๒๕ กุมภาพันธ์ วันฉัตรมงคลในสมัยรัชกาลที่ ๗: จากการสื่อสารทางการเมืองทางวิทยุกระจายเสียงครั้งแรกในประวัติศาสตร์สู่บทบาทของสังคมออนไลน์
เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ มากกว่า ๘๐ ปีมาแล้ว คณะโหรคำนวณพระฤกษ์บรมราชาภิเษกถวาย ดังนั้นวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘ (นับวันที่ ๑ เมษายนเป็นวันปีใหม่) พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงได้จัดขึ้นอย่างสมบูรณ์ตามแบบโบราณราชประเพณี โดยเริ่มด้วยการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระที่นั่งไพศาลทักษิณ และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในพระบรมมหาราชวัง
วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ จึงนับเป็นวันฉัตรมงคลในสมัยรัชกาลที่ ๗ เพราะเป็นวันอภิลักขิตสมัยคล้ายวันบรมราชาภิเษกซึ่งทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ความว่า
“ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระ ครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เป็นที่พึ่งจัดการปกครองรักษาป้องกันอันเป็นธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญฯ”
คนในสมัยปัจจุบันเมื่อได้อ่านข้อความข้างต้น ย่อมระลึกถึงพระปฐมบรมราชโองการซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันพระราชทานเมื่อกว่า ๖๐ ปีมาแล้วว่า
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
พึงสังเกตว่าในรัชกาลปัจจุบันมิได้รับสั่งว่าจะทรง “จัดการปกครอง” ด้วยทรงเป็น พระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ มิได้ต้องทรงรับผิดชอบการปกครองด้วยพระองค์เอง
จากการศึกษาพระราชดำรัสของรัชกาลที่๗ ที่พระราชทานทุกปีแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน นอกจากจะทรงขอบใจพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ไปร่วมถวายพระพรแล้ว พบว่าสิ่งที่สำคัญคือเป็นการกล่าวถึงข้อราชการต่างๆที่ผ่านมาในรอบหนึ่งปีคล้ายกับเป็นการประเมินผล(Evaluation) และสรุปผลของการบริหารราชการแผ่นดินในรอบปี (Annual report) แก่ประชาชน และตรัสถึงกิจการที่จะต้องทรงทำต่อไปด้วย
พระราชดำรัสในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๙ มีใจความสำคัญดังนี้
“สิ่งแรกที่ทรงกระทำคือ การตั้งอภิรัฐมนตรีขึ้นเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้มีการแก้ไขหนังสือสัญญาที่คืนเสรีภาพการภาษีอากรและอำนาจทางการศาลรวมทั้งอนุสัญญาวางระเบียบความเกี่ยวพันธ์ระวางสยามกับอินโดจีนฝรั่งเศสก็ได้ลงนามกันเพื่อจะบำบัดบรรดาสาเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกับเพื่อนบ้านให้สูญสิ้นไป รวมทั้งตั้งใจอุดหนุนสันนิบาตชาติเพื่อผดุงความยุติธรรมและสันติภาพโลก ส่วนเรื่องการเงินที่ประเทศมีรายจ่ายมากกว่ารายรับมา ๔ ปีแล้ว จึงต้องตัดทอนรายจ่ายเงินแผ่นดินบางประเภทและปลดข้าราชการตามกระทรวงทบวงกรมออกรับพระราชทานเบี้ยบำเหน็จบำนาญ ส่วนการพาณิชย์และคมนาคมนั้นทรงตรวจกิจการของกรมรถไฟ และกรมทางได้สร้างเสร็จตลอดภาคเหนือในมณฑลพายัพแล้วซึ่งจะนำความเจริญมาสู่บ้านเมืองให้แก่พ่อค้าและประชาชน และได้เปิดรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่บุรีรัมย์ถึงสุรินทร์ และรถไฟสายตะวันออกก็เปิดใช้จนสุดทางที่อรัญประเทศ การสร้างสะพานพระราม ๖ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาได้สำเร็จลงเป็นการเชื่อมทางรถไฟสายเหนือสายใต้ทุกแห่งให้มารวมอยู่สถานีเดียว และมีการเปิดทางหลวงจากควนเนียงถึงสตูล บ้านโป่งถึงกาญจนบุรี ส่วนการไปรษณีย์โทรเลขได้รวมสถานีวิทยุโทรเลขเข้าอยู่ในกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เพื่อสะดวกแก่กิจการของประชาชนส่วนเรื่องการทำประมวลกฎหมายนั้น เรื่องใดที่เป็นประโยชน์ก็จะออกใช้เป็นกฎหมายเสียส่วนหนึ่งก่อน และกำลังมีพระราชดำริที่จะออกพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวและระเบียบข้าราชการพลเรือน เพื่อมุ่งหมายให้คนที่มีภูมิความรู้สมควรแก่ตำแหน่งเข้ามาสู่ราชการ และเนื่องจากมีคนต่างด้าวเข้ามาจำนวนมากจึงมีพระราชดำริที่จะมีพระราชบัญญัติระเบียบการตรวจตราคุ้มครองกรรมกรแรงงานในบ้านเมืองให้ดีขึ้น แล้วยังทรงกล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญๆในช่วงต้นปี เช่น รัชกาลที่๗ ทรงเสียพระทัยกับการเกิดอหิวาตกโรคระบาดขึ้นทำให้ราษฎรล้มตายไปหลายพันคน รวมทั้งกล่าวถึงการทำนาในปีนี้ได้ผลดีและการที่เสด็จเลียบมณฑลฝ่ายเหนือได้ไปทอดพระเนตรการสหกรณ์ที่เมืองพิษณุโลกมีความเจริญเป็นที่น่าพอพระราชหฤทัย นอกจากนี้ทรงเห็นความเจริญของการกสิกรรมและการพาณิชยกรรมเป็นข้อสำคัญในรัฐประสาสโนบาย”
พระบรมราโชวาทในงานพระราชพิธีฉัตรมงคลในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๒ เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน เช่นในพ.ศ. ๒๔๗๐ มีความโดยสรุปว่า
“การแก้ไขสัญญากับนานาประเทศเป็นที่น่าพอใจเป็นผลให้แก้ไขพิกัดอัตราภาษีสินค้าเข้าออก และตราพระราชบัญญัติพิกัดภาษีศุลกากรทำให้เหมาะแก่พาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมของชาติ เรื่องการลงทุนสร้างสาธารณประโยชน์ เช่น การก่อสร้างรถไฟ และทำการทดระบายน้ำไม่ต้องกู้เงินจากต่างประเทศมาใช้สอย มีการสร้างถนนเพื่อเพิ่มความสะดวกในทางคมนาคม ด้านการจัดการศึกษาทรงมีหลักการเบื้องต้นในสามข้อใหญ่ คือ ๑) จะต้องบ่มเพาะครูและอบรมครูดีๆขึ้นไว้มากๆ จัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบฝึกหัดครูประถม และจะเปิดแผนกครูมัธยมในมหาวิทยาลัยต่อไป ๒) ต้องจัดหาตำราภาษาไทยให้เพียงพอ และวางระเบียบบำเหน็จให้กับผู้แต่งตำรา ๓) การแก้ไขหลักสูตรให้กว้างขวาง คือ การอบรมเด็กให้เป็นพลเมืองดีที่มั่นคงอยู่ในความนับถือตนเองและชาติของตนเอง สามารถประกอบอาชีพให้เกิดประโยชน์เลี้ยงตัวเมื่อเติบใหญ่ และเป็นกำลังแก่ชาติบ้านเมือง ส่วนการมหาวิทยาลัยในสมัยนั้น ยังทรงมีพระราชวินิจฉัยว่ายังไม่เจริญเท่าที่ทรงปรารถนาให้เป็น ส่วนเรื่องการปกครองมีพระราชดำริในการออกพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน และพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองนั้น ได้ออกพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองและตั้งกรมตรวจคนเข้าเมืองขึ้นในกระทรวงมหาดไทยแล้ว พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวทรงดำริว่า เกี่ยวข้องกับคนส่วนมากจึงส่งไปปรึกษากรรมการองคมนตรีก่อน ส่วนพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนนั้นร่างแล้วแต่ยังไม่พร้อมที่จะประกาศ นอกจากนี้ยังทรงออกพระราชบัญญัติจัดตั้งพิพิธภัณฑสถาน เพื่อเก็บสงวนไว้ซึ่งโบราณวัตถุและศิลปวัตถุอันเป็นของมีค่าแห่งชาติ พระราชบัญญัติแก้ไขลักษณะล้มละลายและกฎหมายอาญาให้เหมาะแก่กาลสมัย พระราชบัญญัติองคมนตรี อันจักเป็นกำลังในการทรงมีพระราชดำริจัดราชการแผ่นดิน และยังได้ออกพระราชบัญญัติสมุดเอกสารและหนังสือพิมพ์ใหม่เพื่อจัดระเบียบมิได้มุ่งหมายจะตัดเสรีภาพแห่งปากเสียงไม่ แต่เป็นการควบคุมไว้พอสมควรมิให้เสื่อมเสียแก่ความสงบและศีลธรรมอันดีของประชาชน มีการออกพระราชบัญญัติหางนม เพื่อประโยชน์แก่การบริโภคนมของเด็ก ในกาลต่อไปยังทรงมีพระราชดำริที่จะแก้พระราชบัญญัติเบี้ยบำนาญ เรื่องน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่องที่พักคนเดินทาง และเรื่องป้องกันการค้าหญิงและเด็ก และมีการรายงานเหตุการณ์ว่า น้ำท่วมมากในต้นเดือนตุลาคมที่มณฑลฝ่ายเหนือเป็นเหตุให้บ้านเรือนราษฎรเสียหาย การทำนาในปีนี้น้ำมากเกินต้องการ...”
ต่อมาในวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๓ มีนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นในวันฉัตรมงคลสมัยรัชกาลที่ ๗ คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมได้ทรงเปิดการส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นปฐมฤกษ์ โดยใช้ชื่อสถานีว่า “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท” ตั้งสถานีเครื่องส่งที่วังพญาไท (บริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในปัจจุบัน) พิธีเปิดสถานีวิทยุได้อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวังมาเข้าเครื่องส่งที่สถานีพญาไท แล้วออกอากาศไปสู่ประชาชน นับเป็นการถ่ายทอดพระสุรเสียงทางวิทยุกระจายเสียงเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และยังถือเป็นการสื่อสารทางการเมืองเป็นครั้งแรกด้วยสื่อดังกล่าวในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งในเวลาต่อมาได้พัฒนาเป็นสื่อต่างๆที่ทรงอิทธิพลในปัจจุบัน อาทิ สื่อภาพยนตร์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ จนถึงสื่อเครือข่ายทางสังคม (Social network) เช่น เฟสบุ๊ค ทวิสเตอร์ และเว็บบล็อกในปัจจุบัน
กล่าวกันว่าใครคุมสื่อได้คนนั้นมีอำนาจ ดังนั้นขณะที่รัฐบาลมีสื่อหลากหลายให้ใช้ นักการเมืองทุกฝ่ายก็พยายามหาทางออกสื่ออย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นทางการเมืองของสาธารณชน ประชาชนซึ่งอยู่ตรงกลางจึงต้องกลั่นกรองข่าวสารที่ออกมาจากทุกฝ่ายอย่างใส่ใจจริงจังเช่นเดียวกัน
ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร เรียบเรียง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น