ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ตายเสียดีกว่าเสียเกียรติศักดิ์ : สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ในเหตุการณ์วิกฤตทางการเมือง

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ
   
(จากบทนิทรรศการถาวรสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ : พิพิธภัณฑ์รัชกาลที่ 7)


          “เช้าวันนั้น รู้เรื่องกันที่สนามกอล์ฟนั่นแหละ... พอเกิดเหตุการณ์แล้ว พระยาอิศราฯเป็นคนไปกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ ก็รับสั่งว่า ไม่เป็นไรหรอก เล่นกันต่อไปเถอะ แต่ฉันกลับก่อน แล้วจึงไม่ทราบเรื่องจนเสด็จกลับมา ก็รับสั่งกับฉันว่า ‘ว่าแล้วไหมล่ะ’ ฉันทูลถามว่า ‘อะไร ใครว่าอะไรที่ไหนกัน’ จึงรับสั่งให้ทราบว่า มีเรื่องยุ่งยากทางกรุงเทพฯ ยึดอำนาจและจับเจ้านายบางพระองค์”

          สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ พระราชทานสัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวไว้ดังนี้ เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๕ เกี่ยวกับเหตุการณ์ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๔๐ปี ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ขณะนั้นล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์เสด็จฯ ไปประทับแรมอยู่ที่ ‘สวนไกลกังวล’ หัวหิน


ภาพฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 7 ทรงถ่ายสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีที่วังไกลกังวล
         พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชหัตถเลขาทรงเล่าเหตุการณ์ดังกล่าวพระราช ทานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ พระราชนัดดา ซึ่งประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ ทรงบรรยายโดยยึดพระราชหัตถเลขาเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นหลักไว้ในหนังสือ เจ้าชีวิต ว่า



         “บัดนี้มีทางที่พระเจ้าอยู่หัวจะทรงเลือกได้อยู่ ๓ ทาง ทาง ๑ ก็คือ เสด็จหลบหนีไปต่างประเทศเสีย ทางที่ ๒ คือเสด็จกลับกรุงเทพฯ ยินยอมรับคำเชื้อเชิญของคณะราษฎรให้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปภายในระบอบรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อได้ทรงอ่านใบปลิวฉบับที่ ๒อันที่ถ้อยคำรุนแรงน่ากลัว ก็ทรงคิดตรึกตรองอยู่มาก หรือทางที่ ๓ ก็คือรวบรวมกำลังทหารหัวเมืองซึ่งมิได้เข้ากับคณะราษฎรยกทัพเข้าไปกรุงเทพฯ และทหารบางหน่วยในกรุงเทพฯ ที่ยังอึกอักไม่แน่ใจอยู่ก็อาจจะสวามิภักดิ์ได้ พระบิดาของสมเด็จพระบรมราชินีฯ คือสมเด็จกรมพระสวัสดิ์ ฯ ทรงเฝ้าแนะนำอยู่เรื่อยให้เสด็จกลับกรุงเทพฯ เพราะการที่จะยกทัพไปกรุงเทพฯ ก็คือจะทำให้มีการนองเลือดระหว่างคนไทยด้วยกัน ทั้งพระบรมวงศ์ซึ่งถูกจับไปเป็นประกันก็อาจจะถูกประหารทั้งหมด ต่อมาภายหลังพระเจ้าอยู่หัวทรงเขียนมายังผู้เขียนว่า ‘ฉันจะนั่งอยู่บนบัลลังก์อันเปื้อนไปด้วยโลหิตไม่ได้’ ที่จริงพระปกเกล้าฯใคร่จะเสด็จกลับกรุงเทพฯ แต่ใบปลิวอันรุนแรงทำให้อึกอักพระทัยอยู่บ้าง ทรงเขียนต่อไปอีกว่า ‘ฉันเลยนึกว่าจะให้พวกผู้หญิงเป็นเหมือนเหรียญเงินที่ใช้โยนเสี่ยงทาย ฉันจึงลองถามดูทั้งสมเด็จ (พระบรมราชินี) และแม่ของสมเด็จ (พระองค์เจ้าหญิงอาภาพรรณี) บอกว่าเราต้องกลับกรุงเทพฯให้ได้ ฉันต้องยอมรับว่าทั้งสมเด็จและหญิงอาภาควรจะได้รับเกียรติศักดิ์อย่างสูงที่แสดงความกล้าหาญอย่างยิ่งเช่นนั้น เพราะเราทุก ๆ คนทราบดีว่าถึงเรายอมกลับกรุงเทพฯต่อไปเขาจะฆ่าเราเสียก็ได้ ผู้หญิงสองคนนั้นเขากล้ายอมตายเสียดีกว่าที่จะเสียเกียรติศักดิ์ เมื่อเขาตกลงเช่นนั้น ฉันก็เห็นด้วยทันที’ ”
พระองค์เจ้าหญิงอาภาพรรณี กับสมเด็จฯกรมพระสวัสดิ์ฯ

          ส่วนสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ รับสั่งเล่าพระราชทานผู้สื่อข่าวเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ “รับสั่งว่าจะต้องมาปรึกษาฉันก่อนว่าจะไปหรือจะอยู่ เพราะฉันต้องไปกับท่านเมื่อฉันได้รู้เรื่องราวฉันก็บอกว่า ‘ไม่ไปหรอก ยังไงก็ไม่ไป ตายก็ตายอยู่แถวนี้’ พระเจ้าอยู่หัวจึงรับสั่งว่า ‘ตกลงว่าจะกลับ’ ”

          จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ซึ่งในขณะนั้นทรงมีพระชนมายุเพียง ๒๘ ชันษา มิได้ทรงเป็นสตรีผู้เป็นที่เลื่องลือในพระศิริโฉมเท่านั้น หากแต่ทรงสำนึกในความเป็นขัตติยกัญญาหรือหญิงที่เกิดในตระกูลกษัตริย์อย่างมั่นคง จึงทรง “กล้าเสียสละพลีชีพรักษาศักดิ์ศรีของราชสกุลในคราวที่จำเป็นต้องเสียสละ” ทรงตัดสินพระราชหฤทัยสอดคล้องกับพระราชประสงค์เบื้องลึกแห่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพร้อมที่จะเสด็จพระราชดำเนินสู่ภยันตรายคู่กับพระราชสวามี

“อันคนไทยดาษดื่นนับหมื่นแสน

ไม่เหมือนแม้นผู้อุทิศชีวิตถวาย

แม้นรู้ตัวล่วงหน้าว่าอาจตาย

ก็มุ่งหมายกล้าเดินเผชิญมัน

เช่นพระนางเจ้ารำไพพรรณี

ถึงชีวีล่วงลับดับเบญจขันธ์

แต่คุณค่าอุกเอกเอนกอนันต์

คนกล่าวขวัญแซ่ซ้องก้องโลกา”

          เหตุการณ์บ้านเมืองยังได้นำพาให้ต้องทรงเสี่ยงพระชนมชีพอีกครั้งหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้ว คือ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๗๖ พลเอกพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชและพวกซึ่งไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์และการดำเนินงานของคณะราษฎร ได้คบคิดกันนำทหารจากภาคกลางและภาคอีสานมุ่งหน้าไปยังกรุงเทพฯ เพื่อโค่นล้มรัฐบาลของพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา

         พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งขณะนั้นประทับอยู่ที่สวนไกลกังวล หัวหิน ทรงวางพระองค์เป็นกลางและจึงตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จพระราชดำเนินโดยทางทะเลอย่างปัจจุบันทันด่วนมุ่งไปทางใต้เพื่อให้ไกลจากทั้งสองฝ่าย และไม่ทรงเสี่ยงต่อการตกเป็น “องค์ประกัน” เรือพระที่นั่งที่ทรงใช้ในช่วงที่ลมมรสุมภาคใต้เพิ่งจะสร่างซานั้น คือ เรือพระที่นั่ง “ศรวรุณ” ซึ่งเป็นเรือเร็วขนาดเล็ก ปรากฏว่าคลื่นลมแรงมาก สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ รับสั่งว่า

          “พวกที่อยู่ในเรือตกกลางคืนก็ไม่ได้นอนกันหรอก นั่งดูกันจนกระทั่งเกือบสว่าง เรือเกือบถึงชุมพรแล้ว เกิดน้ำมันในเรือหมดก็ตัดสินใจเข้าฝั่ง อาหารก็ไม่มีด้วยเหมือนกัน ส่งคนขึ้นไป ๓ คน ... ให้ไปหาพระราชญาติรักษา เป็นเจ้าเมืองชุมพรอยู่ ให้ไปขอน้ำมัน พวกที่ไปหาอาหารกลับมามีอาหารปิ่นโตเดียวก็แบ่งกันคนละเล็กคนละน้อย คอยจนกระทั่งพระราชญาติฯ เอาน้ำมันมาให้ ก็จัดแจงเติม แล้วก็ออกเดินทางต่อไปอีก”

          ต่อมา มีเรือขนส่งสินค้าของบริษัทอีสต์เอเชียติคผ่านมาและอาสาจะรับเสด็จฯไปสิงคโปร์ แต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงขอให้ลากจูงเรือพระที่นั่งไปส่งคณะของพระองค์ที่สงขลา ประทับที่พระตำหนักเขาน้อยของสมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมหลวงลพบุรีราเมศร์ เป็นเวลา ๒ เดือน จนเหตุการณ์สงบดีแล้วจึงเสด็จฯคืนสู่พระนคร

           เกี่ยวกับเหตุการณ์อันเป็นการเสี่ยงต่อภยันตรายนานาประการครั้งนี้ สมเด็จฯ รับสั่งต่อผู้กราบบังคมทูลถามว่า “ฉันไม่ได้คิด ไม่รู้สึกอะไรทั้งนั้น ถ้าจะตายก็ตายด้วยกัน” เท่ากับว่าขัตติยะนารีพระองค์นี้ทรงพร้อมที่จะสละพระชนม์ชีพมากกว่าที่เสียเกียรติศักดิ์




วังไกลกังวล หัวหิน

ความคิดเห็น

  1. สุดท้ายสิ่งที่คณะราษฐ์ทำไว้. ยังเทียบไม่ได้กับสิ่งที่ราชาทำไว้แผ่นดิน

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...