ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ กับการบุกเบิกสวนบ้านแก้ว




ขอบคุณบทความจาก ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล
“สวนบ้านแก้ว”

     ภายหลังที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯได้รับสั่งให้ พลตรีหม่อมทวีวงศ์  ถวัลยศักดิ์
เลขานุการสำนักพระราชวังหาสถานที่เป็นที่ประทับอยู่ ๒ แห่ง คือที่จังหวัดเชียงใหม่
และจังหวัดจันทบุรี พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยเลือกที่จังหวัดจันทบุรี คือ "สวนบ้านแก้ว"
     “สวนบ้านแก้ว” อยู่บริเวณเขาไร่ยา มีพื้นที่เป็นเขาชันสูงสู่ระดับต่ำ “คลองบ้านแก้ว” เป็นป่ารกชัฏด้วยหญ้าคา ต้นอ้อ และพงแขม และป่าไม้ล้มลุก สภาพโดยรอบมีความสมบูรณ์ แต่ขาดการพัฒนา ซึ่งในขณะนั้นถนนระหว่างจันทบุรี – กรุงเทพฯ บางส่วนยังเป็นลูกรัง การคมนาคมมาไม่สะดวกพระองค์ทรงมาบุกเบิกถางป่าทำทางมาปลูกขนำอยู่ทางทิศตะวันออกโดยไม่มีน้ำประปา ใช้น้ำบ่อน้ำคลอง ไม่มีไฟฟ้า ต้องใช้เครื่องปั่นไฟ พาหนะบางครั้งพระองค์ต้องใช้วัวเทียบเกวียน
      ต่อมาทรงให้หม่อมเจ้าสมัครสมาน กฤดากร ปรับพื้นที่เพื่อจัดทำการพัฒนาสวนบ้านแก้วด้านเรือนพัก และการเกษตรต่าง ๆ อาทิเช่น ปลูกข้าว มะพร้าว ขนุน พริกไทย ลิ้นจี่ มะปราง เป็นต้น โดยการทำสวนเป็นการช่วยเหลือประชาชน พร้อมกับการเพาะเลี้ยงพันธุ์ไก่ต่างๆ ตลอดจนหัตถกรรม จึงนับได้ว่า “สวนบ้านแก้ว” ได้พัฒนาจากป่าที่ไม่มีระบบจึงกลายมาเป็นรมณียสถานที่ประทับ “สวนบ้านแก้ว



  
บ้านที่ทรงใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชน

     ในการหาที่ดินในต่างจังหวัดนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ มีพระราชดำริไว้ ๒ แห่ง คือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดจันทบุรี แต่ในที่สุดแล้วทรงสนพระราชหฤทัยจังหวัดจันทบุรี เพราะระยะทางใกล้กว่าและสามารถเสด็จพระราชดำเนินเข้ากรุงเทพฯ ได้ภายในวันเดียว จึงโปรดเกล้าฯ ให้พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์เลขาธิการสำนักพระราชวัง เสาะหาที่ดินในจังหวัดจันทบุรีและได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรที่ดิน ซึ่งในระยะนั้นเส้นทางคมนาคมยังไม่สะดวกต้องเสด็จฯไปตามถนนที่ยังไม่ได้ราดยางเป็นหลุมบ่อ เต็มไปด้วยฝุ่นละออง รถพระที่นั่งกระแทกกระเทือนไปตลอดทางในที่สุดทรงพบที่ที่ต้องพระราชหฤทัยตรงทางแยกเข้าตัวเมืองจันทบุรี ด้วยทรงเห็นว่าเป็นสถานที่ซึ่งมีธรรมชาติงดงาม เงียบสงบ ต้องกับพระราชอัธยาศัยของพระองค์ จึงทรงกู้เงินจากธนาคารเพื่อซื้อที่ดินสองฝั่งคลองบ้านแก้ว รวมเนื้อที่ ๖๘๗ ไร่ และพระราชทานนามสถานที่แห่งนี้ตามชื่อคลองว่า “สวนบ้านแก้ว”

     ในระยะแรกนั้น สวนบ้านแก้วยังมีสภาพเป็นป่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้ทำการปรับที่ดิน พร้อมกับสร้างที่ประทับชั่วคราวทำด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงจาก และได้เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมครั้งแรก เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนไม้หลังเล็กขึ้น ๒ หลัง คือ เรือนเทา ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ส่วนเรือนแดงเป็นที่พกของข้าหลวงผู้ติดตาม และมีเรือนอีกหลังหนึ่งสร้างแบบบังกะโลเรียกว่าเรือนเขียว เป็นที่พักของราชเลขานุการ เรือนทั้งสามหลังนี้นับเป็นอาคารถาวรชุดแรกของสวนบ้านแก้ว




พระตำหนักใหญ่ (ตำหนักเทา)

     สองปีต่อมา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักใหญ่ (พระตำหนักเทา) บนเนินที่ลาดลงไปยังหุบเขา ซึ่งเป็นที่ประทับและรับรองแขก พระตำหนักเป็นอาคารแบบครึ่งตึกครึ่งไม้ชั้นครึ่ง รูปทรงยุโรป ทาสีเทา ชั้นบนเป็นห้องบรรทมซึ่งมีเฉลียงที่พระองค์สามารถทอดพระเนตรทิวทัศน์อันงดงามของสวนบ้านแก้วได้กว้างไกล
     เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่สวนบ้านแก้ว การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงปลูกต้นจำปาไว้ด้านข้างพระตำหนักใหญ่ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกต้นเงาะบางยี่ขันไว้บริเวณใกล้เคียงกัน




พระตำหนักดอนแค (ตำหนักแดง)

     นามพระตำหนักดอนแค มีที่มาจากบริเวณถนนหน้าพระตำหนักปลูกต้นแคฝรั่งเรียงรายงดงาม จึงเรียกขานกันว่า “ดอนแค” เป็นพระตำหนักที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับสำหรับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และราชเลขานุการส่วนพระองค์เป็นอาคารสองชั้นแบบยุโรปสร้างด้วยไม้สักทาสีแดง มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ด้านหลังพระตำหนัก เดิมเคยเป็นที่พักของหม่อมราชวงศ์สมัครสมาน กฤดากร ราชเลขานุการต่อมาเมื่อราชเลขานุการถึงแก่อนิจกรรม หม่อมเจ้าผ่องผัสมณี จักรพันธุ์ พระขนิษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงดำรงตำแหน่งราชเลขานุการ และประทับที่พระตำหนักดอนแค สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จฯ มาประทับกับหม่อมเจ้าผ่องผัสมณี จนกระทั่งเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับ ณ วังศุโขทัยเป็นการถาวร
     นอกจากนี้ ด้านทิศตะวันตกของตำหนักดอนแคยังเป็นที่ตั้งของตำหนักน้อย ซึ่งมีลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รับรองพระราชวงศ์ที่เสด็จมาเยี่ยมเยียน และทรงใช้เป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถในบางโอกาส
     การก่อสร้างพระตำหนักและสิ่งก่อสร้างต่างๆ นั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โปรดให้เป็นไปด้วยความประหยัดมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ นับตั้งแต่โปรดเกล้าฯ ให้จ้างช่างชาวจีนมาสอนคนงานที่สวนบ้านแก้ว ทำอิฐ เผาอิฐ เผากระเบื้องมุงหลังคาเอง เนื่องจากอิฐบางบัวทองขณะนั้นราคาสก้อนละ ๒ บาท การขนส่งจากกรุงเทพฯ ก็ลำบาก อิฐที่เผาในสวนบ้านแก้วจะมีสัญลักษณ์เป็นตัวอักษรว่า ส.บ.ก. ซึ่งโปรดเกล้าฯให้นำอิฐ ส.บ.ก. ไปใช้ในการก่อสร้างพระตำหนักและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ




สมเด็จฯ ผู้ทรงบุกเบิกงานเกษตร

     สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ มีพระราชอัธยาศัยโปรดธรรมชาติอย่างยิ่ง ระหว่างประทับ ณ สวนบ้านแก้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าประดิษฐา จักรพันธุ์ ทรงเป็นผู้จัดการ “สวนบ้านแก้ว” และพระราชทานพระราชดำริให้ปลูกพืชไร่ พืชสวนครัว และผลไม้นานาชนิดรวมทั้งเลี้ยงสัตว์พันธุ์ต่าง ๆ ด้วยมีพระราชประสงค์ให้สวนบ้านแก้วเป็นไร่ตัวอย่างมากกว่าทำเป็นการค้า โดยทำการทดลองว่า หากปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ชนิดใดได้ผลดี ก็ทรงนำความรู้นั้นออกเผยแพร่แก่ราษฎรต่อไป
     ในระยะแรกพื้นที่สวนบ้านแก้วส่วนหนึ่งยังเป็นป่าทึบมีที่บุกเบิกเป็นไร่มันบ้าง ส่วนใหญ่ยังมีสภาพรกร้าง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงบุกเบิกที่เพื่อปลูกพืชไร่ เช่น ถั่วลิสง นุ่น โดยมีพระราชประสงค์ให้ปลูกเป็นตัวอย่างแก่ราษฎร แต่เนื่องจากพืชทั้งสองชนิดไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศของจังหวัดจันทบุรี จึงทรงเปลี่ยนไปปลูกมะพร้าวแทน นอกจากนี้ ได้ทรงปลูกมันสำปะหลังเพื่อกันไม่ให้หญ้าขึ้นรก และเพื่อช่วยยึดดิน ซึ่งได้ผลผลิตดีมาก

      สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะในการทำไร่สวนบ้านแก้วด้วยพระองค์เองอยู่เสมอ อาทิ ทรงปลูกและเก็บเมล็ดถั่วลิสงร่วมกับข้าราชบริพารและคนงาน ตลอดจนทรงดูแลเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ บางครั้งถึงกับทรงขับรถแทรกเตอร์และตัดหญ้าด้วยพระองค์เอง
      ในช่วงที่ปลูกพืชไร่นั้น หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ซึ่งทรงเชี่ยวชาญด้านการเกษตรได้ถวายคำแนะนำ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ให้ทรงทดลองปลูกแตงโม แตงไทย และ แคนตาลูป ประมาณ ๘ ไร่ ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจโดยเฉพาะแตงโมมีผลและน้ำหนักมาก การปลูกแตงโมนั้นทรงปลูกเพื่อเสวยเองและแจกจ่ายแก่บุคคลต่าง ๆ มิได้นำออกขาย
      นอกจากพืชไร่ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ยังโปรดเกล้า ให้ปลูกผักสวนครัวและผลไม้ต่างๆ เช่น ส้มเขียวหวาน ประมาณ ๓,๐๐๐ ต้น เงาะ ลางสาด มังคุด เป็นต้น ส่วนพริกไทยนั้นทรงปลูกในระยะแรกแล้วทรงเลิก เนื่องจากมิให้เป็นการกระทบต่ออาชีพของราษฎร
     สำหรับการเลี้ยงสัตว์ โปรดเกล้าฯ ให้สั่งไก่พันธุ์ไข่จากต่างประเทศหลายพันธุ์ จำนวนประมาณ ๒,๐๐๐ ตัว เพื่อทดลองเลี้ยง โดยฟักไข่ไก่ด้วยเครื่อง นอกจากนี้ ยังทรงเลี้ยงเป็ดพันธุ์ปักกิ่ง ห่าน และวัวพันธุ์เนื้อ ประมาณ ๑๐๐ ตัว โดยเลี้ยงตามธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อช่วยในการปราบหญ้า





ดอกไม้ : ความสุขส่วนหนึ่งของพระองค์

     สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โปรดดอกไม้เป็นอย่างยิ่ง เมื่อทรงว่างจากพระราช กรณียกิจแล้ว ก็โปรดที่จะประทับในเรือนเพาะชำ ทรงปลูกต้นไม้รดน้ำ ใส่ปุ๋ยด้วยประองค์เอง บริเวณพระตำหนักใหญ่และพระตำหนักดอนแคจึงงดงามด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ทั้งไม้ยืนต้น เช่น มะฮอกกานี ราชพฤกษ์ (คูน) ศรีตรัง เสลา อินทนิล หางนกยูงฝรั่ง และเหลืองอินเดีย ซึ่งให้ทั้งความร่มรื่นและความงามยามที่ดอกบานสะพรั่ง ส่วนไม้พุ่มที่ช่วยเติมแต่งสีสันและให้กลิ่นหอม ล้วนมีหลากหลาย เช่น ลั่นทม แก้ว แคฝรั่ง โศกสปัน ดอนย่า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีไม้ เถาเลื้อย เช่น พุทธชาด พวงแสด พวงทอง พวงชมพู พวงแก้วแดง พวงคราม พวงโกเมน และพวงหยก ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ที่หายากและมีดอกที่สวยงามแปลกตา ส่วนตามถนนบริเวณพระตำหนักทรงปลูกว่านสี่ทิศ บัวสวรรค์ ซึ่งเป็นไม้ดอกประเภทหัว (Bulbs) ที่เมื่อถึงฤดูกาลก็จะมีดอกที่สร้างสีสันสดใสโดยรอบบริเวณพระตำหนักทั้งสอง
     บริเวณที่เป็นสวนดอกไม้ส่วนพระองค์ อยู่ด้านตะวันออกของพระตำหนักใหญ่ เป็นสวนดอกไม้เมืองหนาวมีสระเลี้ยงเต่า เลี้ยงปลา และสระน้ำที่สร้างเป็นระดับลดหลั่นกันลงมาเพื่อให้น้ำไหลรินลงสู่เบื้องล่าง สวนดอกไม้แห่งนี้เป็นสถานที่ทรงสำราญพระราชหฤทัยของพระองค์ตลอดเวลาที่ประทับ ณ สวนบ้านแก้ว



สวนส่วนพระองค์ : ที่ประทับทรงพระสำราญ

     ด้วยเหตุที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โปรดการปลูกต้นไม้ ทำสวน จึงโปรดให้จัดสวนส่วนพระองค์บริเวณพื้นที่ระหว่างพระตำหนักใหญ่และพระตำหนักดอนแคเป็นที่ประทับทรงพระสำราญส่วนพระองค์ โดยก่อกำแพงด้วยอิฐโปร่งรอบบริเวณ ภายในบริเวณสวนร่มรื่นและงดงามด้วยพันธุ์ไม้ที่ทรงโปรดปราน เช่น ลิ้นจี่ มังคุด มะปริง มะปราง เป็นต้น มีเล้าไก่ สำหรับเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่มีกรงนกขนาดใหญ่ที่สร้างคลุมต้นไม้สำหรับเลี้ยงนกนานาชนิด ด้านหลังสวนส่วนพระองค์ โปรดให้สงวนต้นไม้ใหญ่ไว้ให้มีสภาพเป็นป่าธรรมชาติ


พระเมตตาต่อสัตว์เลี้ยง

     สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โปรดสุนัขมาก ทรงเลี้ยงไว้ ๑๒ ตัว ที่ทรงเลี้ยงไว้อย่างใกล้ชิดและติดตามพระองค์ไปทุกหนทุกแห่งในสวนบ้านแก้ว ด้วยพระราชหฤทัยที่อ่อนโยน ได้โปรดให้สร้างสระน้ำสำหรับให้สุนัขลงเล่นน้ำไว้ด้านซ้ายมือของศาลาทรงไทย ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าพระตำหนักดอนแค ส่วนภายในพระตำหนักใหญ่ทรงจัดห้องเลี้ยงปลา เลี้ยงเต่า ไว้ในตู้เล็ก ๆ


     นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ยังทรงเลี้ยงหมี แต่ดุมากจึงนำไปไว้ที่สวนสัตว์ และทรงมีพระเมตตารับลูกสัตว์ที่แม่ตายมาเลี้ยงไว้ เช่น ลูกวัว ลูกเก้ง เป็นต้น



เสื่อสมเด็จฯ : งานหัตถกรรมที่ทรงพัฒนา

         ระหว่างที่ประทับ ณ สวนบ้านแก้ว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้ทรงริเริ่มพัฒนาการทอเสื่อจันทบูร ซึ่งเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวจังหวัดจันทบุรีให้มีคุณภาพ สีสัน และรูปแบบที่งดงามขึ้น เนื่องจากทรงพบข้อบกพร่องของเสื่อจันทบูรหลายประการ เช่น สีของเสื่อมักจะตกและมีเพียงไม่กี่สี ซึ่งส่วนมากเป็นสีเข้ม เช่น เขียว เหลือง แดง เป็นต้น พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงงานทอเสื่อขึ้นในสวนบ้านแก้ว โดยสั่งซื้อกกตากแห้งจากชาวบ้านมาเป็นวัตถุดิบในการทอเสื่อและมีพระราชดำริให้ปรับปรุงคุณภาพสีที่ใช้ย้อมกก โดยมีหม่อมเจ้ากอกษัตริย์ สวัสดิวัตน์ พระอนุชาซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาเคมีที่มหาวิทยาลัย สิงคโปร์ช่วยค้นคว้าวิธีย้อมกกไม่ให้สีตก และคิดกรรมวิธีฟอกกกให้ขาวก่อนนำไปย้อมสี ซึ่งทำให้สามารถย้อมกกเป็นสีอื่น ๆ ได้ เช่น สีชมพู เหลืองอ่อน ขาว เป็นต้น นอกจากนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ยังทรงออกแบบกระเป๋าเสื่อให้มีรูปทรงที่ทันสมัย ลวดลายสวยงามทั้งยังทรงส่งเสริมให้นำเสื่อกกมาผลิตเป็นของใช้ประเภทอื่น ๆ เช่น กระเป๋าเอกสาร ถาด ที่รองถ้วยแก้ว ที่รองจาน กล่องใส่กระดาษเช็ดมือ ฯลฯ โดยทรงออกแบบตรวจตราคุณภาพผลิตภัณฑ์ด้วยพระองค์เอง และโปรดเกล้าฯ ให้ติดเครื่องหมายการค้าเป็นรูปคนหาบกระจาด มีอักษรย่อ ส.บ.ก. (สวนบ้านแก้ว) ใช้ชื่อว่า “อุตสาหกรรมชาวบ้าน” ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะให้โรงงานทอเสื่อของพระองค์เป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้ด้านการประกอบอาชีพให้แก่ราษฎร


การชลประทานของสมเด็จฯ

     สภาพพื้นที่วังสวนบ้านแก้ว ในพื้นที่ประมาณ ๗๒๐ ไร่ กับ ๓ งาน จากทิศใต้ จรดเขาไร่ยาเป็นเนินสูงลงมาพื้นที่ทางลาดคลองบ้านแก้วไหลผ่านกลางพื้นที่ วังสวนบ้านแก้ว ซึ่งมีน้ำไหลผ่านตลอดในช่วงหน้าฝนและช่วงหน้าแล้ง จึงทำระบบน้ำในสวนบ้านแก้ว มีความสมบูรณ์ และเพียงพอต่อการส่งเสริมการเกษตรต่างๆ ซึ่งเป็นภารกิจหลักที่พระองค์ทรงดำเนินชีวิตที่วังสวนบ้านแก้ว โดยมีการปลูกข้าว ปลูกส้ม ปลูกมัน ปลูกพริกไทย สวนผลไม้ส่วนพระองค์ พร้อมการเลี้ยงสัตว์ อาทิ เช่น วัวเป็นจำนวนมาก และเลี้ยงไก่ ซึ่ง จำเป็นอย่างยิ่งต่อการใช้น้ำ
     ด้วยพระอริยภาพที่กว้างไกลในอนาคต ทรงมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของระบบธรรมชาติที่ต้องเสื่อมสลายไปตามกระแสธรรมชาติ จึงได้สร้างระบบการกักเก็บน้ำ และการจัดการระบบน้ำให้มีเพียงพอต่อการใช้งานในวังสวนบ้านแก้ว ตลอดฤดูกาล เช่น

๑. ทำเขื่อนเก็บกักน้ำคลองบ้านแก้ว และทางระบาย

๒. ทำที่พักน้ำด้านที่สูงเป็นบ่อ และปล่อยไหลลงมาเพื่อใช้ในสวน

๓. สร้างที่เก็บน้ำฝนใต้อาคารทุกแห่ง

ภายในตำหนักเทา ๑ บ่อ ภายในตำหนักแดง ๑ บ่อ ภายในตำหนักเขียว ๑ บ่อ เพื่อใช้ในหน้าแล้ง


พระมิ่งขวัญมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

     พุทธศักราช ๒๕๑๑ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับ ณ วังศุโขทัยเป็นการถาวร เนื่องจากทรงมีพระประยูรญาติและข้าราชบริพารส่วนใหญ่เป็นสตรี ยากที่จะตามเสด็จพระราชดำเนินไปต่างจังหวัด ประกอบกับพระองค์ทรงมีพระชนมายุสูงขึ้นและพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก ดังนั้นเมื่อรัฐบาลกราบบังคมทูลพระกรุณาขอรับพระราชทานสวนบ้านแก้ว เพื่อก่อตั้งเป็นวิทยาลัยครูจันทบุรี โดยทูลเกล้าฯ ถวายเงินเพียง ๑๘ ล้านบาท สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ก็ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้ด้วยความเต็มพระราชหฤทัย ด้วยทรงมุ่งส่งเสริมให้จังหวัดจันทบุรีได้มีสถาบันการศึกษาชั้นสูง เพื่อให้การศึกษาแก่เยาวชนที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดใกล้เคียง กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งวิทยาลัยครูจันทบุรี เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๑๕ เริ่มทำการสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ วิทยาลัยได้รับพระราชทานตรา “ศักดิเดชน์” ซึ่งเป็นตราประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นตราประจำวิทยาลัย และปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ วิทยาลัยครูจันทบุรีก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ เป็นนามของวิทยาลัย คือ “วิทยาลัยรำไพพรรณี”
     วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้พระราชทานนามใหม่ให้แก่วิทยาลัยครูทั่วประเทศ คือ “สถาบันราชภัฏ” วิทยาลัยรำไพพรรณีจึงได้เปลี่ยนใช้นามใหม่ว่า “สถาบันราชภัฏรำไพพรรณี” ซึ่งปฏิบัติภารกิจในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น อันต้องกับพระราชประสงค์ของสมเด็จ พระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...