ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

70 ปีวันสวรรคตพระปกเกล้าฯ


พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและ
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี


ขอบคุณบทความจาก รศ. ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพลกรรมการพิพิธภัณฑ์ฯ

          เมื่อปีใหม่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้กรุณาส่งปฏิทินตั้งโต๊ะ “70 ปีความรักของพระปกเกล้าฯ” มาให้ ทำให้นึกออกว่า ปีนี้ครบ 70 ปีของการเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ที่พระตำหนักคอมพ์ตันเฮาส์ ประเทศอังกฤษ พระชนมพรรษาเพียง 48 พรรษา

          บทกวีวัจนะของรองศาสตราจารย์นภาลัย สุวรรณธาดา ซึ่งตีพิมพ์ไว้บนหน้าแรกเบื้องข้างพระบรมฉายาลักษณ์ ไขข้อสงสัยว่า “ความรักของพระปกเกล้าฯ” นั้น เป็นอย่างไร ในที่นี้ขอคัดมาเพียงบางส่วน

          “รักหนึ่งคือภักดิ์ เชษฐาธิบดี...

           รักสองทรงมี รำไพพรรณี มเหสีภูบาล...

           รักสามคือรักปวงประชา ให้การศึกษา...

           รักสี่ที่รักเป็นหนักหนา รักประชาธิปไตยในสยาม...

           รักห้ารักแท้มอบแก่ชาติ สละราชสมบัติตัดปัญหา

           มอบประชาธิปไตยให้ประชา เสด็จลาลับไทยไปนิรันดร์...”

และจบลงด้วยกลอนสุภาพ บรรทัดสุดท้ายความว่า

            “ขอความรักปกเกล้าปกชาวไทย ดลชาติให้สมานฉันท์รักกันเทอญ”

สำหรับผู้ที่อ่านบทกวีวัจนะนี้แล้วอยากรู้เพิ่มเติมก็มีร้อยกรองนำเสนอพระราชประวัติโดยย่อไว้ด้วย

           แต่การเผยแพร่สาระความรู้ “พระปกเกล้าศึกษา” ไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น ในแต่ละหน้าของปฏิทินยังมีการคัดวันสำคัญในรัชกาลประจำแต่ละเดือนมาบรรยายไว้สั้นๆ พร้อมกับภาพที่เกี่ยวข้อง และการทำเครื่องหมายกำกับวันที่นั้นๆไว้บนปฏิทินด้วย เช่น “25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2468 วันฉัตรมงคลในรัชกาลที่ 7...” เป็นต้น ส่วนในหน้าหลังของแต่ละเดือนเป็นพระบรมฉายาลักษณ์งามๆคุณภาพดีตีพิมพ์อยู่โดยมีเชิงอรรถอธิบายไว้ที่หน้าหลังของเดือนธันวาคม เห็นได้ว่า มสธ. ได้ทำหน้าที่ของมหาวิทยาลัยในการให้ความรู้แก่สาธารณชนควบคู่ไปกับการเฉลิมพระเกียรติในปฏิทินที่มีรูปโฉมสง่างามสมพระเกียรติทีเดียว จึงเห็นควรเล่าสู่กันฟังไว ณ ที่นี้ ด้วยความชื่นชม

          ครั้นเดือนกุมภาพันธ์ ผมได้รับเชิญให้ไปร่วมงานเปิดตัวหนังสือภาษาอังกฤษชื่อว่า Siamese Memoirs : The Life and Times of Pimsai Savasti ซึ่งมีเนื้อหา “พระปกเกล้าศึกษา” อยู่ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับช่วงที่เสด็จสวรรคต

        ผู้เขียนหนังสือมี 2 คน คนแรกคือม.ร.ว.ปิ่มสาย สวัสดิวัตน์(อมระนันท์) หรือคุณต้อผู้ล่วงลับ และในงานศพของเธอในพ.ศ. 2520 ได้มีการแจกหนังสืออัตชีวประวัติของเธอ ภายใต้ชื่อว่า My Family, My Friends and I มาบัดนี้คุณปิงคสวัสดิ์ อมระนันท์ หรือคุณปิ๋งบุตรชายคนเล็กของเธอได้นำมาตีพิมพ์ใหม่เป็นบทๆ แต่ละบทคั่นด้วยข้อเขียนของคุณปิ๋งเองเล่าถึงชีวิตของคุณต้อเพิ่มเติม นับว่าเป็นนวัตกรรม

         ผมจะไม่แนะนำหรือวิจารณ์หนังสือทั้งเล่ม เพียงแต่จะนำเนื้อหาของ 2 บท ที่คุณต้อเขียนมาเล่าสู่กันฟังเป็นภาษาไทยให้พอเป็น “น้ำจิ้ม” ชวนให้หาหนังสือภาษาอังกฤษมาอ่านกันเอง ใน 2 บทนั้นคุณต้อเล่าถึงชีวิตในวัยเด็กอายุ 7-12 ปีของเธอในฐานะส่วนหนึ่งของ “ครัวเรือน” ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงพ.ศ. 2479 ถึงพ.ศ. 2484 อันเป็นช่วงเวลาที่พระองค์ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษต่อไปหลังจากที่ทรงสละราชสมบัติแล้ว จนถึงวาระที่เสด็จสวรรคต

            คุณต้อและน้องสาวคนที่ 2 คือ ม.ร.ว. สมานสนิท หรือคุณหนุ่น ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้เดินทางไปสมทบกับหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท หรือท่านชิ้น กับหม่อมเสมอ ท่านพ่อและหม่อมแม่ที่พระตำหนักเกล็นแพมเมิ่นต์ที่ประทับ เธอบรรยายถึงภูมิสถาปัตยกรรมของพระตำหนักนั้นไว้อย่างละเอียดเห็นภาพ เมื่อเธอเข้าไปเฝ้าฯที่ห้องทรงพระสำราญ เธอพบว่า “พระวรกายเล็กมากและยิ่งดูเล็กข้างๆผ้าม่านผืนมหึมา กระนั้นก็สมส่วน พระอิริยาบถสง่าผ่าเผย ทรงแย้มพระสรวลด้วยพระเมตตามาที่เรา แต่สายพระเนตรนั้นเศร้า พระมัสสุ(หนวด)หนา พระขนง(คิ้ว)ดำสนิท ทรงฉลองพระองค์ชุดผ้าทอขนสัตว์แบบทวิต (tweed) ในสายตาของเราเด็กๆ ท่านทรงพระชรามากทีเดียว แม้ว่าอันที่จริงพระชนมพรรษาเพียง 43 พรรษา และเส้นพระเจ้า(ผม)ยังดำอยู่...ทรงจุมพิตเราและรับสั่งว่าเราตัวเล็กจัง...”

            ส่วนพระอุปนิสัยนั้นคุณต้อถ่ายทอดให้เราทราบว่า “โปรดที่จะคุยกับผู้เยาว์โดยเฉพาะเมื่อถกกับท่าน ท่านสนับสนุนให้คิดเองเป็น ผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือทรงตัดพ้อเช่นเดียวกับพ่อแม่ทั่วไปว่า “เด็กของฉันเชื่อสิ่งคนขับรถแท็กซี่ทุกคนบอก แต่ไม่เคยเชื่อฉัน” เธอตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่าทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทรงพระอักษร(อ่านหนังสือ) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ ชีวประวัติ เรื่องการทำสวน และนวนิยายของนักเขียนชื่อดังหลากหลาย ทรงทำเช่นนี้ในห้องเดียวกับที่เจ้านายรุ่นๆ ในพระราชอุปการะที่ทรงเปิดแผ่นเสียงและทรงคุยกัน “เพลงหนึ่งที่ชอบเปิดคือ The Very Thought of You และเมื่อถึงตอนนี้ร้องว่า “ฉันมีความสุขดุจพระราชา” (‘I’m as happy as a king’) ท่านก็ทรงตัดพ้อด้วยพระสุรเสียงที่ฟังได้ชัดว่า “ฉันไม่ได้มีความสุข ไอ้โง่” (‘I’m not happy, you fool’)

               นอกจากทรงพระอักษรแล้ว ยังโปรดการทำสวน แต่ในช่วงสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ “ทรงจำกัดพระองค์อยู่แต่ในการปลูกดอกคาร์เนชั่น (carnation) และบางครั้งจะทรงลุกจากพระแท่นบรรทมกลางดึกเพื่อทรงตรวจวัดว่าอุณหภูมิในเรือนกระจกเหมาะสมหรือไม่”

             ในช่วงต้นปีก่อนที่จะเสด็จสวรรคตพระราชทานไวโอลินคันย่อมคันหนึ่งแก่คุณต้อ และรับสั่งให้เธอหัดเล่นเพื่อจะได้เล่นถวายเมื่อพระอาการประชวรทุเลาลง แต่เธอก็ผัดวันประกันพรุ่งอยู่จนกระทั่งเสด็จสวรรคต เมื่อถวายพระเพลิงเสร็จแล้วหม่อมเสมอจึงบอกให้เธอไปเล่นเพลงที่โปรดถวายในห้องซึ่งบรรทมในวันที่เสด็จสวรรคต โดยแนะว่า “หลับตา ตั้งสติระลึกถึงท่าน แล้วท่านก็จะทรงได้ยิน”

คุณต้อระลึกถึงวันนั้น สมัยที่เธออายุ 12 ปีว่า

             “ฉันใช้เวลานานมากที่จะปรับแต่งเสียงไวโอลิน มือของฉันหนาวเหน็บ ฉันสั่นไปทั้งตัวขณะที่ฉันเริ่มเล่น...เสียงเดียวในพระตำหนักคือเสียงของไวโอลินของฉัน ซึ่งฉันว่าออกมาแย่มากๆในห้องอันเปล่าเปลี่ยวนั้น คือเต็มไปด้วยเสียงเอี๊ยดๆครึ่งหนึ่งกับเสียงเศร้าๆอีกครึ่งหนึ่ง ฉันหลับตาและหลับไว้เป็นเวลานาน ฉันรู้ว่าถ้าฉันลืมตาขึ้นมาฉันต้องเห็นพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่พระเก้าอี้องค์ใหญ่องค์นั้น ทอดพระเนตรฉันอยู่ เมื่อฉันเล่นจบเพลงและลืมตาขึ้นมาอีกที ฉันโล่งอกอย่างยิ่งที่ไม่เห็นใครอยู่ในห้องนั้นนอกเหนือจากตัวฉันเอง”

           นี่เป็นเพียงส่วนน้อยของข้อเขียนคุณต้อที่ได้ถ่ายทอดให้เราได้ทราบและซึ้งในพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะบุคคลผู้หนึ่ง ซึ่งรักเด็ก ชอบคุยกับเด็กและสนับสนุน ให้เด็กออกความเห็น รักการอ่านหนังสือหาความรู้อย่างหลากหลาย รักธรรมชาติ ต้นไม้ ดอกไม้ ซึ่งลงมือปลูกเอง และรักในการฟังและเล่นดนตรี เหล่านี้เป็น “ความรักของพระปกเกล้าฯ” ที่เราได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากที่ปฏิทินของมสธ.กล่าวถึง ช่วยให้เราเข้าใจอดีตพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นตลอดจนพระราชดำริและพระราชกรณียกิจต่างๆเกี่ยวกับกิจการของบ้านเมืองได้ดีขึ้น ในวาระนี้ 70ปีแห่งการเสด็จสวรรคต



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...