ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกในสยาม



โดย ฉัตรบงกช  ศรีวัฒนสาร

           พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ  เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรก  ในครั้งนั้นกระทรวงธรรมการ  ต่อมาคือ  กระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ขอพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  จัดพระราชพิธีพระราชทานปริญญาเวชบัณฑิตย์ตรีเป็นครั้งแรกของสยาม เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๓  รวมทั้งยังได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาบัณฑิตย์พิเศษ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปรมาภิไธยรับเป็นบัณฑิตย์พิเศษด้วย นับว่าทรงเป็นบัณฑิตพระองค์แรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และของสยาม  การที่พระองค์ทรงพระกรุณาเสด็จฯมาพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี  ในครั้งนั้นนับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ  แสดงให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมอย่างหาที่สุดมิได้ 


            ในครั้งนั้น มหาอำมาตย์เอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ทรงทำหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๗ เพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ปริญญาแก่นิสิตจำนวน ๑๘ คน  พระองค์ทรงพระกรุณาให้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะอภิรัฐมนตรี ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่า มหาวิทยาลัยมีอำนาจอยู่แล้วโดยอาศัยประกาศประดิษฐานโรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วตั้งแต่สมัย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  แต่ฝ่ายมหาวิทยาลัยเห็นว่าถ้าให้มหาวิทยาลัยให้ปริญญาเองจะมีค่าน้อยไป  หากขอให้ออกพระราชบัญญัติต้องใช้เวลาประมาณ ๑ ปี จึงขอพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษครั้งหนึ่งก่อน  รัชกาลที่ ๗ จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระบรมราชานุญาต ต่อมาจึงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาจนถึงสมัยรัชกาลปัจจุบัน


          ดังปรากฎหลักฐานพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตรุ่นแรก ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ ความว่า
          "...ข้าพเจ้ามีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง  ที่ได้มีโอกาสมาให้ปริญญาแก่นักเรียนมหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกในวันนี้  นับเป็นวันสำคัญสำหรับประวัติการของประเทศสยามด้วย  เพราะว่าไม่ว่าประเทศใดๆ  ความเจริญของประเทศนั้นย่อมวัดด้วยความเจริญของการศึกษานั้นอย่างหนึ่ง  ในประเทศสยามนี้ต้องนับว่า การมหาวิทยาลัยยังล้าหลังอยู่มาก  ที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยเหตุหลายประการ คือ  การที่จะตั้งมหาวิทยาลัยให้ใหญ่โตนั้น  ถ้าเอาเงินถมลงไปก็อาจทำได้  แต่ถ้าวิชาที่สอนนั้นประชาชนยังไม่ต้องการ  หรือการสอนไม่เป็นประโยชน์ในทางอาชีพของเราแล้ว  การที่จะตั้งเช่นนั้นก็หาเป็นประโยชน์ไม่..." (อ้างมาจาก เอกสาร หจช. ร ๗ ศ.๕/๔  เรื่องพิธีพระราชทานปริญญาบัตรเวชชบัณฑิตย์ พ.ศ. ๒๔๗๓)


          ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับเรื่องการพระราชทานปริญญาบัตรระยะแรกในสยาม และสามารถชมฉลองพระองค์ครุยในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น ๓ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เชิงสะพานผ่านฟ้า
 ทุกวัน ตั้งแต่ ๐๙.๐๐- ๑๖.๐๐ น. ยกเว้นวันจันทร์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั