ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

"เงินทองของมายา...ข้าวปลาสิของจริง" : นสพ.กสิกรในสมัยพระปกเกล้าฯ


ปกหนังสืออนุสรณ์มจ.สิทธิพร  กฤดากร



ปกหนังสือพิมพิ์กสิกร


    ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร


          หนังสือพิมพ์ “กสิกร” เริ่มตีพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๗๐โดย หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทรงเป็นเจ้าของ บรรณาธิการเเละผู้จัดการ และมีเพื่อนนักเรียนที่จบจากต่างประเทศร่วมกันจัดทำเป็นวารสารการเกษตรซึ่งก้าวหน้าที่สุดในยุคนั้นของสยาม หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากรทรงเขียนคอลัมน์เกี่ยวกับเรื่องพื้นบ้านเเละไร่นาเป็นประจำเพื่อมุ่งผลักดันให้รัฐบาลทำการค้นคว้าเเละวิจัยเเละเผยเเพร่การยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาให้มีรายได้สูงขึ้น

          "เงินทองของมายา...ข้าวปลาสิของจริง" ประโยควรรคทอง ของ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ผู้บุกเบิกตำนาน "แตงโมบางเบิด" และเกษตรกรรมสมัยใหม่ จนได้รับขนานนามว่า "บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่" หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากรยังทรงเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๖ และรัชกาลที่ ๗ ผลงานของท่านสามารถสอนผู้สนใจวิชาเศรษฐศาสตร์ และเตือนใจนักเศรษฐศาสตร์ ในเรื่องหลักความเป็นจริงในสังคมได้เป็นอย่างดี แม้กระทั่งปัจจุบันเมื่อเกิดเหตุมหาอุทกภัยในภาคกลางของประเทศไทยช่วงไตรมาสที่ ๔ ของปีพ.ศ. ๒๕๕๔ ประโยคดังกล่าวก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของข้าวปลามังสาหารและพืชพรรณธัญญาหารอย่างชัดเจน กล่าวคือ แม้จะมีเงินทองอยู่ในมือก็ไม่สามารถหาซื้ออาหารมาบริโภคได้เพราะนอกจากจะไม่มีสินค้าอยู่ในชั้นวางของตามร้านสะดวกซื้อขนาดต่างๆแล้ว การคมนาคมเพื่อนำส่งอาหารไปสู่แหล่งจัดวางขายก็ยังล้มเหลวอีกด้วย
          ในปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากรได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมฝิ่น จากนั้นทรงพาหม่อมศรีพรหมมา กฤดากร ณ อยุธยา เสด็จไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่บ้านบางเบิด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓ พร้อมกับบุตรและธิดา คือ ม.ร.ว.อนุพร อายุ ๔ ขวบ และ ม.ร.ว.เพ็ญศรี อายุ ๙ เดือน
           หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทรงก่อตั้ง "ฟาร์มบางเบิด" ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยทรงใช้วิชาการทางการเกษตรแผนใหม่ ทำให้ "ฟาร์มบางเบิด" เป็นฟาร์มแห่งแรกในประเทศไทยที่ปลูกพืชคลุมดินด้วยการปลูกพืชหมุนเวียนในที่ดิน ต่างกับการปลูกพืชบนที่ดอนในยุคนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านจะทำการปลูกไร่เลื่อนลอยหรือทำนา นอกจากฟาร์มบางเบิดจะปลูกแตงโม นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังปลูกแตงไทย ข้าวโพด ถั่วลิสง เลี้ยงไก่เล็กฮอร์นขาวพันธุ์แท้ และเลี้ยงหมูพันธุ์ยอร์กเชียอีกด้วย
          จากหลักฐานในหนังสือพิมพ์ข่าวบ้านการเมือง (Home and Political News) ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑วันจันทร์ที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ซึ่งหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทรงเป็นเจ้าของ นายจงกล ไกรฤกษ์ เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์และผู้โฆษณา พิมพ์ที่โรงพิมพ์แนวหน้า ถนนราชบพิธ สำนักงาน ๒๔๐ บางลำพู เล่าถึงการบุกเบิกการกสิกรรมและออกหนังสือพิมพ์ “กสิกร” ว่า

           “...เคยทำการจริงๆ เมื่อพ.ศ. ๒๔๖๓ ข้าพเจ้าได้ลาออกจากราชการเพื่อมาบุกเบิกที่ดินทำการกสิกรรม เพราะมีความสนใจและเชื่อว่าการกสิกรรมน่าจะเป็นอาชีพของชนชั้นกลางในอนาคตเพราะผู้ที่รับการศึกษามีมากขึ้นทุกวัน และเข้าใจว่าคงจะมากกว่าหน้าที่ในราชการซึ่งเป็นจุดประสงค์ของนักเรียนส่วนมากในสมัยนั้น เมื่อข้าพเจ้าทำการได้ ๕ -๖ ปี และเห็นว่าได้ความรู้จากการทำจริงพอที่จะเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนร่วมชาติได้...”

          หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากรทรงรับคำชักชวนของเพื่อนข้าราชการที่ได้ศึกษาวิชาเกษตรกรรมมาจากต่างประเทศ ให้ออกหนังสือพิมพ์กสิกร เริ่มงานเมื่อต้น พ.ศ.๒๔๗๐ สำนักงานตั้งอยู่ที่ฟาร์มบางเบิด ด้วยต้นทุนเพียง ๗๐ บาท เฉลี่ยออก ๗ คนๆ ละ ๑๐ บาท กลุ่มเพื่อนข้าราชการดังกล่าวได้แก่

๑. พระช่วงเกษตรศิลปาการ (ช่วง โลจายะ) วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต ม.วิสคอนซิน

๒. หลวงอิงคศรีกสิกร (อินทรี จันทรสถิตย์) วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต ม.คอร์แนล

๓. หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (ทองดี เรศานนท์) วิทยาศาสตร์บัณฑิต ม.ฟิลิปปินส์

๔. พระนรราชจำนง (สิงห์ ไรวา)

๕. หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร

๖. หม่อมศรีพรหมมา กฤดากร

๗. ขุนศรีสุพรรณราช

           นโยบายของหนังสือพิมพ์กสิกร คือการสนับสนุนการกสิกรรมอันเป็นบ่อเกิดแห่ง
ความเจริญของประเทศชาติและเพื่อเผยแพร่ความรู้ในอาชีพนี้ทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ (theory and practice) หม่อมเจ้าสิทธิพร ทรงเล่าว่า

           “...หนังสือพิมพ์กสิกรตั้งตัวเป็นปึกแผ่นได้นั้นก็โดยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์รับซื้อหนังสือพิมพ์กสิกร ๑,๐๐๐ ฉบับ ทุกครั้งที่ออกแจกตามโรงเรียน ซึ่งเท่ากับพระราชทานเงินอุดหนุน (subsidy) ปีละ ๒,๔๐๐บาท แต่กระนั้นก็ไม่ทรงรังเกียจ บทความที่ข้าพเจ้าเขียนในฐานะเป็นบรรณาธิการกสิกร ตำหนินโยบายในด้านกสิกรรมแห่งรัฐบาลของพระองค์เพราะมีพระราชหฤทัยเป็นนักประชาธิปไตยที่ทรงเห็นว่า การติโดยใจบริสุทธิ์เพื่อประโยชน์ส่วนรวม แม้รัฐบาลจะไม่เห็นควรก็ดีก็ไม่เป็นความผิด...”

           หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทรงเคยเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนการทำกสิกรรมให้มากขึ้น โดยให้ตั้งสถานีทดลองเพื่อค้นคว้าหาความรู้ สำหรับใช้ให้เป็นประโยชน์แก่พลเมืองทั่วไป เพราะถ้าผลของการกสิกรรมดีขึ้นฐานะของพลเมืองก็ดีขึ้น ไม่ใช่แต่เฉพาะกสิกร เพราะประเทศเราเป็นประเทศกสิกรรม ผลของการกสิกรรมจึงเป็นวัตถุสินค้าใหญ่ ฉะนั้นการบำรุงกสิกรควรเป็นงานอันดับแรกของรัฐบาล เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำใน พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นหลักฐานชี้ให้เห็นว่าการบำรุงกสิกรรมโดยวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งจำเป็น

           ในพ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเรียกหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากรกลับมารับราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจกสิกรรม แต่ก็กลับมารับราชการได้ไม่ถึง ๒ ปี ก็ทรงประสบเคราะห์กรรมถูกลงโทษในความผิดทางการเมือง ระหว่างพ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๘๗ โดยทรงต้องโทษจำขังที่บางขวาง เกาะตะรุเตา และเกาะเต่า ในคดีกบฏบวรเดชกว่า ๑๑ ปี แม้กระนั้นก็ตาม งานค้นคว้าทดลองทางด้านการเกษตรกรรมของท่านคงยังดำเนินต่อไป โดยทรงให้คำแนะนำปรึกษาในการทำงานทางจดหมายแก่หม่อมศรีพรหมมา กฤดากร ณ อยุธยา ภรรยาคู่ชีวิตอย่างสม่ำเสมอ และยังทรงใช้เวลาว่างสอนการเพาะปลูกให้นักโทษและนิพนธ์ตำราสมัยใหม่ทางเกษตรกรรมชื่อว่า“ กสิกรรมบนดอน”

           ในช่วงบั้นปลายแห่งชีวิต หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากรทรงชราภาพและไม่สามารถดูแลไร่บางเบิดซึ่งมีขนาดใหญ่ถึง ๒๕๐ ไร่ ให้มีสภาพคงเดิมได้ จึงตัดสินใจขายให้กับรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และนำเงินไปซื้อที่ดินแปลงเล็กๆ ที่หัวหิน เพื่อทำการทดลองการเกษตรต่อไปจนกระทั่งสิ้นชีพิตักษัย เมื่อ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๔ สิริชันษา ๘๘ ปี ผลงานของท่านสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักวิชาการ ปัญญาชนและนักการเมืองหัวก้าวหน้ามาโดยตลอดจนปัจจุบัน

           ผู้สนใจเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์กสิกร ซึ่งเป็นหนังสือหายากในสมัยรัชกาลที่ ๗ สามารถติดต่อขอใช้บริการ E-Bookได้ที่ห้องศูนย์ข้อมูล พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนหลานหลวง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ๑๐๑๐๐

        
       
        

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั