ภาพรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงฉายร่วมกัน ในคราวเสด็จประพาสชวา พุทธศักราช 2472 นับเป็นการเสด็จประพาสต่างประเทศเพื่อเจริญพระราชสัมพันธไมตรีอย่างเป็นทางการครั้งแรกหลังจากขึ้นเสวยสิริราชสมบัติ
โดย รศ.ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศครั้งแรกในรัชกาล ประพาสสิงคโปร์ ชวา และบาหลี ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคมถึงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2472 รวมเวลาทั้งสิ้น 78 วัน เพื่อทรงเจริญพระราชไมตรีกับทั้งอังกฤษและฮอลันดา(เนเธอร์แลนด์) เจ้าอาณานิคมของสิงคโปร์ และชวาบาหลีตามลำดับ อีกทั้งกับเจ้าผู้ครองนครพื้นเมืองดั้งเดิมบนเกาะชวาและบาหลี มีสุลต่านแห่งยกยาคาร์ตา สุสุนันแห่งสุรการ์ตาที่เกาะชวา และอนักอะกุงต่างๆที่เกาะบาหลี ทั้งยังได้เสด็จฯทอดพระเนตรโบราณสถานมากแห่ง มีเทวสถานบรัมบานันและเจดีย์บุโรพุทโธเป็นต้น รวมทั้งทรงศึกษากิจการต่างๆทั้งด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมตลอดจนภูมิประเทศแปลกตา เช่นภูเขาไฟ น้ำพุร้อน การประกอบอาชีพ เช่น การทำนาขั้นบันไดบนไหล่เขา สวนยาง และการประมง อีกทั้งศิลปวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน
“เมื่อทอดพระเนตรเห็นสิ่งใดที่ดีหรือเป็นความคิดแปลกใหม่อันเป็นประโยชน์ ก็มักจะทรงคำนึงถึงพระราชอาณาจักรของพระองค์อยู่เสมอ” ดังที่พระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงไว้
ภาพยนต์ส่วนพระองค์(16 ม.ม.) ชุด “เสด็จประภาสชะวา พ.ศ. 2472” ที่หอภาพยนต์แห่งชาติ โดยความสนับสนุนของสถาบันพระปกเกล้า เพิ่งจะมีโอกาสได้อนุรักษ์และจัดทำสำเนาเสร็จสดๆร้อนๆนี้ มีถึง 17 ม้วนด้วยกัน ความยาวม้วนละ ประมาณ 15 นาที ครอบคลุมเกือบทั้งหมดของระยะทางเสด็จพระราชดำเนิน แต่แน่นอนเป็นหนังเงียบ ขาวดำ ไร้เสียง มีแต่การขึ้นป้ายบ่งชี้ว่าเสด็จฯ ณ ที่ใดบ้าง แต่กระนั้นก็น่าตื่นเต้นสำหรับผู้ที่เคยอ่านพระราชหัตถเลขาฯทำนอง “ไกลบ้าน” ฉบับเดียวที่ทรงไว้ และจดหมายเหตุระยะทางฯ มาแล้ว เพราะช่วยให้สิ่งที่อ่านมีความเป็นรูปธรรม มีชีวิตชีวาขึ้นมาเหมือนได้โดยเสด็จพระราชดำเนิน จึงมั่นใจว่า ที่ว่า”รอบพระบาทยาตรา...” นั้นไม่ผิดเพี้ยนแต่อย่างใด ด้วยต้องทรงพระดำเนินด้วยพระบาทขึ้นเขาลงห้วยอยู่ไม่น้อย ทั้งทรงพระราชพาหนะหลากหลาย ตั้งแต่เรือ เครื่องบินน้ำ รถยนต์ รถไฟ ม้า และเก้าอี้หาม ตามลักษณะของภูมิประเทศ ด้วยพระพิริยะอุตสาหะบากบั่น แม้จะทรงพระประชวรเป็นบางครั้ง
แน่นอนว่าพระบามสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงถ่ายภาพยนต์ชุดนี้ด้วยพระองค์เองทั้งหมด แต่มีบางช่วงบางตอนที่จดหมายเหตุระยะทางฯ ระบุไว้ว่าทรงกล้องภาพยนต์หรือที่ค่อนข้างแน่ใจได้ว่าเป็นฝีพระหัตถ์ทรงถ่าย เช่นพระอิริยาบถในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ และเจ้านายเล็กๆ ผู้ตามเสด็จฯ ชายหญิง 2 องค์ในบรรยากาศที่เป็นส่วนพระองค์ เช่นกับสัตว์ต่างๆ หรือที่น้ำพุร้อนเป็นต้น โดยอย่างหลังนี้พอเป็นที่พิสูจน์ได้ว่าทรงถ่ายเพราะมีภาพนิ่งทรงกล้องภาพยนตร์อยู่ ณ สถานที่เดี่ยวกันปรากฏเป็นหลักฐานอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ฯ
นอกจากนั้นมีหลายตอนมากที่เป็นการถ่ายเก็บรายละเอียดของรูปและภาพแกะสลักหินตามโบราณสถานต่างๆ ซึ่งสะท้อนถึงความสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษในโบราณสถานถึงขนาดที่นักประวัติศาสตร์ศิลปจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ จึงสันนิษฐานได้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถ่ายด้วยพระองค์เอง การชมภาพยนตร์ชุดนี้จึงเป็นวิธีการสำคัญในการเข้าถึงความสนพระราชหฤทัยส่วนพระองค์ อีกทั้งพระอุปนิสัยและพระอารมณ์ขันด้วย
รวมความแล้วหากดูภาพยนตร์ชุดนี้ร่วมกับการอ่านพระราชหัตถเลขาฯและจดหมายเหตุระยะทางฯ ย่อมได้อรรถรสและความรู้ควบคู่กันไป เกี่ยวกับดินแดนที่ปัจจุบันคือ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ประเทศเพื่อนบ้าน สมาชิกสมาคมอาเซียน เป็นอานิสงส์ต่อการสานสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของประเทศสมาชิกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของศิลปวัฒนธรรม อีกทั้งได้ตระหนักถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงบุกเบิกการถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีพระราชทานเป็นมรดกอันล้ำค่าแก่เราชนรุ่นหลัง หากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้ดำเนินการศึกษาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ยิ่งขึ้นเช่นด้วยการนำข้อมูลจดหมายเหตุของอังกฤษและฮอลันดามาสมทบประกอบด้วยก็จะเป็นการดี
[พช/ชวาบาหลี(สั้น)/7 ก.ค. 2553]
หนังสืออ้างอิง
ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระธิดา สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ในคราวเสด็จประภาสเกาะชวา เมื่อปีมะเส็งพ.ศ. 2472. พระนคร :โรงพิมพ์อักษรนิติ , 2492. (พระธิดา สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงพิมพ์แจกเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณในงานอัญเชิญพระบรมอัษฐิกลับคืนสู่กรุงเทพพระมหานคร เมื่อปีฉลูพ.ศ. 2492).
ดำรัสดำรงค์ เทวกุล, หม่อมเจ้า. จดหมายเหตุระยะทางพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประภาสสิงคโปร์ ชวาและบาหลี. พระนคร : โรงพิมพ์รุ่งเรืองธรรม, 2504 (พิมพ์ครั้งที่ 2 เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระยาไพชยนต์เทพ (ทองเจือ ทองเจือ) ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส 22 เมษายน 2504).
สังเขประยะทางเสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา และบาหลี พ.ศ. 2472
กรกฎาคม
25 เสด็จจากกรุงเทพฯด้วยเรือพระที่นั่งมหาจักรี
26 ประทับแรม 1 คือที่ สวนไกลกังวล หัวหิน
31 สิงคโปร์ ประทับที่บ้านผู้ว่าราชการ
สิงหาคม
1 สิงคโปร์
5 - 7 บะเตเวีย (จาการ์ตา) ประทับที่วังโรสไวค
8 บอยเตนซอร์ก ประทับที่วังบอยเตนซอร์ก(ที่เมืองโบกอร์)
12 -18 บันดุง ประทับที่โฮเต็ลโฮมัน (Grand Hotel Homann)
19 – 23 การุต ประทับที่โฮเต็ลปาปันไดยัน (Papandajan)
24 ตำบลจาติบีริง ประทับที่บ้านนายกวีซ่วนล้วน
25 โวโนโซโบ ประทับที่โฮเต็ลเดียง (ทรงพระประชวร)
กันยายน
3 – 6 เสวยกลางวันที่บ้านนายบีกวัตกุ่น เศรษฐีจีน (เคยรับเสด็จร. 5 ) ที่ตำบลสาลาติกา ทรงถ่ายภาพยนต์นางระบำ เสด็จฯ ถึงโซโล เมืองหลวงของสุรการ์ตา สุสุฮูนัน ปะกูภูวโนที่ 10 รับเสด็จฯประทับที่บ้านพ่อค้าเยอรมันชื่อเส (See) เพราะโรงแรมไม่เหมาะสม
7 เสด็จเปลาซาน และบรัมบานัน
เสด็จถึงยกยาการ์ตา ประทับที่กรังต์โฮเต็ล (Grand Hotel Djokja)
8 – 10 เสด็จวังสุลต่าน วังปะเรรัน ทอดพระเนตรวายังออแรง
11 ยกยา เสด็จโบราณสถานที่จันดีเมนดุด และโบโรบูดูร์ (บุโรพุทโธ)
12 แวะทอดพระเนตรศิลาสลักเรื่องรามเกียรติที่พระราชทาน(คืน)ไปจากกรุงเทพฯ ที่บรัมบานัน ประทับกรังต์โฮเต็ลริช (Grand Hotel Rich) เมืองเกดีรี (Kediri) เมืองดาหาของอิเหนา
13 เกดิรี – ซองกอริติ ทอดพระเนตรถ้ำอิเหนา ประทับบาดโฮเต็ลซองกอริติ(Badhotel Songoriti)
14 – 18 ซอกอริติ มณฑลมาลัง (Malang)
19- 22 สุรบายา ประทับที่โฮเต็ลงัมปลัก (Hotel Ngamplak)
23 เสด็จจากสุรบายาลงเรือพระที่นั่งมหาจักรีไปยังเกาะบาหลี
24-25 บุเลเลง สิงครัดจา (สิงโกราชา) เกาะบาหลี ประทับที่บ้านเรสิ เดนต์ ทอดพระเนตรละคอนที่บ้านอนักอะกุง
(Anak Agoeng of Boeleng)
( 25 กันยายน: มีพระราชโทรเลขแสดงความเศร้าสลดที่เจ้าฟ้าฯกรมขุนสงขลาฯสิ้นพระชนม์)
26 – 30 เดนปาสาร์ ประทับที่โฮเต็ลบาลี เสด็จบ้านอนักอะกุง
ตุลาคม
1-2 เดนปาสาร์ ทอดพระเนตรวังของเจ้าผู้เคยครองนครเมืองกลุงกุง (Kloengkoeng) และบ้านเรือนของพลเมือง
3 เดนปาสาร์ – บุเลเลง – เรือพระที่นั่ง
4 เรือพระที่นั่ง – สุรบายา : ประทับเรือพระที่นั่งออกจากท่าน้ำ เมืองสุรบายา
5-8 เรือพระที่นั่งมหาจักรี
9 ปีนัง เสวยกลางวันที่บ้านพระรัตนเศรษฐี ประทับบนเรือพระที่นั่ง
10 ปีนัง – สะเดา – หาดใหญ่ เสด็จประภาสเมืองอะลอร์สตาร์ เสด็จไปบ้านพักเจ้าพระยาไทรบุรี ถึงหาดใหญ่ เสด็จทรงรถไฟพระที่นั่งต่อมา
11 รถไฟพระที่นั่งถึงกรุงเทพฯ
Royal Footprint on Java and Bali
M.R. Prudhisan Jumbala
In 1929, Their Majesties King Prajadhipok (Rama VII) and Queen Rambhai Barni paid state visits to Singapore, then a part of British Malaya, and Java and Bali, then part of the Dutch East Indies and today of the Republic of Indonesia. Some 17 reels of 16 mm. black-and-white silent cinematic films taken on the trip by and under the direction of the late King have recently been restored, copied on to new film and then on to DVD format by the National Film Archive with financial support from the King Prajadhipok’s Institute. Excerpts are to be screened on Saturday, September 4, 2010 at 2.30 – 3.30 p.m. , after the showing of documentary films on royal visits to Siam’s own outlying provinces starting at 1.30 p.m., at the King Prajadhipok Museum near Panfa Lilat Bridge.
The movie is a vivid documentary of the Royal Visit from July 26 to October 11, 1929, to Singapore, Java and Bali. The sojourn was to further Siam’s relations with the British and Dutch colonial powers but also with the traditional rulers in Java and Bali. Moreover, Their Majesties look the opportunity to observe developments in agriculture and industry as well as to cement cultural relations. Much attention was paid to filming religious monuments (such as Prambanan and Borobudur), nature (such as volcanoes and hot springs) as well as various dance forms. The documentary is thus of considerable educational value, all the more so when on makes the effort to study also the official report of the journey and the late King’s own entertaining letterrs to his nieces, both of which of are available in book form. British and Dutch, and maybe Indonesian, archival documents should also be consulted in due course for a more complete understanding.
For the time being, a commentary on the movie by the Associate Professor Dr. Withaya Sucharithanarugse, a Thai Indonesianist and political scientist familiar with Java, promises to be informative as well as lively. It is hoped that the audience will thereby be drawn to appreciate the diversity of the King’s interests, his dedication to duty performed for the benefit of the country and the people, and also the value of the cinematic legacy bequeathed to successive generations.
The itinerary
Bangkok – Royal Yacht Maha Chakri – Hua Hin –Singapore – JAVA : Batavia (Jakarta)/Buitenzorg – Bandung – Garoet – Wonososobo - Salatiga – Solo – Surakarta – Djokja (Yogyakarta) – Songoriti/Malang – Surabaya – Royal Yacht – BALI : Singaraja – Den Pasar – Royal Yacht – Surabaya – Penang – Alor Star – SIAM : Sadao – Haad Yai –Royal Train to Bangkok.
The means of transport included the Royal Yacht, train, motorcar, aero plane, palangquin (chairs on poles carried on shoulders) as well as on horseback and by foot up hills and down dales.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น