ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พระราชบันทึกทรงเล่าในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ


หนังสือพระราชบันทึกทรงเล่า

     หนังสือพระราชบันทึกทรงเล่าในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ นั้นเป็นบทความหนึ่งในหนังสือ "เบื้องแรกประชาธิปตัย: บันทึกความทรงจำของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์สมัย พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๕๐๐ " คณะกรรมการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๖ (สมเด็จฯพระชนม์ ๖๙ พรรษา )เพื่อขอพระราชทานทรงเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น  ต่อมา สถาบันพระปกเกล้าได้นำมาจัดพิมพ์ใหม่ เมื่อตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ เพื่อสร้างความเข้าใจต่อประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม พ.ศ. ๒๔๗๕ ในอีกแง่มุมหนึ่ง


                    "ความจริงเรื่องปฏิวัตินี่นะ ในหลวงท่านทรงเดาไว้นานแล้วว่าจะมีปฏิวัติ...โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันฉลองพระนคร ในหลวงท่านรับสั่งว่า วันนั้นน่ะไม่มีหรอกเพราะมีคนรู้กันมาก ถ้าจะระวัง ก็ต้องหลังจากวันงานผ่านไปเสียก่อน"
 (วันงานคือ วันฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๗๕)

       ส่วนแรกของบทความบอกเล่าเรื่องการพระราชทานสัมภาษณ์  โดยเริ่มจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.๒๔๗๕ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศในยุโรปและการเสด็จไปประเทศอังกฤษเพื่อการรักษาพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. ๒๔๗๖ เหตุการณ์สละราชสมบัติ ณ พระตำหนักโนล พ.ศ. ๒๔๗๗ เหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่๒ และการเสด็จสวรรคตของพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗   พ.ศ. ๒๔๘๔  ณ ประเทศอังกฤษ และการเสด็จนิวัติสู่ประเทศไทยของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ พ.ศ. ๒๔๙๒ รวมทั้งมีการรวบรวมเอกสารอธิบายที่มาที่ไปของพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ  ซึ่งนำความโทมนัสมาสู่พสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างยิ่งในขณะนั้น

     ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยคณะผู้ก่อการ  เพื่อให้ประเทศสยามได้มาซึ่งประชาธิปไตยเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ ๒๔ มิถุนายน  ๒๔๗๕  นั้น ได้มีผู้เขียนถึงบทบาทและการวางแผนปฏิบัติงานกันแล้วในหลายแง่ หลายมุมด้วยกัน  สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯทรงพระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะกรรมการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยเข้าเฝ้าฯ  เพื่อขอทราบเหตุการณ์ดังกล่าว ณ พระตำหนักวังศุโขทัย
      "เช้าวันนั้น รู้เรื่องกันที่สนามกอล์ฟนั่นแหละ"  สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯทรงเล่า  "พอเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว  พระยาอิศราฯ เป็นคนไปกราบบังคมทูลให้ในหลวงทรงทราบ  ในหลวงก็รับสั่งว่า  ไม่เป็นไรหรอก  เล่นกันต่อไปเถอะ  แต่ฉันกลับก่อนแล้ว  จึงไม่ทราบเรื่องจนเสด็จกลับมาก็รับสั่งกับฉันว่า "ว่าแล้วไหมล่ะ"  ฉันทูลถามว่า "อะไรใครว่าอะไรที่ไหนกัน"  จึงรับสั่งให้ทราบว่ามีเรื่องยุ่งยาก  ทางกรุงเทพฯยึดอำนาจและจับเจ้านายบางพระองค์  ระหว่างนั้นทราบข่าวกระท่อนกระแท่นทางวิทยุ  แต่ก็ไม่แน่ใจว่าอะไรเป็นอะไร มีเจ้านายอยู่กันหลายองค์ที่หัวหิน เช่น กรมสิงห์ (เสนาบดีกระทรวงกลาโหม)


           "ต่อมา ในหลวงก็ทรงได้รับโทรเลขมีความว่า  ทางกรุงเทพฯได้ส่งเรือรบมาทูลเชิญเสด็จกลับ  ในหลวงก็รับสั่งว่า  มาก็มาซิ  หลังจากนั้นเป็นเวลาประมาณเที่ยงเศษ  หลวงศุภชลาศัย  ก็มาถึง  พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (สมุหราชองครักษ์) สั่งให้ปลดอาวุธเสียก่อนถึงจะให้เข้าเฝ้าฯ  ทางวังไกลกังวลน่ะก็เตรียมพร้อมอยู่เหมือนกัน  ทหารรักษาวัง  กองร้อยพิเศษไปตั้งปืนที่หน้าเขื่อน  เสร็จแล้วหลวงศุภฯก็ขึ้นมาข้างบน  มาอ่านรายงานอะไรต่ออะไรก็จำไม่ได้แล้ว  แต่มีความสำคัญว่า ทูลเชิญเสด็จกลับโดยเรือหลวงสุโขทัย  ในหลวงท่านรับสั่งว่า ไม่กลับหรอกเรือสุโขทัย  พวกนั้นจึงกลับไป  ระหว่างนั้นเราก็ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร  บางคนก็กราบทูลว่าให้เสด็จออกไปข้างนอกเสียก่อนแล้วค่อยต่อรองกันทางนี้  ท่านรับสั่งว่า  "ไม่ได้  ไม่อยากให้มีการรบพุ่งกัน  เพราะจะเสียเลือดเนื้อประชาชนเปล่าๆ  เจ้านายหลายองค์ก็ถูกจับเป็นประกันอยู่  เพราะฉะนั้นจะยังไม่ทำอะไร  แต่ก็รับสั่งว่า จะต้องมาปรึกษาฉันก่อนว่าจะไปหรือจะอยู่เพราะฉันต้องไปกับท่าน"  สมเด็จทรงเล่า
      "เมื่อฉันได้รู้เรื่องจากในหลวง  ฉันก็บอกว่า  ไม่ไปหรอกยังไงก็ไม่ไป  ตายก็ตายอยู่แถวนี้  ท่านรับสั่งว่า  ตกลงว่าจะกลับในตอนนั้น  ฉันจำได้ว่าเป็นเวลาเย็นแล้ว  กรมพระกำแพงฯซึ่งหนีจากกรุงเทพฯไปได้อย่างไรไม่รู้ ได้ขอเข้าเฝ้าฯ ท่านบอกว่า  ไม่มีประโยชน์หรอกเขาเข้ากันได้หมดแล้ว  ทุกคนจึงได้แต่ฟังเอาไว้เฉยๆ  แต่ตกลงว่าจะเดินทางกลับโดยรถไฟ"
     "ฉันมาถึงที่สถานีสวนจิตลดาเมื่อประมาณสัก ๗ทุ่มเห็นจะได้ (ตี ๑) แหมเงียบจริงๆ  พอในหลวงเสด็จพระราชดำเนินจากรถไฟ มีราษฎรคนหนึ่งอยู่ที่สถานี กราบถวายบังคมแล้วก็ร้องไห้  ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นใคร อายุประมาณ ๓๐ กว่าเห็นจะได้  ในหลวงไม่ได้รับสั่งอะไร เราก็กลับมากันที่วังนี่ (วังศุโขไทย)
ตลอดทางเงียบแล้วก็เศร้า เราผ่านพระที่นั่งอนันตสมาคมก็ไม่มีอะไร  มาทราบเอาทีหลังว่า บนพระที่นั่งอนันตฯเขาตั้งปืนไว้เต็มหมดเพราะรู้ว่าเราจะมาทางนั้น"
     "จนวันรุ่งขึ้นตอนเย็น  ฉันจำไม่ได้แน่ว่ามีใครบ้าง  ก็มาเข้าเฝ้าฯขอพระราชทานอภัยโทษ เวลาที่เขามากัน ก็มีรถถังมาสัก ๔-๕ คันเห็นจะได้จอดอยู่หน้าวัง"
     ในการเข้าเฝ้าฯครั้งนี้ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะปฎิวัติได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษในการที่ได้ล่วงละเมิดทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน
      พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงต่อว่าต่อขานคณะราษฎรในเรื่องคำประกาศเมื่วันปฎิวัติด้วยถ้อยคำรุนแรง  ซึ่งเป็นการกระทบกระเทือนต่อพระองค์และพระบรมราชวงศ์จักรี คณะราษฎรก็ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานขมาโทษ
      วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองและรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวซึ่งได้ประกาศใช้นับแต่วันที่ลงพระนาม
       ต่อมาเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๗๕ เวลาบ่าย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯออก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯถวายดอกไม้ธูปเทียนขอพระราชทานขมาโทษ....


(สามารถศึกษารายละเอียดได้จาก หนังสือพระราชบันทึกทรงเล่าในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ และชมสำเนาคำกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษ พร้อมทั้งสำเนาพระราชกระแสและพระราชดำรัสตอบ และพัฒนาการทางการเมืองการปกครองของไทยได้ที่ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ทุกวัน ตั้งแต่ ๐๙.๐๐ น.-๑๖.๐๐ น. ยกเว้นวันจันทร์)






    













ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั