ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

นิทรรศการ "ของเก่าเล่าเรื่องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว"

นิทรรศการ "ของเก่าเล่าเรื่องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว"


    ศิลปวัตถุและภาพถ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นศิลปวัตถุอันเป็นสัญลักษณ์แห่งพระนามและพระบรมนามาภิไธยสิ่งของซึ่งพระราชทานหรือผลิตขึ้นเนื่องในพระราชพิธีและโอกาสสำคัญๆในรัชกาลเชิญชวนให้ผู้เข้าชมได้มีความสนใจในพระราชประวัติและเข้าถึงคติธรรมต่างๆ ที่แฝงอยู่ในศิลปวัตถุและในพระราชพิธี อีกทั้งพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติในช่วงต่างๆ จักน้อมนำให้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงตระหนักอยู่โดยตลอดว่าจะต้องทรงปกป้องคุ้มครองปวงประชา ทั้งในสมัยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายในทศพิธราชธรรมจรรยาและในสมัยที่มีการปกครองโดยระบอบรัฐธรรมนูญ

              พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดนิทรรศการนี้ขึ้นในวาระครบ 80 ปีแห่งวันบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 7 คือตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ถึงวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 มีกิจกรรมสัมมนาประกอบนิทรรศการเรื่อง 'การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 7' ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2549 และเรื่อง 'ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ สานชีวิตคนกรุงเทพฯ' ในวันที่ 1 เมษายน 2549

ศิลปวัตถุที่จัดแสดงนี้บางชิ้นบางชุดยังทำการศึกษาข้อมูลได้ไม่สมบูรณ์ จึงขอความกรุณาท่านผู้รู้ได้ช่วยให้ ข้อมูลเพื่อความสมบูรณ์ในการจัดครั้งต่อไป เนื้อหานิทรรศการประกอบด้วย 11 หัวข้อดังนี้

 1. สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ประสูติเมื่อวันพุธ แรม 4 ค่ำ เดือน 11 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2436 (ร.ศ.112) โดยสังเขป ทรงได้รับพระราชทานพระนามว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าชายประชาธิปกศักดิเดชน์” โดย 'เดชน์' แปลว่า ลูกศร พระนามจึงมีความหมายว่า 'ผู้ทรงอำนาจด้วยศร ผู้ทรงปกป้องคุ้มครองปวงประชา' พระนามย่อเป็นอักษร “ปศ.”

ทรงได้รับการศึกษาตามโบราณราชประเพณีในพระบรมหาราชวัง ครั้นเมื่อทรงโสกันต์ และเฉลิมพระนามเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา ใน พ.ศ. 2448 แล้วเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษระหว่าง พ.ศ. 2449 ถึง พ.ศ. 2457 ที่วิทยาลัยอีตัน โรงเรียนราษฎร์ชั้นเอกอุ และที่โรงเรียนนายร้อยเมืองวุลลิช (ปัจจุบันยุบรวมเข้ากับโรงเรียนนายร้อยแซนเฮิร์สท) จนทรงสำเร็จการศึกษาเป็นนายร้อยตรีกิตติมศักดิ์แห่งกองทัพบกอังกฤษ ประจำกรมทหารปืนใหญ่ม้ารักษาพระองค์ ณ เมืองออลเดอชอต

ทรงรับราชการเป็นนายทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์ ทรงดำรงพระยศตั้งแต่นายร้อยตรีจนถึงนายพันเอกก่อนทรงครองราชย์

ทรงผนวชเมื่อปี พ.ศ. 2460 เป็นเวลา 1 พรรษา เมื่อทรงลาผนวชแล้วอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิง รำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2461

เสด็จไปรักษาพระองค์และทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกฝรั่งเศส ตั้งแต่ พ.ศ. 2464 ถึง พ.ศ. 2467พ.ศ. 2468 ทรงเป็นรัชทายาทเนื่องด้วยพระเชษฐาร่วมพระราชชนนีเสด็จทิวงคตและสิ้นพระชนม์ไปก่อนทุกพระองค์ การที่ได้ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ทรงปฏิบัติราชการที่สำคัญยิ่งแทนพระองค์อยู่บ่อยครั้ง

ด้วยพระวิริยอุตสาหะและความจงรักภักดี จึงทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา

สำหรับศิลปวัตถุที่เกี่ยวข้องกับพระนามในช่วงนี้ของพระราชประวัติมีดังนี้






1.1 แหนบ ปศ. และศรหนึ่งองค์

แหนบพระนามย่อของสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ประทับบนศรหนึ่งองค์ ทองลงยาแดงขาวบนพื้นสีเขียวซึ่งเป็นสีของวันพุธ (วันพระราชสมภพ) สำหรับบุรุษประดับที่ฝากระเป๋าเสื้อเครื่องแบบข้าราชการพระราชทาน ข้าฯในพระองค์ ตั้งแต่ก่อนทรงครองราชย์ แหนบปศ.นี้มีมากกว่าหนึ่งแบบต่างกันไปตามฐานะของผู้ได้รับพระราชทาน (ข้อมูลยังไม่เป็นข้อยุติ)

1.2 กระดุมข้อมือเสื้อเชิร์ต ปศ.คล้อง รพ.

กระดุมพระนามย่อของสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์กับพระนามย่อของหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชายา ทองลงยา ป.สีแดง ศ.สีเขียว ร.พ.สีชมพู (สีวันอังคารซึ่งเป็นวันประสูติหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี) พ.สีน้ำเงิน สันนิษฐานว่า พระราชทานเมื่ออภิเษกสมรส พ.ศ. 2461 (ข้อมูลยังไม่เป็นข้อยุติ)

1.3 กระดุมข้อมือเสื้อเชิร์ต ปศ.คล้องลูกปืน

กระดุมพระนามย่อของสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์กับลูกปืน สัญลักษณ์ว่าทรงเป็นนายทหารปืนใหญ่ สันนิษฐานว่า พระราชทานเมื่อทรงเป็นผู้บังคับการกองร้อยทหารปืนใหญ่รักษาพระองค์ (ข้อมูลยังไม่เป็นข้อยุติ)

1.4 เข็มตราศักดิเดชน์

เป็นตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ก่อนทรงครองราชสมบัติเป็นตรารูปโล่หรืออาร์มขนาดใหญ่ ภายในแบ่งเป็น 3 ช่อง คือ ครึ่งบน 2 ช่อง ครึ่งล่าง 1 ช่อง รูปสัญลักษณ์ ที่ปรากฏบนดวงตรา มีความหมายดังนี้

ครึ่งบนของตราข้างซ้าย เป็นเครื่องหมายของบรมราชจักรีวงศ์ คือ รูปจักรกับตรี อยู่บนพื้นสีเหลือง ข้างขวาเป็นรูปพระเกี้ยว เป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า บนพื้นสีชมพู อันเป็นสีวันพระราชสมภพของพระองค์

ครึ่งล่างของตราศักดิเดชน์ ประกอบด้วยพระแสงศร 3 องค์ หมายถึงพระนามเดิมในพระบาทสมเด็จพระ ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ สมเด็จเจ้าฟ้าชายประชาธิปกศักดิเดชน์ คำว่า เดชน์ หมายถึง ศร ศักดิเดชน์ หมายถึง ผู้ทรงศร และพระแสงศร 3 องค์ หมายถึงพระแสงศรพรหมมาศ (ศรพระพรหม) พระแสงศรประลัยวาต (ศรพระนารายณ์) และพระแสงศรอัคนีวาต (ศรพระอิศวร) บนพื้นสีเขียว

การจัดวางตรา 3 ตราตามตำแหน่งเช่นนี้สอดคล้องกับตราประจำพระองค์พระราชโอรสในรัชกาลที่ 5 ทุก พระองค์ ปัจจุบันยังไม่พบสิ่งของแต่ครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระชนมชีพอยู่ ซึ่งมีตรานี้ประดับ หากแต่ว่าเมื่อสวรรคตแล้ว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ได้มีพระราชเสาวนีย์โปรดเกล้าฯ ให้ทำเป็นตราศักดิเดชน์ไว้พระราชทานแก่คณะกรรมการผู้จัดงานประเภทต่างๆ เพื่อหารายได้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุน "ประชาธิปก" เข็มที่จัดแสดงคือเข็มที่สมเด็จฯ โปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้น


อนึ่งเข็มตราศักดิเดชน์ที่จัดแสดง อยู่ในนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์ มีการวางตำแหน่งตราพระเกี้ยวกับตราจักรีสลับข้างกัน จึงสันนิษฐานว่าเป็นชุดที่ทำผิดจากแบบเดิม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2468 เนื่องจากรัชกาลที่ 6 ไม่มีพระราชโอรส สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาจึงได้รับอัญเชิญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ตามพระราชหัตถเลขานิติกรรม

 2. พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีที่สำคัญที่สุดของพระมหากษัตริย์ ด้วยเป็นการประกาศการยอมรับผู้ที่จะเป็นผู้นำของชาติด้วยความเห็นชอบพร้อมใจของปวงพสกนิกร ที่มีศรัทธาเคารพรักต่อองค์พระมหากษัตริย์ โดยมีพราหมณ์พระราชครูผู้รอบรู้ในพระเวทและพิธีการ เป็นผู้ประกอบพิธีตามคติความเชื่อที่ว่า พระองค์ทรงเป็น สมมติเทพหรือทิพยเทวาตารอุบัติมาเพื่อทรงขจัดทุกข์เข็ญของอาณาประชาราษฎร์ใต้พระบรมโพธิสมภารให้มี ความสุข และบำรุงอาณาจักรให้พร้อมด้วยความอุดมสมบูรณ์ และมีความเจริญรุ่งเรือง

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 25 กุมภาพันธ์ 2468 ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 4 ปีฉลู สัปตศก พระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า

“ ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชนเรา แผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เป็นที่พึ่งจัดการปกครองรักษา ป้องกันอันเป็นธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบายเทอญฯ”

ราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์

ถึงวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2468

ในงานพระราชพิธีนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างของที่ระลึกสำหรับพระราชทานแก่พระเถรานุเถระ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการไทยและต่างประเทศ ตลอดจนพ่อค้าคหบดีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพื่อเป็นที่ระลึกในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรงออกแบบ ประกอบด้วย

1. เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ลักษณะกลม แบน มีหูร้อยแพรแถบริ้วสีเหลืองกับเขียวสลับกัน

2. เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ลักษณะกลม แบน ไม่มีหู

3. ดอกพิกุลทองและดอกพิกุลเงิน

4. ตาลปัตรพัดรองบรมราชาภิเษก

นอกจากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชลัญจกรประจำพระองค์ขึ้น สำหรับประทับกำกับ

พระปรมาภิไธยในต้นฉบับเอกสารส่วนพระองค์ ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน ซึ่งเรียกกันว่า “พระราชลัญจกรพระแสงศร” เป็นรูปพระแสงศร 3 องค์พาดบนราวพาด เหนือราวพาดเป็นดวงตรามหาจักรีบรมราชวงศ์ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ เบื้องซ้ายและเบื้องขวาตั้งบัวแทรก สอดแทรกด้วยลายกนกอยู่บนพื้นของตอนบนของดวงตรา (ศิลปวัตถุชิ้นนี้จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการถาวร)

 3. เหรียญรัตนาภรณ์และตาลปัตรรัตนาภรณ์

เหรียญรัตนาภรณ์ จัดเป็นเหรียญบำเหน็จความชอบเป็นเครื่องหมายในพระมหากรุณาธิคุณส่วนพระองค์ ในองค์พระมหากษัตริย์ จัดอยู่ในตระกูลเหรียญอิสริยาภรณ์

เหรียญรัตนาภรณ์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2444 หลังจากนั้นมีการสร้างขึ้นทุกรัชกาล

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 มี 5 ชั้น ดังนี้

ชั้นที่ 1 อักษรพระปรมาภิไธย เรือนเงินประดับเพชร ทั้งดวง หูทองคำ

ชั้นที่ 2 อักษรพระปรมาภิไธย ทองคำลงยาสีเขียว ขอบเรือนเงิน ประดับเพชร หูทองคำ

ชั้นที่ 3 อักษรพระปรมาภิไธยทองคำลงยาสีเขียว ขอบเพชร สร่งเงิน หูทองคำ

ชั้นที่ 4 อักษรพระปรมาภิไธยทองคำ ขอบเพชร สร่งเงิน หูทองคำ

ชั้นที่ 5 อักษรพระปรมาภิไธยเงิน ขอบเพชร สร่งเงิน หูทองคำ

ให้มีแพรแถบพื้นสีเหลือง มีริ้วเขียว 2 ข้าง กว้าง 23 มิลลิเมตร สำหรับพระราชทานสตรีผูกเป็นรูปแมลงปอ สำหรับพระราชทานบุรุษผูกใช้กลัดอกเสื้อข้างซ้าย

3.ตาลปัตรรัตนาภรณ์

พัดรัตนาภรณ์ สร้างครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 23 ตุลาคม ร.ศ.123 (พ.ศ.2447) มี 5 ชั้น ด้วยทรงพระอนุสรณ์คำนึงถึงสมเด็จพระบรมชนกนาถ (รัชกาลที่ 4) ในโอกาส 100 ปี วันพระราชสมภพตาลปัตรรัตนาภรณ์ 5 ชั้น

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพัดรัตนาภรณ์ ประจำรัชกาลที่ 7 ขึ้น สำหรับพระราชทานพระสงฆ์ที่ทรงคุ้นเคยและทรงนับถือ หรือเป็นพระที่มีผู้คนนับถือมาก เป็นงานเป็นการจริง เป็นกำลังในทางพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นพัดยศใช้ได้เฉพาะผู้ที่ได้รับพระราชทาน จะให้ผู้อื่นนำไปใช้ไม่ได้ จะใช้ในงานชาวบ้านก็ไม่ได้ แม้แต่ในงานพระราชพิธีหลวงก็มีระเบียบโดยกำหนดให้ใช้พัดรัตนาภรณ์อยู่แต่เวลาถวายอนุโมทนา ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลงานเดียวเท่านั้น พัดรัตนาภรณ์นี้กำหนดเป็น 5 ชั้น และกำหนดเกณฑ์พระราชทาน ดังนี้

สมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระราชาคณะ ชั้น 1

พระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองและชั้นธรรม ชั้น 2

พระราชาคณะชั้นเทพและชั้นราช ชั้น 3

พระราชาคณะสามัญและพระครูวัด ชั้น 4

พระครุฐานะและเปรียญ ชั้น 5

4. เครื่องหมายประจำการ

ใน พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขพระราชกำหนดเครื่องแต่งกาย ข้าราชการในพระราชสำนัก ซึ่งในส่วนของเครื่องหมายประจำการ เป็นแผ่นโลหะมีอักษรพระปรมาภิไธย ป.ป.ร. เบื้องบนมีพระมหามงกุฎ และอุณาโลม สำหรับติดแผ่นทาบคอเสื้อ หรือติดที่คอเสื้อเต็มยศใหญ่

5. เข็มข้าหลวงเดิม

เป็นเข็มซึ่งพระราชทานเมื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว แก่ผู้ที่เป็น “ข้าหลวงเดิม” หรือ ข้าหลวงในพระองค์ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ โดยคำว่า "ข้าหลวง" ไม่ได้มีความหมายว่าเป็นหญิง เป็นเข็มศรสามองค์วางแนวนอน มีเลข ๗ ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎอยู่ตรงกลางศร ติดแพรแถบสีเขียวและเหลือง เข็มข้าหลวงเดิมนี้มีหลายชั้นแต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ามีชั้นใดบ้าง อนุโลมให้ผู้ได้รับพระราชทานประดับเหมือนเครื่องราชอิสริยาภรณ์โดยผู้ได้รับพระราชทาน และตกทอดถึงทายาทได้ แต่หากทายาทจะประดับไม่ให้ประดับแพรแถบ

6. พระราชพิธีตรียัมปวาย-ตรีปวายหรือพระราชพิธียืนชิงช้า

พิธีตรียัมปวาย ตรีปวาย จัดเป็นพิธีสำคัญของศาสนาพราหมณ์ คือ เป็นงานนักขัตฤกษ์ปีใหม่ของพราหมณ์จัดขึ้นในเดือนยี่ราวเดือนมกราคม เนื่องมาจากคติความเชื่อที่ว่า พระอิศวรจะเสด็จมาเยี่ยมโลกมนุษย์ ในระหว่างนี้พราหมณ์ชาวทมิฬ ซึ่งนับถือพระอิศวร ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุด ได้จัดให้มีการบูชาพระอิศวร เรียกว่า พิธีตรียัมปวาย และเมื่อพระอิศวรเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์แล้ว ก็ถึงช่วงเวลาที่พระนารายณ์เสด็จมาบนโลกมนุษย์ และจัดให้มีการบูชา เช่นกัน เรียกว่า พิธีตรีปวาย ด้วยเหตุนี้พระราชพิธีตรียัมปวายและตรีปวาย จึงจัดเป็นพิธีต่อเนื่อง 2 พิธี รวมเรียกว่า ตรียัมปวาย - ตรีปวาย

ในระหว่างที่พระอิศวรเสด็จอยู่ในโลกมนุษย์ พราหมณ์จะต้องทำพิธีต้อนรับพระอิศวรอย่างสนุกสนานในพระราชพิธีตรียัมปวายนี้ โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองเป็นพระยายืนชิงช้าเปลี่ยนกันยืนชิงช้า ซึ่งสมมุติว่าเป็นพระอิศวรเสด็จลงไปทดสอบความมั่นคงของโลก

ในพระราชพิธีนี้ พระยายืนชิงช้าชมนาลิวันโล้ชิงช้า โดยนาลิวันจะโล้ชิงช้าให้สูงขึ้นเพื่อสามารถคาบถุงเงินที่ผูกไว้ปลายไม้ได้

เสาชิงช้า เป็นสัญลักษณ์แทนภูเขา

นาลิวัน แทนพญานาคขนดกายรอบภูเขา

เมื่อโล้ชิงช้าครบ 3 กระดาน หมายความว่า โลกยังมีความมั่นคง มีการรำแสดงความรื่นเริงยินดี

ใน พ.ศ. 2470 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในงานพระราชพิธียืนชิงช้าหรือพระราชพิธีตรียัมปวาย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลือกพระยาอิศรพัลลภ (สนิท จารุจินดา) ผู้รั้งปลัดทูลฉลอง กระทรวงวัง เป็นพระยายืนชิงช้า การพระราชพิธีกำหนดไว้ในวันที่ 17 มกราคม พ.ศ.2470

และในวโรกาสสำคัญนี้ คงเป็นธรรมเนียมนิยมที่จะสร้างเหรียญเพื่อเป็นที่ระลึกและเป็นเกียรติคุณ แก่พระยายืนชิงช้าในปีนั้น ๆ เนื่องจากโอกาสที่จะได้รับเลือกเป็นพระยายืนชิงช้ามีเพียงปีละครั้ง และจะหมุนเวียนกันไป

ใน พ.ศ. 2471 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยากลาโหมราชเสนา (เล็ก ปาณิกบุตร์) เป็นพระยายืนชิงช้า และพบว่ามีการจัดทำเหรียญที่ระลึกเช่นกัน

พระราชพิธียืนชิงช้ามายกเลิกเมื่อ ปี พ.ศ. 2477 และพระยายืนชิงช้าคนสุดท้าย คือ พระยาชลมารควิจารณ์ (ม.ล.พงศ์ สนิทวงศ์)

ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สืบทอดพระราชพิธี ตรียัมปวาย-ตรีปวาย เฉพาะส่วนที่เป็นพระราชพิธี คือ โปรดเกล้าให้พระราชครูพราหมณ์เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานเทวรูปของหลวงไปบูชาในการพระราชพิธี ได้แก่ รูปพระอิศวร พระอุมา พระพิฆเณศวร์ พระนารายณ์และพระพรหม อัญเชิญไปยังเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ในวันสุดท้ายมีพิธีสงฆ์ ทำบุญใส่บาตรสมโภชเทวรูป และประกอบพิธีโกนจุกให้แก่เด็กทั่วไป เป็นอันเสร็จพิธี

7. งานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 1 ในวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2470 และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศการชุมนุมลูกเสือในครั้งนี้เป็นการชุมนุมลูกเสือเนื่องในพระราชพิธีฉัตรมงคล

การจัดชุมนุมลูกเสือในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือสยาม ให้มีการชุมนุมลูกเสือครั้งแรกในงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์ ที่สวนลุมพินี ใน พ.ศ.2468 แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อน

ในโอกาสสำคัญนี้ หม่อมเจ้าธานีนิวัติโสณกุล (พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้ากรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ขอพระบรมราชานุญาตสร้างเหรียญที่ระลึก 2 ชนิด คือ

1. เหรียญเงิน สำหรับพระราชทานแก่ลูกเสือผู้แทนมณฑล

2. เหรียญทองแดง สำหรับพระราชทานแก่ลูกเสือสังเกตการณ์

หลังจากการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการชุมนุมต่อไป 3 ปี ต่อครั้ง

ในปี พ.ศ.2473 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติครั้งที่ 2 ขึ้น ในวันที่ 1 มกราคมวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในการชุมนุมครั้งนี้ มีการประกวดและการแสดงหลายประเภท ผู้ชนะการประกวดจะได้รับพระราชทานถ้วยและเหรียญเป็นที่ระลึก ดังนี้

1. เหรียญเงินและถ้วย สำหรับผู้ชนะการประกวดที่ 1

2. เหรียญทองแดง สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัลที่ 2 และโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่เจ้าหน้าที่ รวมทั้งลูกเสือที่มาในการชุมนุมหรือที่มาช่วยในกิจการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการชุมนุมด้วย อีกทั้งพระราชทานพระบรมราโชวาท ความตอนหนึ่งว่า :

"การแข่งขันนั้นมีอยู่ 2 อย่าง อย่างหนึ่งคือการแข่งขันอย่างเป็นข้าศึกแก่กัน และอีกอย่างหนึ่ง คือการแข่งขันฉันเป็นเพื่อนกัน การต่อสู้อย่างฉันข้าศึกนั้นย่อมมุ่งจะเอาเปรียบฝ่ายเดียว จะทำลายกำลังของข้าศึกเหล่านั้น เป็นต้น…การแข่งขันอย่างฉันเป็นเพื่อนกัน มีความประสงค์จะให้ดีขึ้นด้วยกันทั้งนั้น คือต่างคนต่างพยายามที่จะแสดงความสามารถของตนอย่างดีที่สุดที่จะเป็นได้ จะได้เป็นเยี่ยงอย่างแก่เพื่อนกัน ถ้าเห็นว่าใครทำดีกว่าเรา จะได้พยายามเอาอย่างบ้าง ส่วนฝ่ายที่ทำดี จะได้แนะนำชักจูงเพื่อนของตนให้ทำดียิ่งขึ้นไปในภายหน้า"

8. พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 3 รอบ

ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีฉลองพระชนมพรรษาและเฉลิมพระชนมพรรษา 3 รอบ (36 พรรษา) รวมทั้งพระราชทานเลี้ยงกระยาหาร ณ พระที่นั่ง อนันตสมาคม

ในวโรกาสนี้ โปรดเกล้าฯ พระราชทาน เสมาอุปชาติ ปีมะเส็ง พ.ศ.2460 (อุปชาติ หมายถึง ผู้ที่เกิด วันเดือน และปีนักษัตรเดียวกันแต่ละคนละรอบ) แก่ลูกเสือ และนักเรียนชายหญิง รวมทั้งสิ้น 3,518 คน

……ทรงประเคนไทยธรรมกับพัดและซองบุหรี่มีรูปงู (ขดเป็นพระนามาภิไธยย่อ ปปร.) ลงยาสีเขียว แด่ พระสงฆ์ สหชาติปีมะเส็ง พ.ศ.2436 (สหชาติ หมายถึง ผู้ที่เกิดวัน เดือน ปีเดียวกัน, ผู้เกิดร่วมปีนักษัตรในรอบเดียวกัน) จำนวน 32 รูป

พระราชทานแหนบลูกศรกับซองบุหรี่มีรูปงู (ขดเป็นพระนามาภิไธยย่อ ปปร.) ลงยาสีเขียว แก่สหชาติ ปีมะเส็ง พ.ศ.2436 ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้เชิญมาร่วมงานจำนวน 498 คน

แสดงให้เห็นว่าทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในการผูกสัมพันธ์กับราษฎร หมู่เหล่าต่างๆ รวมทั้งเด็กๆสะท้อนให้เห็นถึงพระอุปนิสัยโปรดเด็ก

9. พระราชพิธีฉลองพระนครหรือสมโภชพระนคร 150 ปี

เมื่อ พ.ศ.2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า พระราชพิธีฉลองพระนครหรือสมโภชพระนครนี้ เคยกระทำกันมาแล้ว 2 ครั้ง คือ สมโภชเมื่อแรกสร้างพระนครเสร็จ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้งหนึ่งและสมโภชพระนครครบ 100 ปี พ.ศ.2425 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกครั้งหนึ่ง จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีฉลองพระนครขึ้นใน พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นวาระที่กรุงเทพมหานครมีอายุครบ 150 ปี และโปรดเกล้าฯให้สร้างสิ่งสำคัญอันเป็นพระบรมราชานุสรณ์ ต่างๆดังนี้ คือ

-พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก “ปฐมกษัตริย์มหาราชวงศ์จักรีวงศ์” ซึ่งทรงสร้าง “พระนครอมรรัตนโกสินทร์”

-สะพานข้ามแม่น้ำและทำถนนเชื่อมพระนครกับจังหวัดธนบุรี ด้วยทรงพระราชดำริว่า “ตั้งแต่สร้างกรุง รัตนโกสินทร์มา พระนครเจริญรุ่งเรืองเป็นอันดับมาจนทุกวันนี้ มีตึกกว้านบ้านเรือนในบริเวณพระนครเยียดยัดต้องถมที่ลุ่มขยายชานพระนครต่อออกไป ท้องทุ่งข้างตะวันออกจนห่างไกล แต่ทางเมืองธนบุรี ฟากตะวันตกอยู่ใกล้กับ พระนคร ยังร่วงโรยอยู่ เพราะเหตุที่ไปมาถึงกันไม่ได้ด้วยทางบก ทรงพระราชดำริว่า พระนครจะเจริญขึ้นต่อไป การขยายชานพระนครไปทางตะวันออกก็ยิ่งยากขึ้นทุกที คงจะถึงเวลาต้องทำสะพานข้ามแม่น้ำขยายพระนคร ไปทาง ธนบุรีสักวันหนึ่งในภายหน้า เพราะฉะนั้นถ้าจะทำสะพานขึ้นเสียแต่บัดนี้ก็จะเป็นประโยชน์เร็วขึ้น”

การที่โปรดเกล้าฯให้สร้างทั้งสองสิ่งเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานที่จะทรง “ปกครองรักษาทำนุบำรุงแผ่นดิน…ให้ประเพณีวงศ์ดำรงอยู่อย่ารู้เสื่อมคลาย และเพิ่มเติมสิ่งซึ่งดีทั้งหลายให้เจริญมากมูลขึ้น”(ตอนหนึ่งในพระราชดำรัสในพระราชพิธีบวงสรวง วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2475)

ในการก่อสร้างพระบรมราชานุสรณ์ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 4,000,000 บาท (สี่ล้านบาทถ้วน) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง รัฐบาลจ่ายเงินแผ่นดินส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งนั้น ทรงพระราชดำริว่าควรบอกบุญเรี่ยไรชาวสยามทุกชาติทุกชั้นบรรดาศักดิ์และทรงหวังพระราชหฤทัยว่าคงจะมีผู้เลื่อมใสบริจาคทรัพย์ช่วยได้เงินพอแก่การก่อสร้าง

พระราชดำรินี้บังเกิดเป็นผลสำเร็จ ดังความในพระราชดำรัสในพระราชพิธีเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 ที่ว่า : (แนบมา-จากหนังสือประมวลพระบรมราโชวาท หน้า 250 “การนี้ได้ดำเนินโดยสะดวก…ว่าเป็นมงคลอันอุดม”)

ในครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญที่ระลึกในพิธีฉลองพระนคร สำหรับพระราชทานแก่ข้าราชการและผู้บริจาค โดยโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นผู้ทรง ออกแบบประกอบด้วย

1. เหรียญที่ระลึกสำหรับพระราชทานแก่ข้าราชการ

2. เหรียญสำหรับพระราชทานแก่ผู้บริจาค จัดทำ 2 ขนาด ดังนี้

2.1) ขนาดเท่าเหรียญบาท (รัชกาลที่ 7) สำหรับพระราชทานแก่ผู้ที่ออกเงินบริจาคไม่น้อยกว่า 500 บาท

2.2) ขนาดเท่าเหรียญ 50 สตางค์ (รัชกาลที่7) สำหรับพระราชทานแก่ผู้ที่ออกเงินบริจาคไม่น้อยกว่า 10 บาท

นอกจากนี้ บริษัทดอร์แมน ลอง (Dorman Long & Co. Ltd.) ประเทศอังกฤษ ผู้รับเหมาก่อสร้างสะพาน พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้จัดสร้างเหรียญที่ระลึกขึ้นด้วย

ในการสมโภชพระนครนี้ ยังได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามทั่วทั้งพระอารามด้วย ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 600,000 บาท พระองค์เองทรงพระราชศรัทธาอุทิศพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการปฏิสังขรณ์จำนวน 200,000 บาท รัฐบาลออกอีกส่วนหนึ่ง นอกนั้นเป็นเงินบริจาคจากประชาชนทั่วไป

ผู้ที่ร่วมสมทบทุนได้รับพระราชทานเหรียญพระแก้วมรกตเป็นที่ระลึกตามจำนวนเงินบริจาค เป็นเหรียญทอง เงิน ทองขาว และทองแดงตามลำดับ เหรียญนี้เป็นรูปพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ปางสมาธิ ประทับนั่งอยู่บนฐานบัวคว่ำ บัวหงาย มีผ้าทิพย์ห้อย ด้านหลังเป็นรูปยันต์กงจักรมีอักษรจารึกมรรค 8 ที่ขอบเหรียญ บางเหรียญมีชื่อบริษัทผู้ผลิต

นอกจากนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างพัดรองที่ระลึกในงานฉลองพระนครครบ 150 ปี ลักษณะเป็นพัดหน้างาน ทำด้วยผ้ากำมะหยี่สีเหลืองทอง ปักไหมสีน้ำเงิน และไหมสี ตรงกลางเป็นรูปจักรและตรีล้อมรอบด้วยอักษรพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชจักรีวงศ์ 7 พระองค์ คือ

จ.ป.ร. ๑ คือ รัชกาล ๑ จุฬาโลโก ปรมราชาธิราช

อ.ป.ร. ๒ คือรัชกาลที่ ๒ อิศรสุนทโร ปรมราชาธิราช

จ.ป.ร. ๓ คือ รัชกาลที่ ๓ เจษฎาบดินทโร ปรมราชาธิราช

ม.ป.ร. ๔ คือ รัชกาลที่ ๔ มงกุโฎ ปรมราชาธิราช

จ.ป.ร. ๕ คือ รัชกาลที่ ๕ จุฬาลงกรโณ ปรมราชาธิราช

ว.ป.ร. ๖ คือ รัชกาลที่ ๖ วชิราวุโธ ปรมราชาธิราช

ป.ป.ร. ๗ คือ รัชกาลที่ ๗ ประชาธิปก ปรมราชาธิราช


รอบขอบพัดมีข้อความว่า “ฉลองกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ครบรอบร้อยห้าสิบปี ๒๓๒๕–๒๔๗๕”

ในโอกาสเดียวกันได้มีเอกชนทูลขอพระบรมราชานุญาต จัดสร้างเหรียญที่ระลึกออกจำหน่าย และมอบรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อประโยชน์ในการนำไปบำรุงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จำนวน 2 ราย ได้แก่

1. เหรียญที่จัดสร้างโดยนางสอาด ศิริสัมพันธ์

2. เข็มกลัดฉลองพระนคร 150 ปี โดยนายมาลี สยามวาลา


10. พระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ

จากการที่คณะราษฎร ได้ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใน ทศพิธราชธรรมจรรยามาเป็นระบอบรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัวได้ทรงรับคำอัญเชิญให้ทรงดำรงอยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นพระราชประสงค์อยู่ก่อนแล้ว ทั้งยังได้ทรงพยายามช่วยเหลือในการรักษาความสงบ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนั้นราบรื่น จนกระทั่งมีธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราวพุทธศักราช 2475 ขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475โดยฉบับนี้มีพิธีพระราชทานท่ามกลางมหาสมาคม ณ พระที่นั่ง อนันตสมาคม

“ ฉันได้คิดรายละเอียดของพิธีนี้มาหลายปี เพราะรู้ดีว่าต้องเกิดขึ้นในรัชกาลของฉัน ฉันร่างคำประกาศไว้ในใจฉันเป็นเวลานานมาแล้ว ฉันอดเสียใจไม่ได้ที่ทุกอย่างมิได้เกิดขึ้นตามแนวที่ฉันเคยกะไว้ แต่ที่จริงเป็นอย่างนี้ก็ดีแล้ว เพราะถ้าฉันได้มีโอกาสให้รัฐธรรมนูญตามโอกาสและตามใจของฉันเอง คนที่อยากจะได้อำนาจได้อำนาจแล้ว แต่บัดนี้ก็คงยังจะไม่ได้อะไร ฉะนั้นอาจจะยังพยายามจัดให้มีรีปับลิค และก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลง อาจจะมีการจลาจลนองเลือดเสียก่อน บัดนี้ ฉันรู้สึกว่างานของฉันในชีวิตนี้จบลงแล้ว ฉันไม่มีอะไรจะทำอีก นอกจากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปโดยสงบที่สุดที่จะทำได้...”

พระราชหัตถเลขาฯพระราชทาน

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

ระหว่างเดือนธันวาคมและมกราคม พ.ศ. 2475

(พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์. เจ้าชีวิต พระนคร : คลังวิทยา, 2514. น. 698.)


 11.ทรงสละราชสมบัติ

หลังพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ ความเห็นไม่ตรงกันในหลักการได้ก่อตัวขึ้นเป็นระลอกระหว่างคณะรัฐบาลกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จนในที่สุดตกลงกันไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติจากที่ประทับในประเทศอังกฤษมายังรัฐบาลที่กรุงเทพฯ ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ความตอนหนึ่งว่า

“บัดนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฏรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป”

การที่ทรงปลีกพระองค์ออกจากราชบัลลังก์เช่นนี้ จึงนับว่าได้ทรงตอกย้ำหลักการของสิทธิประชาและได้ทรงอำนวยให้สถาบันพระมหากษัตริย์สถิตเสถียรเป็นสติแห่งการปกครองโดยธรรมต่อเนื่องมา

เมื่อทรงสละราชสมบัติแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ในประเทศอังกฤษต่อไป โดยทรงใช้พระนามว่า “ The Prince of Sukhodaya” หรือ “สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา” พระนามทรงกรมก่อนที่จะเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เสด็จสวรรคตที่ประเทศนั้นเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484. ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรป

เรียบเรียงโดย  รศ.ม.ร.ว.พฤทธิสาณ  ชุมพล
ข้อมูล : พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...