ปกหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต |
โดย ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร
ภาพล้อและการ์ตูนเป็นงานศิลปะรูปแบบหนึ่งที่สร้างขึ้นเพื่อให้เกิดผู้ชมเกิดอารมณ์คล้อยตามในแนวตลกขบขัน ภาพล้อและการ์ตูนต่างจากงานเขียนประเภทจิตรกรรมที่แสดงออกให้เห็นความวิจิตรงดงามและประณีต ขั้นตอนการสร้างการ์ตูนการเมืองต้องมีกระบวนการวางโครงเรื่องและวาดรูปให้เหมาะกับยุคสมัย ประกอบกับคนไทยมักจะมีนิสัยความเกรงอกเกรงใจผู้หลักศักดิ์ใหญ่เป็นทุนเดิม จะว่ากล่าวหรือทักท้วงผู้มีอำนาจวาสนา หรือนักการเมือง ผู้ปกครองก็ต้องหาวิธีที่เหมาะสมโดยใช้อารมณ์ขันมาผ่อนคลาย ภาพล้อและการ์ตูนจึงปรากฏมาในรูปแบบของการสะกิดสะเกาพอเจ็บๆ คันๆ
การเขียนภาพการ์ตูนการเมืองในประเทศไทยเริ่มจุดประกายขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงสนพระทัยเรื่องการเขียนศิลปะภาพล้อยิ่งนัก ต่อมายังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานคำแปลศัพท์ “Cartoon” เป็นภาษาไทยว่า“ภาพล้อ” เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๐
ในพ.ศ. ๒๔๖๓ ขณะที่รัชกาลที่ ๖ เสด็จฯประทับ ณ พระราชวังพญาไทใหม่ๆ พระองค์โปรดเกล้าฯให้ย้าย เมือง“ดุสิตธานี” (เมืองจำลอง) จากพระราชวังดุสิตไปด้วย ภายในบริเวณเมืองดุสิตธานีจำลองมีสโมสรของพรรค “โบว์สีน้ำเงิน” อันเป็นพรรคการเมืองจำลองในพระองค์ซึ่งมีการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่าง “บริบูรณ์เหมือนสโมสรทั้งหลาย” และในปีเดียวกันนี้เองที่ได้โปรดเกล้าฯให้มีการจัดประกวดภาพเขียนสมัครเล่นเป็นการภายในราชสำนัก ๓ ประเภท คือ ภาพล้อ (Cartoon) ภาพนึกเขียน (ภาพที่เขียนจากความนึกคิด) และภาพเหมือน (ภาพที่เขียนเหมือนของจริง) กิจกรรมครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวาดภาพล้อเข้าประกวดร่วมกับข้าราชบริพารใหญ่น้อยจำนวนมาก
ภาพล้อฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ ๖ ทรงล้อ สมเด็จฯ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระบิดาแห่งการรถไฟ |
เมื่อถึงกำหนดการประกวดก็มีกระบวนการนำภาพไปจัดแสดง มีดนตรีบรรเลงทั้งเพลงไทยและเพลงสากลประกอบ มีการเก็บค่าผ่านประตูค่อนข้างสูง ราคาต่ำสุด ๑๐ บาท ผู้เข้าชมต้องแต่งกายสุภาพ งานลักษณะนี้เคยจัดที่พระราชวังบางปะอินมาแล้วครั้งหนึ่ง
ในการประกวดภาพทั้ง ๒ คราวนั้น รัชกาลที่ ๖ ทรงวาดภาพล้อหลายชุด แม้ฝีพระหัตถ์จะไม่ถึงขั้นศิลปินเอก แต่พระปรีชาสามารถในทางการถ่ายทอดลักษณะเด่นของบุคคลนั้นถือได้ว่ามีความพิเศษอย่างยิ่ง เมื่อทรงเขียนภาพล้อผู้ใดก็สามารถบอกได้ว่าบุคคลนั้นเป็นใคร ถ้าเป็นภาพล้อของผู้ใดเจ้าของมักซื้อไว้ด้วยราคาสูง บางภาพมีราคาเป็นหลักหมื่นบาทก็มี เงินที่ได้จากการขายภาพเหล่านี้ต่อมาถูกนำไปสมทบเป็นทุนสาธารณกุศลเพื่อซื้อปืนพระราชประจำกองเสือป่า และต่อมาหนังสือพิมพ์ก็เริ่มมีภาพประกอบข่าวมากขึ้น ภาพฝีพระหัตถ์ส่วนมากถูกนำลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “ดุสิตสมิต” เป็นระยะๆ เพื่อทรงล้อเพื่อตักเตือนข้าราชการที่ประพฤติมิชอบ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติการพิมพ์ฉบับแรกขึ้นเรียกว่า พระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ พุทธศักราช ๒๔๖๕ และพระองค์ได้พระราชนิพนธ์บทความสำคัญๆ จำนวนมากลงในหนังสือพิมพ์ เช่น ยิวแห่งบูรพทิศ ลงในหนังสือพิมพ์ สยามออบเซอร์เวอร์ และ โคลนติดล้อ ลงในหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย งานพระราชนิพนธ์ของพระองค์เรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมากจนถึงกับมีประชาชนเขียนล้อเลียนโต้ตอบลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ ในชื่อ "ล้อติดโคลน"
ลักษณะการวางรูปเล่มหนังสือพิมพ์ของไทยตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงต้นรัชกาลที่ ๖ มักมีการจัดหน้าแรกเป็นหน้าโฆษณาสินค้าทั้งหมด ถัดไปจึงเป็นหน้าข่าวที่กับการลงโฆษณาแจ้งความ(ประชาสัมพันธ์)เหตุการณ์ต่างๆที่ประชาชนควรทราบ หรือแจ้งความโฆษณาสินค้าปะปนมาด้วย
ในระยะแรกๆ ข่าวหนังสือพิมพ์ยังไม่ถูกออกแยกเป็นหมวดหมู่ ทำให้มีทั้งข่าวภายในประเทศที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ข่าวต่างประเทศและบทความตีพิมพ์ปะปนกัน ไม่ได้แบ่งเป็นสัดส่วนเฉพาะ ต่อมาจึงเริ่มมีการเขียนภาพล้อการเมืองในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์
นักเขียนภาพล้อการเมืองคนแรกของไทย คือ นายเปล่ง ไตรปิ่น ซึ่งมีประวัติไม่ชัดเจนทราบแต่ว่า
เป็นบุตรของนายสอน กับนางเภา เคยหนีบิดาไปกับเรือสินค้านานกว่ายี่สิบปีเรียนวิชาจิตรกรรมมาจากอังกฤษ เคยเดินทางไปนอร์เวย์ เดนมาร์ก อิตาลี สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ได้เดินทางกลับประเทศไทยพร้อมทั้งกับนำวิชาการทำแม่พิมพ์ (บล็อก) โลหะเข้ามาเผยแพร่ในเมืองไทย โดยเปิดร้าน “ฮาล์ฟโทน” รับทำบล็อคขึ้นเป็นแห่งแรกและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในวงการหนังสือพิมพ์และโรงพิมพ์ เคยเข้าทำงานในตำแหน่งช่างภาพกรมรถไฟหลวงแต่ลาออกในภายหลังเนื่องจากขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่ฝรั่ง จากนั้นจึงไปเขียนภาพล้อตามหนังสือพิมพ์ต่างๆ เช่น กรุงเทพฯเดลิเมล์ ไทยหนุ่ม บางกอกไทม์ เป็นต้น และเคยเป็นครูโรงเรียนเพาะช่าง ผลงานของเขาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพเดลิเมล์ ตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๖๖ โดยใช้นามปากกาว่า “เปล่ง” สมัยนี้นับเป็นมิติใหม่ในกิจการสิ่งพิมพ์ที่มีความหมายอย่างยิ่ง ด้วยคุณูปการในฐานะผู้นำแม่พิมพ์โลหะเข้ามาในไทยเป็นคนแรกและยังได้รับรางวัลการประกวดภาพล้อจากรัชกาลที่ ๖ โดยเขียนการ์ตูนล้อเลียนนักการเมืองสำคัญในยุคนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯให้นายเปล่ง ไตรปิ่น เป็นขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิตในเวลาต่อมาท่าต่างๆของกีฬาฟุตบอล |
“ ...น้ำใจนักกีฬาแท้ เรียกว่า “สปอร์ตสแมน” การฝึกหัดน้ำใจนั้นเป็นของสำคัญมาก ยิ่งเราจะปกครองแบบเดโมคราซียิ่งสำคัญ... ” ประการที่หนึ่ง คือต้องเล่นตามกติกาไม่โกงเล็กโกงน้อย ประการที่สอง คือไม่ใช่เล่นเพื่อความชนะของฝ่ายตนหรือเพื่อตนคนเดียว และประการที่สาม นักกีฬาแท้ต้องรู้จักชนะรู้จักแพ้ ถ้าชนะต้องไม่อวดดี และถ้าแพ้ต้องไม่ผูกพยาบาท เพราะการปกครองแบบประชาธิปไตยย่อมต้องมีการแพ้และการชนะ และสิ่งสำคัญคือต้องนึกถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นอันดับแรก
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น