ขอบคุณเนื้อหาจากอาจารย์ วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์ หอจดหมายเหตุศิริราชพยาบาล
รำไพแสงปกหล้าบารมี
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ พระนามเดิม หม่อมเจ้า
หญิงรำไพพรรณี เป็นพระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิ วัดนวิศิษฎ์ กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอาภาพรรณี (พระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร) เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันอังคารที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๔๗
หญิงรำไพพรรณี เป็นพระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิ วัดนวิศิษฎ์ กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอาภาพรรณี (พระธิดาของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคัคณางคยุคล กรมหลวงพิชิตปรีชากร) เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันอังคารที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๔๗
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ พระราชโอรส พระองค์เล็กในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) ทรงเป็นต้นราชสกุล สวัสดิวัตน์ พระโอรสธิดา ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณีเป็นพระมารดา มี ๘ พระองค์ ได้แก่
หม่อมเจ้าเสรีสวัสดิกมล สวัสดิวัตน์ (พ.ศ. ๒๔๔๕ สิ้นชีพิตักษัยตั้งแต่พระชันษายังไม่ถึง ๑ ปี)
หม่อมเจ้าโสภณภราไดย สวัสดิวัตน์ (พ.ศ. ๒๔๔๖-๒๕๑๔)
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๔๗ – ๒๕๒๘)
หม่อมเจ้าหญิง (ใหม่) (พ.ศ. ๒๔๔๘ พระชันษา ๑ เดือน)
หม่อมเจ้านนทิยาวัด สวัสดิวัตน์ (พ.ศ. ๒๔๕๒ - ๒๕๐๑)
หม่อมเจ้าอรชุนชิษณุ สวัสดิวัตน์ (พ.ศ. ๒๔๕๓ - ๒๕๑๒)
หม่อมเจ้าหญิงรอดรมาพัธ สวัสดิวัตน์ (พ.ศ. ๒๔๕๘ – ๒๔๖๐)
หม่อมเจ้ายุธิษเฐียร สวัสดิวัตน์ (พ.ศ. ๒๔๖๐ - ๒๔๒๘)
พระบารมี ‘สมเด็จป้า’
เมื่อหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีมีพระชันษาได้ ๒ ปี สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ทรงรับหม่อมเจ้าหญิง “หลานป้า” พระองค์นี้ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปประทับที่พระตำหนักสวนสี่ฤดู ซึ่งขณะนั้นเป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระบรมราชินีนาถในวังสวนดุสิต
สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงโปรดปรานเลี้ยงดูพระนัดดาหม่อมเจ้าชายหญิงหลายรุ่นหลาย พระองค์ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี และ หม่อมเจ้าหญิงพวงรัตนประไพ เป็นหม่อมเจ้ารุ่นเล็ก โปรดให้ประทับอยู่กับหม่อมราชวงศ์ ปั้ม มาลากุล (ท้าววรคณานันท์) ณ ห้องปีกตะวันตกชั้นล่างของพระตำหนักสวนสี่ฤดู หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ทรงมีพี่เลี้ยงประจำพระองค์เป็นพนักงานผู้ใหญ่ ชื่อ ปริก สมเด็จพระบรมราชินีนาถมักจะโปรดให้พี่เลี้ยงนำเสด็จพระนัดดาขึ้นเฝ้าฯ เวลาเย็นประมาณ ๑๗.๐๐ น. ในเวลาเสวยก็โปรดให้พี่เลี้ยงถวายป้อนพระกระยาหารเฉพาะพระพักตร์ด้วย
เมื่อทรงเจริญพระชนมายุพอที่จะทรงศึกษาพระอักษรเบื้องต้น ก็โปรดเกล้าฯ ให้ทรงหัดเขียนอักษรที่พระตำหนักสวนสี่ฤดู ด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงใฝ่พระราชหฤทัยในการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงกวดขันพระนัดดาทั้งการอ่าน พูด และเขียนให้ถูกต้องมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์
วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ระหว่างการพระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จไปประทับในพระบรมมหาราชวัง หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชันษา ๖ ปี ได้ตามเสด็จฯไปด้วย เมื่อประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ได้เสด็จเข้าทรงศึกษาที่โรงเรียนราชินี
ทุกเช้าที่เสด็จไปโรงเรียนโดยรถสองแถวของหมวดรถยนต์หลวง มีคุณเฒ่าแก่ควบคุมดูแลไปด้วย เจ้าพี่เจ้าน้องและพระสหายร่วมโรงเรียน เช่น หม่อมเจ้าหญิงพวงรัตนประไพ เทวกุล หม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร หม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล หม่อมเจ้ารัตยากร วิสุทธิ นายทำเนียบ อัศวรักษ์ ฯลฯ พระอาจารย์ที่ถวายพระอักษร เช่น หม่อมเจ้าหญิงเสมอภาค โสณกุล คุณหญิงจำเริญ พิพิธมนตรี (คชเสนี) และคุณหญิงจำรัส ศรีศักดิธำรง (บุณยรัตพันธุ์) เป็นต้น ทรงเข้าเรียนตั้งแต่เวลา ๙.๐๐ ถึง ๑๒.๐๐ น.
เมื่อเสด็จไปโรงเรียนราชินีครั้งนั้นยังไม่มีฉลองพระองค์เครื่องแบบฉลองพระองค์จึงเป็นแบบเดียวกับเจ้านายฝ่ายหญิงทั่วไป คือ ภูษาทรงผ้าลายสีตามวัน เสื้อทรงเป็นผ้าดอกคอสี่เหลี่ยมติดลูกไม้ ตรงลูกไม้สอดโบว์สีตามวัน
ภายหลังพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จไปประทับที่วังพญาไทเป็นการถาวร หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีตามเสด็จไปด้วย เนื่องจากโรงเรียนราชินีอยู่ไกลจากที่ประทับ จึงต้องทรงศึกษาวิชาการต่าง ๆ โดยมีพระอาจารย์มาถวายพระอักษรที่พระตำหนักในวังพญาไท และเสด็จไปโรงเรียนราชินีเมื่อทรงสอบไล่
ราชสำนักฝ่ายในเป็นสถานที่ฝึกฝนอบรมศิลปวิทยาการสำหรับเจ้านายฝ่ายในและกุลธิดาในยุคสมัยที่ระบบโรงเรียนยังไม่เข้าสู่ภาคบังคับ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนัดดาทรงเรียนรู้งานหัตถศิลป์ที่สืบทอดมายาวนานในราชสำนัก เช่น งานเย็บปักถักร้อย งานจัดดอกไม้กรองมาลัย งานแกะสลัก ฯลฯ ทรงอบรมบ่มเพาะพระอุปนิสัยทั้งในฐานะขัตติยราชนารีตามโบราณราชประเพณี และความทันสมัยได้อย่างเหมาะสม พระราชทานเครื่องเล่นทั้งของไทย และ “ตุ๊กตาฝรั่ง” ที่แขนขาเคลื่อนไหวได้ แก่หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ซึ่งพระนัดดาพระองค์น้อยพอพระทัยยิ่ง และทรงเย็บเสื้อผ้าสำหรับตุ๊กตาด้วยพระองค์เอง
เมื่อหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีทรงเจริญพระชันษาประมาณ ๘-๙ ปี ทรงเริ่มทำหน้าที่ตามเสด็จฯ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โดยทรงอัญเชิญพานหีบหมากเสวยตามเสด็จฯ คราวใดที่เสด็จ พระราชดำเนินไปในการพระราชพิธี หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี และหม่อมเจ้าหญิงพวงรัตนประไพ ทรงทำหน้าที่อัญเชิญฉลองพระเนตรกับโต๊ะทองลงยาตามเสด็จฯ ด้วย พระกรณียกิจนี้ฝึกฝนให้ทรงเรียนรู้การปฏิบัติพระองค์ และเพิ่มพูนประสบการณ์ที่ทรงคุณค่ายิ่งสำหรับอนาคต
พระอัชฌา “ท่านหญิงนา”
เมื่อทรงพระเยาว์ หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี มีพระนามลำลองว่า “ท่านหญิงนา” พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงเล่าถึงที่มาของพระนามนี้ว่า เด็กเล็ก ๆ ที่มีรูปร่างอ้วนมักจะถูกล้อว่าเป็นเต่า ซึ่งไม่ใช่เรื่องเสียหาย เมื่อท่านหญิงนายังเล็ก ๆ อยู่ มีผู้ถามว่า “อยากเป็นอะไร อยากเป็นเต่าทองหรือเต่านา” ท่านหญิงองค์เล็กได้ยิ้มและตอบว่า “อยากเป็นเต่านา” จึงทรงเป็น “ท่านหญิงนา” มาแต่ครั้งนั้น
หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีเสด็จออกมาประทับนอกวังเป็นบางเวลา ทรงพระสำราญยิ่งเมื่อมีพระโอกาสทรงร่วมการละเล่นกับเจ้าพี่เจ้าน้อง บางครั้งก็เป็นท่านหญิงองค์เดียวที่ทรงเล่นกับเจ้าพี่เจ้าน้องที่เป็นชาย ด้วยทรงมีน้ำพระทัยเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวมาแต่ทรงพระเยาว์ ครั้งที่เสด็จไปประทับอยู่กับพระบิดาและพระมารดาที่บ้านของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี เมื่อพระชันษาประมาณ ๑๑ ปี เสด็จลงสรงในแม่น้ำร่วมกับเจ้าพี่เจ้าน้อง ทรงเป็นเจ้าพี่หญิงองค์เดียวในหมู่พระอนุชาที่ทรงเกาะหยวกกล้วยข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา
เมื่อพระชันษา ๑๑ ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ประกอบพิธีเกศากันต์ตามโบราณราชประเพณี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงจัดเตรียมงานพระราชทาน และโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีแต่งพระองค์ทรงเครื่องประดับชุดมรกตกับเพชร เมื่อเสร็จพิธีเกศากันต์ที่พระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัยมไหสูรย์พิมานแล้ว มีการฉลองสมโภชอย่างสม พระเกียรติ
หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีจึงทรงเจริญพระชนมายุท่ามกลางการอบรมอย่างเคร่งครัดตามขนบประเพณีแห่งราชสำนักพร้อมกับทรงศึกษาวิทยาการสมัยใหม่จากโรงเรียน จึงทรงเพียบพร้อมด้วยความรู้ และมีพระอุปนิสัยสำรวม แต่เด็ดขาดเข้มแข็งทั้งพระกิริยาวาจา และพระราชหฤทัยตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เป็นพื้นฐานให้มีพระราชหฤทัยที่มั่นคงกอร์ปด้วยพระสติปัญญา ดำรงพระเกียรติยศแห่งขัตติยนารีอย่างเหมาะสมทุกสถานการณ์ได้ตลอดพระชนมชีพ
ทูลกระหม่อมฟ้าน้อยที่รักยิ่ง
พ.ศ. ๒๔๕๗ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา พระราชโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ เสด็จฯ กลับจากประเทศอังกฤษเมื่อทรงสำเร็จการศึกษา ทรงรับราชการทหาร มีพระยศชั้นนายร้อยเอกประจำกรมทหารบกปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ เสด็จมาเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถอยู่เสมอ บางคราวก็ประทับแรมที่วังพญาไท จึงได้ทรงพบปะกับพระนัดดาของสมเด็จแม่หลายพระองค์จนทรงคุ้นเคย ทรงพระเมตตาต่อพระญาติรุ่นเด็กในจำนวนนั้นมีหม่อมเจ้ากมลีสาณ ชุมพล หม่อมเจ้าคัสตาวัส จักรพันธุ์ และหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี รวมอยู่ด้วย โปรดให้เจ้านายรุ่นเด็ก ๆ ตามเสด็จไปในที่ต่างๆ เสมอ ทำให้ทรงพระสำราญและต้องพระอัธยาศัยในหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีที่ทรงอ่อนหวานละมุ่นละม่อมแต่มีน้ำพระราชหฤทัยเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว และยังทรงพระสิริโฉมยิ่ง จนบังเกิดมีพระราชหฤทัยรักใคร่ผูกพัน
ภายหลังสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชาทรงพระผนวชแล้ว ทรงกลับเข้ารับราชการในกรมทหารบกปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ดังเดิม จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๑ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์นี้ ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต อภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรส ณ พระที่นั่งวโรภาสพิมาน พระราชวังบางปะอิน ใน วันจันทร์ที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เวลา ๑๔.๐๐ น. ในพระราชพิธีนั้นทั้งสองพระองค์ทรงแสดงความตั้งพระทัยที่จะทรงปกป้องครองกันตามกระทู้กราบทูลถาม ซึ่งเป็นแบบอย่างการสมรสของชาวตะวันตกตามพระราชนิยมในรัชกาล แล้วพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวรรต และทรงเจิม จากนั้นทั้งสองพระองค์ทรงลงพระนามในสมุดทะเบียนเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงลงพระปรมาภิไธยทรงเป็นพยาน และโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลี้ยง
พระมิ่งขวัญแห่งวังศุโขทัย
เมื่อทรงอภิเษกสมรสแล้ว ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ไปประทับที่ “วังศุโขทัย” ซึ่งสร้างขึ้นใหม่บนที่ดินพระราชทานริมคลองสามเสน สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ เสด็จไปทรงปฏิบัติหน้าที่ราชการทหารในตอนกลางวัน ระหว่างเวลานั้นพระชายาทรงรับพระราชภาระดูแลการภายในพระตำหนัก บางครั้งเสด็จลงทรงอำนวยการปลูกต้นไม้ต่างๆ พร้อมกันนั้นทรงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เช่น ภาษาอังกฤษ ยามเย็นเมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอฯ เสด็จกลับมาก็จะทรงกีฬาเช่น เทนนิส ร่วมกันในช่วงสัปดาห์ละครั้ง ทั้งสองพระองค์จะเสด็จลงตำหนักไม้เพื่อทอดพระเนตรภาพยนตร์ และโปรดให้เจ้านายร่วมทอดพระเนตรด้วย
พระราชภาระในฐานะพระชายา ณ วังศุโขทัยนั้น เมื่อทรงย้อนรำลึกถึงจึงมีพระดำรัสไว้ว่า “ฉันไม่เคยเป็นเด็ก พออายุ ๑๔-๑๕ ปี ก็ต้องเป็นผู้ใหญ่เลย”
ทรงปฏิบัติวัตถากในต่างประเทศ
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา มีพระโรคประชวรเรื้อรังตั้งแต่ทรงพระผนวช แพทย์ประจำพระองค์กราบทูลถวายคำแนะนำให้เสด็จไปทรงรักษาพระองค์ในประเทศที่มีอากาศเย็น ทั้งสองพระองค์จึงเสด็จฯไปทวีปยุโรป ในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๖๓ (พ.ศ. ๒๔๖๔ ตามปีปฏิทินปัจจุบัน) ช่วงที่เสด็จฯไปนั้นเป็นฤดูหนาวจึงทรงแวะที่ประเทศอียิปต์ก่อนเสด็จฯต่อไปยังยุโรปเมื่อถึงฤดูร้อน เสด็จประทับที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เป็นเวลาเดือนเศษ อากาศที่อียิปต์นั้นถูกกับพระโรคเป็นอย่างดี จนถึงวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๔ จึงเสด็จออกจากอียิปต์ไปยังยุโรป
เมื่อเสด็จฯถึงกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ นายแพทย์เฮปป์ (Dr. Hepp) ได้ตรวจพระอาการประชวร มีความเห็นว่าพระโรคไม่ร้ายแรง ทรงรักษาพระองค์ ๕-๖ สัปดาห์ก็ทรงหายเป็นปกติ ระหว่างนี้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา มีพระราชดำริว่าหลังจากทรงหายประชวรแล้ว จะเข้าทรงศึกษาวิชาทหารชั้นสูงต่อในโรงเรียนเสนา ธิการทหารบก (École de Guèrre) ณ กรุงปารีส เพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถทางด้านการทหาร และเป็นโอกาสให้หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชายา ได้ทรงศึกษาภาษาฝรั่งเศสให้ดียิ่งขึ้นด้วย
เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงทรงศึกษาวิชาการทหารเบื้องต้น เสด็จไปประจำหน่วยทหารต่างๆ เสด็จไปทอดพระเนตรกองทหารต่างๆ จากนั้นจึงทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ทั้งสองพระองค์ประทับที่บ้านเช่า ตำบลแซงต์ คลูด์ (St. Cloud) นอกกรุงปารีส หลวงศักดิ์นายเวรและภรรยา ทำหน้าที่มหาดเล็กและแม่ครัว มีหญิงฝรั่งเศส ทำหน้าที่แม่บ้าน หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีทรงฝึกฝนภาษาฝรั่งเศสผ่านการสนทนากับแม่บ้านผู้นี้ ทำให้ทรงเรียนรู้ภาษาฝรั่งเศสได้ดีขึ้นตามพระประสงค์ของพระสวามี
ระหว่างที่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา เสด็จฯไปทรงซ้อมรบในชนบทฝรั่งเศสตามหลักสูตรของโรงเรียนเสนาธิการทหารฝรั่งเศส บางคราวโปรดให้หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชายา เสด็จไปทรงศึกษาภาษาฝรั่งเศสกับครูและทัศนศึกษาตามสถานที่ในหัวเมืองต่าง ๆ
เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชาทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว ทั้งสองพระองค์เสด็จออกจากกรุงปารีสในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๖๗ เสด็จฯ ผ่านทางสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และได้เสด็จประพาสเมืองต่าง ๆ ของสองประเทศนั้น เสด็จถึงกรุงเทพในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๗
เป็นเวลาถึง ๓ ปีเต็มที่หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีเสด็จติดตามพระสวามีไปทุกหนแห่งในต่างแดน ทรงดูแลเมื่อทรงพระประชวรต้องรักษาพระองค์ และในยามที่เสด็จทรงศึกษาวิชาทหาร ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่ทรงคุ้นเคยมาก่อน ด้วยเป็นโอกาสแรกที่เสด็จออกนอกประเทศ บางสถานที่กันดารไม่สะดวกสบาย ก็ทรงเลี่ยงและแก้ไขปัญหาได้ด้วยพระปรีชา มิได้ทำให้พระสวามีต้องทรงพระกังวลห่วงใย แต่ทรงเคียงคู่พระราชหฤทัยในทุกสถานการณ์ เป็นการร่วมทุกข์สุขอย่างแท้จริงในคราวนั้น
สถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี
เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา และพระชายาเสด็จกลับเมืองไทยนั้น สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา เป็นสมเด็จพระอนุชาพระองค์เดียวที่ทรงพระชนม์ชีพอยู่ แม้ว่าจะไม่ทรงคาดคิดหรือคาดหวังว่าจะต้องทรงดำรงตำแหน่งพระรัชทายาท แต่เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาทรงสืบราชสมบัติ ดังมีพระราชหัตถเลขาความว่า “ส่วนฉันนั้น เป็น “ม้ามืด” และอย่างไรเสียก็ขาดประสบการณ์ในกิจกรรมงานเมือง”
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาเฉลิมพระยศหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี เป็นสมเด็จพระอัครมเหสี ทรงพระนามว่า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
. .. ทรงประจักษ์แจ้งความซื่อตรงจงรักของหม่อมเจ้ารำไพพรรณีอันมีต่อพระองค์ ได้ตั้งพระหฤทัยสนองพระเดชพระคุณ ทั้งปฏิบัติวัฎฐากในเวลาเมื่อทรงเป็นสุขสำราญ และรักษาพยาบาลในเวลาเมื่อทรงพระประชวร แม้เสด็จไปประทับอยู่ในทุระสถานต่างประเทศ ก็อุตสาหโดยเสด็จติดตามไปมิได้ย่อท้อต่อความลำบาก ควรนับได้ว่าเคยเป็นคู่ร่วมทุกข์สุขกับพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นนิรันดร จะหาผู้อื่นเสมอเหมือนมิได้ ...
... จึงมีพระบรมราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสสั่งให้ประกาศเฉลิมพระนามหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระวรราชชายา เป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีบรมราชินี และให้มีเกียรติยศเป็นพระอัครมเหสีสมบูรณ์ตามพระราชกำหนดกฎหมาย และพระราชประเพณีจงทุกประการ
พระบรมราชโองการประกาศเฉลิมพระนาม
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
ในพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘
นับเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีการเฉลิมพระยศสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงพระชนม์ชีพของหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ซึ่งนับจากนี้ทรงเป็น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น