ขอบคุณบทความจาก ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล*
ปาฐกถาที่รพินทรนาถแสดงที่กรุงเทพฯ มี 5 เรื่องด้วยกันคือ 1. India’s Roles in the World ในงานเลี้ยงรับรองที่จัดโดยชาวอินเดียในสยาม ณ โรงแรมพระราชวังพญาไท 2. Child Education ที่ตึกอักษรศาสตร์ จุฬาฯ 3. Chinese Birth ในงานเลี้ยงรับรองของชาวจีนในสยามซึ่งจัดที่โรงเรียนเผยอิง ถนนทรงวาด 4. Asia’s Continental Culture หน้าพระที่นั่ง ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน และ 5. Ideals of National Education ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โดยแม้ว่าจะมีรายงานข่าวในหนังสือพิมพ์สมัยนั้น เช่น Bangkok Times และ Siam Observer แต่เข้าใจว่าไม่มีผู้ใดค้นพบรายระเอียดสักเรื่องหนึ่ง ผมจึงทำได้แต่เพียงเสนอข้อมูลบางอย่างที่อาจช่วยให้ท่านผู้อ่านได้เดาต่อเอง
รพินทรนาถบุตรคนที่สิบสี่ของมหาฤๅษีเทเวนทรนาถ เป็นเด็กที่ต้องอยู่ในระเบียบวินัยสูง ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปนอกคฤหาสน์ของบิดา จึงได้แต่เฝ้ามองธรรมชาติและผู้คนจากภายในรั้ว และเมื่อเขาได้ไปโรงเรียน เขาพบว่าโรงเรียนน่าเบื่อ การได้เดินทางกับบิดาไปแถบเทือกเขาท่ามกลางธรรมชาติเมื่ออายุ 12 ปีสู่ศานตินิเกตัน ที่ดินในชนบทรัฐเบงกอลของบิดา ดูจะจุดประกายความเป็นจินตกวีของเขาเป็นครั้งแรก
ต่อมาเมื่ออายุ 40 ปี (ค.ศ.1901) เขาได้ก่อตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กขึ้นที่ศานตินิเกตัน โดยใช้โรงเรียนในป่าแบบโบราณของอินเดียเป็นต้นแบบ นักเรียนหญิงชายได้รับการส่งเสริมให้ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติโดยไม่เน้นระเบียบวินัย หากแต่สร้างความสนุกสนาน ซึ่งรพินทรนาถเชื่อว่าเอื้อต่อการค้นพบตัวเอง และการมีความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งที่กว้างไกลออกไป เสริมด้วยความรู้เกี่ยวกับจารีตอินเดียจากการศึกษาวรรณกรรมพร้อมๆไปกับการคิดแบบวิทยาศาสตร์ อีกทั้งเกี่ยวกับวัฒนธรรมของชาติอื่นๆ คือ จีน ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง เป็นต้น นับได้ว่าเป็นการศึกษาทางเลือกสำหรับคนยากในอินเดียสมัยอาณานิคม
อ่านมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงจะเข้าใจว่าปาฐกถาที่เขาแสดงที่จุฬาฯ เรื่อง “การศึกษาสำหรับเด็ก” น่าจะมีเนื้อหาทำนองใด และคงจะเข้าใจกว้างขึ้นเมื่อทราบว่าเมื่อค.ศ. 1878 หนุ่มรพินทรนาถได้เดินทางไปอังกฤษ และเข้าศึกษากฎหมายที่มหาวิทยาลัยลอนดอน แต่เรียนไม่จบหลักสูตร หากแต่ว่าความเป็นศิลปินที่มีความรู้สึกนึกคิดกว้างไกลของเขาได้พัฒนาเรื่อยมา จนเขาเป็นที่เคารพนับถือยิ่งในอินเดีย และ 35 ปีต่อมาวรรณกรรมของเขาได้รับความชื่นชมถึงขีดสุดในยุโรปซึ่งมอบรางวัลโนเบลแก่เขาเมื่อ 1 ปีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ปะทุขึ้น สามปีหลังจากนั้นเขาได้เดินทางไปสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นโดยแสดงปาฐกถาเรื่องชาตินิยมที่ญี่ปุ่น
รพินทรนาถเห็นว่า “ชาตินิยมเป็นปกติธรรมดาสำหรับประเทศตะวันตก แต่ไม่ใช่สำหรับอินเดีย” ชาตินิยมของรัฐชาติแบบตะวันตก “เป็นโรคระบาดของความชั่วที่กำลังแพร่กระจายไปในโลกมนุษย์ในปัจจุบันและกำลังทำลายความมีชีวิตชีวาในเชิงศีลธรรมของมนุษย์” ในอินเดีย “เรากำลังแสวงหาสิ่งที่เผ่าพันธุ์ต่างๆมีส่วนร่วมกัน ซึ่งจะพิสูจน์ให้เห็นว่าจริงๆแล้ว เป็นหนึ่งเดียวกัน รัฐชาติใดที่เพียงแต่ใช้การเมืองและการค้าเป็นฐานของความสามัคคีจะไม่สามารถค้นพบคำตอบที่เพียงพอ” ผมเข้าใจว่าสำหรับรพินทรนาถคำตอบอยู่ที่วัฒนธรรมและการเรียนรู้ว่า แม้มนุษย์จะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปตามสภาพธรรมชาติที่แตกต่างกัน แต่ภายใต้ความแตกต่างนั้นมีความเป็นหนึ่งเดียวกันในความเป็นมนุษย์อยู่ เขาจึงเห็นว่าการศึกษาจะต้องเอื้อให้บุคคลได้สัมผัสกับธรรมชาติ และได้รู้ซึ้งในวัฒนธรรมท้องถิ่นของตนเอง แต่ไม่ใช่อย่างยึดติด แต่โดยเปรียบเทียบกับวัฒนธรรมอื่น แล้วใช้ตรรกและเหตุผลเลือกรักษาไว้และเลือกรับ เขาประกาศว่า “ผลผลิตใดก็ตามของมนุษย์ที่เราเข้าใจและนิยมชมชอบกลายเป็นของเราในทันที ไม่ว่าจะมาจากไหน...ฉันภูมิใจในความเป็นมนุษย์ของฉันเมื่อฉันสามารถยอมรับได้ว่ากวีและศิลปินของประเทศอื่นเป็นของประเทศของฉันเอง ขอให้ฉันได้รู้สึกด้วยความดีใจที่บริสุทธิ์และคิดว่าบรรดาความรุ่งโรจน์ทั้งปวงของมนุษย์เป็นของฉัน” ดังนั้น “ชาตินิยมจึงสำคัญน้อยกว่ามนุษยชาติ(และ) ฉันเชื่อมั่นว่าเพื่อนร่วมชาติของฉันจะได้มาซึ่งอินเดียที่แท้ของเขาโดยการต่อสู้กับการศึกษาชนิดที่สอนเขาว่าประเทศยิ่งใหญ่กว่าอุดมคติของความเป็นมนุษย์” ปาฐกถาของเขาเรื่อง “อุดมคติ(ต่างๆ)ของการศึกษาของชาติ” ซึ่งแสดงแก่บรรดาราชบัณฑิตสยามคงจะมีเนื้อหาหักมุมทำนองนี้กระมัง
ส่วนปาฐกถาซึ่งแสดงต่อชาวอินเดียในสยามเรื่อง “บทบาท(ต่างๆ) ของอินเดียในโลก” นั้น ก็น่าจะเป็นไปในร่องเดียวกัน คือไม่ได้หมายถึงอินเดียซึ่งในขณะนั้นยังคงเป็นอาณานิคมของอังกฤษอยู่ แต่หมายถึงคนและวัฒนธรรมอินเดีย ซึ่งมีความหลากหลายและตามแนวคิดข้างต้นจึงเป็นสิ่งที่ในปัจจุบันเรียกว่า “ทุนทางวัฒนธรรม” นอกจากนั้นรพินทรนาถยังเคยเขียนไว้ว่า “สารพันปัญหาที่อินเดียต้องเผชิญนั้นรวมไว้ซึ่งปัญหาของโลกในที่เดียว...และในการหาวิธีแก้ปัญหาของเรา(ชาวอินเดีย) เราก็จะได้ช่วยแก้ปัญหาของโลกไปด้วย สิ่งที่อินเดียเคยเป็น โลกทั้งโลกกำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ถ้าอินเดียสามารถนำเสนอทางแก้ปัญหาของอินเดียแก่โลกได้ ก็จะเป็นสิ่งที่อินเดียให้แก่มนุษยชาติ”
สำหรับปาฐกถาที่แสดงต่อชาวจีนในสยามเรื่อง Chinese Birth นั้นมีรายงานข่าวหนังสือพิมพ์ว่าเขาอธิบายว่าชื่อเรื่องมีที่มาจากการที่เขาเดินทางไปจีนเมื่อค.ศ. 1924 สมาคมจันทร์เสี้ยวทำพิธีฉลองวันเกิดให้แก่เขาและตั้งชื่อภาษาจีนให้เขาว่า Chu Chen-tan เขากล่าวที่นั่นว่าเขา “หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจีนจะเจริญรุ่งเรืองอีกครั้งเช่นแต่ก่อน และว่าจีนและอินเดียจะมาใกล้ชิดกันในความเป็นหนึ่งเดียวกันทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรม ซึ่งเราสามารถแลกเปลี่ยนกันและมอบให้แก่โลก” ความใฝ่ฝันทำนองนี้กระมังที่เขาพยายามพูดดังในปาฐกถาเรื่อง “วัฒนธรรมระดับทวีปของชาวเอเชีย” หน้าพระที่นั่ง
การเดินทางท่องไปในมลายา ชวา บาหลี สุมาตรา สยามและกลับไปทางพม่า ของรพินทรนาถ มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ หนึ่ง เพื่อจะศึกษาสิ่งที่หลงเหลืออยู่ของอารยธรรมอินเดียทั้งในโบราณสถาน ชีวิต ความเป็นอยู่ และศิลปกรรม และ สอง เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางวัฒนธรรม ที่ใกล้ชิดระหว่างอินเดียและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านความเลื่อมใสศรัทธาในภารกิจอันเป็นอุดมคติของวิศว-ภารตี มหาวิทยาลัยนานาชาติที่เขาจัดตั้งขึ้นที่ศานตินิเกตัน เพื่อที่ผู้คนต่างศาสนาจะได้มาเรียนรู้ซึ่งกันและกันใน “รัง” เดียวกัน
สำหรับสยาม เขาหวังว่ารัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสนับสนุนการสถาปนาตำแหน่งศาสตราจารย์ในสาขาพุทธศาสตร์ในพระนาม กาลมิได้เป็นไปตามที่เขาหวัง ซึ่งคงเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในรัชกาล จนหลายปีต่อมาทางอินเดียได้สถาปนาขึ้น หากแต่โดยพระราชประสงค์ การฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ รพินทรนาถได้ส่งสวามีสัตยานันทบุรีมาประจำ ดังรายละเอียดที่ได้นำเสนอไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น