฐบาลได้จริงๆ และถูกปิดได้ต่อเมื่อยุยงให้เกิดการจลาจลอย่างชัดๆ เท่านั้น ดังความสำคัญระบุไว้ในพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 ว่า



...ต่อไปขออนุญาตให้หนังสือพิมพ์ออกความเห็นได้จริงๆ

และให้ติชมนโยบายของรัฐบาลได้จริง และถูกปิดได้

ต่อเมื่อยุยงให้เกิดการจลาจลอย่างชัดๆ เท่านั้น เมื่อครั้งก่อน

มีรัฐธรรมนูญ หนังสือพิมพ์มีเสรีภาพกว่าเดี๋ยวนี้เป็นอันมาก...



(กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จ

พระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง

สละราชสมบัติ (พระนคร: โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์ 2478, ไม่มีเลขหน้า)



พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระคุณร้องขอและทรงขอร้องต่อรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา แต่รัฐบาลก็ไม่ยอม ในช่วงเวลานั้น พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ไม่ทรงมีพระเดชเหลืออยู่เพื่อใช้ในทางที่เป็นพระคุณได้ ทรงใช้พระคุณเพียงอย่างเดียว แต่ไม่เป็นผล ท้ายที่สุดจึงทรงรันทดพระราชหฤทัยยิ่งที่ไม่ทรงสามารถปฏิบัติพระราชภารกิจพระมหากษัตริย์สยามอันมีมาแต่โบราณในการให้ความช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองให้ประชาชนได้รับเสรีภาพในตัวบุคคล กินความถึงเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ได้สำเร็จ จึงเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พระองค์ทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ ดังความสำคัญในพระราชหัตถเลขาในวาระนั้น ที่ว่า



...เมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้า

จะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว

ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์

แต่บัดนี้เป็นต้นไป...



(กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แถลงการณ์เรื่อง พระบาทสมเด็จ

พระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรง

สละราชสมบัติ (พระนคร: โรงพิมพ์ท่าพระจันทร์ 2478, ไม่มีเลขหน้า)



“มนุษยภาพ” สร้างหนังสือพิมพ์อิสรชนเพื่อความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคและเสรีภาพแห่งความรัก

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเสรีภาพให้แก่หนังสือพิมพ์ นักหนังสือพิมพ์อิสรชน ซึ่งมาจากสามัญชนได้แสดงแนวความคิด “มนุษยภาพ” เพื่อสร้างจิตสำนึกสาธารณะทางการเมืองเป็นรากแก้วของการคิด และการทำหน้าที่บทบาทของการเป็นหนังสือพิมพ์ที่ทำประโยชน์ทางการเมืองเพื่อส่วนรวม โดยมีความต้องการผลิตหนังสือพิมพ์ให้เป็นหนังสือพิมพ์เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง นักหนังสือพิมพ์อิสรชนมีพื้นฐานชีวิตจากสามัญชนที่มีโอกาส เข้ารับการศึกษาในระบบโรงเรียนสามัญ มีจุดเริ่มต้นจากการทำหนังสือพิมพ์ในห้องเรียน หรือหนังสือในชั้น เมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาแล้ว ด้วยใจรักการประพันธ์และได้ก้าวสู่การเป็นหนังสือพิมพ์อาชีพ ได้แก่ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นายมาลัย ชูพินิจ นายโชติ แพร่พันธุ์ และนายอบ ไชยวสุ ทั้งสี่ท่านจึงมีแนวความคิด “มนุษยภาพ” อยู่ในหัวใจ คือ เป็นหนังสือพิมพ์อิสรชนเพื่อความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค และเสรีภาพ ต้องการ “ปลุก” คือ การทำให้ได้สติรู้สึกตัว และการกระตุ้นให้คิด “ปลูก” คือ การทำความเข้าใจให้รู้แจ้ง และ “เปลี่ยนแปลง” คือ การปรับเปลี่ยน แก้ไข สร้างใหม่ ดังสาระสำคัญต่อไปนี้

“การเป็นหนังสือพิมพ์อิสรชนเพื่อความเป็นมนุษย์” ในแนวความคิดหลัก “มนุษยภาพ” นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ผู้นำความคิดของกลุ่มนี้ ได้เสนอความคิดไว้ในบทความที่ชื่อว่า “มนุษยภาพ” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ ฉบับวันที่ 11 ธันวาคม 2473 ฉบับวันที่ 10 และ 12 มกราคม 2474 และหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ฉบับวันเสาร์ที่ 16 มกราคม 2474 และฉบับวันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม 2474 นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ มีแก่นความคิด คือ ให้ความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์ ความเป็นธรรมของสังคม ความเสมอภาคของมนุษย์ ซึ่งมนุษย์มาจากบรรพบุรุษเดียวกัน คือ ลิง มีนัยของความหมายว่า มนุษย์มีความเหมือนกันทางชาติพันธุ์โดยธรรมชาติ กล่าวถึงสาระ 4 ประการ ได้แก่ (1) ความซื่อตรง คือ ความจริง ความจริง คือ ความซื่อตรง (2) “ความเป็นไท” ของอิสรชน (3) ความหลงของมนุษย์ถือว่าอำนาจคือ เงินกับชนชั้นสูงทำอะไรถูกหมด เรียกว่า “บาปมุติ” และ (4) ความสงบ

(1) ความซื่อตรง คือ ความจริง ความจริง คือ ความซื่อตรง เป็นคุณธรรมสำคัญยิ่งของคนทั่วไป ความจริงและความซื่อตรงจะต้องไปด้วยกันเสมอ มิใช่มุ่งเน้นเพื่อความอยู่รอดเฉพาะตน แต่ต้องมี “ความเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม” มนุษย์เราถ้าละทิ้งความจริงและความซื่อสัตย์จะมีสภาพเป็น “รูปหุ่น” ที่ไร้ชีวิตและจิตวิญญาณ ตกอยู่ในอำนาจของคนอื่นมาชักใย และเป็นทาสความคิดของผู้อื่นได้โดยง่าย

(2) “ความเป็นไท” ของอิสรชน นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ชูประเด็นเรียกร้อง “ความเป็นไท คือ ความเป็นมนุษย์ที่มีความอิสระทั้งทางปฏิบัติและความคิดเหมือนอิสรชนทั่วโลก”

(3) ความหลงของมนุษย์ ถือว่าอำนาจคือ เงินกับชนชั้นสูง ทำอะไรก็ถูกหมด เรียกว่า “บาปมุติ” คือ ผู้ที่ไม่รู้จักบาป ผู้ทำอะไรไม่ผิด นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้วิเคราะห์สถานการณ์ของสยามประเทศขณะนั้นระหว่าง พ.ศ.2468 ถึง พ.ศ.2474 ว่า ตกอยู่ในวังวนที่เขาเรียกว่า “การโกหกตอแหล การหลอกลวงได้ก่อกำเนิดจากคณะรัฐบาลและหมู่ชนชั้นสูง” สามารถตีความตามบริบทสมัยนั้นได้มุ่งโจมตีอย่างนุ่มๆ อันมีนัยพาดพิงถึงคณะรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และหมู่ชนชั้นสูงที่มีอำนาจตามดัชนีบ่งชี้ของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ กำหนดขึ้น คือ ชาติตระกูล ยศศักดิ์ และความมีเงิน พออนุมานได้ว่าจัดอยู่ในกลุ่มเชื้อพระวงศ์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ และพ่อค้าวณิชที่ร่ำรวยมั่งคั่งด้วยเงิน รวมทั้งยังได้ให้ความหมายของอำนาจในยุคสมัยนั้น ว่าหมายถึง เงินกับชนชั้นสูง พร้อมสาธกอรรถาธิบายชี้ประเด็นอย่างตรงไปตรงมา” ใครที่มีเงินหรือเป็นชนชั้นสูงกระทำ ถือเป็นการกระทำที่ถูกต้องหมดที่เรียกว่า “บาปมุติ”

(4) ความสงบ ได้กล่าวถึงความอนิจจังของสรรพสิ่งในโลก อำนาจเปลี่ยนมือสะท้อนเห็นว่า ประเทศหลักๆ มีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นประเทศรัสเซียหลังจากโคนล้มกษัตริย์อำนาจกลับมาอยู่ในมือคนจน รวมทั้งประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปและอเมริกา อำนาจการปกครองได้มีการกระจายมายังประชาชน นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ใช้คำว่า “อำนาจเฉลี่ยตัวของมันอยู่กับบุคคลทั่วไป” และได้พยากรณ์เหตุการณ์ของโลกและสยามประเทศ ที่จะต้องเผชิญก็คือ การเกิดแนวโน้มขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองจากการรวมตัวผนึกกำลังอย่างรวดเร็ว เพื่อการเปลี่ยนเชิงใช้กำลังบังคับทั้งในด้านประชาชน ประชาชนต้องรู้จักสิทธิเสรีภาพของตนเอง และด้านผู้ปกครองประเทศก็ต้องยอมรับความจริงเพื่อทำประโยชน์ให้แก่คนส่วนรวมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังเน้นซ้ำว่า ความจริงกับความสงบสุขเป็นของคู่กัน นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ได้ยกคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านำมากล่าวถึงและอธิบายความว่า “...แม้ในทางพระพุทธศาสนาที่สอนให้มนุษย์สู้หน้ากับความเป็นจริง ให้เชื่อด้วยมีใจศรัทธา มิใช่ให้เชื่อด้วยความงมงาย หรือหลอกลวง หรือข่มขี่บังคับการโกหกตอแหลนั่นเทียว ที่เป็นบ่อเกิดของความปั่นป่วนจลาจล และนำความเดือดร้อนมาสู่มนุษยชาติ...”

จากแนวความคิด หนังสือพิมพ์อิสรชนเพื่อความเป็นมนุษย์ของ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์

ที่นำเสนอนี้ มุ่งชูประเด็นเรียกร้อง “สิทธิความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคของมนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่าเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ และความเป็นธรรมของสังคม” เป็นเจตนารมณ์ของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยตรง บ่งชี้ได้จากคำบอกเล่าของ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เขียนเล่าไว้ในจดหมายถึง นายสด กูรมะโรหิต ว่า “...ความจริง มันไม่มีอะไรที่แสลง ฉันพูดถึงสิทธิของมนุษยชน ความเสมอภาคของมนุษย์ ความเป็นธรรมของสังคม...” (สด กูรมะโรหิต อ้างถึงใน สุภา ศิริมานนท์, 2548)

รากแก้วแห่งแนวความคิดของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในบทความเรื่อง “มนุษยภาพ” ดังกล่าวจึงมาจากรากฐานระบบการศึกษาสยามที่ได้รับการปูพื้นฐานโดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เรียนรู้ในระบบโรงเรียนเทพศิรินทร์สืบต่อมา โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงรวบรวมความรู้ “เพื่อบำรุงร่างกายและจิตใจ” ขึ้น คือ หนังสือ “มานุษยวิทยา” เมื่อ ร.ศ.117 (ประมาณ พ.ศ.2441) กล่าวถึง “ความรู้เรื่องของมนุษย์” เป็นความรู้ที่ได้จากวิทยาศาสตร์ เพื่อมุ่งเน้นการบำรุงและเสริมสร้างร่างกายของคนให้มี “ความผาสุก” และเป็นการให้ความรู้ที่เกี่ยวกับการประพฤติตัวที่ดีผ่านทางระบบการศึกษาที่สร้างความรู้และแบบแผนปฏิบัติบนฐานรากธรรมะ คือ ไตรสรณะ ได้แก่ ความมีชาติเป็นถิ่นที่อยู่ร่วมกัน การมีศาสนายึดเหนี่ยวจิตใจ ซึ่งก็คือพระพุทธศาสนาที่เป็นศาสนาประจำชาติ และการให้ความเคารพและอยู่ภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์แห่งจักรีวงศ์ (หจช. ร.5 ศ/2, “ลายพระหัตถ์กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” วันที่ 29 พฤษภาคม ร.ศ.118 และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส, มานุษยวิทยา เล่ม 1 ตอนที่ 1-2, น. คำนำ ข.)

การศึกษาในระบบโรงเรียนสยามในรัชกาลที่ 7 จึงมีผลโดยตรงต่อการสร้างรากแก้วแนวความคิด “มนุษยภาพ” ของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในแก่นสาระฐานรากจากพระพุทธศาสนา ดังสามารถนำการอธิบายความของ พระธรรมปิฏก (2538: 6 และ 647) มาช่วยอนุมานตีความในประเด็นที่ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ถือว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกัน พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งการกระทำ (กรรมวาท และกิริยวาท) เป็นศาสนาแห่งเพียรพยายาม (วิริยวาท) การสั่งสอนธรรมของพระพุทธเจ้าทรงมุ่งผลในทางปฏิบัติ ให้ทุกคนจัดการกับชีวิตที่เป็นอยู่จริงๆ ในโลกนี้ ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ ที่จะเข้าถึงผลสำเร็จได้ แม้ว่าความสามารถจะต่างกัน ทุกคนจึงควรได้รับโอกาสเท่าเทียมกันก็จะสร้างผลสำเร็จนั้นตามความสามารถของตน

นอกจากนี้ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้ชี้ให้เห็นว่า ความอนิจจังของสรรพสิ่งในโลก ดังตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นความจริงของโลก ซึ่งเป็นหนึ่งใน “ไตรลักษณ์” หมายถึง สามัญลักษณะของโลก 3 ประการ ได้แก่ อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง ความไม่คงที่ ความไม่ยั่งยืน ภาวะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป ทุกขัง คือ ความเป็นทุกข์ และอนัตตา คือ ความไม่มีตัวตนที่แท้จริง พร้อมทั้ง นายกุหลาย สายประดิษฐ์ ได้กล่าวเน้นย้ำไว้ว่า “...แม้ในทางพุทธศาสนาที่สอนให้มนุษย์สู้หน้ากับความเป็นจริง ให้เชื่อด้วยมีใจศรัทธา มิใช่ให้เชื่อด้วยความงมงาย หรือหลอกลวง หรือข่มขี่บังคับการโกหกตอแหลนั่นเทียว นี่เป็นบ่อเกิดของความปั่นป่วนจลาจล และนำความเดือดร้อนมาสู่มนุษยชาติ...” เนื่องจาก “ศรัทธา” ตามหลักพุทธศาสนาถือว่า ศรัทธาเป็นเพียงขั้นต้นที่สุดในกระบวนการพัฒนาปัญญา ศรัทธาที่ประสงค์ จึงต้องเป็นความเชื่อความซาบซึ้งที่เนื่องด้วยเหตุผล คือ มีปัญญารองรับและเป็นทางสืบต่อแก้ปัญหาได้ มิใช่เพียงความรู้สึกมอบตัวมอบความไว้วางใจให้สิ้นเชิง โดยไม่ต้องถามหาเหตุผล อันเป็นลักษณะทางฝ่ายอาเวค (emotion) ด้านเดียว ถือว่าเป็นความเชื่อที่หลงงมงาย จะทำให้ไม่สงบ แต่ถ้าเป็นศรัทธาที่เกิดจากปัญญามีเหตุมีผลกำกับจะช่วยให้เกิดความสงบเยือกเย็น (ศรัทธานำไปสู่ปิติ ดูพุทธพจน์ที่ สํ.นิ.16/69/37 อ้างถึงใน พระธรรมปิฏก, 2538)

ด้วยแนวความคิด “มนุษยภาพ คือ ความเป็นมนุษย์” ดังกล่าวข้างต้น ถือได้ว่า นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นผู้มีฐานรากมั่นในพระพุทธศาสนาได้เป็นแกนนำแห่งยุคสมัยรัชกาลที่ 7 ชูประเด็นนี้อย่างเด่นชัดและจริงจัง และได้เป็นประเด็นหลักของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิความเป็นมนุษย์กันทั่วโลก จนที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติประกาศเจตนารมณ์ในการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2491

แนวความคิด “มนุษยภาพ คือ ความเป็นมนุษย์” ได้เป็นกระแสหลักของนักหนังสือพิมพ์ โดยมีนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวที่โดดเด่นในสมัยต้นรัชกาลที่ 7 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เนื่องจากนักหนังสือพิมพ์ได้พยายามทำหน้าที่และบทบาทของการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางความคิดอย่างเต็มที่ และกลุ่มนักหนังสือพิมพ์เคลื่อนไหวของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ก็ได้พยายามอย่างมุ่งมั่นนำเสนอการให้นิยาม พร้อมทั้ง “ปลุก ปลูก และเปลี่ยนแปลง” ด้วยฐานรากแนวความคิด “มนุษยภาพ คือ ความเป็นมนุษย์” ในทุกๆ กิจกรรม ทุกๆ วิธีการเพื่อสื่อสารข่าวสารผ่านหนังสือพิมพ์ และหนังสือเล่มคติบันเทิง เป็นการเติมความรู้ให้แก่ประชาชนอยู่ทุกๆวันอย่างต่อเนื่อง สามารถประยุกต์การอธิบายของสุกัญญา สุดบรรทัด (2544) และฮอลล์ (Hall, 1980) ในเรื่องทฤษฎี Hegemony (การครอบงำทางอุดมการณ์) ได้ดังกล่าวข้างต้น พร้อมทั้งบ่งชี้ต้นรากของการเกิดแนวความคิด “มนุษยภาพ คือ ความเป็นมนุษย์” เกิดจากวิธีการคิดแบบผสมผสาน โดยมีหลักพุทธศาสนาเป็นฐานราก และแสดงความกล้าหาญ เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล ต่อเนื่องไปยังต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในแนวเป็นอิสรชนมากยิ่งขึ้นควบคู่กันไป การนำเสนอแนวความคิด “มนุษยภาพ คือ เป็นมนุษย์” จึงถือเป็นการสร้างรหัส (code) ของกลุ่มสามัญชนที่ผู้วิจัยเรียกว่า “กลุ่มพลังใหม่” ใช้เป็นรหัสในการถ่ายทอดอุดมการณ์ของสามัญชนเพื่อสร้างเป็นกระแสหลัก ตามการอรรถาธิบายของฮอลล์ (Hall, 1980) ซึ่งรหัสของความเป็นมนุษยภาพที่ผ่านการกรองและการแปลสารของคณะสุภาพบุรุษ โดยมีนายกุหลาบ สายประดิษฐ์เป็นแกนหลัก และเป็นรหัสที่แตกต่างและต่อต้านการปกครองของผู้ปกครองในขณะนั้น

ถึงแม้ว่า รากแก้วแห่งแนวความคิด “มนุษยภาพ คือ ความเป็นมนุษย์” นั้นมาจากพุทธศาสนา ส่วนรากแขนงการสร้างความเจริญเติบโตงอกงามด้านความคิดนั้นได้รับความคิดความรู้ทางตะวันตกจากการอ่านค้นคว้าเพิ่มเติม และสภาพสังคมการเมืองโลกมีการเปลี่ยนแปลงสู่กระแสเสรีนิยมประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ด้วยความเป็นอิสรชนของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ จึงส่งผลให้เกิดการพินิจพิเคราะห์ใคร่ครวญ มีผลสืบเนื่องให้เกิดวิธีการคิด “มุมกลับ” คือ ประชาชนสามัญชนเป็นต้นเสียง หมายถึง เป็นผู้เริ่มต้น และเป็นต้นคิด หมายความว่า เป็นผู้ศึกษาค้นคว้าแสวงหาและนำเสนอความจริง ความรู้และทางออก ดังนั้น เนื้อหาสาระแนวความคิดที่นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นำเสนอจึงมีการคิดโต้แย้งไม่เห็นด้วยต่อสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนั้นด้วย นี่คือ วิธีการคิดในสมัยต้นของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ช่างมีความอิสรเสรีภาพในความคิดเห็นแห่งสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475



“คณะสุภาพบุรุษ” รากแก้วของต้นแบบนักหนังสือพิมพ์อิสรชนและนักหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย



กลุ่มพลังใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างกระแสไหลเวียนการสื่อสารการเมืองให้เกิดขึ้นตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ.2468 ถึง พ.ศ.2477 คือ “คณะสุภาพบุรุษ” รากแก้วของต้นแบบนักหนังสือพิมพ์อิสรชนและนักหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ด้วยพลังขับเคลื่อน 2 ลักษณะหลัก ได้แก่ (1) การผนึกพลังสามัญชนรวมเป็น “คณะสุภาพบุรุษ” และ (2) “คณะสุภาพบุรุษ” สื่อกลางเชื่อมอดีตกับปัจจุบันร่วมสมัย ดังอรรถาธิบายต่อไปนี้

การผนึกพลังสามัญชนรวมเป็น “คณะสุภาพบุรุษ” จากการวิจัยนี้สะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์สำคัญทางการหนังสือพิมพ์ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวระหว่าง พ.ศ.2468 ถึง พ.ศ.2477 คือ การเกิดพลังใหม่แห่งการรวมตัวกันของนักหนังสือพิมพ์สามัญชน รุ่นหนุ่ม คือ “คณะสุภาพบุรุษ” ในปี พ.ศ.2472 คณะสุภาพบุรุษสามารถเป็นพลังขับเคลื่อนการสื่อสารการเมืองที่ทรงพลังต่อเนื่องมายังปัจจุบันร่วมสมัย เพราะเป็นการผนึกพลังของสามัญชนรุ่นอายุระหว่าง 20 ถึง 30 ปี และเป็นเพื่อนกันด้วยใจรักในการประพันธ์และศรัทธาในวิชาชีพหนังสือพิมพ์ มีแนวความคิดหลัก “มนุษยภาพ” เป็นรากแก้ว ดังคติพจน์ประจำคณะสุภาพบุรุษที่ว่า “ผู้ใดเกิดมาเป็นสุภาพบุรุษ ผู้นั้นเกิดมาสำหรับผู้อื่น” มีความเสียสละเพื่อจะทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นายมาลัย ชูพินิจ นายโชติ แพร่พันธุ์ และนายอบ ไชยวสุ ล้วนเป็นแกนหลักของผู้ก่อตั้งคณะสุภาพบุรุษ

“คณะสุภาพบุรุษกับนักหนังสือพิมพ์อาชีพ” เมื่อรวมตัวกันเป็นคณะสุภาพบุรุษได้เป็นกลุ่มเป็นก้อนแล้ว ได้ออกหนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษรายปักษ์ มุ่งเสริมสร้างงานเขียนหนังสือให้เป็นงานที่มีคุณค่า และเป็นการทำงานอย่างมืออาชีพได้ คณะสุภาพบุรุษถือเป็นรากแก้วการเจริญเติบโตของเส้นทางนักหนังสือพิมพ์บนดิน หรือนักหนังสือพิมพ์อิสรชนใน 2 ลักษณะหลัก ได้แก่ การรับว่าจ้างทำหนังสือพิมพ์ข่าว บางกอกการเมือง และไทยใหม่ และการออกหนังสือพิมพ์บันเทิงหัวใหม่ “สุริยา” โดย นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ผู้นำคณะสุภาพบุรุษจะเป็นผู้จัดวางเพื่อนชาวคณะสุภาพบุรุษตามความรู้ความสามารถในแต่ละงานแต่ละฉบับได้อย่างเหมาะสม หลังจากนั้น คณะสุภาพบุรุษได้แตกเมล็ดพันธุ์เป็น 2 สาย ได้แก่ สายแรก คือ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นายมาลัย ชูพินิจ และนายโชติ แพร่พันธุ์ ได้เข้าทำงานในหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ ผู้นำ ศรีกรุง และสยามราษฎร ในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 และนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เป็นบรรณาธิการพร้อมนายมาลัย และนายโชติ ได้ทำงานในหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ส่วนอีกสายหนึ่งคือ นายอบ ไชยวสุ ได้เป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ สยามราษฎร และได้มาสมทบกับคณะของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ร่วมทำหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ ในเวลาต่อมา

“คณะสุภาพบุรุษต้นรากของหนังสือพิมพ์เปลี่ยนแปลงนิยม หรือหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้า” จากการวิจัยครั้งนี้ พบว่า คณะสุภาพบุรุษได้ร่วมทำหนังสือพิมพ์ข่าว หมายถึง หนังสือพิมพ์รายวัน คือ บางกอกการเมือง โดยนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ รับหน้าที่เป็นบรรณาธิการในปี พ.ศ.2473 และคณะสุภาพบุรุษได้เข้ามาร่วมปรับปรุงเป็น บางกอกการเมืองยุคใหม่ ต่อจากนั้นคณะสุภาพบุรุษก็ได้ทำงานหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ ผู้นำ สยามราษฎร ศรีกรุง และหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เป็นบรรณาธิการและเพื่อนบางคนในคณะสุภาพบุรุษได้ร่วมทำหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ หนังสือพิมพ์ที่คณะสุภาพบุรุษเข้าร่วมทำงานด้วยล้วนเป็นต้นรากหนังสือพิมพ์เปลี่ยนแปลงนิยมหรือหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้า คือ ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบใหม่ มีทัศนะมุมมองที่แตกต่างจากรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คณะสุภาพบุรุษในนามการทำหนังสือพิมพ์ ประชาชาติ จึงยืนอยู่ข้างรัฐบาลใหม่ของคณะราษฎรโดยเฉพาะสมัยพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี

“คณะสุภาพบุรุษ” เป็นพลังใหม่อันทรงพลัง ผู้วิจัยได้หยิบยกประเด็นการรวมตัวกันของนักหนังสือพิมพ์สามัญชนเป็น “คณะสุภาพบุรุษ” และเป็นต้นแบบนักหนังสือพิมพ์อิสรชน ถือเป็นพลังใหม่อันทรงพลังแห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวดังกล่าวนั้น เนื่องจากเมื่อย้อนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของนักหนังสือพิมพ์สามัญชนคนสำคัญๆ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงของนักวิชาการ ปรากฏว่า เป็นนักหนังสือพิมพ์ในรัชกาลที่ 5 จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ เทียนวรรณ สุกัญญา ตีระวนิช (2520: 54-61) ได้บ่งชี้ความโดดเด่นของเทียนวรรณ ไว้ว่า “เทียนวรรณ: นักหนังสือพิมพ์ชาวไทยท่านแรกที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพ” ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ (2549: 188-239) ได้ระบุคุณลักษณะสำคัญของเทียนวรรณไว้ว่า “เทียนวรรณ: ปัญญาชนไพร่กระฎุมพีคนแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” และ “ความก้าวหน้า” ในความคิดของ “เทียนวรรณ” หรือแม้แต่นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เป็นผู้ตั้งสมญานามให้แก่เทียนวรรณ คือ “บุรุษรัตนของสามัญชน” (ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ 2549: 191) อีกท่านหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึง คือ ก.ศ.ร.กุหลาบ ซึ่งสุกัญญา ตีระวนิช (2520:43) ได้อธิบายว่า ก.ศ.ร.กุหลาบ เป็นสามัญชนนักหนังสือพิมพ์ไทยคนแรก แต่ความสำคัญของ ก.ศ.ร.กุหลาบ ไม่ได้อยู่ที่ผลงาน

หนังสือพิมพ์ของเขา ความสำคัญของเขาอยู่ที่เขาเป็นผู้สร้างจุดต่อในวงการหนังสือพิมพ์จากกำมือของฝรั่งมาสู่เจ้านายในราชสำนัก แล้วจึงแพร่ออกมาสู่สถาบันหรือองค์การต่างๆ ตลอดจนขุนนาง แล้วจึงเบนเข้าสู่วงการของสามัญชนโดยการนำของ ก.ศ.ร.กุหลาบ นักหนังสือพิมพ์ไทยทั้งสองท่านดังกล่าวเป็นนักต่อสู้นักเคลื่อนไหว นักคิด แต่เพียงลำพังของตนเอง ผู้วิจัยขอเรียกพลังนี้ว่าเป็น “พลังต่อสู้พลังเคลื่อนไหวทางความคิดเชิงเดี่ยว”



“คณะสุภาพบุรุษ” พลังต่อสู้พลังเคลื่อนไหวทางความคิดเชิงผสมผสาน ในขณะที่ “คณะสุภาพบุรุษ” อย่างน้อยมีนักหนังสือพิมพ์หลักทั้งสี่ คือ กุหลาบ – มาลัย – โชติ – อบ เป็นขุมพลังช่วยขับเคลื่อนหนังสือพิมพ์ในยุคสมัยต้นของการกำเนิดกลุ่มในรัชกาลที่ 7 สมาชิกทุกคนในคณะสุภาพบุรุษได้ผ่านการเรียนรู้ศึกษาบทเรียนจากการทำงานจริงและความเป็นเพื่อนร่วมกัน ช่วยกันกล่อมเกลาความคิดและสร้างชีวิตจิตวิญญาณของนักหนังสือพิมพ์ที่มีธรรมะอยู่ในหัวใจ และพร้อมที่จะสร้างจิตสำนึกสาธารณะทางการเมืองให้แก่ประชาชนอย่างมุ่งมั่นอย่างแข็งแกร่ง ทำให้พลังแห่งนักหนังสือพิมพ์เหล่านี้มิได้สูญสิ้นไปตามกาลเวลาที่ผ่านไป ผู้วิจัยขอเรียก คณะสุภาพบุรุษนี้ว่า เป็น “พลังต่อสู้พลังเคลื่อนไหวทางความคิดเชิงผสมผสาน” ได้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานเขียนและเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการ การเขียนผลงานของตนในยุคนั้น รวมทั้งแนวความคิด “มนุษยภาพ” ของคณะสุภาพบุรุษยังมีอิทธิพลต่อนักคิดนักหนังสือพิมพ์และคนรุ่นหลังอีกด้วย ดัง มนธิรา ราโท (2548: 421-439) ได้ศึกษาเชิงเปรียบเทียบคณะสุภาพบุรุษของไทยกับคณะตึ – หลึก – วัน – ควาน หรือกลุ่มวรรณกรรมอิสระของเวียดนาม โดยมี เติ้ตลิญห์ เป็นผู้ก่อตั้งรวมนักเขียนเป็นกลุ่มขึ้นในปี พ.ศ.2476 ขณะที่คณะสุภาพบุรุษเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2472 นับเป็นเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งสองกลุ่มมีความเหมือนกันตรงจุดกำเนิดเกิดมาจากชนชั้นปัญญาชนชั้นกลาง เน้นสะท้อนปัญหาและความรู้สึกนึกคิดของชนชั้นกลางและปัญญาชนรุ่นใหม่ ใช้ภาษาที่เรียบง่ายซึ่งใช้กันในชีวิตประจำวัน และทั้งสองกลุ่มได้รับการยกย่องทั้งในฐานะของนักเขียนระดับแนวหน้าของประเทศ ผู้มีคุณูปการต่อพัฒนาการด้านวรรณกรรมในประเทศของตน และพวกเขาก็สมควรได้รับการระลึกถึงในฐานะของปัจเจกชนผู้ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์และความเชื่อของตนเช่นกัน จากการรวมตัวของ “คณะสุภาพบุรุษ” ดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นดัชนีช่วยบ่งชี้ของ “พลังใหม่อันทรงพลัง” ที่มาจากรากฐานการผนึกกำลังสามัญชนอิสรชนที่เรียกว่า “พลังต่อสู้พลังเคลื่อนไหวทางความคิดเชิงผสมผสาน” แห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวระหว่าง พ.ศ.2468 ถึง พ.ศ.2477 อย่างเด่นชัด

ความผสมผสานระหว่างนักหนังสือพิมพ์และนักวรรณกรรมของคณะสุภาพบุรุษ หากพิจารณาพิเคราะห์ความโดดเด่นของคณะสุภาพบุรุษ พบว่า คณะสุภาพบุรุษได้ทำหน้าที่และบทบาทของการเป็นหนังสือพิมพ์อย่างเต็มที่ จึงได้ใช้พลังของการเป็นสื่อหนังสือพิมพ์ขับเคลื่อนเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั้งการปลุก ปลูกและเปลี่ยนแปลงอย่างโดดเด่นในสมัยต้นรัชกาลที่ 7 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2472 ถึง พ.ศ.2475 โดยได้ประยุกต์ใช้ความเป็นนักวรรณกรรม หรือนักประพันธ์มาขยายผลและสร้างองค์ความรู้แห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์อย่างผสมผสานลงตัวในการทำงาน ดังผลการวิเคราะห์ของการวิจัยนี้ แสดงให้เห็นพลังขับเคลื่อนหลัก 2 พลัง ได้แก่ การสร้างหนังสือพิมพ์และหนังสืออ่านเล่นคติบันเทิงของคณะสุภาพบุรุษ ช่วยเสริมสร้างให้เกิดพลังแข็งแกร่งหนักแน่นทรงพลัง ต่อเนื่องและเปี่ยมล้นด้วยแนวความคิดหลัก “มนุษยภาพ” และ“ธรรมะของหนังสือข่าว” เพื่อสร้างจิตสำนึกสาธารณะทางการเมืองให้เกิดขึ้นจริงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยเฉพาะสมัยต้นก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ระหว่าง พ.ศ. 2468 ถึง พ.ศ. 2475



ท่ามกลางกระแสการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในแผ่นดินพระบาท- สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสมือนดูสวนกระแสความคิดกันนั้น หากพิจารณาแล้ว เป้าหมายลึกๆ มิได้แตกต่างกันเลย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือหลักธรรมราชา “พ่อคุ้มครองลูก” และมุ่งมั่น “ทรงทำแต่สิ่งที่ดีที่จะกระทำได้ ในขณะที่กลุ่มนักหนังสือพิมพ์อิสระชนโดยการนำของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ได้เป็นพลังขับเคลื่อนให้ประชาชนได้เกิดจิตสำนึกสาธารณะทางการเมือง ล้วนมุ่งเน้นสร้าง “ความเป็นมนุษย์หรือมนุษยภาพ” เพื่อเสรีภาพและร่วมสร้างสังคมไทยด้วยจิตวิญญาณแห่งประชาธิปไตยเพื่อประชาชนอย่างสันติสุขสืบมา เพียงแต่ต่างวิธีการของการเคลื่อนไหวและจังหวะเวลาเร็วช้าเท่านั้น

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั