ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

แหวนวิเศษ : ภาพยนตร์ฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ 7 กับการสร้างสำนึกเยาวชนพลเมือง





พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เป็นนักถ่ายภาพยนตร์สมัครเล่น ทรงสนพระทัยการถ่ายภาพและภาพยนตร์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ.2468 ยังทรงฝึกฝนการถ่ายภาพและภาพยนตร์อย่างสม่ำเสมอ ทรงสนับสนุนกิจการภาพยนตร์ไทยและสนพระราชหฤทัยทอดพระเนตรภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศเมื่อทรงว่างจากพระราชกิจทรงนำภาพยนตร์ฝีพระหัตถ์ออกฉายให้พระประยูรญาติ และข้าราชบริพารชมในโอกาสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ด้านข่าวสารการเมือง หรืองานสารคดี หลายชิ้นถือเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ที่ทรงคุณค่าในสังคมไทยยุคต่อๆ มา เช่น งานพิธีเปิดสะพานพุทธยอดฟ้า พระราชพิธีโสกันต์เจ้านายเป็นต้น รัชกาลที่ 7 ทรงโปรดในการถ่ายภาพนิ่งและถ่ายภาพยนตร์ ทรงทดลองใช้เอง กล้องถ่ายภาพและภาพยนตร์จำนวนมากที่ทรงสะสมไว้ สะท้อนให้เห็นพระอุปนิสัย โปรดการถ่ายภาพและภาพยนตร์ ภาพยนตร์ทรงถ่ายมีเนื้อหาทั้งที่เป็นสารคดีและที่ให้ความบันเทิง


          ในจำนวนภาพยนตร์เหล่านี้ เรื่องที่เป็นเกียรติประวัติของวงการภาพยนตร์ไทยและแสดงพระราช-อัจฉริยภาพดีเยี่ยมในการสร้างโครงเรื่อง กำกับภาพ ลำดับฉากและอำนวยการแสดงคือเรื่อง "แหวนวิเศษ" นับได้ว่าพระองค์เป็นหนึ่งในบุคคลที่บุกเบิกวงการภาพยนตร์ไทยอีกพระองค์หนึ่ง ฉากที่ใช้ในการถ่ายทำ คือ เกาะพงันในหมู่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ถ่ายทำเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒

      ภาพยนตร์เรื่องแหวนวิเศษนี้ นอกจากจะเป็นผลงานที่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์หนึ่งได้ทรงสร้างขึ้นด้วยพระปรีชาสามารถทั้งการผูกเรื่อง การกำกับ การถ่ายทำ และการตัดต่อ ซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติอันสำคัญรอบด้านของคนทำงานภาพยนตร์แล้ว ก็ยังเป็นการใช้กลวิธีการสอดแทรกคุณธรรม และจินตนาการผ่านการเล่าเรื่องอย่างสนุกสนาน สื่อสารด้วยภาษาง่ายๆ และการผูกเหตุการณ์ของสิ่งธรรมดาสามัญกับอำนาจเหนือธรรมชาติให้บรรจบพบกัน แม้จะเป็นภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นในยุคที่เรียกว่า “หนังเงียบ” แต่ก็เป็นความเงียบที่ปะปนด้วยเสียงหัวเราะและรอยยิ้มบนใบหน้าของคนดูทุกยุคสมัย

ภาพยนตร์เรื่องนี้เปิดฉากที่ท้องทะเลแห่งหนึ่ง นายคง ชายชาวประมงพายเรือลำหนึ่งมาขึ้นเกาะร้าง ในเรือลำนั้นมีเด็กๆ อยู่ห้าคน เจ้าเก่ง เจ้าตะกละ เจ้าซน เจ้าขี้เกียจ และหนูแหวน ทั้งห้าเป็นลูกติดหญิงหม้ายที่นายคงได้มาเป็นภรรยาใหม่แต่ด้วยความจนไม่สามารถเลี้ยงดูเด็กทั้งหมดนั้นได้นายคงจึงวางแผนที่จะเอาไปปล่อยทิ้งไว้ในเกาะ เด็กๆ ถูกบังคับให้ออกไปหาอาหารกลางป่าลึก เพราะนายคงหวังว่าจะหลงทางกลับไม่ได้ แต่มีนางพรายน้ำใจดีมาพบกับเด็กๆ แล้วมอบแหวนให้วงหนึ่ง แหวนนั้นมีอำนาจวิเศษเมื่อผู้สวมใส่ชี้ไปที่อะไรแล้วนึกปรารถนาก็จะได้สิ่งนั้นดังใจ เด็กๆ ที่หิวโหยเลือกเสกขนมมากินกันจนอิ่ม จากนั้น ก็เอาก้อนหินคนละก้อนหิ้วกลับไปฝากนายคง เมื่อนายคงเห็นเข้าไม่พอใจก็ต่อว่าต่อขาน แต่เมื่อเด็กๆ เสกให้ก้อนหินนั้นเป็นผลไม้ต่อหน้า นายคงก็เกิดอัศจรรย์ใจ ยิ่งทราบถึงอิทธิฤทธิ์ของแหวนจากปากคำของเด็กๆ ก็ยิ่งเกิดความโลภ ในที่สุดก็คิดชั่วหลอกให้เด็กๆ นอนหลับเพื่อจะฆ่าทิ้งเอาแหวนมาเป็นสมบัติของตนเสีย

     เจ้าเก่ง พี่ชายใหญ่และเป็นผู้นำเด็กๆเป็นตัวอย่างที่ดีของการสร้างสำนึกเยาวชนพลเมือง ก็ตื่นขึ้นมา ทันที่นายคงกำลังเงื้อง่ามีดพร้าจะฆ่าฟัน เกิดการต่อสู้เพื่อป้องกันน้องๆ ในที่สุดนายคงถูกสาปเป็นสุนัข เด็กๆ ก็ล้อเลียนสุนัขนั้นกันอย่างสนุกสนาน จนหนูแหวนน้องคนสุดท้องนึกสงสาร วอนพี่ๆ ขอให้คืนคำสาป เสกสุนัขมาเป็นพ่อดังเดิม และให้เป็นพ่อที่ใจดีที่สุดในโลก นายคงกลับมาเป็นคน ก็รู้สึกสำนึกผิด ขอโทษในความร้ายกาจที่เคยกระทำมาแก่ลูกๆแล้วชักชวนกันเดินทางกลับบ้าน ก่อนที่เรือจะออกนั้น แหวนวิเศษก็หล่นน้ำหายไปในทะเล แต่ว่าทุกคนก็มิได้เสียใจในความสูญเสียของวิเศษนั้นแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่ได้กลับคืนมานั้นวิเศษยิ่งกว่า นั่นคือความรักของครอบครัว ความรักที่จะเดินทางฝ่าคลื่นลมกลับไปสู่บ้านอันแสนสุขที่รอคอยทุกชีวิตอยู่ในอีกฟากฝั่งหนึ่งของท้องทะเลกว้างใหญ่

เรื่องราวที่ปรากฏในภาพยนตร์ถูกถ่ายทอดโดยตัวละครสำคัญ 7 ท่านและอีก 1 ตัว

ได้แก่

1) ผู้แสดงเป็นนายคง คือ พระองค์เจ้าอ๊อสคาร์นุทิส กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์

2) เจ้าเก่งพี่ชายใหญ่ รับบทโดย หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์

3) เจ้าตะกละผู้หิวโหยอยู่ตลอดเวลา รับบทโดย หม่อมเจ้ายุธิษเฐียร สวัสดิวัตน์

4) เจ้าซนจอมทะลึ่งผู้ไม่กลัวใครแม้แต่ไม้เรียวของพ่อเลี้ยง รับบทโดย พระองค์เจ้า

จิรศักดิ์สุประภาต

5)เจ้าขี้เกียจผู้ง่วงเหงาหาวนอนตอลดเวลาที่อยู่หน้ากล้อง ทุกฉากทุกตอน รับบทโดย หม่อมเจ้าอัฌชา จักรพันธุ์

6)หนูแหวน เด็กหญิงคนเดียวในครอบครัวผู้มีจิตใจเมตตาขอร้องให้คลายคำสาปพ่อเลี้ยงจากหมาให้กลายเป็นคน รับบทโดย หม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง สวัสดิวัตน์

7)นางพรายน้ำ ผู้ทำให้ชีวิตของเด็กๆเปลี่ยนแปลงด้วยอำนาจแหวนวิเศษ รับบทโดยหม่อมหลวงบัว สนิทวงศ์ และยังมีดาราพิเศษ ได้แก่ “ขุนช้าง” สุนัข ของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณื พระบรมราชินี ทรงร่วมเป็นองค์อุปถัมภ์กองถ่ายทำภาพยนตร์ “แหวนวิเศษ” เรื่องนี้ขุนช้างรับบทเป็นนายคงตอนที่ถูกสาป













ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...