ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

มรดกธรรมพระองค์เจ้าหญิงวิมลฉัตร เจ้านายฝ่ายในแต่สมัยรัชกาลที่ 7


                                                         พระองค์หญิงวิมลฉัตร
                                                   ทรงเป็นโฆษกแผนกภาษาไทยสถานีวิทยุ บีบีซี

   รศ.ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล
(กรรมการพิพิธภัณฑ์ฯและที่ปรึกษาคณะอนุวิชาการพิพิธภัณฑ์ฯ)

         เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2553 นี้ (หนึ่งวันก่อนวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 7 ย่อมไม่อาจมีงานศพได้) มีงานพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านายฝ่ายในแต่สมัยรัชกาลที่ 7 พระองค์หนึ่งพระนามว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตรหรือ “พระองค์หญิงตุ๊” ผู้สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ปีที่แล้ว พระชันษา 88 ปี

         หนังสืออนุสรณ์ในงานนั้นเล่มหนึ่งชื่อว่า เรื่องของแม่ ส่วนหนึ่งเป็นพระนิพนธ์ทรงเล่าประทานโอรสธิดาเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทรงประสบ เริ่มตั้งแต่พระราชพิธีโสกันต์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพระราชทานเมื่อพระชันษา 9 ปีในพ.ศ. 2473 จนถึงวาระที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เสด็จพ่อ สิ้นพระชนม์ขณะประทับอยู่ที่สิงคโปร์ในพ.ศ. 2479

        พระนิพนธ์ซึ่งเต็มไปด้วยรสชาติและอารมณ์ความรู้สึกนี้เป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าของผู้ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงรอยต่อ(หรือรอยเลื่อน) แห่งยุคสมัย ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นจุดผกผัน จึงนับได้ว่าเป็นขัอมูล “พระปกเกล้าศึกษา” จากมุมที่มีให้ศึกษาอยู่น้อย

        เมื่อมีการยึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 พระองค์หญิง พระชันษา 11 ปี ประทับอยู่ที่วังสวนสุนันทาในสำนักพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฎ ซึ่งทรงขานพระนามว่า “ท่านย่า” พระองค์หญิงตุ๊ทรงเล่าว่าในช่วงนั้นทรง “มีความกลัวเป็นกำลัง กลัวอะไร กลัวใครก็ไม่รู้ รู้แต่ว่ากลัวแบบกลัวผี” คือ “ไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้น เมือใด และวันใด” ส่วนกรมพระกำแพงเพ็ชรฯ เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมนั้น ทรงทราบถึงการก่อการตั้งแต่เช้าตรู่พอที่จะเสด็จโดยรถไฟไปเฝ้าละอองธุลีพระบาทที่หัวหิน จึงไม่ได้ต้องทรงถูกบังคับให้ประทับที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเฉกเช่นเจ้านายสำคัญๆ พระองค์อื่น แต่กระนั้นต่อมาก็ “ไม่ทรงวางพระทัยว่าอะไรจะเกิดขึ้น” จึงเสด็จไปประทับที่สิงคโปร์ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” เมื่อเดือนตุลาคม 2476 ทรงเปิดโรงงานทำหลอดไฟนีออนซึ่งเป็นของใหม่ที่นั่น

          พระองค์หญิงจึงตามเสด็จไป และ “เด็จพ่อ” โปรดให้ทรงเข้าเรียนเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนคอนแวนต์ที่นั่น ทั้งๆที่เมื่อแรกเข้า รับสั่งภาษาอังกฤษได้น้อยมาก สื่อสารกับแม่ชีคาทอลิกไม่รู้เรื่องจนแม่ชีตีเพราะความเข้าใจผิด ทรงเล่าอย่างสนุกสนานถึงการพูดภาษาอังกฤษของชาวสิงคโปร์ซึ่ง “เพี้ยนไปจากภาษาอังกฤษขนานแท้ดั้งเดิมมาก” จน “เด็จพ่อ” ทรงห้ามพระธิดามิให้รับสั่งเช่นนั้นให้ทรงได้ยิน

        อย่างไรก็ตาม การที่พระองค์หญิงต้องทรงปรับพระองค์เรียนและใช้ภาษาอังกฤษเป็นประจำตั้งแต่ทรงพระเยาว์มากนั้น ต่อมาได้พิสูจน์ว่าเป็นบุญหรือปัญญาสมบัติของท่าน

        ม.ร.ว.เฉลิมฉัตร วุฒิชัย โอรส เขียนไว้ว่า “ถึงรุ่นแม่ ไม่ว่าจะเป็นเจ้านายระดับไหน ก็ต้องทำงานตัวเป็นเกลียว ไม่อย่างนั้นก็อดตาย”

        ในกรณีของพระองค์หญิงวิมลฉัตร แม้ว่าจะได้ทรงเสกสมรสกับนาวาโท หม่อมเจ้าอุทัยเฉลิมลาภ วุฒิชัยเมื่อชันษา 17 ปีก็ตาม แต่ก็ได้ทรงทำงานหารายได้ช่วยท่านชายด้วยการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนมาแตร์เดอีและผู้ตรวจพิสูจน์อักษรที่หนังสือพิมพ์แสตนดาร์ดของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร พระเชษฐา รวมทั้งทรงช่วยเป็นผู้อ่านข่าวภาคภาษาอังกฤษของกรมประชาสัมพันธ์ สถานีวิทยุซึ่งนับเนื่องได้ว่าเป็นกิจการที่ “เด็จพ่อ” ทรงเริ่มไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7

      ครั้นพ.ศ. 2507 ต้องทรงประสบกับความผันผวนในพระชนมชีพอีกครั้งหนึ่ง เพราะท่านชายอุทัยฯ ถึงแก่ชีพิตักษัย ขณะที่พระองค์หญิงพระชันษา 38 ปี (ซึ่งน่าสังเกตว่าใกล้เคียงมากกับพระชันษาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต)

     เจ้านายฝ่ายในพระองค์นี้ผู้รับสั่งกับโอรสของท่านว่า “แม่เกิดมาผิดเวลา ถ้าเกิดสมัยนี้ คงเปรี้ยวน่าดู เด็จตา (กรมพระกำแพงเพ็ชรฯ) คงเอาไว้ไม่อยู่หรอก” ทรงกล้าตัดสินพระทัยเสด็จไปทรงเป็นโฆษกแผนกภาษาไทยสถานีวิทยุ บีบีซี ที่กรุงลอนดอน สองวาระรวม 7-8 ปีโดยทรงถือโอกาสนำโอรสวัย 17ปี และธิดาวัย 11 ปี ไปศึกษาต่อที่นั่นด้วย คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ผู้ร่วมงานที่ บีบีซี บันทึกไว้ว่า “พระองค์ตุ๊ ต้องทรงเลี้ยงชีพและบุตรชายหญิงด้วยพระองค์เอง อย่างที่เรียกว่าปากกัดตีนถีบก็ว่าได้” ส่วนคุณเอนก ทิพย์พยอม ผู้ร่วมงานอีกคนหนึ่งเขียนไว้ว่าพระองค์หญิง “ได้ทรงงานทุกครั้งด้วยความสามารถอย่างแท้จริง จนได้เป็นผลให้พวก ‘ฝรั่ง’ ยอมรับว่าพวกเราคนไทยมีความสามารถอย่างในการทำงานไม่ด้อยไปกว่า ‘มืออาชีพ’ อย่างพวกเขา” และ “ประทานความเป็นกันเองแก่พวกเรา...ไม่เคยแสดงกิริยาถือพระองค์เลย” นอกจากนั้นยังทรงพระเมตตาแก่นักเรียนไทยมากหน้าหลายตา

      เมื่อเสด็จกลับมาจากอังกฤษในพ.ศ.2511 พระองค์หญิงทรงเข้าทำงานที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ในสำนักงานแถลงข่าว และต่อมาทรงเป็นรองกงสุลแผนกวีซ่า ม.ร.ว. เฉลิมฉัตรเขียนเล่าว่า “เมื่อฝรั่งติดใจสาวไทยจะพาไปเมืองอังกฤษเพิ่มมากขึ้น...แม่เริ่มเครียด...ปล่อยให้ผู้ขอวีซ่าไปมีปัญหาภายหลังที่เมืองอังกฤษก็ไม่ได้ ทางโน้นจะทำหนังสือตำหนิมา...จนกระทั่งเป็นที่โจทย์ขานกันว่าขอ วีซ่าไปอังกฤษนี่ยากเย็นจริงๆ ทั้งที่ทั้งหมดที่แม่ทำไปก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศนั่นเอง”

       เมื่อทรงเกษียณอายุจากสถานทูตอังกฤษ ก็ยังได้ทรงสอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ปีหนึ่ง แล้วทรงพระเมตตาเป็นพระธุระในงานสาธารณกุศลมากมาย เช่นทรงเป็นประธานมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าเพื่อเยาวชน ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิช่วยนักเรียนที่ขาดแคลนในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นต้นซึ่งผู้คนรุ่นหลังๆมักจะรู้จักองค์หรือพระนามของท่านด้วยเหตุนี้

      ในบทสุดท้ายของพระนิพนธ์ทรงเล่าถึงช่วงที่ “เด็จพ่อ” จะสิ้นพระชนม์ว่า “รู้สึกว่าพระพักตร์ท่านหมองคล้ำไป คงจะไม่สบายพระทัยเรื่องเกี่ยวกับด้านการเงิน เงินที่ได้จากค่าเช่าตำหนักใหญ่มีจำนวนไม่มากนัก กิจการทางสิงคโปร์ก็ต้องปิดไป...ทรงบ่นว่าพระนาภีอืดเฟ้อ คงจะเนื่องจากทรงใช้ความคิดมากนั่นเอง” ต่อมามีพระอาการไข้สูงและทรงเพ้อ จึงต้องเสด็จเข้าโรงพยาบาลและสิ้นพระชนม์ใน 3 วันต่อมา

      เมื่ออัญเชิญพระศพกลับกรุงเทพฯแล้ว “ท่านแม่” พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปภาวสิทธนฤมล และครอบครัวใหญ่ของเสด็จในกรมฯไม่ทรงมีที่ประทับ แต่ได้รับพระกรุณาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าเหมวดีให้ไปประทับที่ตำหนักถนนพิชัยซึ่งว่างอยู่ เพราะองค์เจ้าของยังคงประทับอยู่ที่เมือง บันดุงบนเกาะชวา

     ความทราบถึงพระกรรณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวระหว่างที่ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษหลังจากที่ทรงสละราชสมบัติแล้ว จึงได้พระราชทานที่ดินและตำหนักพระราม 5 ซึ่งพระเจ้า บรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรพินธ์เพ็ญภาคน้อมเกล้าฯถวายเป็นพระราชมรดกแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นกรรมสิทธิ์แก่ “ท่านแม่” เกี่ยวกับเรื่องนี้พระองค์หญิงวิมลฉัตรทรงไว้เป็นข้อความสุดท้ายในพระนิพนธ์ว่า

     “นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดไม่ได้ ท่านแม่ทรงมีความปลาบปลื้มและระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ด้วยความกตัญญูกตเวทีตลอดพระชนม์ชีพของท่าน และเราผู้เป็นหลานก็ควรปฏิบัติเช่นเดียวกับท่านตลอดไป...”

     เห็นได้ว่าพระองค์เจ้าหญิงวิมลฉัตรทรงพระพิริยะอุตสาหะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ด้วยพระปัญญาสมบัติ ในการทรงงานเฉกเช่นสามัญชนคนธรรมดา จนทรงสามารถดำรงพระเกียรติแห่งเจ้านายฝ่ายในไว้ได้ในทุกกาลสถาน โดยปราศจากคำติฉินนินทา ทั้งยังทรงโอบอ้อมอารีแก่ชนทุกชั้น ในขณะเดียวกันกับที่ทรงมีความกตัญญูกตเวทิตาต่อเจ้านายในพระราชวงศ์ ทั้งหมดส่งผลเป็นพระบารมีที่ทรงแผ่ในระยะหลังควบคู่ไปกับพระประสบการณ์ในการกอบเกื้อองค์การสาธารณกุศลน้อยใหญ่ ยังประโยชน์แก่ผู้ยากไร้ พระประวัติของท่านจึงนับเป็นมรดกธรรมที่ทรงมอบให้เราคนรุ่นหลังได้น้อมรับไว้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั