ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

รัชกาลที่ 7เสด็จฯ ยุโรป พ.ศ.2476 – 2477 (1) : เพื่ออะไรบ้าง?

                               

ขอบคุณบทความจาก  ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล*


           เดือนนี้เมื่อ78 ปีมาแล้ว คือเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 (พ.ศ. 2477 ตามปฏิทินปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินจากพระนครไปยังทวีปยุโรป






           ผู้คนปัจจุบันมักจะทราบเพียงว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเสด็จฯไปทรงรับการผ่าตัดพระเนตรที่ประเทศอังกฤษ และแล้วไม่ได้เสด็จฯกลับมาอีกเลย เนื่องด้วยมีความขัดแย้งจนตกลงกันไม่ได้ระหว่างพระองค์กับรัฐบาลที่กรุงเทพฯ จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติลงวันที่ 2 มีนาคม
พ.ศ. 2477 (พ.ศ.2478) จากพระตำหนักโนล (Knowle) มายังรัฐบาล จากนั้นได้ประทับอยู่ที่อังกฤษต่อไป จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ที่พระตำหนักคอมพ์ตัน (Compton House )

           ผมว่าสิ่งที่ไม่ค่อยทราบกันคือ ทรงพระราชอุตสาหะเสด็จประพาสประเทศยุโรปถึง 9 ประเทศ โดยมีบางส่วนที่เป็นทางการ มีฝรั่งเศสและอิตาลี ก่อนเสด็จฯประทับที่ลอนดอนเพื่อทรงรับการผ่าตัดพระเนตรและทรงประกอบพระราชกรณียกิจอื่นๆแล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินเยือนอีก 6 ประเทศที่เหลือ จากนั้นจึงได้เสด็จฯ เข้าประทับที่พระตำหนักโนลซึ่งทรงเช่ารวมระยะเวลานับตั้งแต่เสด็จฯถึงทวีปยุโรปจนกระทั่งบัดนั้น ถึงประมาณ 7 เดือน ทั้งหมดได้รับการบันทึกไว้โดยพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. สิทธิ์ สุทัศน์) ราชเลขานุการในพระองค์ในกระบวนเสด็จฯ เป็นจดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปพ.ศ. 2476-2477ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

          ดังนั้น การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น จึงมีสาระให้ได้ศึกษาหาความรู้กันอีกมาก ทั้งจากจดหมายเหตุฯดังกล่าว และจากแหล่งข้อมูลของประเทศเหล่านั้นเอง (ซึ่งพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รวบรวมมาไว้จากหลายประเทศ) อีกทั้งจากเอกสารอื่นๆของไทยเราเอง งานเช่นนี้คงทำคนเดียวไม่สำเร็จ ผมจึงเพียงแต่จะขอเริ่มด้วยการตั้งปุจฉาว่า เหตุใดหรือด้วยวัตถุประสงค์ใดบ้างจึงเสด็จพระราชดำเนิน โดยจะพยายามตอบเองเท่าที่จะทำได้ แต่ย่อมไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้จะทำเป็นตอนๆไปตามแต่โอกาสจะอำนวย

เสด็จฯเพื่ออะไรบ้าง ?

            “ เป็นความจำเป็นเพื่อการรักษาร่างกายของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าจะได้ถือโอกาสเจริญทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศให้สนิทสนมยิ่งขึ้น”

           พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งไว้ในตอนต้นของพระราชปฏิสันถารในโอกาสเสด็จฯต่างประเทศ วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2476” เเก่"ประชาชนพลเมืองทั้งหลาย"  (พึงสังเกตชื่อเรียกที่ใช้ผิดแผกแตกต่างออกไปจากปกติที่ใช้ว่า “พระบรมราโชวาท” หรือ “พระราชดำรัส”
และโดยมากไม่มีการขึ้นต้นว่าพระราชทานผู้ใด)

            ทำให้เราทราบแน่ชัดว่าการเสด็จฯ มีวัตถุประสงค์ที่เปิดเผยอย่างน้อย 2 ประการ คือ หนึ่ง รักษาพระองค์ และสอง ทรงเจริญพระราชไมตรี ขยายความได้ว่า ผ่าตัดพระเนตร และทรงเจริญพระราชไมตรีในพระราชสถานะพระมหากษัตริย์ตามระบอบรัฐธรรมนูญ คือประมุขของประเทศซึ่งไม่ได้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร นับเป็นครั้งแรกของพระมหากษัตริย์สยาม (ไทย) ในพระราชสถานะนี้ แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีนักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าท่านหนึ่งตั้งคำถามหลังการบรรยายของผมว่า ทรงตั้งพระราชหฤทัยจะทรงสละราชสมบัติตั้งแต่เสด็จฯออกจากพระนครแล้ว ใช่หรือไม่ ? ซึ่งผมตอบได้ไม่ชัดเพราะติดอยู่ในใจว่า ถ้าเช่นนั้นจะทรงพระราชอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินประพาสถึง 9 ประเทศ เพื่ออะไร

         มาบัดนี้ ผมได้มีโอกาสศึกษาเพิ่มเติม จึงขอเสนอว่า การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น มีวัตถุประสงค์อีกประการหนึ่งที่เปิดเผยน้อยมาก คือ เพื่อทรงตัดสินพระราชหฤทัยว่าจะทรงสละราชสมบัติหรือไม่ ดังจะได้อธิบายในรายละเอียดต่อไปเป็นอีกตอนหนึ่ง ในครั้งนี้จะนำเสนอแต่เรื่องการรักษาพระองค์เป็นสำคัญ

การผ่าตัดพระเนตร

            พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยทรงได้รับการผ่าตัดต้อกระจกในพระเนตรซ้าย ก่อนหน้าแล้ว คือเมื่อเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา (ผ่านญี่ปุ่น และเสด็จเลยไปแคนาดา) วันที่ 10พฤษภาคม พ.ศ. 2474 ที่พระตำหนักโอเฟียร์ ฮอล (Ophir Hall ) เมืองไวท์ เพลนส์(White Plains) ที่ประทับชั่วคราวในสหรัฐอเมริกา โดยนายแพทย์จอห์น เอ็ม.วีเลอร์ (Dr. John M. Wheeler ) เป็นผู้ถวายการผ่าตัด

           พระราชดำริที่จะเสด็จฯไปต่างประเทศเพื่อทรงรับการผ่าตัดพระเนตรอีกครั้ง เริ่มมีเมื่อใดไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เมื่อทรงเข้ารับการผ่าตัดพระเนตร ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ที่โรงพยาบาลลอนดอนคลินิกนั้น จดหมายเหตุฯ ดังกล่าวบันทึกไว้ว่า :

             “ เสอร์สะจวต ดุกเอลเดอร์ (Sir Stewart Duke-Elder) ผู้ชำนาญในการรักษาตา ซึ่งเป็นนายแพทย์ประจำพระองค์ สมเด็จพระเจ้ากรุงอังกฤษ (พระเจ้ายอร์จที่ 5 ในขณะนั้น) และเป็นผู้ทำการผ่าตัดต้อท่าน แมค-ดอน-นัลด์ ( James Ramsay Mac Donald ) ได้ทำการผ่าตัดพระเนตรข้างซ้าย ซึ่งนายแพทย์วีเลอร์ ชาวอเมริกัน ได้เคยทำการผ่าตัดถวายไว้ครั้งหนึ่งที่อเมริกาแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำการผ่าตัดคั่นที่สอง ซึ่งมักจะกระทำภายหลัง การผ่าตัดครั้งนี้ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที และไม่มีการชอกช้ำเลย ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลชั่วเวลา 3 วัน...” (ตัวสะกดภาษาไทยตามต้นฉบับเดิม)

            พึงสังเกตว่า จากหลักฐานนี้ทรงเข้ารับการผ่าตัดพระเนตรซ้ายทั้งสองครั้ง และการผ่าตัดต้อกระจกสมัยนั้นไม่ได้ทำง่ายเหมือนในสมัยปัจจุบัน ทั้งยังไม่มีแพทย์ผู้ชำนาญในสยาม การเสด็จฯต่างประเทศเพื่อการนี้อีกครั้ง จึงเป็นเรื่องจำเป็น

          เรื่องความจำเป็นนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ รับสั่งยืนยันไว้หลายสิบปีให้หลัง คือ เมื่อพ.ศ. 2516 ว่า

         “ ถ้าจะพูดกันแล้ว ในตอนนั้น ทางรัฐบาลเขาไม่อยากให้ไปเหมือนกัน แต่ท่านไม่สบายจริงๆ หมอบอกว่าพระเนตรอีกข้างจะบอดอยู่แล้ว ให้เสด็จฯไปรักษาเสีย ก็เลยตัดสินพระทัยไป ”

           จากพระราชกระแสของสมเด็จฯนี้ จึงเกิดความสงสัยว่าตกลงผ่าตัดพระเนตรข้างใดที่ประเทศอังกฤษกันแน่ แต่จากพระบรมฉายาลักษณ์ที่นำมาตีพิมพ์พร้อมนี้ ทรงเลนซ์ฉลองพระเนตรพิเศษสำหรับต้อกระจกที่พระเนตรซ้าย จึงพอสรุปได้ว่า ปัญหาหลักอยู่ที่พระเนตรซ้าย (ฉลองพระเนตรเหล่านี้ มีให้ชมที่พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ผมจึงขอสรุปเป็นการชั่วคราวว่าเป็นพระเนตรซ้ายทั้งสองครั้ง




         อนึ่ง จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรปบันทึกไว้ด้วยว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 (2477) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้ารับการตรวจพระทนต์ที่สำนักงานหมอบัคเกลย์ (Dr. Dawson Buckley) แพทย์ฟันผู้มีชื่อเสียงที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส ประทับให้นายแพทย์ฉายเอกซเรย์ตรวจพระทนต์ และอีกครั้งเมื่อวันที่ ๑๙ เดือนเดียวกัน ต่อมาในวันที่ 10พฤษภาคม ที่ลอนดอนคลินิก นายแพทย์ 3ท่าน โดยหนึ่งในนั้นคือ หมอบัคเกลย์ จากเมืองนีซ ได้ทำการผ่าตัดเอาพระกรามเบื้องล่างทั้งสองซี่ขวาซ้ายออก ด้วยความยากลำบากเพราะพระทนต์คุด พระแผลบอบช้ำ จึงตกลงระงับความตั้งใจเต็มที่จะถอนพระกรามเบื้องบนอีกสองซี่เสีย การผ่าตัดสิ้นเวลา 2 ชั่วโมง 40นาที ประทับรักษาพระองค์อยู่ที่โรงพยาบาลลอนดอนคลินิก 8 วัน นานกว่าที่ประทับในช่วงผ่าตัดพระเนตรในเดือนถัดมาเสียอีก นับเป็นอีกส่วนหนึ่งของ “ความจำเป็นเพื่อการรักษาร่างกายของข้าพเจ้า” ที่รับสั่งถึงในพระราชปฎิสันถารก่อนเสด็จฯไปยุโรป แต่จะทรงทราบความจำเป็นเรื่องพระทนต์อยู่แล้วหรือไม่ ไม่ทราบ

          สำหรับเหตุผลอื่นๆในการเสด็จพระราชดำเนินจะได้พิจารณาในโอกาสต่อๆไป










              

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัย : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว - 26 พฤศจิกายน 2468   : สมเด็จเจ้าฟ้าฯกรมขุนศุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชย์ - 25 กุมภาพันธ์ 2468 :  พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงสถาปนาพระวรชายาเป็นสมเด็จพระบรมราชินี และเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน (ร.7 พระชนม์ 32 พรรษา,สมเด็จฯ 21 พรรษา) -6 มกราคม -5 กุมภาพันธ์ 2469 : พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า รำไพ พรรณีฯ เสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลพายัพเพื่อเยี่ยมราษฎร -16 เมษายน - 6 พฤษภาคม 2470 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันออก -24 มกราคม - 11 กุมภาพันธ์ 2471: เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลภูเก็ต -10 เมษายน-12 เมษายน 2472 : พระราชพิธีราชคฤหมงคลขึ้นพระตำหนักเปี่ยมสุข สวนไกลกังวล -พฤษภาคม 2472  : เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลปัตตานี (ทอดพระเนตรสุริยุปราคา) -31 กรกฎาคม -11 ตุลาคม 2472 : เสด็จพระราชดำเนินเยือน สิงคโปร์ ชวา บาหลี -6 เมษายน - 8 พฤษภาคม 2473 : เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินโดจีน -6 เมษายน - 9 เมษายน 2474 : เสด็จฯเยือนสหรัฐอเมริกาและญี่

ความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัฒนธรรมสมัยรัชกาลที่ 7

                                                                                                                                   ฉัตรบงกช   ศรีวัฒนสาร [1]                 องค์ประกอบสำคัญในการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนของสังคมมนุษย์ จำเป็นต้องอาศัยสภาวะความสืบเนื่องและการเปลี่ยนแปลงเป็นพลังสำคัญ ในทัศนะของ อริสโตเติล ( Aristotle) นักปรัชญากรีกโบราณ   ระบุว่า   ศิลปะทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นดนตรี   การแสดง   หรือ ทัศนศิลป์   ล้วนสามารถช่วยซักฟอกจิตใจให้ดีงามได้   นอกจากนี้ในทางศาสนาชาวคริสต์เชื่อว่า   ดนตรีจะช่วยโน้มน้าวจิตใจให้เกิดศรัทธาต่อศาสนาและพระเจ้าได้     การศรัทธาเชื่อมั่นต่อศาสนาและพระเจ้า คือ ความพร้อมที่จะพัฒนาการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ [2]                 ราชบัณฑิตยสถานอธิบายความหมายของศิลปะให้สามารถเข้าใจได้เป็นสังเขปว่า “ศิลปะ(น.)ฝีมือ,   ฝีมือทางการช่าง,   การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะหมายถึง วิจิตรศิลป์ ” [3] ในที่นี้วิจิตรศิลป์ คือ ความงามแบบหยดย้อย   ดังนั้น คำว่า “ศิลปะ” ตามความหมายของราชบัณฑิตยสถานจึงหมายถึงฝีมือทางการช่างซึ่งถูกสร้างสรรค์ขึ้นมา

ห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมภพ

  ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และขอบคุณเนื้อหาจาก รศ.วุฒิชัย  มูลศิลป์ ภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง  ราชบัณฑิตยสถาน        พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกฯ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน รศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี  พระอรรคราชเทวี (ต่อมาคือ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ  และสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ  พระบรมราชชนนี ตามลำดับ)  โดยทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของสมเด็จพระนางเจ้าฯและองค์ที่ 76 ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว     ในห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชสมภพนี้  ประเทศไทยหรือในเวลานั้นเรียกว่าประเทศสยาม หรือสยามเพิ่งจะผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่มาได้เพียง 1 เดือน 5 วัน  คือ วิกฤตการณ์สยาม ร. ศ. 112 ที่ฝรั่งเศสใช้กำลังเรือรบตีฝ่าป้อมและเรือรบของไทยที่ปากน้ำเข้ามาที่กรุงเทพฯได้  และบีบบังคั