ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พระราชกรณียกิจ : การเสด็จในประเทศและต่างประเทศสมัยรัชกาลที่ ๗

เสด็จฯมณฑลภูเก็ต

            พระราชจริยาวัตรประการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งแสดงถึงพระราชประสงค์ที่จะไม่ทรงแสดงพระองค์เป็น “สมมติเทพ” ก็คือการเสด็จพระราชดำเนินออกไปเยี่ยมราษฎรในส่วนภูมิภาค ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่างๆ ที่ห่างไกลจากกรุงเทพมหานคร คือเสด็จพระราชดำเนินทั่วมณฑลพายัพ จังหวัดต่างๆริมฝั่งทะเลอ่าวไทย และทั่วมณฑลทักษิณ เพื่อให้ราษฎรมีโอกาสได้เห็นพระองค์และสมเด็จพระบรมราชินี นอกจากนั้นยังมีพระราชประสงค์ที่จะทอดพระเนตรภูมิประเทศถิ่นฐานบ้านเมือง ทรงทราบความเป็นไปอันเนื่องด้วยสุขด้วยทุกข์ตลอดถึงการทำมาหาเลี้ยงชีพของข้าขอบขัณฑสีมาอาณาจักรทั่วไป ได้ทรงพบเห็นสิ่งต่างๆ มากอย่างสำหรับจะได้มาเป็นเครื่องทรงพระราชดำริดัดแปลงแก้ไขสิ่งที่พ้นสมัย ผดุงสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้คงดีตลอดไปและพยายามให้ดียิ่งขึ้นสมกับที่ทรงดำรงตำแหน่งเป็นประมุขของชาติ
       ดังพระราชดำรัสที่เมืองภูเก็ต ดังนี้
      " ...ที่เราลงมาเลียบมณฑลภูเก็ตครั้งนี้  มีความประสงค์อันเป็นข้อสำคัญก็คือ เพื่อจะได้เห็นภูมิสถานบ้านเมืองแลรู้กิจการต่างๆ ทางหัวเมืองมณฑลนี้ด้วยตนเอง กับอิกข้อหนึ่งซึ่งจะได้คุ้นเคยกับพวกชาวเมืองในมณฑล เป็นต้นแต่ข้าราชการ  ตลอดจนสมณะคณาจารย์พ่อค้าพาณิชย์แลราษฎรพลเมือง  ด้วยประเพณีการปกครองประเทศสยามถือสืบมาแต่โบราณ  ว่าพระเจ้าแผ่นดินกับประชาชนย่อมร่วมทุกข์สุขเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  จึงเห็นว่าถ้าเราได้มารู้เห็นถึงท้องที่ย่อมจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปกครองบ้านเมืองให้ประชาชนทั้งหลายในมณฑลนี้มีความเจริญสุขยิ่งขึ้นสืบไป..."
     "...เรามีความยินดีอยู่อย่างหนึ่งซึ่งได้ทราบจากเทศาภิบาลผู้ปกครองมณฑลต่างหูต่างตาเรา ว่าบรรดาพวกชนต่างชาติต่างภาษาที่มาทำการอยู่ในมณฑลภูเก็ตปรองดองเข้ากันกับข้าราชการเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี แลมีแก่ใจช่วยราชการบ้านเมืองอยู่เสมอ  ที่เป็นเช่นนั้นสมควรยิ่งนัก  ด้วยประโยชน์ของรัฐบาลกับประโยชน์ของพ่อค้านายเหมืองในมณฑลนี้ที่จริงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าการค้าแลการทำเหมืองแร่ได้ผลมาก รัฐบาลก็ได้ประโยชน์มากขึ้นด้วย ถ้าผลตกต่ำก็ต่ำลงด้วยกัน สำคัญอยู่แต่ให้มีความปรองดองด้วยเห็นอกกันในระวางบุคคลต่างหน้าที่แลต่างจำพวก กับช่วยกันรักษาความเรียบร้อยแลความสุขของบ้านเมือง..."

เสด็จฯมณฑลพายัพ

           การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นต่างๆของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนับเป็นการวางรากฐานการปฏิบัติพระราชกรณียกิจประการสำคัญของสมเด็จพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินีในพระบรมราชจักรีวงศ์ที่เสด็จดำรงสิริราชสมบัติต่อเนื่องไปในอนาคต นั่นคือการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นห่างไกลอย่างชนิดที่ไม่เพียงเป็นการเสด็จฯไปปรากฏพระองค์ให้ราษฎรได้ชมพระบารมีเท่านั้น แต่เป็นการเสด็จฯเข้าไปถึงราษฎรในทุกท้องที่เพื่อทรงเรียนรู้ปัญหาของราษฎรและพระราชทานความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้ทรงปฏิบัติเป็นพระราชกรณียกิจประจำอันเป็นภาพที่คุ้นตาประชาชนชาวไทยมาจนถึงปัจจุบัน


เสด็จเยือนสหรัฐอเมริกา



การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ

          พระราชกรณียกิจที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งของของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีคือการเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางราชการเพื่อเป็นการเจริญพระราชไมตรี ซึ่งเป็นธรรมเนียมสากลสำหรับประมุขของรัฐเอกราชทั้งหลาย ทั้งสองพระองค์ทรงเริ่มพระราชภารกิจนี้ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินเยือนดินแดนอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อน เพราะดินแดนเหล่านี้เป็นดินแดนที่เป็น “เพื่อนบ้าน” ของสยามประเทศ และมีความสัมพันธ์กับสยามประเทศสืบมาแต่ยุคโบราณ ความเปลี่ยนแปลงใดๆก็ตามที่เกิดขึ้นในดินแดนเพื่อนบ้านเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบถึงสยามประเทศทั้งสิ้น โดยเฉพาะการที่ดินแดนเหล่านี้ตกเป็นอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก อันได้แก่อังกฤษ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงขึ้นในดินแดนเหล่านี้และสยามประเทศย่อมได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย ดังนั้นจึงเป็นความจำเป็นที่รัฐบาลสยามจะต้องติดตามเหตุการณ์และรู้ทันความเป็นไปต่างๆที่เกิดขึ้นในดินแดนอาณานิคมรอบด้าน และที่สำคัญคือสยามจำเป็นที่จะต้องรักษาสัมพันธภาพอันดีกับมหาอำนาจตะวันตกซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมเหล่านั้น ดินแดนอาณานิคมตะวันตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเป็นดินแดนนอกขอบขัณฑสีมาที่พระมหากษัตริย์สยามต้องเอาพระราชหฤทัยใส่ติดตามความเป็นไปเป็นอันดับแรกๆ และเป็นการสมควรที่พระมหากษัตริย์และพระราชินีสยามจะได้เสด็จพระราชดำเนินออกไปเยี่ยมเยือนถึงราชสำนักของเจ้าพื้นเมืองผู้ครองดินแดนเหล่านั้นเพื่อสานสัมพันธไมตรีและสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันให้คงอยู่สืบไป แม้ว่าในระยะเวลาดังกล่าวเจ้าพื้นเมืองเหล่านั้นจะสูญเสียอำนาจการปกครองให้กับมหาอำนาจตะวันตกไปแล้ว นอกจากนั้นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนดินแดนอาณานิคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังถือได้ว่าเป็นการทรงเจริญพระราชไมตรีกับรัฐบาลของประเทศเจ้าอาณานิคมด้วย ดังจะเห็นได้ว่ารัฐบาลอาณานิคมทุกแห่งได้จัดการรับเสด็จพระราชดำเนินอย่างสมพระเกียรติเต็มตามแบบธรรมเนียมทางการทูตอย่างสากลทุกประการ และในการเสด็จพระราชดำเนินทุกครั้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีได้โดยเสด็จพระราชดำเนินไปในการทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะ “สมเด็จพระราชินีคู่พระบารมี” หรือคู่สมรสของประมุขแห่งของสยามประเทศอย่างเต็มภาคภูมิ โดยทรงเตรียมพระองค์สำหรับการปฏิบัติพระราชภารกิจในต่างประเทศเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมการศึกษาข้อมูลของประเทศที่จะเสด็จพระราชดำเนินเยือน การศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศนั้นๆ การเตรียมฉลองพระองค์ และการศึกษาพิธีการทูตต่างๆ  ทำให้การเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศทุกครั้งผ่านไปได้โดยราบรื่น

           ในระยะเวลา ๙ ปีแห่งรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๖๘-๒๔๗๗) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆรวม ๔ ครั้ง ดังต่อไปนี้



ครั้งที่ ๑
- ๓๑ กรกฎาคม – ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ สิงคโปร์ และอาณานิคมอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ (เฉพาะเกาะชวาและบาหลี)

ครั้งที่ ๒
-๖ เมษายน – ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ อาณานิคมอินโดจีนฝรั่งเศส (เฉพาะดินแดนกัมพูชา และ เวียดนาม)



ครั้งที่ ๓
-๖ เมษายน – ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๔ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา




ครั้งที่ ๔
- ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ – ๒๗ สิงหาคม ๒๔๗๗ ฝรั่งเศส อิตาลี นครรัฐวาติกัน อังกฤษ เดนมาร์ก เยอรมนี เบลเยี่ยม เชคโกสโลวาเกีย ฮังการี สวิตเซอร์แลนด์

King Prajadhipok and Queen Ramphaiphanni with Konstantin von Neurath in Germany, 1934










          


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...