(ครั้งแรกในสยาม ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารสกุลไทย)
โดย รศ.ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล
ในวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พุทธศักราช 2461 ณ พระที่นั่งวโรภาษพิมาน พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์และเจ้านายชั้นพระบรมวงศ์อีกสิบสองพระองค์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามเป็นพยานในการแต่งงานของหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ซึ่งปฎิพัทธ์รักใคร่กัน อีกทั้งมีความเหมาะสมกันในทางชาติตระกูลกำเนิด และการอบรมเลี้ยงดูเมื่อยังเยาว์ เจ้าบ่าวอายุ 25 ปี เจ้าสาวอายุ 14 ปี คู่บ่าวสาวนั้น พระนามว่า สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัฒน์ ก่อนหน้านั้นประมาณ 1 เดือน สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นั้นได้ทรงมีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ความตอนหนึ่งว่า
“บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้า ได้ปฏิพัทธ์รักใคร่กับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ธิดาแห่งเสด็จน้า และข้าพระพุทธเจ้าอยากจะใคร่ทำการสมรสกับเจ้าหญิงนั้น แต่เดิมข้าพระพุทธเจ้าได้ชอบพอกับหญิงรำไพ
พรรณี ฉันเด็กและผู้ใหญ่ และสมเด็จแม่ก็โปรดให้หญิงรำไพพรรณี มารับใช้ข้าพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ...”
หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ทรงเป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสิดวัดนวิศิษฎ์ พระอนุชาร่วมพระมารดา ในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 “สมเด็จแม่” ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯพระองค์นั้น สมเด็จกรมพระสวัสดิฯ จึงทรงเป็น “เสด็จน้า” ของพระองค์ นอกจากนั้น สมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ ยังได้ทรงอุปถัมภ์หม่อมเจ้าหญิงรำไพรรณี ผู้ทรงเป็น “หลานป้า” มาตั้งแต่พระชันษา 2-3 ปี โดยโปรดเกล้าฯให้ประทับบนพระตำหนัก และให้ได้รับการศึกษาอบรมตามพระราชประเพณี ตลอดจนวิทยาการสมัยใหม่ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี จึงทรงได้รับการศึกษาและประสบการณ์ที่เหมาะสมแก่กาลสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสขึ้น นับเป็นการพิธีครั้งแรกตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเศกสมรสแห่งเจ้านายพระราชวงศ์ พุทธศักราช 2461 ซึ่งให้เจ้านายในพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปจะทำการเศกสมรสกับผู้ใด ให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงจะทำการพิธีนั้นได้
พระราชพิธีอภิเษกสมรสในครั้งนั้น ยังมีความพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือ ได้โปรดเกล้าฯให้เริ่มการพิธีด้วยการตั้งกระทู้ถามตอบคู่สมรส ดังเช่นธรรมเนียมของชาวตะวันตก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มหาเสวกโท พระยาจักรปราณีศรีศีลวิสุทธิ์ (ลออ ไกรฤกษ์) สมุหพระนิติศาสตร์ (เจ้าพระยามหิธร ในภายหลัง) ตั้งกระทู้กราบทูลถามสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯว่า
“ฝ่าพระบาททรงตั้งพระหฤทัยที่จะทรงรับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีเป็นพระชายาเพื่อทรงถนอม ทะนุบำรุงด้วยความเสน่หาและทรงพระเมตตากรุณาสืบไปจนตลอดนั้น ฤา”
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ รับสั่งตอบว่า “ข้าพเจ้าตั้งใจเช่นนั้น”
แล้วทูลถามหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีว่า
“ท่านตั้งหฤทัยที่จะมอบองค์ท่านเป็นพระชายาแห่งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ จ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทย ธรรมราชา ด้วยความเสน่หา จงรักสมัครจะปฎิบัติอยู่ในพระโอวาทแห่งพระสามี สืบไปจนตลอดนั้น ฤา”
หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี รับสั่งตอบว่า “ข้าพเจ้าตั้งใจเช่นนั้น”
ทะเบียนแต่งงาน |
เสร็จการพิธีแบบตะวันตกแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวรรต และทรงเจิมองค์คู่อภิเษกสมรสตามโบราณราชประเพณีของไทย จากนั้นองค์คู่อภิเษกสมรส ได้ทรงลงพระนามในสมุด “ทะเบียนแต่งงาน” เฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงลงพระปรมาภิไธยในช่องพระนาม “ผู้สู่ขอตกแต่ง” และ ช่อง”ผู้ทรงเป็นประทานแลพยานในการแต่งงาน” แล้วโปรดเกล้าฯให้เจ้านายชั้นพระบรมวงศ์12 พระองค์ ทรงลงพระนามเป็นพยานด้วย โดยสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวีพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงลงพระนามถัดจากพระปรมาภิไธย ส่วนสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวงนั้นมิได้เสด็จฯไปทรงร่วมงาน เนื่องจากทรงพระประชวรและประทับอยู่ที่พระตำหนักน้ำวังศุโขทัย ริมคลองสามเสน สุดท้าย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานเลี้ยงและเมื่อจวนเสร็จเสวยพระกระยาหาร ได้มีพระราชดำรัสพระราชทานพระพร และทรงชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ดื่มถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขไทยธรรมราชา และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชายา นับตั้งแต่นั้นมา ทั้งสองพระองค์ได้ทรงครองชีวิตสมรสโดยทรงรักษาสัญญาที่ทรงเปล่งในวันนั้นอย่างซื่อตรงสมบูรณ์ เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2469 ก็ได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้ประกาศเฉลิมพระนาม หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชายา เป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และสถาปนาพระอิสริยยศเป็นพระอัครมเหสีโดยสมบูรณ์ตามพระราชกำหนดกฎหมายและพระราชประเพณี นับเป็นครั้งแรกที่มีการสถาปนา สมเด็จพระอัครมเหสี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์กรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์แรกซึ่งทรงมีพระภรรยาเจ้าเพียงพระองค์เดียว คนเดียว
ทั้งสองพระองค์ได้ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขเป็นพระคู่ขวัญ เสด็จพระราชดำเนินเคียงกันโดยตลอดทั้งในประเทศและในต่างประเทศ แม้ว่าจะต้องทรงเผชิญกับเหตุการณ์ความแปรผันทางการเมืองในประเทศ อีกทั้งภยันตรายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะที่ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติแล้ว ตราบจนกระทั่งเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พุทธศักราช 2484 ทรงดำรงพระองค์ด้วยพระราชหฤทัยมั่นคงผูกพันจงรักภักดีในพระราชสวามีสืบมาตลอดพระชนมชีพ ทรงอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิไปทุกแห่งหนที่เสด็จพระราชดำเนิน เพื่อทรงถวายบังคมทุกวัน จนกระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อ 43 ปีให้หลัง ในวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2527 พระชนมพรรษาร่วม 80 พรรษา พระราชจริยาวัตรในการทรงรักษาความสัตย์ซื่อตรงต่อกันของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เป็นแบบอย่างที่ดีแก่เราคนรุ่นปัจจุบัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น