ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

นสพ.เก่าเล่าเรื่องการเมืองไทย

           หนังสือพิมพ์  นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะสื่อมวลชนประเภทหนึ่ง  การจัดทำหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงต้นรัชกาลที่ 6 จัดหน้าแรกของหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องของการโฆษณาสินค้าทั้งหมด  หน้าต่อไปจึงเป็นข่าวที่มีปะปนไปกับการโฆษณาแจ้งความต่างๆ  ซึ่งในสมัยนั้นข่าวยังไม่ได้แยกแบ่งเป็นหมวดหมู่  มีทั้งข่าวภายในประเทศ  ข่าวต่างประเทศ ข่าวต่างจังหวัด และบทความยังลงปะปนกัน  ไม่ได้แบ่งหน้าเป็นสัดส่วนเฉพาะ  ต่อมาจึงมีความเปลี่ยนแปลง เช่นมีการพาดหัวข่าว  เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจในข่าว




เช่น  การใช้ภาษาที่ตื่นเต้นชวนให้อ่านข่าว  ต่อมาเมื่อกิจการการพิมพ์เจริญขึ้น มีโรงพิมพ์เพิ่มหลายแห่งขึ้น และประชาชนสนใจข่าวสารบ้านเมืองมากขึ้น จึงมีหนังสือพิมพ์ออกกันอย่างแพร่หลาย ทั้ง ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน ดังรายชื่อหนังสือพิมพ์รายวันในสมัยรัชกาลที่ 6 ดังนี้
1. สามสมัย เจ้าของ คือ นายเพ็ง พ.ศ. 2453
2.สยามราษฎร์ เจ้าของ คือ นายสุกรี วสุวัต พ.ศ. 2463-2468
3. ประชาโภคา เจ้าของคือ โรงพิมพ์บุญช่วยเจริญ พ.ศ. 2464-2465
4. ยามาโต  เจ้าของ คือ นายไอ มียาคาวา พ.ศ. 2465-2466
5. บางกอกการเมือง เจ้าของ คือ นายหอม นิลรัตน์ ณ กรุงเทพฯ พ.ศ. 2466-2475
6. ข่าวสด เจ้าของ คือ นายหอม นิลรัตน์ ณ กรุงเทพฯ พ.ศ. 2466-2466   เป็นต้น
ส่วนหนังสือพิมพ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ของรัชกาลที่ 6 คือ หนังสือพิมพ์ไทย  หนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต ดุสิตสมัย และดุสิตสักขี และทวีปัญญา  ทรงเขียนบทความต่างๆ และเปิดโอกาสให้มีการเขียนวิพากษ์วิจารณ์โต้ตอบกัน เช่น เมืองไทยจงตื่นเถิด  โคลนติดล้อ พร้อมทั้งวาดภาพการ์ตูนล้อการเมือง  ศิลปินการ์ตูนิสต์การเมืองคนแรกของเมืองไทย คือ เปล่ง ไตรปิ่น (ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต) เขียนล้อเลียน บุคคลสำคัญ อาทิเจ้านายและขุนนางสำคัญ อาทิ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เจ้าพระยายมราช พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นต้น
      ตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 และต้นรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา  เริ่มมีหนังสือพิมพ์การเมืองเกิดขึ้นมาก เช่น จีนโนสยามวารศัพท์ (2450) บางกอกเดลิเมล์ (2451) บางกอกการเมือง (2465) เกราะเหล็ก (2467)  นสพ.ดังกล่าวมีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์การเมืองสูงมาก  เป็นการวิจารณ์รัฐบาล และการทำงานของข้าราชการ นับเป็นครั้งแรกของงานการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลโดยหนังสือพิมพ์  ตั้งแต่นโยบายด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การฉ้อราษฎรบังหลวง ไปจนถึงเรื่องซุบซิบเกี่ยวกับชีวิตส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์  รัชกาลที่ 6 และรัฐบาลจึงรับมือกับนสพ.เหล่านี้ด้วยการให้เงินอุปถัมภ์เป็นการเข้าซื้อกิจการหนังสือพิมพ์บางฉบับ เช่น นสพ.ไทย กรุงเทพเดลิเมล์ และทรงออกเอง คือ ดุสิตสมิต (2461) นสพ.ดังกล่าวไม่เพียงเสนอความเห็นเป็นฝ่ายเดียวกับรัฐบาล  แต่ยังปกป้องนโยบายรัฐบาลอีกด้วย  ด้วยเหตุนี้จึงถูกล้อเลียนว่า เป็นหนังสือพิมพ์ "ขอรับกระผม"
      ในปีพ.ศ. 2465 รัชกาลที่ 6 ทรงออกพระราชบัญญัติว่าด้วยสมุด เอกสารและหนังสือพิมพ์ที่ให้อำนาจแก่รัฐบาลในการใช้วิธีทางกฎหมายควบคุมนสพ.แต่กฎหมายดังกล่าวไม่ประสบผลนักในการหยุดยั้งที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล
      ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 ทรงออกพระราชบัญญัติว่าด้วยสมุด เอกสารและหนังสือพิมพ์ พ.ศ. 2470 มีหนังสือพิมพ์และวารสาร ที่ออกมาในช่วง 4 ปีของช่วงต้นรัชกาลระหว่างพ.ศ. 2468-2472 มีมากถึง 121 ฉบับ เป็น หนังสือพิมพ์รายวัน 18 ฉบับ จากการศึกษาพบว่าใน จำนวน 121 ฉบับ มี 65 ฉบับที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี และจากรายวัน 13 ฉบับจาก 18 ฉบับมีอายุน้อยกว่า 2 ปี




นสพ.รายสัปดาห์สมัยรัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2469-2470)


    สยามรีวิว เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ ที่แตกแขนงออกมาจาก บางกอกการเมืองและไทยหนุ่ม โดยมีคณะผู้ดำเนินการที่เคยทำงานอยู่ในกองบรรณาธิการบางกอกการเมือง และไทยหนุ่มมาก่อน เช่น นายถนิม เลาหะวิไลย (เจ้าของแต่ในนาม ส่วนเจ้าของตัวจริงคือ นายพร้อม เจ้าของร้านพร้อมพรรณ)นายชอ้อน อำพล เป็นบรรณาธิการ ข้อน่าสนใจก็คือ สยามรีวิว มีนักเขียนประจำที่มาจากผู้ก่อการ ร.ศ. 130 เช่น นายจรูญ นายอุทัย นายบ๋วย บุณยรัตน์พันธุ์  เป็นต้น จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่งานเขียนในสยามรีวิวจะมีความโดดเด่นตรงที่ มักวิพากษ์วิจารณ์การเมืองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
กระทั่งถูกเพ่งเล็งจากฝ่ายรัฐบาลเสมอ โดยเฉพาะบทความที่ชื่อ "ราษฎรตื่นแล้ว" [ฉบับประจำวันที่ 10 กรกฎาคม 2470]  ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการเรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐสภา สำหรับเป็นที่แสดงความคิดเห็นของราษฎร
        ในขณะเดียวกับที่หนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ ต่างก็มีบทความเรียกร้องในทำนองเดียวกัน เช่น เรื่อง "อำนาจเจ้า" ในหนังสือพิมพ์กรรมกร  เรื่อง "สิทธิแห่งราษฎร" ใน พิมพ์ไทย เรื่อง "ให้ราษฎรมีเสียงในการเมือง" ใน บางกอกเดลิเมล์  เป็นต้น  ผลกระทบที่จะเห็นได้ในชั้นถัดไปนั้น ได้แก่ การที่มีบางแนวคิดทรงอิทธิพลอย่างมาก สำหรับการเมืองในกระแสทางเลือกขณะนั้น "ประชาธิปไตย" มีความหมายตรงข้ามกับ "ราชาธิปไตย" และระหว่าง "ชาติ" กับ "กษัตริย์" นั้นมีการกลับหัวเป็นท้ายกันเกิดขึ้น กล่าวคือเดิม "ชาติ" ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นสิ่งที่ต้องยึดโยงเป็นรองหรือขึ้นต่อ "กษัตริย์" โดยเฉพาะ "ชาติ" ตามแนวพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทศวรรษ 2470 นั้น "กษัตริย์" ต้องขึ้นต่อและ / หรือมีความสำคัญน้อยลงโดยเปรียบเทียบกับ "ชาติ" ซึ่งมีความหมายเท่ากับอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอีกต่อหนึ่ง โดยที่ในความเป็นจริงจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
        การกล่าวเช่นนี้, การที่ "ชาติ" กับ "กษัตริย์" สัมพันธ์กันเช่นนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าก่อน 2475 จะไม่มี "ชาติ" จะถูกต้องกว่าถ้าบอกว่ามี แต่อยู่ในอีกรูปแบบหนึ่ง แม้ในทางโครงสร้างแล้ว "รัฐประชาชาติ" จะกำเนิดหลัง 2475 ก็จริง แต่ในเชิงอุดมคติ แนวคิด เป้าหมาย อุดมการณ์ แล้ว "ชาติ" มีรากกำเนิดมาก่อนหน้านั้น "รัฐประชาชาติ" กับ "ชาตินิยม" เป็นคนละสิ่งกัน อย่างหลังมีความยืดหยุ่นจนสามารถแยกจำแนกออกไปได้อีก ส่วนอย่างแรกยึดติดกับโครงสร้างซึ่งยากแก่การปรับเปลี่ยน ตรงข้ามกลับมักเข้มแข็งขึ้นตามลำดับพัฒนาการของการเมืองสมัยใหม่ ไม่ใช่เสมอไปที่รัฐประชาชาติจะเป็น "เหตุ" ให้เกิดแนวคิดและสิ่งประดิษฐ์ทางชาตินิยม แต่รัฐประชาชาติอาจเป็น "ผล" รวมจากการก่อเกิดของสิ่งเหล่านั้นอยู่ก่อนแล้ว ถ้าบอกไม่มี "ชาติ" ก่อน 2475 โดยตรรกะ [หรือในทางตรงข้าม] แล้วก็เท่ากับบอกว่าหลัง 2475 ไม่มี "กษัตริย์" ซึ่งจะผิดพลาดจนน่าขันเสียมากกว่า !!
        อย่างไรก็ตาม การที่ "กษัตริย์" ต้องเป็นรองและขึ้นต่อ "ชาติ" นี้เองทำให้เกิดความเป็นไปได้ทั้งในทฤษฎีและการปฏิบัติ สำหรับแนวคิดสาธารณรัฐนิยมในสังคมไทย ในความเป็นจริงแนวคิดดังกล่าวก็ได้รับความสนใจ และหยั่งรากลึกในความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองกระแสทางเลือกร่วมสมัย แต่ก็เพียงชั่วระยะหนึ่งเท่านั้น โดยผลกระทบของการเคลื่อนไหวแนวคิดดังกล่าวเห็นได้ทางหนึ่งก็เช่นในคำประกาศกร้าวของคณะราษฎรที่ว่า
      ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตน ว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างประชาธิปไตย กล่าวคือประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลาก่อนที่กษัตริย์นิยมแบบหนึ่ง กับระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญจึงเป็นทางออกที่ถูกเลือกในเวลาต่อมา       




           


   เซียวฮุดเสง สีบุญเรือง  เป็นชาวจีนคนหนึ่งที่เกิดและเติบโตในเมืองไทย  เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยปลายสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2450) -สมัยรัชกาลที่ 6 โดยออกหนังสือพิมพ์จีนโนสยามวารศัพท์   แสดงความชื่นชมกับคณะราษฎรเมื่อการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 สำเร็จ




ศึกษาเพิ่มเติมได้จาก :
1.เพ็ญพิสุทธิ์ อินทรภิรมย์ "บทบาทและการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเซียวฮุดเสง พ.ศ. 2450-2474 วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต ประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2544.
2. อัจฉราพร กมุทพิสมัย "ปัญหาภายในก่อนการปฏิวัติ 2475 : ภาพสะท้อนจากเอกสารและงานเขียนทางหนังสือพิมพ์" กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530.
3. มาลี บุญศิริพันธ์ "เสรีภาพหนังสือพิมพ์ไทย" กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์,2548






ความคิดเห็น

  1. นายถนิม เลาหะวิไลย ค่ะ ไม่ใช่ นายสนิท เลาหะวิไล ..ไลย มี ย ด้วยค่ะ จึงจะถูกต้อง

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...