ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

พระราชบันทึกระบอบประชาธิปไตยในประเทศสยาม

พระราชบันทึกระบอบประชาธิปไตยในประเทศสยาม (มิถุนายน พ.ศ. 2470)
   
         พระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง "ระบอบประชาธิปไตย"  ปรากฏชัดเจนในพระราชบันทึกภาษาอังกฤษที่มีความยาว 3 หน้ากระดาษ  พระราชทานลงมายังคณะกรรมการจัดระเบียบองคมนตรี เมื่อเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2470




          ปัญหาที่ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเหมาะสม หรือจะมีวันเหมาะสมแก่ประเทศสยามหรือไม่นั้น เป็นปัญหาที่ได้ถกเถียงกันระหว่างปัญญาชนของประเทศสยาม มาเป็นเวลานานแล้วและแม้ในขณะนี้ก็กำลังเป็นปัญหา ที่ถกเถียงระหว่างคนที่มีการศึกษาครึ่งๆกลางๆ ซึ่งคนเหล่านี้บางคนได้แสดงความคิดเห็นลงในหน้าหนังสือพิมพ์ภาษาไทยแล้ว ประมวลความเห็นทั่วไปนั้นมีอยู่ว่า ประเทศสยามในปัจจุบันยังไม่พร้อม ที่จะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่อาจนำมาใช้ได้ในวันข้างหน้าซึ่งยังห่างไกลอยู่ คนบางคนยืนยันว่าการปกครองระบอบรัฐสภานั้น จะไม่วันเหมาะสมสำหรับประชาชนชาวสยามโดยให้เหตุผลว่า มีแต่ชนชาวแองโกลแซ็กซอนเท่านั้น ซึ่งได้สามารถทำให้ระบอบการปกครองระบอบนั้นเป็นผลสำเร็จได้ ไม่มีที่สงสัยเลยว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น จะเป็นผลสำเร็จจริงจังได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีการพัฒนาการขั้นสูง อาจเป็นไปได้ว่าจะต้องมีคุณสมบัติประจำเผ่าพันธุ์ บางประการ (ซึ่งชาวแองโกล - แซ็กซอนมีคุณสมบัตินี้อยู่ในระดับสูง) ถ้าสถาบันประชาธิปไตยต่าง ๆ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปอย่างจริงจัง และจะเป็นประชาธิปไตยอย่างจริงจัง และแท้จริงมิใช่แต่ในรูปแบบ แต่ในความจริงอีกด้วย มีระบอบประชาธิปไตยมากเกินไปอยู่แล้ว ที่เป็นประชาธิปไตยแต่ในรูปแบบเท่านั้น

       ข้าพเจ้าเองค่อนข้างจะคิดว่าประชาธิปไตยอันแท้จริงนั้น จะเป็นผลสำเร็จได้ยากในประเทศสยาม ระบอบประชาธิปไตย อาจถึงกับเป็นอันตรายต่อประโยชน์อันแท้จริงของประชาชน ลองคิดดูก็ได้ทันทีว่า การปกครองระบอบรัฐสภานั้นจะเป็นอย่างไรในประเทศสยาม แล้วก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดกันถึงขั้นรายละเอียด ข้าพเจ้าจะขอเอ่ยถึงความจริงข้อหนึ่งคือ พรรคการเมืองของคนจีนจะมีอำนาจเหนือรัฐสภา เราอาจไม่ให้สิทธิ์ทางการเมืองแต่อย่างไรแก่คนจีนก็ได้ แต่เขาก็จะมีอำนาจเหนือสถานการณ์อยู่นั่นเอง เพราะเขามีเงินสดอยู่ในมือเป็นจำนวนมาก

       พรรคการเมืองใดซึ่งตั้งอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินทุนจากคนจีน จะไม่มีวันทำการสำเร็จได้ เพราะฉะนั้นการเมืองในประเทศสยามจะอยู่ใต้อำนาจพ่อค้าคนจีนซึ่งจะเป็นผู้สั่งการ ที่พูดมานี้มีทางที่จะเป็นไปได้อย่างยิ่ง เราอาจหาเหตุผลต่างๆเป็นจำนวนมากได้โดยง่าย ในอันที่จะสนับสนุนความคิดที่ว่าประเทศสยามไม่ควรมีรัฐบาลระบอบรัฐสภา เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วเราก็ควรจะถามว่า "ถ้าอย่างนั้นจะมาคิดถึงเรื่องระบอบประชาธิปไตยกันทำไมเล่า" คำตอบปัญหานี้ก็คือ เราจะต้องจดจำไว้เสมอว่า ประชาชนส่วนใหญ่นั้นมิได้คิดด้วยเหตุผล แต่คิดด้วยอารมณ์เท่านั้น เรื่องนี้เป็นความจริงโดยพิเศษสำหรับฝูงชนทั่วไป จะมีวันหนึ่งซึ่งประชาชนชาวสยามจะเรียกร้องเอารัฐสภา (ในขณะนี้ก็มีร่องรอยเช่นนั้นแล้วในกรุงเทพ ฯมิใช่หรือ?) ไม่มีประโยชน์อันใดที่จะอธิบาย แม้แต่ด้วยเหตุผลอย่างดีที่สุด ว่าการปกครองระบอบรัฐสภานั้น ไม่เหมาะสมต่อคุณสมบัติในทางเผ่าพันธุ์ของชาวสยาม เขากลับจะพากันตะโกนดังขึ้นไปอีกว่าเขาถูกกดขี่ด้วยชนชั้นปกครอง ที่เป็นทรราชย์ และอาจมีความวุ่นวายบางประการเกิดขึ้นได้ (ในระยะเวลาปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะมีชาวสยาม ผู้ใดที่พร้อมจะเสียสละชีวิตของเขา เพื่อความเชื่อถือในทางการเมือง)

         ประเทศบางประเทศอาจนำเอาระบอบประชาธิปไตยมาใช้เพียงเพื่อความจำเป็นก็ได้ ทั้งที่รู้อยู่ดีว่าระบอบนั้นไม่เหมาะสมกับนิสัยใจคอของประชาชน ด้วยเหตุนี้จึงมีประเทศบางประเทศที่มีรัฐสภาเป็นการเล่น ๆ ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นการแน่นอนแล้วที่เราจะต้องเล่นกันอย่างนั้นบ้างในประเทศสยามในเวลาข้างหน้า ด้วยความคิดคำนึงเหล่านี้อยู่ในใจข้าพเจ้าจึงกำลังพิจารณาการปฏิรูปบางอย่างขึ้น

          ข้าพเจ้ามีความเห็นว่าถ้าเรายอมรับกันว่าวันหนึ่งเราจะต้องถูกบังคับให้มี ประชาธิปไตยบางแบบขึ้นในประเทศสยามแล้ว เราก็ต้องเตรียมตัวของเราเอง ให้พร้อมอย่างค่อยเป็น ค่อยไป เราจะต้องเรียนรู้และให้การศึกษาแก่ตนเอง เราจะต้องเรียนทดลอง เพื่อที่จะได้มีความคิดว่าการปกครองระบอบรัฐสภานั้น จะดำเนินการได้อย่างไรในประเทศสยาม เราจะต้องพยายามให้การศึกษา แก่ประชาชนให้เขามีการรับรู้ในทางการเมือง ให้เขารู้จักผลประโยชน์อันแท้จริงของเขา เพื่อที่เขาจะไม่ถูกชักนำไปในทางที่ผิดโดยนักปลุกระดม หรือผู้ที่เอาแต่ฝันถึงยุคพระศรีอารย์ ถ้าเราจะต้องมีรัฐสภากันแล้ว เราก็จะต้องสอนให้ประชาชนรู้จักเลือกตั้ง ว่าทำกันอย่างไร และรู้จักเลือกผู้แทนผู้ซึ่งเห็นแก่ประโยชนของประชาชนอยู่ในใจอย่างแท้จริง

          การปรับปรุงจัดตั้งสภาองคมนตรีขึ้นใหม่นั้น เป็นความพยายามที่จะดำเนินการตามขั้นตอน ขั้นแรกแห่งความคิดเหล่านี้ จะมีคนพูดว่า กรรมการองคมนตรี ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ จะไม่เป็นตัวแทนความคิดเห็นสาธารณะ โดยทั่วไปและในฐานะที่เป็นองค์การ ก็จะไม่ใช่ตัวแทนอันแท้จริงแห่งผลประโยชน์ของประชาชน ถ้าจะว่าไปแล้วที่จะพูดกันอย่างนี้ก็เป็นความจริง ข้าพเจ้าได้ตั้งในไว้ว่าจะให้สภาองคมนตรีนี้ เป็นแต่เพียงการทดลองในขั้นแรก และเป็นการศึกษาในวิธีการ แห่งการอภิปรายในรัฐสภาเท่านั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าประสบการณ์ที่จะได้รับนั้นจะเป็นประโยชน์สภาองคมนตรี อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงความคิดเห็นสาธารณะทั่วไปก็ได้ และข้าพเจ้าไม่คิดว่าจะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงเสียทีเดียว แต่ก็จะต้องคิดไว้ล่วงหน้าว่าการตั้งสถาบันนี้ขึ้น จะไม่ทำให้ทุกคนได้รับความพอใจ และจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปต่าง ๆ (ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ที่จะทำสิ่งใดหรือจัดตั้งอะไรขึ้นโดยไม่ถูก วิจารณ์ในทางทำลายจากคนบางกลุ่มในประเทศสยามนี้) ขั้นต่อไปในการศึกษาของเราเพื่อไปสู่ระบอบประชาธิปไตยจะเป็นการจัดตั้งเทศบาลขึ้นในที่ต่าง ๆ การนี้จะเป็นปัจจัยที่จะสอนให้ประชาชนรู้จักใช้สิทธิเลือกตั้ง และการทดลองนี้ก็จะเป็นประโยชน์และเป็นการให้ความรู้ไปในตัวจะเป็นการดีกว่าในการที่จะให้ประชาชน ได้รู้จักเข้าควบคุมกิจการท้องถิ่นด้วยตนเองก่อน ที่เขาจะพยายามที่จะควบคุมราชการแผ่นดินโดยผ่านรัฐสภา ข้าพเจ้าเชื่ออย่างจริงใจว่าถ้าหากการปฏิรูปนี้ ค่อย ๆ นำเอามาใช้ตามวิธีนี้ การปกครองระบอบประชาธิปไตย ก็อาจนำมาใช้ได้ต่อไป โดยไม่มีอันตรายมากนักแต่การกระทำนั้นจะต้องค่อยเป็นค่อย ไปเหมือนกับการให้ยาที่กำหนดปริมาณของยาแล้วอย่างรอบคอบแต่ละครั้ง ถ้าหากว่าการทดลองเหล่านี้ล้มเหลวทุกขั้นตอน ก็อาจทำให้ประชาชนแลเห็นความจริงได้ในที่สุดว่าระบอบประชาธิปไตยนั้น
มิใช่ระบอบการปกครองสำหรับประเทศสยาม อันตรายนั้นอยู่ที่ความใจร้อนรีบทำ
           ยังมีอีกปัญหาหนึ่งซึ่งอยู่ในใจของนักคิดในประเทศสยาม คือปัญหาเรื่องอำนาจอันล้นพ้นของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งไม่มีผู้ใดทัดทานได้ ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นก็เหมือนกับ ระบอบประชาธิปไตยในข้อที่ว่า อาจเป็นภัยอันตรายขึ้นเมื่อใดก็ได้ เพราะหลักการของทั้งสองระบอบนี้ ขึ้นอยู่กับความประเสริฐสุดแห่งธรรมชาติของมนุษย์ อันเป็นสิ่งอ่อนแอเหลือเกินที่จะพึงพาอาศัยได้ ระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงนั้น ก็ขึ้นอยู่กับจิตใจอันมั่นคงของประชาชน และระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่มีแต่ความกรุณานั้นก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติเฉพาะพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นความจริงที่น่าเสียดายว่าราชวงศ์กษัตริย์ทุกราชวงศ์ ไม่ว่าจะประเสริฐอย่างไร จะต้องเปลี่ยนแปรไปทางที่ไม่ดีในวันใดก็วันหนึ่ง และอันตรายที่จะมีพระเจ้าแผ่นดินที่ไม่ดีในวันใดวันหนึ่งนั้น เป็นของที่เกือบจะแน่นอน ข้าพเจ้าเชื่อว่าวิธีต่าง ๆ ที่จะทำให้มีพระเจ้าแผ่นดินที่ดี อยู่บนราชบัลลังก์เสมอไปนั้น ได้ถูกนำมาใช้จนหมดแล้ว และวิธีการทุกวิธีการก็ได้มีความบกพร่องปรากฏขึ้นแล้ว วิธีให้ประชาชนเลือกพระเจ้าแผ่นดินนั้น ดูเหมือนจะดีอยู่ในหลักการ แต่ถึงกระนั้นก็ได้ทำให้เกิดทรราชอันร้ายแรงขึ้นหลายองค์แล้ว เช่น จักรพรรดิแห่งกรุงโรมบางองค์ เป็นต้น

         วิธีการอีกวิธีการหนึ่งที่นำมาใช้ก็คือ การเลี่ยงที่จะมีพระเจ้าแผ่นดินที่ไม่ดี แต่ขณะเดียวกันก็สร้างสถาบันขึ้นอันหนึ่งเพื่อควบคุมพระเจ้าแผ่นดิน

        วิธีนี้ก็ล้มเหลวไปบางครั้งบางคราวเหมือนกัน เช่นในกรณีพระเจ้าชาร์ลที่ ๑ ของอังกฤษ แต่ถ้าจะพิจารณาโดยทั่วไปแล้ววิธีนี้ได้ผลดีตามสมควร

         ข้าพเจ้ามีความต้องการอันแน่วแน่ที่จะจัดตั้งสถาบันอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น ซึ่งจะมีอำนาจยับยั้งการกระทำของพระเจ้าแผ่นดินสยามที่กระทำไปโดย พลการ หรือด้วยความไม่ฉลาด (ข้าพเจ้าเข้าใจเอาเองว่า คงจะไม่มีผู้ใดต้องการที่จะยับยั้งการกระทำที่ดีของพระเจ้าแผ่นดิน ข้าพเจ้ารู้สึกว่าถ้าหากว่าข้าพเจ้าทำการได้สำเร็จ ในอันที่จะนำเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ที่มีประโยชน์อันแท้จริงมาใช้ได้แล้ว ข้าพเจ้าก็คงจะได้ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ให้แก่ประเทศชาติของข้าพเจ้าและแก่พระราชวงศ์

       ปัญหาจึงมีอยู่ว่า เราจะจัดตั้งสถาบันใดขึ้นในขณะนี้ โดยยอมรับว่าระบอบรัฐสภานั้นยังเป็นไปไม่ได้สำหรับเวลาปัจจุบันนี้

        บางทีกรรมการองคมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ จะใช้การตามวัตถุประสงค์นี้ได้บ้างกระมัง ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงคิดว่า ความเห็นของหม่อมเจ้าสิทธิพรนั้นน่าสนใจอยู่ แต่ข้าพเจ้าใครขอเสนอการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยเพิ่มอีกมาตราหนึ่งเข้าไปในมาตราสิบสาม หรือหลังมาตราสิบสามมีข้อความว่า "ถ้ากรรมการองคมนตรีมีจำนวนสิบห้านาย ร่วมกันทำหนังสือถึงประธานกรรมการองคมนตรี ให้นำความกราบบังคมทูลว่า มีข้อราชการบางอย่างซึ่งสำคัญต่อประโยชน์ของแผ่นดินและประชาชน และควรที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้คณะกรรมการนำเรื่องเหล่านั้นมาพิจารณาได้ ให้ประธานองคมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูล ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ที่จะเรียกประชุมคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาเรื่องเหล่นนั้น" ทั้งนี้ก็เป็นทีเข้าใจว่า พระเจ้าแผ่นดินอาจพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เปิดประชุมก็ได้ หรือไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาตก็ได้สุดแล้วแต่พระราชดำริ (นี่คือสิทธิของพระเจ้าแผ่นดินที่จะวีโต อันเป็นสิทธิที่ยอมรับกันในระบอบประชาธิปไตยทั้งปวง พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชอำนาจ ที่จะยุบรัฐสภาได้อีกด้วย) ข้าพเจ้าคิดว่าตามรูปนี้ก็คงจะพอยอมกันได้ และยังดีกว่าที่จะให้สิทธิทั่วไปแก่สถาบัน ที่มิได้มาจากการเลือกตั้งที่ประชุมกันเมื่อไรก็ได้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าสิทธิของกรรมการองคมนตรีนี้จะสามารถ ทำงานตามวัตถุประสงค์ได้ คือเป็นเครื่องมือกีดขวางผู้ที่มีอำนาจมิให้กระทำการใด ๆ ตามใจตน หรือกระทำการใด ๆ อันขัดต่อผลประโยชน์ของรัฐ ใครก็ตามที่มีอำนาจคงจะไม่ปฏิเสธคำขอร้องนั้นง่าย ๆ นอกจากจะมีเหตุผลที่ดีจริง ๆ จริงอยู่คนที่ไม่มีศีลธรรมเลยอาจปฏิเสธคำขอร้องเช่นนั้น แต่สำหรับคนเช่นนั้นแล้ว สถาบันใด ๆ ก็ไม่สามารถที่จะป้องกัน มิให้เขาทำชั่วได้ แม้แต่รัฐสภาก็ป้องกันไม่ได้ (ดูตัวอย่างพระเจ้าชาร์ล) และสิ่งที่จะต้องทำเมื่อถึงขั้นนั้นก็คือตัดหัวคน ๆ นั้นเสีย

ฉะนั้น การตั้งกรรมการนี้ขึ้น จึงอาจทำให้เกิดประโยชน์ขึ้นได้สองทาง (ถึงแม้ว่าจะไม่สมบูรณ์นัก)

๑. เป็นเครื่องมือที่จะทดลองและศึกษาวิธีการแห่งการอภิปรายในรัฐสภา

๒. เป็นอิทธิพลที่จะคอยยับยั้งการใช้อำนาจในทางที่ผิด

หมายเหตุ ขอให้สังเกตว่าการแปลคำว่าองคมนตรีเป็นภาษาอังกฤษว่า Privy Councillors นั้นอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะสภาองคมนตรีของเรา โดยเฉพาะที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่นั้น จะเหมือนกับสภาองคมนตรีของอังกฤษเพียงแต่ในนามเท่านั้น ไม่มีความประสงค์ที่จะลอกแบบสภาองคมนตรีของอังกฤษเอามาใช้เลย เราจะต้องพยายามสร้างสถาบันทางการเมืองของเราขึ้นเอง และไม่ลอกแบบจากคนอื่น ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงเชื่อในการทดลอง


(อ้างมาจาก Democracy in Siam ฉบับภาษาอังกฤษแปลเป็นภาษาไทยโดย  ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช  ในคอลัมน์ "ข้าวไกลนา" นสพ.สยามรัฐ ปีที่ 27 ฉบับที่ 9146 วันที่ 22 ตุลาคม 2519)

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั