ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ฟรานซิส บี.แซร์ กับสยาม: อธิปไตย รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์

พระยากัลยาณไมตรี (Dr. Francis B. Sayre) ที่ปรึกษาทางกฎหมายและการปกครอง
ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
                           



   ขอบคุณบทความจาก   ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล* กรรมการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

          บรรดาผู้สนใจความเป็นมาของรัฐธรรมนูญในประเทศไทย คงจะเคยได้ยินชื่อ ฟรานซิส โบว์ส แซร์ (Francis Bowes Sayre) ว่าเป็นผู้ซึ่งเป็นผู้ร่างเค้าโครงรัฐธรรมนูญชื่อว่า ‘Outline of Preliminary Draft’ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2469 เพื่อสนองพระราชบันทึกเรื่อง ‘Problems of Siam’ ที่ทรงมีไปขอความคิดเห็นจากเขาว่าจะดำเนินการปรับปรุงการปกครองของประเทศให้เหมาะสมแก่กาลสมัย ที่กระแสประชาธิปไตยนับวันจะแผ่ขยาย อย่างไรโดยยังคงรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีมาแต่โบราณ แต่หลายท่านอาจไม่ทราบอะไรมากกว่านี้เกี่ยวกับชาวต่างประเทศคนนี้

          เมื่อเร็วๆ นี้ มีการตีพิมพ์หนังสือเล่มภาษาอังกฤษเล่มหนึ่ง ชื่อว่า King Bhumibol Adulyadej: A Life’ s Work (Singapore: Editions Didier Millet, 2011) ผมอ่านๆ ไปพบว่าในนั้นมีหลายแห่งที่อ้างข้อเขียนของฟรานซิส บี.แซร์ ซึ่งเมื่อปะติดปะต่อกันและกับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ เท่าที่จะหามาได้ในระยะเวลาอันสั้นแล้ว คิดว่าน่าสนใจและสะกิดใจพอที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง (อ่าน) ในวาระเดือนธันวาคม ที่มีทั้งวัน (พระราชทาน) รัฐธรรมนูญและวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 7 รอบในปีนี้ได้

          ฟรานซิส บี.แซร์ เป็นนักกฎหมายชาวอเมริกัน จบจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ทำงานเป็นอัยการอยู่พักหนึ่ง แล้วจึงได้เป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยวิลเลียมส์ ริเริ่มการสอนรายวิชากฎหมายระหว่างประเทศ จากนั้นได้ศึกษาต่อจนสำเร็จปริญญาเอกทางกฎหมายที่ฮาวาร์ดและเป็นอาจารย์อยู่ที่นั่นเป็นเวลา 10 กว่าปี สอนรายวิชากฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายทะเลและกฎหมายอาญา รวมทั้งบุกเบิกการสอนรายวิชากฎหมายแรงงาน เขาเป็นลูกเขยของประธานาธิบดีวูดโรว์ วิลสัน บุตรชายของเขาคนหนึ่งชื่อเดียวกันจึงเกิดที่ทำเนียบขาว และเมื่อเติบใหญ่ได้เป็นบาทหลวงเจ้าอาวาสมหาวิหารกรุงวอชิงตัน

          เมื่ออายุ 38 แซร์ได้รับคัดเลือกให้มาเป็นที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศของรัฐบาลสยามเมื่อ ค.ศ. 1923 (พ.ศ. 2466) ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยแรกทีเดียวตั้งใจจะมาอยู่เพียงปีเดียว หากแต่ว่าในขณะนั้นการเจรจาต่อรองในเรื่องสนธิสัญญาไม่เท่าเทียมกันระหว่างสยามกับประเทศต่างๆ ในยุโรปกำลังประสบความ ชงักงัน แซร์จึงพบว่าเขาต้องรับผิดชอบการเจรจาในช่วง ค.ศ. 1924 – 1925 โดยเดินทางไปยังประเทศเหล่านั้นเพื่อเจรจาโดยตรง ฟันฝ่าอุปสรรคมากมายจนได้ข้อสรุปกับ 8 ประเทศ เป็นการยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

(ซึ่งที่สำคัญคือผู้ถือสัญชาติของประเทศเหล่านั้นไม่ต้องขึ้นศาลไทย แต่ขึ้นศาลกงสุลแทน ทำให้เราขาดอำนาจอธิปไตยทางศาล) รวมทั้งยกเลิกข้อกำหนดซึ่งจำกัดอัตราภาษีสินค้าขาเข้า ซึ่งได้ทำให้สยามมีอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจที่ไม่สมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้เอง เขาจึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นพระยา เป็นพระยากัลยาณไมตรี และเครื่องราชอิสริยาภรณ์ประถมาภรณ์ช้างเผือกในตอนต้นรัชกาลที่ 7 และได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มและผู้แทนสยามในศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอแลนด์ เห็นได้ชัดว่าแซร์เป็นชาวต่างประเทศผู้อุทิศตนในหน้าที่การงานเพื่อประโยชน์ต่ออธิปไตยของสยามอย่างเต็มที่และได้ผลดี

          ด้วยเหตุเหล่านี้ แซร์จึงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะถวายคำปรึกษาดังกล่าวแล้ว เมื่อเขาเดินทางกลับมาเยือนสยามประเทศและพักอยู่ที่โรงแรมพญาไท โดยเขาได้สนองพระราชกระแสอย่างละเอียด พร้อมทั้งได้แนบเค้าโครงร่างรัฐธรรมนูญทูลเกล้าฯ ถวายด้วย ทั้งพระราชปุจฉาและข้อวิสัชนาของแซร์อ่านได้ไม่ยาก หากแต่เป็นภาษาอังกฤษทั้งคู่

      ต่อมาแซร์ได้กลับไปรับตำแหน่งศาสตราจารย์ที่ฮาวาร์ด และใน ค.ศ. 1933 (พ.ศ. 2476) ได้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในช่วงรัฐบาลของประธานาธิบดีรูสเวลท์สมัยแรก ทำหน้าที่เจรจาต่อรองข้อตกลงทางการค้า ก่อนที่จะได้มาเป็นข้าหลวงใหญ่ของสหรัฐฯ ที่ฟิลิปปินส์ตั้งแต่ ค.ศ. 1939 และต้องลี้ภัยด้วยเรือดำน้ำเมื่อ ค.ศ. 1942 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าทำหน้าที่ที่ปรึกษาสหประชาชาติอยู่ระยะหนึ่ง แล้วต่อมาได้อุทิศตนในภารกิจต่างๆ ด้านการคริสตศาสนา ด้วยความศรัทธาอันแรงกล้าจนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อ ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) เมื่ออายุ 87 ปี

       ภายในไม่กี่เดือนของการสนองพระราชปุจฉาในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ แซร์เองได้เขียนบทความในวารสาร Atlantic Monthly เกี่ยวกับความตั้งพระราชหฤทัยของพระองค์ที่จะปรับปรุงการปกครองสยามให้เป็นในระบบรัฐสภา ในนั้นเขาตั้งข้อสังเกตไว้เป็นสำคัญว่า “รัฐสภาใดที่ไม่ได้ถูกควบคุมโดยมวลผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีสติปัญญาและความใส่ใจอาจเป็นกลไกของการกดขี่ที่เป็นอันตรายและมีความฉ้อฉลเสียยิ่งกว่ากษัตริย์ผู้ทรงสมบูรณาญาสิทธิ์กว่ากษัตริย์องค์อื่นใด” อ่านดูทีแรกน่าตกใจว่าช่างอนุรักษ์นิยมเสียนี่กระไร แต่เมื่อพิจารณาว่าผู้เขียนเป็นปัญญาชนผู้อยู่ใกล้ศูนย์กลางอำนาจของประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี ก็ทำให้ต้องฉุกคิดให้ลึกกว่านั้น ในยุคที่เรามีรัฐสภา แต่ก็ยังกล่าวขานถึง “การเมืองของพลเมือง” กันมาก มิใช่หรือ?

       นอกเหนือจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว แซร์ยังเป็นผู้ที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกทรงไว้วางพระทัยมาก แซร์กล่าวไว้ในอัตชีวประวัติของเขา (Glad Adventure, 1957) ว่าสมเด็จพระมหิตลาฯ รับสั่งให้เขาเข้าเฝ้าเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 1928 ที่โรงพยาบาลขณะที่ทรงพระประชวรหนัก แล้วรับสั่งขอให้เขานำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าไม่ต้องพระประสงค์ที่พระโอรสพระองค์ใดจะทรงได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นรัชทายาท ส่วนแซร์จะได้กราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทหรือไม่นั้น หนังสือไม่ได้บอกไว้ เพียงแต่ผมคิดว่านี่อาจเป็นอีกเหตุหนึ่งให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่ทรงระบุพระนามผู้ที่ทรงเห็นสมควรสืบราชสันตติวงศ์ไว้อย่างเป็นทางการ

และแล้วเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงขึ้นครองราชย์ แซร์ได้เขียนจดหมายกราบบังคมทูลถวายคำแนะนำดังนี้

       “ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทอย่าได้ทรงท้อพระราชหฤทัย ประชาชนคนไทยมีคุณสมบัติที่ดีหลายประการ… เขาโหยหาพระเจ้าแผ่นดินผู้นำของเขา ให้มาประทับอยู่ท่ามกลางพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง เขาจะจงรักภักดีและซื่อสัตย์ต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท… ปัญหาที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญไม่ใช่ปัญหาทางเศรษฐกิจซึ่งรบเร้าประเทศอื่นๆ หลายประเทศอยู่ หากแต่เป็นปัญหาที่มาจากทิศทางอื่น… ในอันที่จะเผชิญปัญหาเหล่านี้ ทิศทางของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจะชัดเจน…ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทย่อมดำเนินรอยตามเส้นทางซึ่งทูลกระหม่อมพ่อได้ทรงดำเนินมาโดยตลอด กล่าวคือเส้นทางของการอุทิศพระองค์เพื่อประเทศและประชาชนของพระองค์อย่างไม่เห็นแก่พระองค์เอง อุดมคติของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเช่นเดียวกับของทูลกระหม่อมพ่อ จักต้องไร้มลทินและส่องแสงสว่าง ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทจักต้องทรงตั้งเข็มทิศให้มั่น จึงจะทรงหลีกเลี่ยงความอับปางของนาวาได้ ทั้งนี้ด้วยความดีแท้และพระอุปนิสัยสัตย์ตรง ไม่มีสิ่งอื่นใดที่จะชนะใจประชาชนและสร้างความเป็นปึกแผ่นแก่รัชกาลของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้ ”

         พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบไปว่า “ฉันจะพยายามไม่ท้อใจ… ฉันรู้ดีว่าฉันต้องยืดมั่นในสิ่งที่ฉันเห็นว่าถูกต้องที่จะทำ และฉันขอให้ความมั่นใจต่อท่านว่าฉันจะพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่ฉันจะทำได้”

        ครั้นใน พ.ศ. 2496 พระยากัลยาณไมตรีได้เดินทางมากรุงเทพฯ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อรับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ประดับเพชร อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จในพระองค์ ซึ่งทำให้เขามีความปลาบปลื้มเป็นอันมาก

      เรื่องราวของชาวอเมริกันคนหนึ่งที่ไม่คิดจะมาอยู่เมืองไทยนาน แต่กลับมีคุณูปการต่อประเทศนี้อย่างใหญ่หลวง ทั้งยังรักประเทศไทยและเห็นความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ของเรา น่าจะทำให้เราคนไทยได้ฉุกคิดอะไรได้หลายอย่าง





ความคิดเห็น

  1. "เป็นที่ทราบกันดีว่า การทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศไม่ใช่เป็นงานที่ทุกประเทศซึ่งมีฐานะอย่างกรุงสยาม จะหาความปรองดองได้จากอีกฝ่ายหนึ่งโดยสะดวกเลย..." ดร.ฟรานซีส บี.แซร์ ชาวอเมริกันมีส่วนช่วยให้ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญารุ่นเก่าๆ ตั้งแพ.ศ. 2469 และตามมาด้วย ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา อิตาลี สเปน โปรตุเกส เบลเยี่ยม ฯลฯ

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณมากค่ะ ข้อมูลเป็นประโยชน์มากๆ :)

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั