ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ขณะประทับที่ประเทศอังกฤษระหว่าง พ.ศ. 2477-2492


สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ราชนารี 5 แผ่นดิน

 






หม่อมราชวงศ์ พฤทธิสาณ ชุมพล
เรียบเรียง


ความนำ


          พระราชประวัติส่วนนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวของพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ด้วยเหตุที่ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติจากพระตำหนักโนล (Knowle) หมู่บ้านแครนลี (Cranleigh) ประเทศอังกฤษมายังรัฐบาลไทย เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗ หลังจากนั้น ทั้งสองพระองค์ได้ประทับอยู่ในประเทศอังกฤษสืบไปโดยได้รับอนุญาตจากรัฐบาลอังกฤษ ทรงใช้พระนามและพระราชอิสริยยศเดิมคือ สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา หรือ the Prince of Sukhodaya ครั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จสู่สวรรคาลัย เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ณ ประเทศอังกฤษนั้นเอง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้ประทับอยู่ ณ ประเทศนั้นต่อมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๒ จึงได้เสด็จพระราชดำเนินอัญเชิญพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนิวัติประเทศไทย ถึงกรุงเทพฯเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๒

        

          พระราชประวัติส่วนนี้จึงมีทั้งส่วนที่สมเด็จฯทรงถวายงานปฏิบัติวัฏฐากสมเด็จพระบรมราชสวามีด้วยความจงรักภักดียิ่งและส่วนที่ทรงเป็น ‘หญิงหม้าย’ ในต่างแดนท่ามกลางภยันตรายแห่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่สองวาระแห่งพระราชชีวประวัตินี้ถือได้ว่ามีความต่อเนื่องกันตรงที่มีประเทศอังกฤษเป็นฉากของเรื่องราว และมีนัยสำคัญ เพราะแสดงให้เห็นถึงการที่ทั้งสองพระองค์ได้ทรงปรับพระองค์ให้เหมาะสมแก่พระราชสถานะที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยทรงห่างจากพระราชบังลังก์มากขึ้นทุกขณะ ทรงย้ายที่ประทับไปตามระยะห่างนี้และความจำเป็นของสถานการณ์สงคราม พระตำหนักต่างๆในประเทศอังกฤษจึงนับว่าเป็นฉากที่สะท้อนให้เห็นถึงพระราชชีวประวัติและพระราชกรณียกิจได้เป็นอย่างดี พระราชประวัติส่วนนี้จึงดำเนินเรื่องตามพระตำหนักและสถานที่ประทับเป็นพื้น อนึ่ง เท่าที่ผ่านมาพระราชประวัติส่วนนี้เป็นส่วนที่ประชาชนคนไทยมีโอกาสรับทราบน้อยที่สุด






พระราชกรณียกิจ ณ พระตำหนักโนล

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีได้เสด็จพระราชดำเนินประพาสประเทศต่างๆ ในยุโรปตามกำหนดการที่ทรงวางไว้เรียบร้อยแล้วเมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๗ ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปที่ประเทศอังกฤษ และไม่นานหลังจากนั้นได้เข้าประทับพร้อมด้วยข้าราชบริพารในกระบวนการเสด็จฯที่พระตำหนักโนล (Knowle) หรือที่ทรงไว้ในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติว่า ‘บ้านโนล’ ตำบลแครนลี (Cranleigh) จังหวัดเชอร์เร่ย์ (Surrey) ใกล้เมืองกิลด์เฟิร์ด (Guildford) ห่างจากกรุงลอนดอนไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ๓๕ ไมล์ ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ในพระตำหนักดังกล่าวต่อไปอีกระยะหนึ่ง จึงได้ทรงย้ายที่ประทับ
          พระตำหนักแห่งนี้ทรงเช่า จากลอร์ดและเลดี้แสกวิลล์ (Lord and Lady Sackville) และประทับตั้งแต่ประมาณปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๗ หลังจากที่เสด็จฯประพาสยุโรปเสร็จสิ้น เป็นคฤหาสน์ที่มีห้องถึง ๓๕๐ ห้อง และมีสวนเป็นบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบบาโร้ค (Baroque) มีปล่องไฟสูงต่ำจำนวนมาก หน้าต่างทรงสูงแบบฝรั่งเศส และหน้าจั่วรูปทรงชดช้อยแทนที่จะเป็นรูปสามเหลี่ยม บริเวณโดยรอบกว้างขวางพร้อมพฤกษานานาพันธ์ จึงสอดคล้องกับพระราชอัธยาศัยของทั้งสองพระองค์ และที่สำคัญเหมาะที่จะเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และข้าราชบริพารในกระบวนเสด็จ
          ระหว่างที่ประทับอยู่ที่พระตำหนักโนลนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเจรจากับคณะผู้แทนของรัฐบาลที่ได้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษเกี่ยวกับข้อขัดข้องเห็นไม่ตรงกันระหว่างพระองค์กับรัฐบาลเกี่ยวกับความถูกต้องของการดำเนินการตามระบอบรัฐธรรมนูญ คณะผู้แทนนี้ประกอบด้วยเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ นาวาตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. และนายดิเรก ชัยนาม ในการนี้ได้ทรงมีพระราชบันทึกในหลายประเด็น มีการสนองพระราชบันทึก และพระราชกระแสทรงไขความแก้คำสนองเป็นการต่อเนื่องมา โดยรัฐบาลได้สนองตามพระราชบันทึกเป็นบางข้อ แต่ท้ายที่สุด ทรงพระราชวินิจฉัยว่าสิ่งที่รัฐบาลไม่อาจจะสนองพระราชกระแสได้เป็นหลักการสำคัญแห่งการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญตามที่ทรงเข้าพระราชหฤทัย เช่น รัฐบาลไม่ให้โอกาสผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำความผิดทางการเมืองต่อสู้คดีในศาล และได้แต่งตั้งบุคคลที่เป็นพวกรัฐบาลเกือบทั้งนั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๒ โดยไม่ได้คำนึงถึงความชำนาญ หรือขอพระราชทานคำแนะนำ เป็นต้น จึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ โดยได้พระราชทานพระราชหัตถเลขา ลงวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๗ มายังรัฐบาล ความสำคัญว่า

           “ข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐบาลและพวกพ้องใช้หลักการการปกครองที่ไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ยินยอมที่จะให้ผู้ใดคณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามข้าพเจ้าต่อไปได้” และ “บัดนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้เป็นหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือให้ความความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ”

          ความในพระราชหัตถเลขานี้แสดงถึงพระราชประสงค์จำนงหมายที่จะให้ประเทศมีการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย อีกทั้งพระราชหฤทัยสำนึกตระหนักในพระราชธรรมจรรยาของพระมหากษัตริย์สยามที่จะต้องปกป้องคุ้มครองประชาชน แต่บัดนั้นพระองค์เองไม่อาจทำได้สำเร็จ เพราะเมื่อมีรัฐธรรมนูญแล้วอำนาจการปกครองมิได้อยู่ในพระหัตถ์อีกต่อไป
          ในการทรงปลีกพระองค์ออกจากราชบัลลังก์ ได้ทรงตอกย้ำหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามที่ทรงเข้าพระราชหฤทัยและทรงยึดถือ ให้ทรงความหมายต่อไปแม้เมื่อไม่พระองค์แล้ว กับได้ทรงอำนวยให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่สืบต่อมาในฐานะสถาบันพระประมุข
          สำหรับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนั้นเคยรับสั่งเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนี้กับหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ว่า พระองค์ทรงเห็นพ้องต้องกันกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในการตัดสินพระราชหฤทัยสละราชสมบัติ จะเห็นได้ว่าทรงพร้อมที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสมเด็จพระบรมราชสวามีเช่นเคยแม้จะทรงมีพระราชสถานะเปลี่ยนไปก็ตาม
          หลังจากนั้นประมาณ ๑๐ วัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้ทรงมีพระราชโทรเลขตอบหนังสือกราบบังคมทูลฯของรัฐบาลเรื่องสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับทราบเรื่องการทรงสละราชสมบัติ ความว่า

           “..ข้าพเจ้าและพระชายาขอขอบใจรัฐบาลที่แสดงความหวังดีมา ข้าพเจ้ามีความเสียใจที่ข้าพเจ้าและรัฐบาลไม่สามารถที่จะตกลงกันได้ในปัญหาต่างๆ ซึ่งเรามีความเห็นแตกต่างกัน ข้าพเจ้าขอให้รัฐบาลมั่นใจว่า ข้าพเจ้ามิได้มีความโกรธขึ้งหรือแค้นเคือง เนื่องด้วยเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นเลย และขอให้คณะรัฐบาลจงบรรลุความสำเร็จทุกประการ...” 

          เมื่อทรงสละราชสมบัติแล้ว ข้าราชบริพารที่เป็นข้าราชการก็ได้รับคำสั่งให้กลับเมืองไทยเพราะหมดหน้าที่แล้ว เหลือแต่พระญาติและข้าราชบริพารในพระองค์ไม่กี่คน คอยรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทได้แก่ หม่อมเจ้าศุภสวัสดิวงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ พระเชษฐาสมเด็จฯ และหม่อมเสมอ สวัสดิวัตน์ เสวกโท หลวงศักดิ์นายเวร (แจ่ม เงินยอง) ข้าหลวงเดิม นางศักดิ์ นายเวร (เชย เงินยอง) ข้าหลวงสมเด็จฯ นายบวย นิลวงศ์ มหาดเล็ก และนางสำเภา นิลวงศ์ แม่ครัวเครื่องไทย เป็นต้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะประทับอยู่ต่อไปในสถานที่ซึ่งใหญ่โตหรูหราขนาดนั้น ประกอบกับพระตำหนักโนลเป็นตึกที่มีลักษณะทึบ ไม่ค่อยเหมาะกับพระอนามัย อีกทั้งค่าเช่าค่อนข้างสูง ทรงจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลง ดังนั้น เมื่อจะประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษต่อไป ไม่มีกำหนด จึงทรงเสาะแสวงหาที่ประทับที่อื่นแทน

(สำหรับพระราชกรณียกิจหลังทรงสละราชสมบัติในพระตำหนักโนลนี้ ยังไม่พบหลักฐาน ณ ที่ใด ทั้งในเอกสารและคำบอกเล่า )

พระราชกรณียกิจ ณ พระตำหนักเกล็นแพมเมิ่นต์

           พระตำหนักที่ทรงซื้อเป็นที่ประทับแห่งใหม่ ตั้งอยู่ใน ตำบลเวอร์จิเนีย วอเตอร์ (Virginia Water) ทางเหนือของจังหวัดเซอร์เร่ย์เช่นกันแต่ใกล้เมืองสเตนส์ (Staines) ซึ่งอยู่ในจังหวัดมิลเดิลเซกซ์ (Middlesex) องค์พระตำหนักมีขนาดย่อมลง แต่ก็ยังใหญ่โตและมีเนื้อที่กว้าง ด้วยทรงพระราชดำริว่า ยังต้องทรงดำรงพระเกียรติยศในฐานะอดีตพระมหากษัตริย์แห่งสยามต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง แต่ก็ได้ทรงอนุโลมตามประเพณีท้องถิ่นแถบนั้นซึ่งมักตั้งชื่อบ้านโดยมีคำว่า Glen นำหน้า ตามลักษณะภูมิประเทศ โดย Glen หมายถึงหุบเขา จึงพระราชทานนามพระตำหนักนี้ว่าเกล็นแพ็มเมิ่นต์ (Glen Pammant) ซึ่งทรงกลับตัวอักษรมาจากวลีที่ว่า ‘ตามเพลงมัน’ ซึ่งสะกดเป็นภาษาอังกฤษว่า Tam Pleng man อันหมายถึงว่า ‘แล้วแต่อะไรจะเกิดขึ้น’ หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงชุบเลี้ยงมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์และทรงเป็นหนึ่งในข้าราชบริพารในกระบวนเสด็จทรงเล่าว่า การที่ไม่ทรงใช้นามอย่างดีหรู เช่น ไม่มีกังวล ภาษาฝรั่งเศสว่า ซองส์ซูซีส์ (Sans Soucis) อย่างวังไกลกังวล นั้น รับสั่งว่า “พอเกิดเรื่องขึ้นมา เดี๋ยวก็ถูกยึด..”
           หม่อมราชวงศ์ปิ่มสาย อมระนันท์ พระภาติยะ (หลานอา) ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ไปอยู่ที่เวอร์จิเนียวอเตอร์กับหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ท่านพ่อซึ่งทรงทำหน้าที่ราชเลขานุการส่วนพระองค์อยู่ในขณะนั้น บรรยายภาพพระตำหนักและบริเวณโดยรวมไว้อย่างละเอียดละออว่า
          “ประตูรั้วเหล็กดัดด้านหน้าของพระตำหนักอยู่ที่ตีนเนินเขา มีถนนโรยกรวดคดเคี้ยวขึ้นเนินไป ผ่านต้นอเซเลีย (azalea) นับร้อยต้นทางด้านซ้ายและต้นโรโดเดนดรอน (rhododendron) ดอกม่วงใหญ่ทางด้านขวา หลังต้นอเซเลียมีต้นสนยูว์ (yew trees) มหึมา ทำให้ไม่อาจแลเห็นองค์พระตำหนักหรือสนามหญ้าจนกว่าจะเลี้ยวโค้งสุดท้าย ด้านขวาของบริเวณที่จอดรถหน้าพระตำหนักมีสวนหินขนาดใหญ่สวยงามครบถ้วนด้วยสระน้อยใหญ่และน้ำตกถนนเลี้ยวคดอ้อมพระตำหนักไปยังที่โรงจอดรถขนาด ๗ คันด้านหลัง และมีที่ให้คนขับรถ หัวหน้าคนรับใช้ชายหนึ่งคนกับลูกน้อง ๒ คน ได้พักอาศัย อีกทั้งมีกระท่อมหลังหนึ่งสำหรับหัวหน้าคนสวนด้วย พระตำหนักเป็นแบบวิคตอเรียน (Victorian) มี ๓ ชั้น และห้องหับจำนวนมาก เช่น ห้องโถง ห้องสมุด ห้องรับแขก ห้องอาหาร และห้องนั่งเล่น… ห้องเหล่านี้เต็มไปด้วยเครื่องเรือนแบบอังกฤษ แต่ก็มีสิ่งของต่าง ๆ ของไทยอยู่ประปราย เช่น พระแสงประดับเพชรพลอย หีบพระโอสถมวนถมทองและฉากสีแดงภาพตัวละครไทย ๒ ตัว” (เข้าใจว่าเป็นนางรจนากับเจ้าเงาะ ซึ่งภายหลังตั้งอยู่ที่ทางไปห้องพระบรรทมที่พระตำหนักใหญ่ วังศุโขทัย-ผู้เขียน)

          กว่า ม.ร.ว.ปิ่มสาย และ ม.ร.ว.สมานสนิท น้องสาว ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเด็ก จะได้เฝ้า ก็ต้องเดินไปตามห้องต่างๆ และชื่นชมในความงดงามไปด้วย จนกระทั่งได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในห้องทรงพระสำราญซึ่งมีไฟจุดอยู่ในเตาผิง ในห้องมีม่านหนาสีน้ำเงินแขวนอยู่ ซึ่งใช้กั้นส่วนที่ย่อมกว่าของห้องให้เป็นเวทีการแสดงได้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประทับยืนอยู่เคียงกับม่านผืนใหญ่นี้ ทำให้พระวรกายยิ่งดูเล็ก ซูบ แต่กระนั้นก็ยืดตรงสง่าผ่าเผย พระโอษฐ์แย้ม แต่พระเนตรมีแววเศร้า พระมัสสุ (หนวด) หนา พระขนง (คิ้ว) เข้ม ทรงฉลองพระองค์สูทสักหลาดแบบทวีด (Tweed suit แบบคหบดีชาวชนบทอังกฤษ-ผู้เขียน) แม้พระชนมพรรษาเพียง ๔๓ พรรษา แต่เราเด็ก ๆ คิดว่าทรงพระชรามาก แม้ว่า เส้นพระเจ้า (เส้นผม) จะยังคงเป็นสีดำอยู่…”

           ในส่วนของสวนนั้นกว้างใหญ่มาก จากองค์พระตำหนักเป็นเนินลาดลงไปยังสนามหญ้าใหญ่ ที่ปลายสุดมีสนามเทนนิสแบบแข็ง และจากนั้นเป็นสวนกุหลาบอันเป็นระเบียบ ส่วนทางด้านซ้ายมีทางเดินไปสู่บังกะโลไม้หลังหนึ่ง ทางด้านขวาของสนามหญ้า มีสวนผักกำแพงล้อมรอบและเรือนกระจกหลายหลังซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นผลไม้ต่างๆ หลากชนิด อีกทั้งดอกไม้สำหรับตัดปักแจกันตกแต่งพระตำหนัก แสดงว่าทรงถือหลัก ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ตามสมควร ส่วนด้านหลังพระตำหนักเป็นสวนสนและป่าละเมาะเป็นทางระหว่างเนิน ปกคลุมไปด้วยดอกไม้คลุมดินต่าง ๆ เช่น บลูเบลล์ (bluebell) แดฟโฟดิล (daffodil) และพริมโรส (primrose) ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แลดูเป็นสีครามสีเหลืองพริ้วอยู่ในสายลม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โปรดที่จะเสด็จลงมาทรงพระดำเนินกับสุนัขซึ่งทรงเลี้ยงไว้ในช่วงบ่าย ๆ

           สำหรับพระราชานุกิจนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสวยพระกระยาหารเช้าในห้องพระบรรทม โดยมหาดเล็กคนไทยเชิญเครื่องไปตั้งถวายเช่นเดียวกับที่เคยทรงปฏิบัติในประเทศไทย ส่วนสมเด็จฯ เสวยในห้องแต่งพระองค์ ซึ่ง ม.ร.ว.ปิ่มสาย เล่าว่า “สวยน่ารัก สมกับที่เป็นของสุภาพสตรี ทั้งยังอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมเย็น ๆ ของดอกสวีทพี (sweet peas)” พืชตระกูลถั่วที่ปลูกไว้ตัดดอกสีอ่อน ๆ ต่าง ๆ มาปักแจกัน แต่ที่เด็กๆ ติดใจมาก คือ “ตู้กระจกหลายใบที่เต็มไปด้วยตัวสัตว์และรูปปั้นเล็กๆ ตรึงตา และน่าจับต้องยิ่งนัก” ส่วนพระญาติจะเสวยและรับประทานอาหารเช้าตอนสองโมงเช้าที่ห้องเสวยอาหารที่จัดไว้ให้เป็นแบบบุฟเฟ่ต์ (buffet) ให้ตักเอง เป็นอาหารเช้าแบบอังกฤษ บางครั้งเสด็จลงมาเสวยด้วย สำหรับอาหารกลางวันตอนบ่ายโมงและอาหารค่ำตอนสองทุ่มนั้น ก็เป็นอาหารฝรั่งเช่นกัน เริ่มด้วยซุป ตามด้วยปลา แล้วก็เนื้อ จบด้วยของหวาน ขนม ผลไม้ โดยทุกคนต้องเข้านั่งโต๊ะเสวยให้เป็นระเบียบและตรงต่อเวลา โดยหัวหน้าบริกร (butler) ตีฆ้องเป็นสัญญาณ และต้องแต่งชุดราตรีอย่างโก้ตอนมื้อค่ำด้วย การที่ต้องทรงจ้างฝรั่งมาเป็นคนรับใช้และคนขับรถและการที่ทุกคนต้องแต่งตัวให้เรียบร้อยตามธรรมเนียมฝรั่ง ตลอดจนรักษามารยาทในการกินการอยู่เช่นนี้ ก็เพื่อดำรงพระเกียรติยศ เพื่อไม่ให้ฝรั่งดูถูกเอาว่าไทยเราไม่รู้จักความเป็น ‘อารยะ’ มีแต่ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งเป็นวันหยุดพักผ่อนของคนรับใช้เท่านั้นที่บางครั้งทรงพระคำนึงถึงพระกระยาหารไทย แต่ก็มิได้โปรดเกล้าฯ ให้ทำในครัวฝรั่งบนพระตำหนัก เพราะจะมีกลิ่นแรงติดอยู่ จึงรับสั่งให้ไปทำกันที่บังกะโล สมเด็จฯ โปรดทรงตำน้ำพริก ส่วนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ นั้น แม้จะไม่ทรงปรุงเอง แต่ทรงทราบว่าอาหารชนิดใดต้องปรุงอย่างไร ผู้ที่ทำถวายเสมอคือ หลวงศักดิ์นายเวร (แจ่ม เงินยอง) มหาดเล็กข้าหลวงเดิมและนางศักดิ์นายเวร (เชย เงินยอง) ข้าหลวงสมเด็จฯ ผู้จงรักภักดีอย่างที่เรียกได้ว่า ‘ถวายชีวิต’
          ในช่วงบ่าย มักจะทรงพระดำเนินเล่นที่ป่าละเมาะ ในช่วงฤดูร้อน สมเด็จฯ ทรงกอล์ฟหรือเทนนิส บางครั้งนายบันนี่ ออสติน (Bunny Austin) นักเทนนิสชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงระดับโลกในเวลานั้น ได้ไปเฝ้าและเล่นคู่กับสมเด็จฯ สิ่งหนึ่งที่ทรงปฏิบัติตามแบบฉบับของคนอังกฤษคือ เสวยพระสุธารสชาในช่วงบ่ายประมาณ ๑๗.๐๐ น. ที่สนามหญ้า ซึ่งบางครั้งเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์ไปเสวยตามร้านธรรมดาทั่วไป เช่น ริมแม่น้ำเทมส์ การได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยงประชาชนเช่นนี้ โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงขับรถพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง และสมเด็จฯทรงอ่านแผนที่ถวาย มีหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธ์ ทรงขับถวายเมื่อทรงเหนื่อย เป็นการที่ได้ทรงผ่อนคลายพระอารมณ์อย่างหนึ่ง
        หลังพระกระยาหารค่ำ จะประทับอยู่กับพระประยูรญาติเหมือนพ่อแม่ในครอบครัวที่อบอุ่น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงพระอักษรซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนังสือประเภทประวัติศาสตร์ ชีวประวัติ ตำราการทำสวน และนวนิยายของซัมเมอร์เชท มอห์ม (Somerset Maugham) อีเวอร์ลิน วอห์ (Evelyn Waugh) หรือแม้แต่แบบขำขันของพี.จี.วูดเฮาส์ (P.G.Wodehouse) ส่วนพระประยูรญาติจะเล่นแผ่นเสียงและคุยกัน ซึ่งดูเหมือนว่าทรงรักษาพระสมาธิในการทรงพระอักษรได้ดี แต่ก็ทรงสามารถรับสั่งแทรกเข้าไปในวงสนทนาได้ ดังที่ ม.ร.ว.ปิ่มสาย เล่าว่า เมื่อเนื้อร้องของเพลง The Very Thought of you ถึงตอนที่ว่า ‘ฉันมีความสุขราวกับพระราชา’ ก็รับสั่งพ้อว่า “ฉันไม่มีความสุขเลยต่างหาก เจ้าโง่” (“I m not happy,you fool”)
            พึงเข้าใจว่า ในช่วงเวลานั้น ประทับอยู่ก็แต่กับพระประยูรญาติและข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดจริงๆ เพราะเป็นช่วงที่ทรงสละราชสมบัติใหม่ๆ คนไทยในอังกฤษยังวางตัวไม่ถูก เช่น หากบังเอิญอยู่ในร้านอาหารเดียวกัน ก็จะไม่เข้าไปเฝ้าฯ หรือแม้แต่ถวายคำนับ เกรงว่าจะมีภัยมาถึงตน หรือครอบครัวในเมืองไทยไม่กล้าถวายความเคารพหรือเข้าไปเฝ้าฯ แต่ก็มีบางคนที่กล้าลุกขึ้นยืนถวายคำนับ ในขณะที่เพื่อนๆ นั่งก้มหน้า ทำเป็นมองไม่เห็น



          ตลอดระยะเวลานี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่ค่อยทรงสบาย ทรงแพ้อากาศหนาวชื้น ดังนั้นในช่วงฤดูหนาวจึงมักจะเสด็จไปยังที่ซึ่งอากาศอุ่นกว่าทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ครั้นเมื่อประทับอยู่ที่เกล็นแพ็มเมิ่นต์ได้ประมาณ ๒ ปี คือ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๘ และ ๒๔๘๐ (ค.ศ.๑๙๓๕-๑๙๓๗) พระอาการประชวรหนักขึ้น ประกอบกับไม่ต้องทรงรักษาพระเกียรติยศมากเท่าเดิมแล้ว จึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยขายพระตำหนัก “ตามเพลงมัน” และซื้อพระตำหนักใหม่ที่มีขนาดเล็กเหมาะแก่การดูแลรักษามากกว่า ที่หมู่บ้านบิ้ดเด็นเด็น (Biddenden) ใกล้เมืองแอชฟอร์ด (Ashford) ในจังหวัด (Kent) ประมาณ ๒๐๐ ไมล์จากกรุงลอนดอนไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่สำคัญมีภูมิอากาศดีกว่าที่เวอร์จิเนีย วอร์เตอร์ เพราะใกล้ทะเลกว่า แต่ความที่ไม่ห่างจากช่องแคบโดเวอร์ (Strait of Dover) มากนักเช่นนี้ กลับกลายเป็นเหตุให้ทรงเดือดร้อนอีก ดังจะได้กล่าวต่อไป

ส่วนพระตำหนักเกล็นแพ็มเมิ่นต์นั้น ปัจจุบันแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน และใช้ชื่อว่า Greywell Court และ Greywell House เป็นบ้านส่วนบุคคล

พระราชกรณียกิจ ณ อีตัน เฮ้าส์

          ด้วยเหตุที่การเดินทางจากบิ้ดเด็นเด็นไปกรุงลอนดอน ไปกลับในวันเดียวกันทำได้ไม่สะดวกรวดเร็วเท่าจากพระตำหนักเดิม จึงทรงเช่าห้องชุด (flat) ชุดหนึ่งไว้ในกรุงลอนดอนที่ อีตัน เฮ้าส์ (Eaton House) เลขที่ ๖๑ ถนนอัพเพ่อร์ โกรฟเวินเน่อร์ (Upper Grosvenor Street) ในย่านเมย์แฟร์ (Mayfair) ใกล้กับสถานทูตสหรัฐอเมริกาและไม่ไกลจากประตูชัยหินอ่อน มาร์เบิ้ล อาร์ช (Marble Arch) สวนสาธารณะไฮด์ปาร์ค (Hyde Park) และถนนอ๊อกซฟอร์ด (Oxford Street) ถนนจับจ่ายซื้อของอันมีชื่อเสียง ทั้งนี้เพื่อจะประทับแรมเมื่อทรงมีพระราชกิจธุระหรือเสด็จทอดพระเนตรภาพยนตร์ ละครเวที หรือภาพเขียนตามหอศิลป หรือทรงจับจ่ายซื้อของเช่นที่ห้างแฮรอดส์ (Harrods) ทรงเช่าห้องชุดนี้ไว้ประมาณ ๒ ปี คือระหว่าง พ.ศ. ๒๔๘๐ ถึงพ.ศ. ๒๔๘๒ จึงทรงเลิกเช่าเพื่อลดพระราชภาระใช้จ่ายเนื่องจากห้องชุดนี้ตั้งอยู่ในย่านสำคัญ ค่าเช่าจึงแพงมาก

พระราชกรณียกิจ ณ พระตำหนักเวนคอร์ต

            นับเป็นความบังเอิญที่หมู่บ้านบิ้ดเด็นเด็น ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีผู้ตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยกวีเอกเชคสเปียร์ (Shakespeare) คือ ต้นคริสศตวรรษที่ ๑๗ นี้ มีสัญญลักษณ์ของหมู่บ้านปรากฏอยู่เป็นรูปหญิงสาวฝาแฝดตัวติดกันที่บั้นเอว (The Bidden Sisters) คล้ายแฝดสยาม (Siamese twins) อินกับจัน
องค์พระตำหนักเวนคอร์ต (Vane Court) ซึ่งเสด็จเข้าประทับเมื่อเดือนกันยายน ๒๔๘๐ เป็นตึกผนังถือปูนสีขาวประกบด้วยท่อนไม้โอ้ค (Oak beamed) ทาสีดำแบบทิวเดอร์ (Tudor) คานค้ำพื้นชั้นบนที่เพดานเป็นท่อนซุงใหญ่ เช่นกัน ความเก่าแก่ทำให้พื้นมีความลาดเอียงถึงขนาดที่สิ่งใดที่อยู่บนพื้นกลิ้งไปถึงอีกห้องหนึ่งได้




          ที่พระตำหนักเวนคอร์ตนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงพระสำราญมาก เสด็จลงสวนทรงรดน้ำพรวนดินสวน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงวางผังปลูกต้นไม้และไม้ดอกด้วยพระองค์เอง ทรงดูแลดอกคาร์เนชั่น (Carnation) ทุก ๆ วัน ในเรือนกระจกที่มีไฟฟ้าทำให้อุณหภูมิพอเหมาะ สมเด็จฯ ทรงตัดมาปักแจกันไว้ตามห้องต่างๆ ในพระตำหนักทุกวัน
        ในสวนมีสะพานหินเล็กๆ ข้ามบ่อน้ำที่ทรงเลี้ยงเป็ดเทศและปลาไว้หลายพันธุ์ “ทรงเพลิดเพลินในการทอดพระเนตรพวกเป็ดน้ำเทศสีสวยงามเหล่านี้ ซึ่งว่ายวนอยู่ระหว่างกอไม้ในบ่อเล็กกลางสวนดอกไม้ บางตัวก็เดินขึ้นไปบนบกเข้าไปในบ้านเล็ก ๆ ที่สร้างไว้บนเนินเขาเตี้ย ๆ ริมบ่อให้เป็นที่พักและฟักไข่ได้”
ที่พระตำหนักนี้ มีสนามเทนนิสเช่นเดียวกับที่พระตำหนักเกล็นแพ็มเมิ่นต์ และถึงเวลานั้นบรรดาคนไทยและนักเรียนไทยในอังกฤษมีความกล้ามากขึ้นที่จะมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตแข่งขันเทนนิสที่สนามส่วนพระองค์ ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นกันเองมากกับนักเรียนไทย และประทับที่พื้นสนามพระตำหนักกับพวกเขาขณะเสวยพระสุธารสชาในช่วงฤดูร้อน แวดล้อมไปด้วยพฤกษานานาพันธุ์ ต่อมาจึงเสด็จฯไปทรงร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ (meeting) ที่นักเรียนไทยจัดขึ้นปีละครั้ง และสมเด็จฯ ได้ทรงเทนนิสกับพวกเขาด้วย โดยครั้งหนึ่งทรงครองตำแหน่งรองชนะเลิศ นอกเหนือจากทรงโปรดเทนนิสแล้วสมเด็จฯ ยังโปรดที่จะทรงเรือกรรเชียงร่วมกับสมเด็จพระบรมราชสวามีในสระในบริเวณสวนของพระตำหนัก และได้ทรงฝึกจักรยาน เพื่อสำหรับทรงไปตามถนนแคบๆ ในหมู่บ้านโดยไม่ต้องทรงรถยนต์ ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้ทรงโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไปทรงฝึกหัดขับเครื่องบินพร้อมกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิระศักดิ์สุประภาต แต่ก็ยังไม่ทรงบินเดี่ยวได้
ในช่วงที่ประทับอยู่ที่เวนคอร์ตนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์พระราชประวัติของพระองค์เอง โดยทรงวางแผนว่าจะทรงเล่าตั้งแต่สมัยยังทรงพระเยาว์ถึงทรงสละราชสมบัติ ด้วยต้องพระประสงค์จะให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบ น่าเสียดายที่พระโรคทำให้ทรงพระนิพนธ์ได้ถึงเมื่อทรงมีพระชนมพรรษา ๒๕ พรรษา เท่านั้น
       ในช่วงพ.ศ.๒๔๘๐ และพ.ศ.๒๔๘๑ สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร พระภคินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้เสด็จไปประทับรักษาพระองค์ที่ประเทศอังกฤษ ๒ ครั้ง และได้เสด็จไปเฝ้าฯด้วย นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ยังได้เสด็จประพาสประเทศกรีซและตุรกีเป็นการส่วนพระองค์ โดยทางเรือสำราญของบริษัทเฮเลนิกครูซ (Helenic Cruise) พร้อมกับหม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณี สวัสดิวัตน์ (จักรพันธุ์) พระขนิษฐาต่างพระมารดาในสมเด็จฯ และหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ เพียงเท่านั้น โดยเสด็จฯด้วย หม่อมเจ้าการวิกทรงเล่าว่าต้องพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรสถานที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับต้นสายอารยะธรรมตะวันตก ซึ่งว่าตามจริงต้องไปดูที่อียิปต์ก่อน เสด็จฯกรีซประมาณ ๑๐ วัน ที่เมืองอิทากา กิเตออน (Ithaca Githeon) สปาร์ตา (Sparta) มิสตรา (Mistra) และมาราธอน (Marathon) เป็นต้น แล้วเสด็จฯยังอิสตันบูล (Istanbul) ประเทศตุรกี ต่ออีกเป็นเวลา ๓ วันทอดพระเนตรมัสยิดสีฟ้า (Blue Mosque) วิหารเซนต์โซเฟีย (St.Sophia) เป็นต้น เสด็จฯลงเรือกลับมาขึ้นฝั่งที่อิตาลี และประทับรถยนต์กลับกรุงลอนดอน
           ครั้นถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ (คศ.๑๙๓๙) สงครามโลกครั้งที่สองได้ตั้งเค้า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ แน่พระราชหฤทัยว่า สงครามจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน จึงทรงเตรียมพร้อมด้วยการประหยัดทุกทาง ทรงเลิกเช่าห้องชุดที่ลอนดอนและทรงหาที่ประทับใหม่ให้ใกล้กับตำหนักดอนฮิลล์ (Dawn Hill) ซึ่งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิระศักดิ์สุประภาต พระราชโอรสบุญธรรม และหม่อมมณี ภานุพันธุ์ ณ อยุธยา (ภายหลังเป็นคุณหญิงมณี สิริวรสาร) เช่าอยู่ ณ สถานที่จัดสรรชั้นดีชื่อว่า เวนท์เวอร์ธ เอสเตท (Wentworth Estate) ในแถบเวอร์จิเนีย วอเตอร์ ไม่ไกลจากพระตำหนักเกล็นแพ็มเมิ่นต์ ทั้งนี้เพราะหากสงครามเกิดขึ้นจริง จังหวัดเค้นท์ ซึ่งอยู่ใกล้ช่องแคบอังกฤษ อาจถูกเยอรมันบุก จึงจะถูกประกาศเป็นเขตทหาร
             ระหว่างที่พระตำหนักใหม่กำลังได้รับการปรับปรุง และเป็นช่วงฤดูหนาวปลายค.ศ.๑๙๓๘ ต่อต้นค.ศ.๑๙๓๙ (พ.ศ.๒๔๘๑) จึงทรงหลีกเหลี่ยงอากาศที่อังกฤษซึ่งไม่เหมาะแก่พระพลานามัยโดยเสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองรัวย่าต์ (Royat) ประเทศฝรั่งเศส เพื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจะได้ประทับรักษาพระองค์ด้วยการสรงน้ำแร่ จากนั้นได้เสด็จประพาสประเทศอียิปต์ โดยมีหม่อมเจ้าศุภสวัสดิวงศ์สนิท และหม่อมเสมอ สวัสดิวัตน์ หม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณี และหม่อมเจ้าการวิก โดยเสด็จฯลงเรือที่เมืองเนเปิลส์ (Naples)ประเทศอิตาลี และขึ้นฝั่งอียิปต์ที่เมืองอเล็กซานเดรีย (Alexandria) ประทับที่โรงแรมเมน่า เฮ้าส์ (Mena House) ซึ่งเป็นเรือนไม้โบราณอยู่ใกล้ๆกับพีระมิดในกรุงไคโร (Cairo) เสด็จฯไปทอดพระเนตรเสด็จฯพิพิธภัณฑ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงทราบประวัติของสิ่งของสิ่งของเป็นอย่างดี เพราะเคยเสด็จฯอียิปต์มาแล้วครั้งหนึ่ง ทั้งยังเสด็จฯ ล่องแม่น้ำไนล์ ซึ่งกำลังมีการก่อสร้างเขื่อนอัสวัน (Aswan Dam) โดยเรือไอน้ำที่มีใบพัดสองข้างด้วย มีพระราชปฏิสันถารกับผู้คนทุกชั้น ตั้งแต่สิบตำรวจเอก ซึ่งกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯไปเสวยที่บ้านของเขา ถึงมหาเศรษฐีและนายกรัฐมนตรีของอียิปต์ อนึ่ง หม่อมเจ้าการวิกทรงเล่าว่า ในระหว่างที่ยังทรงเสด็จประพาสอียิปต์อยู่นั้น มีข่าวลือว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯจะทรงไปตั้งกองบัญชาการที่พม่า เตรียมทรงรับพระราชอำนาจคืน โดยที่พระองค์ไม่ทรงทราบเรื่องนี้เลย เสด็จประพาสอียิปต์อยู่นานถึงเดือนเศษ จึงเสด็จฯกลับอังกฤษ

           เกี่ยวกับการเสด็จฯกลับมาอังกฤษนี้ หนังสือพิมพ์ Sunday Dispatch เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๓๙ (พ.ศ.๒๔๘๑) ได้รายงานจากหมู่บ้านบิ้ดเด้นเด็นว่า หมู่บ้านนี้กำลังตื่นเต้นที่เจ้าชายประชาธิปก (Prince Prajadhipok) อดีตพระมหากษัตริย์สยามกำลังจะเสด็จฯกลับมาที่นั่นหลังจากที่ได้เสด็จประพาสประเทศอียิปต์ ทั้งนี้เพราะบรรดาชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ต่างรักและเทิดทูนพระองค์ด้วยทรงพระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาคุณ (generosity and kindness) พวกเขาได้เฝ้าฯ บ่อย ๆ เพราะแทนที่จะทรงสั่งซื้อของและให้ร้านในเมืองไปส่งที่พระตำหนัก กลับทรงจักรยานตามถนนเล็กๆ ของหมู่บ้าน เพื่อทรงจับจ่ายจากร้านในหมู่บ้าน โดยทรงคำนึงถึงความเป็นธรรมมาก เพราะสัปดาห์หนึ่งจะทรงซื้อของที่ร้านหนึ่ง อีกสัปดาห์หนึ่งที่อีกร้านหนึ่ง โปรดที่จะทรงซื้อช็อคโกแล็ตที่ร้านกาแฟประจำหมู่บ้านทำเองและบางครั้งเสวยพระกระยาหารมื้อย่อมๆ ที่ร้านนั้นด้วย ในช่วงฤดูร้อน ทรงพระกรุณาทำหน้าที่ ‘มูลนาย’ (Squire) ประจำหมู่บ้าน โดยทรงเป็นองค์ประธานพระราชทานถ้วยรางวัลในงานประกวดดอกไม้ และงานแข่งม้ากระโดดข้ามเครื่องกีดขวาง ‘มูลนาย’ พระองค์นี้ทรงรถยนต์แทนที่จะทรงม้าล่าสัตว์อย่างมูลนายอังกฤษดั้งเดิมทั้งหลาย นอกจากนั้นยังทรงเป็นขวัญใจของพวกเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน แม่หนูโอล์เว่น โจนส์ (Olwen Jones) วัย ๔ ขวบ อวดตุ๊กตาตัวใหญ่ซึ่งเธอได้รับพระราชทาน เธอจะถวายบังคม (Salaam) ทุกครั้งที่ได้เข้าเฝ้าฯ เธอพูดคำภาษาไทยที่ทรงสอนเธอได้หลายคำ เช่น ‘มือเปื้อน’ หรือ ‘น้ำชา’ และชื่อวันต่าง ๆ ในสัปดาห์ แม่หนูบอกกับผู้สื่อข่าวว่า “อยากให้เสด็จกลับมาเร็วๆ จังเลย” ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้มีความมั่นใจว่า ไม่มีวันที่จะเสด็จฯกลับสู่ประเทศสยาม เพราะทุกครั้งที่เขาเห็นพระองค์ทรงพระดำเนินไปตามถนนในหมู่บ้านกับสุนัขพันธ์ แอร์เดล (Airedale) ที่ชื่อ ‘แซม’ (Sam) ของพระองค์แล้ว เขาเชื่อว่าพระองค์โปรดที่จะประทับในประเทศอังกฤษอย่างเงียบ ๆ มากกว่า



พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


ทรงตัดผม ม.ร.ว. เดชนศักดิ์ โอรสของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ และหม่อมมณี

       ในช่วงนี้ เนื่องจากการตกแต่งพระตำหนักคอมพ์ตัน เฮ้าส์ (Compton House)ในหมู่บ้านเว้นท์เวอร์ธ ยังไม่เสร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯได้เสด็จไปประทับที่ตำหนักดอนฮิลล์ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ เพื่อทรงรอคอยการเกิดของโอรสของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ หม่อมมณีในพระองค์เจ้าจิรศักดิ์เขียนเล่าว่าสมเด็จฯ “ทรงถักเสื้อเล็กๆ ถุงเท้าเล็กๆ รองเท้าไหมพรมคู่เล็กๆ เพื่อเตรียมประทานให้แก่ลูกขอข้าพเจ้าที่จะเกิดมาในเร็วๆนั้น ไหมพรมที่ทรงใช้ก็เป็นสีน้ำเงินทั้งหมดตามธรรมเนียมประเพณีของคนอังกฤษที่นิยมใช้สีฟ้าสำหรับเด็กผู้ชาย และสีชมพูสำหรับเด็กผู้หญิง
          หนังสือพิมพ์อังกฤษอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ๑๙๓๙ (พ.ศ. ๒๔๘๒) รายงานข่าวสำคัญเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ขณะเสด็จฯจากบิ้ดเด็นเด็นไปประทับแรมที่ตำหนักดอนฮิลล์เพื่อทรงคอยการเกิดของหม่อมราชวงศ์เดชนศักดิ์ โอรสของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตในกลางเดือนนั้นว่าทรงได้รับโทรเลขแจ้งว่ารัฐบาลไทยได้ยื่นฟ้องพระองค์ และสมเด็จฯ โดยกล่าวหาว่าทรงยักยอกเงินแผ่นดิน ไม่กี่วันหลังจากนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเมืองรัวยาต์ (Royat) ที่ประเทศฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประทับรักษาพระองค์โดยทรงสรงน้ำแร่ เสด็จฯ กลับอังกฤษได้ไม่กี่วัน ประเทศอังกฤษก็ได้ประกาศสงครามกับประเทศเยอรมนีในวันที่ ๓ กันยายน คศ.๑๙๓๙ (พ.ศ.๒๔๘๒) ดังนั้นการเตรียมการของพระองค์ที่จะเสด็จฯไปประทับอยู่ที่อินเดีย เพื่อที่นายเครก (Mr.R..D.Craig) ทนายความของพระองค์ซึ่งจะไปดูแลการสู้คดีที่กรุงเทพฯ จะได้เดินทางนำเอกสารถวายให้ทรงลงพระนามได้ทันกาล จึงต้องเป็นล้มเลิก กลับต้องทรงเตรียมพระองค์ที่จะรับกับสถานการณ์สงครามในประเทศอังกฤษ ทรงปิดพระตำหนักเวนคอร์ตไว้และทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักใหม่ ชื่อว่า คอมพ์ตัน เฮ้าส์ (Compton House)


          พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ประทับอยู่ที่เวนคอร์ต ระหว่างเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. ๒๔๘๐ (ค.ศ.๑๙๓๗) ถึงประมาณเดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๘๒ (คศ.๑๙๓๙) ครั้นในเดือนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จสวรรคตคือ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔ (คศ.๑๙๔๑) พระตำหนักนี้ก็ถูกยึดครองโดยฝ่ายทหารอังกฤษได้ขอเวนคืน (eminent domain) เพื่อใช้เป็นกองบัญชาการแห่งหนึ่ง จากนั้นได้เปลี่ยนเจ้าของหลายครั้ง โดยครั้งหนึ่งเคยอยู่ในมือเจ้าของบริษัทขายเมล็ดพันธุ์ดอกไม้และพืชผัก ปัจจุบันเป็นบ้านส่วนบุคคล

พระราชกรณียกิจ ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน เฮาส์

          พระตำหนักคอมพ์ตัน เฮาส์ (Compton House) ตั้งอยู่ในหมู่บ้านเว้นท์เวอร์ธ (Wentworth) ในเวอร์จิเนีย วอเตอร์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเช่าระยะยาว ๒๐ ปี มีเนื้อที่ประมาณ ๖ ไร่ และนับว่ามีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาพระตำหนักที่เคยประทับมาก่อนหน้านี้ จึงเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและดูแลง่าย องค์พระตำหนักเป็นแบบสมัยใหม่แนวจอร์เจียน (Georgian) สีขาว มีสองปีก ปีกละ ประมาณ ๓-๔ ห้องในแต่ละชั้น ชั้นล่างของปีกหน้ามุข มีห้องประทับรับแขกห้องเสวย ห้องเครื่อง (ครัว) และห้องพักอาหาร (Pantry) เล็ก ๆ โดยพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาตและหม่อมมณี พร้อมบุตร ได้ย้ายเข้ามาร่วมพระตำหนักด้วยในภายหลัง ส่วนหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์และครอบครัวมีที่ประทับที่บริดจ์เฮาส์ (Bridge House) ใกล้ๆ กันที่ซึ่งหม่อมเจ้าการวิกได้ทรงย้ายไปประทับอยู่ด้วย
      ช่วงนี้เป็นภาวะสงคราม ซึ่งมีเครื่องบินของเยอรมันไปทิ้งระเบิดที่อังกฤษ รัฐบาลจึงให้ทุกบ้านเย็บผ้าดำติดกับม่านหน้าต่างทุกบาน เพื่อมิให้แสงสว่างเล็ดลอดออกไปในตอนกลางคืนให้เครื่องบินของศัตรูเห็นได้ว่าเป็นที่ซึ่งมีอาคาร แจกหน้ากากป้องกันก๊าช (gas masks) ให้ประชาชนทุกคน รวมทั้งแจกจ่ายคูปองแบ่งปันอาหารและน้ำมัน (rations) ด้วย นับว่าเป็นภาวะที่ต้องทรงลำบากเช่นเดียวกับชาวบ้านอังกฤษทั้งหลาย

ที่ใดในจังหวัดเดวอน? สแตดดอน?

         ถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๓ สงครามได้ทวีความรุนแรงขึ้นเป็นภัยต่ออังกฤษมากขึ้น เพราะเยอรมันบุกฝรั่งเศสได้สำเร็จ ฝรั่งเศสยอมจำนน จึงคาดกันว่าอังกฤษเป็นเป้าหมายต่อไปของฮิตเลอร์ (Hitler) จอมเผด็จการเยอรมันโดยจะมีการทิ้งระเบิดอย่างหนักในแถบลอนดอนและเขตอุตสาหกรรม จึงทรงอพยพครอบครัวของพระองค์ ไปประทับที่ตอนเหนือของจังหวัดเดวอน (Devon) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะอังกฤษ แต่จะเป็นที่เมืองบิ้ดดิฟอร์ด (Bideford) ตามที่หนังสือของ ม.ร.ว.ปิ่มสายว่า หรือไม่ ไม่แน่ชัด ที่แน่ ๆ คือเป็นบ้านหลังใหญ่และเห็นอ่าวบิ้ดดิฟอร์ดได้จากที่นั่น ทรงเช่าเป็นการชั่วคราว ทรงอพยพไปที่นั่นในช่วงฤดูร้อนคือประมาณเดือนมิถุนายน ของปี พ.ศ. ๒๔๘๓ (คศ.๑๙๔๐) หม่อมมณีในพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ เขียนไว้ว่า พระตำหนักนี้ “สวยงามน่าอยู่มาก มีสวนดอกไม้ใหญ่และสนามหญ้ากว้างขวาง ตั้งอยู่ในเมืองชาวประมงเล็ก ๆ แห่งหนึ่งซึ่งเป็นบ้านนอกจริง ๆ ห่างไกลจากเมืองใหญ่ ๆ มาก
       ส่วน ม.ร.ว.ปิ่มสาย เล่าว่าพระตำหนักอยู่ริมอ่าว และมีสนามเทนนิส แต่ไม่พอหากจะเล่นกันทุกคน ตัวเธออยู่ที่สโมสรชนบท (country club) ใกล้ ๆ ซึ่งมีสระและเกาะแก่งพร้อมด้วยต้น

วีปปิ่งวิลโล่ (weeping willow) ย้อยกิ่งลงมา ล้อมรอบด้วยทุ่งดอกไม้ป่า

        จากการสืบค้นของนายบริสโตว์ (Mr.M.J.Bristow) สุภาพบุรุษชาวอังกฤษผู้สนใจพระราชประวัติช่วงนี้มากเป็นพิเศษผู้ซึ่งได้สอบถามไปที่นักจดหมายเหตุประจำจังหวัดเดวอนและสตรีท้องถิ่นผู้หนึ่ง เชื่อได้ว่า บ้านที่ทรงเช่านี้มีชื่อว่า สแตดดอน (Staddon) อยู่ที่เมืองแอปเปิ้ลดอร์ (Appledore) ซึ่งอยู่ใกล้อ่าวมากกว่าบิ้ดดิฟอร์ด โดย นางคล้าก (Sheila Mary Clarke) ซึ่งเคยอยู่ที่บ้านนั้นแจ้งว่านายแพทย์ผู้หนึ่งเล่ากับเธอว่าเคยรักษาอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ขณะที่ประทับอยู่ที่บ้านนี้ เพราะทรงแพ้ต้นมิโมซา (Mimosa tree) ซึ่งอยู่ในสวน บ้านนี้มีสนามเทนนิสและป่าละเมาะซึ่งบริบูรณ์ไปด้วยดอกแคฟโพดิลและดอกบลูเบลล์ ห้องนอนใหญ่ในตัวบ้านเคยมีลิ้นชักลับสำหรับซ่อนของมีค่า ส่วนสโมสรชนบทนั้นคงจะเป็นปราสาทเคนวิธ (Kenwith Castle) ซึ่งมีสระและต้นวิลโล่ ปัจจุบันเป็นโรงแรม ส่วนนักจดหมายเหตุอ้างแหล่งข้อมูลบุคคลเพียงคนเดียวว่าประทับที่ โอลด์ แมนเนอร์ เฮ้าส์ (Old Manor House ) หมู่บ้านดิ้ดดิเวล (Diddywell) เมือง นอร์เธิ่ม (Northam) ปัจจุบันแสตดดอนแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ แสตดดอน และลิตเติ้ล สแตดดอนและปัจจุบันเป็นบ้านส่วนบุคคล

        พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จฯ ประทับอยู่ที่จังหวัดเดวอนเพียงไม่กี่เดือน ก็ได้ตัดสินพระราชหฤทัยย้ายที่ประทับอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ปลอดภัยจริง ๆ โดยเสด็จไปประทับที่โรงแรมเลคเวอร์นี่ (Lake Vyrwny Hotel) ซึ่งตั้งอยู่บนภูเขาสูง มีทะเลสวยงาม ใจกลางแคว้นเวลส์ตอนเหนือ (North Wales) ที่ซึ่งเป็นที่พักตากอากาศ ไม่มีเมืองใหญ่อยู่ใกล้เลย จึงปลอดภัยจากลูกระเบิดแน่ๆ ทรงเช่าห้องชุดสำหรับสองพระองค์และครอบครัวพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ เท่านั้น ส่วนพระประยูรญาติและข้าราชบริพารต่างอยู่กันที่เวอร์จิเนีย วอเตอร์ ในระหว่างนั้นทรงหนังสือพิมพ์และทรงฟังข่าววิทยุเกี่ยวกับความเป็นไปของสงคราม ซึ่งมีการทิ้งลูกระเบิดที่อังกฤษตลอดเวลา บางครั้งทรงพระดำเนินและทรงฉายภาพทิวทัศน์ไปพลาง บางครั้งทรงพระราชนิพนธ์พระราชประวัติ สมเด็จฯ ทรงถักเสื้อไหมพรมพระราชทานโอรสของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ฯ ประทับอยู่ที่โรงแรมนี้จนกระทั่งถึงฤดูหนาว อากาศที่นั่นหนาว ชื้นมาก พระโรคพระหทัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กำเริบหนัก ทรงมีพระอาการหอบมาก และเจ็บพระหทัย ทรงอ่อนเพลียมาก ดังนั้น จึงตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จกลับไปประทับที่คอมพ์ตัน เฮ้าส์ อีกครั้งหนึ่ง หม่อมมณีฯ เขียนไว้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ รับสั่งว่า “ถ้าฉันจะตาย ก็ขอให้ตายสบายๆ ในบ้านช่องของเราเองดีกว่าที่จะมาตายในโรงแรม…” และหมอประจำพระองค์จะได้ถวายการรักษาพยาบาลได้ง่ายขึ้นด้วย


สมเด็จพระบรมราชสวามีเสด็จสวรรคต

        หลังจากเสด็จกลับไปประทับที่คอมพ์ตัน เฮ้าส์ พระอาการของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ดีขึ้น มีนายแพทย์ลเวลเลิ่น (Lewellan) ซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้ ๆ พระตำหนักถวายการรักษาและฉีดพระโอสถ พระอาการเจ็บพระหทัยเบาบางลงเมื่อฤดูใบไม้ผลิของ พ.ศ.๒๔๘๔ มาถึง อากาศปลอดโปร่งท้องฟ้าแจ่มใส ดอกไม้บานสะพรั่ง มีเสียงนกร้องชวนให้พระอารมณ์แจ่มใส รับสั่งคุยกับผู้เข้าเฝ้าฯ ได้ ทรงพระสำราญกับเด็ก ๆ เช่นเคย ดังที่หม่อมราชวงศ์ปิ่มสาย เล่าว่า เมื่อทรงทราบว่าเธอได้รับรางวัลประกวดเรียงความเรื่องเซนต์ฟรานซิสแห่งอซีซี (St.Francis of Assissi) ที่โรงเรียน ก็ทรงพระปิติยินดีมาก ด้วยโปรดประวัติศาสตร์อยู่แล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เธอเล่าถวาย ยังความตื่นเวทีแก่เธอมาก เพราะเด็กเล็กๆ อย่างเธอ “ไม่คาดคิดว่าผู้ที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินจะมีความสนพระราชหฤทัยในเรื่องราวต่าง ๆ เหมือนคนธรรมดาสามัญ”

       พระชะตาชีวิตโหมกระหน่ำทั้งสองพระองค์อีกครั้งหนึ่ง เมื่อในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ได้ทรงทราบว่า พระตำหนักเวนคอร์ตที่ทรงปิดไว้ถูกยึดครองเป็นที่ทำการของฝ่ายทหารอังกฤษไปแล้ว ควรที่จะทรงส่งคนไปเก็บสิ่งของมีค่าในพระตำหนักก่อนที่จะส่งมอบเป็นทางการต่อไป สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงอาลัยพระตำหนักนี้มาก จึงทรงมีพระราชดำริจะเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระองค์เอง แต่พระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรุดหนักลง พระบาทบวมอยู่สองสามวัน ซึ่งเป็นอาการอันเนื่องมาจากที่ประชวรพระหทัย

        ครั้นเช้าวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ทรงตื่นพระบรรทมแต่เช้าตรู่ พระอาการดูดีขึ้นมาก จึงรับสั่งกับสมเด็จฯ ว่าหากสมเด็จฯ จะเสด็จไปพระตำหนักเวนคอร์ตก็ได้ ไม่ต้องทรงเป็นพระกังวล สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ จึงเสด็จไปโดยรถยนต์พระที่นั่งตั้งแต่เวลา ๘ นาฬิกา

        พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งยังทรงฉลองพระองค์ชุดบรรทมเป็นสนับเพลาแพรและฉลองพระองค์แขนยาว เสวยไข่ลวกนิ่ม ๆ ซึ่งนางพยาบาลประจำพระองค์จัดถวาย แล้วบรรทมต่อ ประมาณ ๙ นาฬิกา นางพยาบาลพบว่าเสด็จสวรรคตเสียแล้วด้วยพระหทัยวาย ไม่มีผู้ใดทราบว่าเสด็จไปประทับ ณ สรวงสวรรค์ ใน เวลาใดแน่ ที่แน่ ๆ ตามคติไทยก็คือทรงพระบุญญาธิการยิ่งนัก จึงเสด็จสวรรคตอย่างสงบนิ่ง สิริรวมพระชนมายุ ๔๘ พรรษา สมเด็จพระชนพรรษาเพียง ๓๗ พรรษา

         ตำรวจอังกฤษสกัดรถพระที่นั่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้ที่เมืองเมดสตัน (Maidstone) ก่อนที่จะเสด็จถึงพระตำหนักเวนคอร์ต สมเด็จฯ ทรงทราบข่าวแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับพระตำหนักคอมพ์ตันเฮาส์ทันที “ เมื่อเสด็จฯกลับถึงพระตำหนัก สมเด็จฯ ทรงควบคุมพระสติอารมณ์ได้อย่างดีเยี่ยม ทรงเข้มแข็งเหลือเกิน ท่ามกลางเสียงร่ำไห้รำพันจากผู้ที่อยู่ในที่นั้น..” สมเด็จฯ รับสั่งเล่ากับหม่อมเจ้าการวิกว่า ขณะที่รถพระที่นั่งวิ่งออกจากพระตำหนักได้สักพักใหญ่ และต้องชะลอแล่นช้าลงเพราะหมอกลง พลันทอดพระเนตรเห็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประทับยืนขวางอยู่ “เห็นพิลึกแท้” ทรงสังหรณ์พระราชหฤทัยยิ่งนัก

         ทางการอังกฤษอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้ตั้งพระบรมศพไว้ได้เกิน ๒๔ ชั่วโมง เพื่อให้พระญาติวงศ์ คนไทยและชาวต่างประเทศที่ทรงคุ้นเคยได้เดินทางมาถวายบังคมพระบรมศพ

         ครั้นถึงวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๔ งานถวายพระเพลิงพระบรมศพได้ถูกจัดขึ้นอย่างเรียบง่ายที่ฌาปนสถาน โกลเดอร์สกรีน (Golders Green Crematorium) ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ขณะกำลังเคลื่อนพระบรมศพ ออกจากพระตำหนัก สมเด็จฯ ประทับทอดพระเนตรอยู่ที่พระแกล (หน้าต่าง) เป็นการส่วนพระองค์ ทรงกลั้นพระกรรแสงไว้ไม่ไหวอีกต่อไป รับสั่งว่า “เขาเอาไปแล้ว”

        พระบรมศพทรงพระภูษา (โจงกระเบน) สีแดง ฉลองพระองค์สีแดงเช่นกัน ตามที่เคยรับสั่งกับหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ให้จัดถวายให้เหมือนกับพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในรัชกาลที่ ๔ พระบรมวงศานุวงศ์จะทรงพระภูษาแดงทุกวันพระในรัชกาลนั้น แดงจึงถือเป็นสีของพระราชวงศ์ นายเครก (R.D. Craig) ซึ่งเคยรับราชการอยู่ในเมืองไทยและเป็นทนายความประจำพระองค์กล่าวคำราชสดุดี จบแล้ว ไม่มีพิธีสงฆ์ใดๆ เพราะไม่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่ในประเทศอังกฤษในขณะนั้น มีแต่ดนตรีบรรเลงเพลงไวโอลินคอนแชร์โต้ของเมนเดิลโซน (Mendelsohn ‘s Violin Concerto) ซึ่งโปรดมากเป็นพิเศษ คลอเบาๆ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เสด็จขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพเป็นพระองค์แรก ตามด้วยพระประยูรญาติและผู้ใกล้ชิดทั้งไทยและเทศ พนักงานกดสวิตช์อัญเชิญหีบพระบรมศพ เลื่อนไปตามรางเหล็กสู่เตาไฟฟ้าจนลับตา
        ในช่วงเวลา ๖ ปี ๓ เดือนนับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติจนถึงเสด็จสู่สวรรคาลัย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯได้ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขเคียงข้างพระองค์ไม่เคยห่าง แม้ว่าพระราชสถานะของสมเด็จพระบรมราชสวามีจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม ทรงแน่วแน่ในความจงรักภักดีไม่จาง ทรงร่วมในพระราชกรณียกิจของพระองค์แทบทุกอย่าง โดยโปรดที่จะทรงใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ปลูกต้นไม้ ดอกไม้ ทั้งสองพระองค์ อีกทั้งรักษาพระพลานามัยด้วยการทรงกีฬาร่วมกัน ในยามที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่ทรงพระประชวร หากในยามที่ทรงพระประชวร ซึ่งมีถี่ขึ้น สมเด็จฯก็ได้ทรงเฝ้าถวายการอภิบาลอยู่มิเคยขาด ในขณะที่พระองค์เองย่อมต้องทรงปรับพระองค์ไม่น้อยต่อการที่ต้องประทับอยู่ในต่างแดนที่ซึ่งพระองค์เองไม่ทรงคุ้นเคย
       หลังจากเสร็จพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ได้ ๑๘ วัน สมเด็จฯ ได้เสด็จไปประทับที่ตำหนักของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ตามที่ทรงทูลเชิญ เพื่อทรงผ่อนคลายจากความเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย พระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์ พระสหายแต่ครั้งที่ทรงพระเยาว์มาก ขณะที่ประทับอยู่กับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง ทรงตั้งข้อสังเกตว่า สมเด็จฯทรงพระปรีชาสามารถตรัสภาษาอังกฤษได้อย่างชัดเจนคล่องแคล่วยิ่ง ไม่รู้สึกทรงประหม่าต่อคนแปลกหน้าเลย “ทรงตรัสกับคนอังกฤษได้อย่างสบายพระทัย” ตลอดเวลาตั้งแต่วันที่ ๒๑ มิถุนายนถึงเดือนกรกฏาคม พ.ศ.๒๔๘๔ ที่ประทับอยู่ ณ ที่นั้น
         ต่อจากนั้นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จกลับไปประทับที่พระตำหนักคอมพ์ตันต่อไป ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่อย่างเงียบๆกับบรรดาพระประยูรญาติและข้าราชบริพาร โดยไม่ค่อยเสด็จฯประพาสตามบ้านเมืองต่างๆ เท่ากับเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมราชสวามียังทรงดำรงพระชนมชีพอยู่

น้ำพระทัยไหลรินยามสงคราม

         เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตนั้น ประเทศอังกฤษกำลังอยู่ในภาวะสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งได้ลุกลามมาสู่ประเทศไทยเมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกทางภาคใต้ และรัฐบาลไทยได้ยอมเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น รวมทั้งร่วมประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร คือ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ ด้วยเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ การนี้ทำให้นักเรียนไทยในอังกฤษจำนวนหนึ่งร้อนใจและได้ร่วมกันก่อตั้งคณะเสรีไทยขึ้นเพื่อหาทางต่อต้านผู้รุกรานคือญี่ปุ่น เพื่อรักษาความเป็นไท ในบรรดานักเรียนไทยจำนวนนั้น มีผู้ใกล้ชิดสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เช่น หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์ ผู้ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงชุบเลี้ยงมาตั้งแต่ยังเยาว์ และหม่อมเจ้ากอกษัตริย์ สวัสดิวัตน์ พระอนุชา เป็นต้น ได้สมัครเป็นทหารเพื่อช่วยราชการในกองทัพอังกฤษ โดยหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ พระเชษฐา ผู้ทรงเคยเป็นราชองครักษ์และราชเลขานุการส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเป็นนายพันตรีในกองทัพบกอังกฤษอยู่ก่อนแล้ว เมื่อหม่อมเจ้าการวิกกราบบังคมทูลสมเด็จฯ ขอพระราชทานพระอนุญาตก็รับสั่งตอบว่า “ไปรบเถอะ ถ้าฉันเป็นผู้ชายก็จะสมัครกับเขาเหมือนกัน แต่นี่เป็นผู้หญิงก็จะอยู่ที่นี่ ไม่ต้องห่วง ไปรบตามหน้าที่เถอะ” ทั้งยังได้พระราชทานเลี้ยงส่งทหารเสรีไทยสายอังกฤษทุกคนด้วย
         ส่วนพระองค์เองนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินจากพระตำหนักคอมพ์ตัน เฮาส์ (Compton House) อย่างเสี่ยงต่อภัยลูกระเบิดจากเครื่องบินของนาซีเยอรมัน สู่กรุงลอนดอน พร้อมด้วยหม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณี จักรพันธุ์ พระขนิษฐา และหม่อมเสมอ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ในหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ ไปทรงบำเพ็ญประโยชน์ เพื่อมนุษยชาติ โดยการทรงช่วยงานกาชาดสากลในการบรรจุสิ่งของ เช่น ผ้าพันแผลลงหีบห่อส่งไปให้แนวหน้าและเชลยศึก ร่วมกับบรรดาสุภาพสตรีอาสาสมัครในตึกดอร์มี่ เฮ้าส์ (Dormy House) ดังทรงเล่าพระราชทานในภายหลังว่า

         “ฉันเองไปช่วยเขาทางด้านกาชาดแต่ฉันทำอย่างไม่เป็นทางการระหว่างที่พวกเสรีไทย ฝึกโดดร่ม ฝึกอาวุธกัน ฉันไปช่วยเขาทำของ ตอนนั้นไม่ได้อยู่ในลอนดอนหรอก น่ากลัวมากทีเดียว แต่ก็มาลอนดอนอาทิตย์ละครั้งสองครั้ง

          นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ทรงแสดงพระอุปนิสัยเด็ดเดี่ยวแต่เรียบง่ายประจำพระองค์ เช่นนี้เอง บรรดาเสรีไทยสายอังกฤษจึงเฉลิมพระเกียรติว่าทรงเป็นทหารผ่านศึกด้วยผู้หนึ่ง
         โดยที่คนไทยในอังกฤษส่วนใหญ่พากันเดินทางกลับประเทศไทย เพราะอังกฤษถือว่าเป็นชนชาติศัตรู แต่สมเด็จฯ ยังคงประทับอยู่ต่อไป ทั้ง ๆ ที่เครื่องอุปโภคบริโภคขาดแคลนโดยทั่วไปมีการแบ่งสันปันส่วนอาหาร ไข่ไก่ก็ต้องใช้วิธีถนอมไว้ใช้โดยการลอยน้ำ ข้าวสารก็ไม่มีต้องใช้ลูกเดือยหุงแทน แต่รัฐบาลอังกฤษได้ถวายพระเกียรติโดยอนุญาตให้ทรงใช้รถยนต์และจัดน้ำมันเบนซินถวาย
          นอกจากภัยสงครามแล้ว สมเด็จฯต้องทรงเผชิญกับความเศร้าโศกใน“ครอบครัว”ของพระองค์เองอีกครั้งหนึ่งในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๕ เมื่อพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจิระศักดิ์สุประภาต พระโอรสบุญธรรมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ผู้ทรงเป็นเรืออากาศเอกในกองทัพอังกฤษได้สิ้นพระชนม์ลงทันที เมื่อเครื่องบินของ Air Transport Auxiliary ประสบอุบัติเหตุตกเพราะชนภูเขาในภาวะอากาศมีหมอกหนา เกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนั้นหม่อมมณีในพระวรวงศ์เธอพระองค์นั้น (ต่อมาเป็นคุณหญิงมณี สิริวรสาร) เขียนเล่าไว้ว่า สมเด็จฯ รับสั่งว่า “มณี…ไม่น่าจะเป็นหม้ายอย่างฉันเลยเชียวนะ…ทูลกระหม่อมท่านมาเอาของท่านไปเสียแล้ว” แสดงว่าทรงรู้สึกเป็น ‘หัวอกเดียวกัน’ กับหม่อมมณีพร้อม ๆ ไปกับที่ทรงรำลึกถึงพระบรมราชสวามีด้วยพระราชหฤทัยอาลัยยิ่ง





ยามสงบหลังสงคราม: ทรงพระสำราญอย่างเรียบง่าย

         หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงในพ.ศ.๒๔๘๘ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ยังคงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษต่อไป ทั้งนี้เพราะในระยะแรกยังมีปัญหาที่ว่าประเทศไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรของญี่ปุ่นอยู่ในฐานะแพ้สงครามด้วยหรือไม่ เพราะเมื่อไทยได้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวแล้ว ก็ได้มีความแปรปรวนทางการเมืองในประเทศอยู่ต่อเนื่องมีการเปลี่ยนรัฐบาลหลายครั้งและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จสวรรคตในพ.ศ.๒๔๘๙
         ในระยะนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงดำรงพระชนมชีพอย่างเรียบง่าย ทรงพระสำราญกับพระญาติและข้าราชบริพารจำนวนน้อยในที่ประทับ รวมทั้งกับพระญาติที่พำนักอยู่ ณ ที่อื่นในประเทศอังกฤษ ซึ่งได้ไปเฝ้าฯอยู่เนื่องๆ เช่น หม่อมเจ้าชิดชนก กฤดากร ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารประจำอยู่ที่กรุงลอนดอน มักจะเสด็จไปเฝ้าฯในวันอาทิตย์เพื่อทรงร่วมโต๊ะเสวยข้าว ตามเสด็จพระราชดำเนินเล่นหรือทรงร่วมทรงไพ่ตองบ้าง พร้อมทั้งหม่อมหลวงต่อ กฤดากร อีกทั้งหม่อมเจ้าหญิงอุบลพรรณี วรวรรณทรงตั้งเครื่องไทยถวายทุกสัปดาห์ ส่วนในช่วงปิดภาคเรียนบรรดาพระภาติยะ ซึ่งอยู่ในโรงเรียนประจำ เช่น พระธิดาของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ก็จะเดินทางไปเฝ้าฯ เกือบทุกวัน

         พระราชจริยวัตรประจำวันของสมเด็จก็คือ เมื่อตื่นบรรทม “โปรดประทับสางพระเกศาเอง แล้วทรงหวีเกล้าเป็นมวยด้วยความชำนาญ” ส่วนใหญ่ตอนเช้าทรงทำสวนอยู่ในเรือนเพาะชำส่วนพระองค์ ตอนบ่ายเสด็จฯ ไปทรงกอล์ฟที่เวนต์เวิร์ธคลับ (Wentworth Club) เมื่อถึงวันหยุดพักผ่อนของข้าราชบริพารและมหาดเล็กฝรั่งที่อยู่ประจำมีหน้าที่ทำความสะอาดพระตำหนัก สมเด็จฯทรงทำครัวและทรงล้างถ้วยล้างชามด้วยพระองค์เอง เห็นได้ว่า ทรงมีพระราชจริยวัตรเรียบง่าย โปรดที่จะทรงร่วมกิจกรรมกับผู้อื่นดังคำให้สัมภาษณ์ของมร.ว.สายสิงห์ (สวัสดิวัตน์) ศิริบุตร พระภาติยะ เกี่ยวกับช่วงเวลาวันหยุดภาคเรียนในพ.ศ.๒๔๙๐ ว่า

          “สนุกสนานกันมาก เพราะมีงานเลี้ยงต่อเนื่องกันตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคมปีถัดไป คือมีงานวันเกิดพระญาติคนหนึ่ง วันประสูติของสมเด็จฯ (๒๐ ธันวาคม) วันคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ สมเด็จฯ ทรงร่วมฉลองด้วยตลอด ในคืนวันที่ ๓๑ ธันวาคม หลังจากทรงร่วมจับฉลากและเล่นเกมแล้ว สมเด็จฯได้ทรงไพ่ตองอยู่จนย่ำรุ่ง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สนุกสนานกันทั้งคืน เมื่อสมเด็จฯทรงเห็นว่าพระญาติและข้าราชบริพารสนุกสนานกันมาก จึงโปรดเกล้าฯให้จัดงานเลี้ยงต่อมาอีกหลายวัน จนกระทั่งพระราชนัดดาต้องกลับไปเข้าโรงเรียน”



เสด็จฯ คืนถิ่นไทยสมศักดิ์ศรี

          คุณหญิงมณี สิริวรสาร เขียนเล่าไว้ว่า เมื่อคุณหญิงเองจะกลับเมืองไทยเมื่อประมาณปี ๒๔๙๐ ได้กราบบังคมทูลถามสมเด็จฯว่า ทรงมีพระราชดำริจะเสด็จฯ กลับบ้างหรือไม่ สมเด็จฯ รับสั่งตอบว่า มีพระราชดำริอยู่ด้วยเหตุผลสามประการ คือ หนึ่ง การประทับอยู่เมืองนอกนั้นค่าใช้จ่ายสูงมาก ทรงเกรงว่าต่อไปจะไม่ทรงมีพระราชทรัพย์เพียงพอ สอง คนไทยอยู่ที่ไหนก็ไม่เหมือนอยู่บ้านเรา การประทับอยู่ในอังกฤษเป็นการขออาศัยอยู่ในบ้านเมืองของเขาเท่านั้น และสาม ที่สำคัญ หากได้เสด็จฯ กลับประเทศไทย จะได้ทรงงานให้เป็นประโยชน์ในด้านสังคมสงเคราะห์หรือในด้านศาสนา แล้วรับสั่งต่อไปว่า หากรัฐบาลไทยอัญเชิญเสด็จฯ อย่างเป็นทางการ รวมทั้งให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กลับมาด้วยอย่างสมพระเกียรติแห่งพระมหากษัตริย์ จึงจะเสด็จฯ กลับ มิฉะนั้นแล้วจะทรงยอมทนประทับอยู่ในเมืองนอกต่อไป แสดงว่าทรงถือว่า พระเกียรติยศของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งเหนืออื่นใด

         ในปีพ.ศ.๒๔๙๑นั้นเองปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีซึ่งมีจอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงแนะนำให้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ อัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่ประเทศไทยพร้อมด้วยพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โดยให้ขนานพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยตามพระราชอิสสริยยศ เมื่อครั้งทรงเป็นพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระบรมราชินี จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและแจ้งรัฐสภาทราบ พร้อมทั้งให้อุปทูตไทยประจำกรุงลอนดอนไปเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลรายละเอียด สมเด็จฯ จึงทรงพอพระราชหฤทัยและทรงรับที่จะเสด็จฯกลับพร้อมอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับมาด้วย ทรงมีพระราช หัตถเลขาถึงองค์ประธานผู้สำเร็จฯ ลงวันที่ ๙กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๒ ความสำคัญว่า

        “ส่วนเรื่องที่จะต้องจ่ายเงินแผ่นดินก้อนใหญ่ดังที่รับสั่งบอกมานั้น หม่อมฉันก็ไม่ต้องการที่จะให้เป็นเช่นนั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลบอกมาว่าจะจัดเช่นนั้น หม่อมฉันเป็นแต่ผู้ปฏิบัติตาม แต่ถ้าคณะผู้สำเร็จราชการหรือรัฐบาลเห็นว่าจะมีทางใดที่จะตัดรายจ่ายลงแล้ว หม่อมฉันก็ยินดีจะปฏิบัติตาม เพราะไม่อยากให้เป็นการสิ้นเปลืองมากเกินควรมาตั้งแต่แรกแล้ว”

เห็นได้ว่าสมเด็จฯ ทรงระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ดุจดังพระบรมราชสวามีไม่มีผิด

         ครั้นวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ จึงได้เสด็จพระราชดำเนินอัญเชิญพระบรมอัฐิจากท่าเรือเมืองเซาแธมตัน (Southampton) โดยเรือวิลเฮ็ม ไรซ์ (Wilhelm Ruys) ของเนเธอร์แลนด์สู่สิงคโปร์ ในการนี้รัฐบาลอังกฤษได้จัดกองทหารถวายพระเกียรติยศส่งเสด็จฯ ทั้งที่เซาแธมตันและที่สิงคโปร์ ที่เซาแธมตันนั้น มีข้าราชการสถานทูตไทยและนักเรียนไทยไปส่งเสด็จฯ เป็นจำนวนมาก เขาเหล่านั้นรู้สึกตื้นตันใจเมื่อวงดุริยางค์ทหารอังกฤษบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและกองทหารลดธงประจำกองลงถวายความเคารพขณะที่ขบวนพระบรมอัฐิเคลื่อนผ่าน เพราะเป็นเวลาเกือบ ๑๔ ปีแล้วที่ไม่มีเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมีบรรเลงสำหรับพระมหากษัตริย์ผู้อาภัพและทรงเสียสละเพื่อชาวไทยทั้งชาติพระองค์นั้น” เมื่ออัญเชิญพระบรมอัฐิลงสู่เรือธงมหาราชสีเหลืองมีครุฑสีแดงประทับตรงกลางก็ขึ้นสู่ยอดเสาโบกสะบัดในสายลม ที่สิงคโปร์เสด็จฯ อัญเชิญพระบรมอัฐิลงเรือภาณุรังษีของบริษัท อีสต์ เอเชียติค ของเดนมาร์ก สู่เกาะสีชังแล้วจึงเสด็จฯ ลงเรือรบหลวงแม่กลองของราชนาวีไทยถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๔๙๒
          พระบรมวงศ์เธอฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสด็จในพระปรมาภิไธย
 ไปทรงรับพระบรมอัฐิและรับเสด็จสมเด็จฯ ณ ท่าราชวรดิษฐ์ เจ้าพนักงานอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ (ซึ่งอัญเชิญจากหีบตั้งแต่เมื่อลงเรือรบหลวงแม่กลอง) ขึ้นประดิษฐานเหนือบุษบกราเชนทรรถ เข้าขบวนพยุหยาตราใหญ่สู่พระบรมมหาราชวัง เทียบเกยหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทแล้วประดิษฐานอีกครั้งเหนือพระที่นั่งพุดตานบรมราชาอาสน์บนพระราชบัลลังก์ ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร แสดงถึงการถวายพระเกียรติยศอย่างเต็มที่

               วันรุ่งขึ้นมีงานพระราชกุศลทักษิณานุปทานพระบรมอัฐิและในวันที่ ๒๖ พฤษภาคม อัญเชิญ พระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ หอพระบรมอัฐิสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ที่ชั้นบนพระที่นั่งจักรี มหาปราสาท
             ต่อมาตั้งแต่วันที่ ๑๓ ถึงวันที่ ๒๐ มิถุนายน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโอกาส ให้ประชาชนได้เข้าถวายสักการะพระบรมอัฐิในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ครั้นวันที่ ๓๐ มิถุนายน ได้อัญเชิญพระบรมราชสริรางคารไปบรรจุในพุทธบัลลังก์พระพุทธอังคีรสภายในพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งเมื่อทรงราชย์ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์แทนการสร้างวัดประจำรัชกาล

          อนึ่ง ในการถวายพระราชกุศลครั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์หนังสือจดหมายเหตุงานบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๖๘ ซึ่งมีพระราชประวัติพระนิพนธ์ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ (ต่อมาทรงเป็น กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร) ประกอบ เป็นที่ระลึกพระราชทานด้วย อีกทั้งโปรดเกล้าฯ ให้เจ้ากาวิละวงศ์ ณ เชียงใหม่ ถ่ายภาพยนตร์และภาพนิ่งพระราชพิธีเพื่อทรงเก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วย หน่วยราชการต่าง ๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ธนาคารออมสินและกรมโฆษณาการได้ถ่ายภาพยนตร์และภาพด้วย นอกจากนั้นสมเด็จฯ ยังได้เสด็จฯ พระราชทานเข็ม พระปรมาภิไธย ป.ป.ร. เป็นที่ระลึกแก่นิสิต และเจ้าหน้าที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เข้าริ้วขบวนฯ ทั้งได้พระราชทานของที่ระลึก แหนบ และเสมารัชกาลที่ ๗ แก่ข้าราชการและข้าราชสำนัก สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ด้วย
























ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...