ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ราชินีศรีสยามในยุโรป (พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๗)

รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ


ขอบคุณเนื้อหาจากหม่อมราชวงศ์ พฤทธิสาณ ชุมพล
          หลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปเพื่อทรงกระชับพระราชไมตรี และเพื่อทรงรับการผ่าตัดพระเนตรซ้ายเป็นขั้นที่สองที่ประเทศอังกฤษ หลังจากที่ทรงได้รับการผ่าตัดขั้นที่หนึ่งที่สหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ พระองค์เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จากท่าราชวรดิษฐ์ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๗ ด้วยเรือยนต์พระที่นั่งศรวรุณไปยังเกาะสีชังแล้วประทับเรือวลัยซึ่งบริษัท สยามสตีมนาวิเกชัน จำกัด จัดถวาย ทรงแวะที่เมืองเมดัน เกาะ สุมาตรา ซึ่งเนเธอแลนด์ปกครองอยู่ แล้วประทับเรือกำปั่น เมโอเนีย ซึ่งบริษัท อีสต์เอเชียติค จัดถวายเป็นเรือพระที่นั่งต่อไปจะผ่านเมืองโคลัมโบ แห่งเกาะลังกาซึ่งอังกฤษปกครองอยู่และคลองซูเอส ถึงเมืองมาร์เซลย์ ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ รวมเวลาเสด็จ  โดยเรือร่วม ๑ เดือน ต้องทรงฝ่าคลื่นลมพายุไม่น้อยกว่าจะเสด็จ ฯ ถึงยุโรป



รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ
          การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้มีทั้งส่วนที่เป็นทางการและส่วนที่เป็นการส่วนพระองค์ แต่ได้มีการรับเสด็จเป็นอย่างดีในฐานะองค์พระประมุขและสมเด็จพระบรมราชินีแห่งสยามประเทศ ในทุกประเทศที่เสด็จพระราชดำเนิน คือ ประเทศฝรั่งเศส อิตาลี และสำนักวาติกัน อังกฤษ เดนมาร์ก เยอรมนี เบลเยี่ยม เชคโกสโลวาเกีย ฮังการี โดยที่สองประเทศนี้ไม่เคยมีพระมหากษัตริย์และพระมเหสีสยามเสด็จฯไปก่อนหน้านี้ และเป็นการส่วนพระองค์จริง ๆ ที่สวิตเซอร์แลนด์แล้วจึงเสด็จฯ กลับไปประทับที่อังกฤษ เมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยแต่เดิมกำหนดว่าจะเสด็จพระราชดำเนินประพาสอเมริกาด้วย แต่ไม่ได้เสด็จฯ ประทับอยู่ที่อังกฤษแทน จนทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแทบทุกสถานที่ ทรงสื่อถึงความที่ทรงเป็น ‘ราชินีศรีสยาม’ ด้วยพระสิริโฉมที่งดงาม พระสรวลที่ทรงแย้ม และพระอิริยาบถที่งดงามเป็นสง่า ในขณะเดียวกัน ก็ทรงสื่อถึงความเป็นสากลด้วยฉลองพระองค์แบบตะวันตก พร้อมพระมาลาตามประเพณีนิยม การที่ทรงสามารถตรัสเป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี อำนวยให้ทรงมีพระราชปฏิสันถารได้อย่างราบรื่น กับทั้งสมาชิกพระราชวงศ์ ประธานาธิบดี ผู้นำรัฐบาล ทหาร คหบดี นักอุตสาหกรรม ตลอดจนนักประพันธ์

         ในการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ทั้งสองพระองค์ทรงเจริญพระราชไมตรีกับพระมหากษัตริย์และพระบรมราชวงศ์ของประเทศต่าง ๆ ในยุโรป มีสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินสวีเดน สมเด็จพระเจ้ากรุงเดนมาร์ก และสมเด็จพระราชินีขณะที่ประทับอยู่ที่ฝรั่งเศส สมเด็จพระเจ้าวิตโตริโอ เอมานูเอล ที่ ๓ สมเด็จพระราชินีเอเลนา และสมเด็จพระยุพราชแห่งอิตาลี สมเด็จพระเจ้ากรุงอังกฤษ สมเด็จพระนาง มารีและดยุ๊กออฟยอร์ค (Duke of York) พระชายาและพระธิดาทั้งสองพระองค์ (พระองค์โต คือสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ ๒ ในปัจจุบัน) สมเด็จพระเจ้ากรุงเดนมาร์ก สมเด็จพระราชินี และพระบรมวงศ์หลายพระองค์ของประเทศนั้น เจ้าหญิงยูเลียนา พระราชธิดาของสมเด็จพระราชินีนาถกรุงเนเธอแลนด์ (ต่อมาทรงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถ) เป็นต้น อีกทั้งได้เสด็จฯไปเฝ้าสมเด็จพระสันตปาปาปิโอที่ ๑๑ (Pius XI) ณ วังวาติกัน รวมทั้งทอดพระเนตรพิธีสถาปนาพระเถระในสำนักสาเลเชียน (Salasian) ขึ้นเป็นสันตะบุรุษ (saint) ในนิกายโรมันคาทอลิค และกิจการโรงเรียนแห่งนิกายนั้นด้วย เพราะสำนักนี้มีโรงเรียนในประเทศสยาม

        สำหรับการพระราชปฏิสันถารกับหัวหน้าฝ่ายบริหารของประเทศต่างๆนั้น ที่น่าสนใจมีนายก รัฐมนตรี เบเนโต มุสโสลินี (Mussolini) แห่งอิตาลีและนายกรัฐมนตรี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Hitler) แห่งเยอรมนี ผู้ซึ่งเป็นหัวหน้าของคณะฟัสซิสต์ในทั้งสองประเทศ ในขณะเดียวกันได้เสด็จฯไปทรงเยี่ยมนายกรัฐมนตรีแรมซี แมคโดนัลด์ (Ramsey McDonald) แห่งพรรคแรงงานอังกฤษที่ทำเนียบ และ ที่สำคัญเสด็จฯไปทรงฟังการอภิปรายที่สภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งเสวยพระกระยาหารกลางวันกับผู้แทนราษฎรที่อาคารรัฐสภาที่เวสมินสเตอร์ด้วย ทั้งหมดแสดงว่าพระบาทสม เด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ที่จะทรงศึกษาให้ทรงทราบอย่างลึกซึ้งถึงความคิดทางการเมือง และระบอบการปกครองที่กำลังเปลี่ยนแปรและแข่งขันกันอยู่ในทวีปยุโรปในขณะนั้นทุกแนว

         นอกจากนั้นยังทรงแสวงหาหนทางที่จะมีพระราชปฏิสันถารเป็นการส่วนพระองค์กับนักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียง เช่น นายซัมเมอร์เชต มอห์ม (Somerset Maugham ) นาย จี.บี. พรีสต์ลีย์ (G.B. Priestley) และ นาย เอช. จี. เวลส์ (H.G. Wells) และคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่ามีแนวความคิดแบบที่ไม่ใช่กระแสหลักรวมทั้งโน้มไปในทางสังคมนิยมด้วย ดังที่ได้เสด็จฯไปเสวยพระกระยาหารและทอดพระเนตรสวนที่บ้านของนายมอห์มอย่างเป็นที่สำราญพระราชหฤทัยทั้งสองพระองค์ เป็นต้น

           พระราชกรณียกิจนอกเหนือจากนี้มีทั้งที่เจ้าภาพจัดถวายเช่น ทอดพระเนตรกิจการต่างของคณะนาซีที่เยอรมนี และ
‘มุสโสลินีมหาสถาน’ และ โรงเรียนกำกับลูกเสือที่อิตาลี เป็นต้น ส่วนพระราชกรณียกิจซึ่งพิจารณาได้ว่าทรงสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ มีกิจการการแพทย์และการพยาบาล โรงเรียนและสถานเลี้ยงเด็ก พิพิธภัณฑ์และวิหาร สวนสาธารณะหรือการแสดงดอกไม้ซึ่งโปรดทั้งสองพระองค์ แหล่งอาบน้ำแร่ที่เยอรมนี การแข่งขันกีฬา มีเทนนิสซึ่งสนพระราชหฤทัยและทรงเล่นทั้งสองพระองค์ ปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่น บ่อกำมะถันที่อิตาลี และทิวทัศน์ในชนบท ตลอดจนการกสิกรรม รวมทั้งการอุตสาหกรรมประดิษฐ์รถยนต์ เครื่องบินและเครื่องทุ่นแรงต่างๆ ตลอดจน สถานถ่ายภาพยนตร์ซึ่งเป็นที่สนพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และโรงงานเครื่องแก้ว เครื่องปั้นดินเผาซึ่งเป็นที่สนพระราชหฤทัยของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โดยที่สมเด็จฯ ทรงโดยเสด็จพระราชดำเนินเกือบจะโดยตลอด เว้นแต่เมื่อเสด็จฯทอดพระเนตรโรงงานเหล็กที่เมืองเอสเสน ประเทศเยอรมนี ซึ่งมีประเพณีไม่เชิญสตรีไปที่โรงงานเพราะความร้อนในโรงงานสูง 
        ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยม วิทยาลัยอีตัน โรงเรียนนายร้อย วุลลิช และกรมกองทหารที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ เคยประทับมาก่อนและพระราชทานโอกาสให้อดีตพระสหายจากหลายแหล่งได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและถวายงาน
หม่อมสังวาลย์ มหิดล ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ พระโอรสและพระธิดา
         สำหรับพระญาติวงศ์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้หม่อมสังวาลย์ มหิดล ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ พระโอรสและพระธิดา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่ปารีส อีกทั้งนักเรียนไทยในบางที่เช่นเยอรมนีและอิตาลี ก็ได้รับพระราชทานโอกาสให้ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับพระราชทานเงินสนับสนุนกิจการสมาคมนักเรียนไทยและถวายงานนำเสด็จฯชมโรงเรียนที่เขาเรียนอยู่

          ส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงกลางของการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้คือการรักษาพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงตรวจพระทนต์ที่ฝรั่งเศส และทรงเข้ารับการผ่าตัดเอาพระกรามเบื้องล่างทั้งสองซี่ขวาซ้ายออกที่โรงพยาบาลลอนดอนคลินิค ในวันที่ ๑๐พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ โดยประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลแห่งนั้นต่อไปอีกถึง ๗ วัน จากนั้นในเดือนต่อมาคือในวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้เสด็จฯที่โรงพยาบาลเดิม เข้ารับการผ่าตัดพระเนตรข้างซ้ายขั้นที่ ๒ด้วยวิธีการที่ทันสมัยซึ่งยังไม่มีในสยาม ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลชั่วเวลา ๓ วัน หลังจากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรคฤหาสน์ของผู้ดีมีตระกูลของอังกฤษบางแห่ง ซึ่งแห่งหนึ่งคือ คฤหาสน์โนล ซึ่งต่อมาได้ทรงเช่าเป็นที่ประทับเมื่อเสด็จพระราชดำเนินประพาสประเทศอื่น ๆ ในยุโรปเสร็จสิ้นในวันที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ รวมระยะเวลาเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ร่วม ๘ เดือน

         สิ่งที่ต้องเน้นย้ำไว้ ณ ที่นี้ก็คือ การเสด็จพระราชดำเนินประพาสประเทศต่าง ๆ ในยุโรปถึง ๙ ประเทศรวมทั้งที่ลึกเข้าไปทางตอนกลางของทวีป คือประเทศเชคโกสโลวาเกีย และฮังการีนี้ แสดงให้เห็นว่าแม้เหตุเบื้องต้นแห่งการเสด็จพระราชดำเนินจะเป็นการเสด็จฯไปรักษาพระเนตรก็ตาม แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงใช้โอกาสดังกล่าว เจริญพระราชไมตรีในพระราชสถานะองค์พระประมุขในระบอบรัฐธรรมนูญไม่แต่กับพระประมุข ประมุข และผู้นำในการปกครองเท่านั้น แต่กับภาคเอกชน ปัญญาชน คนชั้นนำทั่วไปด้วย หวังผลเป็นการได้ทรงทราบถึงความเป็นไป ทั้งทางด้านการเมืองการปกครอง เทคโนโลยีและวัฒนธรรมตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในแถบที่เสด็จพระราชดำเนินให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเป็นสำคัญ การนี้โน้มนำให้เห็นว่าในระหว่างที่เสด็จพระราชดำเนินประพาสประเทศเหล่านี้ พระองค์ยังไม่ได้ตัดสินพระราชหฤทัยแน่วแน่ว่าจะทรงสละราชสมบัติ ยังคงทรงมีพระราชมานะพยายามยิ่งที่จะทรงทำหน้าที่องค์พระประมุขของประเทศอย่างสมบูรณ์ที่สุด สำหรับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนั้นได้ทรงวางพระองค์อย่างเรียบง่ายแต่เป็นสากล สนองพระเดชพระคุณ โดยเสด็จพระราชดำเนินเป็น ‘ราชินีศรีสยาม’ แบบสากลเบื้องข้างสมเด็จพระบรมราชสวามีได้อย่างสง่างาม

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั