พระบรมฉายาลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพรรณีฯ |
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริในการปลูกฝังให้เยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพโดยให้ศึกษาจากข้อธรรมะในพระศาสนาและการปลูกฝังให้การศึกษาแก่ประชาชนให้มี "น้ำใจดี" เพื่อความสำเร็จในการปกครองระบอบประชาธิปไตย การอบรมเยาวชนในพระพุทธศาสนา ทรงพระราชดำริว่า การศึกษาไม่ควรแยกออกจากวัด และในรัชสมัยทรงริเริ่มโปรดเกล้าฯให้มีการประกวดการแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็กเป็นครั้งแรก และทรงมีพระราชดำรัสว่า
"พระศาสนาเป็นสิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิต คือ
" ...ศาสนาถ้าสอนให้ถูกทาง ศาสนาจะเป็นยาบำรุงกำลังน้ำใจให้ทนความลำบากได้ ให้มีแรงที่จะทำการงานของตนให้เป็นสำเร็จ และยังเป็นยาที่จะสมานหัวใจให้หายเจ็บปวดในยามทุกข์ได้ด้วย... พวกเราทุกๆคน ควรพยายามให้เด็กๆลูกหลานของเรามี "ยา" สำคัญคือคำสอนของพระบรมศาสดาสัมพุทธเจ้าติดตัวไว้เป็นกำลังเพราะ "ยา" อย่างนี้เป็นทั้งยาบำรุงกำลัง และยาสมานหรือระงับความเจ็บปวด"
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระราชทานแนวทางที่จะทำให้เยาวชน"มีน้ำใจดี" ว่าอยู่ที่การฝึกฝนเด็กนักเรียน
"....การปกครองที่จะดีขึ้นนั้น ยิ่งเป็นแบบรัฐสภาหรือแบบปาลิเมนต์ด้วยแล้วถ้าจะดีได้ก็ต้องอาศัยความดีของประชาชน ต้องอาศัยน้ำใจและนิสัยของประชาชนเป็นใหญ่ ถ้าประเทศใดมีประชาชนมีน้ำใจดีรู้จักวิธีที่จะปกครองตนเองโดยแบบมีรัฐสภาจริงๆแล้ว การปกครองนั้นก็จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศเป็นอันมาก..."
ประการแรก ให้รักขนบธรรมเนียม
ประการที่สอง ให้รู้จักปกครองกันเองตามลำดับขั้น ตั้งแต่ ครู เด็กชั้นใหญ่ เด็กชั้นเล็ก และมีวินัยที่เคร่งครัด เพราะถ้าจะให้ประเทศมีการปกครองที่ดีงามต่อไปต้องฝึกหัดเด็กของเราให้รู้จักเคารพนับถือผู้ใหญ่ และให้รู้จักรับผิดชอบที่จะปกครองผู้น้อยต่อไปโดยยุติธรรม
ประการที่สาม ต้องฝึกให้เด็กนักเรียนมีน้ำใจเป็นนักกีฬาแท้ ทรงให้อรรถาธิบายว่า "นักกีฬาแท้" ว่า
จะเล่นเกมอะไร ก็ต้องเล่นให้ถูกต้องตามกฎข้อบังคับของเกมนั้น ไม่ใช้วิธี โกงเล็กโกงน้อย ถ้าเกมนั้นเล่นกันหลายคน ก็ต้องเล่นเพื่อชัยชนะของฝ่ายตน ไม่ใช่เล่นเพื่อแสดงความเก่งของตัวคนเดียว ข้อที่สำคัญก็คือ นักกีฬาแท้ต้องรู้แพ้รู้ชนะ ทรงเห็นว่า หลักการของความเป็นนักกีฬาแท้นี้ เป็นประโยชน์ทางด้านการเมืองด้วย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น