ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ชีวิตเด็กหญิงคนหนึ่งใต้ร่มพระบารมีองค์ประชาธิปก

                                                                             

พระอิริยาบถเรียบง่ายในสวน



สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ กับ ม.ร.ว.ปิ่มสาย (สวัสดิวัตน์) อมระนันท์

ขอบคุณบทความจาก  ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล
และคุณปิงคสวัสดิ์ อมระนันท์


      เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 นี้ มีการเปิดตัวหนังสือภาษาอังกฤษเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “Siamese Memoirs : The Life and Times of Pimsai Svasti” หน้าปกเป็นภาพวาดรากไม้ใหญ่ซึ่งมีช่อดอกตูมงอกออกมาตรงปลาย สะท้อนให้รู้ถึงลักษณะเฉพาะของหนังสือเล่มนี้ คือ เป็นการนำข้อเขียนที่หม่อมราชวงศ์ปิ่มสาย สวัสดิวัตน์ (อมระนันท์) หรือ “คุณต้อ” เขียนไว้เกี่ยวกับชีวิตของเธอ ซึ่งเคยตีพิมพ์เป็นหนังสืออนุสรณ์ในงานศพของเธอเมื่อพ.ศ. 2520 ภายใต้ชื่อว่า My Family, My Friends and I มาตีพิมพ์ใหม่เป็นบทๆ แต่ละบทคั่นด้วยข้อเขียนของปิงคสวัสดิ์ อมระนันท์ บุตรชายคนเล็กของเธอซึ่งเขียนขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ บทคั่นเหล่านี้เล่าถึงชีวิตคุณต้อเพิ่มเติม และถึงความเป็นไปของครอบครัวของเธอ หลังจากที่เธอถูกปลิดชีวิตไปเมื่อวัยเพียง 48 ปี ปิงคสวัสดิ์บอกว่า พวกเขาเหมือนกระรอกที่ปีนป่ายต้นไม้ต้นเดียวกัน แต่ขึ้นไปอยู่บนกิ่งไม้คนละกิ่ง โดยหันหน้าไปคนละทิศคนละทางรูปแบบหนังสือ “รากงอก” นี้จึงแปลกและน่าสนใจดี ทั้งยังมี “โลโก้” ที่สอดคล้องกับการที่คุณต้อ เป็นผู้เขียนหนังสือ Gardening in Bangkok และปิงคสวัสดิ์เป็นศิลปินถ่ายภาพธรรมชาติ
      ปิงคสวัสดิ์ตั้งใจเป็นสำคัญที่จะให้ผู้อ่านที่ไม่รู้จักคุณต้อได้รู้จักเธอดีว่าเธอเป็นคนอย่างไร ใช้ชีวิตอย่างมีชีวิตชีวา มีความรักในธรรมชาติและผู้คนอย่างไร ใช้รากเหง้าความเป็นไทยในตัวเธอเองช่วยให้ชาวต่างประเทศเข้าใจคนไทยอย่างไร ทั้งๆที่ตัวเธอเองพูดภาษาไทยไม่ชัด ทั้งหมดด้วยความตรงไปตรงมาไม่เสแสร้ง อันเป็นธรรมชาติประจำตัวเธอ...
       แต่คนไทยที่ไม่เก่งภาษาอังกฤษอาจไม่นึกจะหาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน จึงใคร่ที่จะบอกว่า แม้คุณต้อจะเป็นสตรีไทยคนที่สองซึ่งจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดอันลื่อชื่อก็ตาม สำนวนภาษาอังกฤษของเธอนั้นเรียบง่าย แต่ถูกต้องงดงาม อ่านรู้เรื่องได้ไม่ยาก
       เพื่อที่จะเป็น “น้ำจิ้ม” จึงขอถ่ายทอดสาระของ 2 บท ซึ่งคุณต้อตั้งชื่อง่ายๆว่า Life with the King กับ The King’s Last Christmas เล่าถึงชีวิตในวัยเด็กอายุ 7-12 ปีของเธอ ในฐานะส่วนหนึ่งของ “ครัวเรือน” ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ช่วงพ.ศ. 2479 ถึงพ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของช่วงเวลาที่พระองค์ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษต่อไป หลังจากที่ทรงสละราชสมบัติแล้วจนถึงวาระที่เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 นับว่าเป็นประวัติศาสตร์บอกเล่าเกี่ยวกับพระอุปนิสัยของพระองค์อีกชิ้นหนึ่ง นอกเหนือไปจากที่หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ได้ทรงถ่ายทอดให้ “นรุตม์” นำเสนอไว้ในหนังสือ “ใต้ร่มฉัตร” และอัตชีวประวัติของคุณหยิงมณี สิริวรสารที่ชื่อว่า “ชีวิตเหมือนฝัน” อันที่จริงฉบับ พ.ศ. 2520 ของคุณต้อตีพิมพ์ก่อน 2 เล่มนั้นด้วยซ้ำ
      คุณต้อเป็นธิดาคนโตของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน หรือ “ท่านชิ้น” กับหม่อมเสมอ ท่านชิ้นนั้น สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ (พระพันปีหลวงในรัชกาลที่ 6 และที่ 7) ทรงชุบเลี้ยงมาตั้งแต่ยังเยาว์ และทรงส่งไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จนจบจากโรงเรียนนายร้อยวุล
ลิชเป็นนายทหารปืนใหญ่เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พระองค์จึงทรงพระมหากรุณาธิคุณต่อท่านชิ้นสืบต่อจากสมเด็จฯพระพันปีหลวง ครั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ “กบฎบวรเดช” ในพ.ศ. 2476 ท่านชิ้นได้สนองพระเดชพระคุณในฐานะทหารรักษาวัง เชิญเสด็จเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ประทับรถไฟที่ยึดมาได้ ไปสมทบที่สงขลา ที่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้เสด็จล่วงหน้าไปแล้วด้วยเรือพระที่นั่งลำเล็กกลางดึกเพื่อที่จะได้ไม่เสี่ยงต่อการที่องค์พระประมุขของชาติอาจตกเป็นองค์ประกันของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่กำลังรบกัน ท่านชิ้นจึงเสี่ยงมากต่อการที่รัฐบาลจะจับท่านไปดำเนินคดีโดยศาลพิเศษ ด้วยเหตุเหล่านี้ ต่อมาอีกไม่นานเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนยุโรปและผ่าตัดพระเนตรที่อังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจึงได้โปรดเกล้าฯให้ท่านชิ้นและหม่อมเสมอโดยเสด็จฯ ส่วนที่ว่าท่านชิ้นทรงเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี นั้น น่าจะเป็นเพียงปัจจัยเสริม อนึ่งวีรกรรมของท่านชิ้นในเวลาต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ ทรงเป็นหัวหน้าเสรีไทยสายอังกฤษ
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ กับ ม.ร.ว.ปิ่มสาย (สวัสดิวัตน์) อมระนันท์

ใต้ร่มพระบารมี

     เมื่อทรงสละราชสมบัติแล้วประมาณหนึ่งปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คุณต้อและคุณหนุ่น (ม.ร.ว.สมานสนิท) น้องสาวเดินทางโดยเรือเดินสุมทร พาหนะปกติสมัยนั้นไปสมทบกับท่านชิ้นและหม่อมเสมอ โดยมีคุณยาย (คุณหญิงเนื่อง บุรีนวราษฐ์) อดีตนางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จฯนำไปและเข้าพำนักที่พระตำหนักเกล็นแพ็มเมิ่นต์ ตำบลเวอร์จิเนีย วอเตอร์ (Virginia Water) จังหวัดเซอเร่ย์ (Surrey)
ชื่อ GLEN PAMMANT นี้ทรงตั้งโดยนำตัวอักษรอังกฤษที่สะกดวลี “ตามเพลงมัน” (TAM PLAENG MAN) มาจัดเรียงใหม่ให้ฟังดูคล้ายชื่อคนอังกฤษละแวกนั้นเขาตั้งชื่อบ้านของเขา “ตามเพลงมัน” นั้นมีความหมายตามเนื้อร้องของเพลงฝรั่ง “Whatever will be,will be” หรือ “อะไรจะเกิด ก็ต้องเกิด” สะท้อนให้เห็นว่าทรงปลงกับพระชะตาชีวิตตามสมควร ซึ่งจะว่าไปทรงสังวรมาตั้งแต่ต้นรัชกาลแล้ว ดังในพระราชนิพนธ์ที่ว่า “แต่ถ้าเราทำการใดๆไปโดยมีความสุจริตในใจและโดยเต็มความสามารถแล้ว ก็ต้องนับว่าได้พยายามทำการงานตามหน้าที่สุดกำลังแล้ว”
      คุณต้อบรรยายถึงภูมิสถาปัตยกรรมของที่ประทับไว้อย่างละเอียดเห็นภาพ ประตูรั้วเหล็กดัดอยู่ที่ตีนเนิน “มีถนนกรวดค่อยๆเลี้ยวขึ้นเนินไปผ่านพุ่มอเซเลีย(azalea) จำนวนมากทางซ้ายและพุ่มโรโดเดนดรอน (rhododendron) ใหญ่ๆดอกสีม่วงทางขวา ข้างหลังพุ่มอเซเลียมีต้นยู (yew) สูงใหญ่ขึ้นอยู่จำนวนหนึ่ง ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นองค์พระตำหนักหรือสนามได้จนกระทั่งผ่านโค้งสุดท้าย จึงเห็นสวนหินใหญ่มากสวยมาก ประกอบด้วยบ่อน้ำและน้ำตกอยู่ด้านขวาของที่จอดรถหน้าพระตำหนัก...” ซึ่งเป็นอาคารใหญ่สามชั้นสไตล์วิคตอเรียน
       เมื่อไปถึง เธอ คุณยาย และน้องสาวต้องเดินผ่านห้องต่างๆ มากมายกว่าจะได้เข้าไปเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯที่ห้องทรงพระสำราญ ห้องนี้จุดเตาผิงไว้ให้ความอบอุ่น และมีม่านสีน้ำเงินหนาหนักขึงอยู่จากเพดานถึงพื้นเพื่อแบ่งห้องให้เล็กลง เพื่อจะได้ใช้ส่วนที่ย่อมกว่าเป็นเวทีการแสดงหรือสำหรับการละเล่นได้
       พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯประทับยืนอยู่ใกล้ๆกับม่านนี้ “พระวรกายเล็กมากและยิ่งดูเล็กข้างๆม่านผืนมหึมานั้น กระนั้นก็สมส่วน พระอิริยาบถสง่าผ่าเผย ทรงแย้มพระสรวลด้วยความเมตตามาที่เรา แต่สายพระเนตรนั้นเศร้า พระมัสสุ (หนวด) หนา พระขนง (คิ้ว) ดำสนิท ทรงฉลองพระองค์ ชุดผ้าทอขนสัตว์แบบทวีต (tweed) ในสายตาของเราเด็กๆ ท่านทรงพระชรามากทีเดียว แม้ว่าอันที่จริง พระชนมพรรษาเพียง 43 พรรษา และเส้นพระเจ้า (ผม) ยังดำอยู่... ทรงจุมพิตเราและรับสั่งว่าเราตัวเล็กจัง...”  คุณต้อเล่าถึงพระอุปนิสัยไว้ว่า “ทรงมีพระอารมณ์ขันและพระวาจาหลักแหลมเมื่อมีพระราชปฏิสันถารกับผู้ที่ทรงคุ้นเคย แต่กับคนอื่นทรงกระดากอายมากอยู่...รับสั่งเสมอว่า “ฉันเป็นเพียงทหารคนหนึ่ง ฉันจะรู้เรื่องการเมืองได้อย่างไร” แต่ว่าฉัน (คุณต้อ) เชื่อว่าท่านมีภูมิรู้มากกว่าที่ปรึกษาหลายท่านด้วยเหตุที่ทรงอ่านหนังสือเข้าใจลึกซึ้งกว่า และทรงมีความรู้ทั่วไปมากมายน่ามหัศจรรย์...(แต่) ท่านถ่อมพระองค์เกินกว่าที่จะทรงบังคับให้ผู้อื่นเห็นตามพระราชดำริ ท่านโปรดจะคุยกับผู้เยาว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถกกับท่าน ท่านสนับสนุนให้ (เจ้านายรุ่นๆในพระราชอุปการะ) คิดเองเป็น ผลที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ทรงตัดพ้อเช่นเดียวกับพ่อแม่ทั่วไปว่า “เด็กของฉันเชื่อสิ่งที่คนขับรถแท็กซี่ทุกคนบอกแต่ไม่เคยฟังฉัน”
      คุณต้อบรรยายต่อไปว่าที่อังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงใช้เวลาส่วนมากอยู่กับการทรงพระอักษร (อ่านหนังสือ) หนังสือที่ทรงส่วนใหญ่เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ ชีวประวัติ เรื่องการทำสวน และนวนิยายของซัมเมอร์เซ็ต มอห์ม (Somerset Maugham) อีเวลลิน วอห์ (Evelyn Waugh) และแม้แต่ พี.จี.วูดเฮาส์ (P.G. Wodehouse) และในขณะที่กำลังทรง บรรดาเจ้านายรุ่นๆก็จะทรงเปิดแผ่นเสียงและคุยกัน เพลงๆหนึ่งที่ชอบเปิดคือ “The Very Thought of you” และเมื่อถึงตอนที่ร้องว่า “ฉันมีความสุขดุจพระราชา” (“I’am as happy as a King”) ท่านก็ทรงตัดพ้อด้วยพระสุรเสียงที่ฟังได้ชัดว่า “ฉันไม่มีความสุข ไอ้โง่” (“I’m not happy, you fool”)
       ในช่วงฤดูร้อน มีคนไปเฝ้าฯมาก และพวกผู้ใหญ่จะเล่นเทนนิส ครั้งหนึ่งนักเทนนิสชาวอังกฤษชื่อดังในสมัยนั้น นายบันนี่ ออสติน (Bunny Austin) กับภรรยาไปเฝ้าฯ เล่นเทนนิส ทรงพบกับเขาครั้งแรกที่ตอนใต้ของฝรั่งเศส พระราชทานเลี้ยงน้ำชาที่สนามดังที่ชาวอังกฤษนิยมทำกันในฤดูร้อน และโปรดเกล้าฯให้คุณต้อ และน้องสาวแสดงรำไทยให้ได้ชมกัน ซึ่งเด็กๆที่ยังไม่สาวก็ยินดีรับสนองฯด้วยความเต็มใจยิ่ง
      เมื่อประทับอยู่ที่เกล็น แพ็มเมิ่นต์ ซึ่งทรงเช่าได้ประมาณ 2 ปี ทรงพระประชวรหนัก และด้วยเหตุที่ไม่จำเป็นต้องทรงรักษาศักดิ์ศรีของสยามในฐานะที่ทรงเป็นอดีตพระมหากษัตริย์มากเท่าเดิม จึงทรงซื้อที่ประทับแห่งใหม่ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเดิมในหมู่บ้านบิดเด็นเด็น (Biddenden) จังหวัดเค้นท์ (Kent ) พร้อมกับทรงเช่าห้องชุดไว้ที่ลอนดอนเพื่อเป็นที่ประทับแรมเมื่อทรงมีพระธุระที่นั่น
     พระตำหนักเวนคอร์ต (Vane Court) นี้เก่าแก่มาก เป็นบ้านสมัยทิวดอร์ (Tudor) “พื้นลาดเอียงมากจนเมื่อเราทำอะไรตกมันก็จะกลิ้งไปอีกมุมหนึ่งของห้อง...พระตำหนักนี้มีสวนและสวนผลไม้สวยที่สุดเท่าที่ฉันเคยได้วิ่งเล่น” แต่คุณต้อและคุณหนุ่นไม่ได้ไปอยู่ที่นั่นเป็นประจำเพราะต้องไปโรงเรียน ณ ที่เดิมจึงทรงพระมหากรุณาธิคุณ ทรงเช่าบ้านหลังหนึ่งให้ครอบครัวท่านชิ้นอยู่ที่เวอร์จิเนีย วอเตอร์ ชื่อว่าบริดจ์ เฮาส์ (Bridge House) ท่านชิ้นและครอบครัวจะไปเฝ้าฯที่พระตำหนักเวนคอร์ดเฉพาะในวันหยุดสุดสัปดาห์
    สิ่งหนึ่งที่คุณต้อได้รับมาจากการที่ได้พำนักอยู่ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ก็คือความรักในธรรมชาติและการทำสวน หม่อมเจ้าการวิกทรงเล่าว่าทั้งสองพระองค์ “ทรงทำสวน และปลูกดอกไม้นานาชนิด และทรงทดลองปลูกพืชโดยไม่ต้องลงดินด้วย” (คงจะคล้ายๆกับการปลูกผักไฮโดรโปนิค (Hydroponic) ดังเป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน) คุณต้อเองก็กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯโปรดการทำสวน แต่ในช่วงสุดท้ายของพระชนม์ชีพ “ทรงจำกัดพระองค์อยู่แต่ในการปลูกดอกคาร์เนชั่น (carnation) ในเรือนกระจก และบางครั้งจะทรงลุกจากพระแท่นบรรทมกลางดึกเพื่อทรงตรวจวัดว่า อุณหภูมิในเรือนกระจกเหมาะสมหรือไม่” นิสัยรักการทำสวนของคุณต้อนั้น หม่อมเสมอบันทึกไว้ว่าเห็นได้ชัดเมื่อย้ายไปอยู่ที่บริดจ์ เฮาส์ “ต้อช่วยในสวนอย่างจริงจัง ส่วนหนุ่นนั้นก็ช่วยด้วยโดยการเก็บดอกไม้ที่ตายแล้วออก แต่ว่าทำเสียหมด ด้วยการปลูกดอกไม้ป่าซึ่งก็คือวัชพืช” คุณหนุ่น หรือ ม.ร.ว.สมานสนิท นั้นอุทิศช่วงหลังชีวิตของเธอไปกับการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำที่ภาคเหนือ แสดงว่าเธอเห็นธรรมชาติมาแต่เด็ก ดังนั้นเธอจึงเห็นว่าในธรรมชาติไม่มีพืชใดที่ไม่พึงปรารถนา
        หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ทรงเล่าไว้ว่าในพ.ศ. 2482 หลังจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วประมาณ 1 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเริ่มประหยัดรายจ่ายทุกทาง ทรงเลิกเช่าห้องชุดที่ลอนดอน และด้วยทรงพระราชดำริว่า พระตำหนักเวนคอร์ตอยู่ใกล้ช่องแคบอังกฤษ จึงน่าจะต้องกลายเป็นเขตทหารที่หวงห้าม จึงทรงซื้อพระตำหนักคอมพ์ตัน เฮ้าส์ (Compton House) ที่เวอร์จิเนีย วอเตอร์ ที่ประทับเดิม พระตำหนักนี้มีขนาดเล็กกว่าพระตำหนักเวนคอร์ตหลายเท่า
      ครั้นเมื่อฝรั่งเศสต้องยอมให้เยอรมันยึดครอง เหลือเพียงอังกฤษประเทศเดียวในยุโรปที่หยัดยืนต่อสู้ต่อไป โดยเสี่ยงต่อภัยจากลูกระเบิดของเยอรมัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจึงทรงย้ายครอบครัวของพระองค์ไปประทับที่พระตำหนักที่ทรงเช่าในทางตอนเหนือของจังหวัดเดว่อน (Devon) ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ โดยครอบครัวของท่านชิ้นไปพักอยู่ที่สโมสรชนบทใกล้ๆที่ประทับ ถึงตอนนี้คุณต้อและคุณหนุ่นโตพอที่จะทำหน้าที่เป็นเด็กเก็บลูกเทนนิสได้แล้ว คุณต้อไม่ได้เล่า แต่หม่อมเจ้าการวิกและคุณหญิงมณี ทรงเล่า และเล่าไว้ว่า หลังจากนั้นไม่นาน ได้เสด็จฯลี้ภัยให้ไกลจากลูกระเบิดไปประทับที่โรงแรมกลางหุบเขาในเขตแคว้นเวลส์ (Wales) ตอนเหนือ
       ประมาณเดือนตุลาคม พ.ศ. 2483 อากาศเริ่มหนาว พระอาการพระโรคพระหทัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯก็กำเริบมากขึ้น พระอาการหอบถี่ขึ้น จึงทรงตัดสินพระราชหฤทัย “กลับบ้าน” ที่คอมพ์ตัน เฮาส์ เพื่อความสะดวกแก่การรักษาพระโรค

คริสต์มาสสุดท้าย

     ครั้นถึงเทศกาลคริสต์มาส พ.ศ.2483 ได้โปรดเกล้าฯให้จัดงานปีใหม่ขึ้นภายในครอบครัวของพระองค์ ซึ่งคุณต้อจำได้ว่ามีต้นคริสต์มาสต้นใหญ่ และของขวัญสำหรับทุกคน คนละหลายๆชิ้น เธอเล่าว่าเธอเองได้หนังสือกว่า 20 เล่มเป็นของขวัญ ซึ่งผู้ใหญ่คิดว่าจะพอให้เธออ่านตลอดปี แต่เธออ่านได้หมดภายในเวลา 3 เดือน นอกจากนั้นยังมีการละเล่นต่างๆ เช่นการทายปัญหาจากคำ และการแสดงต่างๆของเด็กๆ “เป็นงานที่ทำให้ทุกคนมีความสุขมาก เราไม่ได้คิดเลยว่าจะเป็นวันคริสต์มาสสุดท้ายกับพระเจ้าอยู่หัว” คุณต้อทิ้งท้าย
       ในช่วงใกล้ๆกันนี้ คุณต้อได้รับรางวัลจากโรงเรียนสำหรับเรียงความของเธอเกี่ยวกับนักบุญฟรานซิส แห่งอซีซี (Saint Francis of Assisi ) ชาวอิตาเลียน บุตรของพ่อค้าขายผ้าผู้เป็นทหารอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ในที่สุดใช้ชีวิตเยี่ยงคนยาก และต่อมาได้รับประทานพระอนุญาตจากพระสันตปาปาให้ตั้งนิกายฟรานซิสกัน (Franciscan) ขึ้น และจึงได้ไปเผยแพร่คริสต์ศาสนาที่ตะวันออกกลางและอาฟริกาเหนือ เพลงสวดที่ท่านแต่งแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่า ท่านรักธรรมชาติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงพอพระทัยมากที่คุณต้อได้รับรางวัล และทรงสนพระราชหฤทัยจะทรงทราบจากคุณต้อเพิ่มเติมเกี่ยวกับนักบุญท่านนี้ แต่คุณต้อกลับ “พูดอะไรไม่ออก ส่วนหนึ่งเพราะช่วงนั้นฉันขี้อายมาก และส่วนหนึ่งเพราะฉันไม่เชื่อว่าจะมีผู้ใหญ่ที่ไม่รู้อะไรมากกว่าฉัน และไม่เข้าใจว่าเหตุใดพระเจ้าอยู่หัวจะโปรดที่จะรับสั่งกับฉันในเรื่องเหล่านี้ ฉันไม่เคยรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับความเรียบง่ายแต่ทรงเกียรติแท้ของพระราชา (the urbanity of kings)”
      ในช่วงนั้นเช่นกัน คุณต้อได้รับพระราชทานไวโอลินคันย่อมคันหนึ่ง อายุเป็น 100 ปี ซึ่งราคาแพงมาก เสียงไพเราะมาก เธอดีใจอย่างยิ่ง แต่หวั่นใจเพราะมีพระราชกระแสรับสั่งว่า เธอจะต้องเล่นเพลงใดเพลงหนึ่งให้ทรงสดับเมื่อทรงทุเลาจากพระอาการประชวร ท่านพ่อและหม่อมแม่ของเธอแนะว่าเธอควรจะฝึกเล่นเพลงเต้นรำเพลงหนึ่งจากมหาอุปรากรที่ชื่อว่า “มินย่อง” (Mignon) ของอัมบรวส ธอมัส (Ambroise Thomas) ด้วยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯโปรดมากแต่พระองค์ไม่อาจทรงสีไวโอลินให้เสียงสั่นรัวอย่างที่ควรจะเป็นในช่วงหนึ่งของเพลงได้ เธอจึงฝึกฝนเป็นการใหญ่ แม้เมื่อเธอเล่นได้แล้วเธอก็มีความหวาดหวั่นเป็นอันมากทุกครั้งที่คิดถึงว่าจะต้องเล่นถวาย “ฉันจึงผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆโดยหวังง่าพระเจ้าอยู่หัวจะทรงลืมเรื่องนี้ไปเลย”
      และแล้วในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2484 พระอาการประชวรทรุหนักและเสด็จสวรรคตด้วยพระอาการหทัยวาย การถวายพระเพลิงพระบรมศพที่สุสานโกลเดอร์ส กรีน ( Golders Green) เป็นไปอย่างเรียบง่ายตามพระราชประสงค์ คุณต้อเล่าว่า “มีพระราชกระแสรับสั่งกับพ่อว่าต้องพระราชประสงค์จะทรงฉลองพระองค์สีแดงในวันถวายพระเพลิง เช่นเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระอัยกาเคยทรง พระบรมศพในหีบ พระวรกายเล็ก ทรงฉลองพระองค์โจงสีแดงเกลี้ยงและฉลองพระองค์บนสีแดงเช่นกัน และเมื่อหีบพระบรมศพเคลื่อนเข้าสู่เตาเผา มีผู้ใดผู้หนึ่งบรรเลงเพลงคอนแชร์โต สำหรับไวโอลิน ของเมนเดลโซน (Mendelssohn) ซึ่งโปรดมาก”
       วันรุ่งขึ้น หม่อมเสมอบอกให้คุณต้อไปเล่นไวโอลินถวายที่ห้องซึ่งบรรทมในวันสวรรคตโดยแนะเธอว่า “หลับตา ตั้งสติรำลึกถึงท่าน แล้วท่านก็จะทรงได้ยิน” คุณต้อเขียนไว้ว่า เธอ “ตระหนกมาก เพราะครั้งสุดท้ายที่ฉันเห็นพระวรกายก็คือ เมื่อวันก่อนถวายพระเพลิง...บนพระแท่นเหมือนทรงบรรทมหลับอยู่ แตกต่างอยู่ตรงที่ว่าเหมือนว่าพระวรกายทำด้วยขี้ผึ้ง...”
       “ฉันใช้เวลานานมากที่จะปรับแต่งเสียงไวโอลิน มือของฉันหนาวเหน็บ ฉันสั่นไปทั้งตัว ขณะที่ฉันเริ่มเล่น...เสียงเดียวในพระตำหนักคือ เสียงของไวโอลินของฉัน ซึ่งฉันว่าออกมาแย่มากๆ ในห้องอันเปล่าเปลี่ยวนั้น คือเต็มไปด้วยเสียงเอี๊ยดๆ ครึ่งหนึ่งกับเสียงเศร้าๆอีกครึ่งหนึ่ง ฉันหลับตาและหลับไว้เป็นเวลานาน ฉันรู้ว่าถ้าฉันลืมตาขึ้นมาฉันต้องเห็นพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่พระเก้าอี้องค์ใหญ่องค์นั้น ทอดพระเนตรฉันอยู่ เมื่อฉันเล่นจบเพลงและลืมตาขึ้นมาอีกที ฉันโล่งอกอย่างยิ่งที่ไม่เห็นใครอยู่ในห้องนั้นนอกเหนือจากตัวฉันเอง”
    ข้อเขียนบทที่สองที่คุณต้อเขียนเกี่ยวกับชีวิตของเธอใต้ร่มพระบารมีองค์ประชาธิปกจบลงเช่นนี้ ด้วยเรื่องเล่าที่เป็นส่วนตัวจริงๆ อย่างที่ไม่มีใครอื่นจะเล่าได้เหมือนหรือตรงไปตรงมาเท่า หากพิจารณาดูทั้งหมดแล้ว จะเห็นว่าแม้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจะได้ทรงตัดพ้อว่าเด็กที่พระองค์ทรงชุบเลี้ยงมาโดยตรงไม่ฟังพระองค์ก็ตาม แต่มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่อยู่ในสายพระเนตรเกือบ 5 ปีเต็ม ซึ่งอาจจะไม่ได้ทรงสอนสั่งโดยตรงแต่อย่างใด ได้ซึมซับพระราชจริยวัตรหลายอย่างหลายประการมาไว้ในตัวเธอ เช่น ความรักในการทำสวน ความรักในการอ่านและในวิชาประวัติศาสตร์ จนกระทั่งได้ไปเรียนวิชานั้นที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด อีกทั้งความรักในการดนตรี เธอผู้นั้นคือ หม่อมราชวงศ์ปิ่มสาย สวัสดิวัตน์ (อมระนันท์) ผู้ถ่ายทอดให้เราได้ทราบและซึ้งในพระราชจริยวัตรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานะบุคคลผู้หนึ่ง และเกิดความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจในพระราชสถานะพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 7 ในปีนี้ 70 ปีหลังจากที่ได้เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484

(ตีพิมพ์ครั้งแรกใน รายงานกิจการประจำปี 2553 มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พิมพ์ที่ : สำนักพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร)



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั