ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

ความยากลำบากในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยตัวแทน : ข้อสังเกตเบื้องต้น



ขอบคุณบทความจาก รศ.ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

         การศึกษาระบบ-ระบอบ-ความคิดประชาธิปไตยเท่าที่ดำเนินผ่านมา  อาจกล่าวได้ว่ามีปัญหาและข้อจำกัดในหลายๆด้าน  ข้อจำกัดประการหนึ่งในทัศนะของผู้เขียนคือ  เห็นว่าไม่น่าจะช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจสภาพการณ์ความเป็นไปที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยและในประเทศต่างๆ  ในปัจจุบันอย่างเป็นองค์รวม  และที่สำคัญในประการต่อมา ก็คือ  เป็นการศึกษาที่นอกจากจะไม่ได้ช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจในลักษณะดังกล่าวแล้ว  ยังเป็นแนวการศึกษาที่ไม่ช่วยให้คิด  หรือไม่อาจจะคิด  หรือหากจะคิดอยู่บ้างในบางกรณี ก็เชื่อว่าไม่น่าจะก่อให้เกิดแนวทางแก้ไข  หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่มีความสมานฉันท์ในระหว่างกลุ่มพลังที่มีข้อขัดแย้งและมีความแตกต่างกันอย่างรุนแรงในสังคมไทยในปัจจุบัน
       ประเด็นที่เป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่ง ที่พบเห็นได้ชัดนับตั้งแต่มีการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยในประเทศไทยที่ผ่านๆมา ได้แก่  การศึกษาที่มักจะเน้นเรื่องราวในส่วนที่เป็น "ปัญหาและอุปสรรค"  ของการพัฒนาประชาธิปไตย คือ  สาเหตุปัจจัยที่ทำให้ประชาธิปไตยต้องล้มลุกคลุกคลานเสียเป็นส่วนใหญ่  แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าวนับว่าเป็นข้อเท็จจริงและปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองอย่างหนึ่ง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เรื่องของวัฒนธรรมไพร่ฟ้า  โครงสร้างทางสังคมแบบอุปถัมภ์  การที่ประเทศไทยไม่มีระบบรัฐสภาและพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง  หรือบ้างเห็นว่ายังไม่มีอย่างแท้จริง  และการแทรกแซงทางการเมืองของทหารด้วยการก่อการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลเป็นระยะๆ  รวมทั้งระบบการเมืองไทยที่เชื่อกันตลอดมาว่าระบบข้าราชการทหารเป็นใหญ่ (Bureaucratic Polity) ฯลฯ ซึ่งก่อให้เกิดทัศนคติที่เป็นมาตรฐานเสมอมาว่า  หากมีการศึกษาอบรมกันให้มากกว่าที่เป็นอยู่  รวมทั้งมีการ "กีดกัน" หรือหาทางป้องกันให้กองทัพและระบบราชการ "ถอยห่าง"  ออกจากระบบการเมือง  ระบบประชาธิปไตยของไทยก็คงจะมีผลดี  คือ สามารถสถาปนาขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม  อีกทั้งสามารถวิวัฒนาการต่อเนื่องไปได้อย่างมีความมั่นคง  อย่างไรก็ดี  ประเด็นปัญหาที่เห็นได้ชัดอยู่ในเวลานี้  ก็คือ  การศึกษาของประเทศไทยโดยรวมนั้นอยู่ในระดับที่ "สูง"  กว่าเดิมเป็นอันมาก  อีกทั้งกองทัพและระบบราชการเองก็ "ถอย" ห่างจาการเข้าไปมีบทบาทโดยตรงทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด  แต่ระบบประชาธิปไตยของไทยในเวลานี้  หาได้มีการสถาปนาและพัฒนาตนเองขึ้นอย่างเป็นปึกแผ่นได้  และเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้น  ซึ่งควรจะเป็นประเด็นปัญหาในมุมกลับที่สามารถบ่งชี้ข้อจำกัด  และปัญหาของการศึกษาปัญหาประชาธิปไตยในแบบดังกล่าวข้างต้นได้ในทางหนึ่ง
        การศึกษาในอีกลักษณะหนึ่ง  ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายอย่างมากในประเทศไทย (นอกจากการเน้นที่เป็นปัญหาและอุปสรรคของประชาธิปไตยดังกล่าวแล้ว)   การศึกษาในลักษณะที่แยกประชาธิปไตยออกเป็น "รูปแบบ"  ประการหนึ่ง  กับประชาธิปไตยที่เป็น "เนื้อหา"  ในอีกประการหนึ่ง
       การศึกษาในแนวทางดังกล่าวข้างต้นเป็นที่นิยมและแพร่หลายพอสมควร  รวมทั้งเป็นกรอบวิธีคิดที่หากใครจะมีการนำเสนอเรื่องราวที่เป็น "อื่นๆของประชาธิปไตย ทั้งที่เรื่องราวที่เป็นอื่นๆนั้นเป็นเหตุการณ์ประสบการณ์และปฏิบัติจริงของบางประเทศ  หรือของบางเมือง  และมิใช่เป็นหลักการลอยๆ  อาทิ หลักคิดและประสบการณ์ของการมีรัฐบาลเสียงข้างน้อยในประเทศยุโรป (งานของ Karen Strom. Minority Government and Majority Rule , Cambridge : Cambridge University Press,1990) เป็นต้น  เรื่องราวดังกล่าวก็มักจะ "ถูกจัด"  ใส่ลงไปในกล่องของความคิดว่าเป็นรูปแบบหรือเป็นเนื้อหาอย่างรวดเร็ว  และมักจะสรุปกันว่าเรื่องบอกเล่าที่ว่าด้วยรัฐบาลเสียงข้างน้อย (Minority Government ) เป็นเพียงประชาธิปไตยรูปแบบชนิดหนึ่งที่มีความเป็นไปได้เท่านั้น  และมิใช่เป็นเนื้อหาที่แท้จริงของระบบประชาธิปไตยที่เราควรยึดถือเป็นแบบอย่าง  ดังนั้นการศึกษาที่มีการแยกแยะว่าส่วนใดเป็นรูปแบบ ส่วนใดเป็นเนื้อหา  จึงเป็นแนวการศึกษาที่มีปัญหาอยู่ไม่น้อย  เช่น  การศึกษาว่ารูปแบบที่ควรจะเป็นนั้นเป็นอย่างไร  ในขณะที่การปฏิบัติจริงนั้นมีความแตกต่างและผันแปร  หรือเบี่ยงเบนไปจากรูปแบบที่ควรจะเป็นนั้นเป็นไปอย่างไร เป็นต้น  การศึกษาในแนวทางนี้  เป็นที่น่าสังเกตว่ามีลักษระคล้ายกับการศึกษาพุทธศาสนาในประเทศไทยเป็นอันมาก  เนื่องด้วยโลกของศาสนาที่มุ่งนิพพานนั้นเป็นเรื่องราวที่ผู้คนชาวไทยนิยมรับฟังแม้นว่าจะปฏิบัติไม่ได้  ทั้งนี้เนื่องมาจากผู้คนธรรมดานั้นยังไม่ได้ละทิ้งกิเลสตัณหา  รวมทั้งบรรดาราคะทั้งปวง  ดังนั้น  จึงจำเป็นต้องอดทนอยู่ในโลกของมนุษย์ที่ยังไม่หลุดพ้นนี้ต่อไป  เรื่องนี้เปรียบเทียบเหมือนกับการเมืองของไทยที่ใครๆก็ทราบว่า  ประชาธิปไตยนั้นมีหลักการที่ดีและสวยสดงดงาม  แต่การปฏิบัติที่เป็นจริงของไทยเรานั้นยังคงวนเวียนอยู่กับอำนาจ  ผลประโยชน์  และความเห็นแก่ตัวของนักการเมืองในระดับต่างๆ  ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยโดยเฉลี่ยทั่วไปมีความอดทนอดกลั้นและให้อภัยได้  ดังที่เราได้ให้อภัย  (ทั้งในทางพฤตินัยและนิตินัย)  แก่บรรดาผู้ปกครองเผด็จการ  ทรราชย์ และนักการเมืองผู้โกงประเทศชาติบ้านเมืองอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด
        อาจกล่าวได้ว่า  การศึกษาประชาธิปไตยในแบบที่แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบอย่างเป็นขั้วตรงข้าม (Dichotomy)  นับว่ามีส่วนสอดคล้องกับหลักการความเชื่อบางประการของสังคมไทย  และช่วยทำให้นักคิด นักวิชาการของไทยมีฐานะสูงส่ง  เนื่องด้วยสามารถอธิบายถึงหลักการการปกครองบางเรื่องบางประการที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ 
        ระบอบประชาธิปไตยตัวแทนของไทย  จึงอยู่ในช่วงของการสถาปนา  โดยมีจุดเน้นไปที่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบการเมืองเสียยิ่งกว่าจะเน้นในเรื่องของความชอบธรรมทางการเมือง  ซึ่งจะเป็นปัญหาว่าเมื่อได้มีการสถาปนาขึ้นแล้ว  จะสามารถทำงานได้อย่างไร  ระบอบประชาธิปไตยตัวแทนจะมีดุลยภาพ กอปรด้วยความยุติธรรม  ความชอบธรรม เกิดความสมานฉันท์ และเป็นประชาธิปไตยที่มีคุณภาพได้อย่างไร
            รศ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์  ยังมีความเห็นอีกว่า  การลงประชามติ  การเสนอร่างกฎหมาย และการถอดถอนโดยประชาชน  รวมทั้งการปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยในการลงประชามติ  และทำให้ประชาธิปไตยตัวแทนในระดับต่างๆมีความเข้มแข็ง  ( Strong Democracy ) และเป็นจริงได้  นับว่าเป็นทางเลือกที่มีความสำคัญมาก การเน้นลักษณะทางการเมืองแบบใช้เสียงส่วนใหญ่ปกครองคนส่วนน้อย ( Majoritarianism หรือ Majoritarian Democracy ) ผ่านระบบการเลือกตั้ง และผ่านระบบพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว  นอกจากนี้ การพิจารณาแนวคิดประชาธิปไตยในลักษณะอื่นๆข้อสำคัญคือควรเป็นแนวความคิดที่ระบบคุณค่า  ไม่มีความขัดแย้ง หรือหักล้างระบอบประชาธิปไตยตัวแทน อาทิ  แนวคิดประชาธิปไตยแบบสมานฉันท์ (Consensual Democracy หรือ Consociational Democracy ) เป็นทางเลือกที่น่าสนใจทางหนึ่ง  ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ระบอบประชาธิปไตยตัวแทนสามารถวิวัฒนาการในขั้นต่อๆไปได้  ทั้งนี้มิควรจะเน้นแต่แนวความคิดแบบประชานิยม (Populism) ให้มีความสำคัญหรือมีคุณค่าที่เกินเลยมากนัก  ซึ่งแนวความคิดประชานิยมดังกล่าว  จะมีผลทางตรงหรือทางอ้อมในการลดทอนความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยตัวแทนลงไปในหลายๆเรื่องทั้งที่เห็นได้ในเวลานี้ และอนาคตอันใกล้นี้
         (***หมายเหตุ บทความข้างต้นนี้เก็บความตัดตอนมาจากบางส่วนของเอกสารประกอบการบรรยายพิเศษ ของ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ณ อาคารพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 24...

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปล...

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที...