ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม : มิถุนายน 2475

ยาสุกิจิ ยาตาเบ เขียน
 : อดีตอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศสยามในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศสยาม
แปลโดย : ศ.เออิจิ มูราชิมา บัณฑิตวิทยาลัยเอเชียแปซิฟิกศึกษา มหาวิทยาลัยวาเซดะ
และ รศ. ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทความนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสารศิลปวัฒนธรรมปีที่ 26 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2548
(ขอขอบคุณ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อนุญาตให้พิมพ์เผยแพร่บางส่วน)

     ประเทศสยามนับจากสร้างประเทศขึ้นมา  ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างการเมืองของรัฐกับเรื่องครอบครัวของพระมหากษัตริย์ การแบ่งแยก 2 สิ่งออกจากกันนั้น กล่าวได้ว่า เพิ่งเริ่มต้นเมื่อทศวรรษ 1890 นี้เอง  เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรนับเป็นเรื่องแปลกแต่ประการใดที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยามสามารถดำรงอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปีค.ศ. 1932  (พ.ศ.2475)  อย่างไรก็ตามได้มีบุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  ดังปรากฏว่ามีคนบางกลุ่มมีความประสงค์ที่จะปฎิรูปการเมือง  ตัวอย่าง เช่น หลังจากรัชกาลที่ 6 เสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 2 ปี คือปี ค.ศ. 1912 (พ.ศ.2455 ) ปรากฎว่ามีแผนการที่จะก่อการปฏิวัติขึ้น  คณะบุคคลที่เข้าร่วมในขบวนการปฏิวัตินั้นมีอยู่ 2 กลุ่ม  กลุ่มหนึ่งเรียกร้องรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย  อีกกลุ่มหนึ่งมีเป้าหมายสร้างระบอบสาธารณรัฐขึ้น โดยที่ทั้ง 2 กลุ่ม มีเป้าหมายร่วมกันคือ การโค่นล้มการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  กระนั้นก็ตาม แผนการปฏิวัติในสมัยนั้น  ปรากฏว่าไม่ประสบความสำเร็จและถูกจับกุมเสียก่อน  โดยที่หลายสิบคนได้ถูกจับกุมในคราวเดียวกัน และได้ถูกลงโทษด้วย
     หลังจากนั้นไม่นาน สงครามโลกครั้งที่ 1 ได้เกิดขึ้น ประเทศสยามได้ถูกชักจูงให้เข้าร่วมสงคราม ในปี ค.ศ.1917 (พ.ศ.2460) ประเทศสยามได้ประกาศสงคราม และจัดส่งกองทหารอาสาไปแนวรบด้านตะวันตก  ด้วยเหตุนี้ประเทศสยามจึงมีฐานะเป็นประเทศผู้ชนะสงคราม และร่วมลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพที่ปารีส รวมทั้งได้เข้าร่วมในองค์การสันนิบาตชาติ ในฐานะเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง  ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง  สถานะของประเทศสยามในสังคมโลกจึงได้รับการปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม  นโยบายที่เคยบีบคั้นประเทศสยามจากอังกฤษและฝรั่งเศสก็มีการผ่อนคลายเป็นอันมาก  การคุกคามต่อเอกราชของสยามก็ดูจะลดน้อยลง  นอกจากนั้นการแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค  ซึ่งเป็นความต้องการของประเทศสยามมาเป็นเวลาช้านาน ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในปีค.ศ.1925 (พ.ศ. 2468) ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนและภายหลังจากที่รัชกาลที่ 7 เสด็จขึ้นครองราชย์  การแก้ไขสนธิสัญญาไม่เสมอภาคได้มีผลสำเร็จและนานาประเทศก็ให้การยอมรับมีการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเหนือประเทศสยาม  และมีการฟื้นฟูอำนาจของสยามในการจัดเก็บภาษีศุลกากร
     ในช่วงเวลานั้นความสนใจของรัฐบาลและประชาชนทั่วไปอยู่ที่การแก้ไขความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  และขาดเวลาเพียงพอที่จะปฎิรูปการเมืองและพัฒนาทรัพยากรภายในประเทศ  ความต้องการของปัญญาชนต่อการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยค่อยๆทวีความสำคัญมากขึ้น  แต่การศึกษาของประชาชนโดยทั่วไป  กล่าวได้ว่ายังไม่มีความแพร่หลาย  และความคิดทางการเมืองของประชาชนโดยทั่วไปก็ยังมีความด้อยอยู่มาก  สื่อมวลชนต่างๆก็ยังอยู่ในระดับเริ่มต้น  อีกทั้งยังไม่มีเสรีภาพในการพูด  ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะไม่มีขบวนการทางการเมืองที่ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างคึกคัก  นอกจากนั้นในช่วงเวลานี้ความสำเร็จทางการทูตในระดับหนึ่งส่งผลให้ความชอบธรรมของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม


            พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว   รัชกาลที่ 7
      ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1925 (พ.ศ. 2468)  ภายหลังจากพระเชษฐาของพระองค์เสด็จสวรรคต  พระองค์ทรงมีความคิดที่ก้าวหน้า  และทรงดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างการปกครองและการคลัง  พระองค์ทรงมีความกล้าหาญที่ลดทอนงบประมาณรายจ่ายของสำนักพระราชวังลงครึ่งหนึ่ง  ระเบียบวินัยของข้าราชการซึ่งมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลก่อน  ก็ได้รับการปรับปรุง  นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชนิยมให้ลดจำนวนข้าราชการชาวต่างประเทศลง  เพราะฉะนั้นประชาชนทั้งในระดับล่างและระดับบนก็เริ่มมีความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงของรัชกาลใหม่
    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ  ทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษแต่เยาว์วัย  ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยที่ประเทศอังกฤษ  และจากโรงเรียนเสนาธิการของประเทศฝรั่งเศส  พระองค์ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารนี้  พระองค์มีแนวพระราชดำริแบบเสรีนิยมค่อนข้างมาก  นับจากขึ้นครองราชสมบัติแล้วเราดูจากภายนอกรู้ได้ว่า พระองค์มีแนวพระราชดำริที่จะเริ่มการปกครองในแบบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตย  กล่าวคือ  ภายหลังจากครองราชย์ได้ไม่นาน พระองค์ทรงปรับปรุงกรรมการองคมนตรีสภา  ซึ่งแต่เดิมไม่มีบทบาทและมีแต่ชื่อมานานโดยทรงปรับปรุงและจัดให้มีกรรมการจำนวน 40 คน  ซึ่งได้รับการคัดเลือกมาจากกระทรวงต่างๆ ทำหน้าที่เป็นองค์กรทางด้านนิติบัญญัติ กฎหมายสำคัญๆ ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการองคมนตรีสภานี้  พระบรมราชโองการในการปฎิรูปกรรมการองคมนตรีสภานี้  กล่าวว่า  การปฎิรูปในคราวนี้มีจุดประสงค์เริ่มต้น คือ ทำให้การปฏิรูปในขั้นต่อไปง่ายขึ้น  จัดเป็นการทดลองและฝึกฝนให้กรรมการองคมนตรีสภามีความเข้าใจกระบวนการรัฐสภา  จากประกาศนี้ทำให้เราเข้าใจพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ  กล่าวคือ  คณะกรรมการองคมนตรีสภา เป็นการเตรียมการเพื่อพัฒนาระบบรัฐสภานิติบัญญัติในอนาคต  ซึ่งจะต้องปฎิรูปต่อไปอีหลายขั้นตอน  หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงแสดงพระราชประสงค์ว่าพระองค์ต้องการให้การเมืองพัฒนาไปเป็นระบบรัฐสภา  ในปีค.ศ. 1931 (พ.ศ.2474) เมื่อพระองค์เสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาเพื่อรักษาพระเนตรนั้น  พระองค์ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักหนังสือพิมพ์ว่า  ประเทศสยามจะมีรัฐบาลในระบอบรัฐธรรมนูญในอีกไม่นานนี้

การเสด็จฯ ประพาสสหรัฐอเมริกา
     เพราะฉะนั้นพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงจัดอยู่ในระดับขั้นเริ่มต้นของการเตรียมการไปสู่ระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยตามกระแสของโลก เรื่องนี้ไม่มีใครสงสัยเลย    อย่างไรก็ตามในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ.1932 (พ.ศ.2475) ได้มีการปฎิวัติเกิดขึ้น  แต่ก่อนการปฎิวัติในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1932 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จฯแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล  หัวหิน  ในครั้งนั้นพระองค์ได้นำเอาร่างรัฐธรรมนูญพระราชทานไปด้วย  การยกร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้เป็นผลงานของกรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ  เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ  โดยน้อมรับพระราชกระแสรับสั่งจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ  ในการนี้เสนาบดีได้ปรึกษากับปลัดทูลฉลอง (พระยาศรีวิสารวาจา - ผู้แปล)  และที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ (เรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์, Raymond B. Stevens- ผู้แปล)  ยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้น  โดยที่การยกร่างรัฐธรรมนูญฯนี้ถือเป็นความลับชั้นสูงสุด  ดังนั้นจึงไม่มีใครล่วงรู้เลยว่า  การยกร่างรัฐธรรมนูญได้สำเร็จเรียบร้อยและอยู่ในพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ   เรื่องที่เป็นความลับและไม่มีใครล่วงรู้ได้ดังกล่าวนี้นับเป็นโชคชะตาของประเทศไทย


คณะ "อภิรัฐมนตรี" ประกอบด้วยเจ้านายชั้นสูงทำหน้าที่กำหนดนโยบายสูงสุดของประเทศ

อำนาจตกอยู่ในมือเจ้านาย
      พระบรมราโชบายภายหลังการเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ  ที่มีความสำคัญมากกว่าการปฎิรูประบบองคมนตรี  ได้แก่  การจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภา  อภิรัฐมนตรีสภานี้ประกอบด้วยเจ้านายชั้นสูงจำนวน 4 - 6 พระองค์  และเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายสูงสุดของประเทศ  โดยอยู่เหนือกว่าคณะเสนาบดี  เรื่องนี้ไม่มีคำอธิบายอย่างเป็นทางการว่า  เพราะเหตุใดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงทรงจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นทันทีภายหลังจากเสด็จขึ้นครองราชย์  แต่ผู้เขียนมีความเข้าใจว่า เพราะพระองค์เป็นพระอนุชาพระองค์เล็กของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน  รวมทั้งได้เสด็จขึ้นครองราชย์อย่างกะทันหัน  ฉะนั้นจึงทรงต้องการสนับสนุนจากเจ้านายชั้นสูง เพื่อให้การปฎิรูปในหลายสิ่งหลายประการประสบความสำเร็จ รวมทั้งการปฎิรูปการเมืองใหม่ด้วย   (แต่การอธิบายของนิทรรศการถาวรที่ พิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 7 คือ "for myself, I was a dark horse" : พระองค์มิได้ทรงปรารถนาเป็นพระมหากษัตริย์แต่ด้วยโชคชะตาและความเหมาะสมทำให้ต้องยอมรับตำแหน่งและทรงต้องการจำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิ์ จึงทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงที่เคยรับราชการตั้งแต่สมัยพระราชบิดาและพระเชษฐาขึ้นเป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน - ฉัตรบงกช  : อาจารย์ประจำพิพิธภัณฑ์ร.7)
     การจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภานี้  ในระยะแรกประชาชนทุกคนมีความปลื้มปิติ  เพราะเป็นปฏิกิริยาต่อการเล่นพวกพ้องและการประจบสอพลอในสมัยรัชกาลก่อน  อย่างไรก็ดีข้อบกพร่องของการเมืองมิได้มีสาเหตุมาจากระบบ แต่อยู่ที่ตัวบุคคลที่ใช้ระบบนั้น  ดังจะเห็นได้ว่าภายหลังจากการจัดตั้งอภิรัฐมนตรีสภาขึ้นแล้ว  ฐานะและอำนาจทางการเมืองของเจ้านายทวีเพิ่มขึ้นเป็นอันมาก  นอกจากนั้นตำแหน่งของอภิรัฐมนตรีสภา  โดยกฎหมายได้กำหนดไว้ว่าเป็นตำแหน่งเฉพาะของบรรดาเจ้านายเท่านั้น  และตำแหน่งเสนาบดีต่างๆก็ตกเป็นของเจ้านายเพิ่มขึ้น  ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดการปฎิวัติ 1932  ตำแหน่งเสนาบดีรวม 9 ตำแหน่งนั้น  ปรากฎว่า 6 ตำแหน่งเป็นของเจ้านาย เพราะฉะนั้นในสมัยรัชกาลก่อนบรรกาพวกข้าราชการที่ประจบสอพลอประมาณ 2-3 คน  มีอำนาจและถูกวิพากาวิจารณ์มาก  แต่ครั้นมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯปรากฎว่าพวกเจ้านายได้ใช้อำนาจปกครองตามอำเภอใจ  ตำแหน่งสำคัญๆของรัฐบาลมีลักษณะผูกขาดโดยบรรดาพวกเจ้านาย  การเมืองสยามในสมัยนั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  แต่โดยแท้จริงแล้วเป็นระบอบคณาธิปไตยของพวกเจ้านายเสียมากกว่า และเมื่อจำเป็นต้องมีการเลื่อนชั้นข้าราชการตำแหน่งสำคัญๆปรากฎว่ามีการใช้เส้นสายเป็นอันมาก  ความไม่พอใจของบรรดาข้าราชการพลเรือนและทหารจึงทวีเพิ่มมากขึ้น  นอกจากนี้เสนาบดีที่เป็นเจ้านายบางพระองค์ได้ปรากฎข่าวลือว่ามีการใช้ตำแหน่งเสนาบดีแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน  และผู้เขียนเคยได้ยินว่ามีคนวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่  แต่ไม่มีความเหมาะสมกับประเทศสยาม  ซึ่งพวกเจ้านายบางพระองค์ได้พยายามผลักดันนโยบายที่แปลกใหม่นั้นเพื่อความพึงพอใจของตนเองเป็นสำคัญ  และไม่สนใจการสูญเสียผลประโยชน์ของประชาชน  ข่าวลือประเภทนี้เราไม่สามารถหาหลักฐานได้ในทุกกรณี  แต่เรื่องทำนองนี้ก็มีความสำคัญอยู่ที่ว่า  การปรากฎของข่าวลือนั้นแสดงถึงความไม่พึงพอใจของประชาชนต่อการปกครองของเจ้านาย  มากกว่าจะเป็นประเด็นว่าเรื่องข่าวลือนั้นมีความจริงหรือไม่  วิธีการแก้ไขความเสื่อมโทรมทางการเมืองของเจ้านายนั้น  ปรากฎว่าไม่มีการดำเนินการเลยในช่วงเวลานั้น  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ  ผู้ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะปฎิรูปการเมืองในสมัยต้นรัชกาล พระองค์ทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นแนวโน้มของระบอบคณาธิปไตยของเจ้านายที่เลวร้ายจึงพอกพูนและทวีสะสมขึ้น  และถึงแม้นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ  จะทรงมีแนวพระราชดำริแบบ เสรีนิยม  พระองค์ทรงมีความเข้าใจความเป็นไปของโลกอีกทั้งมีพระราชประสงค์จะสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญราชาธิปไตยขึ้น 
     นอกจากนี้ในบันทึกความทรงจำของนักการทูตชาวญี่ปุ่นท่านนี้ ยังมีการกล่าวถึงเรื่องที่คณะราษฎรยอมประนีประนอมทางการเมืองกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องการลงนามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว  ซึ่งคณะราษฎรยอมรับข้อบกพร่องที่มีอยู่ในพระราชบัญญัติธรรมนูญปกครองแผ่นดินสยามที่ฝ่ายตนร่างขึ้นมา ดังความตอนหนึ่งคือ
       "ฝ่ายคณะราษฎรได้อ่านธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่เตรียมไว้และขอให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯลงพระนามทันที  แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงกล่าวว่า  พระองค์มีพระราชประสงค์ขออ่านดูก่อน  ฝ่ายคณะราษฎรได้ให้เวลาหนึ่งชั่วโมง  และได้ขอร้องให้พระองค์ทรงอ่านทั้งหมดโดยเร็ว  แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯไม่สนพระทัย  ได้เสด็จไปยังห้องอื่น หนึ่งชั่วโมงผ่านไป ทรงตรัสว่า เวลามีน้อย  และมีบางเรื่องที่ไม่เข้าใจทั้งหมด  จึงไม่สามารถลงพระนามได้  พระองค์ไม่ยอมลงพระนามโดยง่าย  ในท้ายที่สุด  ฝ่ายคณะราษฎรได้ให้เวลาหนึ่งวันเต็มๆ จนถึงเวลา 17 นาฬิกาของวันที่ 27 มิถุนายน " (ยาสุกิจิ ยาตาเบ, การปฏิวัติและการเปลี่ยนแปลงในประเทศสยาม,แปลโดย เออิจิ มูราชิมา และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์,หน้า 19)


     (อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้จากวารสารศิลปวัฒนธรรมปีที่ 26 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2548)


ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั