ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

คน ความคิด และวัฒนธรรมในภาพล้อและการ์ตูนการเมือง

หน้าปกของหนังสือพิมพ์ "ภาพกาตูน"  เล่าความเป็นอยู่ของสมาชิกในสามสภา
(หมายเลขเอกสาร สบ.9.2.1/4) ขอขอบคุณภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร

โดย ฉัตรบงกช  ศรีวัฒนสาร

          สิ่งที่ยิ่งใหญ่ในตัวมนุษย์ คือ ความคิด ซึ่งเป็นสิ่งที่แยกความเป็นคนและสัตว์ออกจากกัน เมื่อพิจารณาถึงสิ่งที่อยู่รอบตัวเราก็จะเห็นว่า บ้านเมืองปัจจุบันอันประกอบด้วยความเจริญต่างๆและตึกสูงมากมาย มีระบบการคมนาคมขนส่งที่ก้าวหน้าทั้งรถไฟฟ้าลอยฟ้าและใต้ดิน มีระบบการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนา ปรัชญา ศิลปวัฒนธรรม และฯลฯ ล้วนก่อตัวขึ้นหรือถูกสร้างขึ้นจากอำนาจจากรากฐานของพลังความคิดทั้งสิ้น เราอาจอาจแบ่งความคิดออกเป็น ๖ ลักษณะ ได้แก่


          ลักษณะแรก คือ คิดฝัน (Day dream) หมายถึง ปล่อยความคิดให้ล่องลอยไปตามอารมณ์ แม้จะมีความสุขไม่น้อยกับความคิดนั้นแต่ยังไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ เพราะยังไม่ได้ลงมือกระทำให้เป็นจริงจึงเป็นเพียงการวาดวิมานในอากาศเท่านั้น

          ลักษณะที่สอง คือ คิดจำ (Remember) หมายถึง ความจดจำสิ่งใหม่ๆ หรือการระลึกถึงความจำเก่าๆที่ผุดขึ้นมาตามแต่โอกาสที่เหมาะสม

           ลักษณะที่สาม คือ คิดคำนึง อยู่ระหว่างความคิดฝันและความคิดจำ เหมือนกำลังตกอยู่ในห้วงภวังค์ในความทรงจำนั้นยังไม่มีการคิดถึงแนวทางในการปฏิบัติ

          ลักษณะที่สี่ คือ คิดอ่าน เป็นการคิดแก้ไขปัญหาต่างๆหรือมีความคิดที่จะทำอะไร และอย่างไรต่อไปในอนาคต

          ลักษณะที่ห้า คือ คิดเห็น (Idea) ได้แก่ การตั้งข้อสังเกตต่างๆเกี่ยวกับสถานการณ์ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งความคิดเห็นนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพแวดล้อมและกาลเวลา การยืนยันความคิดเห็นของตนส่วนมากมาจากความเชื่อ (belief) ยังไม่ใช่มาจากเหตุผลที่ได้รับการค้นคว้าอย่างแท้จริง

          ลักษณะที่หก คือ คิดค้น (Research) คือ ความคิดอันละเอียดรอบคอบ อย่างถี่ถ้วน และพยายามแก้ไขปัญหาต่างๆจากการศึกษาค้นคว้าอย่างลึกซึ้ง

          ความคิดจึงหลายระดับระดับหลายขั้นนับจากไร้สาระไปจนถึงจริงจัง โดยรวมถือว่าความคิดเป็นของประเสริฐคู่ควรกับความเป็นมนุษย์ สมดังคำของ P.S. Bailey ว่า “He most lives who thinks most –feels the noblest –acts the best.”

          บทความนี้จะพิจารณาจากภาพล้อและการ์ตูนการเมืองที่เสนอความคิดเห็นทางการเมืองและส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยสอดแทรกด้วยอารมณ์ขันจาก นสพ. “ภาพกาตูน”(สะกดตามเอกสารต้นฉบับ) แถลงสารโดย นายฟัก ณ นคร พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร พ.ศ. ๒๔๘๑

          ผู้แทนราษฎรสมัยแรก
          ความเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ ดำเนินไปอย่างสืบเนื่อง กล่าวคือ ในวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้คณะราษฎรเข้าเฝ้าที่วังสุโขทัย โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้แทนคณะราษฎรได้นำพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวขึ้นทูลเกล้าฯถวาย จากนั้นในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว จึงถือว่าประเทศสยามมีรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศเป็นฉบับแรกในวันดังกล่าว ต่อมาวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ คณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารที่มีพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าจึงลงนามแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาเป็นการชั่วคราวแล้วประกาศให้มีการเลือกตั้ง“ผู้แทนตำบล” ให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนราษฎรทางอ้อมเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๖ ก่อนที่จะเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรชุดแรกจากประชาชนโดยตรงเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐

          มีข้อสังเกตว่า ระยะเวลาการตีพิมพ์เผยแพร่ของหนังสือพิมพ์ “ภาพกาตูน” ใกล้เคียงกับยุคสมัยทางการเมืองซึ่งสื่อมวลชน (สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๒๖) ซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ “รวบรวมรายชื่อสส.และสมาชิกสภาสูงตั้งแต่พ..ศ. ๒๔๗๕ ถึง ๑๘ เมษายน ๒๕๒๖” ขนานนามว่า “ยุคประชาธิปไตยโชยกลิ่น” และถ่ายทอดข้อมูลมาจากเอกสารชั้นต้นชิ้นหนึ่งว่าในวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๑ นั้น

          “นายถวิล อุดล สส.ร้อยเอ็ดกับพวกเสนอญัตติขอแก้ไขข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับวิธีเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณโดยเสนอรายละเอียดทั้งรายรับรายจ่ายตามงบประมาณอย่างชัดแจ้ง เมื่อมีการลงมติด้วยวิธีลงคะแนนลับแล้ว ปรากฏว่าที่ประชุมเห็นชอบด้วยคะแนน ๔๕ ต่อ ๓๑ ซึ่งขณะนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ยอมรับใบลา จึงโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาในวันที่ ๑๑ กันยายน เพื่อให้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่ภายใน ๙๐ วัน นั่นคือ วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๑ การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งโดยตรง คือราษฎรเลือกผู้แทนราษฎรโดยวิธีแบ่งเขต แต่ละเขตให้เลือกผู้แทนราษฎรได้ ๑ คน และถือจำนวนราษฎร ๒ แสนคนต่อผู้แทนราษฎร ๑ คน”

     หน้าปกของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ เป็นภาพการ์ตูนว่าด้วยความเป็นอยู่ของสมาชิกใน ๓ สภา

       ภายในเล่มมีคำอธิบายใต้ภาพแสดงความเป็นอยู่ของสมาชิกใน ๓ สภา ดังนี้


๑. สมาชิกสภาราษฎร์ สมัยนั้นได้เงินเดือนๆละ ๒๕๐ บาท ลงจากรถยนต์มีท่าทีสง่างามน่าเลื่อมใส

๒. สมาชิกสภาจังหวัด ได้เบี้ยประชุมครั้งละ ๒ บาท มีสถานะที่จะซื้อลูกสมอไปอมในสภาได้

๓. สมาชิกสภานคร ไม่มีเบี้ยประชุม กำลังควักทรัพย์ส่วนตัวให้ค่าพาหนะเพื่อรักษาเกียรติยศ แต่เดี๋ยวนี้ค่อยยังชั่วหน่อยที่มีตั๋วฟรีโดยสารรถรางชั้นที่หนึ่งได้ตลอดทุกสาย

          จากภาพดังกล่าวจะสังเกตได้ว่า แม้ศิลปินจะจงใจเขียนภาพล้อนักการเมืองทั้งสามประเภท แต่ที่มุมด้านซ้ายมือของภาพ มีรูปของชายจีนวัยฉกรรจ์สวมหมวกกุ้ยเล้ง ใบหน้ามีหนวดหรอมแหรม นุ่งกางเกงขาก๊วยสั้นเหนือเข่า สวมเสื้อฝ้ายรัดรูปเหมือนตัดใส่เอง ถือโทรโข่งกระดาษแข็งทรงกรวย? ลักษณะปากบาน คล้ายกับเป็นของทำใช้เอง คล้องกระบะขายลูกสมอให้แก่นักการเมืองคนหนึ่ง อย่างรู้ใจ ถูกที่ ถูกเวลาและถูกคน เพราะอาชีพนักการเมืองจำเป็นต้องใช้เสียงพูดค่อนข้างมากกว่าอาชีพอื่น จึงจำเป็นต้องขบเคี้ยวผลสมอให้ชุ่มคอกันกระหาย หรือ กันน้ำลายแห้ง

          ภาพคนสู้ชีวิตอย่างชาวจีนอพยพในสังคมไทยเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย ทั้งทำสวนผัก ขายแรงงาน ลากรถเจ๊ก ขายเต้าหู้ เต้าฮวย หรือ เต้าทึง จางหายไปจากท้องถนนมานานราว ๒-๓ ชั่วคนแล้วเป็นอย่างน้อย เนื่องจากคนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่มักจะประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ อันเกิดจากการการผสมผสานทางสายเลือดและวัฒนธรรมไทย และลูกหลานของพวกท่านเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยสามารถเบียดกายอยู่ในชุดเสื้อนอกผูกไทหรูหราอยู่ภายในรัฐสภาอย่างขวักไขว่ในฐานะของสมาชิกผู้แทนราษฎรผู้ทรงเกียรติ

          อีกมุมหนึ่ง เป็นภาพของสามล้อหนุ่มไทยสวมหมวกกะโล่ปีกแคบ นุ่งกางเกงขาสั้น กำลังทำท่าเหมือนจะปั่นรถพาผู้โดยสารมุ่งหน้าไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม อันเป็นที่ตั้งของรัฐสภาสยามสมัยนั้น แต่ก็ต้องรีบห้ามล้อแทบหัวทิ่ม พร้อมกับเบนหัวรถสามล้อออกไปทางขวาเล็กน้อย เพราะบังเอิญมีผู้ทรงเกียรติใส่สูทขวางทางอยู่ข้างหน้า

       
          ในหนังสือพิมพ์เล่มดังกล่าวข้างต้นยังมีภาพล้อและคำอธิบายสั้นๆถึงลักษณะของสส.หลายประการ เช่น พูดดัง ฟังง่าย ไร้ผล นั่นคือ อาชีพสส.เป็นอาชีพที่ต้องพูดอย่างเดียวและแม้จะอ้างหลักการ อย่างไร คำตอบที่มักจะได้รับมักจะเป็นคำพูดซ้ำๆซากๆว่า “ไม่รับหลักการ ยังไม่ทำ กำลังดำริห์อยู่ และยังไม่มีงบประมาณ” เป็นต้น
ภาพสะท้อนภาพให้เห็นว่า แม้นักการเมืองท่านนี้ที่ปกเสื้อเขียนว่า สส. ๑อภิปรายจน “คอแตก”
         ผลที่ตามมาทำให้หนังสือพิมพ์สะท้อนภาพให้เห็นว่า แม้นักการเมืองท่านนี้ที่ปกเสื้อเขียนว่า สส. ๑ จะอภิปรายจน “คอแตก” เช่นที่เห็นแต่คำตอบที่ได้รับจากผู้กุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรก็คือ ยัง “ไม่รับหลักการ...ฯลฯ .! ” จนเป็นเหตุเพื่อนร่วมสภาฯ ต้องพกลูกสมอเพื่อใช้บำรุงลูกคอก่อนย่างเท้าเข้าไปปฏิบัติหน้าที่อันทรงเกียรตินั้นต่อไป


     อย่างไรก็ตาม การศึกษาภาพล้อและการ์ตูนการเมืองในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากจะเป็นการเสียดสีในเชิงขบขันแล้วเป็นภาพสะท้อนเหตุการณ์ ความคิด และวัฒนธรรมของคนในสมัยนั้นได้อีกด้วย



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...