ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์

เรียบเรียงโดย ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร


          พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติยศองค์พระประมุข ในพระบรมราชวโรกาสที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ เครื่องประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ได้แก่ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ โดยพระราชครูพราหมณ์จะเป็นผู้กล่าวถวายเครื่องสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์เพื่อเฉลิมพระราชอิสริยยศ อันเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากลัทธิพราหมณ์

          ในธรรมเนียมแต่โบราณเกี่ยวกับการเปลี่ยนปีใหม่มาถึงเดือนหก พวกพนักงานฝ่ายใน (สตรี) ที่รักษาเครื่องราชูปโภคและรักษาตำแหน่งหน้าที่พระทวารและประตูวังต้องถวายการสมโภชเครื่องราชูปโภค ส่วนพนักงานฝ่ายหน้า (บุรุษ) จะต้องสวดมนต์เลี้ยงพระ โดยพนักงานฝ่ายในจะมีแต่การถวายเครื่องสังเวยและเครื่องประโคม โดยเป็นส่วนของเจ้าพนักงานทำกันเอง

          ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกนั้นเป็นมหามงคลสมัย ควรมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตร เพื่อสิริมงคลแก่ราชสมบัติจึงทรงจัดการพระราชกุศล ซึ่งพระราชทานชื่อว่า “พระราชพิธีฉัตรมงคล”

           ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง

คำว่า กกุธภัณฑ์มาจากรูปศัพท์ มีที่มาจากรากศัพท์ ดังนี้

           ก หมายถึง ฟ้า กุ หมายถึง ดิน ธ หมายถึง ทรงไว้ ภัณฑ์ หมายถึง สิ่งของ รวมความแล้วหมายถึง สิ่งใดก็ตามที่เป็นเครื่องใช้ประกอบพระราชอิสริยยศแห่งพระมหากษัตริย์ ประเพณีการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่ครั้งสมัยสุโขทัย ในสมัยอยุธยาก็ยึดถือพระราชประเพณีนี้สืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เครื่องสิริราชกกุธภัณฑ์ที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกส่วนใหญ่สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ที่พระมหาราชครูถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วย

          พระมหาเศวตฉัตร เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า นพปฎลมหาเศวตฉัตรเป็นฉัตร ๙ ชั้น หุ้มผ้าขาว มีระบาย ๓ ชั้น ขลิบทอง แผ่ลวด มียอดพระมหาเศวตฉัตรนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้หุ้มด้วยผ้าขาว แทนตาด ถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญยิ่งกว่าราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ ในรัชกาลปัจจุบัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำขึ้นถวายที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรหลังจากทรงรับน้ำอภิเษกแล้ว จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังก็เชิญไปปักกางไว้เหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ต่อมาเมื่อเสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ เพื่อทรงรับเครื่องเบญจสิริราชกกุธภัณฑ์ จึงไม่ต้องถวายเศวตฉัตรรวมกับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ชิ้นอื่น

          เดิมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทยบางรัชกาล มิได้กล่าวรวมพระมหาเศวตฉัตรหรือเศวตฉัตรเป็นเรื่องราชกกุธภัณฑ์ด้วยเพราะฉัตรเป็นของใหญ่โต มีปักอยู่แล้วเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐจึงถวายธารพระกรแทน จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระมหาพิชัยมงกุฎ

          พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นราชศิราภรณ์สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทำด้วยทองลงยาประดับเพชร ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสริมแต่งพระมหาพิชัยมงกุฎให้งดงามและทรงคุณค่ายิ่งขึ้น จึงให้ผู้ชำนาญการดูเพชรไปหาซื้อเพชรจากประเทศอินเดียได้เพชรขนาดใหญ่ น้ำดี จากเมืองกัลกัตตา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นำมาประดับไว้บนยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ แล้วพระราชทานนามเพชรนี้ว่าพระมหาวิเชียรมณี พระมหามงกุฎหมายถึงยอดวิมานของพระอินทร์ ผู้เป็นประชาบดีของสวรรค์ชั้นสอง คือ ชั้นดาวดึงส์ พระมหาพิชัยมงกุฎรวมพระจอน สูง ๖๖ เซนติเมตร หนัก ๗.๓ กิโลกรัม ในสมัยโบราณถือว่ามงกุฎมีค่าสำคัญเท่ากับราชกกุธภัณฑ์อื่น ๆ และมหาเศวตฉัตรเป็นสิ่งที่สำคัญสูงสุด เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงรับมงกุฎมาแล้วก็เพียงทรงวางไว้ข้างพระองค์ ต่อมาเมื่อประเทศไทยติดต่อกับประเทศในทวีปยุโรปมากขึ้น จึงนิยมตามราชสำนักยุโรปที่ถือว่าภาวะแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ที่เวลาได้สวมมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงเชิญทูตในประเทศไทยร่วมในพระราชพิธี และทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎมาทรงสวม แต่นั้นมาก็ถือว่า พระมหาพิชัยมงกุฎเป็นสิ่งสำคัญในบรรดาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ และมหากษัตริย์จะทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระแสงขรรค์ชัยศรี

          เป็นพระแสงราชศัสตราวุธประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ เป็นพระแสงราชศัสตราประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ พระขรรค์ หมายถึง พระปัญญาในการปกครองบ้านเมือง พระแสงขรรค์องค์ปัจจุบันมีประวัติว่า ในปี พ.ศ.๒๓๒๗ ชาวประมงพบพระแสงองค์นี้ในทะเลสาบเมืองเสียมราฐ กรมการเมืองเห็นว่าองค์พระแสงขรรค์ยังอยู่ในสภาพดีและงดงาม จึงนำพระแสงไปมอบให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองเสียมราฐในขณะนั้น เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เห็นว่าเป็นของเก่าฝีมือช่างสมัยนครวัด จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ เมื่อวันที่พระแสงองค์นี้มาถึงพระนคร ได้เกิดฟ้าผ่าในเขตในพระนครถึง ๗ แห่ง มีประตูวิเศษไชยศรีในพระราชฐานชั้นนอก และประตูพิมานไชยศรี ในพระราชฐานชั้นกลาง ซึ่งเป็นทางที่อัญเชิญพระแสงองค์นี้ผ่านไป เพื่อเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้น ดังนั้น ประตูพระบรมมหาราชวังดังกล่าว จึงมีคำท้ายชื่อว่า "ไชยศรี" ทั้งสองประตูเช่นเดียวกับชื่อพระขรรค์องค์นี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ทำด้ามและฝักขึ้นด้วยทองลงยาประดับมณีพระแสงขรรค์ชัยศรีนี้เฉพาะส่วนที่เป็นองค์พระขรรค์ยาว ๖๔.๕ เซนติเมตร ประกอบด้ามแล้วยาว ๘๙.๘ เซนติเมตรหนัก ๑.๓ กิโลกรัม สวมฝักแล้วยาว ๑๐๑ เซนติเมตร หนัก ๑.๙ กิโลกรัม พระแสงราชศัสตราที่สำคัญที่สุดในพระราชพิธีสำคัญหลายพิธี เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

ธารพระกร

           ธารพระกรของเดิมสร้างในรัชกาลที่ ๑ ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ปิดทอง หัวและสันเป็นเหล็กคร่ำลายทอง ที่สุดสันเป็นซ่อม ลักษณะเหมือนกับไม้เท้าพระภิกษุที่ใช้ในการชักมหาบังสกุล เรียกธารพระกรของเดิมนั้นว่า ธารพระกรชัยพฤกษ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างธารพระกรขึ้นใหม่องค์หนึ่งด้วยทองคำ ภายในมีพระแสงเสน่า ยอดมีรูปเทวดา จึงเรียกว่า ธารพระกรเทวรูป ที่แท้ลักษณะเป็นพระแสงดาบมากกว่าเป็นธารพระกร แต่ได้ทรงสร้างขึ้นแล้วก็ทรงใช้แทนธารพระกรชัยพฤกษ์ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำธารพระกรชัยพฤกษ์กลับมาใช้อีกและยังคงใช้ธารพระกรชัยพฤกษ์ในพระราชพิธีบรมราชภิเษก มาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

พัดวาลวีชนี และพระแส้หางจามรี

           เป็นเครื่องใช้ประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ พัดวาลวีชนีทำด้วยใบตาล แต่ปิดทองทั้ง 2 ด้าน ด้ามและเครื่องประกอบทำด้วยทองลงยา ส่วนพระแส้ทำด้วยขนจามรี ด้ามเป็นแก้ว ทั้งสองสิ่งนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น 'วาลวีชนี' เป็นภาษาบาลีแปลว่า เครื่องโบก ทำด้วยขนวาล ตรงกับที่ไทยเรียกจามรี

ฉลองพระบาทเชิงงอน

           ฉลองพระบาทมีที่มาจากเกือกแก้ว หมายถึงแผ่นดินอันเป็นที่รองรับเขาพระสุเมรุ และเป็นที่อาศัยของอาณาประชาราษฎร์ทั่วทั้งแว่นแคว้น ฉลองพระบาทเชิงงอนนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ให้สร้างขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ตามแบบอินเดียโบราณ ทำด้วยทองคำทั้งองค์ น้ำหนัก ๖๕๐ กรัม ลายที่สลักประกอบด้วยลายช่อหางโตแบบดอกเทศ ลงยาสีเขียวแดง โดยดอกลงยาสีเขียว เกสรลงยาสีแดง ส่วนเชิงงอนนั้นทำเป็นตุ่มแบบกระดุมหรือดอกลำดวนมีคาดกลางทำเป็นลายก้านต่อดอกชนิดใบเทศฝังบุษย์น้ำเพชร

         ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เครื่องสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์เป็นของสำคัญที่พระราชครูพราหมณ์จะถวายแด่พระมหากษัตริย์เพื่อความสมบูรณ์ของพระราชพิธีโดยจะถวายจากลำดับสูงลงต่ำ เริ่มจากพระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร พัดวาลวิชนี และแส้หางจามรี และท้ายสุดจะสอดฉลองพระบาทเชิงงอนถวาย เครื่องราชกกุธภัณฑ์เก็บรักษาไว้ ณ ท้องพระโรงพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในหมู่พระมหามนเทียร ภายในพระบรมมหาราชวัง เดิมเจ้าพนักงานที่รักษาเครื่องราชูปโภคได้จัดพิธีสมโภชเครื่องราชูปโภคและเครื่องราชกกุธภัณฑ์เป็นประจำทุกปี โดยเลือกทำในเดือน ๖ เพราะมีพระราชพิธีน้อยจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า วันพระบรมราชาภิเษกเป็นวันมงคล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตรและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๓๙๔ พระราชทานชื่อว่า พระราชพิธีฉัตรมงคลต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตราธิราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์เปลี่ยนเรียกชื่อพระราชพิธีว่า พระราชกุศลทักษิณานุประทาน และพระราชพิธีฉัตรมงคลสืบมาจนปัจจุบัน

          เชิญชมนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่อาคารอนุรักษ์เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ชั้นที่ ๓ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลา ๐๙.๐๐-๑๖.๐๐ น. ทุกวันอังคาร-วันอาทิตย์ (ยกเว้นวันจันทร์)



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...