นิทรรศการเฉลิมพระยศเจ้านายฝ่ายใน
ตามโบราณราชประเพณีในสมัยอดีตนั้น เบื้องหลังกำแพงกั้นกลางในพระบรมมหาราชวังคือ พระตำหนักและที่ประทับของเจ้านายฝ่ายใน ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์หญิงทั้งมวลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระมหากษัตริย์ เช่น สมเด็จพระบรมราชชนนี พระอัครมเหสี พระสนม พระราชธิดา และ พระประยูรญาติชั้นต่าง ๆ
ส่วนราชสำนักฝ่ายใน ก็รวมถึงข้าราชสำนักหญิงผู้ทำหน้าที่ราชการในเขตพระราชฐาน
ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ เจ้านายฝ่ายในมีพระยศซึ่งทรงดำรงเมื่อประสูติตามกฎมณเฑียรบาล ต่อมาบางพระองค์ได้รับสถาปนาเฉลิมพระยศเลื่อนพระยศ เช่น เมื่อเจริญพระชันษาโสกันต์แล้ว เมื่อทรงพระฐานันดรศักดิ์ตามราชประเพณี เช่น สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระอัครมเหสี หรือเลื่อนพระยศขึ้นด้วยทรงความชอบในราชการและการส่วนพระองค์ เลื่อนหม่อมเจ้าขึ้นเป็นพระองค์เจ้า เลื่อนพระองค์เจ้าขึ้นเป็นเจ้าฟ้า และการเฉลิมพระยศพระบรมวงศานุวงศ์ให้ทรงดำรงพระอิสริยยศตามโอกาสสมควร
นอกจากนี้เจ้านายฝ่ายในได้รับการเฉลิมพระยศทรงกรมเช่นเดียวกับเจ้านายฝ่ายหน้า คือ เจ้านายผู้ชาย ด้วยเช่นกัน ดังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ใน ธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยาม ว่า “เจ้าฟ้าผู้หญิงและพระองค์เจ้าผู้หญิงเป็นต่างกรมได้ทุกชั้น เคยเป็นกรมสมเด็จพระ กรมพระ กรมหลวง กรมขุน กรมหมื่น มีทุกชั้น ๆ แต่นาน ๆ น้อย ๆ ไม่มากเหมือนต่างกรมผู้ชาย...”
การเฉลิมพระยศให้ทรงดำรงพระอิสริยยศชั้นต่าง ๆ นั้น มีเครื่องอิสริยยศเป็นเครื่องประกอบ หรือสำแดงฐานะ หรือเป็นบำเหน็จความชอบพร้อมกัน ได้แก่ เครื่องราชูปโภคหมวดต่าง ๆ เช่น เครื่องราชศิราภรณ์ เครื่องสูง พระราชยาน เสื้อผ้าแพรพรรณ และศักดินา
ภายหลังเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ก็ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องอิสริยยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประกอบไว้ด้วยกัน
เจ้านายฝ่ายในได้รับพระราชทานเครื่องอิสริยยศตามฐานะและพระยศเมื่อประสูติตามราชประเพณี และเมื่อได้รับการเฉลิมพระยศ จะได้รับพระราชทานเครื่องอิสริยยศเพิ่มขึ้น เช่น
เครื่องอิสริยยศพระอัครมเหสี พระราชเทวี สมัยอยุธยา ได้แก่ มงกุฎ อภิรุม ๓ ชั้น เกือกทอง พระราชยานมีจำลอง
บทบาทของเจ้านายฝ่ายในที่โดดเด่นตามบันทึกพระราชพงศาวดารมีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เช่น พระสุริโยทัย พระมเหสีครั้งแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งปรากฏพระนามภายหลังสิ้นพระชนม์ในกลางทัพ กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพ พระขนิษฐา และพระราชธิดาในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปรากฏพระนามทรงกรมชั้นกรมหลวงเป็นครั้งแรกในพระราชพงศาวดาร หมายถึง บทบาทสำคัญของเจ้านายฝ่ายใน ต่อมาทั้งสองพระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระมเหสีในแผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา
ในสมัยธนบุรี มีการสถาปนาพระราชชนนี มีพระยศเป็นกรมพระเทพามาตย์ตามราชประเพณีที่สืบทอดธรรมเนียมจากสมัยอยุธยา
พ. ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงสถาปนาเฉลิมพระยศพระ บรมวงศ์เมื่อสถาปนาพระราชวงศ์ เจ้านายฝ่ายในที่ทรงรับสถาปนาและทรงกรมในโอกาสนั้น ได้แก่ พระเชษฐภคินีสองพระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี (สา) และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว)
การเฉลิมพระยศเจ้านายฝ่ายในสมัยรัตนโกสินทร์ตามโบราณราชประเพณี มีทั้ง การสถาปนาทรงตั้งกรมเฉลิมพระยศสมเด็จพระบรมราชชนนี ที่สืบทอดมาจนรัชกาลปัจจุบัน ด้วยทรงพระราชดำริถึงพระคุณอันประเสริฐของสมเด็จพระราชชนนีที่ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจก่อเกิดประโยชน์แก่บ้านเมืองและประชาชนในทุก ๆ ด้านเป็นอเนกปริยาย จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศเฉลิมพระนาม สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เป็น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในวันที่ระลึกฉัตรมงคล เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๓
ตามโบราณราชประเพณีนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ย่อมโปรดให้ เฉลิมพระยศสถาปนาสมเด็จพระอัครมเหสี
สมัยรัชกาลที่ ๗ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ทรงเฉลิมพระนามหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระวรราชชายา เป็น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี บรมราชินี นับเป็นโอกาสแรกที่มีพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบรมราชาภิเษก ณ วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ในพระราชพิธีนั้นมีประกาศสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงรับพระราชภาระดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทรงพระผนวช จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เฉลิมพระอภิไธยว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙
ในสมัยรัตนโกสินทร์ ประเพณีการตั้งกรมและเฉลิมพระยศพระราชธิดา เริ่มตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ๒ พระองค์ ให้ทรงกรม และเฉลิมพระอิสสริยยศ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงจันทบุรี เป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ด้วยทรงพระเมตตาเนื่องจากทรงกำพร้าพระมารดา และเป็นนัดดาของพระเจ้านครเวียงจันทน์
ครั้นถึงรัชกาลที่ ๓ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๑ ทรงสถาปนา พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าหญิงวิลาส เป็น กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวที่ได้ทรงกรม
ในรัชกาลที่ ๔ พระราชธิดาทุกพระองค์ยังทรงพระเยาว์ จึงไม่ทันมีการสถาปนาให้ทรงกรม ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาทรงกรมพระราชธิดา ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพิจิตรเจษฎจันทร สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสวรรคโลกลักษณาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี
พระราชพิธีสถาปนาทรงกรมพระราชธิดา มีอีกครั้งหนึ่งในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ และเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา กิติวัฒนาดุลยโสภาคย์ เป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร สยามบรมราชกุมารี
การสถาปนาเฉลิมพระยศฝ่ายในเนื่องด้วยความชอบในราชการและการส่วนพระองค์ เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งมักจะทรงพระราชดำริถึงคุณูปการและอุปการคุณของเจ้านายฝ่ายในพระองค์นั้น ตัวอย่างเช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงแก้วกัลยา พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร เป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแก้วกัลยาณี ด้วยความดีความชอบที่รับราชการฉลองพระเดชพระคุณยาวนาน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงสถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านภาพรประภา เป็นกรมหลวงทิพย์รัตนกิริฏกุลินี อธิบดีบัญชาการรักษาพระราชวังฝ่ายใน ทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย และทรงพระปรีชาสามารถเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะงานการช่าง และหัตถศิลป์
การเฉลิมพระยศพระเชษฐภคินี สถาปนาทรงกรมในสมัยรัตนโกสินทร์มีมาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในปีแรกแห่งการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ได้แก่ การสถาปนาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ๒ พระองค์ ดังได้กล่าวมาแล้ว
ในรัชกาลที่ ๕ ทรงสถาปนาพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์เจ้าโสมาวดี ศรีรัตนราชธิดา เป็น กรมหลวงสมรรัตนสิริเชษฐ
การเฉลิมพระยศพระเชษฐภคินีในรัชกาลปัจจุบันนั้น ทรงสถาปนา สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมายุ ๖ รอบ พ.ศ. ๒๕๓๘
กาลเวลาเปลี่ยนผ่านสังคมเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยมาจนถึงปัจจุบัน เจ้านายฝ่ายในทรง ปฏิบัติบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นประโยชน์ต่ออาณาประชาราษฎร์ ทรงขยายขอบเขตพระราชภาระจากพระบรมมหาราชวังไปสู่ทุกชุมชนทุกพื้นที่ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงจัดแสดงนิทรรศการเรื่อง “เฉลิมพระยศเจ้านายฝ่ายใน” เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ได้ร่วมศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับราชประเพณีโบราณ และพระเกียรติคุณของเจ้านายฝ่ายในที่ทรงมีต่อสังคมไทยมาต่อเนื่องยาวนาน
นิทรรศการ “เฉลิมพระยศเจ้านายฝ่ายใน” จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ – ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐
**************************
เรียบเรียงโดย วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ นักวิชาการศึกษา หอจดหมายเหตุศิริราชพยาบาล
ข้อมูล: พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น