น้ำใจนักกีฬากับวิถีประชาธิปไตย
(ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ มติชน 18 พฤศจิกายน 2551,หน้า 6)
โดย รศ.ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล
ความกังวลเกี่ยวกับสภาพการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมทางการเมืองต่างๆ ทำให้นึกถึงพระบรมราโชวาท ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสอนนักเรียนเกี่ยวกับวิถีประชาธิปไตยโดยการอุปมาอุปไมยกับการเล่นกีฬา
จึงขอนำมาถ่ายทอดสู่กันฟังเพื่อประดับสติปัญญาผู้คนซึ่งส่วนใหญ่เชียร์อยู่ที่ขอบสนามจะได้ระมัดระวังไม่เชียร์เสียจนเขาตีกัน และในขณะเดียวกัน ไม่ลืมว่าเราอาจกลายเป็น “หญ้าแพรก” ที่แหลกลาญเมื่อช้างสารเขาตีกัน
ในพระบรมราโชวาทดังกล่าวซึ่งพระราชทานในวันงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอธิบายว่า วิธีการอบรมบ่มนิสัยของโรงเรียนเอกชนชั้นดีของประเทศอังกฤษหรือที่เรียกว่า “ปัปลิกสกูล” (public school) ซึ่งเป็นแม่แบบของวชิราวุธวิทยาลัยนั้นเป็นผลดีแก่การปกครองแบบประชาธิปไตย พระบรมราโชวาทมีความตอนหนึ่งว่า
“...หลักที่สาม ที่ปัปลิกสกูลเขาใช้ก็คือ เขาฝึกให้นักเรียนมีน้ำใจเป็นนักกีฬาแท้คือ ที่เรียกว่าสปอร์ตสแมน การฝึกน้ำใจนั้นเป็นของสำคัญมาก ยิ่งเราจะปกครองแบบเดโมคราซียิ่งสำคัญขึ้นอีก ในที่นี้จะขอหยิบยกหลัก 2-3 อย่างที่ว่าน้ำใจเป็นนักกีฬานั้นคืออะไร ประการที่หนึ่ง นักกีฬาจะเล่นเกมอะไรก็ตามต้องเล่นให้ถูกต้องตามกฎข้อบังคับของเกมนั้น ไม่ใช้วิธีโกงเล้กโกงน้อยอย่างใดเลย จึงจะสนุกจึงจะเป็นประโยชน์ ประการที่สอง ถ้าเกมที่เล่นนั้นเล่นหลายคนต้องเล่นเพื่อความชะนะของฝ่ายตน ไม่ใช่เล่นเพื่อตัวคนเดียว ไม่ใช่เพื่อแสดงความเก่งของตัวคนเดียว ประการที่สาม นักกีฬาแท้นั้นต้องรู้จักชะนะและรู้จักแพ้ ถ้าชะนะก็ต้องไม่อวดทำภูมิ์ ถ้าแพ้ก็ต้องไม่พยาบาทผู้ชะนะ เป็นต้น หลักสามอย่างนี้สำคัญมาก ย่อมใช้เป็นประโยชน์ได้ในการเมืองด้วย เมื่อเราจะปกครองแบบรัฐสภาแล้ว ก็ต้องมีคณะการเมืองเป็นธรรมดา เกมการเมืองก็ย่อมต้องมีกฎของเกมเหมือนกัน ถ้าเราเล่นผิดกฎการเมืองก็ย่อมมีผลเสียหายได้มากทีเดียว เพราะการปกครองแบบเดโมคราซีย่อมต้องมีการแพ้และชะนะ ซึ่งถือเอาตามเสียงของหมู่มากกว่าฝ่ายใดแพ้และชะนะ เพราะคณะการเมืองย่อมมีความเห็นต่างๆ กันเป็นธรรมดา ต่างฝ่ายก็ต้องมุ่งที่จะให้หมู่มากเห็นด้วยกับตน และเลือกตนเข้าเป็นรัฐบาล ฝ่ายไหนประชาชนส่วนมากเห็นด้วยฝ่ายนั้นก็เป็นผู้ชนะ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เมื่อเวลาจะพูดชักชวนประชาชนลงความเห็นด้วยกับตนนั้น ถ้าเราใช้วิธีโกงต่างๆ เช่น ติดสินบนหรือข่มขืนน้ำใจก็ต้องเรียกว่าเล่นผิดเกมการเมืองโดยแท้ ต้องพูดให้คนอื่นเห็นตามโดยโวหารและโดยชอบธรรมจึงจะถูกกฎของเกม การปกครองแบบเดโมคราซีนั้นผู้ที่ชะนะแล้วได้เข้ามาปกครองบ้านเมืองก็ควรต้องนึกถึงน้าใจของฝ่ายน้อยที่แพ้เหมือนกัน ไม่ใช่เราชนะแล้วก็จะหาวิธีกดขี่ข่มเหงผู้ที่เป็นฝ่ายแพ้ต่างๆ นานาหาได้ไม่ ย่อมต้องมุ่งปกครองเพื่อประโยชน์ของคณะต่างๆ ทั้งหมด ส่วนผู้ที่แพ้ก็เหมือนกัน เมื่อแพ้แล้วก็ต้องยอมรับว่าตนแพ้ในความคิดในโวหาร แพ้เพราะประชาชนส่วนมากไม่เห็นด้วย เมื่อแพ้แล้วก็ตั้งกองวิวาทเรื่อยบอกว่า ถึงแม้คะแนนโหวตแพ้กำหมัดยังไม่แพ้ เช่นนั้นแล้วความเรียบร้อยจะมีไม่ได้ คงได้เกิดตีกันหัวแตกเต็มไป ฝ่ายผู้แพ้ควรต้องนึกว่า คราวนี้เราแพ้แล้วต้องไม่ขัดขวางหรือขัดคอพวกที่ชะนะอย่างใดเลย ต้องปล่อยให้เขาดำเนินการตามความเห็นชอบของเขา ต่อไปภายหน้าเราอาจเป็นฝ่ายที่ชะนะได้เหมือนกัน น้ำใจที่เป็นนักกีฬาที่เป็นของสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือว่าเราต้องเล่นสำหรับคณะเป็นส่วนรวม แม้ในโรงเรียนนี้เราแบ่งออกเป็นคณะต่างๆ เมื่อเล่นแข่งขันในระหว่างคณะ เราก็เล่นสำหรับคณะของเราเพื่อให้คณะของเราชะนะ แต่เมื่อโรงเรียนทั้งโรงเรียนไปเล่นเกมกับโรงเรียนอื่น ไม่ว่าคณะใดก็ตามต้องร่วมใจกันเล่นเพื่อโรงเรียนอย่างเดียวเท่านั้น เวลานั้นต้องลืมว่าเราเคยแบ่งเป็นคณะ เคยแข่งขันกันมาในระหว่างคณะอย่างไรต้องลืมหมด ต้องมุ่งเล่นเพื่อโรงเรียนอย่างเดียวเท่านั้น สำหรับประเทศชาติความข้อนี้เป็นของสำคัญอย่างยิ่งเหมือนกัน เพราะตามธรรมดาย่อมต้องมีคณะการเมืองคณะต่างๆ ซึ่งมีความเห็นต่างๆกัน แต่เมื่อถึงคราวที่จะต้องนึกถึงประเทศแล้วต่างคณะต้องต่างร่วมใจกันนึกถึงประโยชน์ของประเทศอย่างเดียวเป็นใหญ่ ต้องลืมความเห็นที่แตกต่างกันนั้นหมด ถึงจะเคยน้อยอกน้อยใจกันมาอย่างไร ต้องลืมหมด ต้องฝังเสียหมด ต้องนึกถึงประโยชน์ของประเทศตนเท่านั้น จะนึกเห็นแก่ตัวไม่ได้ อย่างนี้จึงจะเรียกว่ามีใจเป็นนักกีฬาแท้ เป็นของจำเป็นที่จะต้องปลูกให้คนมีน้ำใจอย่างนั้น จึงจะปกครองอย่างแบบเดโมคราซีได้ดี...
...การปกครองแบบเดโมคราซี ถ้าราษฎรมีน้ำใจดีอย่างที่ว่ามาแล้ว ก็จะเป็นผลดีแก่ประเทศเป็นอย่างยิ่ง แต่ถึงแม้วิธีนี้เป็นวิธีดีอย่างที่สุดก็ตาม ถ้าเราไม่รู้จักวิธีใช้อาจเป็นผลร้ายก็ได้เพราะฉะนั้นในเวลานี้เราจะต้องพยายามโดยเคร่งครัดที่จะฝึกฝนพลเมืองของเราให้มีน้ำใจอยู่ในหลักต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้...”
ดูเหมือนว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จะได้ทรงคาดการณ์ไกลไว้ตั้งแต่ห้าเดือนหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 และหนึ่งเดือนก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม
พ.ศ. 2475 แล้วว่า การเมืองไทยจะดำเนินไปเช่นใด จึงได้ทรงมุ่งอบรมเยาวชนผู้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้าถึงวิถีประชาธิปไตย โดยทรงอุปมาอุปไมยกับการกีฬาเพื่อให้เด็กๆเข้าใจได้ง่าย อนิจจา สิ่งที่ทรงพระปริวิตกว่าจะเกิดขึ้น ได้เกิดขึ้นจริง และดูจะทวีความรุนแรงในปัจจุบัน
การไปถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่หน้าอาคารรัฐสภาของผู้ประกอบการทางการเมืองทั้งหลายและประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ คงจะเป็นเพียงพิธีกรรมที่ไร้ความหมายเป็นแน่ หากเราท่าเหล่านั้นไม่น้อมนำพระบรมราโชวาทที่นำมาเผยแพร่อีกครั้งข้างต้นนี้ไปปฏิบัติและใช้ในการอบรมสั่งสอนบุตรหลาน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น