ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

กระแสเดียวจักยึดมั่น: วิถีชุมชนกับการอยู่ร่วมกันตามแนวพระราชดำริพระปกเกล้าฯ

ภาพงานอภิปรายเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ มสธ.
วันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม 2553

โดย ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร
สังคมไทยผ่านวิกฤตในช่วงตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมพ.ศ.2553ไปแล้วอย่างน่าใจหาย หลายคนบอกว่าไม่มีใครชนะมีแต่ฝ่ายพ่ายแพ้ คือ ประเทศไทย แต่หากจะมองให้ถึงแก่นแท้ของความจริงเพื่อนำไปใช้เป็นอุทาหรณ์สอนใจสำหรับคนรุ่นต่อไป เนื่องด้วย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาทมานานแล้วตอนหนึ่งว่า “...ยิ่งเป็นระบอบรัฐสภาด้วยแล้วต้องอาศัยนิสัยและน้ำใจที่ดีของประชาชน เพราะการปกครองประชาธิปไตยย่อมมีการแพ้และการชนะ...” ผู้ชนะในเหตุการณ์ข้างต้น คือ ฝ่ายรัฐบาลจากพื้นฐานความเข้มแข็งระดับหนึ่งของระบบราชการภายใต้การสนับสนุนของกองทัพ ฝ่ายพ่ายแพ้ คือ ฝ่ายแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่งผลทางเศรษฐกิจคิดเป็นเงินประมาณ 200,00 ล้านบาท และกระทบกระเทือนจิตใจของคนไทยอย่างร้ายแรง ในด้านการเมืองฐานะรัฐบาลถูกสั่นคลอนจนกระทั่งนักการเมืองที่ไม่มีส่วนร่วมในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) หายหน้าไปจากเวทีข่าว (เช่นเดียวกับหลายๆคน) จนกระทั่งในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้จึงปรากฏโฉมอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ดังกล่าววิพากษ์วิจารณ์กันไปมากแล้ว ในที่นี้ผู้เขียนจะเชื่อมโยงไปถึงกิจกรรมอภิปรายเชิงวิชาการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเรื่อง “วิถีชุมชนกับการอยู่ร่วมกันในสังคมประชาธิปไตยตามแนวทางพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” เมื่อวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 จัดโดยสำนักบรรณสารสนเทศ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ณ ห้อง 5209 อาคารสัมมนา 1ซึ่งผู้เขียนได้รับเชิญเป็นผู้ดำเนินรายการในการสัมมนา วิทยากรประกอบด้วยผุ้ทรงคุณวุฒิและนักวิจัย 3ท่าน คือ รศ. ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล กรรมการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รศ.ดร.เสนีย์ คำสุข อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และอาจารย์มณีรัตน์ มิตรปราสาท จากสาขาวิชาการปกครองท้องถิ่น ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ(วิทยาเขตสงขลา) ผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 100คน จากหน่วยงานราชการสถาบันการศึกษาและประชาชนที่สนใจทั่วไปทั้งในกรุงเทพฯและปริมณฑล
รศ.ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล เน้นประเด็นเรื่องการเลี้ยงดู การอบรมสั่งสอนเด็กและเยาวชนตามแนวทางพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ คุณธรรม และวิชาความรู้ ดังบทเพลงกราวกีฬาในประโยคที่ว่า “..แก้กองกิเลสทำคนให้เป็นคน...”
ความมีน้ำใจนักกีฬารู้แพ้ รู้ชนะและรู้อภัย ซึ่งผู้เขียนจะขอยกพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่อาจารย์ ครู และนักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 ว่าด้วยความเป็นนักกีฬา

ดังนี้
“การเล่นเกมนั้น ทำให้กำลังบริบูรณ์และกล้าหาญ...แต่นอกจากนั้นยังมีผลยิ่งขึ้น...เพื่อจะฝึกให้เด็กรู้จักรักเหล่ารัก คณะ ให้รู้จักช่วยเพื่อน...ให้นึกถึงส่วนใหญ่ไม่ใช่นึกถึงตัวคนเดียว...ต้องเล่นเกมให้ถูกข้อบังคับจริงๆและจะโกงไม่ได้เลย... คนไหนที่มีน้ำใจซื่อสัตย์สุจริตทำอะไรตรงไปตรงมา เขาเรียกว่าเป็นผู้รู้จักเล่นเกม...แปลว่าเล่นเกมถูกต้อง รู้จักรักและนึกถึงการช่วยเหลือเพื่อนของตนไม่ใช่เอาเปรียบ เป็นของสำคัญมากในการอบรมนิสสัยอย่างดี...”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงให้ความสำคัญเรื่อง “การรู้จักฝึกน้ำใจกีฬา” เพราะจะทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเจริญก้าวหน้า กล่าวคือ ให้ยึดหลัก 3 ประการว่า “ประการแรก นักกีฬาแท้จะเล่นเกมอะไรต้องเล่นให้ถูกต้องตามกฎข้อบังคับของเกมนั้นไม่โกงเล็กโกงน้อยแต่อย่างใด ประการที่สอง ถ้าเกมนั้นต้องเล่นกันหลายคนต้องเล่นเพื่อความชนะของฝ่ายตนมิใช่เพื่อตัวคนเดียว ประการที่สาม นักกีฬาแท้ต้องรู้จักแพ้ รู้จักชนะถ้าแพ้ก็ไม่ผูกพยาบาท ถ้าชนะก็ไม่อวดดีข่มผู้แพ้ หลักสามประการดังกล่าว ย่อมใช้ประโยชน์ในทางการเมืองด้วย ยิ่งเป็นระบอบรัฐสภาด้วยแล้วต้องอาศัยนิสัยและน้ำใจที่ดี เพราะการปกครองประชาธิปไตยย่อมมีการแพ้และการชนะ ถ้าเราใช้วิธีโกงต่างๆ เช่น ติดสินบนหรือข่มขืนน้ำใจก็ต้องเรียกว่า เล่นผิดเกมการเมืองโดยแท้ คือต้องนึกถึงประโยชน์ของประเทศของตนเป็นใหญ่เท่านั้น ต้องลืมความเห็นที่แตกต่างกันให้หมด ถึงจะเคยน้อยอกน้อยใจกันมาอย่างไรต้องลืมให้หมดต้องฝังเสียให้หมดจะนึกเห็นแก่ตัวไม่ได้ อย่างนี้จึงจะเรียกว่ามีน้ำใจเป็นนักกีฬาแท้เป็นของจำเป็นที่จะต้องปลูกฝังให้คนมีน้ำใจอย่างนั้น จึงจะปกครองแบบเดโมแครซีได้ดี”
รศ.ดร. เสนีย์ คำสุข กล่าวถึงแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 ส่วนใหญ่ๆ จากพระราชดำรัส พระบรมราโชวาท และพระราชจริยวัตรที่ทรงกระทำตลอดพระชนม์ชีพ ได้แก่ การประนีประนอม การให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ การทำมาหากิน และความสุขสบายของประชาชน และการเสียสละความสุขหรือผลประโยชน์ส่วนตัวเพื่อไม่ให้ขัดแย้งหรือไปกระทบผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือคนทั้งหมด ดังพระราชกระแสที่กล่าวว่า
“...ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ กับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละไม ไม่ให้ขึ้นชื่อได้ว่าจลาจลเสียหายแก่บ้านเมืองและความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงตามทำนองนี้คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ จึงยอมรับที่จะช่วยเป็นตัวเชิด…”
อาจารย์มณีรัตน์ มิตรปราสาท กล่าวถึงเรื่องสภาองค์กรชุมชน : วิถีประชาธิปไตยในสังคมไทย? โดยยกความในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตอกย้ำถึงหลักการประชาธิปไตยที่ทรงยึดถือ คือ หลักเสรีภาพในตัวบุคคล หลักความยุติธรรม ความว่า
“...ข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐบาลและพวกพ้องใช้หลักการปกครองที่ไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ยินยอมที่จะให้ผู้ใด คณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามข้าพเจ้าต่อไปได้...”
ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะแก้ได้ด้วยการที่ฝ่ายรัฐบาลต้องยึดหลักนักบริหารที่เห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวมและอนาคตของชาติเป็นหลัก ส่วนฝ่ายค้านต้องยึดหลักการตรวจสอบและหลักความอดทนรอคอยเวลาพิสูจน์ข้อเท็จจริงและน้ำใจของประชาชน และฝ่ายประชาชนต้องยึดหลักธรรมในพุทธศาสนาหรือศาสนาอื่นๆที่ตนนับถือในเรื่องของความอดทนอดกลั้น หนักแน่น ไม่หลงใหลได้ปลื้มไปกับกระแสต่างๆ เช่น กระแสทักษิณ กระแสเสื้อเหลือง กระแสเสื้อแดง กระแสเสื้อหลากสี กระแสอภิสิทธิ์ หรือ กระแสเสธ.ไก่อูของสาวๆในเฟซบุ๊ค( facebook) เป็นต้น การตระหนักรู้ว่า การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ของประเทศชาติ พรรคการเมือง นักการเมือง นายทุน ลูกจ้าง กรรมกร ชาวไร่ชาวนา ฯลฯ ซึ่งทุกฝ่ายต่างก็ตั้งหน้าตั้งตาช่วงชิงส่วนแบ่งของผลประโยชน์ให้ได้มากที่สุดซึ่งเป็นแรงผลักให้เกิดความวุ่นวายปั่นป่วนมากที่สุด
          แต่ถ้าหากทุกฝ่ายยึดมั่นตามกระแสพระราชดำรัสกระแสเดียว คือ การรู้จักหน้าที่ของตนตามโครงสร้างทางสังคมแล้ว ประเทศชาติก็จะเกิดความผาสุกร่มเย็นตลอดไป

ความคิดเห็น

  1. เรื่องนี้ให้แง่คิดเปรียบเทียบสังคมในอดีตกับปัจจุบันได้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะการQuoted พระราชดำรัสในรัชกาลที่7 มาให้เห็นและได้น้อมนำไปใคร่ครวญและปฏิบัติตามอย่างรู้คุณค่า โดยเฉพาะประเด็นการมีน้ำใจนักกีฬาและการรู้แพ้รู้ชนะรู้อภัยในทางการเมือง

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั