ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ปรากฏการณ์ความขัดแย้งและแนวทางการสร้างความปรองดองระหว่างพ.ศ.2475-2490 (ปฏิวัติสยาม 2475 – รัฐประหาร 2490)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร
วันที่  10 ธันวาคม  พ.ศ. 2475

1) สภาพบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม
ในระยะเวลาเพียง 15 ปี ระหว่างพ.ศ. 2475-2490  ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญๆ อันส่งผลต่อพัฒนาทางการเมืองในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน  ได้แก่   การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475  กบฏบวรเดช พ.ศ.2476  ฯลฯ  และจนถึงการรัฐประหารวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 การเคลื่อนไหวทางการเมืองข้างต้นมีสาเหตุและสภาวการณ์แวดล้อมแรงผลักดันและผลกระทบที่ตามมาแตกต่างกันออกไปต่อการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและวัฒนธรรมตามยุคสมัย  ซึ่งจะกล่าวต่อไปเบื้องหน้า  แต่ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ช่วงดังกล่าวก่อตัวขึ้นมาจากปัจจัยความขัดแย้งทางการเมืองและการช่วงชิงหรือปกป้องผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย  ต่างก็มีเหตุผลสนับสนุนแนวคิดของฝ่ายตนอย่างมีตรรกะตามวิถีทางวัฒนธรรมความคิดทางการเมืองทั้งสิ้น  อย่างไรก็ตาม  เป็นที่น่าสังเกตว่า  เมื่อฝ่ายการเมืองสามารถแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างลงตัวแล้วก็สามารถยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นลงไปชั่วคราวได้  และความขัดแย้งก็มักจะประทุขึ้นใหม่เสมอ  เมื่อตัวแปรของสมการผลประโยชน์ทางการเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลง
พฤติกรรมการยุติความขัดแย้งเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองร่วมซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นสากล  ในทฤษฎีทางการเมืองเรียกปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า  การปรองดอง (Reconcilliation)  ซึ่งคำดังกล่าวในสังคมไทยเคยเรียกว่า การรอมชอม ประนีประนอม ยอมความหรือประสานประโยชน์ ดังปรากฏหลักฐานในยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ของไทย และในปัจจุบันกระบวนการดังกล่าวถูกนำมาใช้ในชื่อว่า กระบวนการปรองดองแห่งชาตินั่นเอง
กระบวนการปรองดองเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ดังปรากฏหลักฐานในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับคณะราษฎร หลังการปฏิวัติสยาม 24 มิถุนายน 2475 จนถึงเหตุการณ์รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490   ซึ่งเนื้อหาความขัดแย้ง   แรงผลักดัน ผลกระทบและกระบวนการปรองดองในช่วงดังกล่าวนี้จะกล่าวถึงต่อไป เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลและบทเรียนของประวัติศาสตร์การเมือง
2)  สาเหตุสำคัญและปรากฏการณ์ความขัดแย้ง
งานศึกษาเกี่ยวกับสาเหตุของการปฏิวัติสยาม 2475 อธิบายว่ามี 2 ประการ ได้แก่ สาเหตุทางอุดมการณ์ทางการเมือง และปัจจัยทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ งานศึกษาต่างๆ (เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ ,2514 ,รัชนี กัลยาคุณาวุติ, 2520 ชัยอนันต์ สมุทวณิช,2523) ต่างยอมรับว่ามีรากฐานมาจากการปฏิรูปการปกครองของสยามให้มีความทันสมัยแบบตะวันตก ทำให้เกิดความคิดทางการเมืองใหม่ๆแพร่เข้ามาในสยาม รวมทั้งความต้องการให้ประเทศมีรัฐธรรมนูญ  สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจมีงานศึกษาต่างๆ (พรเพ็ญ ฮั่นตระกูล,ฉัตรทิพย์นาถสุภา และสมภพ มานะรังสรรค์ ,2527) ต่างเห็นพ้องกันว่าการเคลื่อนไหวของคณะราษฎรอยู่ในช่วงจังหวะที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกท้าทายด้วยวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและมาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้ประสบความล้มเหลวในนโยบายในการแก้ไขปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ  ไม่ว่าจะเป็นการตัดทอนยุบหน่วยราชการ การดุลข้าราชการออก  การประกาศพระราชบัญญัติภาษีเงินเดือนยังผลให้เกิดปัญหาว่างงาน  รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของการปลดข้าราชการว่ามิได้ดำเนินไปด้วยความยุติธรรมและมุ่งแต่รักษาผลประโยชน์ของคนชั้นสูงและคนรวย นอกจากนี้การจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน ทำให้บรรดาพ่อค้าได้รับความเดือดร้อนในสภาวะที่การค้าซบเซา  การผลิตข้าวที่ไม่ได้ผลอย่างเต็มที่ทำให้ชาวนาจำนวนมากยื่นฎีการ้องทุกข์  ในที่สุดนำมาสู่เหตุผลในการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ถูกคาดหมายให้เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ ภายหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองพ.ศ.2475   อาจกล่าวโดยสรุปดังนี้   การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในกรุงเทพฯนำโดยกลุ่มบุคคลที่เรียกว่าคณะราษฎร ประกอบด้วย นายทหารระดับกลางและข้าราชการพลเรือนซึ่งหลายคนจบการศึกษาจากยุโรป อาทิ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) จบการศึกษาจากประเทศเยอรมนี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์ ) นักกฎหมายรุ่นใหม่จบจากประเทศฝรั่งเศส เป็นผู้นำแนวคิด และยุทธศาสตร์ทางการเมืองอาจกล่าวได้ว่า  การปฏิวัติครั้งนี้มีผลมาจากปัญหาทางเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาการดุลราชการและความไม่มั่นคงเรื่องเงินเดือนของข้าราชการระดับกลาง และพวกเขาเห็นว่าสยามมีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการด้านความคิดทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยและขบวนการชาตินิยมช้ามากเมื่อเปรียบเทียบกับสภาพความก้าวหน้าทางการเมืองที่เกิดขึ้นในยุโรปที่พวกเขาเคยไปศึกษาเล่าเรียนมาชั่วระยะเวลาหนึ่ง 




คณะราษฎร
คณะราษฎร (The People‘s Party) ประกอบด้วยทหารบก ทหารเรือและพลเรือน จำนวน 99 คน ได้ร่วมกันเข้ายึดอำนาจการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  ได้จับกุมและควบคุมตัวอภิรัฐมนตรีบางพระองค์ไว้ และจากนั้นประกาศหลัก 6 ประการ ได้แก่ หลักอิสรภาพของชาติ  หลักสวัสดิการ  หลักแผนการทางเศรษฐกิจในการสร้างงานแก่ประชาชนทั้งหมด หลักความเสมอภาค  หลักเสรีภาพ และหลักการศึกษาแก่มวลชน  คณะราษฎรจึงออกแถลงการณ์ประณาม รัฐบาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯและฝ่ายนิยมเจ้าว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศชาติไม่เจริญก้าวหน้า ด้วยเหตุนี้คณะราษฎรจึงมอบหมายให้ นาวาตรีหลวงศุภชลาศัย ผู้บังคับการกองเรือปืน และผู้บังคับการเรือรบหลวงสุโขทัย เดินทางไปยังหัวหินด้วยเรือรบหลวงสุโขทัยเพื่อเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลยื่นข้อเสนอเพื่อให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมดำรงพระราชสถานะเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ
กระแสข่าวการเคลื่อนไหวทางการเมืองถึงขั้นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระแคะระคายทราบถึงพระเนตรพระกรรณพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯก่อนหน้านั้น  ทรงมีพระราชวินิจฉัย  3 ประการคือ ประการแรก จะทรงตอบโต้คณะราษฎรด้วยกำลังทหารจากหัวเมืองที่ยังคงจงรักภักดีต่อพระองค์ หรือประการที่สอง จะเสด็จลี้ภัยไปต่างประเทศ และหรือประการที่สาม จะทรงถ่วงเวลาไว้แล้วยอมปฏิบัติตามข้อเสนอของคณะราษฎรเสด็จกลับคืนสู่พระนคร   ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเลือกพระราชวินิจฉัยประการที่สามเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดและขจัดความเสี่ยงที่จะสูญเสียอำนาจอธิปไตยของประเทศ 
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่ามีความพยายามประนีประนอมของทั้งสองฝ่ายหลังจากการยึดอำนาจ( The coup) ในครั้งนั้นเพราะการปฏิวัติเกิดขึ้นโดยปราศจากการนองเลือด และสมควรยกย่องคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ต่อมาในวันที่ 26 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯก็เสด็จถึงพระนคร และในวันที่ 27 มิถุนายน คณะผู้ก่อการก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และในวันเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรทูลเกล้าถวาย  แต่ทรงมีเงื่อนไขว่ารัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็น “ฉบับชั่วคราว” และต้องถูกร่างขึ้นมาใหม่โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  สภาผู้แทนราษฎรในเวลานั้นมีสมาชิกเสียงส่วนใหญ่ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะราษฎรเสนอให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา  (ก้อน หุตะสิงห์)  เป็นประธานกรรมการราษฎร และได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมา  แม้ว่าบุคคลดังกล่าวมิได้เป็นสมาชิกของคณะผู้ก่อการ ก็ตามซึ่งหลักฐานกล่าวว่า ท่านผู้นี้เป็นนักกฎหมายอาวุโสและยังเป็นผู้ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงไว้วางพระราชหฤทัย 

คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ส่วนใหญ่เป็นนายทหารและข้าราชการพลเรือนระดับสูงแต่ยังมีนายปรีดี พนมยงค์ ร่วมเป็นคณะรัฐมนตรีด้วย  ในช่วงเวลาดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงขอให้ปล่อยพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่คณะราษฎรควบคุมพระองค์ไว้  ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับการปล่อยพระองค์เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน เป็น 2 พระองค์แรก ส่วนเจ้านายที่สร้างความยุ่งยากใจให้กับคณะราษฎรที่สุดคือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต แต่ภายหลังทรงการยุติบทบาททางการเมืองและทรงลี้ภัยไปยังบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นลักษณะสอดคล้องกับการประนีประนอมทางการเมือง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 30 มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาประธานกรรมการคณะราษฎร พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรสายทหารและหลวงประดิษฐมนูธรรม หัวหน้าคณะราษฎรสายพลเรือนมาเข้าเฝ้าที่วังศุโขทัย   ตรัสถามความจริงใจจากคณะราษฎรว่า เพราะเหตุใดจึงต้องประกาศข้อความที่มีถ้อยคำที่รุนแรงกระทบกระเทือนต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทและพระบรมวงศานุวงศ์  ทำให้พระยาพหลฯและนายปรีดี “กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษที่ได้ล่วงเกิน” (“บันทึกลับ”ในการเข้าเฝ้าฯ ครั้งนี้ เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ เรียบเรียงขึ้น ดูที่ : สนธิ เตชานันท์,2545,หน้า314) และก่อนพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ 3 วัน (คือวันที่ 7 ธันวาคม 2475 ) คณะผู้ก่อการปฏิวัติเกือบทั้งหมดเข้าเฝ้า “ขอพระราชทานขมาโทษ”ต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ
ในระยะเวลาไม่ถึงปีของการปฏิวัติพ.ศ. 2475 คณะราษฎรกลับต้องทำรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ขึ้นอีกครั้ง เพราะปัญหาทางรัฐธรรมนูญ และการแย่งชิงการควบคุมกำลังกองทัพ (ธำรงศักดิ์   เพชรเลิศอนันต์,2543 ,หน้า 376)
3)สภาพต่อเนื่องการปฏิวัติสยาม 2475และสาเหตุของการเกิดกบฏบวรเดช
เหตุการณ์สำคัญก่อนเกิดกบฏบวรเดชซึ่งทำให้บุคคลหลายฝ่ายเคลือบแคลงใจว่า เป็นปฏิกิริยาครั้งสุดท้ายของกลุ่มอำนาจเก่าเพื่อการรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์  เหตุการณ์แรก คือ รัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกา  เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476    พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ใช้อำนาจประกาศปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยอ้างว่าคณะรัฐมนตรีมีความเห็นแตกแยกกัน เรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และเหตุการณ์ที่สอง คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา พันโทหลวงพิบูลสงคราม  นาวาโท หลวงศุภชลาศัย และ หลวงนฤเบศรมานิต ได้ใช้กำลังทหารก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 เบื้องหลังของการทำรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นจากความแตกแยกของฝ่ายคณะราษฎร เนื่องจากพระยาพหลพลพยุหเสนาและหลวงพิบูลสงครามซึ่งเห็นด้วยกับแนวคิดของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมไม่พอใจที่พระยาทรงสุรเดชเป็นผู้นำในการคัดค้านเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และตามมาด้วยเหตุการณ์กบฎบวรเดชในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน  สิ่งต่างๆเหล่านี้ไม่ได้บอกแต่เพียงความขัดแย้งแต่ยังบ่งชี้ว่ามีความล้มเหลวที่จะมีการประนีประนอมกันภายในหมู่ผู้มีอำนาจด้วยกันเอง  การควบคุม “พลพรรค” ของแต่ละฝ่ายดูจะไม่เป็นผล  คือ ไม่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งในหมู่ของ “เจ้า” และ”คณะราษฎร”   (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2546)
กบฏบวรเดช
เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นับเป็การก่อกบฏต่อต้านอำนาจของฝ่ายรัฐบาลครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ 2475 สาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างผู้นำของระบอบเก่า(ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์)และระบอบใหม่(ระบอบรัฐธรรมนูญ) จากการโต้แย้งเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจที่เสนอโดยนายปรีดี  พนมยงค์ซึ่งถูกกล่าวหาจากผู้เสียประโยชน์ว่าเป็น คอมมิวนิสต์ และชนวนสำคัญ คือ ข้อโต้แย้งเรื่องพระเกียรติยศและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบใหม่ ส่งผลให้พลเอก พระองค์เจ้าบวรเดชตัดสินใจนำกำลังทหารออกมาเคลื่อนไหวยึดอำนาจของรัฐบาล  อันเป็นที่มาของชื่อ "กบฏบวรเดช"  (นิคม จารุมณี ,2519)
กบฏบวรเดชเกิดขึ้น เมื่อมีทหารหัวเมืองภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มบุคคลผู้ไม่พอใจนโยบายการปกครองและการบริหารประเทศของรัฐบาลคณะราษฎร    โดยนายพลเอก พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นแม่ทัพ  นายพันเอก พระยาเทพสงครามเป็นรองแม่ทัพ  และนายพันเอกศรีสิทธิสงครามเป็น เสนาธิการกองทัพ  กำลังทหารส่วนหนึ่งรวบรวมมาจากจังหวัดนครราชสีมา  อุบลราชธานี ลพบุรี สระบุรี และอยุธยา  ได้ยกมาปิดล้อมกรุงเทพมหานคร ทางทิศเหนือ  ตั้งที่บัญชาการที่ดอนเมือง และกำลังอีกส่วนหนึ่งใช้กองทหารจากเมืองเพชรบุรีใช้ปิดล้อมกรุงเทพมหานครทางทิศใต้  โดยที่มีจุดประสงค์ในการยกกำลังทหารปิดล้อมกรุงเทพมหานคร เพื่อจะต่อรองกับคณะราษฎร  2 ครั้งด้วยกัน
ครั้งแรกเป็นการยื่นคำขาดของ  นายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม ยื่นในนามของคณะกู้บ้านกู้เมืองต่อพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2476   ซึ่งแสดงความไม่พอใจ 2 ประเด็น คือ การเพิกเฉยให้คนพาลสันดานหยาบหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและปล่อยให้หนังสือพิมพ์ลงข้อความบริภาษพระเกียรติคุณของรัชกาลที่ 7 และการเรียกหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับคืนยังสยามโดยมีการซักฟอกให้ขาวสะอาดก่อน   โดยคณะกู้บ้านกู้เมืองยื่นให้รัฐบาลลาออกภายใน 1 ชั่วโมง  แต่ฝ่ายรัฐบาลคณะราษฎร ก็มิได้สนใจที่จะปฏิบัติตามแต่อย่างใด
ครั้งที่สอง  พระองค์เจ้าบวรเดช  ได้เสนอเงื่อนไขแก่พระยาพหลพลพยุหเสนา  นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2476 เป็นข้อเสนอที่ลดความรุนแรงแข็งกร้าวลง แต่ขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามหลัก 6 ประการ คือ ประการแรก ต้องจัดการที่จะให้สยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ ประการที่สอง ต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญโดยแท้จริงไม่ใช่การรัฐประหารดังวันที่ 20 มิถุนายน 2476  ต้องยอมให้มีพรรคการเมืองที่ชอบด้วยกฎหมาย ประการที่สาม ข้าราชการประจำทั้งทหารและพลเรือนต้องอยู่นอกการเมือง  ประการที่สี่ การแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งราชการต้องถือคุณวุฒิและความสามารถเป็นหลัก  ประการที่ห้า การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือก และประการที่หก  การปกครองกองทัพบก จักต้องให้มีหน่วยผสมตามหลักยุทธวิธี (นิคม จารุมณี, ,2519)     ต่อมาฝ่ายรัฐบาลได้ตั้งกองกำลังผสมปราบปรามคณะกู้บ้านกู้เมือง  โดยมีพันโท หลวงพิบูลสงคราม เป็นหัวหน้า และสามารถทำการปราบปรามฝ่ายกบฎบวรเดชได้สำเร็จ
ในวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2476  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีพระราชกระแสถึงรัฐบาลให้ยุติการจลาจลอย่างละมุนละม่อม  ทรงกล่าวว่า
"...เป็นการสมควรที่รัฐบาลจะประกาศอภัยโทษให้แก่ผู้ที่ร่วมก่อการจลาจลตลอดทั้งนายทหารและบุคคลที่ไม่ใช่เป็นหัวหน้าหรือคนสำคัญในการกระทำครั้งนี้เสียโดยเร็ว...." (กจช. สร. 0201.1/22 พระราชกระแสเตือนรัฐบาลในเรื่องการรับอาสาสมัครการจับกุมผู้ต้องสงสัยและขอให้อภัยโทษแก่พวกกบฏ)  แต่รัฐบาลปฏิเสธพระราชกระแสนั้นด้วยหลักการที่ว่า  จำต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุดก่อน  จึงจะพิจารณาอภัยโทษได้
พระองค์เจ้าบวรเดชหัวหน้าคณะกบฏและพระชายาเสด็จหนีไปยังอินโดจีนของฝรั่งเศส รัฐบาลตั้งศาลพิเศษขึ้นมาเพื่อพิจารณาคดีการกบฏ และจลาจลในปีพ.ศ. 2476   พ.ศ. 2478  และพ.ศ. 2481   ซึ่งกระบวนการของศาลพิเศษ มิได้ปฏิบัติตามหลักการแห่งการปกครองโดยยึดหลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรม (Rule of Law) (ภูธร ภูมะธน, ,2521)
หลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช  รัฐบาลประสบภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก 2 ประการ คือ การตระหนักถึงความจำเป็นของการมีพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ จึงพยายามรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ หลังการเปลี่ยนแปลงทางการปกครอง แต่ขณะเดียวกันก็มีความหวาดระแวงว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์   ส่วนเรื่องกบฏบวรเดชนั้นรัฐบาลได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องการกบฏโดยเฉพาะโดยไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา และไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหาตั้งทนายความปกป้องตนเอง ในสายตาผู้พัวพันกับการกบฎมีความเห็นว่าไม่ยุติธรรมอย่างยิ่ง  ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมี 600 คน ถูกฟ้องศาล 81 คดี  จำเลย 318 คน ในจำนวนนี้ถูกพิพากษาลงโทษ 230 คน (ภูธร ภูมะธน , อ้างแล้ว,หน้า 101-102)      ต่อมาได้มีการพระราชทานอภัยโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต และจากจำคุกตลอดชีวิตเป็นการเนรเทศไปเกาะตะรุเตา  ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสะเทือนพระทัยและผิดหวังกับการกระทำของรัฐบาลเป็นอย่างมาก เป็นสาเหตุประการหนึ่งที่นำมาสู่การตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477    นอกจากปัญหาเรื่องการตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่สองที่คณะราษฎรไม่ถวายชื่อให้พระองค์พิจารณา
การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 2 ผู้ซึ่งเป็นนายทหารคนแรกที่ขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองคือ พระยาพหลพลพยุหเสนา และต่อด้วยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ตลอดระยะเวลา 5 ปี ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทางทหารอย่างสมบูรณ์
ต่อมาเมื่อ นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2489  เป็นการก้าวขึ้นสู่อำนาจสูงสุดของผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือน ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ได้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ต้องพระแสงปืนสวรรคตเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2489 นายปรีดี พนมยงค์ กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  สภามีมติให้พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี   ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้เปิดอภิปรายลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะเป็นครั้งแรกในประเทศไทย  การอภิปรายมีระยะเวลาถึง 7 วัน  ในที่สุดสภามีมติไว้วางใจ 86 เสียง  ไม่ไว้วางใจ 55 เสียง และงดออกเสียง 16 เสียง  ในวันรุ่งขึ้นคณะรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งทั้งคณะ  แต่สภามีมติให้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่อีกประมาณ 6 เดือน  ในปี พ.ศ. 2490 คณะทหารซึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะรัฐประหาร” โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำการปฏิวัติรัฐประหาร  นับเป็นครั้งแรกที่ทหารทำการรัฐประหารรัฐบาลของทหารด้วยกัน (ทหารบกรัฐประหารทหารเรือ) หลังจากรัฐประหารแล้วให้ นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ภายหลังใช้กำลังคุกคามให้นายควง ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
มีข้อสังเกตว่า อำนาจของคณะราษฎรมีอยู่ประมาณ 15 ปี ถือได้ว่าเป็นยุคสมัยของคณะราษฎรอย่างแท้จริง   ระหว่าง พ.ศ. 2475 -2490   เพราะนายกรัฐมนตรีของไทยในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนมากจะเป็นสมาชิกของคณะราษฎร หรือได้รับการสนับสนุนจากคณะราษฎรแทบทั้งสิ้น
บรรณานุกรม
ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ” กรุงเทพฯ: สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543.
นครินทร์  เมฆไตรรัตน์,“ความคิด ความรู้และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475” กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2546.
นิคม จารุมณี, “กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476” วิทยานิพนธ์สาขาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2519.
ภูธร ภูมะธน, “ศาลพิเศษ พ.ศ. 2476 พ.ศ.2478 และพ.ศ. 2481” วิทยานิพนธ์สาขาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521.
สนธิ เตชานันท์ ผู้รวบรวม,แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ”ประชาธิปไตย” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว,กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า,2545

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั