โดย ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร
(ตีพิมพ์ครั้งแรกในรายงานกิจการประจำปี 2549 มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเป็นครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๑ เพื่อพระราชทานในงานพระราชกุศลวิสาขบูชา และที่สำคัญคือพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์คำนำในหนังสือดังกล่าวด้วยพระองค์เอง นับแต่เล่มแรก คือหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่องพุทธมามกะ (๒๔๗๑) ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระอุปัชฌาย์ จนถึงเล่มที่ ๖ คือหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เรื่องทิฏฐธรรมิกัตถะประโยชน์ ๔ ประการ (๒๔๗๖) ของนายจั๊บ อึ๊งประทีป ครูโรงเรียนมัธยมหอวัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นปีที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังทวีปยุโรปเพื่อทรงเจริญพระราชไมตรีและไปรักษาพระเนตร จนถึงทรงสละราชสมบัติเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๗๗
“พุทธมามกะ” กับแรงบันดาลพระทัยในการจัดพิมพ์หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก
พระราชกรณียกิจข้างต้นนับเป็นพระราชกุศลจริยาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มให้มีขึ้น เพื่อเป็นกิจกรรมส่งเสริมเผยแผ่พระพุทธศาสนา ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์คำนำ ตอนหนึ่งว่า
“...การที่ข้าพเจ้าได้ให้จัดพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นคราวนี้ก็โดยที่ข้าพเจ้าระลึกถึงเมื่อเวลาที่ข้าพเจ้าบวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เสด็จอุปัชฌาย์เคยประทานโอกาสให้ข้าพเจ้ากราบทูลความเห็นของข้าพเจ้าในเรื่องสาสนาต่างๆ ตามใจนึกเป็นเนืองนิตย์ ข้าพเจ้าเคยกราบทูลแก่ท่านว่า ข้าพเจ้าเห็นว่าพระพุทธสาสนานั้นเป็นสาสนาที่ดีเยี่ยมและน่าเลื่อมใสที่สุดก็จริง แต่เป็นสาสนาที่
ทำการเผยแผ่น้อยมากและวิธีสั่งสอนก็สู้เขาไม่ได้…”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องพระราชประสงค์ชัดเจนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ด้วยเหตุที่ทรงตระหนักถึงปัญหาความตกต่ำทางจริยศึกษาและศาสนศึกษาในหมู่เยาวชนไทยกว่า ๗๐ปีมาแล้ว โดยทรงวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาไว้ดังนี้
“ …การสอนเด็กต้องนับว่าบกพร่องที่สุด เมื่อก่อนนี้ยายแก่หรือพี่เลี้ยงในบ้านก็ได้พยายามสอนบ้างอย่างงูๆ ปลาๆ ครั้นมาบัดนี้ต้องนับว่ากลับซุดโซมลงไปอีก เพราะการสอนในบ้านก็เกือบจะไม่มี การสอนในวัดก็น้อยลง เพราะมีโรงเรียนอื่นๆแทนพระสอนหนังสือ ตามโรงเรียนก็หาได้สอนสาสนาอย่างจริงจังไม่ จนเด็กที่สวดมนต์ได้มีน้อยที่สุด ไหว้พระไม่เป็นก็มี...”
ในปัจจุบัน ภาวะวิกฤตทางจริยธรรมในสังคมไทยมีความรุนแรงยิ่งกว่าสมัยของพระองค์หลายเท่านัก ทั้งผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชนไทยต่างหมกหมุ่นอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ห่างไกลจากพระพุทธ
ศาสนามากจนน่าเป็นห่วง มีคดีฆ่า ข่มขืน คดียาเสพติด การพนันและปัญหาอาชญากรรมสืบเนื่องมากมาย ดังปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชนแทบไม่เว้นวัน ดังนั้นการย้อนกลับไปพิจารณาถึงพระราชกุศลจริยาในการที่โปรดเกล้าให้เผยแพร่พระพุทธศาสนาโดยการจัดพิมพ์หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กจึงน่าจะให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อเยาวชนในสังคมไทย
สถานภาพของการศึกษาที่ผ่านมา
หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชกุศลวิสาขบูชา ระหว่างปีพ.ศ. ๒๔๗๑ -๒๔๗๗ มีการรื้อฟื้นมาตีพิมพ์ซ้ำ และอ้างอิงถึงในบทความต่างๆ ดังนี้
๑) ประมวลหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีเปิดอาคาร ประชาธิปก-รำไพพรรณี วันพฤหัสบดีที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗ ข้อดีของการตีพิมพ์ครั้งนี้คือ การนำหนังสือสอนพระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระองค์มาตีพิมพ์รวมเล่มอีกครั้งในคราวเดียวกัน ส่วนข้อด้อยคือ ไม่สามารถเผยแพร่สู่สาธารณชนได้อย่างกว้างขวางพิมพ์เพียง ๓๐๐ เล่ม
๒) บทความในวารสารไทย ปีที่ ๒๑ ฉ.๗๔ เรื่อง “พุทธมามกะพิธี : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดย ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ได้ยกพระราชนิพนธ์คำนำของหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่องพุทธมามกะมาแสดง โดยระบุว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรสได้เคยทรงพระนิพนธ์หนังสือ ”พุทธมามกะ”มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ในบทความ “พุทธมามกะพิธี” ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ได้อัญเชิญพระราชนิพนธ์คำนำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่องพุทธมามกะมาแสดงทั้งหมดในบทความ ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจสับสนว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นมาใหม่อีกเล่มหนึ่งต่างหากได้
๓) บทความในวารสารศิลปกรรมปริทรรศน์ ปีที่ ๑๐ ฉ. ๑ (ส.ค. ๒๕๓๘) เรื่อง “ หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก” โดย พันเอก(พิเศษ) วัชระ คงอดิศักดิ์ ภาคีสมาชิกสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน ข้อดีของบทความนี้คือ ให้ข้อมูลประวัติของหนังสือและข้อเสนอแนะแต่ยังขาดการนำเสนอเนื้อหาอันทรงคุณค่าในพระราชนิพนธ์คำนำมาวิเคราะห์อย่างเหมาะสมเพียงพอ
๔) บทความในวารสารศิลปากร ปีที่ ๔๖ ฉ.๓ (พ.ค.-มิ.ย.๒๕๔๖) เรื่อง “หนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก” โดยลำดวน เทียรฆนิธิกุล บรรณารักษ์ ๗ สำนักหอสมุดแห่งชาติ มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับบทความของพันเอกวัชระ คงอดิศักดิ์ และได้เพิ่มรายชื่อหนังสือที่ได้รับรางวัลในแต่ละปี แต่ก็ยังคงขาดการวิเคราะห์เนื้อหาในพระราชนิพนธ์คำนำเช่นเดียวกัน
๕) เอกสารประกอบการสัมมนาวันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ณ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง “ หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเนื่องในวันวิสาขบูชา” โดย รศ. ม.ร.ว พฤทธิสาณ ชุมพล ข้อดีมีการนำพระราชนิพนธ์คำนำมาวิเคราะห์บ้างแล้ว แต่ยังไม่ครบทุกเล่มเพราะเป็นส่วนประกอบของการสัมมนาวิชาการ เรื่องการส่งเสริมพระพุทธศาสนาและประชาธิปไตย
วรรณกรรมข้างต้นที่กล่าวถึง ส่วนหนึ่งมีลักษณะเป็นเอกสารที่รวบรวมหนังสือเก่ามาตีพิมพ์ใหม่เพื่อรักษาของเก่าเอาไว้มิให้สูญหาย ส่วนหนึ่งเป็นบทความเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกส่วนหนึ่งเป็นบทความที่มุ่งกล่าวถึงความเป็นมาและคุณค่าของหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
สำหรับบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนมุ่งที่จะอธิบายบทพระราชนิพนธ์คำนำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เฉพาะเล่มที่ตีพิมพ์ขึ้นในรัชสมัยของพระองค์เท่านั้น เพื่อขยายองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับพระปกเกล้าศึกษาในด้านการสนับสนุนและเผยแพร่การสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เพื่อชี้ให้เห็นถึงพระราชศรัทธา พระมหากรุณาธิคุณและพระราชวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพระพุทธศาสนาและพสกนิกรของพระองค์
การเริ่มต้นประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก : กรอบโครงและหลักเกณฑ์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานหนังสือพุทธมามกะแก่คณะองคมนตรี เสนาบดี ข้าราชบริพาร และบุคคลผู้สนใจอื่นๆ ปรากฏว่ามีผู้สนใจอนุโมทนาพระราชดำริของพระองค์เป็นอันมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตยสภาดำเนินการจัด
ประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กขึ้น โดยทรงพระราชทานกรอบโครงในการจัดประกวดดังนี้
“... หนังสือสำหรับสอนพระสาสนาแก่เด็ก กระบวนแต่งต้องให้เหมาะแก่อายุ ทั้งถ้อยคำและเรื่องก็ให้พอแก่ความสามารถของเด็กจะเข้าใจได้จึ่งจะสมควรแก่การ มิใช่แต่ว่าเป็นนักปราชญ
แล้วจะสามารถแต่งหนังสือเช่นนั้นได้จึ่งมีพระราชดำริสั่งราชบัณฑิตยสภาให้ประกาศการประกวด
แต่งหนังสือสอนพระพุทธสาสนาแก่เด็ก สำหรับจะได้เลือกที่ตีพิมพ์พระราชทานในวันวิศาขบูชา
โดยข้อบังคับการประกวดดังกล่าวต่อไปนี้
ข้อ ๑ ใครๆ (นอกจากเป็นพนักงานตัดสิน) จะแต่งก็ได้ แต่กำหนดให้ส่งเข้าประกวดปี
หนึ่งเพียงคนละเรื่อง
ข้อ ๒ ให้ส่งหนังสือประกวดยังราชบัณฑิตสภาในระวางพรรษกาล คือ ตั้งแต่วันเข้าพระ
วรรษาเป็นที่สุด
ข้อ ๓ ขนาดหนังสือที่ส่งเข้าประกวดนั้นว่าโดยกำหนดพิมพ์ดีดในกระดาษฟลุสแคปหน้า
ละ ๒๐ บรรทัดเป็นเกณฑ์ ให้มีจำนวนอยู่ในระหว่างตั้งแต่ ๒๕ หน้าเป็นอย่างน้อยจนถึง ๓๐ หน้า
เป็นอย่างมากและฉะบับที่ส่งเข้าประกวดนั้นจะดีดพิมพ์หรือจะเขียนตัวบรรจงก็ได้
ข้อ ๔ ต้องแต่งเป็นภาษาไทยและอธิบายความให้ง่ายพอเด็กขนาดอายุ ๑๐ ขวบ
อ่านเข้าใจความได้
ข้อ ๕ เรื่องที่แต่งให้เป็นการสอนพระพุทธสาสนาตามหลักในพระไตรปิฎก และมิให้
กล่าวอธิบายความย่ำยีสาสนาอื่น...”
สำหรับกระบวนการพิจารณานั้น หนังสือราชกิจจานุเบกษาระบุว่า“ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตสภาเป็นพนักงานตรวจตัดสินตามวิธีซึ่งเห็นสมควร แล้วตัดสินตามวิธีซึ่งเห็นสมควร แล้วคัดที่ดีที่สุดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ๓ ราย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดรายใดยิ่งกว่าเพื่อน จะทรงเลือกพิมพ์เป็นหนังสือพระราชทานในวันวิศาขบูชา และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานรางวัลที่ ๑ ราคา ๒๐๐ บาท แก่ผู้แต่ง อีก ๒ ราย ที่รองลงมานั้นจะพระราชทานรางวัลที่ ๒ ราคารายละ ๑๐๐ บาท แล้วส่งหนังสือไปยังกระทรวงธรรมการ
"สาสนคุณ” พระนิพนธ์พระธิดาขององค์นายกราชบัณฑิตยสภาได้รับรางวัลที่ ๑ จากการประกวดหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กครั้งแรก
การประกวดหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กครั้งแรกในปีพ.ศ.๒๔๗๒ มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวด ๒๔ ราย จำแนกเป็นพระภิกษุ ๕ รูป บุคคลทั่วไปชาย ๑๖ คน บุคคลทั่วไปหญิง ๓ คน หญิงหนึ่งในสามคนนั้น คือ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล
หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่องแรกที่ได้รับคัดเลือกให้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ คือ หนังสือเรื่องสาสนคุณ พระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล เนื้อหาแบ่งออกเป็น ๗ บท คือ บทที่ ๑ คุณพระพุทธเจ้า บทที่ ๒ คุณพระธรรม บทที่ ๓ คุณพระสงฆ์ บทที่ ๔ ศีลห้า บทที่ ๕ คุณบุรพการี บทที่ ๖ คุณของศาสนา และบทที่ ๗ คุณพระมหากษัตริย์ พร้อมคำถามประจำแต่ละบท รวม ๖๗ หน้า มีสำนวนอ่านเข้าใจง่ายเหมาะสำหรับเด็ก
หลักฐานเอกสารของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ผู้นิพนธ์หนังสือสอนศาสนาแก่เด็กเรื่องสาสนคุณ ทรงอธิบายไว้ว่า
“...ส่วนรางวัลเรื่องสอนเด็ก, เผอิญข้าพเจ้าเขียนไว้ให้หลานๆอ่านในวันเสาร์วันอาทิตย์ว่า เราไหว้พระทำไมอยู่แล้ว ๙ -๑๐ หน้า พอประกาศชิงรางวัลออกมาก็เลยเขียนต่อให้ครบตามกำหนด จึงส่งเข้าประกวดได้เร็วทันเป็น No.๒ . เมื่อส่งแล้วก็ไม่ได้นึกว่าจะได้รางวัลนั้น, เป็นแต่ไม่สนุกที่ต้องปิดเสด็จพ่อ, เพราะท่านเป็นนายกกรรมการ ข้าพเจ้ารู้สึกอึดอัดด้วยไม่เคยทำเช่นนั้น จวนจะถึงวันตัดสินชี้ขาดว่าใครควรจะได้ที่ ๑ เขาก็ส่งมาแจกตามกรรมการใหญ่ ๓ ฉะบับที่อนุกรรมการเลือกขึ้นเสนอ. เสด็จพ่อทรงแล้วสรงน้ำมาเสวยเย็นกับลูกๆที่ข้างล่าง พอถึงโต๊ะท่านก็เล่าว่าตรวจหนังสือเด็กเพิ่งจบ แล้วตรัสต่อไปว่า’ใครหนอเขียน No ๒?’ เขาช่างร่อนมาให้เด็กเข้าใจดีจริงๆ พ่อตกลงใจให้ No.๒ เป็นที่ ๑ ข้าพเจ้ามือเย็นใจเต้นจนไม่รู้จะทำอย่างไร ... ข้าพเจ้าตื่นเต้นจนรู้สึกกลัวเสด็จพ่อ เหมือนเด็กที่ขโมยขนมกิน …”
จากบันทึกเรื่องสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุลข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าการตัดสินการประกวดหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กในสมัยนั้นมีความเที่ยงตรงอยู่พอควร เพราะนายกกรรมการผู้ตัดสินไม่ทราบมาก่อนว่าใครบ้างป็นผู้แต่งส่งเข้าประกวด
พระราชนิพนธ์คำนำของรัชกาลที่ ๗ ในหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก “สาสนคุณ”
พระราชนิพนธ์คำนำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือสาสนคุณมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่อง” วัฏฏะสงสาร” และ “กรรม” ดังนี้
“... วัฎฎะสงสาร และกรรมนี้เป็นความเชื่อที่เก่ากว่าพระพุทธสาสนา และเป็นของพราหมณ์ก็จริง แต่เป็นหลักสำคัญของพระพุทธสาสนา เพราะหนทางปฏิบัติของพระพุทธสาสนาก็เพื่อให้พ้นจากวัฏฏะสงสารอันเป็นความทุกข์ แต่สิ่งที่ดีประเสริฐยิ่งนั้นคือความเชื่อใน “กรรม” …ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นของประเสริฐยิ่ง ควรเพาะให้มีขึ้นในใจของคนทุกคน และถ้าคนทั้งโลกเชื่อมั่นใน “กรรม”แล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่า มนุสส์ในโลกจะได้รับความสุขใจขึ้นมาก ความเชื่อในกรรมนี้ไม่ใช่ความเชื่ออย่าง “Fatalist” และ.ไม่ควรจะเป็นอย่างที่เรียกกันว่า “แล้วแต่บุญแต่กรรม” เลยตรงกันข้ามควรจะเป็นสิ่งที่จะทำให้คนขวนขวายทำแต่กรรมดีโดยหวังผลที่ดี...เราเห็นได้ง่ายๆว่า ความผิดของเรานั้นได้รับผลทันที อย่างที่เรียกว่า ‘ กรรมตามทัน’ ...นอกจากนี้ควรสอนให้เด็กเคารพต่อ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ …”
พระบรมราโชบายข้างต้น แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเชื่อในคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรื่องกฎแห่งกรรม และต้องพระประสงค์จะให้ประชาชนของพระองค์เชื่อมั่นเช่นนั้นด้วย
“อริยทรัพย์” ผลงานชนะเลิศของกรรมการราชบัณฑิตยสภาผู้ปฏิเสธการรับพระราชทานรางวัลอันทรงเกียรติ
หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เรื่องต่อมาที่ได้รับรางวัลในปีพุทธศักราช ๒๔๗๓ คือ “อริยทรัพย์”
“อริยทรัพย์” สำนวนของพระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) ศาสตราจารย์ภาษาไทยและภาษาบาลีในราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้แต่ง ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ เนื้อหาแบ่งออกเป็นอริยทรัพย์หรือทรัพย์อันประเสริฐ ๗ ข้อ ได้แก่ ความเชื่อ ศีล ความอาย ความกลัว การฟัง การให้ และปัญญา
การประกวดหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กครั้งที่ ๒ ในพุทธศักราช ๒๔๗๓ นี้ มีผู้แต่งหนังสือเข้ามา ๑๓ สำนวน แต่คณะอนุกรรมการราชบัณฑิตยสภา ซึ่งประกอบด้วยพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีตรวจแล้วเห็นว่าใช้ไม่ได้ เพราะรูปความซ้ำกับหนังสือซึ่งพิมพ์ แล้วต่างกันแต่ถ้อยคำ จึงประกาศออกไปใหม่ให้แต่งหมวดธรรมที่เรียกว่า “อริยทรัพย์”ครั้งนี้มีผู้แต่งส่งมา ๓๐ สำนวน คณะอนุกรรมการตรวจแล้วเห็นว่าใช้ได้สำนวนเดียว คือ สำนวนของพระพินิจวรรณการ ในการนี้พระพินิจวรรณการเกรงจะมีเสียงติเตียนว่าราชบัณฑิตยสภาแต่งเอง จึงขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายเป็นส่วนช่วยในพระราชกุศล ไม่รับพระราชทานรางวัล
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับเรื่องความเข้าใจสับสนนี้ว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าเป็นต้นเหตุอยู่บ้าง คือในคำนำหนังสือเล่มก่อนเรื่อง “สาสนคุณ” ที่ได้รับรางวัลนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ว่า’ หนังสือเล่มนั้นเป็นตัวอย่างของหนังสือที่ต้องการ’ ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้จึ่งแต่งเรื่องส่งขึ้นมาเป็นแบบเดียวกับหนังสือ ‘สาสนคุณ’ ทั้งหมด กรรมการผู้ตัดสินเห็นว่าเป็นหนังสือที่ซ้ำกันไป ไม่ควรได้รางวัล จึ่งเป็นอันประกาศให้ประกวดกันใหม่ ยกธรรมข้อหนึ่งให้บรรยาย การที่ข้าพเจ้ากล่าวว่าหนังสือ ‘สาสนคุณ’เป็นตัวอย่างนั้นมิได้หมายความว่าต้องการแต่งฉะเพาะหนังสือเรื่องนั้น ข้าพเจ้าหมายถึงวิธีแต่งที่เข้าใจง่ายอย่างนั้น ส่วนเนื้อเรื่องนั้นย่อมควรยักย้ายไปต่างๆ จึ่งจะเป็นประโยชน์...”
กรณีดังกล่าวข้างต้นเป็นที่น่าสนใจและน่าชื่นชมในความเป็นสุภาพบุรุษของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กล่าวถึงในพระราชนิพนธ์คำนำถึงสาเหตุแห่งความเข้าใจผิด ส่วนคณะกรรมการจัดการประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กในสมัยนั้นก็มีจริยธรรมในการดำเนินงานโดยไม่รับพระราชทานรางวัล
เด็กควรรู้ภาษาบาลี : พระราชกระแสรัชกาลที่ ๗ ในพระราชนิพนธ์เรื่องอริยทรัพย์
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานข้อคิดเห็นในการสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กในพระราชนิพนธ์คำนำหนังสืออริยทรัพย์ ความว่า
“...ปัญหาอันหนึ่งซึ่งผู้แต่งหนังสือสอนเด็กคงจะต้องถามตนเอง คือจะควรใช้ศัพท์บาลีบ้างหรือไม่เพียงไร ในข้อนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าจำต้องใช้ เพราะจะต้องสอนให้เด็กรู้จักศัพท์เหล่านั้นด้วย จะแปลออกเป็นไทยทั้งหมดอาจเป็นการบกพร่องในทางสอนอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะการใช้ศัพท์เป็นของสะดวก ไม่ว่าวิชชาใดๆก็ต้องมีศัพท์พิเศษสำหรับวิชชานั้น...การสอนพระพุทธศาสนาก็จำเป็นที่จะต้องสอนให้เด็กรู้จักศัพท์ที่ใช้ในพระพุทธศาสนาเสียให้ซึมซาบด้วย จึ่งควรใช้ แต่ต้องอธิบายให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง...”
ข้อความดังกล่าวสะท้อนให้เห็นพระราชบุคลิกภาพความเป็น “ครู” ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เป็นอย่างดี
ทิศ ๖ : เกียรติยศ หน้าที่ การรู้จักตนเองและผู้อื่นอย่างถูกกาละเทศะ
การประกวดหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กในปีพุทธศักราช ๒๔๗๔ มีผู้แต่งเรื่องประกวดทั้งสิ้น ๑๔ สำนวน เป็นพระภิกษุ ๓ รูป บุคคลทั่วไปชาย ๑๐ คน และหญิงมีเพียง ๑ คน
เรื่อง ทิศ ๖ (๒๔๗๔)ของพระครูวิจิตรธรรมคุณ(วาศน์ นิลประภา) เนื้อหาแบ่งออกเป็น ๖ ทิศได้แก่ ปุรัตถิมะทิศคือ ทิศเบื้องหน้าหรือทิศตะวันออก หมายถึง บิดามารดา ทักษิณะทิศเบื้องขวาคือ ทิศใต้ หมายถึงครูอาจารย์ ปัจฉิมะทิศแปลว่าทิศเบื้องหลังหรือทิศตะวันตก คือสามีภรรยา อุตตระทิศแปลว่าทิศเหนือ คือเพื่อน และอุปริมะทิศแปลว่าทิศเบื้องบนคือภิกษุสามเณร ส่วนเหฏฐิมะทิศหมายถึง ทิศเบื้องต่ำคือบ่าวไพร่
หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่องทิศ ๖ ซึ่งรัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯให้พิมพ์เพื่อพระราชทานในวันวิสาขบูชา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๗๔ ปรากฏพระราชนิพนธ์คำนำของพระองค์ท่าน ซึ่งน่าสนใจมาก ดังนี้
พระราชนิพนธ์คำนำเรื่องทิศ ๖ ตอนหนึ่ง ทรงเน้นว่า “อยากจะขอวิงวอนอาราธนาพระภิกษุสงฆ์ให้เอาธุระในการที่แนะนำสั่งสอนเด็ก ๆ ให้มาก เพราะการภายหน้าประเทศย่อมอยู่ในมือของเด็กที่เรากำลังอบรมอยู่ในเวลานี้ ถ้าเราอบรมดีให้อยู่ในศีลธรรมอันดี เราก็อาจมั่นใจในความเจริญและความมั่นคงของประเทศในภายหน้า” พระบรมราโชบายประการนี้ ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก ทั้งนี้อาจมีสาเหตุเนื่องมาจากว่ารัฐบาลได้แยกโรงเรียนออกมาจากวัดนานแล้วก็เป็นได้ ทำให้พระภิกษุมีโอกาสน้อยในการสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก แต่พระราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังใช้ได้ในสมัยปัจจุบัน
อีกประเด็นหนึ่งในพระราชนิพนธ์คำนำเรื่องทิศ ๖ ปรากฏข้อความวิจารณ์แนวคิดของคาร์ล มาร์กซ เกี่ยวกับหน้าที่หรือบทบาทของศาสนา พร้อมทั้งทรงเสนอข้อคิดเห็นของพระองค์ประกอบไว้ดังนี้
“มีบุคคลบางจำพวกเช่นพวกบอลเชวิก กล่าวว่า “ศาสนานั้น คือฝิ่นสำหรับประชาชน”คือหาว่าทำให้โง่มึนและงมงายต่างๆ การสอนศาสนาในทางที่ผิด บางทีจะมีผลเช่นนั้นได้จริงแต่ถ้าสอนให้ถูกทาง ศาสนาจะเป็นยาบำรุงกำลังบำรุงน้ำใจให้ทนความลำบากได้ ให้มีแรงที่จะทำการงานของตนเป็นผลสำเร็จได้ และยังเป็นยาที่จะสมานหัวใจให้หายเจ็บปวดในยามทุกข์ได้ด้วยอันที่จริงฝิ่นนั้นเมื่อใช้ถูกทางก็เป็นยาที่สำคัญเหมือนกัน อาจจะระงับทุกขเวทนาได้มาก พวกเราทุกๆคนควรพยายามให้เด็กๆ ลูกหลานของเรามียา สำคัญ คือ คำสั่งสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าติดตัวไว้เป็นกำลัง เพราะ “ยา” อย่างนี้เป็นทั้ง “ยาบำรุงกำลัง” และ “ยาสมานหรือระงับความเจ็บปวด”
“ อบายมุข ๖” : ความคึกคักของการประกวดหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก ก่อนการปฏิวัติ ๒๔๗๕
หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เรื่องอบายมุข ๖ เขียนเป็นจดหมาย ของรองอำมาตย์เอกพล้อย พรปรีชา ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ มีพระราชนิพนธ์คำนำลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๔๗๕ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ประมาณเดือนเศษ สิ่งน่าสนใจคือในปีนี้มีผู้ส่งสำนวนเข้าประกวดเป็นจำนวนมากถึง๘๔ ราย มากกว่าการประกวดครั้งก่อนๆ สถิติผู้ส่งหนังสือเข้าประกวดประกอบด้วย พระภิกษุสงฆ์จำนวน ๕๔ ราย สามเณร ๗ ราย คฤหัสถ์ชาย ๒๑ ราย หญิง ๒ ราย ส่งมาจากจังหวัดพระนคร ๕๘ ราย จังหวัดธนบุรี ๗ ราย จังหวัดนนทบุรี ๒ ราย จังหวัดมินบุรี ๑ ราย จังหวัดอยุธยา ๑ ราย จังหวัดนครราชสีมา ๑ ราย จังหวัดอุบลราชธานี ๑ ราย จังหวัดบุรีรัมย์ ๑ ราย จังหวัดอุตรดิดต์ ๑ ราย จังหวัดเชียงราย๑ราย จังหวัดราชบุรี ๑รายจังหวัด เพ็ชรบุรี ๑ราย จังหวัดสุมทรสาคร ๓ ราย จังหวัดนครนายก ๔ ราย จังหวัดนครศรีธรรมราช ๑ ราย
แสดงให้เห็นว่ามาจากทุกภาคของประเทศ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้แต่งหนังสือเข้าประกวดจากกรุงเทพฯก็ตาม
ในส่วนของพระราชนิพนธ์คำนำในเรื่องอบายมุข ๖ มีพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่แสดงให้เห็นถึงหลักขันติธรรมที่พระองค์ทรงยึดมั่นอย่างเด่นชัด แม้จะทรงทราบว่า พระราชกุศลเจตนาของพระองค์ท่านที่พระราชทานต่อนักเรียนไทยในต่างแดนบางคน สะท้อนกลับออกมาในรูปของความหลงผิดก็ตาม กล่าวคือ
“...เมื่อได้พิมพ์ขึ้นคราวไร, ข้าพเจ้าก็ได้ให้แจกจ่ายไปตามบรรดาญาติและมิตร,ได้แจกไปถึงนักเรียนบางคนที่กำลังเล่าเรียนอยู่ในต่างประเทศด้วย. นักเรียนบางคนเมื่อได้รับหนังสือแจกนึกว่าจะเป็นเรื่องสนุกสนาน,แต่พอเปิดออกอ่านเห็นเป็นหนังสือสอนศาสนา ต่างก็ขว้างทิ้งเสีย ,และบางคนก็กล่าวว่า ‘พุทโธ่ หนังสือพรรณนี้มาแจกทำไมกันก็ไม่รู้’ ... ข้าพเจ้าขอแนะนำแก่ผู้ที่ได้รับแจก’หนังสือพรรณนี้’ แม้ในเวลานี้ไม่ยินดีและยังไม่อ่าน ก็ขออย่าให้ขว้างทิ้งเสียเลย ให้เก็บไว้เถิด เพราะอาจเป็นประโยชน์และอาจต้องการในภายหน้าก็เป็นได้ ดั่งข้าพเจ้าเองได้รู้สึกความต้องการมาแล้ว , จึ่งได้จัดให้มีการประกวดกันขึ้น ...”
ทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ : สามัญชนคนแรกที่ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑
หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่อง ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ประการ หรือแปลว่าประโยชน์ปัจจุบัน ๔ ประการคือ ความหมั่นทำการงานของตน การรักษาทรัพย์ที่หามาได้ การคบคนดีเป็นเพื่อน และการเลี้ยงชีวิตตามกำลังทรัพย์ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ คือนายจั๊บ อึ้งประทีป ครูโรงเรียนมัธยมหอวัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนี้มีผู้แต่งจำนวน ๖๘ ราย เป็นพระภิกษุ ๓๒ ราย สามเณร ๘ ราย บุคคลทั่วไปชาย ๒๕ ราย และหญิง ๓ ราย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกพระราชทานรางวัลที่ ๑ แก่สำนวนของนายจั๊บ อึ๊งประทีป ซึ่งพระราชประสงค์ของพระองค์บังเอิญสอดคล้องกับมติส่วนมากของกรรมการราชบัณฑิตยสภา และด้วยเหตุผล ๓ ประการ ตามที่กล่าวถึงในพระราชนิพนธ์คำนำ คือ
๑.มีบทนำกล่าวถึง “กรรม” โดยทั่วไปซึ่งเป็นการเหมาะกับเรื่องอย่างยิ่ง และตรงกับ
ความเห็นของพระองค์ เพราะจะทำให้เด็กเป็นคนดีและเป็นทางระงับความทุกข์
๒.มีใจความที่แต่งดีมาก ยกตัวอย่างที่เหมาะเข้าใจง่าย และชัดเจน
๓. มีสำนวนที่เขียนอ่านง่ายเหมาะสำหรับเด็ก และไม่ทำให้เบื่อหน่ายง่วงเหงา
นอกจากนี้ยังทรงกล่าวชมความพยายามของผู้แต่งและอนุโมทนาในกุศลเจตนาของผู้แต่งว่า ขอกุศลกรรมอันนี้จงเป็นประโยชน์แก่ผู้แต่งให้เห็นทันตา และตลอดไปจนในภพหน้าด้วย
ปรัชญาพุทธศาสนาในพระราชนิพนธ์คำนำ : ทำไมโลกนี้จึงต้องมีศาสนา
พระราชนิพนธ์คำนำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เรื่องทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ ๔ ประการ เป็นฉบับสุดท้ายโดยทรงมีพระบรมราชาธิบายต่อคำกราบบังคมทูลถามของเด็กคนหนึ่งว่าทำไมโลกนี้จึงต้องมีศาสนา
“...ศาสนามีขึ้นในโลกเพราะคนเราต้องประสบความทุกข์ และ การมีศาสนานั้นเป็นเครื่องระงับความทุกข์ และ เครื่องเศร้าหมองได้ดีกว่าอย่างอื่น... “
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายเรื่องความเชื่อในกรรมและคำสอนในพุทธศาสนา ว่า
“ ...ความเชื่อในกรรมนั้นมักจะมีผู้กล่าวอยู่บ้าง ว่าเป็นความเชื่อที่ทำให้ผู้เชื่อเช่นนั้น ‘รามือราเท้า’ ไม่ทำอะไรเลย มัวแต่หวังในบุญในกรรมอย่างที่เรียกว่า ‘ปล่อยไปตามบุญตามกรรม’ บุคคลที่เชื่อในกรรมเช่นนี้ก็เห็นจะมีบ้างแต่เป็นทางเชื่อที่ไม่ตรงกับพระบรมพุทโธวาทเลย เป็นความเชื่ออย่างที่ฝรั่งเรียกว่า ‘ Fatalistic’ ที่จริง ‘กรรม’ นั้นแปลว่า ‘ทำ’ ผู้ที่เชื่อในกรรมจริงๆต้องพยายามทำความดีให้มากที่สุด และละเว้นทำชั่ว เพราะต้องเชื่อว่า ‘ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว’ จึงจะได้ชื่อว่ามีความเข้าใจดีในคำสอนของพระพุทธเจ้า...”
ธ นิราศร้างแดนสยาม : ปิดฉากพระราชนิพนธ์คำนำ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินียังต่างประเทศเพื่อผ่าตัดพระเนตรอีกครั้งและเสด็จฯไปประทับยังพระตำหนักโนล ประเทศอังกฤษ ในระหว่างนั้นความขัดแย้งระหว่างพระองค์กับคณะรัฐบาลก็ยังคงดำเนินต่อไป จนในที่สุดวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ จึงทรงสละราชสมบัติ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ครั้งนั้นทรงเลือกสำนวนที่ ๒๒ ของนายอ่ำ ศรีเปารยะ ให้ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ ของการประกวดหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เรื่องสัมปรายิกัตถะประโยชน์ ๔ ประการแปลว่าประโยชน์ภายหน้า ๔ ประการ ได้แก่ ความมีศรัทธา ศีล ใจสละ และปัญญา ในปีนี้มีผู้ส่งเข้าประกวดน้อยลงเหลือเพียง ๒๙ ราย เป็นพระภิกษุ ๑๘ ราย สามเณร ๑ ราย บุคคลทั่วไปชาย ๘ ราย และหญิง ๒ ราย ูในหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่องนี้ไม่มีพระราชนิพนธ์คำนำของพระองค์อีกต่อไป
ข้อเสนอที่มีต่อปัจจุบันและอนาคตของหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก
ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า แม้ในปัจจุบันจะยังคงมีการประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กอยู่ก็ตาม แต่ผู้สนใจแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กกลับมีจำนวนน้อยมาก และผู้แต่งหนังสือเข้าประกวดจะมีความหลากหลายทั้งพระภิกษุ ครู ทหาร ประชาชนทั่วไปทั้งชายและหญิง แต่ผู้แต่งที่ได้รับรางวัลจะจำกัดอยู่ในแวดวงจำกัด และมีผู้ได้รับรางวัลซ้ำกันหลายครั้งอาทิ
พันเอก (พิเศษ) วัชระ คงอดิศักดิ์ ภาคีสมาชิกสำนักศิลปกรรมราชบัณฑิตยสถาน ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ จำนวน ๑๒ ครั้ง รางวัลที่ ๒ จำนวน ๕ ครั้ง รวมได้รับพระราชทานรางวัล ๑๗ ครั้ง
เกษม บุญศรี เคยได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ ในปี ๒๕๐๘ เรื่องความเป็นผู้สดับมาก และเรื่องวาจาสุภาษิต ในปี๒๕๑๑
อดิศักดิ์ ทองบุญ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ เรื่องการงานไม่อากูล ในการประกวดประจำปี ๒๕๑๕ ก็เคยได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ เรื่องการสงเคราะห์บุตร ในการประกวดประจำปี ๒๕๑๓
พระมหาทองสา นาถวิริโย (สิงห์ธนู) น.ธ.เอก, ป.ธ.๖,ศษ.บ ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ เรื่องเมตตาบารมี และอธิษฐานบารมี ในปีพ.ศ. ๒๕๔๒ และ ๒๕๔๓
ล่าสุดในปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กที่ได้รับคัดเลือก คือเรื่อง สัจจบารมี ของนางสาวงามตา กาญจนวสุนธรา กำหนดการพระราชทานรางวัล ในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา พุทธศักราช ๒๕๔๘ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เป็นผู้เคยได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ เรื่อง อุเบกขาบารมี ในการประกวดประจำปี ๒๕๔๗มาแล้ว
หนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็กดังกล่าวมีอายุครบ ๗๗ ปี จากวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๔๗๑ ถึงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๘ นับเป็นหนังสือชุดที่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจและเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งต่อเยาวชนในสังคมไทย
ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชก็ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตยสถานดำเนินตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างต่อเนื่องตลอดมา ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกร สมควรน้อมเกล้าฯร่วมกันเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายกว้างขวางและยั่งยืนยิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต ด้วยการเพิ่มการประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆที่มีอยู่มากมายอย่างทั่วถึง การเพิ่มแรงจูงใจจากรางวัลชนะเลิศการประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก ตลอดจนควรมีการเพิ่มช่องทางการแจกจ่ายหนังสือแก่เยาวชนอย่างทั่วถึง ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณทั้งจากรัฐบาลและเอกชนทั่วไป
บรรณานุกรม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย .ประมวลหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก ที่พระบาทสมเด็จ
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน พุทธศักราช ๒๔๗๑ –๒๔๗๗จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดพิมพ์เป็นที่ระลึก ครบรอบ ๑๐๐ ปีแห่งพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯแทนพระองค์ในพิธีเปิดอาคาร ประชาธิปก–รำไพพรรณี วันพฤหัสบดีที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗
พฤทธิสาณ ชุมพล, หม่อมราชวงศ์. “ หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเนื่องในวันวิสาขบูชา
เอกสารประกอบการสัมมนาวันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ณ พิพิธภัณฑ์พระบาท
สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว.
พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้าหญิง. สาสนคุณ หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก. พระนคร
: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร,๒๔๗๒.
---------------------------. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง
๒๔๗๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๔.
พระครูวิจิตรธรรมคุณ. (วาศน์ นิลประภา).ทิศ ๖. หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก.
พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร,๒๔๗๔ .
ลำดวน เทียรฆนิธิกุล. “หนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก” วารสารศิลปากร ปีที่ ๔๖
.๓(พ.ค. – มิ.ย. ๒๕๔๖) หน้า ๑๕ –๒๕.
วชิรญาณวโรรส ,สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา . พุทธมามกะ. พระนคร :โรงพิมพ์โสภณ
พิพรรฒธนากร,๒๔๗๑. ๓๕ หน้า(พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชพิธีวิสาขบูชาปีพุทธศักราช ๒๔๗๑)
วัชระ คงอดิศักดิ์, พันเอก(พิเศษ). “หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก”. ศิลปกรรม
ปริทรรศน์ปีที่ ๑๐ ฉ.๑ (ส.ค. ๒๕๓๘) หน้า ๔๒-๕๒.
สมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา, ท่านผู้หญิง. พุทธมามกะพิธี : “พระราชนิพนธ์ในพระ
บาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” วารสารไทย ปีที่ ๒๑ ฉ. ๗๔ (เม.ย.-มิ.ย.
๒๕๔๓), หน้า ๑๐-๑๒.
-------------------------------------------------
พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 7 ตอนทรงผนวช และเคยทรงได้รับรางวัลการประกวดเรียงความกระทู้ธรรม ขอบคุณภาพจากห้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มสธ. |
โดย ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร
(ตีพิมพ์ครั้งแรกในรายงานกิจการประจำปี 2549 มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเป็นครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๑ เพื่อพระราชทานในงานพระราชกุศลวิสาขบูชา และที่สำคัญคือพระองค์ทรงพระราชนิพนธ์คำนำในหนังสือดังกล่าวด้วยพระองค์เอง นับแต่เล่มแรก คือหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่องพุทธมามกะ (๒๔๗๑) ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระอุปัชฌาย์ จนถึงเล่มที่ ๖ คือหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เรื่องทิฏฐธรรมิกัตถะประโยชน์ ๔ ประการ (๒๔๗๖) ของนายจั๊บ อึ๊งประทีป ครูโรงเรียนมัธยมหอวัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นปีที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังทวีปยุโรปเพื่อทรงเจริญพระราชไมตรีและไปรักษาพระเนตร จนถึงทรงสละราชสมบัติเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๗๗
“พุทธมามกะ” กับแรงบันดาลพระทัยในการจัดพิมพ์หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก
พระราชกรณียกิจข้างต้นนับเป็นพระราชกุศลจริยาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มให้มีขึ้น เพื่อเป็นกิจกรรมส่งเสริมเผยแผ่พระพุทธศาสนา ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์คำนำ ตอนหนึ่งว่า
“...การที่ข้าพเจ้าได้ให้จัดพิมพ์หนังสือนี้ขึ้นคราวนี้ก็โดยที่ข้าพเจ้าระลึกถึงเมื่อเวลาที่ข้าพเจ้าบวชอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร เสด็จอุปัชฌาย์เคยประทานโอกาสให้ข้าพเจ้ากราบทูลความเห็นของข้าพเจ้าในเรื่องสาสนาต่างๆ ตามใจนึกเป็นเนืองนิตย์ ข้าพเจ้าเคยกราบทูลแก่ท่านว่า ข้าพเจ้าเห็นว่าพระพุทธสาสนานั้นเป็นสาสนาที่ดีเยี่ยมและน่าเลื่อมใสที่สุดก็จริง แต่เป็นสาสนาที่
ทำการเผยแผ่น้อยมากและวิธีสั่งสอนก็สู้เขาไม่ได้…”
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้องพระราชประสงค์ชัดเจนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ด้วยเหตุที่ทรงตระหนักถึงปัญหาความตกต่ำทางจริยศึกษาและศาสนศึกษาในหมู่เยาวชนไทยกว่า ๗๐ปีมาแล้ว โดยทรงวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาไว้ดังนี้
“ …การสอนเด็กต้องนับว่าบกพร่องที่สุด เมื่อก่อนนี้ยายแก่หรือพี่เลี้ยงในบ้านก็ได้พยายามสอนบ้างอย่างงูๆ ปลาๆ ครั้นมาบัดนี้ต้องนับว่ากลับซุดโซมลงไปอีก เพราะการสอนในบ้านก็เกือบจะไม่มี การสอนในวัดก็น้อยลง เพราะมีโรงเรียนอื่นๆแทนพระสอนหนังสือ ตามโรงเรียนก็หาได้สอนสาสนาอย่างจริงจังไม่ จนเด็กที่สวดมนต์ได้มีน้อยที่สุด ไหว้พระไม่เป็นก็มี...”
ในปัจจุบัน ภาวะวิกฤตทางจริยธรรมในสังคมไทยมีความรุนแรงยิ่งกว่าสมัยของพระองค์หลายเท่านัก ทั้งผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชนไทยต่างหมกหมุ่นอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ห่างไกลจากพระพุทธ
ศาสนามากจนน่าเป็นห่วง มีคดีฆ่า ข่มขืน คดียาเสพติด การพนันและปัญหาอาชญากรรมสืบเนื่องมากมาย ดังปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชนแทบไม่เว้นวัน ดังนั้นการย้อนกลับไปพิจารณาถึงพระราชกุศลจริยาในการที่โปรดเกล้าให้เผยแพร่พระพุทธศาสนาโดยการจัดพิมพ์หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กจึงน่าจะให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อเยาวชนในสังคมไทย
สถานภาพของการศึกษาที่ผ่านมา
หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชกุศลวิสาขบูชา ระหว่างปีพ.ศ. ๒๔๗๑ -๒๔๗๗ มีการรื้อฟื้นมาตีพิมพ์ซ้ำ และอ้างอิงถึงในบทความต่างๆ ดังนี้
๑) ประมวลหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีเปิดอาคาร ประชาธิปก-รำไพพรรณี วันพฤหัสบดีที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗ ข้อดีของการตีพิมพ์ครั้งนี้คือ การนำหนังสือสอนพระพุทธศาสนาในรัชสมัยของพระองค์มาตีพิมพ์รวมเล่มอีกครั้งในคราวเดียวกัน ส่วนข้อด้อยคือ ไม่สามารถเผยแพร่สู่สาธารณชนได้อย่างกว้างขวางพิมพ์เพียง ๓๐๐ เล่ม
๒) บทความในวารสารไทย ปีที่ ๒๑ ฉ.๗๔ เรื่อง “พุทธมามกะพิธี : พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดย ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ได้ยกพระราชนิพนธ์คำนำของหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่องพุทธมามกะมาแสดง โดยระบุว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวโรรสได้เคยทรงพระนิพนธ์หนังสือ ”พุทธมามกะ”มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ในบทความ “พุทธมามกะพิธี” ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ได้อัญเชิญพระราชนิพนธ์คำนำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่องพุทธมามกะมาแสดงทั้งหมดในบทความ ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจสับสนว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นมาใหม่อีกเล่มหนึ่งต่างหากได้
๓) บทความในวารสารศิลปกรรมปริทรรศน์ ปีที่ ๑๐ ฉ. ๑ (ส.ค. ๒๕๓๘) เรื่อง “ หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก” โดย พันเอก(พิเศษ) วัชระ คงอดิศักดิ์ ภาคีสมาชิกสำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน ข้อดีของบทความนี้คือ ให้ข้อมูลประวัติของหนังสือและข้อเสนอแนะแต่ยังขาดการนำเสนอเนื้อหาอันทรงคุณค่าในพระราชนิพนธ์คำนำมาวิเคราะห์อย่างเหมาะสมเพียงพอ
๔) บทความในวารสารศิลปากร ปีที่ ๔๖ ฉ.๓ (พ.ค.-มิ.ย.๒๕๔๖) เรื่อง “หนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก” โดยลำดวน เทียรฆนิธิกุล บรรณารักษ์ ๗ สำนักหอสมุดแห่งชาติ มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับบทความของพันเอกวัชระ คงอดิศักดิ์ และได้เพิ่มรายชื่อหนังสือที่ได้รับรางวัลในแต่ละปี แต่ก็ยังคงขาดการวิเคราะห์เนื้อหาในพระราชนิพนธ์คำนำเช่นเดียวกัน
๕) เอกสารประกอบการสัมมนาวันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ณ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง “ หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเนื่องในวันวิสาขบูชา” โดย รศ. ม.ร.ว พฤทธิสาณ ชุมพล ข้อดีมีการนำพระราชนิพนธ์คำนำมาวิเคราะห์บ้างแล้ว แต่ยังไม่ครบทุกเล่มเพราะเป็นส่วนประกอบของการสัมมนาวิชาการ เรื่องการส่งเสริมพระพุทธศาสนาและประชาธิปไตย
วรรณกรรมข้างต้นที่กล่าวถึง ส่วนหนึ่งมีลักษณะเป็นเอกสารที่รวบรวมหนังสือเก่ามาตีพิมพ์ใหม่เพื่อรักษาของเก่าเอาไว้มิให้สูญหาย ส่วนหนึ่งเป็นบทความเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกส่วนหนึ่งเป็นบทความที่มุ่งกล่าวถึงความเป็นมาและคุณค่าของหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
สำหรับบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนมุ่งที่จะอธิบายบทพระราชนิพนธ์คำนำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เฉพาะเล่มที่ตีพิมพ์ขึ้นในรัชสมัยของพระองค์เท่านั้น เพื่อขยายองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับพระปกเกล้าศึกษาในด้านการสนับสนุนและเผยแพร่การสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เพื่อชี้ให้เห็นถึงพระราชศรัทธา พระมหากรุณาธิคุณและพระราชวิสัยทัศน์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพระพุทธศาสนาและพสกนิกรของพระองค์
การเริ่มต้นประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก : กรอบโครงและหลักเกณฑ์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานหนังสือพุทธมามกะแก่คณะองคมนตรี เสนาบดี ข้าราชบริพาร และบุคคลผู้สนใจอื่นๆ ปรากฏว่ามีผู้สนใจอนุโมทนาพระราชดำริของพระองค์เป็นอันมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตยสภาดำเนินการจัด
ประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กขึ้น โดยทรงพระราชทานกรอบโครงในการจัดประกวดดังนี้
“... หนังสือสำหรับสอนพระสาสนาแก่เด็ก กระบวนแต่งต้องให้เหมาะแก่อายุ ทั้งถ้อยคำและเรื่องก็ให้พอแก่ความสามารถของเด็กจะเข้าใจได้จึ่งจะสมควรแก่การ มิใช่แต่ว่าเป็นนักปราชญ
แล้วจะสามารถแต่งหนังสือเช่นนั้นได้จึ่งมีพระราชดำริสั่งราชบัณฑิตยสภาให้ประกาศการประกวด
แต่งหนังสือสอนพระพุทธสาสนาแก่เด็ก สำหรับจะได้เลือกที่ตีพิมพ์พระราชทานในวันวิศาขบูชา
โดยข้อบังคับการประกวดดังกล่าวต่อไปนี้
ข้อ ๑ ใครๆ (นอกจากเป็นพนักงานตัดสิน) จะแต่งก็ได้ แต่กำหนดให้ส่งเข้าประกวดปี
หนึ่งเพียงคนละเรื่อง
ข้อ ๒ ให้ส่งหนังสือประกวดยังราชบัณฑิตสภาในระวางพรรษกาล คือ ตั้งแต่วันเข้าพระ
วรรษาเป็นที่สุด
ข้อ ๓ ขนาดหนังสือที่ส่งเข้าประกวดนั้นว่าโดยกำหนดพิมพ์ดีดในกระดาษฟลุสแคปหน้า
ละ ๒๐ บรรทัดเป็นเกณฑ์ ให้มีจำนวนอยู่ในระหว่างตั้งแต่ ๒๕ หน้าเป็นอย่างน้อยจนถึง ๓๐ หน้า
เป็นอย่างมากและฉะบับที่ส่งเข้าประกวดนั้นจะดีดพิมพ์หรือจะเขียนตัวบรรจงก็ได้
ข้อ ๔ ต้องแต่งเป็นภาษาไทยและอธิบายความให้ง่ายพอเด็กขนาดอายุ ๑๐ ขวบ
อ่านเข้าใจความได้
ข้อ ๕ เรื่องที่แต่งให้เป็นการสอนพระพุทธสาสนาตามหลักในพระไตรปิฎก และมิให้
กล่าวอธิบายความย่ำยีสาสนาอื่น...”
สำหรับกระบวนการพิจารณานั้น หนังสือราชกิจจานุเบกษาระบุว่า“ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตสภาเป็นพนักงานตรวจตัดสินตามวิธีซึ่งเห็นสมควร แล้วตัดสินตามวิธีซึ่งเห็นสมควร แล้วคัดที่ดีที่สุดขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ๓ ราย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดรายใดยิ่งกว่าเพื่อน จะทรงเลือกพิมพ์เป็นหนังสือพระราชทานในวันวิศาขบูชา และจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานรางวัลที่ ๑ ราคา ๒๐๐ บาท แก่ผู้แต่ง อีก ๒ ราย ที่รองลงมานั้นจะพระราชทานรางวัลที่ ๒ ราคารายละ ๑๐๐ บาท แล้วส่งหนังสือไปยังกระทรวงธรรมการ
หนังสือสาสนคุณ |
"สาสนคุณ” พระนิพนธ์พระธิดาขององค์นายกราชบัณฑิตยสภาได้รับรางวัลที่ ๑ จากการประกวดหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กครั้งแรก
การประกวดหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กครั้งแรกในปีพ.ศ.๒๔๗๒ มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวด ๒๔ ราย จำแนกเป็นพระภิกษุ ๕ รูป บุคคลทั่วไปชาย ๑๖ คน บุคคลทั่วไปหญิง ๓ คน หญิงหนึ่งในสามคนนั้น คือ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล
หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่องแรกที่ได้รับคัดเลือกให้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ คือ หนังสือเรื่องสาสนคุณ พระนิพนธ์ของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล เนื้อหาแบ่งออกเป็น ๗ บท คือ บทที่ ๑ คุณพระพุทธเจ้า บทที่ ๒ คุณพระธรรม บทที่ ๓ คุณพระสงฆ์ บทที่ ๔ ศีลห้า บทที่ ๕ คุณบุรพการี บทที่ ๖ คุณของศาสนา และบทที่ ๗ คุณพระมหากษัตริย์ พร้อมคำถามประจำแต่ละบท รวม ๖๗ หน้า มีสำนวนอ่านเข้าใจง่ายเหมาะสำหรับเด็ก
หลักฐานเอกสารของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ผู้นิพนธ์หนังสือสอนศาสนาแก่เด็กเรื่องสาสนคุณ ทรงอธิบายไว้ว่า
“...ส่วนรางวัลเรื่องสอนเด็ก, เผอิญข้าพเจ้าเขียนไว้ให้หลานๆอ่านในวันเสาร์วันอาทิตย์ว่า เราไหว้พระทำไมอยู่แล้ว ๙ -๑๐ หน้า พอประกาศชิงรางวัลออกมาก็เลยเขียนต่อให้ครบตามกำหนด จึงส่งเข้าประกวดได้เร็วทันเป็น No.๒ . เมื่อส่งแล้วก็ไม่ได้นึกว่าจะได้รางวัลนั้น, เป็นแต่ไม่สนุกที่ต้องปิดเสด็จพ่อ, เพราะท่านเป็นนายกกรรมการ ข้าพเจ้ารู้สึกอึดอัดด้วยไม่เคยทำเช่นนั้น จวนจะถึงวันตัดสินชี้ขาดว่าใครควรจะได้ที่ ๑ เขาก็ส่งมาแจกตามกรรมการใหญ่ ๓ ฉะบับที่อนุกรรมการเลือกขึ้นเสนอ. เสด็จพ่อทรงแล้วสรงน้ำมาเสวยเย็นกับลูกๆที่ข้างล่าง พอถึงโต๊ะท่านก็เล่าว่าตรวจหนังสือเด็กเพิ่งจบ แล้วตรัสต่อไปว่า’ใครหนอเขียน No ๒?’ เขาช่างร่อนมาให้เด็กเข้าใจดีจริงๆ พ่อตกลงใจให้ No.๒ เป็นที่ ๑ ข้าพเจ้ามือเย็นใจเต้นจนไม่รู้จะทำอย่างไร ... ข้าพเจ้าตื่นเต้นจนรู้สึกกลัวเสด็จพ่อ เหมือนเด็กที่ขโมยขนมกิน …”
จากบันทึกเรื่องสิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็นของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุลข้างต้น ชี้ให้เห็นว่าการตัดสินการประกวดหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กในสมัยนั้นมีความเที่ยงตรงอยู่พอควร เพราะนายกกรรมการผู้ตัดสินไม่ทราบมาก่อนว่าใครบ้างป็นผู้แต่งส่งเข้าประกวด
พระราชนิพนธ์คำนำของรัชกาลที่ ๗ ในหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก “สาสนคุณ”
พระราชนิพนธ์คำนำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือสาสนคุณมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่อง” วัฏฏะสงสาร” และ “กรรม” ดังนี้
“... วัฎฎะสงสาร และกรรมนี้เป็นความเชื่อที่เก่ากว่าพระพุทธสาสนา และเป็นของพราหมณ์ก็จริง แต่เป็นหลักสำคัญของพระพุทธสาสนา เพราะหนทางปฏิบัติของพระพุทธสาสนาก็เพื่อให้พ้นจากวัฏฏะสงสารอันเป็นความทุกข์ แต่สิ่งที่ดีประเสริฐยิ่งนั้นคือความเชื่อใน “กรรม” …ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นของประเสริฐยิ่ง ควรเพาะให้มีขึ้นในใจของคนทุกคน และถ้าคนทั้งโลกเชื่อมั่นใน “กรรม”แล้ว ข้าพเจ้าเชื่อว่า มนุสส์ในโลกจะได้รับความสุขใจขึ้นมาก ความเชื่อในกรรมนี้ไม่ใช่ความเชื่ออย่าง “Fatalist” และ.ไม่ควรจะเป็นอย่างที่เรียกกันว่า “แล้วแต่บุญแต่กรรม” เลยตรงกันข้ามควรจะเป็นสิ่งที่จะทำให้คนขวนขวายทำแต่กรรมดีโดยหวังผลที่ดี...เราเห็นได้ง่ายๆว่า ความผิดของเรานั้นได้รับผลทันที อย่างที่เรียกว่า ‘ กรรมตามทัน’ ...นอกจากนี้ควรสอนให้เด็กเคารพต่อ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ …”
พระบรมราโชบายข้างต้น แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเชื่อในคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรื่องกฎแห่งกรรม และต้องพระประสงค์จะให้ประชาชนของพระองค์เชื่อมั่นเช่นนั้นด้วย
“อริยทรัพย์” ผลงานชนะเลิศของกรรมการราชบัณฑิตยสภาผู้ปฏิเสธการรับพระราชทานรางวัลอันทรงเกียรติ
หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เรื่องต่อมาที่ได้รับรางวัลในปีพุทธศักราช ๒๔๗๓ คือ “อริยทรัพย์”
“อริยทรัพย์” สำนวนของพระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) ศาสตราจารย์ภาษาไทยและภาษาบาลีในราชบัณฑิตยสภาเป็นผู้แต่ง ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ เนื้อหาแบ่งออกเป็นอริยทรัพย์หรือทรัพย์อันประเสริฐ ๗ ข้อ ได้แก่ ความเชื่อ ศีล ความอาย ความกลัว การฟัง การให้ และปัญญา
การประกวดหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กครั้งที่ ๒ ในพุทธศักราช ๒๔๗๓ นี้ มีผู้แต่งหนังสือเข้ามา ๑๓ สำนวน แต่คณะอนุกรรมการราชบัณฑิตยสภา ซึ่งประกอบด้วยพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีตรวจแล้วเห็นว่าใช้ไม่ได้ เพราะรูปความซ้ำกับหนังสือซึ่งพิมพ์ แล้วต่างกันแต่ถ้อยคำ จึงประกาศออกไปใหม่ให้แต่งหมวดธรรมที่เรียกว่า “อริยทรัพย์”ครั้งนี้มีผู้แต่งส่งมา ๓๐ สำนวน คณะอนุกรรมการตรวจแล้วเห็นว่าใช้ได้สำนวนเดียว คือ สำนวนของพระพินิจวรรณการ ในการนี้พระพินิจวรรณการเกรงจะมีเสียงติเตียนว่าราชบัณฑิตยสภาแต่งเอง จึงขอพระราชทานทูลเกล้าฯ ถวายเป็นส่วนช่วยในพระราชกุศล ไม่รับพระราชทานรางวัล
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับเรื่องความเข้าใจสับสนนี้ว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าเป็นต้นเหตุอยู่บ้าง คือในคำนำหนังสือเล่มก่อนเรื่อง “สาสนคุณ” ที่ได้รับรางวัลนั้น ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้ว่า’ หนังสือเล่มนั้นเป็นตัวอย่างของหนังสือที่ต้องการ’ ด้วยเหตุนี้เอง ผู้ที่ส่งเข้าประกวดในปีนี้จึ่งแต่งเรื่องส่งขึ้นมาเป็นแบบเดียวกับหนังสือ ‘สาสนคุณ’ ทั้งหมด กรรมการผู้ตัดสินเห็นว่าเป็นหนังสือที่ซ้ำกันไป ไม่ควรได้รางวัล จึ่งเป็นอันประกาศให้ประกวดกันใหม่ ยกธรรมข้อหนึ่งให้บรรยาย การที่ข้าพเจ้ากล่าวว่าหนังสือ ‘สาสนคุณ’เป็นตัวอย่างนั้นมิได้หมายความว่าต้องการแต่งฉะเพาะหนังสือเรื่องนั้น ข้าพเจ้าหมายถึงวิธีแต่งที่เข้าใจง่ายอย่างนั้น ส่วนเนื้อเรื่องนั้นย่อมควรยักย้ายไปต่างๆ จึ่งจะเป็นประโยชน์...”
กรณีดังกล่าวข้างต้นเป็นที่น่าสนใจและน่าชื่นชมในความเป็นสุภาพบุรุษของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กล่าวถึงในพระราชนิพนธ์คำนำถึงสาเหตุแห่งความเข้าใจผิด ส่วนคณะกรรมการจัดการประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กในสมัยนั้นก็มีจริยธรรมในการดำเนินงานโดยไม่รับพระราชทานรางวัล
เด็กควรรู้ภาษาบาลี : พระราชกระแสรัชกาลที่ ๗ ในพระราชนิพนธ์เรื่องอริยทรัพย์
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานข้อคิดเห็นในการสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กในพระราชนิพนธ์คำนำหนังสืออริยทรัพย์ ความว่า
“...ปัญหาอันหนึ่งซึ่งผู้แต่งหนังสือสอนเด็กคงจะต้องถามตนเอง คือจะควรใช้ศัพท์บาลีบ้างหรือไม่เพียงไร ในข้อนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าจำต้องใช้ เพราะจะต้องสอนให้เด็กรู้จักศัพท์เหล่านั้นด้วย จะแปลออกเป็นไทยทั้งหมดอาจเป็นการบกพร่องในทางสอนอย่างหนึ่งก็ได้ เพราะการใช้ศัพท์เป็นของสะดวก ไม่ว่าวิชชาใดๆก็ต้องมีศัพท์พิเศษสำหรับวิชชานั้น...การสอนพระพุทธศาสนาก็จำเป็นที่จะต้องสอนให้เด็กรู้จักศัพท์ที่ใช้ในพระพุทธศาสนาเสียให้ซึมซาบด้วย จึ่งควรใช้ แต่ต้องอธิบายให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง...”
ข้อความดังกล่าวสะท้อนให้เห็นพระราชบุคลิกภาพความเป็น “ครู” ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เป็นอย่างดี
ทิศ ๖ : เกียรติยศ หน้าที่ การรู้จักตนเองและผู้อื่นอย่างถูกกาละเทศะ
การประกวดหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กในปีพุทธศักราช ๒๔๗๔ มีผู้แต่งเรื่องประกวดทั้งสิ้น ๑๔ สำนวน เป็นพระภิกษุ ๓ รูป บุคคลทั่วไปชาย ๑๐ คน และหญิงมีเพียง ๑ คน
เรื่อง ทิศ ๖ (๒๔๗๔)ของพระครูวิจิตรธรรมคุณ(วาศน์ นิลประภา) เนื้อหาแบ่งออกเป็น ๖ ทิศได้แก่ ปุรัตถิมะทิศคือ ทิศเบื้องหน้าหรือทิศตะวันออก หมายถึง บิดามารดา ทักษิณะทิศเบื้องขวาคือ ทิศใต้ หมายถึงครูอาจารย์ ปัจฉิมะทิศแปลว่าทิศเบื้องหลังหรือทิศตะวันตก คือสามีภรรยา อุตตระทิศแปลว่าทิศเหนือ คือเพื่อน และอุปริมะทิศแปลว่าทิศเบื้องบนคือภิกษุสามเณร ส่วนเหฏฐิมะทิศหมายถึง ทิศเบื้องต่ำคือบ่าวไพร่
หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่องทิศ ๖ ซึ่งรัชกาลที่ ๗ โปรดเกล้าฯให้พิมพ์เพื่อพระราชทานในวันวิสาขบูชา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๗๔ ปรากฏพระราชนิพนธ์คำนำของพระองค์ท่าน ซึ่งน่าสนใจมาก ดังนี้
พระราชนิพนธ์คำนำเรื่องทิศ ๖ ตอนหนึ่ง ทรงเน้นว่า “อยากจะขอวิงวอนอาราธนาพระภิกษุสงฆ์ให้เอาธุระในการที่แนะนำสั่งสอนเด็ก ๆ ให้มาก เพราะการภายหน้าประเทศย่อมอยู่ในมือของเด็กที่เรากำลังอบรมอยู่ในเวลานี้ ถ้าเราอบรมดีให้อยู่ในศีลธรรมอันดี เราก็อาจมั่นใจในความเจริญและความมั่นคงของประเทศในภายหน้า” พระบรมราโชบายประการนี้ ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก ทั้งนี้อาจมีสาเหตุเนื่องมาจากว่ารัฐบาลได้แยกโรงเรียนออกมาจากวัดนานแล้วก็เป็นได้ ทำให้พระภิกษุมีโอกาสน้อยในการสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก แต่พระราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังใช้ได้ในสมัยปัจจุบัน
อีกประเด็นหนึ่งในพระราชนิพนธ์คำนำเรื่องทิศ ๖ ปรากฏข้อความวิจารณ์แนวคิดของคาร์ล มาร์กซ เกี่ยวกับหน้าที่หรือบทบาทของศาสนา พร้อมทั้งทรงเสนอข้อคิดเห็นของพระองค์ประกอบไว้ดังนี้
“มีบุคคลบางจำพวกเช่นพวกบอลเชวิก กล่าวว่า “ศาสนานั้น คือฝิ่นสำหรับประชาชน”คือหาว่าทำให้โง่มึนและงมงายต่างๆ การสอนศาสนาในทางที่ผิด บางทีจะมีผลเช่นนั้นได้จริงแต่ถ้าสอนให้ถูกทาง ศาสนาจะเป็นยาบำรุงกำลังบำรุงน้ำใจให้ทนความลำบากได้ ให้มีแรงที่จะทำการงานของตนเป็นผลสำเร็จได้ และยังเป็นยาที่จะสมานหัวใจให้หายเจ็บปวดในยามทุกข์ได้ด้วยอันที่จริงฝิ่นนั้นเมื่อใช้ถูกทางก็เป็นยาที่สำคัญเหมือนกัน อาจจะระงับทุกขเวทนาได้มาก พวกเราทุกๆคนควรพยายามให้เด็กๆ ลูกหลานของเรามียา สำคัญ คือ คำสั่งสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าติดตัวไว้เป็นกำลัง เพราะ “ยา” อย่างนี้เป็นทั้ง “ยาบำรุงกำลัง” และ “ยาสมานหรือระงับความเจ็บปวด”
“ อบายมุข ๖” : ความคึกคักของการประกวดหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก ก่อนการปฏิวัติ ๒๔๗๕
หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เรื่องอบายมุข ๖ เขียนเป็นจดหมาย ของรองอำมาตย์เอกพล้อย พรปรีชา ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ มีพระราชนิพนธ์คำนำลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๔๗๕ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ประมาณเดือนเศษ สิ่งน่าสนใจคือในปีนี้มีผู้ส่งสำนวนเข้าประกวดเป็นจำนวนมากถึง๘๔ ราย มากกว่าการประกวดครั้งก่อนๆ สถิติผู้ส่งหนังสือเข้าประกวดประกอบด้วย พระภิกษุสงฆ์จำนวน ๕๔ ราย สามเณร ๗ ราย คฤหัสถ์ชาย ๒๑ ราย หญิง ๒ ราย ส่งมาจากจังหวัดพระนคร ๕๘ ราย จังหวัดธนบุรี ๗ ราย จังหวัดนนทบุรี ๒ ราย จังหวัดมินบุรี ๑ ราย จังหวัดอยุธยา ๑ ราย จังหวัดนครราชสีมา ๑ ราย จังหวัดอุบลราชธานี ๑ ราย จังหวัดบุรีรัมย์ ๑ ราย จังหวัดอุตรดิดต์ ๑ ราย จังหวัดเชียงราย๑ราย จังหวัดราชบุรี ๑รายจังหวัด เพ็ชรบุรี ๑ราย จังหวัดสุมทรสาคร ๓ ราย จังหวัดนครนายก ๔ ราย จังหวัดนครศรีธรรมราช ๑ ราย
แสดงให้เห็นว่ามาจากทุกภาคของประเทศ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้แต่งหนังสือเข้าประกวดจากกรุงเทพฯก็ตาม
ในส่วนของพระราชนิพนธ์คำนำในเรื่องอบายมุข ๖ มีพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่แสดงให้เห็นถึงหลักขันติธรรมที่พระองค์ทรงยึดมั่นอย่างเด่นชัด แม้จะทรงทราบว่า พระราชกุศลเจตนาของพระองค์ท่านที่พระราชทานต่อนักเรียนไทยในต่างแดนบางคน สะท้อนกลับออกมาในรูปของความหลงผิดก็ตาม กล่าวคือ
“...เมื่อได้พิมพ์ขึ้นคราวไร, ข้าพเจ้าก็ได้ให้แจกจ่ายไปตามบรรดาญาติและมิตร,ได้แจกไปถึงนักเรียนบางคนที่กำลังเล่าเรียนอยู่ในต่างประเทศด้วย. นักเรียนบางคนเมื่อได้รับหนังสือแจกนึกว่าจะเป็นเรื่องสนุกสนาน,แต่พอเปิดออกอ่านเห็นเป็นหนังสือสอนศาสนา ต่างก็ขว้างทิ้งเสีย ,และบางคนก็กล่าวว่า ‘พุทโธ่ หนังสือพรรณนี้มาแจกทำไมกันก็ไม่รู้’ ... ข้าพเจ้าขอแนะนำแก่ผู้ที่ได้รับแจก’หนังสือพรรณนี้’ แม้ในเวลานี้ไม่ยินดีและยังไม่อ่าน ก็ขออย่าให้ขว้างทิ้งเสียเลย ให้เก็บไว้เถิด เพราะอาจเป็นประโยชน์และอาจต้องการในภายหน้าก็เป็นได้ ดั่งข้าพเจ้าเองได้รู้สึกความต้องการมาแล้ว , จึ่งได้จัดให้มีการประกวดกันขึ้น ...”
ทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ : สามัญชนคนแรกที่ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑
หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่อง ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ประการ หรือแปลว่าประโยชน์ปัจจุบัน ๔ ประการคือ ความหมั่นทำการงานของตน การรักษาทรัพย์ที่หามาได้ การคบคนดีเป็นเพื่อน และการเลี้ยงชีวิตตามกำลังทรัพย์ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ คือนายจั๊บ อึ้งประทีป ครูโรงเรียนมัธยมหอวัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนี้มีผู้แต่งจำนวน ๖๘ ราย เป็นพระภิกษุ ๓๒ ราย สามเณร ๘ ราย บุคคลทั่วไปชาย ๒๕ ราย และหญิง ๓ ราย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกพระราชทานรางวัลที่ ๑ แก่สำนวนของนายจั๊บ อึ๊งประทีป ซึ่งพระราชประสงค์ของพระองค์บังเอิญสอดคล้องกับมติส่วนมากของกรรมการราชบัณฑิตยสภา และด้วยเหตุผล ๓ ประการ ตามที่กล่าวถึงในพระราชนิพนธ์คำนำ คือ
๑.มีบทนำกล่าวถึง “กรรม” โดยทั่วไปซึ่งเป็นการเหมาะกับเรื่องอย่างยิ่ง และตรงกับ
ความเห็นของพระองค์ เพราะจะทำให้เด็กเป็นคนดีและเป็นทางระงับความทุกข์
๒.มีใจความที่แต่งดีมาก ยกตัวอย่างที่เหมาะเข้าใจง่าย และชัดเจน
๓. มีสำนวนที่เขียนอ่านง่ายเหมาะสำหรับเด็ก และไม่ทำให้เบื่อหน่ายง่วงเหงา
นอกจากนี้ยังทรงกล่าวชมความพยายามของผู้แต่งและอนุโมทนาในกุศลเจตนาของผู้แต่งว่า ขอกุศลกรรมอันนี้จงเป็นประโยชน์แก่ผู้แต่งให้เห็นทันตา และตลอดไปจนในภพหน้าด้วย
ปรัชญาพุทธศาสนาในพระราชนิพนธ์คำนำ : ทำไมโลกนี้จึงต้องมีศาสนา
พระราชนิพนธ์คำนำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เรื่องทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ ๔ ประการ เป็นฉบับสุดท้ายโดยทรงมีพระบรมราชาธิบายต่อคำกราบบังคมทูลถามของเด็กคนหนึ่งว่าทำไมโลกนี้จึงต้องมีศาสนา
“...ศาสนามีขึ้นในโลกเพราะคนเราต้องประสบความทุกข์ และ การมีศาสนานั้นเป็นเครื่องระงับความทุกข์ และ เครื่องเศร้าหมองได้ดีกว่าอย่างอื่น... “
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายเรื่องความเชื่อในกรรมและคำสอนในพุทธศาสนา ว่า
“ ...ความเชื่อในกรรมนั้นมักจะมีผู้กล่าวอยู่บ้าง ว่าเป็นความเชื่อที่ทำให้ผู้เชื่อเช่นนั้น ‘รามือราเท้า’ ไม่ทำอะไรเลย มัวแต่หวังในบุญในกรรมอย่างที่เรียกว่า ‘ปล่อยไปตามบุญตามกรรม’ บุคคลที่เชื่อในกรรมเช่นนี้ก็เห็นจะมีบ้างแต่เป็นทางเชื่อที่ไม่ตรงกับพระบรมพุทโธวาทเลย เป็นความเชื่ออย่างที่ฝรั่งเรียกว่า ‘ Fatalistic’ ที่จริง ‘กรรม’ นั้นแปลว่า ‘ทำ’ ผู้ที่เชื่อในกรรมจริงๆต้องพยายามทำความดีให้มากที่สุด และละเว้นทำชั่ว เพราะต้องเชื่อว่า ‘ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว’ จึงจะได้ชื่อว่ามีความเข้าใจดีในคำสอนของพระพุทธเจ้า...”
ธ นิราศร้างแดนสยาม : ปิดฉากพระราชนิพนธ์คำนำ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินียังต่างประเทศเพื่อผ่าตัดพระเนตรอีกครั้งและเสด็จฯไปประทับยังพระตำหนักโนล ประเทศอังกฤษ ในระหว่างนั้นความขัดแย้งระหว่างพระองค์กับคณะรัฐบาลก็ยังคงดำเนินต่อไป จนในที่สุดวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ จึงทรงสละราชสมบัติ
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ครั้งนั้นทรงเลือกสำนวนที่ ๒๒ ของนายอ่ำ ศรีเปารยะ ให้ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ ของการประกวดหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก เรื่องสัมปรายิกัตถะประโยชน์ ๔ ประการแปลว่าประโยชน์ภายหน้า ๔ ประการ ได้แก่ ความมีศรัทธา ศีล ใจสละ และปัญญา ในปีนี้มีผู้ส่งเข้าประกวดน้อยลงเหลือเพียง ๒๙ ราย เป็นพระภิกษุ ๑๘ ราย สามเณร ๑ ราย บุคคลทั่วไปชาย ๘ ราย และหญิง ๒ ราย ูในหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเรื่องนี้ไม่มีพระราชนิพนธ์คำนำของพระองค์อีกต่อไป
ข้อเสนอที่มีต่อปัจจุบันและอนาคตของหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก
ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า แม้ในปัจจุบันจะยังคงมีการประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กอยู่ก็ตาม แต่ผู้สนใจแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กกลับมีจำนวนน้อยมาก และผู้แต่งหนังสือเข้าประกวดจะมีความหลากหลายทั้งพระภิกษุ ครู ทหาร ประชาชนทั่วไปทั้งชายและหญิง แต่ผู้แต่งที่ได้รับรางวัลจะจำกัดอยู่ในแวดวงจำกัด และมีผู้ได้รับรางวัลซ้ำกันหลายครั้งอาทิ
พันเอก (พิเศษ) วัชระ คงอดิศักดิ์ ภาคีสมาชิกสำนักศิลปกรรมราชบัณฑิตยสถาน ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ จำนวน ๑๒ ครั้ง รางวัลที่ ๒ จำนวน ๕ ครั้ง รวมได้รับพระราชทานรางวัล ๑๗ ครั้ง
เกษม บุญศรี เคยได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ ในปี ๒๕๐๘ เรื่องความเป็นผู้สดับมาก และเรื่องวาจาสุภาษิต ในปี๒๕๑๑
อดิศักดิ์ ทองบุญ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ เรื่องการงานไม่อากูล ในการประกวดประจำปี ๒๕๑๕ ก็เคยได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ เรื่องการสงเคราะห์บุตร ในการประกวดประจำปี ๒๕๑๓
พระมหาทองสา นาถวิริโย (สิงห์ธนู) น.ธ.เอก, ป.ธ.๖,ศษ.บ ได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ เรื่องเมตตาบารมี และอธิษฐานบารมี ในปีพ.ศ. ๒๕๔๒ และ ๒๕๔๓
ล่าสุดในปีพุทธศักราช ๒๕๔๘ หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กที่ได้รับคัดเลือก คือเรื่อง สัจจบารมี ของนางสาวงามตา กาญจนวสุนธรา กำหนดการพระราชทานรางวัล ในงานพระราชพิธีวิสาขบูชา พุทธศักราช ๒๕๔๘ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เป็นผู้เคยได้รับพระราชทานรางวัลที่ ๑ เรื่อง อุเบกขาบารมี ในการประกวดประจำปี ๒๕๔๗มาแล้ว
หนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็กดังกล่าวมีอายุครบ ๗๗ ปี จากวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๔๗๑ ถึงวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๘ นับเป็นหนังสือชุดที่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจและเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งต่อเยาวชนในสังคมไทย
ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชก็ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตยสถานดำเนินตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อย่างต่อเนื่องตลอดมา ถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกร สมควรน้อมเกล้าฯร่วมกันเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายกว้างขวางและยั่งยืนยิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต ด้วยการเพิ่มการประชาสัมพันธ์ในสื่อต่างๆที่มีอยู่มากมายอย่างทั่วถึง การเพิ่มแรงจูงใจจากรางวัลชนะเลิศการประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก ตลอดจนควรมีการเพิ่มช่องทางการแจกจ่ายหนังสือแก่เยาวชนอย่างทั่วถึง ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณทั้งจากรัฐบาลและเอกชนทั่วไป
บรรณานุกรม
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย .ประมวลหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก ที่พระบาทสมเด็จ
พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน พุทธศักราช ๒๔๗๑ –๒๔๗๗จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดพิมพ์เป็นที่ระลึก ครบรอบ ๑๐๐ ปีแห่งพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯแทนพระองค์ในพิธีเปิดอาคาร ประชาธิปก–รำไพพรรณี วันพฤหัสบดีที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗
พฤทธิสาณ ชุมพล, หม่อมราชวงศ์. “ หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กเนื่องในวันวิสาขบูชา
เอกสารประกอบการสัมมนาวันอาทิตย์ที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ณ พิพิธภัณฑ์พระบาท
สมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว.
พูนพิศมัย ดิศกุล, หม่อมเจ้าหญิง. สาสนคุณ หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก. พระนคร
: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร,๒๔๗๒.
---------------------------. สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง
๒๔๗๕. พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๔.
พระครูวิจิตรธรรมคุณ. (วาศน์ นิลประภา).ทิศ ๖. หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก.
พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร,๒๔๗๔ .
ลำดวน เทียรฆนิธิกุล. “หนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก” วารสารศิลปากร ปีที่ ๔๖
.๓(พ.ค. – มิ.ย. ๒๕๔๖) หน้า ๑๕ –๒๕.
วชิรญาณวโรรส ,สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา . พุทธมามกะ. พระนคร :โรงพิมพ์โสภณ
พิพรรฒธนากร,๒๔๗๑. ๓๕ หน้า(พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้พิมพ์พระราชทานในงานพระราชพิธีวิสาขบูชาปีพุทธศักราช ๒๔๗๑)
วัชระ คงอดิศักดิ์, พันเอก(พิเศษ). “หนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็ก”. ศิลปกรรม
ปริทรรศน์ปีที่ ๑๐ ฉ.๑ (ส.ค. ๒๕๓๘) หน้า ๔๒-๕๒.
สมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา, ท่านผู้หญิง. พุทธมามกะพิธี : “พระราชนิพนธ์ในพระ
บาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” วารสารไทย ปีที่ ๒๑ ฉ. ๗๔ (เม.ย.-มิ.ย.
๒๕๔๓), หน้า ๑๐-๑๒.
-------------------------------------------------
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น