ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ เยาวราชกุมาร

          เมื่อกว่าหนึ่งร้อยสิบห้าปีมาแล้ว ในวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ ได้ประสูติเป็นพระราชโอรสพระองค์สุดท้ายในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอรรคราชเทวี (สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ) ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่ทรงพระครรภ์ยังไม่ครบกำหนด องค์เยาวราชกุมารมี พระวรกายเล็กเป็นพิเศษ ‘สมเด็จแม่’ รับสั่งเรียกด้วยพระราชหฤทัยรักใคร่เอ็นดูว่า ‘ลูกเอียดน้อย’





           32 ปีต่อมาใน พ.ศ. 2468 ‘ทูลกระหม่อมเอียดน้อย’ ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลในประเด็นที่ทรงถือว่าเป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย พระองค์จึงได้มีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติมาจากประเทศอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2477 เจ็ดปีต่อมาระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พระองค์ได้เสด็จสวรรคตในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 การถวาย พระเพลิงพระบรมศพ 4 วันหลังจากนั้น เป็นไปอย่างเรียบง่ายสามัญเยี่ยงสามัญชนคนธรรมดา ชาวอังกฤษ

           เมื่อมีข่าวว่าจะมีการอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับมาในพ.ศ.2492 มีสตรีผู้หนึ่งบันทึกระลึกถึงกาลครั้งที่ตนเคยได้รับใช้ใกล้ชิดเมื่อยังทรงพระเยาว์มาก ๆ นับเป็นหลักฐานที่หาได้ยากยิ่งถึงพระอุปนิสัยซึ่งทรงมีมาตั้งแต่ครั้งกระนั้น ในวาระ 115 ปี แห่งพระราชสมภพ จึงขอคัดข้อความ บางตอนมาเล่าสู่กันฟัง


หม่อมศรีพรหมา กฤดากร

            สตรีผู้นั้นคือ หม่อมศรีพรหมา กฤดากร ณ อยุธยา ในหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร หม่อมเป็นธิดาพระเจ้าสุริยพงศ์ผริตเดช (เจ้าสุริยะ ณ น่าน) ผู้ครองนครน่าน และเมื่ออายุประมาณ 9 ปี ได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ฯ

            หม่อมศรีพรหมาเขียนเล่าถึงเหตุการณ์ในวันที่เข้าเฝ้าฯถวายตัวว่า สมเด็จฯ “ทรงรับดอกไม้ธูปเทียน แล้วรับสั่งกับข้าหลวงคนหนึ่งว่า ‘ไปตามพ่อเอียดน้อยมา’ พอสักประเดี๋ยวก็ได้เห็นเด็กชายน้อย ๆ รูปร่างแบบบาง ผิวขาว ... ไว้พระเมาฬี (จุก) มีพวงมาลัยสวมรอบ ปักปิ่นพลอยอะไรอยู่กลาง เพชรรอบ มานั่งลงข้างสมเด็จฯ ผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่าเป็นลูก คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เมื่อทรงพระเยาว์ พระชนมพรรษาระหว่าง 3-4 ปี ... สมเด็จรับสั่งด้วยว่า ‘แม่ได้ข้าหลวงใหม่ พ่อเอียดเอาไปเล่นด้วยไหมจ๊ะ’ ทูลกระหม่อมเอียดน้อยทรงยิ้มอ่อนหวาน แต่ไม่รับสั่งตอบว่ากระไร รู้สึกว่าทรงอายหน่อย ๆ แต่ประทับเคียงสมเด็จแม่เฉย ๆ อยู่ ทำพระเนตรหยิบ หน่อย ๆ...”

           หม่อมศรีพรหมาเล่าต่อไปว่า “ที่เล่นสนุกที่สุดก็คือเล่นติ๊ต่างว่าเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะได้เล่นกับทูลกระหม่อมเอียด เจ้าฟ้าอัษฏางค์เดชาวุธ (กรมขุนนครราชสีมา พระเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ) ตามธรรมดาพระเชษฐาจะทรงเล่นกับหม่อมเจ้าชาย เล่นเป็นทหารกับโปลิศ จะไม่ทรงร่วมกับพระอนุชา เพราะมีแต่ผู้หญิง ยังทรงเรียกว่าพวกจู๊ดจี๊ดเสียอีก พวกผู้หญิงก็ตั้งแง่แสนงอน ไม่อยากไปแตะต้อง”

          การเล่นในครั้งนั้น ตกลงว่าให้พระอนุชาทรงเล่นเป็นพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสทะเลด้วยเรือพระที่นั่งโดยมีพระมเหสีและเจ้าจอมโดยเสด็จฯ

          “ตอนนี้จะเห็นได้ว่าพระอนุชา แม้จะยังทรงพระเยาว์มาก ก็สามารถกระทำหน้าที่เลือกแม่เล็ก คือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี ซึ่งได้แก่ ม.จ.หญิงทัศนี ซึ่งตามธรรมดาก็โปรดปรานอย่างยิ่งขาดไม่ได้เลยถ้าไม่จำเป็น ถวายข้าวเสวยก็ต้องท่านหญิงองค์เดียวเท่านั้น ... ฝ่ายในพระอนุชาทรงควบคุม ฝ่ายหน้าเป็นหน้าที่พระเชษฐา ถ้าถึงเกาะอะไรที่โปรดก็จะพาพระมเหสีและราชบริพารลง เช่น ถึงเกาะพะงันก็จะเสด็จที่น้ำตก สรงน้ำ และเก็บรังนกนางแอ่น หอย ปู ...”

          “สำหรับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งถ้าเป็นลูกชาวบ้านบางคนยังกินนมและยังไม่เป็นภาษีภาษาอะไร พระองค์ก็ทรงทำหน้าที่ของพระองค์ที่ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์สมมติได้ตามหน้าที่เป็นอย่างดี คือ พระราชบิดาทรงรับสั่งกับพระราชชนนีฉันใด พระองค์ก็ทรงจำได้ และทรงแสดงได้อย่างใกล้เคียงที่สุด เพราะองค์ที่ได้ตำแหน่งมเหสี ก็โปรดปรานอยู่เป็นอย่างยิ่งแล้วและทรงจุ๋งจิ๋งกันได้สนิทสนมดี”

หม่อมศรีพรหมา จบบันทึกตอนนี้ของท่านไว้ดังนี้

          “ผู้ที่สนใจในพระอุปนิสัยของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ควรสังเกตว่าพระองค์มี น้ำพระทัยกว้างขวาง ไม่ถือสาในพระเชษฐาที่เคยทรงเหยียดว่าเป็นผู้หญิงอยู่กับพวกจู๊ดจี๊ด เมื่อทรงชวนเล่นด้วยก็ทรงรับด้วยน้ำพระทัยนักกีฬา ทำหน้าที่เต็มความสามารถ ใครบ้างในขณะนั้นจะเล็งเห็นภายหน้าว่าพระองค์จะได้ครองราชย์สมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีพระราชหฤทัยกว้างพอที่จะยอมสละพระราชอำนาจให้ปวงชนชาวไทยเรา โดยเต็มพระราชหฤทัย เพื่อความก้าวหน้าและรุ่งเรืองของประเทศชาติ เป็นผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนเป็นพระองค์แรก ฉะนั้นข้อความที่ผู้เขียนได้เขียนมานี้ สำหรับผู้ที่สนใจใคร่ทำพระราชประวัติ อาจหยิบยกพระอุปนิสัยและน้ำพระทัยอันกว้างของพระองค์มาประกอบการเขียนได้บ้าง ผู้ที่รู้แท้เห็นจริงจะเว้นความเศร้าสลดมิได้ในวันที่พระบรมอัฐิได้มาสู่พระนคร แลผู้ที่รู้เช่นนั้นจงมาช่วยถวายพระพรให้พระวิญญาณของพระองค์ไปสิงสถิตอยู่ในที่อันมีแต่บรมสุข และถ้าพระวิญญาณของพระองค์จะเสด็จลอยเลื่อนมาได้ ก็ขอให้พระองค์เสด็จมาเยือนชาวไทย และหากจะทรงบันดาลให้เป็นไปได้ก็ขอบันดาลให้เป็นไปสมพระราชประสงค์ที่ตั้งพระราชหฤทัยไว้ให้เมืองไทยประสบแต่ความสุข ชั่วกาลนานเทอญ”

*********************

[พช/ปศ.เยาวราชกุมาร/พ.ย.2551]

ความคิดเห็น

  1. ศรัทธาเคารพยิ่งในพ่อหลวงของเราและพระมหากษัตริย์ไทยผู้ประเสริฐยิ่ง

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั