ขอบคุณเนื้อหาจากดร. ดินาร์ บุญธรรม
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสิงคโปร์ ชวา และบาหลี
(๓๑ กรกฎาคม – ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒)
การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสิงคโปร์และอาณานิคมอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์(เฉพาะเกาะชวาและบาหลี) เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศครั้งแรกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงเน้นความสำคัญของการเสด็จฯเยือนเกาะชวาซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองอาณานิคมอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ ทรงแสดงพระราชปรารภในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ว่าต้องพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรภูมิประเทศและการบริหารจัดการปกครองเกาะชวา และเป็นการส่งเสริมสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างสยามประเทศกับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมด้วย
อันที่จริงแล้วพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินเยือนชวาในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๗๑ เป็นระยะเวลานานประมาณ ๒ เดือน แต่มีเหตุขัดข้องทำให้ต้องเลื่อนการเสด็จพระราชดำเนินออกไปในปีถัดไปคือการเสด็จทิวงคตของสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช ในที่สุดเมื่อได้เสด็จพระราชดำเนินไปจริงๆก็ถึงกับมีรับสั่งว่าการเสด็จพระราชดำเนินเยือนชวานี้
“ได้คิดเตรียมมานานด้วยปรีดาปราโมทย์จนได้มาจริงๆ ณ บัดนี้...”
การเสด็จพระราชดำเนินเยือนชวาครั้งนี้เป็นการเสด็จพระราชดำเนินทางเรือโดยมีเรือพระที่นั่งมหาจักรีเป็นพระราชพาหนะ โดยเสด็จพระราชดำเนินออกจากกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ทรงมีกำหนดการแวะเยือนเกาะสิงคโปร์ซึ่งเป็นอาณานิคมอังกฤษ ๓ วันแล้วเสด็จต่อไปยังเกาะชวา
เรือพระที่นั่งมหาจักรีถึงเกาะสิงคโปร์เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ผู้สำเร็จราชการอังกฤษได้รับเสด็จพระราชดำเนินอย่างเป็นทางการ แล้วนำเสด็จพระราชดำเนินทั้งสองพระองค์ไปยังจวนผู้สำเร็จราชการซึ่งจัดถวายเป็นที่ประทับ ในระหว่างการเยือนเกาะสิงคโปร์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรฐานทัพเรือ และได้ทรงกอล์ฟอันเป็นกีฬาที่ทรงโปรดพร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จออกจากสิงคโปร์เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ เรือพระที่นั่งมหาจักรีมุ่งหน้าต่อไปยังเกาะชวา ถึงเขตเส้นศูนย์สูตรโลก (Equator) เมื่อเวลา ๐๗.๐๐ น. ของวันที่ ๓ สิงหาคม และผ่านเขตศูนย์สูตรโลกเมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. ในระหว่างที่เรือพระที่นั่งมหาจักรีเข้าเขตศูนย์สูตรโลกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการทำพิธีข้ามเส้นอิเควเตอร์ตามประเพณีชาวเรือสากล๙ สิ่งนี้เป็นการแสดงให้เห็นพระราชนิยมใน “ความเป็นสากล” ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้แต่ในรายละเอียดเล็กๆน้อยๆในระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินนอกราชอาณาจักรก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อนุโลมใช้ธรรมเนียมการเดินทางตามแบบสากล ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทั้งพระองค์และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเป็นพระมหากษัตริย์และพระราชินีที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะเปลี่ยนภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์สยามให้มีความเป็นสากลทัดเทียมภาพลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ของนานาอารยประเทศ ซึ่งภาพสะท้อนดังกล่าวนี้จะปรากฏขึ้นตลอดระยะเวลาการเสด็จพระราชดำเนินเยือนชวา และในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอีก ๓ ครั้ง
เรือพระที่นั่งมหาจักรีถึงเกาะชวาเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ขณะนั้นกำลังอยู่ในระหว่างการเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระราชินีนาถวิลเฮมินาแห่งเนเธอร์แลนด์ มีการประดับตกแต่งประทีปโคมไฟตามชายฝั่งอย่างงดงาม ทางรัฐบาลอาณานิคมอินเดียตะวันออกได้จัดการรับเสด็จพระราชดำเนินอย่างสมพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์ของประเทศที่เป็นเอกราช ตั้งแต่เมื่อเรือพระที่นั่งมหาจักรีแล่นเข้าเขตน่านน้ำเกาะชวา ได้จัดเรือรบของราชนาวีเนเธอร์แลนด์มารับเสด็จฯ ๒ ลำ ซึ่งได้แล่นเคียงข้างเรือพระที่นั่งมหาจักรีเข้าสู่อ่าวปัตตาเวีย และ ณ ท่าเรือตันจุงปริอ็อก (Tanjung Priok) นั้นผู้สำเร็จราชการอาณานิคมอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ได้ทำพิธีรับเสด็จพระราชดำเนินตามแบบพิธีการทูตอย่างสมพระเกียรติ
ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเกาะชวานั้นรัฐบาลอาณานิคมได้จัดให้เสด็จพระราชดำเนินทั้งทางรถไฟและด้วยกระบวนรถยนต์ สถานที่ต่างๆที่ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนในระหว่างที่ประทับ ณ เกาะชวา มีรายละเอียดดังสามารถแสดงเป็นตารางได้ดังนี้
เวลา เมืองที่เสด็จฯเยือน การปฏิบัติพระราชกรณียกิจ
๕ สิงหาคม ปัตตาเวีย (Batavia) - ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ของสมาคมศิลปวิทยา
- ผู้สำเร็จราชการถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ
๖ สิงหาคม ปัตตาเวีย (Batavia) - เสด็จตรวจพลสวนสนามที่จัตุรัสวอเตอร์ลู (Waterloo Ground)
- ทอดพระเนตรโรงเรียนแพทย์ชั้นสูง
- ทอดพระเนตรโรงงานทำยาสูบ
- ทอดพระเนตรสถานีการบินของบริษัท Royal Dutch East Indian Flying และเสด็จประทับเครื่องบินร่อนเพื่อทอดพระเนตรเมืองปัตตาเวีย
๗ สิงหาคม บุยเต็นซอร์ก (Buitensorg) - ประทับที่วังฤดูร้อนของผู้สำเร็จราชการ
๘ สิงหาคม บุยเต็นซอร์ก (Buitensorg) - ทอดพระเนตรสวนพฤกษศาสตร์
๙ สิงหาคม บุยเต็นซอร์ก (Buitensorg) - ทอดพระเนตรบ่อน้ำพุร้อนที่วิโซโล (Wisolo)
- ทอดพระเนตรสถานีผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำที่วินาดะ (Winada)
๑๐ สิงหาคม บุยเต็นซอร์ก (Buitensorg) - ทอดพระเนตรโรงงานผลิตยางพารา
๑๑ สิงหาคม บันดุง (Bandung) - ประทับ ณ โรงแรมโฮมานน์ (Hotel Homann)
- ทอดพระเนตรโรงงานผลิตยาควินิน
๑๒ สิงหาคม บันดุง (Bandung) - เสด็จประพาสน้ำตกดาโก้ (Dago) และสวนดาโก้ (Dago Park) ทอดพระเนตรอักษรพระบรมนามาภิไธยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงจารึกอักษรพระบรมนามาภิไธย ปปร.
๑๓ สิงหาคม บันดุง (Bandung) - ทอดพระเนตรไร่ซินโคนา
๑๔ สิงหาคม บันดุง (Bandung) - ทอดพระเนตรไร่กาแฟและไร่ชา
๑๕ สิงหาคม บันดุง (Bandung) - ทอดพระเนตรภูเขาไฟตังกูบันปราฮู (Mount Tangkuban Perahu)
๑๖ สิงหาคม บันดุง (Bandung) - ทอดพระเนตรสถานีวิทยุโทรเลขที่มาลาบาร์ (Malabar)
๑๘ สิงหาคม การุต (Garut) - ประทับ ณ โรงแรมปาบันลาบัน สูงจากระดับน้ำทะเล ๒,๓๐๐ ฟุต
๑๙ สิงหาคม การุต (Garut) - ทอดพระเนตรบ่อน้ำร้อนที่ตำบลชีปานัส (Ci Panas)
- ทอดพระเนตรทะเลสาบเลเล (Lele) และมาเก็นดิก (Magendik)
๑๐ สิงหาคม การุต (Garut) - ทอดพระเนตรภูเขาไฟกาวากาไมยัน (Gawa Gamaian)
๒๒สิงหาคม การุต (Garut) - ทอดพระเนตรภูเขาไฟปาปันดายัน (Papandayan)
๒๔ สิงหาคม โวโนโซโบ (Wonosobo) - ประทับ ณ โรงแรมเดียง บนที่ราบสูงเดียง (Dieng) สูงจากระดับน้ำทะเล ๔,๐๐๐ ฟุต
๒๖ สิงหาคม โวโนโซโบ (Wonosobo) - ทอดพระเนตรภูมิทัศน์ของที่ราบสูงเดียง (Dieng Plateau) สูงเหนือระดับน้ำทะเล ๗,๐๐๐ ฟุต
- ทอดพระเนตรกลุ่มเทวสถานในศาสนาฮินดูรุ่นแรกสุดในเกาะชวา บนที่ราบสูงเดียง
๒๘ สิงหาคม – ๑ กันยายน สุระการ์ตา (Surakarta) หรือ โซโล (Solo) - ทอดพระเนตรสวนกุหลาบที่ใหญ่ที่สุดในเกาะชวา
- ซูซูฮูนัน (Susuhunan) เจ้าผู้ครองนครสุระการ์ตารับเสด็จฯที่พระราชวังกาสุนานัน (Kasunanan)
- เจ้าชายมังกู เนการา วังหน้านครสุระการ์ตา ถวายพระกระยาหารค่ำ ณ วังมังกู เนการา (Pura Mangku Negara)
๑- ๕ กันยายน ยอกยาการ์ตา (Yogyakarta) - ประทับ ณ แกรนด์โฮเต็ล (Grand Hotel)
- ทอดพระเนตรเทวสถานปรัมบานัน (Candi Prambanan)
- ทอดพระเนตรมหาสถูปโบโรบูดูร์ (Candi Borobudur) และจัณฑิ เมนดุต (Candi Mendut)
- ศรีสุลต่านแห่งนครย็อกยาการ์ตารับเสด็จฯ ณ พระราชวังกาซุลตานัน (Kasultanan)
- เจ้าปากูอาลาม วังหน้านครย็อกยาการ์ตา รับเสด็จฯ ณ วังปากูอาลาม (Pakualaman)
๖ กันยายน เคอดีรี (Kediri) - ทอดพระเนตรโรงงานทำน้ำตาลของนักธุรกิจชาวจีน
๗ กันยายน ซองโกริดี - ประทับแรม ณ โรงแรมซองโกริดี
๘ กันยายน บลิตาร์ (Blitar) - ทอดพระเนตรเทวสถานปานาตารัน (Panataran)
๑๐ กันยายน นองโดบัดยาร์ - ทอดพระเนตรแหล่งโบราณสถานนครสิงหัดส่าหรี (Singosari)
- ประทับ ณ แกรนด์โฮเต็ล
๑๓ กันยายน โตสารี (Tosari) - ประทับแรม ณ แกรนด์โฮเต็ล สูงจากระดับน้ำทะเล ๕,๐๐๐ ฟุต
๑๕ กันยายน โตสารี (Tosari) - เสด็จฯ ทอดพระเนตรภูเขาไฟโบรโม (Bromo)
- ทอดพระเนตรทะเลทราย
๑๗ กันยายน โตสารี (Tosari) - เสด็จฯทอดพระเนตรเปนันดายนพาโนรามา
๒๙ กันยายน เดนปาซาร์ (Denpasar)
เกาะบาหลี - เสด็จฯยอดเขาคินตามานี (Kintamani) สูง ๕,๐๐๐ ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล
๓๐ กันยายน ตัมปักซิริง (Tampak Siring) เกาะบาหลี
๓ ตุลาคม บูเลเล็ง (Buleleng) เกาะบาหลี - ประทับเรือพระที่นั่งมหาจักรี ไปยังนครสุราบายา (Surabaya) เกาะชวา
๔ ตุลาคม สุราบายา (Surabaya) เกาะชวา - เรือพระที่นั่งจอดเติมน้ำมัน
๕-๙ ตุลาคม ระหว่างการเดินเรือ - ประทับแรมในเรือพระที่นั่ง
๑๐ ตุลาคม เกาะปีนัง (Penang) คาบสมุทรมลายู - เสด็จฯขึ้นจากเรือพระที่นั่ง
- เสด็จฯโดยกระบวนรถยนต์จากเมืองบัตเตอร์เวิร์ธไปยังหาดใหญ่
- แวะเสวยพระกระยาหารกลางวันที่อำเภอสะเดา
- เสด็จฯถึงหาดใหญ่ ประทับรถไฟพระที่นั่งกลับกรุงเทพมหานคร
๑๑ ตุลาคม กรุงเทพมหานคร - รถไฟพระที่นั่งถึงสถานีจิตรลดา
จากตารางการเสด็จพระราชดำเนินจะเห็นได้ว่าในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนเกาะชวาและบาหลีนี้ทั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงมีโอกาสได้ทอดพระเนตรสถานที่สำคัญในเกาะทั้งสองอย่างทั่วถึง ในขณะเดียวกันก็ทรงมีเวลาได้พักผ่อนพระอิริยาบถ ณ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงาม การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศครั้งแรกในรัชกาลนี้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ทรงตั้งไว้เป็นอย่างดี คือได้ทรงมีโอกาสกระชับสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างสยามประเทศกับเจ้าอาณานิคมทั้งอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ ทั้งยังได้ทรงมีโอกาสพบกับเจ้าพื้นเมืองผู้ครองนครต่างๆทั้งบนเกาะชวาและบาหลี การที่ได้ทรงมีโอกาสประทับอยู่ในเกาะทั้งสองรวมเป็นระยะเวลานานกว่า ๒ เดือน ทำให้ทั้งสองพระองค์ทรงมีโอกาสได้รู้จักและได้สัมผัสเกาะชวาและบาหลีด้วยพระองค์เองในหลายแง่มุม
พระราชดำรัสตอบผู้สำเร็จราชการเนเธอร์แลนด์ตอนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศครั้งแรกในรัชกาลได้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ทรงตั้งไว้เป็นอย่างดี
“...ในการมานี้ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าได้สำเร็จกรณียกิจกว่าอย่างเดียว กล่าวคือ ข้าพเจ้าได้มาเห็นมารู้จักประเทศเพื่อนบ้านอันสำคัญประเทศหนึ่งด้วยตนเองดีขึ้น กับทั้งได้มาส่งเสริมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศของเราทั้งสองให้สนิทสนมยิ่งขึ้น และให้คงถาวรอยู่ชั่วกัลป์ปาวสาน เป็นการเสริมฐานรากแห่งสัมพันธไมตรีอันสมเด็จพระบรมชนกนาถของเราได้ทรงสร้างไว้แน่นหนาห้าสิบแปดปีกว่ามาแล้วนั้นให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น”
ผลของการเสด็จพระราชดำเนินที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการได้ทอดพระเนตรความเจริญต่างๆที่เนเธอร์แลนด์สร้างไว้ในอาณานิคมอินเดียตะวันออก โดยเฉพาะในเกาะชวา เช่นถนนหนทางที่ทันสมัย การเพาะปลูกพืชแบบไร่ขนาดใหญ่ (Plantation) การจัดการชลประทาน และโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ เช่นโรงงานยางพารา โรงงานผลิตยาสูบ โรงงานผลิตใบชา รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น โรงไฟฟ้าพลังน้ำ สถานีวิทยุโทรเลขและสถานีการบิน ซึ่งเป็นแบบอย่างอันดีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศสยามได้
อย่างไรก็ดีในขณะที่กำลังประทับอยู่ ณ พระราชวังซิงการัดยาในเกาะบาหลี ทั้งสองพระองค์ทรงได้รับข่าวอันเป็นที่เศร้าสลดพระราชหฤทัยยิ่งคือการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์๑๑ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒
ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนสิงคโปร์ ชวา และบาหลีครั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีได้โดยเสด็จพระราชดำเนินในฐานะสตรีหมายเลขหนึ่งของสยามประเทศอย่างสมพระเกียรติยศ เป็นการแสดงพระองค์ในฐานะสมเด็จพระบรมราชินีเป็นครั้งแรกในต่างแดน และแม้จะเป็นครั้งแรกแต่ก็ปรากฏว่าทรงปฏิบัติพระองค์ได้ถูกต้องตามแบบพิธีการทูตทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการทรงฉลองพระองค์ในโอกาสต่างๆ ก็ทรงใช้ฉลองพระองค์แบบต่างๆตามธรรมเนียมสากลได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและสง่างาม ทั้งได้โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปในทุกโอกาส และทุกสถานที่ แม้จะมีรายการเสด็จพระราชดำเนินค่อนข้างมาก จึงนับว่าในส่วนพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีเองก็ทรงประสบความสำเร็จในการทรงแสดงออกถึงบทบาทความเป็นพระราชินีตามแบบสากล โดยเฉพาะการแสดงถึงภาพลักษณ์ของภริยาประมุขของประเทศเอกราชในต่างแดน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่สมเด็จพระอัครมเหสีทรงปฏิบัติหน้าที่ภริยาประมุขของรัฐในการเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการได้โดยสมบูรณ์แบบ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น