โดย รศ.ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล
วันที่ 30 พฤษภาคมของทุกปี ทางราชการกำหนดให้เป็นวันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เสด็จสวรรคตในวันที่ดังกล่าว เมื่อ พ.ศ. 2484 ณ ประเทศอังกฤษ การถวายพระเพลิงใน 4 วัน ต่อมาที่ ฌาปนสถานโกลเดอร์กรีน ชานกรุงลอนดอน เป็นไปอย่างเรียบง่ายไม่มีพิธีสวดอภิธรรม ไม่มีเสียงประโคมย่ำยาม และแน่นอนที่สุดไม่มีการสร้างพระเมรุมาศอันวิจิตรสมพระเกียรติยศ ความเรียบง่ายอันจำเป็นในภาวะสงครามโลกครั้งที่สอง กลับกลายเป็นการถวายพระเพลิงที่สอดคล้องกับพระราชอุปนิสัย มีแต่การอ่านคำถวายราชสดุดี และการบรรเลงเพลงคลาสิคที่โปรดปรานมากขณะที่พระบรมศพเคลื่อนเข้าสู่เตาไฟฟ้า
ณ ที่นั้น นอกจากสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีคู่พระบารมีแล้ว มีแต่ข้าราชบริพารผู้ใกล้ชิดซึ่งหลายพระองค์เป็นเด็กในพระราชอุปการะมาตั้งแต่ยังเยาว์ ด้วยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเด็กๆมาก ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในการอบรมสั่งสอนอย่างทรงเป็นกันเองโดยตลอด อีกทั้งทรงประกอบพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับเยาวชนเป็นนิจ เช่น เสด็จพระราชดำเนินไปในงานประจำปีของวชิราวุธวิทยาลัย และพระราชทานธงลูกเสือ เพื่อรำลึกถึงพระองค์ในวันพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในภาวะการณ์ที่มีกระแสข่าวหนาหู เนื่องด้วยความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จึงขออัญเชิญพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานธงลูกเสือ กองฝึกหัดครู เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงสองสัปดาห์มานำเสนอเป็นข้อคิดคำนึง
พระบรมราโชวาทองค์ดังกล่าว เริ่มต้นที่การสรรเสริญ และเตือนสติผู้ที่กำลังจะเป็นครูว่า
"การที่จะเป็นครูสอนเด็ก อบรมเด็ก ที่จริงเปนของสำคัญมาก เปนอาชีพที่ยากและย่อมให้ผลแก่ประเทศ...เพราะว่าถ้าเราฝึกเด็กๆดี ก็อาจจะหวังว่าประเทศบ้านเมืองของเราจะมีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป ถ้าเราฝึกพลาดพลั้งไปด้วยรู้เท่าไม่ถึงการ หรืออย่างไรก็ตาม ก็อาจจะทำให้ได้ผลที่เลว และอาจเป็นอันตรายอย่างยิ่ง...ผู้ที่จะสอนนั้นจะต้องเข้าใจและรู้สึกซึมซาบในเรื่องที่จะสั่งสอนเขา และประพฤติได้จริง มีนิสสัยเช่นนั้นจริงๆ จึงจะได้ผลดี..."
แล้วทรงยกตัวอย่างว่า
"...เช่น สอนให้รักชาติ สาสนา พระมหากษัตริย์ ก็อาจสอนให้ผิดได้เหมือนกัน...ในการสอนให้รักชาตินั้นเราไม่ประสงค์รักชาติเราแต่ให้เกลียดชาติอื่น... เราต้องสอน ถ้าใครมาย่ำยีเราๆต้องไม่ยอม เราจะสู้ แต่เราก็ต้องไม่คิดที่จะเบียดเบียนใคร และถ้าชาติอื่นเขาดี หรือควรนิยม เราควรดูว่าเขาทำดีอย่างไร เพื่อเราจะได้ทำให้ดียิ่งไปกว่า หรือให้คล้ายคลึงเขาบ้าง ต้องมีน้ำใจไมตรีต่อชาติอื่นทั่วไป...
...การสอนสาสนา เราจะยกย่องว่าสาสนาของเราว่าดี แล้วปรักปรำสาสนาอื่นไม่ถูก เราไม่ควรดูถูกสาสนาอื่นๆ สาสนาไม่ว่าสาสนาไหนย่อมมีความมุ่งหมายอย่างเดียวกันทั้งสิ้น คือย่อมสอนให้คนมีที่พึ่งเป็นเครื่องนำชีวิตให้เราประพฤติดี มีความมุ่งหมายดีต่อกันทั้งนั้น...ความประสงค์นั้นต้องการให้เด็กมีสาสนาเป็นของสำคัญ ถ้าเด็กไม่มีสาสนาเลย เปนของเสียหาย เพราะไม่มีอะไรเป็นสรณะ เปนเครื่องนำชีวิต อาจจะประพฤติชั่วร้ายต่างๆ...
...การสอนให้รักพระมหากษัตริย์ เราอาจจะสอนไปในทางที่ให้เกรงกลัวเท่านั้น คือ เรายกขึ้นสอนแต่ในทางพระเดช ไม่ยกพระคุณ เราจะยกเช่นนั้นเปนผิดมาก ถ้าเราพิจารณาดูในพงศาวดารของเราเพียง 150 ปีที่แล้วมา ( พระบรมราโชวาทเมื่อพ.ศ.2475) ก็จะเห็นได้ว่า พระคุณของพระเจ้าแผ่นดินที่มีแก่ประเทศสยามและคนไทยทุกคนนั้นมากมายเพียงไร แต่พระเดชที่ทรงมีนั้น โดยมากทรงใช้ให้เป็นพระคุณนั่นเอง คือทรงใช้ปราบปรามคนพาลที่เบียดเบียนประชาชน ไม่ให้ประชาชนได้รับความสุข นั่นเปนวิธีที่ใช้พระเดช..."
ในส่วนของพระองค์เองนั้น เมื่อมีการก่อการยึดอำนาจเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มิได้ทรงเลือกที่จะใช้พระเดชกับคณะผู้ก่อการ หากแต่ทรงอนุโลมตามความประสงค์ ทั้งยังได้ทรงใช้พระคุณ พระราชทานอภัยโทษ ครั้นในเดือนตุลาคม ปีถัดมา (พ.ศ. 2476) เมื่อมีการสู้รบกันระหว่าง "คณะกู้บ้านเมือง" นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช กับฝ่ายทหารของรัฐบาล พระองค์ไม่ทรงมีพระเดชอยู่ในพระหัตถ์แล้ว เนื่องด้วยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็ได้ทรงใช้พระคุณร้องขอไม่ให้รบกันให้เสียเลือดเนื้อคนไทยด้วยกัน หากแต่ไม่เป็นผล ท้ายที่สุดรัฐบาลชนะ และได้ออกกฎหมายจัดตั้งศาลพิเศษพิจารณาพิพากษาคดีกบฎบวรเดชเป็นการเฉพาะ โดยไม่ให้อุทธรณ์ฎีกา ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นไป "ในทางที่ผิดยุติธรรมของโลก คือไม่ให้โอกาสต่อสู้คดีในศาล" และได้ทรงขอร้องให้เลิกใช้วิธีนั้น รัฐบาลก็ไม่ยอม พระมหากษัตริย์ผู้ไม่ทรงมีพระเดชเหลืออยู่เพื่อใช้ในทางที่เป็นพระคุณได้ทรงใช้พระคุณเพียงอย่างเดียว แต่ไม่เป็นผล
ท้ายที่สุด จึงทรงรันทดพระราชหฤทัยยิ่งที่ไม่ทรงสามารถปฎิบัติพระราชภารกิจพระมหากษัตริย์สยามอันมีมาแต่โบราณในการให้ความคุ้มครองแก่ประชาชน ให้ได้รับความยุติธรรรมได้สำเร็จ จึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ ดังความสำคัญในพระราชหัตถเลขาในวาระนั้นตอนทีมักจะอ่านผ่านๆกันไปที่ว่า
"...เมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เป็นต้นไป..."
การถวายราชสักการะ ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่หน้าอาคารรัฐสภา ในวันที่ 30 พฤษภาคม ย่อมจะเป็นเพียงพิธีกรรม หากเราท่านไม่ทำความเข้าใจให้ถ่องแท้กับพระบรมราโชวาทที่อัญเชิญมานี้ และกับพระราชธรรมจริยาที่ทรงยึดถือตราบแม้ จนวาระสุดท้ายแห่งรัชกาล
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น