พระราชนิยมด้านการถ่ายภาพยนตร์ |
รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ กับเด็กๆที่ทรงเลี้ยง |
โดย รศ.ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล
ด้วยพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดกิจกรรม "วันเด็กแห่งชาติ" ขึ้นทุกปีในวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม จึงขอนำคำบอกเล่าของเด็กๆ ในพระราชอุปการะของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาประกอบเป็นเรื่องให้เด็กๆที่ไปร่วมกิจกรรมได้ทราบถึงพระเมตตามหากรุณาธิคุณแก่เด็กๆ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงชุบเลี้ยงเด็กมาตั้งแต่มิได้ทรงอภิเษกสมรสและเมื่อทรงอภิเษกสมรสแล้วก็ทรงชุบเลี้ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยมา จึงมีเด็กหลายรุ่นด้วยกัน เป็นครอบครัวใหญ่แสดงว่าทรงรักเด็กและโปรดเด็กมาก
ทรงเลี้ยงเด็กอย่างไร?
"ทรงเลี้ยงอย่างใกล้ชิดอยู่กับท่านตลอด ยกเว้นตอนไปเรียนหนังสือและรับประทานอาหารแต่เวลาน้ำชา (บ่ายๆเย็นๆ) ก็ร่วมด้วยเสมอ มีจานช่องแจกแต่ละคน...
สำหรับกิจวัตรของพวกเรานั้น ในตอนเช้าพอสมเด็จฯ เสด็จเข้าข้างใน ก็เป็นเวลาของพวกเด็กๆจะเข้าเฝ้าในห้องบรรทม เสวยพระกระยาหารในนั้น พระกระยาหารนี้จัดในถาด มีโต๊ะเตี้ยๆรองบนพระที่บรรทม มีกาแฟและขนมปังกรอบต่างๆ เนยสด ตับบด ไข่ดูเหมือนไม่มี พอเสวยเสร็จเขาก็ยกลงมาให้เราได้กินกันพวกเราก็ 'โจ๊ะ' (กิน) กันสนุกมาก มีขนมปังกรอบรสวิเศษต่างๆ เช่น Melin Food รสคล้ายๆโอวันติน หอมน้ำตาลไหม้ ซึ่งบัดนี้ไม่มีขายแล้ว Digestive และขนมปังข้าวเกรียบขนาดนิ้วมือ ไส้เนยแข็ง และไส้ช็อกโกแลต พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงเพลิดเพลินกับการรุมกัน 'โจ๊ะ' ของพวกเรา บางคราวขณะเสวยบางคนพอเห็นทรงหยิบขนมปังกรอบจะเสวยก็มองด้วยความเสียดายมัน ทรงสังเกตเห็นนัยน์ตาของเขาก็ทรงพระสรวลแล้วทรงวางลง ไม่เสวย พร้อมกับรับสั่งว่า 'ไม่กินละ ไว้ให้แกกิน' พวกเราก็ฮากันลั่น ตอนเช้านั้นโดยมากพวกเราก็คุยกับท่าน แต่ส่วนมากคุยกันเอง หรือเล่นเกมส์อะไรกัน ซึ่งเป็นแผ่นกระดาษ เช่น เสือตกถัง เป็นต้น...
สมัยนั้น ยังไม่มีสระว่ายน้ำในบ้าน ที่พระที่นั่งอัมพรสถาน มีเป็นสระแรกในเมืองไทย เครื่องกรองน้ำและสารเคมีฆ่าเชื้อโรคก็ยังไม่มี ก็ยังโปรดทรงลงเล่นน้ำกับพวกเด็กๆเสมอ แม้ว่าน้ำจะสกปรกมีกบเขียดลงไปไข่เต็ม ท่านก็ทรงสนุกสนานกับพวกเราได้เสมอ...บางวันก็โปรดให้เด็กๆแจวเรือจากคลองในสวนดุสิตออกไปที่เขาดินวนาตอนเย็นและกลับตอนค่ำ " (ม.จ.สีดาดำรวง ชุมพล 'อัตตชีวประวัติ ม.จ.สีดาดำรวง ชุมพล' ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพม.จ.สีดาดำรวง ชุมพล เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2533,กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์กรุงเทพฯ,2533,หน้า 45.)
ก่อนสรงน้ำกลางคืน"ทรงเล่านิทานแฝงคุณธรรม เช่น เรื่องทาร์ซานให้เด็กฟังเป็นตอนๆไปซึ่งเด็กๆชอบฟังเป็นพิเศษ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและการผจญภัยในป่า...ทรงทำเสียงประกอบตามบทบาทของตัวละครด้วย เป็นการเพิ่มความสนุกสนานมากยิ่งขึ้น แต่มีเสียงหนึ่งภาษาอังกฤษสะกดว่า 'GRRR...' เป็นเสียงร้องของสิงโต ผมทำเสียงคำรามว่า
'เกร๋ออ...'
พระเจ้าอยู่หัวได้ยินก็รับสั่งว่า 'เออใช่ ฉันอ่านตั้งนานไม่รู้ว่าจะทำเสียงยังไง' แล้วต่อมาศัพท์นี้ก็ใช้กันในพระราชสำนักให้หมายถึงความไม่พอใจหรือดกรธเคือง" (ม.จ.การวิก จักรพันธุ์. 'นรุตม์'ลำดับเรื่องใน ใต้ร่มฉัตร,กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์,2539.)
กิจกรรมหนึ่งที่เด็กๆชอบมากและรอคอยก็คือ
"วันพุธ พระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯจะเสด็จไปยังศาลาอเนกประสงค์เพื่อทอดพระเนตรหนัง เสด็จฯถึงที่ประทับ 19.00 นาฬิกา ก็เริ่มฉายข่าวรอบโลก ซึ่งเด็กดูบ้างไม่ได้ดูบ้าง คอยรายการต่อไป ซึ่งเป็นหนังตลกกับการ์ตูน เด็กทุกคนดูกันอย่างสนุกสนานเฮฮาเต็มที่ ลำดับต่อไปคือหนังเรื่อง ถ้าเป็นหนังชีวิต หรือหนักๆ หน่อย พวกเด็กๆก็หลับกันหมด จนถึง 23.00 นาฬิกา ก็ตื่นเพราะได้กลิ่นของว่าง อันที่จริงไม่ได้สนใจของคาวเท่าไหร่นัก สิ่งที่คอยอยู่คือ ไอศกรีมโซดา ซึ่งเป็นของใหม่ในยุคนั้น..." (ม.จ.การวิก จักรพันธุ์ใน อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรานนท์ธวัช ณ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 8 ธ.ค. 2533,กรุงเทพฯ: หจก.กุ๊ดวิลแอดเวอร์ไทซิ่ง,2533 หน้า 48.)
หนังหรือภาพยนตร์สมัยนั้นเป็นหนังเงียบ คือไม่มีเสียง เวลาฉายจะเห็นแต่ภาพเคลื่อนไหวไปมาบนจอเท่านั้น บางคราวจะทรงบรรเลงเพลงประกอบด้วยพระองค์เองด้วยซออู้ ซึ่งทรงเรียกว่า "ซอตุ๋น" เพราะมีขนาดเล็ก คันสั้นประมาณหนึ่งฟุตครึ่งเท่านั้น เวลาสีต้องหดนิ้วเบียดกัน จึงสียากกว่าปกติ แต่ก็ทรงพระอัจฉริยภาพ คือ ทรงได้คล่อง อีกทั้งทรงใช้ซอนี้ในการทรงพระราชนิพนธ์เพลงไทยเดิมด้วย รับสั่งว่า เสียงค่อยดี ไม่หนวกหูผู้อื่น" (ม.จ.สีดาดำรวง ชุมพล อ้างแล้ว,หน้า 48.)
การดูภาพยนตร์นี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ลูกเสือในการสวนสนามเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2470 ความว่า :
"ถ้าเจ้าดู (หนัง) ด้วยความสังเกตอาจนำประโยชน์มาได้เป็นอันมาก สังเกตดูเวลาดูหนังที่มาจากอเมริกา เจ้าเคยนึกหรือไม่ว่า ทำไมจึงเจริญได้อย่างยิ่ง เมื่อไม่นานมานี้ไม่กี่ร้อยปี ประเทศอเมริกาเป็นป่าเสียด้วยซ้ำ บางคนมีรถคันหนึ่ง ม้า 2 ตัว มีลูกเมียครอบครัว เขาสู้ออกไปบุกป่าฝ่าดง... เขามีความเพียรพยายามและกล้าหาญนั่นแหละเป็นทุนสำคัญ ถ้าเราใช้ความพยายาม เช่น พวกอเมริกันในหนังเขาบ้าง จะเป็นประโยชน์ยิ่งใหญ่" (อ้างในประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสในรัชกาลที่ 7 กรุงเทพฯ :วัชรินทร์การพิมพ์,2536.หน้า 110-112)
กิจกรรมเสริมหลักสูตรและทัศนศึกษา
เห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชทัศนะเกี่ยวกับการศึกษาหาความรู้ว่าไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่แต่เพียงในห้องเรียนเท่านั้น เด็กๆในพระราชอุปการะได้รับการฝึกฝนในด้านอื่นๆนอกเหนือจาการเรียนหนังสือ เรื่องของสุนทรียภาพก็ทรงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ โปรดเกล้าฯให้เด็กๆเรียนบรรเลงดนตรีไทยเดิม(ม.จ.การวิก จักรพันธุ์,ใต้ร่มฉัตร,หน้า 38.) บ่อยครั้งทรงดนตรีร่วมกับเด็กๆ ดังปรากฎในพระราชหัตถเลขาเมื่อครั้งประพาสเกาะชวา (ในอินโดนีเซียปัจจุบัน) ด้วยเรือพระที่นั่งกลางท้องทะเลว่า "บางเวลาก็สีซอเล่นกับเด็กๆบ้าง แต่ซ้อมกันจริงจังไม่ได้เพราะไม่ครบวงเลย" อีกทั้งทรงบ่นว่า "พวกที่มาคราวนี้ ออกจะขาดพวกเฮฮาไปสักหน่อย ออกจะขรึมๆ กันเสียโดยมาก" และมีพระราชปรารภต่อไปว่า "ถ้าไม่มีเด็กมาด้วยเห็นจะเงียบมาก สำหรับฉันเองนั่งดูเด็กเล่นอะไรบ้าๆก็สบายพอแล้ว เวลาเย็นก็เล่านิทานให้เด็กฟัง" (พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตในคราวเสด็จประพาสเกาะชวา ปีมะเส็ง พ.ศ. 2472, พระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงพิมพ์แจกในงานอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับคืนสู่พระนคร.กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรนิติ,2492,หน้า 1-2.) แสดงให้เห็นชัดแจ้งถึงพระอุปนิสัยรักเด็ก เมื่อเสด็จฯถึงสิงคโปร์ก็ทรงพาเด็กๆไปช้อปปิ้งด้วย ดังความในพระราชหัตถเลขาว่า "ฉันพาเด็กๆไปซื้อของเล่น ไม่มีอะไรดีเลย แต่เด็กสนุกกับการขึ้นลิฟต์" (เรื่องเดียวกัน,หน้า 8)
การที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เด็กๆได้โดยเสด็จฯในขบวนเสด็จฯประพาสประเทศเพื่อนบ้านเช่นนี้ นับว่าเป็นสิ่งที่ในปัจจุบันเรียกว่า "ประสบการณ์เสริมหลักสูตร" โดยแท้ เพราะเด็กๆจะต้องรู้จักที่จะวิสาสะกับผู้หลักผู้ใหญ่ชาวต่างประเทศ เด็กคนหนึ่งจำได้ว่า เมื่อครั้งโดยเสด็จฯไปอินโดจีน ซึ่งฝรั่งเศสครองอยู่นั้น "พระเจ้าอยู่หัวทรงสอนให้ส่งภาษาฝรั่งเศสกับเจ้าเมืองที่ให้ของขวัญแก่เด็กๆด้วยว่า" แมรซี โบคู ปัวร์ เลอร์ กาโด" ซึ่งฉันท่องเสียแทบแย่กว่าจะได้ไปแสดงกับเขา" (ม.จ.สีดาดำรวง ชุมพล อ้างแล้ว,หน้า 50.)
แสดงหนัง เล่นกีฬา
ครั้งเสด็จประพาสทางทะเลเมื่อปีพ.ศ. 2472 ทรงถ่ายทำภาพยนตร์ขนาด 16 ม.ม. ขึ้นที่เกาะพงัน ในเกาะสมุย โดยทรงพระราชนิพนธ์บทภาพยนตร์เป็นนิทานให้เด็กๆเป็นผู้แสดงหลัก ภาพยนตร์เรื่อง "แหวนวิเศษ" มีเรื่องย่อว่า มีพ่อเลี้ยงใจร้ายหมายจะพาลูกเลี้ยงไปปล่อยเกาะเพราะขี้เกียจเลี้ยง เมื่อไปถึงเกาะแล้วปรากฎว่าเด็กๆ ไปเจอนางเงือกซึ่งมอบแหวนวิเศษให้วงหนึ่งสามารถชี้อะไรก็ได้สิ่งนั้นตามประสงค์ พ่อเลี้ยงเห็นแล้วเกิดความโลภอยากขโมยแหวน เลยถูกชี้ให้กลายเป็นสุนัข ต่อมาพ่อเลี้ยงสำนึกตัวและชวนกลับบ้าน แต่พอจะลงเรือแหวนวิเศษเกิดตกน้ำ ลูกชายคนหนึ่งจะงมหา แต่ลูกสาวกลับบอกว่า "อยากงมเลย ของผีสาง หายไปก็ดีแล้ว" ซึ่งพ่อเลี้ยงก็เห็นด้วยโดยกล่าวว่า "สาธุพ้นทุกข์พ้นร้อนไปที..." (ม.จ.การวิก จักรพันธ์) เห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงมีพระอัจฉริยภาพในการเลี้ยงดูเด็ก ทรงคิดโครงการเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กๆ มีประสบการณ์การแสดง แต่เพื่อให้ง่ายจึงทรงให้แสดงตามนิสัยของแต่ละคน ทรงจัดให้เด็กได้รู้จักธรรมชาติ ได้รู้จักหาผลหมากรากไม้ ได้สนุกสนานเล่นปีนน้ำตก ได้รูจักดูแลกันเอง ใครรั้งท้ายอยู่ก็ต้องคอยเรียก อีกทั้งต้องเฝ้าระวังป้องกันพวกตนเองจากพ่อเลี้ยงใจร้าย ซึ่งเป็น
"ผู้ปกครอง"ท้ายที่สุด ทรงแฝงการสอนถึงเมตตาธรรม และมิให้ลุ่มหลงในอำนาจของเวทย์มนต์คาถา สำหรับเด็กโตก็มีบทบาทในการถ่ายภาพยนตร์และภาพนิ่ง ทุกอย่างที่ทรงสอน ยังคงใช้การได้ดีในปัจจุบ้น 80 ปีให้หลัง
ในด้านพลศึกษาก็มิได้ทรงละเลยเด็กๆ ได้รับการส่งเสริมให้ได้เล่นกีฬาและดูแลเล่นกีฬา ตลอดจนโดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงกีฬา เช่นกอล์ฟด้วย ดังปรากฎว่าเด็กๆในพระราชอุปการะเล่นกีใปนกันทุกคน มีพระบรมราชวินิจฉัยไว้อย่างสำคัญว่า :
"การเล่นเกมนั้น ทำให้กำลังบริบูรณ์และกล้าหาญ... แต่นอกจากนั้นยังมีผลยิ่งขึ้น...เพื่อจะฝึกให้เด็กรู้จักการรักเหล่ารักคณะ ให้รู้จักช่วยเพื่อน...ให้นึกถึงส่วนใหญ่ไม่ใช่นึกแต่ตัวคนเดียว...ต้องเล่นเกมให้ถูกข้อบังคับจริงๆ และจะโกงไม่ได้เลย... คนไหนที่มีน้ำใจซื่อสัตย์สุจริตทำอะไรตรงไปตรงมา เขาเรียกว่า เป็นผู้รู้จักเล่นเกม...แปลว่าเล่นเกมถูกต้อง รู้จักรักและนึกถึงการช่วยเหลือเพื่อนของตน ไม่ใช่เอาเปรียบ เป็นของสำคัญมากในการอบรมนิสสัยอย่างดี" (พระราชดำรัส พระราชทานแก่ครู และนักเรียน ร.ร.วชิราวุธวิทยาลัย 10 พ.ย. 2471 ;ว่าด้วยความเป็นนักกีฬาในประมวลพพระราชดำรัส, อ้างแล้ว,หน้า 125.)
คนที่สมบูรณ์
สรุปได้ว่า พระราชทานการศึกษาอบรมเลี้ยงดูเด็กในพระราชอุปการะให้เป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ คุณธรรม และวิชาความรู้ อีกทั้งยังทรงพาไปทัศนศึกษาและให้ได้ทำจริงปฎิบัติจริงด้วย เด็กในพระราชอุปการะคนหนึ่งเล่าถึงเมื่อเขาอายุประมาณ 12 ปี และไปส่งเสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 ว่า "มีความรู้สึกว่าได้รับความทุกข์ทรมานและเศร้าโศกเสียใจเป็นที่สุดนับแต่เกิดมา ถึงกับลืมเกรงกลัวพระราชอาญา ได้วิ่งไปกอดพระบาทพระเจ้าอยู่หัวแล้วร้องไห้ด้วยเสียงอันดัง ผู้ที่ได้เฝ้าส่งเสด็จอยู่ขณะนั้นถึงกับน้ำตาซึมไหลออกมาด้วยความรันทดใจแทบไม่เว้นตัว พระเจ้าอยู่หัวทรงลูบหัว แล้วรับสั่งว่า "ตาหนูฉันจะให้แกตามไปทีหลัง" (ที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ นายพานทอง ทองเจือ ณ เมรุวัดธาตุทอง วันที่ 7 พ.ย. 2520,กรุงเทพฯ : เอกรัตน์การพิมพ์,2520.หน้า 4-5.) มาบัดนี้เขาคงจะกำลังรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทอยู่บนสวรรค์กระมัง
แม้เด็กๆในพระราชอุปการะแทบทุกท่านจะหาชีวิตไม่แล้ว ความทรงจำของท่านเหล่านั้นเกี่ยวกับพระราชหฤทัยใส่ในเด็กๆ ควรที่จะได้รับการเล่าขานสืบไป เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ และเพื่อเป็นแบบอย่างสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองในปัจจุบัน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น