ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

สืบเนื่องจากรพินทรนาถ ฐากูร เฝ้าฯพระปกเกล้าฯ



                                                                             รศ.ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล
เมื่อหลายปีมาแล้วผมเจอบัตรใบที่ท่านเห็นอยู่นี้ในสมบัติเก่าๆที่บ้าน อ่านดูและสังเกตวันเดือนปีทราบทันทีว่า รพินทรนาถ ฐากูร ปราชญ์นักประพันธ์ชาวอินเดียผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมประจำปี ค.ศ. 1931(พ.ศ. 2456) ส่งมาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเมื่อค.ศ. 1929 (พ.ศ. 2472) ผมจึงเกิดสงสัยขึ้นมาว่า ทรงรู้จักกับเขาหรืออย่างไร สำหรับตัวบัตรนั้นผมได้มอบให้พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติสืบไปตั้งแต่นั้นมา

มาเมื่อเร็วๆนี้ผมบังเอิญได้ทราบว่าในวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 มีการแสดงปาฐกถาเรื่อง “การมาเยือนสยามของรพินทรนาถ ฐากูร” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์สาวิตรี เจริญพงศ์ แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยนั้นจัดขึ้นเป็นหนึ่งในปาฐกถาชุด “เสาหลักของแผ่นดิน” จึงบอกตัวเองว่าต้องไปฟังให้ได้ โดยได้ขอให้ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ฯ ทำสำเนาบัตรไปให้อาจารย์สาวิตรีได้ดูด้วย

บัตรนั้นเป็นบัตรคล้ายบัตรเชิญ ระบุนามผู้รับว่า ‘Their Royal Highnesses The King and Queen of Siam’ แทนที่จะใช้ว่า Their Majesties ซึ่งน่าสังเกต คงจะหมายความให้เป็นการส่วนพระองค์ ด้านซ้ายบ่งบอกว่าเขียนที่ Santiniketan (ศานตินิเกตัน) อาศรมของรพินทรนาถ เนื่องใน ‘Founder’s Day’ คือวันผู้ก่อตั้ง หรือวันคล้ายวันสถาปนาวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1929 (พ.ศ. 2472) แต่ข้างหน้าวันที่เขียนไว้ว่า ‘7th Paush’ ซึ่งผมไม่เข้าใจ ผศ.สาวิตรีได้กรุณาอธิบายว่า Paush เป็นเดือนๆหนึ่งในปฏิทินเบงกาลี (Bengali) ซึ่งคาบระหว่างเดือนธันวาคมกับเดือนมกราคม ด้านขวามีลายเซ็นของ Rabindranath Tagore กำกับอยู่ทั้งเหนือและใต้ข้อความที่ว่า ‘My salutation is to him who knows me imperfect and love me’ แปลเป็นไทยได้ว่า ‘ขอแสดงความคารวะต่อท่านผู้ทราบว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้ดีพร้อม และรักข้าพเจ้า’ ซึ่งเพื่อนชาวอินเดียของผมบอกว่าเป็นการแสดงความคารวะต่อเทพเจ้า ตรงกลางบัตรด้านบนมีภาพลายเส้น รูปคนนั่งยองๆ ก้มศีรษะ เกล้าผมจุกแบบอินเดียทำท่าไหว้แสดงความคารวะอย่างสูง ล่างลงมาระหว่างข้อความด้านซ้ายและด้านขวา มีรูปลายเส้นดอกไม้หนึ่งดอกในกรอบสี่เหลี่ยมมุมมน ทั้งหมดเรียบง่าย สงบ งดงาม ลงตัว

เมื่อได้ฟังผศ.สาวิตรีบรรยายแล้ว ผมจึงสรุปว่า บัตรนี้ส่งมาทูลเกล้าฯถวายสองปีกว่า หลังจากที่รพินทรนาถและคณะมาเยือนสยามเมื่อวันที่ 8- 15 ตุลาคม พ.ศ. 2470 โดยมีการติดต่อมาล่วงหน้าไม่นานผ่านทางกงสุลใหญ่สยามประจำสิงคโปร์ และกงสุลอังกฤษในสยามมายังกระทรวงการต่างประเทศ เขาได้รับการต้อนรับในฐานะ ‘อาคันตุกะพิเศษ’ โดยรัฐบาลสยามจัดรถไฟตู้พิเศษไป-กลับถึงชายแดนมลายู(เพราะรพินทรนาถเดินทางไปชวาภายใต้การปกครองของฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์) และมลายูของอังกฤษก่อน) และจัดให้เข้าพักที่โรงแรมพญาไท โรงแรมชั้นหนึ่งในขณะนั้น (พิพิธภัณฑ์พระราชวังพญาไทในบริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปัจจุบัน)

‘กำหนดการรับรองและเที่ยวเตร่ของรพินทรนาถ ฐากูร’ โดยสรุปเป็นการเข้าเฝ้าเจ้านายสยามผู้ทรงมีบทบาทสำคัญทางด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การศึกษา และการพาณิชย์หลายพระองค์ กล่าวคือกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หม่อมเจ้าธานีนิวัต(เสนาบดีกระทรวงธรรมการ) สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระนครสรรค์วรพินิต พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์(เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ) สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กรมพระจันทบุรีนฤนาถ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระนริศรานุวัดติวงศ์(พระยศในขณะนั้น) ตามลำดับ นมัสการสมเด็จพระสังฆราชและพระญานวราภรณ์และชมวัดบวรนิเวศฯ นมัสการพระสาสนโสภณและชมวัดเทพศิรินทร์ฯ โรงเรียนบาลี และโรงเรียนวัดเทพศิรินทร์ฯ ชมวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวังรวมทั้งวัดสำคัญอื่นๆในกรุงเทพฯ อีกหลายแห่งรวมทั้งโบสถ์พราหมณ์ นอกจากนั้นยังได้เยี่ยมวชิราวุธวิทยาลัยและโรงเรียนเพาะช่าง แสดงปาฐกถาที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเรื่อง History of Indian Art และเกี่ยวกับปรัชญาการศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบกับชาวฮินดูและชาวจีนในกรุงเทพฯ ก่อนที่จะเดินทางไปชมโบราณสถานที่ลพบุรีและพระนครศรีอยุธยาในวันสุดท้ายของการมาเยือนด้วย

เดิมไม่มีกำหนดการเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แต่ในวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2470 รพินทรนาถได้เข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่เพียงลำพัง ก่อนที่จะแสดงปาฐกถาหน้าพระที่นั่งในเวลาค่อนข้างดึกคือ 22.00 น. ณ ท้องพระโรงหลัง พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ที่ประทับในขณะนั้น แสดงว่าสนพระราชหฤทัยจริงๆ ส่วนจะเป็นปาฐกถาเรื่องใดยังค้นไม่พบ การเข้าเฝ้าฯครั้งนั้นไม่ปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ซึ่งน่าจะเป็นเพราะเป็นการไปรเวต (private) คือส่วนพระองค์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาค้นคว้าต่อไปในเชิง ‘พระปกเกล้าศึกษา’ ซึ่งพิพิธภัณฑ์ฯ ควรจะได้ประสานกับผศ.สาวิตรีในการนี้

ผศ.สาวิตรีบอกว่าในสมัยนั้น รพินทรนาถไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักในสยาม แต่ตัวรพินทรนาถมีความรู้เกี่ยวกับสยาม บทกวีชื่อว่า‘O Siam’ที่เขารจนาไว้ในครั้งนั้น ผมพอจะแปลเป็นไทยได้ดังนี้

“โอ้สยาม ฉันมาแสวงบุญถึงประตูเมืองของท่าน

เพื่อรจนาบทกวีสรรเสริญเกียรติภูมินิรันดรของอินเดีย

ซึ่งร่มเงาบ้านของท่านปกป้องอยู่ ไกลจากสถูปร้างแห่งมาตุภูมิ

เพื่อที่จะแหวกว่ายในธาราที่มีชีวิต ซึ่งไหลรินอยู่ในดวงจิตของท่าน



น้ำซึ่งหลั่งลงมาจากยอดหิมะแห่งกาลเวลาอันศักดิ์สิทธิ์

จุติสถานของเทพบุตรแห่งความรัก และความมั่นในธรรม

แก่นแท้ตัวตนของประเทศของฉัน”

ผมพิจารณาดูแล้ว เหมือนกับว่า รพินทรนาถรู้สึกสะท้อนใจกับสภาพของวัฒนธรรมอินเดียใต้การปกครองของอังกฤษ และชื่นใจว่าสยามซึ่งเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคแถบนี้ซึ่งรักษาเอกราชไว้ได้ ยังเป็นอู่ให้วัฒนธรรมอินเดียได้อาศัยพักพิงและมีการสืบทอด ไม่ทราบว่าผมตีความถูกต้องหรือไม่ และเป็นทีว่ารพินทรนาถยังได้ประพันธ์บทกวีอีกบทหนึ่งชื่อว่า ‘Farewell Siam’ (ลาก่อนสยาม) ไว้ด้วย

แต่ที่แน่ๆก็คือการมาเยือนสยามของเขาและการได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทได้มีอานิสงส์ต่อความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับอินเดียสืบมา ดังที่อาจารย์สาวิตรีเสนอข้อมูลว่า Pandit Raghunath Sharma ผู้ร่วมในงานเลี้ยงครั้งหนึ่งในช่วงที่รพิทรนาถมาเยือน เล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และหม่อมเจ้าธานีนิวัต (พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าฯ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรในภายหลัง) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ได้ทรงขอให้รพินทรนาถจัดหาปราชญ์ชาวอินเดียเข้ามาสืบสานความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างสยามกับอินเดีย องค์เสนาบดีทรงศึกษามาทางบูรพคดี ภาษาสันสกฤตและบาลีจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ และต่อมาทรงพระนิพนธ์เรื่องการมาเยือนสยามของรพินทรนาถไว้เป็นภาษาอังกฤษในหนังสือ 100 ปีของรพินทรนาถ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อค.ศ. 1961 (พ.ศ.2504) ที่นิวเดลฮี

ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2475 รพินทรนาถได้คัด สวามี สัตยานันทบุรี (Prafulla Kumar Sen) อาจารย์มหาวิทยาลัยผู้จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาปรัชญาและภาษาสันสกฤต เข้ามาพำนักในกรุงเทพฯ เป็นการถาวรถึง 10 ปีในฐานะ ‘ทูตวัฒนธรรม’ ภายใน 6 เดือนของการเรียนภาษาไทยกับหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เขาได้แสดงปาฐกถาเป็นภาษาไทยหน้าพระที่นั่งเรื่อง “The Origins of Buddhist Thought” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ซึ่งเขาสอนภาษาสันสกฤต เขาจัดตั้ง ‘ธรรมาศรม’ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งต่อมาในพ.ศ. 2483 ได้เปลี่ยนเป็นอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารต เขามีความสนิทสนมกับพระอนุมานราชธนผู้มีผลงานด้านศาสนา วรรณกรรมและวัฒนธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับอินเดียจำนวนมาก กล่าวได้ว่าสวามีเป็นผู้นำคนหนึ่งของชุมชนชาวอินเดียในสยาม และมีบทบาทในการเคลื่อนไหวชาตินิยมเพื่อเอกราชของชาวอินเดีย ก่อนที่จะประสบอุบัติเหตุเครื่องบินตกเสียชีวิตในพ.ศ. 2485 ห้าปีก่อนที่อินเดียได้เป็นอิสระจากอังกฤษ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2490

ผศ.สาวิตรีตั้งข้อสังเกตว่า หลังการมาเยือนสยามของรพินทรนาถ ฐากูร ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างไทยกับอินเดียมีลักษณะ 2 ทางมากขึ้น กล่าวคือ คนไทยรับรู้เรื่องราวของอินเดียในวงกว้างขึ้นทั้งในเรื่องประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญ วิถีชีวิต และสังคมอินเดียร่วมสมัย การมาเยือนของรพินทรนาถจึงมีความสำคัญไม่แต่ในเชิง ‘พระปกเกล้าศึกษา’ แต่เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ไทย – อินเดีย

รพินทรนาถ ฐากูร เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2404 ณ นครกัลกัตตา ในวรรณะพราหมณ์ ในตระกูลที่มั่งคั่งทั้งในด้านทรัพย์สินและสติปัญญา เขาเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2421 และเข้าเรียนกฏหมายที่ University College, London แต่ไม่จบ จึงกลับอินเดียใน 2 ปีต่อมา ชะรอยว่าเขาจะถนัดในการประพันธ์มากกว่า ซึ่งความถนัดนี้สำแดงให้เห็นมาตั้งแต่เขาอายุ 14 ปี ต่อมาในพ.ศ. 2455 เขาได้แปลบทกวีนิพนธ์ของเขาเองเป็นภาษาอังกฤษ รวมพิมพ์เป็นเล่มให้ชื่อว่า ‘Gitanjali’ (คีตาญชาลี) ซึ่งส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมดังกล่าวแล้ว นอกจากนั้นเขายังมีบทประพันธ์ประเภทต่างๆมากมาย เป็นบทร้อยกรอง บทละคร เรื่องสั้น อัตชีวประวัติ บทความและบทวิจารณ์ รวมทั้งหนังสือ 15 เล่ม โดยบทกวี ‘The Crecent Moon’ ของเขานายแพทย์วิทุร แสงสิงแก้วได้แปลเป็นไทยและให้ชื่อว่า ‘พระจันทร์เสี้ยว’ ซึ่งกระทรวง ศึกษาธิการกำหนดให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในหลักสูตร ‘การประพันธ์เฉพาะเรื่อง’ ของนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 3-4 คุณหมอวิทุรเขียนไว้ว่าแปลเพราะ “แต่ละบทสั้นๆง่ายๆ ไพเราะ และมีนัยความหมายของการมีชีวิตแฝงอยู่”

ศานตินิเกตันนั้น เป็นโรงเรียนซึ่งรพินทรนาถตั้งขึ้น ชื่อหมายถึงสถานที่แห่งความสงบ จัดการสอนแบบครูสัมพันธ์กับศิษย์เหมือนพ่อกับลูก ต่อมายกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยชื่อว่า Vishva – Bharati (วิศวภาตี) ซึ่งเพื่อนชาวอินเดียของผมบอกว่าน่าจะแปลว่า มหาวิทยาลัยโลก (หรือจักวาล) หรือมหาวิทยาลัยจักรวาลวิทยาแห่งอินเดีย
รพินทรนาถถึงแก่กรรมที่บ้านเดิม ณ นครกัลกัตตา เมื่ออายุ 80 ปีในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2484 สองเดือนหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตที่อังกฤษ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมปีเดียวกัน ลางทีหนึ่งพระองค์กับหนึ่งคนอาจกำลังสนทนาธรรมกันอยู่ ณ ศานตินิเกตัน อีกแห่งหนึ่งก็เป็นได้

[พช./รพินทรนาถ - ร.7 / ส.ค.2553]

ความคิดเห็น

  1. บทความนี้สะท้อนให้เห็นความสนพระราชหฤทัยในเชิงปรัชญาเมธีและด้านวรรณกรรมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...