ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ความรู้เรื่องประชาธิปไตยจากพระราชหัตถเลขาสละพระราชสมบัติ

 รศ.ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล (กรรมการพิพิธภัณฑ์ฯ)


           เป็นเวลากว่า 76 ปีมาแล้วนับแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (ซึ่งตามปฏิทินปัจจุบันเป็นพ.ศ. 2478) และขณะนี้ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งหนึ่งโดยเข้าใจว่านั่นจะทำให้เรามีประชาธิปไตยกันจริงๆ

           จึงใคร่ขอเชิญชวนให้มาหาความรู้เรื่องประชาธิปไตยจากพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติกัน

         " ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม
           ให้แก่ราษฎรโดย  ทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลาย
          ของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยฉะเพาะ
         เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและ
        โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร"

         ข้อความในพระราชหัตถเลขาฯ ที่ได้รับการคัดมากล่าวอ้างอยู่เสมอในปัจจุบันสมัย คือข้อความย่อหน้าที่ 2 หน้า 5 ที่ว่า
หลายคนอ่านแค่นี้แล้วเข้าใจไปว่า ทรงสละพระราชอำนาจในวาระที่ทรงสละราชสมบัติ ซึ่งจริงๆแล้ว ทรงสละพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเกือบ 3 ปีก่อนหน้านั้นแล้ว คือเมื่อมีการ “ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 และทรงรับเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความว่าไม่ทรงมีอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในพระหัตถ์อีกต่อไปแล้ว
          ดังนั้นข้อความที่คัดมาข้างต้นจึงเป็นการทรงย้อนไปกล่าวถึงเมื่อพ.ศ. 2475 ว่าได้ทรงสละพระราชอำนาจให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป เพื่อประกอบการทรงอธิบายเหตุผลว่า เหตุใดจึงต้องสละราชสมบัติในพ.ศ. 2477(8)

คำอธิบายของพระองค์โดยสรุปอยู่ที่ย่อหน้าที่ 1 ของหน้าเดียวกันใจความดังต่อไปนี้

          "ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง  ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการ   ของเสรีภาพในตัวบุคคลและหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า  ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใดคณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้น ในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้"

          
           ตรงนี้ขออธิบายขยายความว่า สองหลักนี้มีความเชื่อมโยงกันเป็นหลักของ ระบอบรัฐธรรมนูญแบบเสรีนิยม กล่าวคือ ถือว่ามนุษย์แต่ละคนมีเสรีภาพ (freedom) มาแต่กำเนิด ด้วยเหตุผลที่ว่ามนุษย์แตกต่างจากสัตว์เดียรัจฉาน ตรงที่ คิดเป็น ใช้เหตุผลเป็น และจึงสร้างสรรค์เป็น (ส่วนจะคิดหรือใช้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)
          เสรีภาพนี้จึงต้องได้รับความคุ้มครองจากการถูกลิดรอนโดยการใช้อำนาจจากมนุษย์คนอื่น โดยเฉพาะยิ่งจากผู้ปกครอง จึงเป็นที่มาของแนวคิด การปกครองโดยหลักนิติธรรม (the rule of law)
การปกครองโดยหลักนิติธรรมนี้พูดง่ายๆก็คือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการปกครอง(การใช้อำนาจ)ตามอำเภอใจของผู้ปกครอง (arbitrary rule)

           เท่ากับว่าผู้ปกครองจะต้องทำการตัดสินใจตามกฎเกณฑ์หรือหลักการที่ใช้บังคับทั่วไปกับบุคคลทุกผู้ทุกนามอย่างไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เลือกปฏิบัติ กล่าวคือการตัดสินใจต้องเป็นกลางไม่โอนเอียงเข้ากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และใช้กับทุกกรณี

        หากการปกครองเป็นเช่นนี้ได้แล้ว ทุกคนก็จะมี “ความเสมอภาคกันในสายตาของกฎหมาย (“equality before the law”) และมีเสรีภาพ คือปราศจากความหวาดกลัวว่าจะมีการใช้อำนาจตามอำเภอใจของผู้ปกครอง (freedom from fear) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นการปกครองที่ปวงประชาได้รับการปกป้อง (“demo-protection”) แนวคิด “การปกครองโดยหลักนิติธรรม” นี้เองเป็นที่มาของแนวคิด ระบอบรัฐธรรมนูญ (constitutionalism) ซึ่งต้องบอกว่ายังไม่ถึงกับเป็นประชาธิปไตย

คราวนี้มาดูย่อหน้าที่ 3 หน้า 5 ซึ่งผมขอแยกแยะเป็นสองตอน

ตอนแรกมีว่า

         "บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้า
        ที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศ
        โดยแท้จริงไม่เปนผลสำเหร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า
        บัดนี้เปนอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครอง
        แก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว"

           เท่ากับว่าทรงนำเรื่องประชาธิปไตยหรืออำนาจอธิปไตยของปวงประชาเข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรง หมายความว่า นอกจากประชาชนจะต้องมีเสรีภาพที่มีการปกครองในหลักนิติธรรม (ในระบอบรัฐธรรมนูญ) เป็นประกันแล้ว ยังต้องมีสิทธิทางการเมือง คือที่จะมีส่วนร่วมในการชี้ว่านโยบายของประเทศจะเป็นเช่นใดด้วย

           ขออธิบายเพิ่มเติมตามศาสตราจารย์จีโอวานี ซาตอรี (Giovanni Sartori) นักรัฐศาสตร์ชั้นนำชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาลีว่า สองเสาหลัก(เสาเข็ม) ของประชาธิปไตยนั้น คือการปกครองโดยหลักนิติธรรม (the rule of law หรือ “demo- protection”) ประการหนึ่งและอำนาจอธิปไตยของปวงชน หรือ อำนาจของปวงชน ( “demo- power” ) อีกประการหนึ่ง

           ซาตารีตั้งปุจฉาชวนคิดไว้ต่อไปว่า “หากคุณต้องเลือกระหว่างการอยู่ในประเทศที่ demo-protection อย่างเดียว กับประเทศที่มี demo-power อย่างเดียว คุณจะเลือกอยู่ที่ไหน?”

          เขาวิสัชนาว่าเขาจะเลือกอย่างแรก และไขปริศนาไว้ด้วยว่า เพราะหากปวงประชาไม่ได้รับการปกป้องจากการใช้อำนาจตามอำเภอใจเสียแล้วไซร้ ปวงประชานั้นจะมีหนทางใดเล่าที่จะ(ใช้ความคิดปรึกษากัน รวมตัวกัน) สร้างอำนาจปวงประชาขึ้นมาได้

           ดังนั้นการปกป้องปวงประชา หรือการปกครองโดยหลักนิติธรรม (หรือระบอบรัฐธรรมนูญ) จึงเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นของการที่จะมีประชาธิปไตย และจึงเป็นเสาหลักหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของระบอบประชาธิปไตย แต่มีเสานี้เสาเดียวก็ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย ต้องมีอีกเสาหนึ่งคือ อำนาจของปวงประชา

          ส่วนที่ว่าแต่ละประเทศจะจัดการให้มีทั้ง 2 เสาบนสภาพจริงตลอดจนชีวิตวัฒนธรรมของแต่ละประเทศนั้น คนในประเทศนั้นๆ ต้องคิดอ่านกันให้ดี
         องค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในเรื่องปัญหาการปรับใช้อยู่ไม่น้อย เห็นได้จากพระราชหัตถเลขา Problems of Siam และ Democracy in Siam (พ.ศ. 2470) หรือแม้แต่ในพระราชหัตถเลขาสละพระราชสมบัตินี้เอง ดังความในย่อหน้าที่ 3 ตอนหลังที่ว่า

           "...และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เปนอันหมดหนทาง
            ที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว 
           ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและลาออกจาก     
           ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ แต่บัดนี้เปนต้นไป...."

          ข้อความนี้ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจ แต่ผมว่าน่าสนใจเพราะเป็นเรื่องของพระราชภาระของพระมหากษัตริย์สยามตามคติธรรมราชาที่จะต้องทรง “ปกป้องปวงประชา” ดังความในพระปฐมบรมราชโองการของพระองค์ เมื่อทรงบรมราชาภิเษก ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 ที่ว่า

          “... บัดนี้เราทรงราชภาระ ครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ
         เพื่อประโยชน์สุขเกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลาย
        กับโภคสมบัติ เป็นที่พึ่งจัดการปกครองป้องกันอันเป็นธรรมสืบไป
        ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย เทอญฯ”

          พึงสังเกตว่าทรงสัญญาไว้ว่าจะทรง “จัดการปกครองป้องกันอันเป็นธรรม” แต่เมื่อได้ทรง “เต็มใจ” สละพระราชอำนาจแล้วเมื่อ พ.ศ. 2475 ดังนั้นใน พ.ศ. 2477 ขณะที่จะทรงสละพระราชสมบัติ จึงไม่ทรงมีพระราชอำนาจในการจัดการปกครองแล้ว เพราะได้ทรงกลายเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทรงมีแต่สิ่งที่ผมอยากเรียกว่า “พระราชสิทธิ” ของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตามธรรมเนียมของระบอบนั้นในตะวันตก เช่นอังกฤษ ที่จะทรงรับปรึกษาหารือ ที่จะพระราชทานกำลังใจ และที่จะทรงร้องขอตักเตือนผู้ที่กระทำการปกครองจริงๆ ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงใช้พระราชสิทธิ “ร้องขอ” หลายครั้งหลายครา แต่ไม่เป็นผล ดังรายละเอียดปรากฏในพระราชหัตถเลขา และบันทึกการเจรจาระหว่างพระองค์กับคณะผู้แทนรัฐบาลจากกรุงเทพฯ

          เท่ากับว่าทรงรู้สึกว่าทรงล้มเหลวในอันที่จะทรงช่วยประคับประคองการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย และที่สำคัญไม่อาจที่จะทรงทำหน้าที่ของธรรมราชาในการปกป้องปวงประชาดังที่ทรงสัญญาไว้แต่ครั้งที่ทรงขึ้นสู่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ได้สำเร็จ จึงทรงสำนึกว่าต้องทรงรับผิดชอบ ด้วยการทรงลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งก็คือสละราชสมบัติ

          พึงสังวรว่าทรงสละราชสมบัติในฐานะพระมหากษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิ ไม่ใช่ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงทรงสำนึกว่าต้องทรงรับผิดชอบกับการที่ทรงยินยอมเปลี่ยนพระราชสถานะแล้วการณ์ปรากฏภายหลังว่า ไม่อาจทรงรักษาสัญญาไว้ได้ จะใช้ตามภาษาปัจจุบันว่า ทรง“ตรวจสอบ”พระองค์เอง ก็ได้
แต่ในการนั้นได้ทรงเน้นย้ำถึงหลักการของระบอบประชาธิปไตย 2 หลัก ไว้ให้เราคนรุ่นหลังได้เรียนรู้ทำความเข้าใจ

     จึงขอเชิญชวนให้ศึกษาพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติฉบับเต็มในรายละเอียด พร้อมไปกับเอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยง จะได้ความกระจ่างกว่าที่บทความนี้จะทำได้ในพื้นที่อันจำกัด










กล่าวคือเมื่อทรงสละพระราชอำนาจ (เมื่อพ.ศ. 2475) แล้วทรงพบว่า “รัฐบาลและพวกพ้อง” ทำการปกครองในพระปรมาภิไธย (“ในนาม”) ของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (องค์พระประมุข) ในรูปแบบที่ผิด “หลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล” และ “หลักความยุติธรรม” (ตามที่ทรงเข้าพระราชหฤทัย)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั